สิบห้านาทีกับพ่อท่าน
โดย ทีม สมอ. ตอน... ทำใจให้ดี ทำดีให้ใจ |
หนังสือพิมพ์สารอโศก
อันดับที่ 155 เดือน ฉบับ "ทำใจให้ดี ทำดีให้ใจ" |
|
|
วันอโศกรำลึกปีนี้ บังเอิญอยู่ในช่วงของวิกฤติภาวะที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ พฤษภาวิปโยค พาให้ผู้คนทั่วประเทศเกิดความสลดหดหู่ มองไปทางไหน พบปะใคร ก็ยิ้มไม่ค่อยออก ดังนั้น พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ จึงได้เมตตามอบโศลกธรรมเตือนสติ "ทำใจให้ดี ทำดีให้ใจ" แก่พวกเรา และต่อไปนี้คือบทสัมภาษณ์ที่จะขยายข้อความนี้ให้กระจ่างชัดขึ้น ถ. วันอโศกรำลึกที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ พ่อท่านเห็นว่าชาวอโศกเจริญหรือเสื่อมลง อย่างไรคะ ต. ชาวอโศกเจริญขึ้น มันยังไม่มีบทเสื่อม มีแต่บทเจริญขึ้นอยู่ แต่คนที่ไม่เข้าใจรอบ จะมองในแง่ว่า มีสมณะสึกไปบ้าง มีผู้ปฏิบัติบางคน ปฏิบัติไปแล้วก็ล้มเลิก หรือว่าตกล่วงไปบ้าง ก็เป็นธรรมดา ธรรมชาติ ที่ไม่ได้หมดทุกอย่าง มันเป็นไปไม่ได้ที่ใครเข้ามาจะได้หมด แม้แต่พระพุทธเจ้าทั้งองค์ หรือพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นพร้อมกัน ๕ องค์ ก็ยังเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าว่าไปแล้ว อโศกโตเร็วพอสมควร เพราะเรื่องศาสนาในระดับโลกุตระที่เราทำทุกวันนี้ เป็นระดับที่ทวนกระแสโลกียะ หรือโลกธรรม ๘ จริงๆ เพราะฉะนั้นมันยากมาก ได้ขนาดนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จ ที่น่าภาคภูมิอย่างยิ่ง ถ. อยากให้พ่อท่านสรุปบรรยากาศวันอโศกรำลึกปีนี้ ในท่ามกลางวิกฤตการณ์มากมายที่เกิดขึ้น และเราก็จัดงานอย่างนี้ จะกระทบกระเทือนไหมคะ ต. มันไม่กระทบกระเทือนอะไรเลย ไม่ได้กระทบกระเทือนใคร เพียงแต่เรารู้บรรยากาศของสังคม เราเคยจัดที่สันติอโศก เราก็ย้ายมาจัดที่ปฐมอโศก ไม่ให้เป็นที่สะดุดหูสะดุดตา เพราะว่าเกิดเหตุการณ์ขึ้นในช่วงนั้น เดี๋ยวเขาจะหาว่าเราไปตั้งกลุ่ม ตั้งหมู่ ชุมนุม เป็นม็อบ ซึ่งเราก็เข้าใจความหมายในสิ่งเหล่านี้ดี ส่วนการจัดงานก็เป็นไปตามจารีตประเพณีวัฒนธรรมของพวกเรา ทำของพวกเราไปอย่างราบรื่น สะดวกปลอดภัยดี เป็นไปด้วยดี มีกิจกรรมดี ถ. วันอโศกรำลึก พ่อท่านให้โศลกว่า "ใจดี เร็ว ประณีต ครบ" ซึ่งเป็นลักษณะจิตวิญญาณของพระอรหันต์ และเป็นที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้ ทำใจให้ดี ทำดีให้ใจ ต. ที่จริงมันไม่ใช่ของพระอรหันต์เลยทีเดียว แม้ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็จะต้องสร้างสภาพพวกนี้ขึ้นไปให้ได้ แม้คนที่ได้แล้ว ได้มีความใจดี ประณีต มีความเร็ว มันยังไม่ครบรอบสูงสุดก็ได้ เพราะฉะนั้นเราจะไปหมายความว่า คุณลักษณะ ๔ ประการ ๔ ความหมายนี้ เป็นคุณลักษณะของพระอรหันต์ทีเดียว ก็ทำให้ท้อได้นะ แหม...