สิบห้านาทีกับพ่อท่าน โดย ทีม สมอ. ตอน...
สวนฟ้า นาบุญ
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 148 เดือนเมษายน 2534
ฉบับ "พุทธาภิเษก'34 (สวนฟ้า นาบุญ)"

ถ้าผ่านสายตามาถึงหน้านี้ โดยที่คุณไม่ได้ไปร่วมงานพุทธาภิเษกฯ’๓๔ ต่อไปนี้ คุณก็จะได้รับทราบบรรยากาศและข้อสรุปงานจากการสรุปของพ่อท่าน

แต่ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ได้ไปร่วมงานพุทธาฯ ก็ขอแสดงความยินดีด้วยที่เอาชีวิตรอดมาได้ พร้อมกับได้ความแข็งแกร่งขึ้นอีกระดับหนึ่ง....

: งานพุทธาภิเษกฯ จัดมาเป็นครั้งที่ ๑๕ แล้ว พ่อท่านมีความเห็นเป็นอย่างไรบ้างคะ?

: ก็เห็นว่างานที่ทำมา พุทธาภิเษกฯก็ดี ปลุกเสกฯก็ดี ยิ่งทำมาถึงวันนี้แล้ว มันเนียนขึ้น ดีขึ้นแน่นขึ้น เจริญขึ้นในตัวของมันเอง

แม้จะดูเผินๆ ตามปริมาณของตัวบุคคลจะทรงอยู่ในสถิติเดิมราวๆสองพัน ประมาณนั้นมาหลายครั้งแล้ว ไม่ปรูดปราดขึ้นกว่านั้นก็ตาม แต่ก็ดูรู้สึกว่าแน่นเนียนใน มีความมั่นคง เป็นสถิติซ้อนในสภาพที่อยู่ได้นานวันขึ้น อยู่ครบ ๗ วัน หรือ ๖ วัน มากขึ้น อยู่วันสองวันน้อยลงๆ ไม่เหมือนก่อนนี้ ที่คนมาวันสองวันมาก คนอยู่ ๗ วัน ๖ วันน้อย อะไรอย่างนี้เป็นต้น พวกนี้มันเป็นที่สังเกตได้เหมือนกัน

มันมีความลงตัวมากขึ้น มีความเข้าใจว่าเราจะรับอะไรจะทำอะไร จะร่วมกันพร้อมกันลงในครั้งคราวที่ควรจะลง แม้จัดระบบเป็น ROUTINE ต่างๆ ก็รู้สึกว่าเบาดี คนใหม่มาได้เห็นรูปแบบที่พรักพร้อม ไม่ต้องวุ่นวายไม่ต้องสับสน ทุกอย่างลงตัวเรียบร้อยราบรื่น เข้ารูปเข้ารอยดี มันก็เป็นสภาพที่ดี

ปริมาณก็ไม่เสื่อมลง คุณภาพก็ไม่ได้ลดลง แถมมีดีในดีเนียน ดังที่กล่าวแล้ว ก็เจริญดีแล้วทำต่อไปได้ อยู่อย่างนี้ไปอีก ๑๐ ครั้ง ๒๐ ครั้ง ๑๐๐ ครั้งก็ไม่เป็นปัญหาอะไร

: พ่อท่านทราบค่าของจิตวิญญาณได้อย่างไร สมมติคนเก่านี่อาจจะเคยไปเป็นสิบครั้ง แต่ก็อาจจะไม่ได้แปลว่าเขาดีขึ้น เจริญขึ้น เป็นแต่เพียงถึงครั้งถึงคราว ถึงวาระก็ไปร่วมด้วย

: มีการแสดงออกทางพฤติกรรมด้วย เบิกบานแจ่มใจพรักพร้อมเหนื่อย-เฉื่อยหรือกระปรี้กระเปร่า อะไรพวกนี้ก็เป็นองค์ประกอบที่ส่อเจตนาส่อถึงจิตใจได้เหมือนกัน

