|
||||
สิบห้านาทีกับพ่อท่าน
โดย ทีม สมอ. ตอน... ปลุกเสก'36 |
หนังสือพิมพ์สารอโศก
อันดับที่ 159 เดือนกุมภาพันธ์ 2536 ฉบับ ปลุกเสก'36 |
|||
|
||||
สารอโศกเล่มนี้ชื่อ ฉบับ ปลุกเสก '๓๖ (ตามฟอร์ม) แต่มีวงเล็บว่า สูตร "๔ ๕ ๗ ๘" นี่สิ มันคืออะไรกันนะ เกิดใครคิดว่าให้หวยจะมิไปกันใหญ่หรือ : พ่อท่านคะ สูตร ๔ ๕ ๗ ๘ นี่คืออะไรคะ : ๔ ๕ ๗ ๘ เป็นตัวเลขกำกับหัวข้อ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ เลข ๔ มีอยู่ใน ๓ ข้อแรกคือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ ส่วน ๕ ก็เป็นหัวข้อของ - อินทรีย์ ๕ - พละ ๕ เลข ๗ คือ - โพชฌงค์ ๗ และ ๘ คือ มรรคมีองค์ ๘ ก็ได้ตัวเลข ๔ ๕ ๗ ๘ เป็นเลขหลักในการที่จะเป็นข้อสังเกต หรือจดจำหลักของโพธิปักขิยธรรมให้ง่ายขึ้น ซึ่งถ้าเอาทั้งหมดมารวมกันจะได้เท่ากับ ๓๗ : การจัดงานปลุกเสกนี่มีจุดประสงค์อะไรคะ? : จุดประสงค์ก็เป็นการอบรมให้ความรู้ และได้ปฏิบัติไปด้วยกัน ๗ วัน ๖ คืน ที่เราจัดมาตั้งแต่ต้นจนถึงบัดนี้ เป็นการได้ทั้งเรียนรู้ปริยัติ นโยบาย วิธีอะไร เราก็พยายามจัดสรรกัน เป็นวิธีการเพื่อที่จะสื่อ ที่จะศึกษา ที่จะเรียนรู้ ถ่ายทอดอบรม ฝึกฝนไปในตัวเสร็จ เป็นหมู่กลุ่มที่จะจัดกันจนกระทั่งได้ตามหลักมรรคมีองค์ ๘ จริงๆ ทำสัมมาทิฏฐิให้แจ้ง ให้เป็นประธาน เสร็จแล้วเราก็มีสติ มีวายามะ เรียกสัมมาสติ สัมมาวายามะ ประพฤติปฏิบัติจริงๆ ๗ วัน มีกิจกรรมอะไรระลึกรู้ตัวยังไง จะทำอะไร คิดอะไร มีงานอะไรก็ประพฤติปฏิบัติให้มันลงตัว ด้วย "สัมมาทิฏฐิ"เป็นประธาน แลัวมี "สัมมาสติ" กับ "สัมมาวายามะ" อีก ๒ องค์หัอมล้อม รวมเป็น ๓ องค์ ตัวปฏิบัติก็คือสังกัปปะวาจา -วาจา -กัมมันตะ -อาชีพ ก็มีอีก ๔ องค์ รวมเป็น ๗ องค์ ซึ่งเราก็ทำกันอยู่ในนั้น เป็นการพากเพียรสั่งสม "สัมมาสมาธิ" เรียกรวมๆว่า ทำสมาธิด้วยมรรคองค์ ๘ ไม่ใช่การนั่งสมาธิด้วยการนั่งหลับตาแบบลัทธิทั่วๆไป ซึ่งลัทธิไหนๆก็ทำกันอยู่ แต่นี่เป็นสมาธิแบบพุทธ คือ สร้าง "สัมมาสมาธิ" ด้วยหลักมรรคองค์ ๘ วิธีการก็ปฏิบัติองค์ ๗ ของมรรคเท่านั้น ให้ "สัมมา" ให้ได้ แล้วมันก็จะสั่งสมลงเป็นสมาธิ เรียกด้วยศัพท์เฉพาะสำหรับสมาธิของพุทธนี้ว่า "สัมมาสมาธิ" ตามมหาจัตตารีสกสูตร ที่ท่านได้อธิบายยืนยันไว้ชัดเจน ก็ได้ผลอย่างนั้นออกมางานประเพณีอบรมธรรม "ปลุกเสกฯ" นี้เราก็อบรมกันมาตั้ง ๑๗ ครั้งแล้ว ๑๗ ปีแล้วที่เราสร้างสรรขึ้นมา ประกอบการขึ้นมาจนเป็นระบบลงตัว เป็นรูปแบบขึ้นมาอย่างดี จะเห็นได้ว่างานคราวนี้เรียบร้อยมาก ราบรื่น และมีประสิทธิภาพดีทีเดียว : แล้วบรรยากาศทั่วไปล่ะคะ คนเก่า คนใหม่ เป็นอย่างไร : มีหมดเลย คนเก่าก็ยืนหยัดยืนยัน เดี๋ยวนี้สังเกตได้เลยว่า คนเก่าก็ตั้งอกตั้งใจที่จะไปให้ครบ ๗ วัน สมัยก่อนๆมีอยู่ช่วงหนึ่งที่อาจจะคิดผิดว่า เคยมาแล้วรู้แล้ว ก็เลยไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ซึ่งที่จริงถ้าให้ความสำคัญ ก็จะได้ไปเรียนรู้ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธก็จะเกิด บรรลุธรรมตอนนั้นเลยก็ยิ่งดีใหญ่ ช่วงนั้นก็เลยมีการเพิ่มๆ ลดๆบ้าง ตอนนี้รู้สึกว่า เกิดปัญญาญาณ เกิดศรัทธาที่ชัดเจนขึ้น คนเก่าก็ยืนหยัดยืนยันดีขึ้น คนใหม่ก็มีไปเพิ่มเติม ส่วนคนใหม่ที่ไปแล้วไม่รู้เรื่องก็ถูกคัดออกโดยปริยาย คือไปอยู่ไม่กี่วันก็ต้องหนี คนที่กลางเก่ากลางใหม่ตั้งใจจะไม่อยู่ครบ ก็เกิดภาวะที่ดีขึ้นมาได้ : การเทศน์เรื่องโพธิปักขิยธรรม ๓๗ นี่ ไม่ง่ายเลยนะคะสำหรับคนใหม่ ถึงแม้คนกลางๆก็เถอะ : อาตมาก็เห็นว่ามันยาก จึงพยายามอธิบายให้เป็นเรื่องง่าย ในวันแรกๆของการอธิบายก็พูดในแง่สังคมกว้างๆ ค่อยๆตั้งโครง ตั้งแต่หยาบๆตื้นๆ อยากจะกล่าวถึงสติก็เอาโพชฌงค์มาจับ สติสัมโพชฌงค์ พยายามอธิบายสติ ๓ ระดับ มีสติสามัญธรรมดา หรือ สติปุถุชน สติกัลยาชน สติอาริยะ หรือ สติสัมโพชฌงค์ ก็วิเคราะห์ตั้งแต่สติปุถุชนออกไปกว้างๆ ที่เป็นพื้นฐานของคนทั่วๆไปที่มันพอรู้ทั้งนั้นแหละ แล้วก็ค่อยๆ ไล่ไปหาสติกัลยาชน อธิบายเรื่องราวประกอบเป็นตัวอย่างให้เห็นความมีสติ-ไม่มีสติอย่างไร อย่างปุถุชนก็มีสติสามัญธรรมดาของคนส่วนมาก คนบ้าก็มีสติอีกแบบหนึ่ง ซึ่งคนธรรมดาเห็นว่าเขาไม่เหมือนปุถุชนคนธรรมา ก็เลยเรียกจัดเขาเป็นคนเสียสติ ปุถุชนเขาก็อยู่กันแบบของเขา ล่าลาภ ยศ สรรเสริญ เสพโลกียสุข ก็เป็นสติธรรมดาของเขา เป็นสามัญวิสัยของคน เขาจะทำอะไรก็จะมุ่งหมาย หรือเจตนาไปตามสามัญสำนึกของเขาอย่างนั้น กัลยาณชนก็มีสำนึกขึ้นมาบ้าง พากเพียรบ้างตามภูมิ ที่เขามีบุญบารมีของแต่ละคนซึ่งไม่เท่ากัน แม้จะมาปฏิบัติธรรมบ้างก็อยู่ในระดับกัลยาณชนเป็นส่วนมาก จะไม่ถึงขีดบรรลุเป็น "อาริยชน" ง่ายๆ ถ้าไม่เป็นสัมมาทิฏฐิจริง และสัมมาปฏิบัติให้ถึงขั้นพ้นสังโยชน์ แต่ก็พากเพียรกันอยู่ไม่น้อย เพื่อที่จะพัฒนาตนเองไปสู่สัมมาทิฏฐิ มีการสังวรสำรวม ศึกษาคุณธรรม ไม่ใช่เอาแต่ล่าลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข แต่ก็ยังไม่รู้ขอบเขตและเนื้อหาของคำว่า "สติสัมโพชฌงค์" ที่เป็นสติของอาริยะ เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ เข้าขีดอาริยะ เป็นอริยมรรคอริยผล เป็นสัมมาสติ เป็นสัมมาวายามะ เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ พัฒนาสังกัปปะ กัมมันตะ อาชีวะ จนเกิดปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผล ตามองค์ธรรมของสัมมาทิฏฐิ สั่งสมเป็นสัมมาญาณ สัมมาวิมุติเข้าไปจริงๆ พ้นสังโยชน์ ๓ เป็นอย่างต่ำ จึงเป็นขีดตัดสินว่าเป็น "สติสัมโพชฌงค์" หรือสติอาริยะตามความหมายของพุทธ ก็พยามยามอธิบายให้เข้าใจไปเรื่อยๆ ซึ่งมันก็ยากอย่างว่านั่นแหละ เราก็ต้องลึกซึ้งขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ละปีๆ แต่มันก็น่าชื่นใจนะ ปรากฏว่าคนรับได้มีเยอะ แสดงว่าคนของเราก้าวหน้า แสดงว่าคนของเราก้าวหน้า แสดงว่าแกนแก่นที่เป็นคนเก่านี่แหละ ฟังธรรมะคราวนี้ได้ดีขึ้น ลึกซึ้งขึ้น ตัวเองก็รู้สึกว่าได้พยายามที่จะวิเคราะห์วิจัยให้กว้างให้ลึก ให้เห็นปฏิสัมพันธ์ ปฏิสังเคราะห์ต่างๆ ในการปฏิสัมพันธ์ ปฏิสังเคราะห์ขององค์ธรรมเป็นสมังคีนี่ เป็นเรื่องสำคัญมากเลย แล้วก็มีสภาพหมุนรอบเชิงซ้อน มีทั้ง "สัจจะย้อนสภาพ" สัมพันธ์ - สังเคราะห์กันเข้าไป ลึกซึ้งคัมภีรา คนที่มีปัญญา มีภูมิธรรมจะรู้สึกได้ : พ่อท่านประเมินจากอะไร ที่ว่าคนรับได้มีมาก : เราก็มีการวิเคราะห์วิจารณ์กันดู แสดงกันมาสองวันสองคืน แต่ละคนก็แสดงความคิดเห็นออกมา ค่าเฉลี่ยก็เห็นชัดเจนว่ารับกันได้ดี ได้เข้าใจกันมากขึ้น คนที่เคยบอกว่า แต่ก่อนไม่เข้าใจ แม้แต่คนนอก คนใหม่ หรือแม้แต่พระอาคันตุกะก็ยังบอกว่าท่านเข้าใจได้มาก : พ่อท่านใช้คำว่า "อาริยะ" บ่อยๆ "อาริยะ" ต่างกับ "อริยะ" อย่างไร : ที่เจตนาใช้คำว่า "อาริยะ" ขึ้นมาจริงๆ นี้ ก็เพราะว่าเห็นว่าภาษาคำว่า "อริยะ" กับ "อารยะ" ที่หมายความว่าประเสริฐ หรือเจริญอย่างแท้จริง มันเพี้ยนไปแล้ว ความหมายมันผิดเพี้ยนไป "อารยะ" เขาก็เอาไปเรียก คนทางโลกว่าอารยชน อารยประเทศ ซึ่งหมายถึง เจริญทางด้านโลกีย์ หรือลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข หรือพัฒนาสังคมธรรมดาทางวัตถุธรรมแท้ๆ เลย ใช่...เขาก็เจริญมากมีมากมาย ไม่ผิดในรูปธรรมตื้นๆ ซึ่งความเจริญทางวัตถุธรรมเป็นทุนนิยม ที่จริงมันเป็นทุกข์ และเป็นหนี้เป็นบาปทับทวีซับซ้อน เขา"สร้างสรร" แต่เขาไม่ "เสียสละ" จริง เพียงได้เสียสละหลอกๆ เขาก็ไม่รู้ มันสุดโต่งไปทาง "เกิดวัตถุ" หลงวัตถุและไม่รู้การระงับจิตยิ่งๆ ขึ้น ส่วน "อริยะ" ก็เอาไปเรียกบุคคลที่เลยเถิดสุดโต่งไปทางด้านฤาษี ใช่...