เป็นของพระอรหันต์ อย่างนั้นเราอย่าใจดีเลย เพราะเรายังไม่เป็นพระอรหันต์ เราอย่าเร็วเลย เรายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เราอย่าประณีตเลย เรายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ มันก็แย่นะซี เข้าใจความหมายโต่งๆไปอย่างนั้น แม้คนยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องสั่งสมคุณธรรมอย่างนี้ ถ. ที่ว่าทำใจให้ดี ทำดีให้ใจ ขอให้พ่อท่านช่วยอธิบายค่ะ ต. ทำใจให้ดี มันเป็นความหมายเชิงอาณานิดหน่อย จะเรียกว่าขอร้อง หรือขอให้ทำ หรือจะเป็นเชิงบังคับก็ได้ ทำเถิด พยายามทำ จงทำ ทำให้มันดี ทีนี้ ทำใจให้ดี มันเป็นความหมายรวม ดี คืออะไรบ้าง ดี นั้นคืออย่างไร แล้วเราก็ทำซิ ทำที่ใจ ทำใจให้ได้ตามนั้นๆ ทำใจให้มันปราศจากอกุศล ปราศจากทุจริต ปราศจากโลภ โกรธ หลง ปราศจากความเป็นทาส หรือว่ามันได้ดีถึงขนาดว่ามันเป็นจิตที่อดทนได้แล้ว มีใจที่เมตตา มีใจที่ปล่อยวาง เสียสละ เป็นกุศลจิตต่างๆ ทำใจให้เจริญ ก้าวหน้า พัฒนา ทำใจให้ดี ถ. แล้วทำดีให้ใจล่ะคะ ต. ในความหมายที่เข้าใจง่ายๆ ของภาษาไทยเบื้องต้น ก็คือ ความเบิกบานร่าเริง อันนี้ก็ต้องการมาก ซึ่งตอนนี้อาตมาพยายามแนะนำบอกพวกเราอยู่ว่า เราเป็นคนใจดี เป็นคนใจเบิกบาน ใจร่าเริง สดชื่น ชุ่มชื่น แช่มชื่นอะไรอยู่ อย่าให้มีความหม่นหมอง มีความขุ่น ความอึดอัดขัดเคืองกัน ความไม่ค่อยสบายอะไรก็ตามเถิด ตามลักษณะตรงข้ามกับใจไม่ดี ไม่ว่าประการเล็กน้อยก็แล้วแต่ เราพยายามอ่านอาการนั้น พยายามขจัดออก โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้อแม้ นอกนั้นจะเป็นดีอะไร? ดีอย่างไร? เป็นต้นว่า ดีคือ "ไม่มีกาม ไม่พยาบาท ไม่เบียดเบียน" ก็หัดความดีนั้นให้เกิดให้เป็น ให้ "ใจ" นั่นแหละ เป็นดังที่รู้ว่า "ดี" นั้นเป็นอย่างไร หรือ "ดี" ที่สูงส่งละเอียดยิ่งๆขนาดไหนก็ต้องเรียนรู้ แล้วทำตามความหมายนั้นให้แก่ใจให้ได้
กาย วาจา เป็นผลจากใจ ใจเป็นประธานสิ่งทั้งปวง เริ่มต้นที่ใจก่อนดีแล้ว ใจปลอดโปร่งมันจะเห็นอะไรชัด มันจะไม่เข้าข้างไม่ลำเอียง จะรู้จุดบกพร่อง จุดควรแก้ไข ปรับปรุง กายกับวาจายิ่งเป็นสิ่งหยาบ เป็นกรรมเป็นกิริยาหยาบกว่าใจด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเราจะรู้อกุศลต่างๆ อกุศลทางกาย วาจา นั้นรู้ได้ง่ายกว่าสภาวะทางมโนกรรมด้วยซ้ำ ใจเป็นประธานมันแน่นอนอยู่แล้ว "มโนปุพพัง คมาธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา" ถ. ช่วงนี้พ่อท่านเน้น การทำให้เกิด appreciate แสดงว่าพ่อท่านมองพวกเราเป็นไงบ้างคะ มันจะเซ็งนะซี มันจะเป็นเรื่อง ใจแข็ง ด้าน ตกผลึก มันเป็นตัวกระด้าง เป็นถีนัง มิทธัง เป็นลักษณะที่มันไม่เคลื่อนไหว หรือไม่เกิดอาการ active มันไม่กระตือรือร้น ไม่ขวนขวาย มันเฉื่อยจืดชืด เลยกลายเป็นจุดที่ไม่พัฒนา ที่จะทำความเสื่อมให้แก่ตนเอง และสังคมหมู่กลุ่มได้ ถ. อาการอย่างนี้เป็นมานานหรือยังคะ ต. ก็เห็นมาพอสมควรแล้ว รู้สึกว่าจะมีกันคนละเล็กละน้อย บางคนมากขึ้นจนเห็นได้ชัดขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นจะต้องรู้ อาตมาจึงต้องเตือน มีสัญญาณเตือนให้รู้ว่า มันผิดทางนะ ถ้าเผื่อเราทำใจในใจ มนสิการที่ผิดทางไม่แยบคาย ไม่ถ่องแท้ ไม่โยนิโสมนสิการ มันไม่ได้หรอก มันผิดทาง ก็ไปในทางเสื่อม มันไหลเลื่อนลงทางต่ำเป็นความหายนะ แม้แต่ลักษณะที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเราว่า จิตที่เราหยุดอยู่ ไม่เลื่อนขึ้น ท่านก็ถือว่าเป็นความไม่เจริญแล้ว พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญแล้ว ลักษณะของสมณะที่มี "อายุ" คือที่ยังไม่ตาย มีชีวิตอยู่ต้องมี "อิทธิบาท ๔ " เป็นเครื่องแสดง ก็คือต้องมี appreciaten มีความยินดี มีความใจดี มีความเบิกบานร่าเริง มีฉันทะ มีความเพียร มีวิริยะ มีความเอาใจใส่ มีจิตตะ มีการพิจารณาใคร่ครวญ มีวิมังสา ซึ่งคือคุณลักษณะของอริยะสมณะขั้นที่ ๑ คือพระอริยโสดา พระอริยะที่สูงขึ้น ก็ยิ่งชัดเจนขึ้น มีฉันทะ มีความพอใจยินดี มีความขมีขมัน กระปรี้กระเปร่า ขวนขวาย เอาใจใส่ ขยันหมั่นเพียร แล้วก็พัฒนาด้วยวิมังสา คือตรวจตรา ไตร่ตรอง เลือกเฟ้นสิ่งที่เจริญๆๆไม่หยุดอยู่เรื่อยไป ไม่สันโดษในกุศล พระพุทธเจ้าท่านสอนบอกกำกับไว้ เราจึงควรเป็นให้ได้อย่างนั้น ถ้าหากเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ก็หมายถึงพระพุทธเจ้า ท่านเอาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้มาบอกมาสอนเราเท่านั้นเองนะซี ซึ่งอาตมาว่าไม่จริงหรอก พระพุทธเจ้าท่านเอาสิ่งที่ "เป็นไปไม่ได้"มาสอนเรา สัจธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ใช่สัจธรรมเพ้อฝัน เป็นสัจธรรมที่ "เป็นไปได้" ถ. ตามหลักโพชฌงค์ มีสติ ธัมมวิจัย วิริยะ แล้วก็ปีติ รู้สึกว่ามันเป็นกลุ่มประเภท active มี appreciate พอเสร็จแล้ว มันก็มาปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา เริ่มนิ่ง เริ่มหยุด ต. ไม่ใช่เริ่มนิ่ง นี่แหละเข้าใจ ปีติ ปัสสัทธิ ผิดๆ ในลักษณะธรรมของพระพุทธเจ้า ต้องมีญาณ เป็นผู้ที่คอยตรวจสอบ และสอดส่องอยู่เสมอ อาตมาเคยอธิบายลักษณะขององค์ฌานว่า มีวิตกวิจาร ก็คือตัวอ่านโดยสภาพตรรก ตรึกตรอง ไตร่ตรอง เป็นตัวเกิดของจิต เป็นตัวปรับปรุงเปลี่ยนแปลงของจิต เสร็จแล้วก็เกิดปีติ อาตมาไม่เคยแปลปีติว่า คือการดีใจอย่างเดียว อาตมาแปลว่าได้ดี แล้วเราก็ตื่นเต้นยินดี ดีใจฟูใจ ทีนี้ ปีติลดลงไปหาปัสสัทธิ หรือลดลงไปหาสุขอันสงบ ระงับ หาอุเบกขา มันไม่ใช่ลักษณะลดปีติ ที่พาซื่อเถรตรง แค่ชั้นเดียว ไม่ได้หมายความว่าลดสิ่งที่ได้ดี แต่มันอธิบายซ้อน มันลดความฟูใจ ที่เราไปหลงยินดีในสิ่งที่ได้ดี เราได้ดี มีอุเพงคาปีติ อย่างนี้เป็นต้น มันเป็นลักษณะที่แรง ซึ่งมันมีมากไม่เรียบร้อย เป็นส่วนอุปกิเลส เป็นกิเลสซ้อน เป็นกิเลสส่วนย่อยส่วนละเอียด แต่ไม่ได้หมายความว่าความดีนั้นลด แต่สิ่งที่เสริมเป็นอุปกิเลส มันมากไป มันเฟ้อ มันอลังการ ส่วนนี้ให้มันลดซะ ซึ่งอาตมาเคยบอกว่า แม้เราจะไม่ลดมัน มันก็จะลดเองตามธรรมชาติ ความดีใจ ตื่นเต้น นานเข้ามันก็จะลดลง แต่ว่ามันช้า ถ้าเรารู้แล้วก็จะลดง่าย และถ้าเราพยายามจะลดมัน ก็ลดเร็ว สำหรับปัสสัทธิ ถ้าจะวิเคราะห์เข้าในเจตสิกเลยก็คือ ตัวกิเลสนี่มันลด ตัวกิเลสมันระงับ ปัสสัทธิแปลว่า ความระงับ จิตเจตสิก และกิเลสนี่ เหมือนมันอยู่ด้วยกัน อันเดียวกัน แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ กิเลสคือตัวอาคันตุกะ คือ "แขก" มันมิใช่ตัวเรา ถ้าเราทำลายกิเลส จิตเรายิ่งเจริญ ยิ่งวิเศษ ไม่ได้หมายความว่า กิเลสเป็น องคาพยพอันหนึ่งของจิต ถ้าทำลายกิเลสแล้ว จะเหมือนกับตัดแขน ตัดอวัยวะส่วนใดส่วนนึ่งออก ซึ่งเป็นองคาพยพของร่างกาย มันไม่ใช่อย่างนั้น นี่มันเป็นแขกจริงๆ ไม่ใช่ส่วนใดส่วนหนึ่งของจิต แต่มันเหมือนจิต มันทำทีเป็นจิตเลย จริงๆแล้ว มันเป็นแขกไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น อันนั้นแหละลด อันนั้นแหละปัสสัทธิ ไอ้แขกนั่นแหละระงับ ตัดมันให้ขาด เอามันออก เอามันตาย มันหมดบทบาท หมดกำลัง เรี่ยวแรงลดลงไปๆ อ่านให้ชัดเจนว่าความดี จะดียิ่งขึ้นด้วยซ้ำ กิเลสยิ่งปัสสัทธิ จิตวิญญาณยิ่งผ่องใส ยิ่งมีชีวิตชีวา ยิ่งเป็นจิตที่ครบเต็มสมบูรณ์ขึ้น ไม่ใช่ขาด จิตวิญญาณยิ่งมีพลัง ยิ่งมีความเป็นจิตแท้ขึ้นอีก ยิ่งแข็งแรง ยิ่งวิมุติยิ่งมีพลัง ตามที่พระพุทธเจ้าท่านยืนยันแล้ว แต่การมีพลังนั้นมีพลังในทางมีกิเลสก็เป็นได้เหมือนกัน โดยเอากิเลสนั้นมาหนุน พลังอันนี้ต้องเอากิเลสมาเป็นเหยื่อ เป็นเครื่องล่อ เป็นแรงดัน มันก็เป็นพลังของมันในแง่หนึ่ง แต่กิเลสลด จิตวิญญาณก็ยิ่งมีพลังจริง