สิบห้านาทีกับพ่อท่าน โดย ทีม สมอ. ตอน...
ระบบสหสังคมเสรีบุญนิยม
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 151 เดือนพฤศจิกายน 2534
ฉบับ "ระบบสหสังคมเสรีบุญนิยม"

ฟังชื่อก็ยากแล้ว จะขยายอะไรมาก เดี๋ยวจะเพี้ยนกันไปใหญ่ ขอรวบรัดตัดตอนมาคุยกับพ่อท่านเลยดีกว่านะคะ

: ถาม พ่อท่านคะ พ่อท่านเห็นว่าบรรยากาศของการทำงานทางศาสนาในช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง และมีความเห็นอย่างไรในกรณีที่มีประชาชนติดตามท่านอาจารย์ยันตระจำนวนมากมาย จนเป็นข่าวขึ้นหน้าแรกของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ

: ตอบ อาตมาเห็นว่าบรรยากาศของความตื่นตัวเรื่องศาสนาช่วงนี้ดีขึ้นมาก และอนุโมทนาในข่าวกรณีที่ประชาชนสนใจติดตามฟังธรรมจากท่านยันตระจำนวนมาก ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีของความตื่นตัวทางศาสนาในสังคม

: ถาม ทำไมประชาชนจึงมีความตื่นตัวเรื่องศาสนามากขึ้นในช่วงระยะนี้คะ

: ตอบ เกิดขึ้นจากองค์ประกอบหลายอย่าง สาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งอาจเป็นเพราะคนรู้สึกทุกข์มากขึ้น เนื่องจากมองไม่เห็นความหวังในการแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาในทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ซึ่งยังสับสนวุ่นวายอยู่ ผู้คนจึงหันเข้าหาศาสนา เพราะจิตลึกๆก็รับรู้อยู่ว่า เรื่องของศาสนาคือการแก้ทุกข์ของมนุษย์

โดยวิธีการแก้ทุกข์หรือแก้ปัญหาของมนุษย์ตามวิธีการของศาสนาแต่ละศาสนานั้น อาจมีระดับความหยาบละเอียดที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับแนวทางตามหลักมรรคองค์ ๘ ของพุทธศาสนาในระบบที่พวกเราปฏิบัติอยู่ อาตมาเรียกว่าระบบสหสังคมเสรีบุญนิยม

: ถาม ไม่ทราบว่าระบบ"สหสังคมเสรีบุญนิยม"กับระบบ "บุญนิยม" ที่พ่อท่านเคยเทศน์นั้น แตกต่างกันอย่างไร

: ตอบ ระบบสหสังคมเสรีบุญนิยมกับระบบบุญนิยม ที่จริงก็คือสิ่งเดียวกัน ถ้าเรียกแบบสั้นๆก็เรียกว่า"ระบบบุญนิยม" แต่ถ้าจะเรียกให้ยาวขึ้นเพื่ออธิบายคุณลักษณะเด่นๆของระบบนี้ ก็เรียกว่าเป็น"ระบบสหสังคมเสรีบุญนิยม" เพราะในระบบบุญนิยมนั้นจะรวมเอาจุดเด่นของระบบสังคมนิยมกับเสรีนิยมเข้าด้วยกัน

ในระบบสังคมนิยมมีข้อดีที่มีการแบ่งปันเฉลี่ยทรัพย์สินสมบัติของผู้คนในสังคม หรือมีกองกลางดังเช่นกองกลางของสงฆ์ เป็นต้น ทำให้เกิดความเป็น"ภราดรภาพ"ขึ้นในสังคม

ส่วนระบบเสรีนิยมมีข้อดีที่ปราศจากการใช้อำนาจบีบบังคับ หรือมีความเป็น"อิสรเสรีภาพ" ซึ่งในระบบบุญนิยมเราไม่มีการบีบบังคับใดๆ แต่สอนให้ผู้คนลดละกิเลสตัณหาอุปาทาน

เมื่อคนมีความเห็นแก่ตัวลดลงเท่าไร ก็จะมีส่วนเกินที่เฉลี่ยแบ่งปันให้กับคนอื่นมากเท่านั้น

ระบบบุญนิยมจึงมีทั้งความเป็น"อิสรเสรีภาพ" และความเป็น"ภราดรภาพ"อยู่ในตัว ซึ่งเท่ากับเป็นการรวมเอาข้อเด่นของระบบสังคมนิยมและระบบเสรีนิยมเข้าด้วยกัน

นอกจากนี้ เมื่อได้พัฒนาระบบบุญนิยมให้สมบูรณ์ตั้งมั่น นอกจากความมีอิสรเสรีภาพและภราดรภาพแล้ว ก็ยังจะเกิดภาวะแห่งสันติภาพ สมรรถภาพ และบูรณภาพตามมาอีกด้วย ฉะนั้นคุณลักษณะสำคัญโดยสรุปของระบบสหสังคมเสรีบุญนิยม หรือเรียกสั้นๆว่าระบบบุญนิยมนี้ก็คือ ความมีอิสรเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ สมรรถภาพ และบูรณภาพ

: ถาม คาร์ลมาร์กซ์เคยวิจารณ์แนวความคิดทางศาสนาที่หวังแก้ปัญหาสังคม โดยสอนให้คนรวยเสียสละแบบนี้ว่าเป็น"สังคมนิยมแบบเพ้อฝัน" เพราะยากที่จะเป็นไปได้ และเหมือนการเลี้ยงไข้ไว้ ทำให้ปัญหาของสังคมยืดเยื้อออกไป แทนที่จะปล่อยให้ปัญหาของสังคมสุกงอม เพื่อจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาของสังคมนั้นอย่างถึงรากถึงโคน เรื่องนี้พ่อท่านเห็นอย่างไรคะ

: ตอบ อาตมาเห็นกลับกันว่า แนวทางของศาสนานั้นคือการแก้ปัญหาอย่างถึงรากถึงโคน เป็นการแก้ที่รากฐานของปัญหา

ส่วนระบบของมาร์กซิสต์นั้นเป็นการแก้ปัญหาแบบฉาบฉวย เหมือนเลี้ยงไข้ไว้โดยไม่รักษาที่ต้นเหตุ เป็นเพียงการอาศัยอำนาจจากภายนอกมาบีบบังคับและกดข่มความต้องการของมนุษย์เอาไว้ ทำให้ดูเหมือนปัญหาลดน้อยลง แต่เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง กิเลสของผู้คนที่ถูกกดข่มไว้ด้วยอำนาจจากภายนอก ก็ทนต่อไปไม่ได้และระเบิดออกมา เสร็จแล้วสังคมก็กลับไปสู่ระบบบริโภคนิยมแบบเดิมหรือยิ่งกว่าเดิม ทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายต่างๆเพราะการดิ้นรนแก่งแย่งกัน

ส่วนแนวทางของศาสนานั้นจะเป็นการแก้ที่ต้นเหตุในจิตวิญญาณของมนุษย์ เมื่อใครสามารถลดละกิเลสตัณหาอุปาทานจนเข้าถึงสัจจะได้แล้ว จะมีความเที่ยงแท้ยืนนานตลอดไป และจะสืบทอดแนวทางปฏิบัตินี้จากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งมีความคงทนถาวรยิ่งกว่า

: ถาม ระบบแนวทางของศาสนาที่พ่อท่านยืนยันนี้ จะมีทางเกิดขึ้นได้ในสังคมปัจจุบันหรือคะ

: ตอบ ขณะนี้ก็เกิดขึ้นแล้ว มีตัวอย่างหลายๆตัวอย่างในหมู่ชาวอโศกที่ยืนยันให้เห็นถึงความเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านชมร.สังคมเศรษฐกิจอย่างสันติอโศก บริษัทพลังบุญ จำกัด โครงการปฐมอโศก

จริงอยู่ อาจจะทำได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ถึงกับเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่เราต้องช่วยกันทำค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอันที่จริงจุดที่ยากคือการลดละกิเลสตัณหาอุปาทานในตัวเรา แต่เมื่อลดละได้แล้ว ในด้านการทำงานต่างๆนั้น ยังง่ายกว่าการดิ้นรนกระเสือกกระสนต่อสู้แย่งชิงลาภยศสรรเสริญโลกียสุขแบบโลกๆ ดังที่เขาเป็นกันอยู่ด้วยซ้ำ

: ถาม แล้วระบบแบบนี้จะไปสู้กับระบบบริโภคนิยมหรือระบบทุนนิยมที่ครองโลกอยู่ในปัจจุบันได้หรือคะ

: ตอบ อาตมาไม่"สู้" แต่จะ"สร้าง" ความแตกต่างระหว่างการ"สู้"กับการ"สร้าง"ก็คือ

ถ้าเรามุ่งไปที่การตั้งหน้าตั้งตาจะ"สู้" เราต้องใช้เวลา,แรงงาน ตลอดจนทรัพยากรต่างๆมากกว่า เหนื่อยกว่า

แต่ถ้าเรามุ่งไปที่การ"สร้าง" คือการค่อยๆพัฒนาสร้างคนที่ดีและมีคุณภาพให้เพิ่มมากขึ้นๆ ค่อยเป็นค่อยไป ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด แล้วปล่อยให้ผลค่อยๆคลี่คลายตามเหตุปัจจัย แบบนี้เราจะเหนื่อยน้อยกว่า และทำงานได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า

ในการทำงานทางศาสนานั้น เราไม่ได้ไปสู้กับใคร เพราะการ"สู้"หมายถึงการต้องใช้อำนาจเล่ห์เหลี่ยมเชิงชั้นต่างๆในการโค่นล้มเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งถ้า "สู้" เราก็คงจะแพ้ เพราะเราไม่มีอำนาจบาตรใหญ่หรือเล่ห์เหลี่ยมอะไรจะไปสู้เขา

แม้เรามีอำนาจ เราก็จะไม่ทำการโค่นล้มใครเป็นอันขาด แต่จะให้สัจจะพิสูจน์ตัวของมันเองให้ปรากฏออกมา จนกระทั่ง "คนตาบอดก็เห็นได้"

งานทางศาสนาคือการสร้างคนดีให้เพิ่มมากขึ้นๆ เมื่อมีคนดีจำนวนมากพอแล้ว ปัญหาต่างๆของสังคมก็จะค่อยๆคลี่คลายลดน้อยลงเองตามลำดับ ฉะนั้นถ้าสามารถสร้างคนดีเพิ่มขึ้นให้กับสังคมได้หนึ่งคน ก็เท่ากับช่วยลดปัญหาของสังคมไปได้หนึ่งส่วนโดยอัตโนมัติ

: ถาม หมายความว่าเราควรเน้นที่การสร้างคนดีโดยไม่ต้องไปสนใจอะไรกับระบบใช่ไหมคะ เพราะเมื่อมีคนดีจำนวนมากๆแล้ว ถึงระบบจะไม่ค่อยดีก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถึงมีระบบที่ดี ถ้าคุณภาพของคนไม่ดีแล้วก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้

: ตอบ การสร้างคนดีหรือสัตบุรุษนั้น มีความหมายครอบคลุมทั้ง ๒ ส่วนนี้อยู่แล้ว เพราะคนดีหมายถึงการเข้าถึงทั้งในส่วนที่เป็น"อรรถะ" และ"ธรรมะ"ของความดี