: รู้สึกว่าปีนี้จะร้อนรุนแรงมาก น้ำก็ขุ่นมาก

: ก็มันเป็นความไม่เที่ยง จะไปเอานิยายอะไรกับมันนัก น้ำมันจะขุ่นมากแดดมันจะร้อนมาก เราจะทำอะไรมันได้เล่า เราก็พยายามแล้ว ได้แค่นี้ก็ดีแล้ว

: มันทรมาน

: ก็ช่างมันปะไร ก็ดีซิ แบบฝึกหัดมันจะได้จัดขึ้นเรื่อยๆที่จริงถ้าเราบันดาลได้ เราก็กดปุ่มว่าจะต้องเพิ่มนะ อุณหภูมิต้องเพิ่มขึ้น เราก็กดปุ่มให้อากาศร้อนขึ้นได้ ก็ยิ่งดีสิถ้าเราต้องการ

ไม่ถึงตายหรอกน่า อากาศร้อนขนาดนี้ ทรมานก็หัดปล่อยวาง อดทนดูได้เพื่อเราจะต้องไปเกิดอยู่กลางทะเลทราย

: รู้สึกว่างานนี้เน้นเรื่อง"สวนฟ้า-นาบุญ"กันมาก แม้กระทั่งจัดเวทีกลางทุ่งก็ขึ้นคำว่า "สวนฟ้า-นาบุญ" จริงๆแล้ว"สวนฟ้า-นาบุญ" นี่คืออะไรคะ?

: สวนฟ้า-นาบุญ ก็คือการเกษตร คือการเกษตรของชาวอโศกเรา ที่จะพยายามให้มันเป็นระบบธรรมชาติ กลับไปหาธรรมชาติ เพราะเกษตรทุกวันนี้กลายเป็นเกษตรประเภทแต่ง เกษตรแบบช่วยเหลือต้นไม้มากเกินไป ต้นไม้ก็อ่อนแอก็ได้รับพิษ เพราะเราไปบีบคั้น ไปเร่งรัดมันกลายเป็นดินก็เสีย น้ำก็เสีย ก็ไม่สมบูรณ์ ไม่ได้สัดส่วนมันฟ่ามไป มันเกินไป มันไม่ได้ความ

มันไม่สมดุลในตัวมันเอง กลายเป็นเราต้องไปช่วยมันมากไป

เพราะฉะนั้น เราก็เลยจะย้อนกลับมาหาเกษตรธรรมชาติ ที่จะให้ทุกอย่างมันสมดุล-สมบูรณ์ ดินก็ดี น้ำก็ดี อากาศก็ดี ต้นไม้ก็ปรับคืนมาสู่สภาพสมบูรณ์ด้วยดี แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันสูง หรือมีวัฏฏะของมัน มีธรรมชาติของมัน

อย่าว่าแต่พืชช่วยเหลือพืช สัตว์ก็ช่วยเหลือพืชได้อีก พืชก็ช่วยเหลือสัตว์ เกื้อกูลกัน เป็นปฏิสัมพันธ์ ซับซ้อนกันไปมากขึ้น นี่หมายถึงเกษตรธรรมชาติที่เราจะศึกษา พยายามพิสูจน์และกระทำ

เราก็ตั้งชื่อ"สวนฟ้า" คือ สวนที่มันเป็นสวนธรรมชาตินี่แหละ เป็นสวนที่ดี"นาบุญ" ก็เป็นนาที่ดี นอกจากเป็นนาที่ปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกพืชแล้ว การเกษตรเราก็จะเป็นเกษตรบุญ เป็นการเกษตรที่จะเป็นคุณค่าประโยชน์ มีการเสียสละ สร้างสรร ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการรีดนาทาเร้น เอาเปรียบเอารัด อย่างระบบโลกที่มันกระเบียดกระเสียน แก่งแย่ง ขูดรีด ทุกข์ร้อนอยู่

: "สวนฟ้า-นาบุญ"กับ"เกษตรธรรมชาติ" ต่างกันอย่างไรคะ?

