สิบห้านาทีกับพ่อท่าน โดย ทีม สมอ. ตอน...
ขวัญ
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 145 เดือนตุลาคม 2533
ฉบับ "ขวัญ"

ด็อกเตอร์แกร็นต์ ออลสัน ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อปลายปี ‘๓๒ ก็เคยมาสัมภาษณ์ถามความเห็นพ่อท่าน เกี่ยวกับการรดน้ำมนต์ เรื่องคดี การเป็นอุปัชฌาย์ของพ่อท่าน ฯลฯเพื่อประกอบการทำวิจัย

และในวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๓ ด็อกเตอร์แกร็นต์ ออลสัน ผู้ซึ่งพูดภาษาไทยได้ดีทีเดียว ก็ได้มาสัมภาษณ์พ่อท่านอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประกอบ Paper คดีสันติอโศก ในการสัมภาษณ์คราวนี้ ก็มีส่วนเนื้อหาสาระในเรื่องของ"ขวัญ" ที่เราชาวพุทธควรจะได้ทราบนัยลึกซึ้งกัน เพื่อสร้าง “ขวัญ" เป็นสิริมงคลแก่ตนอย่างไม่งมงาย ดังนี้

ด็อกเตอร์ แกร็นต์ ออลสัน ถาม สมณพราหมณ์โพธิรักษ์ ตอบ

: ขวัญ วิญญาณ (Soul) และจิตเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร?

: ถ้าขวัญกับวิญญาณ (Soul) ใกล้เคียง แต่ว่าขวัญไม่ใช่วิญญาณที่เป็นแบบอัตภาพ Soul ทีเดียว ขวัญนี้เป็นไปในทางมีค่าบวก ไปในทางดี ความหมายขวัญ ไปในทางสิ่งที่ดี แต่ถ้าจิต (Spirituai) สปิริตมันมีได้ทั้งSoul มีได้ทั้งดีและไม่ดีสองอย่าง แต่ขวัญนี้มีไปในทางดี

: ผมอยากจะทราบทัศนะของท่าน คำสอนของท่าน มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องขวัญ

: ขวัญนี่ เป็นองค์ประกอบ ขวัญเป็นองค์ประกอบปัญญากับศรัทธา เมื่อเรามีปัญญา หรือเรามีความเชื่อ ศรัทธาความเชื่อ เรามีความรู้ว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี แล้วเราก็ยึดถือไว้ สิ่งที่ยึดถือไว้ สิ่งที่เราปรารถนามาเสริมไว้ คือ ยึดถือไว้ แล้วปรารถนามาเสริมไว้ เป็นสิ่งที่จะช่วยตัวเองให้ดีขึ้นๆ ซึ่งมันหมายถึงด้านนามธรรม เขาเรียกสิ่งนั้นว่าขวัญ ถ้าที่ถูกที่ต้องแล้ว จะต้องเข้าใจว่า มันเป็นความเชื่อกับศรัทธาที่รู้ว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ดี และจะต้องพึงมีไว้เสมอ มีให้มากขึ้น เรียกว่าขวัญ ต้องการรู้ พิสูจน์เกี่ยวกับเรื่องวิญญาณ

: ท่านคิดว่า ขวัญเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่น่าจะมีเพื่อเสริมศรัทธา

: ใช่ เป็นสิ่งที่ดี ขวัญไม่ได้เป็นสิ่งที่มีค่าลบไปในทางเสีย เรื่องขวัญนี่ ถ้าสิ่งที่ดีนี้ถูกกระทบกระเทือน ถูกทำให้มันเสื่อมลงลดน้อยลง ลดไป เราเรียกว่าขวัญเสีย ซึ่งเราก็จะต้องมาปลอบใจกันให้คงเดิม คือให้ขวัญดียิ่งๆขึ้น

: ครับ ถ้าเราจะเสริมขวัญ เราจะเสริมได้อย่างไร

: เสริมได้โดยการประพฤติปฏิบัติธรรมนี่แหละ เรียนรู้ แต่คนเข้าใจง่ายๆว่า ขวัญนี่ ได้ด้วยวิธีการเรียกร้อง วิธีการขอเอาอะไรนี้ ซึ่งความจริงมันไม่ได้หรอก มันเป็นการบำรุงกำลังใจเท่านั้นเอง มันเป็นการช่วยบำรุงกำลังใจให้ ให้อย่าขวัญเสีย หรืออย่าท้อแท้ เคยเชื่อมั่นก็ให้เชื่อมั่นอย่างเดิม หรือเชื่อมั่นยิ่งขึ้น เป็นการปลอบประโลมใจเท่านั้นเอง เป็นการปลอบใจเท่านั้น

