|
||||
สิบห้านาทีกับพ่อท่าน
โดย ทีม สมอ. ตอน... สงครามกับสันติภาพ |
หนังสือพิมพ์สารอโศก
อันดับที่ 147 เดือนมกราคม 2534 ฉบับ "สงครามกับสันติภาพ" |
|||
|
||||
สงครามอ่าวเปอร์เซีย ก็สำเร็จเสร็จสิ้นลงแล้ว ด้วย ความพินาศของชีวิต เลือดเนื้อ และทรัพย์สินมหาศาล ของ คู่กรณีทั้งสองฝ่าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ต่อไปจะไม่เกิดสงครามอีก เพราะ "ผู้แพ้ย่อมผูกใจเจ็บ" พระพุทธองค์ทรงสอนว่า เมื่อทุกข์เกิดขึ้น ให้หยิบทุกข์นั้นขึ้นมาพิจารณา ว่าเกิดเพราะอะไร และจะมีวิธีดับหรือแก้ทุกข์นั้นอย่างไร คราวนี้ เราจึงมาคุยกับพ่อท่าน ถึง เหตุแห่งการเกิดสงคราม และวิธีที่จะนำมาซึ่งสันติภาพที่แท้ : พ่อท่านว่าสงครามเกิดขึ้นเพราะอะไรคะ? : สงครามเกิดขึ้นเพราะอวิชชา เพราะกิเลส : แค่นี้หรือคะ? : แค่นี้ก็เหลือแล้ว แค่นี้ก็เป็นเหตุผลชัดเจน ถูกเป้า รับรอง ๑๐๐% ด้วยว่าไม่ผิด เพราะคนเรามีกิเลสเป็นเจ้าเรือน ต้องการแย่งชิง ต้องการลาภยศ สรรเสริญ โลกียสุข ต้องการเอาชนะคะคานเป็นของตัวของตน และนอกจากเห็นแก่ตัวแล้ว มันก็ยอมไม่ได้ด้วย เสียสละจริงๆไม่ได้ด้วย จึงทำให้เกิดสงคราม : มันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีหรือเปล่าคะ? : กิเลสนี่มีประโยชน์ถึง ๑๐ กิเลสมานะสังโยชน์ ล้วนแต่เรื่องของศักดิ์ศรี กิเลสนอกนั้นก็เป็นเรื่องของความใคร่อยาก สังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อ นั่นแหละ เพราะเหตุแห่งกิเลสอย่างนั้นแท้ๆเลย แล้วมันก็ไม่เอื้อเฟื้อเจือจานกันอย่างแท้จริง มันจึงเกิดการรุนแรงถึงขั้นแตกหัก จึงเกิดสงคราม ถ้าเอื้อเฟื้อเจือจานกันอย่างแท้จริง แม้จะเสียเปรียบกันบ้าง หรือแม้จะมีผู้เอาเปรียบกันบ้าง มันก็จะไม่รุนแรงจนเป็นสงคราม แม้มันจะกดขี่ข่มเหงกันอย่างแท้จริง มันก็จะมีฝ่ายยอมเสียสละอย่างแท้จริงเมื่อมันสุดวิสัย แล้วมันก็ไม่มีสงคราม ผู้มีความสามารถมาก มีความรู้มาก หมายความว่าเป็นผู้ที่ดีกว่า เก่งกว่า สามารถมากกว่า ก็จะต้องเอื้อเฟื้อเจือจาน เกื้อกูลแก่ผู้มีความสามารถน้อย เก่งน้อย เป็นธรรมดา ผู้เก่งน้อยก็จะต้องรู้คุณ รู้ว่าต้องอาศัยเขา ก็จะไม่อาจหาญไปตีรันฟันแทงกับผู้มีบุญคุณ จะไประรานผู้ที่เหนือกว่าได้ยังไง นอกจากคนมีมานะอวิชชา เรื่องนี้เป็นเรื่องลึกซึ้ง ซับซ้อนหลายชั้น ที่พูดนี่ พูดมิติเดียว คือหมายแต่ด้านคุณธรรม ด้านจิตวิญญาณมันซับซ้อนมีหลายมิติ และโดยสัจจริงมันมีสำนึกดีด้วย แต่โดยโลกที่เป็นโลกียะแล้วมันเห็นแก่ตัวกันจริงๆ เห็นแก่ตัวรุนแรง หยาบคาย จนหลีกพ้นสงครามไม่ได้ในที่สุด ในคุณธรรมที่เป็นมิติลึกๆ ซับซ้อนระดับ ๓-๔-๕-๖ ที่เป็นคุณงามความดี ทั้งฝ่ายให้ฝ่ายรับ ทั้งฝ่ายที่ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น และฝ่ายที่ต้องโอบเอื้อเกื้อกูลคนอื่น มันมีคุณธรรมซับซ้อนมิติลึกๆจนทำร้ายกันไม่ลง ทำรุนแรงกันไม่ได้ สงครามก็จะไม่เกิด ยกตัวอย่างให้ฟังสักตัวอย่างหนึ่ง อาจจะเข้าใจยากบ้าง แต่ก็พอเข้าใจได้ เช่น ในศาสนาแทบทุกศาสนา จะมีสงครามศาสนาในศาสนาเดียวกัน แต่ศาสนาพุทธ สองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว ไม่เคยเกิดสงครามศาสนา ถึงขั้นรบราฆ่าฟันกันเองเลย เพราะจิตวิญญาณที่ลึกๆ ที่เป็นศีลธรรมขั้นลึกๆ คุณงามความดีลึกๆอย่างนี้มันมีจริงๆ แม้จะแตกเป็นนิกาย แบ่งแยกกันออกไป ก็ไม่มาระรานกันอีก ไม่มีสงครามแย่งชิงอำนาจอะไร พุทธไม่เคยทำ ไม่เคยมี เพราะในมิติของวิญญาณลึกๆ ซับซ้อนหลายชั้นนี่ มีการลดความเห็นแก่ตัวลงจริงๆ ลดความโลภ เสียสละจริงๆ แม้แต่คุณงามความดีเราก็ยังไม่ถือตัวถือตน คือ ละอัตตา ละอัตนียา ละตัวตน ละของของตน นี่เป็นคุณธรรมขั้นสูงของพุทธศาสนา เนื้อธรรมอันนี้ ทำให้เกิดความจริงในจิตวิญญาณที่ไม่รุนแรง แม้ที่สุด ยอมสละชีวิตเพื่อไม่ให้เกิดสงคราม ก็ทำได้ : พ่อท่านแน่ใจหรือคะ ว่าในอนาคตในศาสนาพุทธจะไม่เกิดสงครามรุนแรงแบบนั้น : ถ้า...ต้องมีเงื่อนไข ถ้าในศาสนาพุทธที่มีเนื้อหาของศาสนาพุทธ มีสารสัจจะของศาสนาพุทธ รับรอง ๑๐๐% ได้ว่า จะไม่เกิดสงครามในศาสนา : : แต่ทุกวันนี้ เราก็เห็นอยู่ว่าสารสัจจะมันน้อยลง : ถ้าสารสัจจะของศาสนาพุทธ ในคนที่เขามียี่ห้อว่าพุทธก็ตาม แต่สารสัจจะในศาสนามันน้อยในคนเหล่านั้น คนเหล่านั้นก็ไม่ถือว่าเป็นพุทธแท้ เป็นพุทธแค่ ๕๐% เป็นพุทธ๓๐% ก็ไม่ถึง แต่ใช้ยี่ห้อว่าพุทธ ก็สักแต่ว่าพุทธ เขาย่อมทำสงครามกัน -ก็ใช่สิ : พ่อท่านบอกว่า สงครามเกิดขึ้นเพราะความมีกิเลสด้วยกันทั้งสองฝ่าย ก็ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งมีกิเลสน้อย หรือไม่มีเลยล่ะคะ? : ถ้ากิเลสน้อยหรือไม่มีกิเลสเลย จะไม่เกิดสงคราม แม้ฝ่ายหนึ่งมีกิเลส ถ้าอีกฝ่ายไม่มีก็จะไม่เกิดสงคราม อันนี้ไปขยายคำตอบตอนต้นก็ได้ว่า เพราะต่างฝ่ายต่างมีอวิชชา ต่างคนต่างมีกิเลส จะบอกว่าเพราะมีกิเลสลอยๆไม่ได้ : ขณะที่โลกวุ่นวายอยู่กับสงคราม พวกเราก็มาทำพิธีปลุกเสกฯ อยากทราบว่า การปลุกเสกจะช่วยให้เกิดสันติภาพได้อย่างไรคะ? : การปลุกเสกที่เราทำ เป็นการช่วยเหลือสันติภาพอย่างยิ่ง เท่าที่เรามีฤทธิ์มีแรง ที่จะทำให้คนมารวมกัน เพื่อมาศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้า เพื่อจะไม่ให้เกิดปัญหา ลดละปัญหา และลดละต้นเหตุแห่งการเกิดสงคราม คือกิเลสตัณหา อุปาทานดังกล่าวนั้นจริงๆ นั่นคือ เราลดถูกตัวสมุทัยของมันจริงๆ ถูกเหตุของมันแท้ๆ จะลดได้มากได้น้อยก็แล้วแต่ แต่อาตมามั่นใจ เราทำมาทุกปีๆมันมีเนื้อหามากขึ้น เราสุขสบายขึ้น แก้ปัญหาสังคมได้มากขึ้น อยู่ในสังคมอย่างร่มเย็น ไม่อึดอัด ทุกข์ร้อน นอกจากนั้น ยังภาคภูมิขึ้นมาเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ก็เกิดจากการปลุกเสก ซึ่งเป็นพิธีกรรมใหญ่ของเรา ที่สำคัญต่อการแก้ปัญหาสังคม ทำให้สังคมมีสันติภาพที่แท้ : มีคนกล่าวหาพ่อท่านว่า พ่อท่านไปว่าหลวงปู่พุทธทาสว่าเป็น"ศาสดามหาโจร" ขอทราบข้อเท็จจริงค่ะ : อาตมาไม่เคยพูด อย่างน้อยอาตมาก็ไม่เคยสัญญาผิดไปว่า ท่านพุทธทาสเป็น"ศาสดา" อาตมาคิดว่าท่านพุทธทาสเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ถึงจะเก่งอย่างไร มีความสามารถ มีความรู้ อาตมาก็ไม่คิดว่าท่านจะเป็น"ศาสดา" เพราะฉะนั้น อาตมาจะไม่ให้ฉายาท่านถึงขั้น"ศาสดา"แน่ คนที่กล่าวหาอย่างนั้น ที่ว่าอาตมาไปว่าท่านพุทธทาสเป็นศาสดามหาโจร เป็นการกล่าวตู่ อาตมาไม่เคยเชื่อว่า ท่านพุทธทาสเป็นมหาโจรด้วย : จริงๆ แล้วในสายตาของพ่อท่าน พ่อท่านเห็นหลวงปู่พุทธทาสเป็นอย่างไร? : ท่านก็เป็นคนมีบุญคุณต่อศาสนา เป็นคนสอนศาสนาที่อาตมาเคารพนับถือ มีหลักฐานในหลายที่หลายแห่งว่าอาตมาเคารพ ยกย่องเชิดชู เป็นลายลักษณ์อักษรก็มี แต่ส่วนที่อาตมาตำหนิท่านพุทธทาสก็มี ในส่วนที่อาตมาเห็นว่า ท่านยังทำผิดพลาด อาตมาก็ติงก็ติ ในส่วนที่ผิดพลาดบกพร่องนั้น แต่ไม่เคยไปกล่าวหยาบหยามเช่นนั้น ไม่ได้ติด้วยความเกลียดชัง : ถ้าอย่างนั้น คนที่กล่าวหาก็มีเจตนาจะให้เกิดสงครามซีคะ? : เป็นคนช่างยุแหย่ ภาษาพระท่านว่า ส่อเสียด นำความตำหนิไปพูดให้หยาบให้ร้ายแรงไปพูดให้คนเข้าใจผิด ทำให้คนทะเลาะกัน...เป็นบาป ใครทำก็เป็นบาปของเขา-ไม่มีปัญหา อย่างไรๆอาตมาก็ไม่ทะเลาะตามที่เขามุ่งหมาย : แล้วพ่อท่านจะแก้ความเข้าใจผิดนี้อย่างไร? : อาตมาไม่แก้หรอก อาตมาไม่ได้ทำผิดอะไร เขาเองเขามาหาว่าอาตมาทำผิด ถ้ามันจะทำให้เกิดการเข้าใจผิด และไม่ร้ายแรงนัก อาตมาก็ไม่ต้องกล่าวแก้อะไร การไม่พอใจของคนเรานี่ ห้ามไม่ได้นะ ถ้าพูดในแง่ของธรรมะ คนที่ยังมีความไม่พอใจ ไม่สบายใจอยู่นี่ ก็คือคนที่ยังมีอวิชชาอยู่ทั้งนั้น คนดีมีปัญญาเพียงพอ เขารู้ว่าเขาไม่เป็นอย่างนั้น เขาเป็นคนดี มีคนว่าเขาไม่ดี คนมีปัญญาเขาก็จะไม่เดือดร้อนหรอก เพราะเขาถูกกล่าวหาเฉยๆ คนว่าน่ะต่างหากที่ไม่รู้ความจริงอย่างถูกต้อง ต้องเชื่อมั่นในความดีของตนซิ แต่คนที่มีกิเลสมานะ ถือตัว ถือดี บางทีไม่ดีอย่างที่เขาว่าด้วยซ้ำ ยังมีหน้าไปโกรธ แทนที่จะขอบคุณเขา กลับโกรธจะไปช่วยได้อย่างไร มันก็เป็นกิเลสของเขาเอง เขาก็ทุกข์ของเขาเอง : ทำไมพ่อท่านจะต้องถูกเข้าใจผิดบ่อยๆ เพราะพ่อท่านมีพฤติกรรมก้าวร้าวด้วยหรือเปล่าคะ? : อาตมาไม่ได้ก้าวร้าวเลย มีแต่อาตมาโดนก้าวร้าว คุณประมวลได้เลย ประมวลพฤติกรรมของคนในสังคม ประมวลสิ่งต่างๆที่เขาทำกับเรา เก็บสถิติได้เลยว่าใครก้าวร้าวกว่าใคร ใครเอาอำนาจบาตรใหญ่มาทำใคร อาตมาถือว่า เมื่อถือกฎระเบียบของพุทธศาสนาเหมือนกัน ก็ถือเป็นพี่เป็นน้อง เป็นครอบครัวเดียวกัน ใครไม่ดี ใครทำผิดทำพลาดก็แจ้งกัน นี่เป็นเรื่องจริง อันไหนไม่ดีมากๆ ก็ต้องบอกกันแรงๆ บอกเพื่อให้แก้ไขเร็วๆ วิเคราะห์วิจัยลงไปว่ามันชั่วมันหยาบอย่างนี้นะ แต่คนที่เผินๆ พอได้ยินเราแจกแจ้งความชั่ว-ความหยาบ และมันก็เกิดมีความชั่ว-ความหยาบนั้นที่ตัวเองเสียด้วย ก็เดือดเนื้อร้อนใจ ว่าเขาด่าๆๆ ถ้ารู้อย่างนั้นก็แก้ไขเสียซิ แต่ไม่แก้ไข กลับมาทำลายผู้ที่เขาหวังดีด้วย มันก็เลยผิดพลาดซ้ำสอง : ศาสนาพุทธมีแนวทางสร้างสันติภาพอย่างไรคะ? : ลดกิเลสให้แก่คน แนวทางของศาสนาพุทธ ลดกิเลสให้แก่คน ไม่มีอื่นหรอก สร้างสันติภาพได้คือ ต้องลดกิเลสคนตรงทางที่สุด ประเทศใดก็ตาม ถ้าพากันปฏิบัติ เน้นเรื่องศาสนากันให้ถูกให้ต้องจริงๆ เน้นเรื่องศีลธรรมกันมากๆ สันติภาพก็จะเกิดขึ้นในประเทศนั้น ทั้งยังส่งผลกระทบที่ดีงามต่อประเทศอื่นด้วย แต่ทุกวันนี้ เขาไม่เชื่อว่าฤทธิ์เดชคุณค่าของศาสนาจะยิ่งใหญ่มหาศาลปานนั้น เขาไม่เชื่อ อาตมาเชื่อสุดชีวิต จะเป็นจะตายอาตมาก็อยู่กับศาสนา และทำงานศาสนา กับมนุษย์ ถ้าคนไทยไม่ไล่อาตมาออกจากประเทศ อาตมาก็จะทำกับคนไทยนี้จนตาย : แล้วศาสนาอื่นนอกจากพุทธล่ะคะ เขามีแนวทางสร้างสันติภาพอย่างไร อย่างซัดดัมเขาก็อาจว่าเขาเคร่งศาสนา : ทุกศาสนาจริงๆก็พยายามให้เกิดสันติภาพเท่านั้นแหละ ส่วนจะมีวิธีการ มีความลึกซึ้งอย่างไร มันมีรายละเอียดมากซับซ้อนอีกหลายชั้นหลายเชิงจริงๆ บอกกันไม่ได้ง่ายๆ เราก็ไปพูดไม่ได้ว่าของใครสูงกว่า-เหนือกว่า เราก็พูดในฐานะที่เรานับถือศาสนาพุทธ คนอื่นเขาก็ต้องยกย่องศาสนาของเขา ทุกศาสนาก็ดี ทุกศาสนาปรารถนาดีและจริงใจ ใครไปดูถูกดูแคลนศาสนาอื่น คนนั้นก็ชั่ว เราจะไม่ไปวิเคราะห์วิจัยศาสนาอื่นเขา เราทำศาสนาของเราให้ดี เมื่อเรานับถือศาสนานี้ เราเชื่อศาสนานี้ ก็ทำให้มันเกิดประสิทธิภาพที่ดี ที่สมบูรณ์ ที่มีประโยชน์ต่อมนุษยชาติ ทั้งต่อตัวและคนทั้งโลก โดยไม่ต้องคิดทำลายกัน ค่ะ สรุปก็คือ ทำที่ตัวเองให้ดีที่สุด ยุติสงครามด้วยการเอาชนะกิเลสภายในตนให้มากที่สุด ความสงบสันติที่แท้ก็จะเกิดขึ้น โดยเริ่มจากตัวเรา และขยายวงกว้างออกไปอีกไพศาล เท่ากำลังคุณธรรมที่มนุษยชาติจะพึงมี |
||||
|
||||
(สารอโศก อันดับที่๑๔๗ ปีที่ ๑๑(๑๔) ฉบับที่ ๖-๗-๘ ม.ค.-ก.พ.-มี.ค. ๒๕๓๔) |
||||