: มันไม่แตกต่างหรอก แต่เราพยายามจะมาเน้นให้มันสำคัญน่ะ เกษตรธรรมชาติก็เป็นภาษกลางๆ ใครๆก็ใช้กันทั่วไป เราอยากให้มันมีศิลปะในภาษา มีน้ำหนักที่จะเร่งเร้าจิตใจ ให้ชื่นชู ประทับใจ ให้เกิดพลังในทางสร้างสรรที่ดีขึ้น เราก็มาเรียกว่า"สวนฟ้า-นาบุญ"

: ไม่ใช่เปลี่ยนเพราะเกิดความขัดแย้งหรือคะ?

: มันจะมีความขัดแย้งอะไรเกิดขึ้น เราก็ถือเป็นเหตุการณ์ของสังคมเท่านั้นเอง เราไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต เราเองพยายามที่จะประนีประนอม พยายามที่จะหลีกเลี่ยงด้วยซ้ำ

ต้องรู้เป้าหมายหลักของเราสิ การเกษตรธรรมชาติมันดี เราก็เอา สิ่งไหนมันถูกต้อง เราจะทำอันนั้น อะไรจะทำให้เกิดความขัดแย้ง ถ้าหลีกเลี่ยงได้เราก็หลีกแล้วทำให้เกิดความสมานสามัคคี ให้อยู่กันเป็นสุข เราต้องมุ่งมั่นอย่างนี้

: กรณีที่มีข้อเขียนในลักษณะที่ว่า เราไปยื้อแย่งตัวฟูกูโอกะ ในการมาเมืองไทยครั้งหลังของเขานี่ ข้อเท็จจริงมันคืออย่างไรคะ?

: เราไม่ได้แย่ง จะไปแย่งมาทำไม เราพูดกันตรงๆ แล้วเราก็คิดว่า เมื่อเราปรารถนาดี แล้วมีผู้ที่อยากจะมาส่งเสริมความปรารถนาดีนี้ ท่านจะมาเอื้อเฟื้อเราอีก อย่างฟูกูโอกะมาก็รับรู้ว่า ทางเราก็นิยมชมชื่นแกอยู่ จะมาหามาช่วยแนะนำ มันก็เป็นบุญของเรา แต่ถ้าไม่มาก็ไม่มาไม่เป็นไร เราก็พยายามแสวงหาความรู้จากส่วนอื่น

ใครอยากกีดกัน ไม่ให้เราได้ก็ไม่เป็นไร เราไม่ถือสา เพราะมันเป็นธรรมชาติ คนเขาหวงแหนเขาก็หวง เหมือนอะไรที่ราคาแพง เราซื้อได้ก็ซื้อ ซึ้อไม่ได้ก็พยายามหาเอา ค่อยเก็บตกเก็บหล่นไปตามประสาน่ะสิ

เราไม่ได้ไปประชดประชัน ไม่น้อยใจอะไรด้วย มันเป็นธรรมดาโลกที่มีทั้งคนกีดกัน และคนเอื้อเฟื้อ อยากช่วยเหลือ เรามีบุญเท่านี้ เราก็พบคนเสียสละเกื้อกูลเท่านี้ แต่ถ้าเรามีวิบากไปพบคนกีดกัน หวงแหน หรือมีความรู้สึกไปในทางลบไปในทางที่ไม่ส่งเสริมกัน เราก็อุตสาหะเข้าก็แล้วกัน เพิ่มความอุตสาหะให้เป็นความเจริญของเราอย่างหนึ่ง จะไปท้อแท้หรือน้อยใจทำไม

: คือมันมีประเด็นที่ เขามองว่าเราเป็นนักฉวยโอกาส หรือตีสองหน้า

: ไม่เป็นไร ก็ดี เขาเตือนเรา เขามองว่าเราฉวยโอกาส เราก็มองจริงๆว่า เราฉวยจริงไหม ถ้าเราฉวยโอกาส หรือเป็นคนตลบตะแลง ตีสองหน้าอะไรก็ตาม เราเป็นอย่างนั้นจริงไหม ถ้าจริงเราก็แก้ไขซิ มันไม่ดีนี่

ใครเขาเตือนมา เราก็ตรวจตราของเรา ถ้าจริงก็แก้ไข ถ้าไม่จริง ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราก็ไม่รู้จะไปแก้ตรงไหน สองหน้าเราก็ไม่เป็นก็มีหน้าเดียว หลอกลวงใครก็ไม่ได้หลอกไม่ได้ลวง