ในอีกแง่หนึ่งเช่นกัน เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า ยิ่งระงับบทบาท ยิ่งเฉื่อย ยิ่งแข็ง ยิ่งทื่อ ดังนั้นถ้าเข้าใจในรายละเอียดที่บอกว่านี่แหละ คัมภีรา ทุททสา ทุรนุโพธา ลึกซึ้งซับซ้อน เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก ไม่มีสภาวะจริงแล้วจะสับสน และวิเคราะห์วิจัยไม่ออก ตัวอย่างเช่น ฤาษี เขาจะวิเคราะห์ไม่ออก เพราะฉะนั้น ปัสสัทธิของฤาษีก็หมายถึงความนิ่ง ดื้อๆทื่อๆไปเลย เป็นถีนังมิทธัง คือ นิ่ง หมดบทบาทลีลาของจิต ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขาของฤาษี เขาจะหยุดจิตระงับไปเลย ไม่ใช่เขาดับเฉพาะกิเลส และดับเฉพาะอุปกิเลส เขาดับจิตไปเลย นี่เป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดของชาวฤาษี ที่มิใช่สัมมาทิฐิของพระพุทธเจ้า ถ. ถ้างั้นพวกเขาก็ปฏิบัติผิดตั้งแต่ต้นเลยซิคะ ต. ตั้งแต่ต้นเลย เพราะฉะนั้นพวกปฏิบัติฌานฤาษีนี่นะ มันก็เลยออกนอกทาง ออกนอกเรื่องของศาสนาพุทธ ถ. ส่วนหนึ่งที่พวกเราเป็นอยู่ ใช่เชิงนี้หรือไม่คะ ต. เราไม่ได้ไปนั่งสะกดจิตอย่างนั้น แต่มันเกิดในลักษณะที่ว่า มันไม่เห็นคุณค่า ไม่เกิดญาณ ไม่เกิดปัญญา ไม่เข้าใจ ไม่เป็นสัมมาทิฐิ ความเข้าใจยังไม่ถูกทาง แล้วอุปกิเลสซ้อนเล่นงาน อย่างที่อาตมาว่า นี่พูดภาษาซ้อนๆนะ เอ...ของเราอยู่อย่างนี้ ไม่ต้องทำอะไรก็ได้แล้วนะ ข้าวมีกิน ดินมีเดิน ตะวันมีส่อง พี่น้องมีเสร็จ เห็ดมีเก็บ ป่วยเจ็บมีคนรักษา ขี้หมามีคนกวาด ผ้าขาดมีคนชุน บุญมีคนช่วยทำ กรรมก็ต่างคนต่างสะสมไป มันมีหมดแล้ว มันก็ประมาท มันได้โอกาส ก็ปล่อยก็ เลี่ยงหลบ ยิ่งมีกิเลสความขี้เกียจมากเท่าไร มันก็หลบมากเท่านั้น เพราะกิเลสมันยังไม่หมดจริงๆ การเลี่ยง เป็นอัตตาชนิดหนึ่ง อัตตาที่เห็นแก่ตัว อยู่ไปวันๆมันก็ไม่ต้อง ดิ้นรนเดือดร้อนอะไร ยิ่งเราไม่อยากได้เงินได้ทองได้ลาภ ยศ เราก็เลยไม่ค่อยมีความกระตือรือร้นอะไรแล้ว ชีวิตก็อยู่รอดสบายแล้ว เลยกลายเป็นคนเสื่อม กิเลสมันก็โตขึ้น เพราะเข้าใจผิด มีความเห็นผิด อัตตาขี้เกียจพวกนี้ อยากเบา อยากว่าง อยู่เฉยๆ นี่แหละเป็นมิจฉาทิฐิ เพราะฉะนั้นอาตมาจึงให้สัญญาณเตือน ให้ปรับขึ้นมาใหม่ เป็นคนต้องให้รู้ในลักษณะชีวิตว่าเราต้องมี "กรรม" (การงาน, การกระทำ) เราต้องใช้ "กรรม" เราต้องทำ "กรรม" อย่างที่เป็นกุศล เราต้องพัฒนา "กรรม" ยัง "กุศลกรรม" ให้ถึงพร้อม พระพุทธเจ้ายังไม่สันโดษในกุศล คุณเป็นใคร คุณใหญ่กว่าพระพุทธเจ้าหรือ คุณรวยบุญเท่าพระพุทธเจ้าหรือ รวยกุศลกว่าพระพุทธเจ้าหรือ ก็เปล่า ขนาดพระพุทธเจ้าท่านรวยกุศลตั้งเท่าไร