: ท่านไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเสริมขวัญด้วยบูชา

: โดยอุปาทานโดยค่านิยม โดยการกระทำตามที่เขาเคยทำกันมา เป็นประเพณี เป็นวิธีการ เขาก็ว่าถ้าได้ทำอย่างนี้แล้วเราจะดีขึ้น ก็ช่วยทางจิตวิทยา Psychology เท่านั้นเอง ช่วยได้บ้าง แต่จริงๆแล้ว เรื่องขวัญนี้ถ้าจะทำให้ดีก็ต้องศึกษาธรรมะ แล้วจะเกิดศรัทธาปัญญาที่ดี นั่นก็เป็นขวัญที่ดี แล้วขวัญไม่เสียง่าย ยังมั่นคง แข็งแรง และมั่นใจ หนักแน่นใครทำลายไปไม่ได้เลย ถ้ายิ่งพระอริยสงฆ์แล้ว ก็ยิ่งไม่มีใครมาทำลายขวัญ

: ถ้าจะเทียบขวัญกับพวกวิญญาณ ผี อะไรเหล่านี้

: วิญญาณ หรือ ขวัญนี่ ขวัญก็คือ เรื่องของพฤติกรรมของวิญญาณ คือหมายถึงศรัทธากับปัญญา ศรัทธากับปัญญาเกิดอยู่ที่จิตวิญญาณ เป็นลักษณะหนึ่ง ลักษณะศรัทธา ลักษณะปัญญา ก็คือพฤติกรรมของวิญญาณ

: ความเชื่อผี มันมีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องขวัญด้วยบ้างครับ

: ความเชื่อผี ไม่เกี่ยวกับเรื่องขวัญ ความเชื่อผี ก็เป็นความเชื่อ เชื่อว่าสภาพอย่างหนึ่งเขาเรียกว่าผี ทีนี้คนเข้าใจผีอย่างถูกต้อง กับอย่างไม่ถูกต้อง มันก็เป็นความเข้าใจด้วยปัญญาของเขา ปัญญาที่ยังไม่ชัดเจน ปัญญาที่ยังไม่สัมมาทิฏฐิ ยังไม่ถูกต้อง ยังไม่ถูกทาง ก็รู้จักผีผิดๆ รู้จักผีไม่ถูกต้อง ถ้าปัญญาดีๆ สัมมาทิฏฐิ เป็นปัญญาที่มีความสามารถดี มันก็ทำให้รู้จักผีที่แท้จริงได้

คำว่าผีก็หมายถึงอาการของวิญญาณ ที่จริงแล้วเป็นกิเลส ผีนี่คือกิเลสที่ทำงานอยู่กับจิตวิญญาณ อาศัยจิตวิญญาณเป็นที่อาศัย เป็นที่อยู่ เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ ครอบครองจิตวิญญาณ พยายามจะมีอำนาจครอบครองจิตวิญญาณ แล้วก็ทำหน้าที่แทนจิตวิญญาณ

ที่จริงจิตวิญญาณตามพุทธศาสนา คือ ธาตุรู้ มีลักษณะรู้ จิตวิญญาณนี่คือ ตัวที่มันสามารถรู้ รู้ๆๆอะไรได้ แล้วก็เป็นตัวสะสมความรู้ แล้วก็เป็นตัวสั่งการ จิตวิญญาณนี่จะสั่งสมองอีกที ทางวิทยาศาสตร์ไม่เชื่อว่า มีจิตวิญญาณที่ไปสั่งสมอง ตอนนี้ก็กำลังยอมรับขึ้นมาเรื่อยๆ

: ถ้าจะพูดถึงขวัญ วิญญาณ ผี ในเชิงการปฏิบัติของที่นี่ จะแนะนำอะไรบ้างครับ

: ก็แนะนำให้เรียนรู้ถึงอาการของกิเลส นั่นคือผี อาการของความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่คือผี มันอยู่ในตัวเรา อยู่ในจิตวิญญาณ เพราะฉะนั้นโดยการปฏิบัติธรรมนี่ เราสามารถฆ่าผีทำให้ผีตาย หรือหมดพฤติกรรม ทำให้หมดบทบาทลงไปได้เรื่อยๆ เราก็จะรู้จักผี แล้วเราก็จะรู้ว่า เมื่อผีหมดไป เหลือแต่จิตวิญญาณสะอาด จิตวิญญาณบริสุทธิ์ เราก็จะรู้จักจิตวิญญาณที่แท้ เพราะธรรมดาคนเราเกิดมาจะไม่รู้จักจิตวิญญาณจริง ผีหรือกิเลสเข้าครอบ

แล้วเราเรียนรู้อันนี้ ฆ่าผีโลภ โกรธ หลง นี้ออกจากจิตวิญญาณมากเท่าไร จิตวิญญาณเราก็สะอาดขึ้นๆๆ เป็นจิตวิญญาณบริสุทธิ์ขึ้นๆ แล้วเราจะรู้จักจิตวิญญาณที่แท้จริง จิตวิญญาณนี้เป็นทั้งปัญญา จิตวิญญาณบริสุทธิ์เป็นทั้งปัญญา เป็นทั้งความเชี่ยวชาญในการที่จะมีอำนาจหลายๆอย่างที่เป็นอำนาจมหัศจรรย์เหลือเชื่อ

: หลวงพ่อครับ ขวัญลักษณะในเชิงปฏิบัติ...