สำคัญว่าต้องตรวจให้จริงให้ตรง ถ้ามันโง่เง่าไม่เห็นตัวเองผิด ไม่เห็นว่าตัวเองเสียหายตามที่เขาว่าจริงๆ ก็ช่วยไม่ได้ ก็เรามันโง่นักหนาตาบอดตามืด หลอกตัวเองอยู่พรางตัวเองอยู่ จนกระทั่งตัวเองชั่วก็ไม่รู้ว่าชั่ว โง่ก็ไม่รู้ว่าโง่ เหลวไหลอยู่ก็ไม่รู้ไม่เห็น มันก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว มันก็โง่ดักดานอยู่อย่างนั้น

แต่ถ้าไม่โง่แก้ไขจริงๆ ตรวจให้เจอ นอกจากตรวจแล้วไม่มีไม่จริง แล้วจะไปแก้อะไร

: จากหลายๆเรื่องที่ผ่านมา รู้สึกว่าชาวอโศกนี่เข้าข่ายประเภทซื่อจนเซ่อ ไม่ค่อยรู้มารยาทสังคมก็เลยถูกเขาว่าเอาอย่างนี้

: อา...อันนี้เป็นด้วย อันนี้เป็นจุดที่เราเคยได้เจอ มีประสบการณ์เหมือนกันว่าเราซื่อเซ่อ ไม่มีมารยาท

มารยาทสังคมของเขา แม้ว่าเขายินดี เขาก็ทำทีเป็นว่าไม่ยินดี หรือเขาไม่ยินดีเขาก็ทำทีเป็นว่ายินดีอย่างนั้นนะ เราก็ไม่ค่อยเป็นอย่างเขา มันก็เลยไปปะทะกันเข้า เราก็รู้ซะว่า เออ! เรามันก็เด๋อๆ อย่างนี้นะ

อาตมาว่า สิ่งที่จริงใจ แม้ว่ามันจะเด๋อๆ ไม่มีตัวกลบเกลื่อน อาตมาถือว่าดีกว่ามารยา ดีกว่ามีมารยาทที่เป็นมารยา

: แต่ในเมื่อมันเบียดเบียนน้ำใจเขา เราก็ควรแก้ไขไม่ใช่หรือคะ?

: เบียดเบียนน้ำใจเขาก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะการที่เราไม่เป็นเหมือนอย่างที่เขาต้องการ เขาก็ถือว่าเราไม่ตามใจเขา มันเป็นอัตตามานะของเขา การที่เราไม่ทำมารยาทตามเขา แล้วก็บอกว่าเบียดเบียนน้ำใจเขา ก็คือขัดใจเขานั่นเอง ใจเขาถูกขัดแล้วเขาก็ขัดเคืองมันก็เป็นเรื่องธรรมดาของความมีอัตตา

เขาเองเขาต้องแก้ของเขา เขาเองเขาก็ต้องรู้จักตัวเขา ไม่รู้จักอัตตามานะไม่แก้ไข เขาก็บำเรอตัวเองอยู่อย่างผิดๆ จะให้เรายินดีในความไม่ดีอันนั้น ก็เท่ากับเป็นการลงโทษเขา เท่ากับเราใจดำ เราไม่ทำ เราควรช่วยเขา คือ"ไม่ทำ"ตามใจเขานั่นถือว่าเราปรารถนาดีหรือช่วยเขาจริงๆ

เราจะอนุโลมในสิ่งที่พอจะอนุโลมได้ เช่นว่า แต่งตัวให้มันเหมือนเขาบ้าง ถ้าไม่ถึงขนาดลำบากลำบนอะไรนักหรือไม่มากไม่มาย เราก็ยอมได้ อนุโลมได้บ้างบางครั้งบางคราว แต่จะให้ทำเหมือนที่เขาทำ เขาเป็น หรืออย่างที่โลกอย่างที่สังคมโลกีย์เขานิยมทำ เขาเป็นกัน ถ้าเราเห็นว่าไม่ควรอนุโลม ไม่ควรทำ ไม่ควรเป็น เราก็จะไม่ทำอย่างที่เขาทำเขาเป็น เราก็คงทำอย่างที่เราทำเราเป็น แม้ใครจะว่าเราเด๋อ เราเซ่อก็ได้

: ทีนี้มาถึงเรื่องภายในสันติอโศกบ้าง พ่อท่านคิดอย่างไรจึงทำลำธารน้ำตกที่กลางศาลาฟังธรรม?

