สิบห้านาทีกับพ่อท่าน โดย ทีม สมอ. ตอน...
อธิษฐาน
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 143 เดือนกรกฎาคม 2533
"อธิษฐาน"

ความหมายของคำว่า "อธิษฐาน" นั้น ทุกวันนี้ชาวพุทธส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า คือ การขอ การอ้อนวอนให้ได้ตามที่ตนปรารถนา เช่นอธิษฐานขอให้สิ่งที่หวังไว้ จงสมหวังทุกประการ หรือไม่ก็ "อธิษฐานขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยคุ้มครองลูกช้างด้วย" อะไรทำนองนี้ ซึ่งเป็นความหมายของศาสนาที่มีพระเจ้าบันดาล ส่วนพุทธไม่มีพระเจ้าบันดาลตามที่ขอ คำว่าอธิษฐานจึงไม่มีความหมายไปในแบบเทวนิยม แต่ในความเป็นจริงนั้น ตามแบบพุทธ คำว่า"อธิษฐาน"มิได้มีความหมาย ดังเช่นที่กล่าวมาเลย หนำซ้ำ ยังกลับมีความหมาย ตรงกันข้ามซะอีก ดังบทสัมภาษณ์ ของสมณะโพธิรักษ์ แห่งสันติอโศก ถึงคำอธิบาย ความหมาย ที่ถูกต้อง ของคำว่า"อธิษฐาน" เพื่อว่าในระหว่างพรรษานี้ พวกเราชาวพุทธจะได้เข้าใจถึงการอธิษฐานพรรษาอย่างถูกตรง อันจะนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติ ที่เกิดประโยชน์แก่ตนเองได้อย่างแท้จริง

: ขอกราบเรียนถามพ่อท่าน คำว่า อธิษฐานในความหมายของชาวพุทธ ที่ถูกต้องคืออะไร

: แปลว่า ตั้งใจไปในทางที่ดีอย่างแน่วแน่ เราต้องพยายามรู้ในความนึกคิดของเรา คือจิตเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง เพราะฉะนั้นจึงควรมีสติมีสัมปชัญญะความระลึกควบคุมจิตให้ดี ไม่ปล่อยตามอำเภอใจ ทำให้กิเลสมีฤทธิ์เดช ออกมาควบคุมเป็นเจ้าเรือน จนไม่รู้ดีรู้ชั่ว ฉะนั้นถ้าเรามีสติรู้ตัวทั่วพร้อม แล้วตั้งใจให้ได้เสมอๆ ตั้งใจทำอะไร ตั้งใจให้เป็นอะไรขึ้นมา เช่นตั้งใจทำดีอย่างใด เราก็ต้องมีสติ วายามะ รู้ตัวทั่วพร้อม และพยายามประพฤติปฏิบัติตามที่เราตั้งใจไว้

: ความตั้งใจคือ การตั้งเป้าหมายขึ้นมา ใช่ไหมคะ

: ไม่ใช่การตั้งเป้าหมายเท่านั้น เป้าหมายนั้นอาจจะตั้งไว้ก่อนแล้วก็ได้ และเราก็พยายามทำอยู่ แต่กิเลสมันทำให้จิตเราล้มไปหามันเรื่อย กิเลสมันจะพยายามดึงเราล้ม เราก็พยายามตั้งขึ้นมา ตั้งตัว ตั้งใจขึ้นมาเรื่อยๆ คือมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม แล้วก็ตั้งใจตามที่เราอธิษฐานไว้ให้มั่นให้แน่วแน่ต่อไปให้ได้ อธิษฐานไม่ใช่ตั้งใจครั้งเดียว มันควรมีอธิษฐานตลอดเวลา ไม่ใช่ตั้งไปทีเดียวแล้วก็ไม่รู้เรื่อง มันก็ไม่มีผล ไม่ก้าวหน้า

: อธิษฐานคืออย่างไรคะ

: คือตั้งใจว่าเราจะเข้าพรรษา เราจะอยู่ประจำ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะหนึ่ง เราจะอยู่รวมกันและต้องทำดี ทำอะไรในขอบเขตที่เรากำหนดไว้ ไม่ไปไหนมาไหนเป็นเวลา ๓ เดือน และจะตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ให้เกิดทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน อยู่ในที่นี้ และก็ทำให้ได้ดังที่ตั้งใจ โดยการเปล่งกล่าวอธิษฐานพรรษา ถือว่า ตั้งใจจะจำพรรษา ณ ที่นั้นๆ

: ในแง่ของฆราวาส การเข้าพรรษาควรทำอย่างไรคะ

: ก็เหมือนกัน ถ้าฆราวาสจะทำบ้าง จะตั้งใจทำอะไร อยู่ในขอบเขตของอะไร ก็ตั้งใจไปซิ ว่าเข้าพรรษาจะอยู่ในที่นี้ แต่ไม่ใช่อยู่เฉยๆ หรือเล่นๆหวัวๆ จะอยู่อย่างตั้งใจทำดี มีการสังวรระวังประพฤติอบรมตน มีการศึกษาเรียนรู้ ให้เกิดความเจริญ ก็ทำไป คงไม่ไปตั้งใจว่าจะอยู่เฉยๆ กินๆนอนๆ ถ้าตั้งใจอย่างนี้ไม่ชื่อว่าอธิษฐาน

: พ่อท่านคะ ถ้าตั้งใจทำอะไรแล้วก็ทำไม่ได้ เกิดกินแหนงแคลงใจ สู้เราไม่ตั้งใจไม่ดีกว่าหรือคะ

: ไม่ตั้งใจมันจะไปมีกำลังอะไร การตั้งใจทำให้เรามีกำลัง ทำให้เรามีเป้าหมาย ทำให้เรากำหนดได้ ได้สัดส่วนสมควรแก่ตน ไม่ใช่อธิษฐานหรือตั้งใจ แล้วอะไรๆก็จะเอาจะเหมาหมดเลย เช่นตั้งใจถือศีล ๕ ก็ปฏิบัติให้ได้ตามขอบเขตของมัน มีเป้าหมาย มีการดำเนินไปด้วยดี ถ้าไม่ตั้งใจ ทำสะเปะสะปะ ทำอ่อนๆมันก็ปวกเปียกโละๆเละๆ ขนาดตั้งใจมันยังไม่ค่อยได้ ถ้าไม่ตั้งใจ มันจะไปได้อะไรเล่า แม้มันจะไม่ได้ดั่งตั้งใจตั้งเป้าไว้ ถ้าตั้งใจจริงมุ่งมั่นแน่มันก็ต้องได้บ้าง ถึงมันจะไม่ได้ตามเป้า ก็พึงรู้ตนว่าไม่สามารถ ก็ตรวจข้อบกพร่องสิ จะไปกินแหนงซ้ำเติมตนทำไม ต้องรู้ตน

: สมมุติว่า เราตั้งใจทำเรื่องหนึ่งในพรรษา พอออกพรรษา เราก็เลิกทำ จะมีผลอะไรไหมคะ

: เข้าพรรษาเป็นเรื่องช่วงหนึ่งๆเท่านั้น ที่จริงควรอธิษฐานให้เป็นบารมีเลย ถ้าผู้ใดฝึกการตั้งใจ คุณตั้งใจทำอะไรก็ตาม ทุกคนคงตั้งใจทำดี ตั้งใจเท่าที่เราสามารถ ยกตัวอย่าง เช่น ตั้งใจถือศีล ๕ เริ่มต้นเราก็ตั้งใจถือสัก ๕ เดือน ก็เป็นการกำหนดเองทำแล้วได้ดี ก็ทำไมจะไม่ทำต่อ จะเลิกทำทำไมล่ะ ทำไมเราไม่ทำเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นอธิในความหมายโดยตรงของมัน แปลว่ายิ่งขึ้นๆ ถือศีล ๕ ในความหมายขนาดนี้ได้แล้ว ก็ทำความลึกซึ้งของศีล ๕ ให้เป็นอธิศีลที่มีความสูงส่งยิ่งขึ้นๆไปอีก หรือไม่ก็เพิ่มเป็นศีล ๘ ทำขึ้นไปเป็นศีล ๑๐ สูงขึ้นต่อไปอีก ให้สอดคล้องกับคำว่าอธิๆๆ ขึ้นไปเรื่อย

: พ่อท่านคะ ปกติเรากินไม่สังวรมื้อ พอเข้าพรรษา เราก็ตั้งใจมากิน ๑ มื้อให้บริสุทธิ์ เราก็ทำได้ แต่รู้สึกว่าต้องใช้ความอดทนมาก พอออกพรรษาเราก็มาลดเหลือ ๒ มื้อให้บริสุทธิ์ ก็นับว่าได้ดีขึ้นกว่าเดิมที่ไม่สังวรมื้อ พ่อท่านว่าวิธีนี้ใช้ได้หรือไม่คะ