ท่านยังไม่หยุดหย่อนในกุศลเลย เพราะฉะนั้นคุณอย่าประมาท มันต้องสังวรกันขึ้นมา ถ. บางคนเขาอาจมีอะไรอยู่ในใจ ทำให้ไม่สามารถมีใบหน้าแช่มชื่น เบิกบาน หรือเกิด appreciate ได้ ต. ต้องหัด หัดใจเราให้มี appreciateทำให้มันเกิดยินดี เห็นว่ามันน่ายินดี มันมีคุณค่า ก็บอกแล้วว่ามันไม่ดีอย่างไร ลองคิดซิ เราได้ดีอะไรมาบ้าง เราได้สถานที่ดี เราได้มิตรดีสหายดี เราได้เครื่องอาศัยใน อาศัยนอก อุปโภค บริโภคดี อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ไม่ได้มาโดยเปล่าๆ แต่ได้มาโดยการพัฒนา ด้วยการร่วมแรงร่วมใจ ได้มากันด้วยระบบ ด้วยทฤษฎีของพระพุทธเจ้าพาทำ พาเป็น มีสัมมาอริยมรรค แล้วเราก็ทำมาดีอย่างนี้ ทำไมเราไม่ภาคภูมิ ฉะนั้นลักษณะที่บอกว่าเราเอง เราไม่ยินดี จึงต้องทำให้มันยินดี อย่างน้อยที่สุดก็แก้มันดื้อๆ และทำให้มันเกิดญาณปัญญาขึ้น ทำไปแล้วมันจะเกิดความลงตัว ความมั่นคงตั้งมั่น ทำบ่อยๆ เป็นพหุลีกัมมัง (กระทำให้มาก) จนเกิดความชำนาญ ทำได้ง่าย ถ้าเราไม่ซักซ้อม อยู่ดีดีเราจะเกิดความตั้งมั่นขึ้นมาเอง อันนี้ อันนั้น บันดาลให้ตั้งมั่น พระพุทธเจ้าไม่เคยสอน ถ. บางคนอยู่วัดนาน หรือพวกแก่วัด จะเกิดความรู้สึกชินชา ต. โดยธรรมชาติแล้ว ตัวปีติดีอกดีใจ ตื่นเต้น สักช่วงหนึ่งมันก็จะชินชา ซึ่งอาตมาก็เคยแปล เคยตั้งข้อสังเกตไว้ ชิน กับ ชา ชินชาเป็นภาษาบาลี เป็นภาษาธรรมะ ชา แปลว่า รู้ ชิน แปลว่า ผู้ชนะ มันชนะแล้วมันก็รู้ เป็นความรู้อย่างยิ่ง จริงๆ ในเชิงภาษาไทย ก็อธิบายได้เช่นกัน ชินชา หมายความว่า ไม่ตื่นเต้นแล้ว มันอยู่ตัวแล้ว มันนิ่งแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า มาลดความแข็งแรง มาลดบทบาท มาลดประสิทธิภาพ มาลดอะไรๆลง มันไม่ลดนะ เพราะฉะนั้นเชิงของกิเลสนี่มันดีอกดีใจตื่นเต้น พออกพอใจ ซึ่งเป็นอุปกิเลสเท่านั้น ที่มันจะเกิดอาการชินชา โดยธรรมชาติ มันก็ลดลงไปเรื่อย อุปกิเลสจะลดลง แต่ถ้าเรายิ่งรู้ วิเคราะห์วิจัยตัวอุปกิเลสนั้นออก และทำให้มันรีบลด มันก็จะยิ่งเกิดความเจริญ เกิดความชินชาโดยรู้ๆ เราทำเจตจำนงว่าให้อุปกิเลสมันลด ก็ยิ่งดีใหญ่ พ่อท่านพูดชี้ลึกขนาดนี้ คงจะทำให้พวกเราได้รู้สึกตื่นตัว ตื่นใจแล้วนะคะ ในอันที่จะรีบหาข้อบกพร่องของตน แล้วแก้ไขปรับปรุง จะเกิดปัญญาญาณที่คมชัด เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบัน อย่างรู้คุณค่าต่อทุกสิ่ง มีความทรงจำในอดีตที่ประทับใจ และมองไปในอนาคตด้วยความเชื่อมั่นในทิศทางนี้ ทีมข่าว สมอ.
|
|
๑๕ นาทีกับพ่อท่าน ตอน ทำใจให้ดี ทำดีให้ใจ อันดับ ๑๕๕ สารอโศก มิ.ย. ก.ค. ๒๕๓๕ |