: เราจะเน้นธรรมชาติ ให้มันมีธรรมชาติ ให้มีการสัมผัสกับน้ำไหล มีหิน ดิน ทราย ต้นหมากรากไม้ มีธรรมชาติที่เข้ามาอยู่กับเรามากๆ แม้สิ่งที่เราเห็นว่ามีราคาแพง เราก็ยังเสียสละให้แก่ธรรมชาติได้

เราเจตนาจะยกค่าของธรรมชาติให้ยิ่งกว่าทอง เรามีทอง เราก็อุตส่าห์เสียสละแลกกับธรรมชาติ เรามีหัวใจ เราก็ผ่าหัวใจให้ธรรมชาติได้ แม้อะไรที่มันยิ่งใหญ่ เราก็สละได้ มันเป็นการแสดงน้ำใจ แสดงถึงความยกย่องธรรมชาติ

: ปกติพ่อท่านจะทำอะไร พ่อท่านจะคำนึงถึงจิตวิญญาณคนมากกว่าวัตถุไม่ใช่หรือคะ อย่างงานนี้ก็มีคนไม่เห็นด้วยมากมาย

: ก็ให้หัดเสียสละกันยังไงเล่า ทำกลางศาลาก็เจาะที่หัวใจกันเลย เมื่อบอกแล้วว่าแม้หัวใจก็สละให้ได้เพื่อธรรมชาติ เราก็ทำจริงไม่ใช่ เอาแต่ปากพูด แล้วไม่มีใครกล้าสละ ไม่มีใครกล้าลงทุน ลงมือ

ก็เพราะคำนึงถึงจิตวิญญาณคนมากกว่าวัตถุน่ะสิ อาตมาถึงใช้วัตถุ แม้จะต้องสละวัตถุ เพื่อที่จะให้เขาเกิดน้ำใจ ให้เกิดละล้างทางจิตวิญญาณยังไง...ใช่ไหม? เขาติดวัตถุกันใช่ไหม มันใหญ่อะไรนักหนาเล่าวัตถุ ถ้ายอมเสียอย่างจิตวิญญาณก็เจริญขึ้น

: สรุปพ่อท่านคุ้มใช่ไหม?

: อาตมาเห็นว่าคุ้มสิถึงทำ

: ไม่ใช่ทำตามแฟชั่นนะคะ

: ไม่ใช่ตามแฟชั่น นำเลยละ ไม่ใช่แฟชั่นหรอก เราต้องการให้คนเขาตามให้ดีๆ หรือเราควรจะนำในสิ่งที่ควรทำ ให้สังคมเขาได้ตื่นตัวให้เขารู้ว่าอะไรสำคัญ อะไรเป็นสาระ อะไรคือความสมดุล อะไรคือธรรมชาติ อะไรคือสิ่งเหมาะควรที่เราจะเน้นเข้าไปให้ผสมผสาน

เรามุ่งหมายอะไรจากการทำอย่างนี้ เราไม่ได้มุ่งหมายความสวยงาม ทุกคนเข้าใจที่อาตมาพาทำ ทุกคนเข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องของความสวยงาม แต่มันคือเนื้อหาสาระ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบทางจิตวิญญาณขึ้นมา ไม่ใช่ให้ใครมาชมเชยชูเชิด แสง สี สวย รูป กลิ่น เสียงอะไรไม่ใช่

: พ่อท่านกรุณาอธิบายคำว่า "ไม่ติดยึด" กับ "ไม่มีจุดยืน" ด้วยค่ะ ว่ามันต่างกันอย่างไร