เขาก็มักน้อย สันโดษจริง แต่ไม่ได้เข้าหลักของพระพุทธเจ้าทีเดียว ไม่ได้เป็นไปตามหลักมรรคองค์ ๘ เขาก็ "เสียสละ" แต่ไม่ "สร้างสรร" แม้แต่ "สร้างสรรค์" ก็ไม่ถึงขั้น มันโต่งไปอีกฝั่งหนึ่ง ไม่รับรู้โลก และไม่เข้าใจโลก หนีโลก ไม่เกื้อกูลโลก ไม่สร้างสรรพัฒนาอะไร มันสุดโต่งไปทาง "ดับจิต" ไม่รู้โลกยิ่งๆ ขึ้น แล้วก็เข้าใจผิดว่าเป็นอริยะ จริงๆ ก็แค่สุดโต่งในทางสงบ "ดับจิต" สงบตายๆ สงบนิ่งๆ เหมือนลัทธิฤาษีที่นั่งสมาธิหลับตาเป็นทฤษฎีหลักทั้งหลาย ไม่ใช่ลัทธิที่ปฏิบัติตามทฤษฎี "มรรค องค์ ๘ "อย่างสัมมาของพระพุทธเจ้า จึงไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์อะไรกับสังคมเท่าที่ควรเลย และไม่มีความเข้าใจในนามธรรมหรือจิตวิญญาณได้อย่างแตกฉาน รู้แจ้งถ้วนรอบลึกซึ้งจริงด้วยซ้ำ อาตมาถึงได้พยายามอธิบาย คำว่า เจริญ หรือ ประเสริฐ ของคนนี่ มันต้องวัดกันด้วยนิยามง่ายๆ ว่า "สร้างสรร" กับ "เสียสละ" และสองอย่างนี่จะต้องควบคู่กัน ขยายกันอย่างชัดเจน และต้องเข้าใจทฤษฎี "กำไร-ขาดทุนของอาริยชน และต้องเป็นไปตามทฤษฎีนี้ด้วย เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้ "อารยะ" ก็เสีย "อริยะ" ก็เสีย คือผิดเพี้ยนไปจาก "ความเป็น" คุณภาพแท้ของพุทธ อาตมาก็เอาสองคำนี้มารวมกันเป็น "อาริยะ" เสียเลย นักภาษาศาสตร์จะว่าอาตมาผิดภาษายังไง อาตมาก็ไม่มีปัญหา อาตมาขอใช้คำนี้มาจากรากศัพท์ อารยะหรืออริยะแน่ๆ ซึ่งแปลว่าประเสริฐหรือเจริญนี้แหละมาใช้ แล้วก็กำหนดลักษณะมนุษย์ "อาริยะ" อย่างที่กล่าวไปแล้ว : จำกัดความว่า ชาวอาริยะคือชนผู้เจริญได้ไหมคะ : ก็หมายความตามนั้น แล้วก็เป็นความเจริญหรือประเสริฐชนิดที่เป็นนักสร้างสรรที่แท้จริง ไม่ใช่สร้างสรรแล้วไม่เสียสละ จนกลายเป็นนายทุน เป็นผู้ที่มั่งคั่งร่ำรวย เอาเปรียบชนชั้นล่างที่ถูกขูดรีด ต้องจำนนต่อความพ่ายแพ้ ก็พ่ายแพ้อยู่จริงๆ แต่ "อาริยชน" นี่ ต้องสร้างสรร สร้างสรรไม่น้อยหน้า "อารยชน" เป็นผู้ทำความเจริญ ขยัน มีฝีมือความสามารถ และขวนขวาย อุตสาหะอยู่กับสังคม แล้วกระจายรายได้สะพัดส่วนได้ของตนถึงขั้น "ขาดทุน" หรือ "เสียเปรียบ" ชนิดที่ยินดี "เสีย" แต่ไม่ใช่ "เสียรู้" เสียให้ สละให้อย่างมีปัญญาอย่างเต็มใจและอย่างเหมาะควรแก่ผู้รับนั้นๆ ซึ่งเป็นการเสียสละแท้ มีสภาพความเป็นจริงยิ่งกว่าแบบทุนนิยมอย่างชัดเจน ผู้เสียสละคือผู้ที่รู้ปรัชญาของความเป็นผู้มีประโยชน์มีคุณค่าแท้ได้ลึกซึ้งและเสียสละจริงกว่า เสียสละไม่แลกเปลี่ยนกลับคืนมา หรือเอาอัตราการแลกเปลี่ยนกลับมาอย่างเอาเปรียบ ด้วยกลวิธีนานาชนิด ด้วยความฉลาด ไม่ใช่เช่นนั้นเลย แต่เสียสละชนิดไม่ได้เปรียบมาให้ตนอย่างสะอาดบริสุทธิ์ลึกซึ้งจริง