การเข้าถึง"ธรรมะ" หรือ"ธัมมัญญุตา" ก็คือการเข้าใจระบบและรู้จักระบบที่ดี ส่วนการเข้าถึง"อรรถะ"หรือ"อัตถัญญุตา" คือการเข้าถึงเนื้อหาแก่นสารของความดีนั้น

การสร้างคนดีจึงไม่ใช่การแยกเอาคนออกมาจากระบบสังคม มาอยู่โดดๆเพื่อปั้นให้เป็นคนดี แต่จะต้องสัมพันธ์กับองค์ประกอบต่างๆในระบบสังคมด้วย

: ถาม คำถามสุดท้ายที่อยากเรียนถามพ่อท่านก็คือ เคยมีตัวอย่างของระบบสังคมแบบ"สหสังคมเสรีนิยม" ที่พ่อท่านพูดถึงนี้ในประวัติศาสตร์ของประเทศไหนหรือไม่ ที่จะเป็นเครื่องยืนยันให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของระบบสังคมเช่นนี้ในหมู่มนุษย์

: ตอบ สมัยโบราณก็เคยมีระบบสังคมแบบบุญนิยมเช่นนี้อยู่ แต่องค์ประกอบของสังคมในสมัยก่อนแตกต่างจากสังคมในยุคสมัยนี้มาก จนเปรียบเทียบกันได้ยาก

เช่น สมัยก่อนธรรมชาติยังมีความอุดมสมบูรณ์ ประชากรยังมีจำนวนไม่มาก ผู้คนจึงไม่ต้องดิ้นรนแก่งแย่งหนักหนา จึงไม่มีเล่ห์เหลี่ยมต่อสู้แย่งชิงกันมากมายเหมือนทุกวันนี้

เพราะฉะนั้นหากจะสร้างสังคมระบบบุญนิยมขึ้นมาในสมัยนี้ แม้เนื้อหาแก่นสารจะเหมือนกับสังคมแบบบุญนิยมในสมัยก่อน คือมีความเป็นอิสรเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ สมรรถภาพ และบูรณภาพดังที่กล่าวมา แต่โดยโครงสร้างของระบบสังคม ตลอดจนรูปแบบวิธีการและองค์ประกอบของสถาบันต่างๆในสังคมนั้น จะแตกต่างไม่เหมือนกัน จึงยากที่จะเปรียบเทียบกันได้ในทางประวัติศาสตร์

แต่ถ้าจะหาตัวอย่างของระบบสังคมแบบบุญนิยมในอดีต เพื่อยืนยันให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของระบบสังคมแบบนี้ในหมู่มนุษย์ ก็ลองดูตัวอย่างของสังคมที่ผู้คนอยู่กันอย่างสันติสุข อยู่กันอย่างมีอิสรเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ สมรรถภาพ และบูรณภาพ ก็มีตัวอย่างหลักฐานทางประวัติศาสตร์อยู่ในหลายยุคหลายสมัย และในหลายประเทศ ปรากฏให้เห็นสมบูรณ์ดีพอได้บ้าง ไม่ค่อยสมบูรณ์นักบ้างก็ตามคุณค่าแห่งสัจธรรมที่มีจริง ระบบสังคมแบบบุญนิยมเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ เพียงแต่อาจจะมีระดับความเข้มข้นของความเป็น"บุญนิยม"ที่มากน้อยแตกต่างกัน หรือมีขนาดของสังคมที่แตกต่างกันเท่านั้น

สุดท้ายนี้ ก็ขอสรุปบทสัมภาษณ์นี้ด้วยกวีของ "ลูกหินฟ้า" ว่า...

สห รวมร่วมกันไม่ขันแข่ง
สังคม แห่งความอุดมสมบูรณ์สุข
เสรี ที่ใจไร้ความทุกข์
บุญนิยม บอกยุคพระศรีอาริย์

end of column
     

(อันดับ ๑๕๑ สารอโศก พ.ย. ธ.ค. ๒๕๓๔ )