: ไม่ติดยึดกับไม่มีจุดยืน ก็ต่างกันตรงจะต้องประกอบด้วยปัญญา

การติดหรือการยึดนี่ ถ้าเรา ยึดในสิ่งที่เป็นกุศล เป็นฐานในสิ่งที่เราจะใช้ฤทธิ์แรงของมันเพื่อสร้างสรร กอบกู้หรือรณรงค์ให้มันเป็นสิ่งอาศัย เป็นสิ่งรองรับ เป็นคุณค่าประโยชน์ที่เราจะได้อาศัยมัน เราก็ยึด

แต่ในความลึกซึ้งที่ว่าไม่ยึดไม่ติดนี่ มันเป็นความปล่อยว่าง ที่เป็นปัญญาอันลึกซึ้ง ว่าอะไรๆ เราก็ติดยึดไม่ได้ อันนี้เป็นปรัชญาสูงสุดของศาสนาพุทธ

เมื่อเรารู้แล้ว เราก็ต้องพยายามฝึกฝนจิต หรือว่าหัดจิตของเราให้ปล่อยวางจริงๆเลยไม่ติด ไม่ยึดจริงๆเลย แม้เราจะจับอยู่นี่ เราก็วาง เราไม่ได้หลงใหลเป็นเราเป็นของเรา นี่เป็นภาษาโวหารนะ

วางที่ใจให้ได้ เมื่อเราวางที่ใจได้จริงนี่เป็นปรัชญาอันสูงสุด คนนั้นจะรู้เองเข้าใจเอง เห็นเองว่าวางได้เป็นอย่างนี้ มันไม่มีทุกข์ มันขาด มันสูญ มันปลอดโปร่ง มันไม่มีอะไรเกาะเกี่ยวอีกจริงๆ ภาษาเกาะเกี่ยวภาษาที่มันยังติด ยังยึดอยู่จริงๆ อะไรพวกนี้ มันจะเห็นนามธรรมของเราจริงๆ เลยว่า เป็นของเราคืออาการอย่างไร ไม่เป็นของเราคืออาการอย่างไร ซึ่งเป็นญาณปัญญาชั้นสูงสุดจริงๆเลย ที่จะรู้จะเห็นความเป็นได้จริงนั้นๆ ในจิตในเจตสิกของตนๆ

เพราะฉะนั้นผู้นั้นขาดอันนั้นได้ เขาก็จะรู้ว่าเขาไม่ติด ไม่ยึดแล้วในสิ่งเหล่านั้น แต่ข้างนอกเขาจะจับอยู่ เขาจะนอกอดอยู่ เขาจะมีอยู่กับตัว แขนก็แขนของเรา ขาก็ขาของเราอยู่นี่ แล้วเราบอกว่า เราไม่ได้ติดยึดขันธ์ ๕ รูป ร่างกาย ตัวตน แม้แต่กรรมกิริยา เราไม่ได้ติดเป็นเรา เป็นของเราเลยนี่นะ เรารู้ของเราคนเดียว โลกเขาจะเห็นว่า เราติดอยู่นี่ ดูซินี่ ไม่ติดยังไง เหมือนกับเราเสพอยู่ด้วยซ้ำไป เหมือนอย่างกับเราอาศัยอยู่อย่างจริงๆ จังๆ เหมือนกับเรากอดอยู่ อยู่กับตัวอยู่กับตนแท้ๆ เลย โดยรูปโดยนอก โดยอะไรที่คนอื่นเขาก็เห็นได้ แต่ใจเราตัวลึกซึ้งสูงสุดตัวนี้มันวางมันไม่ติดไม่เสพ เราเป็นจริงรู้เห็นความจริงนั้นๆ มันถึงเป็นเรื่องของสัจธรรมของพระพุทธเจ้าจริงๆ เราเรียนรู้ตั้งแต่ของหยาบไปจนถึงของละเอียด แล้วเราก็จะรู้อาการของความวาง หรือความติดยึดเหล่านี้ ว่าเราติดอยู่หรือวางได้อย่างแท้จริง

: ทีนี้บางคนไม่เข้าใจ เขาก็ว่าพ่อท่านไม่มีจุดยืน สิ่งที่พูดวันนี้ พรุ่งนี้ก็เปลี่ยนได้ พูดเดือนนี้เดือนหน้าก็เปลี่ยนได้ คือเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