: ก็ได้ ทำให้เรารู้กำลังตัวเอง ถ้าขนาดนั้นแล้วมันหนักไป เราก็เพลาลงมา ให้มันได้มัชฌิมา ให้มันได้ความพอเหมาะ ทำแล้วเจริญถ้ามันฝืนแรงไป มันไม่มีแรงสู้จริงๆ ก็เอาเข้ามาให้มันพอเหมาะหน่อย ก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่า เราทำไปแล้ว เราก็จะลดหย่อนลงไป โดยที่เสื่อมลงๆ มันควรจะทำต่อไปให้เจริญยิ่งๆขึ้น

: ในเรื่องที่เราตั้งใจทำ บางครั้งเราก็ทำได้ บางช่วงเราอ่อนแอก็ทำไม่ได้ แล้วเราก็เสียใจ เสียดาย ท้อใจ เสียความตั้งใจควรแก้ไขอย่างไร

: ก็เราไม่แข็งแรง เราก็ต้องเพียรใหม่ เสียใจมันก็อ่อนแรง เราก็รู้ว่าเราทำยังไม่ได้ เราก็ต้องพากเพียรอีก ก็ต้องมีกำลังใจขึ้นไปอีก ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้แล้วก็เลยเสียใจ ยิ่งอ่อนแรงแล้วมันก็เลยตายไปเลย มันจะไปถูกต้องที่ไหน ต้องเริ่มใหม่ ตั้งใจใหม่ มันมากไป มันสูงไป มันเกินแรงเราก็กำหนดลดลงมาหน่อย ทำอีก อุตสาหะอีก มันได้ก็จะเป็นฐาน มันจะเป็นกำลังเป็นทุน ที่จะเสริมขึ้นไปเรื่อยๆ การก้าวหน้าหรือการสร้างสรร หรือการเจริญก็ควรจะเป็นอย่างนั้น ถ้าทำอะไรไม่ได้แล้วก็ไม่ตั้งใจทำใหม่อีก เอ๊! ทำไมจะเป็นคนล้มเหลวไปเสียหมดอย่างงั้นเชียวหรือ

: พ่อท่านคะ กรณีคนที่เข้ามาปฏิบัติธรรมใหม่ๆ เขาจะเริ่มตั้งใจทำดี เขาควรจะจับจุดไหน จะทำตามแบบแผนชาวอโศก มากินลดมื้อกินมังสวิรัติ อยู่เป็นโสด หรือเลือกทำด้วยปัญญาของเขา

: แล้วแต่บุคคลแล้วแต่ฐานแล้วแต่ปัญญาของเขาเอง เขาจะเห็นเรื่องไหนที่เหมาะสมกับตัวเขา ที่จะทำได้ก่อน ทำได้ดี หรือจะทำตามแบบแผนก็มีหลายอย่าง อันไหนสมควรทำตาม อันไหนเหมาะกับเขา

: บางคนมาใหม่ๆ แล้วก็ลงมือทำทานมื้อเดียว

: มันมากไป บางทีมันก็หนักไป แต่ถ้าเผื่อว่ามันพอไปได้ก็เอา บางคนเขาก็มีอินทรียพละได้นะ อย่าไปดูถูกกันทีเดียว ไม่ได้หรอก

: พ่อท่านคะ ความตั้งใจนี่ ถ้าอันไหนรู้สึกไม่ดี ก็เปลี่ยนได้ใช่ไหมคะ

: เปลี่ยนได้ ให้มันหมาะสมกับตัวเรา ถ้าเราเข้าใจความหมายของมันดีแล้ว

: ขอให้พ่อท่านอธิบายสรุปคำว่าอธิษฐานเพิ่มเติมด้วยค่ะ

: คำว่า อธิษฐาน มันเป็นคำที่คนดีควรจะระลึกถึงอย่างมากเลยทีเดียว มันจะเป็นตัวหลักให้แก่การดำเนินชีวิต คนเราไม่มีตัวหลัก ตัวอธิษฐานหรือตัวตั้งใจแน่วแน่ ทำอะไรมันก็ไม่เจริญได้ดี ถ้าเราทำอะไร ไปตามเรื่องของเราชินๆ เสร็จแล้วเราก็ยังมีกิเลส ทำไปแล้วก็เหลาะๆแหละๆ มันก็ไม่ค่อยได้เรื่องอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ตัวสภาพอาการอย่างหนึ่งของจิตใจ แล้วเราก็พยายามตั้งมัน มีตัวรู้ มีตัวเริ่มต้นให้มันไปทิศไหน มีเป้าหมาย มีความมุ่งหมาย มีเจตนารมณ์อะไร ตามที่เราตั้งใจแน่วแน่เอาไว้ แล้วเราก็ได้วิจัยวิเคราะห์ให้แก่ตัวเอง เข้าใจตนเองให้ได้ ว่าเราเป็นไปตรงตามที่ได้อธิษฐานหรือได้ตั้งใจมั่นไว้นั้นหรือไม่ รู้ตัวให้ได้เสมอแล้วอธิษฐานเสมอ แล้วก็ทำ นี่เป็นลักษณะของคำว่าอธิษฐาน หรือตั้งจิตให้ดีให้แน่วแน่ ตั้งให้ชำนาญจนมันชิน เป็นบารมี ๑ ในบารมี ๑๐ ทัศ ที่สำคัญมาก

