สิบห้านาทีกับพ่อท่าน โดย ทีม สมอ. ตอน...
วันเกิดสมณพราหมณ์
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 149 เดือนมิถุนายน 2534
ฉบับ "วันเกิดสมณพราหมณ์"

ก็คงต้องเท้าความกันอีกว่า อโศกรำลึกในอดีตเป็นวันที่ ๕ มิถุนายน อันตรงกับ วันเกิด ของพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์

หากบัดนี้ ชาวอโศกถือกันว่า วันที่ ๑๐ มิถุนายน เป็นวัน อโศกรำลึก หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ วันเกิด สมณพราหมณ์ ไม่ใช่ของพ่อท่านองค์เดียวแล้ว

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น...

: พ่อท่านคะ ทำไมต้องเปลี่ยนวันอโศกรำลึกมาเป็นวันที่ ๑๐ ด้วยล่ะคะ?

: วันที่ ๕ เดิมมันเป็นวันเกิดอาตมา โยกย้ายมาเป็นวันเกิดสมณพราหมณ์ ก็เพราะเห็นว่าเหมาะสม การเป็นวันอโศกรำลึก ก็ควรจะรำลึกถึงสมณพราหมณ์กันให้มาก จะดีกว่ามาติดยึดกับวันเกิดของอาตมา ให้เป็นเรื่องของส่วนรวมดีกว่าส่วนตัว

: แล้วเราควรรำลึกว่าอย่างไรคะ?

: ก็อย่างตอนนี้เรามีประวัติมาอย่างไรล่ะ การที่เรามาตั้งใจทำงานด้านศาสนาเพื่อมวลมนุษยชาติ สร้างสรรมนุษยชาติ เราก็ได้ชื่อว่าพยายามอย่างจริงจัง จนกระทั่ง มันเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องมาเรียกตัวเองว่า"สมณพราหมณ์" นี่ก็เป็นจุดที่เราน่าจะได้ระลึกถึง

เจตนาที่เราตั้งใจทำความดี แล้วมันก็เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ คนรุ่นหลังก็จะได้รับรู้ ได้ศึกษา เหมือนพระเยซูที่สาวกของท่านเอารูปตอนที่ท่านถูกตรึงกางเขนมาเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งอันที่จริงก็ไม่น่าจะเอารูปนั้นมาเป็นสัญลักษณ์หรอก มันน่าเศร้าสลด น่าเจ็บปวด แต่เขาก็เห็นว่า มันเป็นการเสียสละ เป็นการต่อสู้แบบสร้างสรร เป็นเรื่องที่น่าจะจารึกไว้ ถ้าจะว่าไปแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เกิดจากเจตนาดีนะ แม้เราได้มาเป็นอย่างนี้ ผู้ที่ทำให้เราเป็นอย่างนี้เขาก็เจตนาดี ไม่ได้เจตนาร้ายอะไร เหตุการณ์โลกๆก็เป็นอย่างนี้แหละ มันต้องเกิดการสังเคราะห์ให้เราพิสูจน์ตัวเอง เป็นเรื่องดี เป็นประวัติศาสตร์ให้ศึกษา

: แต่ในบางคน บางสำนัก มันก็ยังรู้สึกเจ็บปวดว่าทำไมเราถึงต้องจำนน ต้องยอมเขาเหลือเกิน

: นั่นมันก็เป็นกิเลสส่วนบุคคล เราควรจะได้สำนึก ได้รำลึก ได้ศึกษา แล้วเอามาปรับปรุงตัวเราเอง มองให้เห็นว่ามันเป็นจุดดี เจ็บปวดมันดีหรือ มันไม่ดีใช่มั้ย

แต่ถ้าเพื่อเราเอง เราเป็นผู้มองเห็นสัจจะให้ชัดๆ การที่เขาทำให้เรามาเป็นอย่างนี้ เขาก็มีความจริงใจ หรืออาจจะไม่จริงใจก็เป็นบางคน ก็ช่างเถอะ แต่หลายๆคนเขามีเจตนาดี เขาเห็นว่าเราทำผิด เขาก็จะรักษาสิ่งที่ถูก เขาเชื่อว่าเขาถูก เชื่อว่าเราผิด เขาก็จะให้เปลี่ยนแปลง อยากให้เรากลับพฤติกรรม กลับความเห็น ซึ่งเราก็กลับไม่ได้