: ขวัญ ก็มีลักษณะของศรัทธากับปัญญา ที่มีจิตวิญญาณประกอบกัน มีความเชื่อโดยที่เรารู้ว่าขวัญคืออย่างนี้ คือสิ่งที่เป็น เขาเรียกในภาษาไทยอีกคำหนึ่งว่าเป็นมงคลของชีวิต มงคลของชีวิตคือขวัญ และเขาก็สร้างความรู้ว่า เออ อย่างนี้เป็นของดี เป็นลักษณะดี ที่เป็นนามธรรม เมื่อรู้ว่าอย่างนี้คืออย่างไร แล้วเขาก็เชื่อว่าอย่างนี้คือขวัญ คือ ของดีจริงๆ คำว่ามิ่งขวัญเคยได้ยินไหม

(ดร.แกร็นต์ ตอบ : ครับ) ภาษาไทย เป็นสิ่งที่ประจำตัว เรียกว่ามิ่งขวัญ สิ่งนั้นเป็นของดีและมีประจำตัว เรียกว่า มิ่งขวัญ เราเห็นว่าเรามีพระเจ้าแผ่นดินเป็นที่น่าเคารพนับถือบูชา จะทำให้เกิดความสุขความเจริญ ช่วยเหลือเราได้ เราก็นับถือ เชื่อว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นมิ่งขวัญของเรา นี่เป็นวัตถุ เป็นตัวตนข้างนอก ถ้าเป็นนามธรรมละก็เชื่อว่า ตัวเรามีสิ่งหนึ่งที่คุ้มครองเราอยู่เป็นนามธรรม เราเรียกว่า มิ่งขวัญของเรา

: ท่านเชื่อแบบนั้นหรือเปล่า

: อาตมาเชื่อ แต่ละเอียดกว่านั้น

: อย่างไรครับ

: ก็คือ เราสร้างศรัทธา และปัญญาของเราให้เป็นของจริงสิ เรารู้ว่า ความเสียสละเป็นสิ่งดี เราก็สร้างจิตวิญญาณของเราให้เป็นความเสียสละ เรามีพฤติกรรมของความเสียสละที่จริงในตัวเรา ก็เท่ากับเราสร้างศรัทธาว่ามีของจริง จิตวิญญาณว่าเป็นตัวเสียสละ แล้วเราก็เห็นจริงว่า ความเสียสละนี้เป็นคุณค่าความดี ทำให้ตัวเราเอง นี่เป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง เป็นมงคลของชีวิต อันนั้นคือขวัญของเรา ความขยัน เป็นสิ่งที่ดี เราเชื่อ เราเข้าใจ แล้วเราก็สร้างให้มีที่เรา อันนั้นมีที่เรามากเท่าไร เราก็เป็นขวัญ เป็นความมั่นใจของเรา เป็นมงคลของชีวิตของเรา แต่เราต้องรู้คุณค่าของนามธรรมพวกนี้ แล้วก็ทำให้เรามีนามธรรมพวกนี้ เรามีความเสียสละ มีความอดทน มีความขยัน มีความเมตตา เป็นมิ่งขวัญของเรา เราก็สร้างเมตตาให้ตัวเรา เพราะฉะนั้น คนเราจะมาขอให้มีขวัญ ขอให้มีขวัญ พูดเฉยๆ มันไม่เกิด มันเป็นการพูดให้เป็น Psychology นิดเดียวเท่านั้นเอง แต่มันไม่เป็นจริง

: ดีครับ มีอะไรอีกไหมครับ เกี่ยวกับเรื่องขวัญ

: ก็ชัดแล้ว

พ่อท่านตอบชัดแล้ว เราเล่า...จะสร้าง..."ขวัญคือ มิ่งสิ่งรักล้ำประจำร่าง ขวัญจักสร้างพลังใจให้คงมั่น..." ได้ถูกต้องตรงธรรมกันแค่ไหน...?

end of column
     

๑๕ นาทีกับพ่อท่าน ดร.แกร็นต์ สัมภาษ์พ่อท่าน (สารอโศก อันดับ ๑๔๕ ตุลาคม ๒๕๓๓ ขวัญ)