ในบารมี ๑๐ ทัศ มีหลักของบารมี ๑๐ อีก ๔ ตัว เริ่มตั้งแต่ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา ๔ ตัวแรก แล้วมันจะมี วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน มีความเพียร อดทน สัจจะอธิษฐาน ๔ ตัวนี้ จะเป็นสมังคี ทำงานประสานกันเหมือนกัน เพราะเมื่อเราจะเพียรอะไรต่อ เราทำ๔ ตัวหน้านี้เป็นหลักใหญ่ ๔ ตัวนี้จะเป็นตัวซ้อนเสริมส่วนในส่วนลึก วิริยะเป็นตัวแรงในขันติเป็นตัวอดทน ทำไปแล้วเกิดปัญญาเลือกเฟ้นหาสัจจะให้เกิดสัจจะ เพียรแล้วอดทน เพียรแล้วอดทน ในลักษณะที่เพียรไปอดทนไป จะมีตัวอธิษฐานคือตั้งใจไปตามเป้าหมายอย่างแน่วแน่ เป็นตัวนำอยู่แถวหน้าไปตลอด

คนทุกวันนี้ไปเข้าใจอธิษฐานว่า"ขอ" มันเพี้ยนไปใหญ่ กิเลสมันพาเพี้ยน และอวิชชาคือความไม่รู้จริงตามหลักการหรือสัจจะของความเป็นพุทธศาสนา มันจึงพาให้เพี้ยน เสร็จแล้วก็เลยตั้งจิตขอหรือตั้งใจอ้อนวอนให้อะไรก็ได้บันดาลให้สมใจ เป็นการแสวงหาบุญนอกขอบเขตพุทธ เพราะมักง่าย ขี้โลภ เห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว ก็เลยแทนที่จะตั้งใจทำอะไรด้วยอุตสาหะ อดทน พึ่งตนเองให้ได้ ก็ไม่ตั้งใจทำแล้ว ตั้งใจแต่อยากได้โดยไม่ต้องทำ หรือทำแต่น้อยขอให้คนอื่นช่วยให้มาก กิเลสมันพาเพี้ยนไปไกลเลย อธิษฐานขอโน่นขอนี่ อธิษฐานก็ตั้งใจอยากได้อะไร เอาคำว่าอยากได้มาใส่เข้าไปอย่างเห็นแก่ตัว หรืออย่างได้เปรียบ แล้วก็ยินดีชอบใจซึ่งเป็นเรื่องนอกแนวพุทธ

อยากได้อะไร พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนให้ทำเอง ไม่เคยสอนให้อยากได้อะไรแล้วขอ ไม่เคยสอนอย่างนั้น ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาอ้อนวอนร้องขอ อัตตา หิ อัตโนนา โถ ให้พึ่งตนเอง

ฉะนั้นคำว่าอธิษฐานถ้ามีจิตโน้มไปในลักษณะเทวนิยม มันจะกลายไปเชื่อสิ่งบันดาล มีฤทธิ์เดชที่จะได้โดยที่เราไม่ต้องทำ พึ่งผู้อื่นให้มาทำ มาสร้างให้ โดยเราเองไม่ต้องทำ หรือทำแต่น้อยเสียนิสัยหมด แต่ศาสนาพุทธสอนให้พึ่งตน ตนนี่แหละเป็นนักสร้าง ไม่งอมืองอเท้า ไม่เอาแต่รอหรือขอผู้อื่นช่วย เราต้องช่วยตนเองพึ่งตนได้จนกระทั่งผู้อื่นก็พึ่งเราได้ด้วย

พรรษานี้ใครที่ยัง "อธิษฐาน" ไม่ถูกต้องตามแบบพุทธ ก็ยังไม่สายเกินไป ทำความเข้าใจให้ดีๆ แล้วเพียรพยายามสร้าง "อธิษฐาน" ให้เป็นบารมีแก่ชีวิตเถิดเทอญ เดี๋ยวจะแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธไปทั้งชาติ

end of column
     

(สารอโศก อันดับ ๑๔๓ กรกฎาคม ๒๕๓๓ อธิษฐาน)