เพราะเราถือว่า พฤติกรรมอย่างนี้ดีแล้ว ความเห็นอย่างนี้ถูกแล้ว แต่ทางโน้นเห็นผิด เขาก็ต้องให้เราหยุด เมื่อเราไม่หยุดเขาก็จัดการ เราก็ได้หาทางเลี่ยงการปะทะโดยจำยอม เลิกออกมา ลาออกมา เขาก็ยังตามมาอยู่ พยายามจะให้เราเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนเครื่องแต่งตัว เปลี่ยนสรรพนามเรียกตัวเองว่า "สมณพราหมณ์" เราก็ยอมมาเรื่อยๆ อนุโลมจนถึงที่สุด ก็...เอาละ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำก็แล้วกัน

มันก็จำเป็นต้องแยกกันตามธรรมชาติ ซึ่งเราก็เข้าใจ อาตมาก็เห็นใจทางโน้นเขามากเหมือนกันนะ แต่มันเป็นเรื่องของสัจจะที่ต้องเป็นไป ใครเห็นว่าดีก็พิสูจน์ยืนยันกันไป

อาตมาก็แน่ใจจริงๆอยู่ว่า อาตมาไม่ได้ทำชั่วทำเลวอะไร อาตมาก็ทำสิ่งที่ดีมาเรื่อย ทางโน้นเขาก็แน่ใจจริงๆเหมือนกันว่าเขาทำดี เราทำผิด อยากให้เราเปลี่ยน ซึ่งเราก็เปลี่ยนไม่ได้ดังกล่าวแล้ว

: จากการที่เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นอย่างนี้ พ่อท่านเห็นว่ามันเกิดผลอย่างไรบ้างคะ?

: เกิดผลดีในส่วนผู้ที่มีน้ำหนักนะ มีน้ำหนักความเชื่อถือ มีปัญญาเพียงพอ ไม่ได้ติดเปลือกๆผิวๆ รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบผิวๆ ไม่ใช่แก่น ไม่ใช่เนื้อ ผู้มีปัญญาเห็นเข้าถึงเนื้อถึงแก่นได้ ก็ไม่มีปัญหา

ถ้าจะเรียกว่าผลดี มันก็ยิ่งเกิดภาวะที่ว่าเห็นใจ ยิ่งซาบซึ้ง และเป็นการพิสูจน์ว่า คนพวกนี้ไม่ติดเปลือก ก็ได้เนื้อหาดี

ส่วนที่ว่าเกิดผลเสีย ผู้ที่น่าจะได้ประโยชน์โดยการยังไม่รู้ซึ้งนะ ก็อาจจะไม่เข้าใจเพียงพอ ติดอยู่แค่เปลือกก็จะเห็นว่า ทางเรานี้ไม่ใช่แล้วละ เพราะเปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยเปลือก ก็น่าเสียดายต่อผู้เข้าใจผิด เพราะถ้าไม่เข้าใจผิด ก็น่าจะได้มารับประโยชน์ไปบ้าง ก็พลาดไปเนื่องจากเหตุการณ์นี้ทำให้เขาปรวนแปรไป จะว่ามันเป็นผลเสีย มันก็เสีย แต่เราไม่ได้เป็นผู้ทำ ผู้ที่ทำให้คนเหล่านั้นเสียประโยชน์นั่นแหละ น่าจะรับผิดชอบ

แต่ก็อีกนั่นแหละ มองอีกมุมหนึ่ง เขาก็บอกดีแล้ว พวกนั้นจะได้ไม่มาหลงผิด ไม่เข้ามารับอะไรเสียหาย หรือทำให้เราเสียหายเพราะความหลงติดยึดผิดๆ ตัดออกมาได้ก็บุญแล้ว ส่วนพวกที่ติดไปแล้ว ดึงไม่ออก ก็ปล่อยพวกเขาไปเถอะ เขาก็ว่าอย่างนี้ได้เหมือนกัน

: ที่กล่าวมาก็เป็นเรื่องของคนนอกมองเข้ามา ทีนี้ ในแง่ของสมณะเองล่ะคะ การที่รูปแบบเปลี่ยนไป กระทั่ง เรียกตัวเองว่า นักบวช ก็ไม่ได้ ภิกษุก็ไม่ได้นี่ แบบนี้ ตัวท่านเอง จะรู้สึกว่า ยังเป็นผู้ที่ ต้องเคร่งครัด อยู่ในธรรมวินัย หรือเปล่า ปฏิปทายังเหมือนเดิมหรือเปล่า?