: ถ้าเผื่อว่าอย่างนั้นก็ให้พิจารณาถึงสิ่งที่อาตมาก่อสร้างมาเป็นเบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย เป็นฐาน เป็นอะไรต่ออะไรที่เป็นองค์ประกอบของสังคม องค์ประกอบของความเจริญ องค์ประกอบของทั้งวัตถุ และนามธรรมที่กอบก่อกันขึ้นมานี่ซิ ถ้าสิ่งเหล่านี้มันไม่เป็นโล้เป็นพาย มันเละมันไม่ได้เรื่องได้ราว มันไม่เป็นรูป ไม่เป็นร่าง ไม่เป็นระบบ ไม่เป็นสิ่งที่ไม่เป็นโล้เป็นพายแล้วละก็ อันนี้ก็ใช่ ถ้ามันเหลวไหล เละเทะหมดเลย ก็ไม่มีจุดยืนจะใช้ภาษาตีทิ้งอย่างนั้นก็ได้

คนที่จะว่าอาตมาอย่างนั้น ต้องมีปัญญาเหนือกว่าอาตมา แต่ถ้ายังไม่มีปัญญาเหนือกว่า ก็ให้พิจารณาดีๆว่ามันถูกหรือผิด อาตมาบอกได้อย่างเดียวว่า อาตมาไม่มีเจตนามาทำลายอะไร มาสร้างสรรจริงๆ

ลักษณะเปลี่ยนไป เปลี่ยนมานี่ เป็นลักษณะสภาพที่จริงตามจริง เป็นเรื่องของปฏินิคสัคคะ เป็นเรื่องที่สลัดคืน กลับคืน สภาพพวกนี้นี่มันเป็นเรื่องที่สูง ในภาวะทุกวันนี้นี่มันเร็วขึ้นมันมากขึ้น เพราะฉะนั้นกว่าจะมาถึงนี่กว่าจะเปลี่ยนไปอีกทีก็นาน ตอนนี้มันชักจะมากขึ้นแล้ว มันไวขึ้น แล้วมันก็จะมีอะไรเร็วขึ้นบ้าง รอบมันจัดขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีปัญญา จริงๆนะ ถึงบอกว่าตอบได้ตอนแรกเลยมันจะต้องประกอบไปด้วยปัญญาที่ลึกซึ้งจริงๆ และเป็นเรื่องที่ต้องเป็นไปได้ถึงสภาพนั้นจริงด้วย

เพราะฉะนั้น ระวัง! ไม่มีภูมิสูงพอ แล้วจะมองคนสร้างสรรเป็นคนไม่สร้างสรรเราจะโกหก ตีกิน ตลบตะแลงอะไรก็ได้ แต่มันมีผล ถ้าผู้ทำนั้นไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่เป็นระบบ ไม่เป็นความเจริญแท้จริง ก็ไม่มีจุดยืน

แต่ถ้ามันดี สังคมเจริญ ความเป็นอยู่เจริญ เศรษฐกิจเจริญ ความโลภ โกรธ หลง ลดลง มีสมรรถภาพดี สันติสุขดี ภราดรภาพดี มีอะไรดีอย่างที่ว่านี้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ไม่มีจุดยืนมันจะก่อเกิดได้ง่ายๆ หรือ มันสร้างยากจะตายไป

ค่ะ, แม้องค์พระปฏิมายังราคิน คนเดินดินหรือจะพ้นคนนินทา มีจุดยืนมั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง ก็ว่ายึดมั่นถือมั่น

ครั้นไม่ติดไม่ยึด เปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะควร เขาก็ว่า ไม่มีจุดยืน

เอาเป็นว่า เรารู้ตัวเอง (และพร้อมจะแก้ไขตลอดเวลา) มีจุดยืนแต่ไม่ยึดมั่นถือมั่นอย่างนั้นก็แล้วกันนะ

-ทีม สมอ.-

end of column
     

๑๕ นาทีพ่อท่าน อันดับ ๑๔๘ สารอโศก เม.ย. พ.ค. ๒๕๓๔พุทธาภิเษก’๓๔ (สวนฟ้า-นาบุญ)