: ยังเหมือนเดิม ก็กำชับกำชากันด้วย ตอนนี้เราไม่มีเครื่องช่วยแล้วนะ องค์ประกอบที่เราถือว่าเราเป็นสมณะ หรือเป็นพระภิกษุ ที่เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า โดยเปลือก โดยจีวร โดยเครื่องนุ่งห่ม โดยรูปลักษณะที่ดูแล้วเข้าใจกันนี่ เราไม่มีแล้วนะ เมื่อไม่มี-ถ้าไม่เคร่งครัด ไม่ทำเนื้อของความเป็นลูกพระพุทธเจ้าแท้ๆ โดยเนื้อหาสาระ ไม่ทำ ไม่สร้าง ไม่เป็น ไม่มี มันก็จะไม่มีเชียวนะ ต้องระมัดระวัง ต้องสังวรให้ดี ไม่เช่นนั้นจะไม่เหลืออะไรเลย ข้างนอกเขาก็เอาไปแล้ว ข้างในต้องให้มีราศีพุทธแท้ มีรัศมีออกมาทีเดียว ทีนี้แหละ เราจะได้ก็แต่คนที่มี"ดวงตา"แท้ๆ ที่มองเห็นความเป็นพุทธแท้ได้เท่านั้น

: เรียกว่ายิ่งไม่มีรูปธรรม ก็ยิ่งต้องทำนามธรรมให้สำคัญ

: ยิ่งต้องทำนามธรรมให้ถึงเนื้อแท้ ทำแก่นสารสาระให้สำคัญ ให้ถึงเป้าหมายหลักของพระพุทธเจ้า ให้เข้มข้น นี่เป็นมุมดีที่เราได้ดี เท่ากับมีผู้มาเร่งรัดให้เราจะต้องระวัง หรือทำความสำคัญให้ยิ่งๆขึ้นไป และเป็นการช่วยคัดเลือกคนให้เราอย่างวิเศษด้วยอีก

: สรุปว่า นามธรรมสำคัญกว่ารูปธรรมได้ไหมคะ ถ้ามีแต่เปลือกไม่มีเนื้อก็ไม่มีความหมายอะไร

: จะเปรียบอย่างนั้นก็ได้ มีแต่เปลือกข้างในไม่มีเนื้อ ก็เอาเนื้อดีกว่า แต่ให้ดีจริงๆก็ควรได้ทั้งเนื้อทั้งเปลือก

แต่เมื่อเขาไม่ให้เปลือกเรา เราก็ต้องเอาเนื้อไว้ให้ได้ เราเองเรายอมโอนอ่อนผ่อนปรนทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เขาก็ยังหาว่าเราดื้อด้าน จะให้เราเปล่งกล่าวสึก ซึ่งเป็นการโกหก เพราะเราไม่ได้ทุรพล ใครอยากสึก-เราเปล่า ไม่ได้ต้องการเลย เราจะเปล่งกล่าวได้อย่างไร

หรือถึงเปล่งกล่าวด้วยความจำนน มันก็ไม่เป็นอันสึกตามพระธรรมวินัย ของพระพุทธเจ้า นอกจากไม่เป็นอันสึกแล้ว ยังโกหกประชาชนอย่างที่ว่า การที่เราไม่เปล่งกล่าว จึงเป็นการที่เรารักษาสัจจะ ไม่ใช่ดื้อด้าน

: มีคนพูดว่า "ถ้าไม่มีเหตุการณ์วันนั้น เราก็จะไม่เข้มแข็งอย่างวันนี้" พ่อท่านเห็นด้วยไหมคะ?

: ก็จริง ก็มีส่วนจริง เหตุผลก็คล้ายกับที่พูดมาแล้วว่า เราไม่มีเปลือกแล้วนะ ต้องทำเนื้อให้จริง จนแม้คนตาบอดก็เห็นได้ เห็นเนื้อแท้ เห็นความจริง ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องเข้มแข็งขึ้น นี่มันเกี่ยวเนื่องกัน ที่จริงเราก็พยายามอยู่แล้วนะ แต่เหตุการณ์ภายนอกเท่ากับมาช่วยให้เราต้องเข้มแข็งยิ่งขึ้นอีก ก็น่าขอบคุณ

: สรุปบรรยากาศวันอโศกรำลึกปีนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ?

: ก็ดีนะ ดูครึกครื้น อบอุ่น ไม่อึดอัดขัดเคือง ไม่โศกเศร้า อาจมีบางคนที่ยังไม่แข็งแรง แต่ก็ดูดีกว่าปีที่แล้ว ที่หลายคนยังวางจิตวางใจไม่ได้ มาถึงปีนี้ ก็รู้สึกมีบรรยากาศของความร่าเริงเบิกบาน เข้าใจ มั่นใจ พร้อมเพรียง สรุปเรียบร้อยดีกว่าเดิมมาก

: พ่อท่านคะ ช่วงนี้เริ่มมีผลกระทบทางการเมือง คือเริ่มมีการหาเสียง แล้วก็มีการใส่ร้ายหรือสาดโคลน บิดเบือนข้อเท็จจริงให้เราเสียหาย อย่างที่เคยทำๆมา กับเรื่องนี้ เราควรวางใจอย่างไรคะ?

: ก็วางใจในความเป็นธรรมดา ธรรมชาติของคน ที่เขาเห็นแต่แก่ตัวเอาผลประโยชน์จากความเดือดร้อนของคนอื่น จะทำให้ผู้อื่นเสียหายอย่างไรก็ไม่คำนึงถึง ทั้งๆที่เรื่องเขาก็ถือกันว่ามันไม่เกี่ยวกันด้วยนะ และเราก็ไม่ได้เอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง เขาก็พยายามลากจูงเข้าไป ไปพูดในแง่ลบ ถล่มทลายให้คนลดความเชื่อถือเราให้ได้ ก็เป็นธรรมชาติธรรมดาของเขา ห้ามเขาไม่ได้ เราก็ต้องยอมรับวิบากของเรา ที่เรายังต้องอยู่ในสังคมนี้ที่มีคนเช่นนี้

เราก็ต้องพยายามอย่าไปคิดในแง่ร้าย ต้องมองในแง่ดี แม้เขามามุ่งร้าย เราก็ต้องฉลาดที่จะมองมุมดีให้ได้ คนที่ทำไม่ดีเขาก็ต้องรับผลกรรมของเขาอยู่แล้ว ไม่ควรที่เราจะไปขุ่นเคืองถือสาน่าจะเห็นใจ และสงสารเขาด้วยซ้ำ เพราะเขาได้อกุศลกรรมไป ย่อมเป็นเหตุปัจจัยแห่งความตกต่ำ ความทุกข์ และเราก็ไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอก เราก็ยังทำดีของเราอยู่เป็นปกติ แล้วก็พยายามอภัย พยายามเข้าใจ เห็นใจเขา อย่างที่อาตมาพูดไปแล้วว่า เขาทำกับเราอย่างนี้ ก็เป็นความจริงใจของเขาเหมือนกัน เพราะเขาเห็นเราผิดจริงๆ เขาเจตนาดี นอกจากบางคนเท่านั้น ที่เจตนาร้ายก็มีบ้าง เป็นธรรมดาของโลกปุถุชน

: หมายความว่า ไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น เราก็เอามาเป็นประโยชน์ได้ทั้งนั้น

: แน่นอน อันนี้ดี เอาทุกเรื่องมาเป็นประโยชน์ได้ทั้งนั้น เหตุการณ์อะไรๆจะเกิดขึ้นก็แล้วแต่ มันก็มีทั้งดีทั้งเสีย เราก็พยายามหาช่องทางที่เราจะทำดีได้ แม้จะมีช่องทางดีน้อย มันสุดทางแล้ว เรามีบุญบารมีเท่านี้ มีวาสนาเท่านี้ ก็เอาเท่านี้ ยังไงๆอาตมาก็มองเห็นว่ามันมีดีมีเสียอยู่ในสังขารธรรมทั้งหลายนั่นแหละ

ใช่แล้ว, ไม่ว่าใครจะทำให้เราเสียหายโดยเจตนาดีหรือร้ายอย่างไร เราก็จะพยายามรับเอาแต่ส่วนที่เป็นประโยชน์ เขาจะระบายสีหรือสาดโคลนมา เราก็จะเอามาเป็นปุ๋ย บำรุงรักษาต้นอภัยให้เติบโตแข็งแรง สวยงามยิ่งขึ้น

EVERYTHING HAPPENS FOR THE BEST จริงๆ

อโศกรำลึก

คือดวงเทียนส่องสว่างกลางความมืด
หัวใจชืดชินชาก็จ้าแจ่ม
คือดาวเหนือส่องทางเมื่อข้างแรม
แต่งแต้มเติมหวังกำลังใจ

คือหยาดน้ำฉ่ำเย็นกลางกลียุค
ปลอบปลุกคนหมองกลับผ่องใส
คือตะวันสาดพร่างกลางหทัย
จึงแจ้งใจดวงจิตอวิชชา

คือผู้แพ้ผู้พร้อมผู้ยอมได้
เสียสละอภัยอหิงสา
คือสมณะผู้ประสิทธิ์จิตวิญญาณ์
ขอถวายปฏิบัติบูชาแทนพระคุณ

-น้อมคำ-

end of column
     

๑๕นาทีกับพ่อท่าน วันเกิดสมณพราหมณ์ (อันดับ ๑๔๙ สารอโศก มิ.ย. – ก.ค. ๒๕๓๔ )