ถ้าเข้าใจความเป็นอาริยชนเช่นนี้ได้ เขาก็จะมาพากเพียรปฏิบัติ ประพฤติลดละกิเลส ลดความเห็นแก่ตัวลงจริงๆ เมื่อลดกิเลสลงได้จริง ก็มามีพฤติกรรมถูกต้องในสังคม สังคมก็จะมีคนประเสริฐ หรือคนเจริญที่ได้ "สร้างสรร - เสียสละ" จริง มีมากเท่าไร สัจจะอันนี้ก็จะเจริญในสังคมเป็นสัจจะที่จะพิสูจน์ เปรียบเทียบให้เห็นว่า อาริยธรรมที่มีอยู่เป็นอย่างไร แม้จะยังมีน้อยก็ตาม : เท่าที่ปลุกเสกฯ มา ๑๗ ครั้งนี้ พ่อท่านเห็นว่าญาติธรรมมีความเจริญในด้านใดที่เห็นได้ชัด : เจริญ "สร้างสรร" ขึ้นมา เข้าใจ เต็มใจ เห็นได้ทั้งพฤติกรรมหรือกัมมันตะ และอาชีพเป็น "สัมมาอาชีวะ" ขึ้นมายืนยันกับสังคมยิ่งๆ ขึ้น ไม่ฉ้อฉล ไม่ฉลาดแกมโกง แล้วก็พากเพียรที่จะลดละกิเลส ที่จะลดละอัตตามานะความเห็นแก่ตัว "เสียสละ" อย่างเต็มใจ เข้าใจ ไม่ตีกิน ไม่เลี่ยงหลบ ไม่เกียจคร้าน ไม่เอาแต่อยู่ว่างๆ เบาๆ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็แย่กว่าสัตว์ มีคุณค่าสู้วัวสู้ควาย ซึ่งต้องทำงานก็ยังไม่ได้ เพราะไม่ได้สร้างสรรอะไร ได้แต่มักน้อยสันโดษอยู่อย่างนั้น วัวควายมันก็มักน้อย แต่มันก็มีการงาน ทำข้าวให้คนกิน แต่ตัวมันเองยังกินฟางเลย เป็นคนนี่ต้องสร้างสรร เสียสละ แล้วก็ลดกิเลส สอดคล้องกันทุกแง่ ซึ่งอาตมาก็เห็นว่าในการอบรมนี้ ส่วนใหญ่เจริญขึ้นเห็นได้ชัด แม้จะมีบางคนตกร่วงไปบ้างก็เป็นธรรมดา ธรรมชาติ ปัจจัตตัง แต่บางทีบางคนไม่ได้ตกร่วง เหมือนกับต้องออกไป ต้องเข้ามา บางทีมันวูบวาบตามกิเลสมันพาให้เป็น นั่นก็ต้องปล่อยไป พวกเขาก็ไม่อยากเป็นหรอก แต่เขาก็โดนกิเลสมันเล่นงานเอา มันก็ต้องเป็นบ้าง แต่ถ้ามีภูมิธรรม มีสัจจะที่ได้แล้วจริง สักวันก็จะมีข้อเปรียบเทียบ ประสบการณ์เหล่านั้นจะสอนจะบอกเอง : แล้วประเภท "อยู่ไปวันวัน" ล่ะคะ : ก็มี อยู่ไปวันๆ อยู่ไปเรื่อยๆ ไม่พัฒนาก็พยายามสอนเขาอยู่ พยายามจี้ พยายามเร่งรัดพัฒนา พยายามที่จะให้รู้ตัว แก้ไขปรับปรุงอยู่ แต่ก็มีไม่มากหรอกนะ มันก็ได้ตามบารมีของเค้าน่ะ มันอาจจะช้าไปเอาให้ได้ดั่งใจเราไม่ได้ ก็ได้เท่าที่ได้ เมื่อยังไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่จะอยู่ร่วมกันได้ ก็ถือว่าเป็นมวลที่มีคุณค่าพอสมควรแล้ว : ในขณะที่พ่อท่านเห็นว่าส่วนใหญ่เจริญขึ้น แต่พ่อท่านก็พูดว่า ส่วนที่ยังขาดอยู่บ้างก็คือสำนึก อันนี้หมายความว่าอย่างไร : สำนึกที่หมายนี่ คือสำนึกที่ว่า เราต้องรู้สึกตัว มีสติรู้ตัวแล้วก็มีวิริยะ มีธัมมวิจัยที่ได้อ่านแล้ว มีสติสัมโพชฌงค์ มีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ มีวิริยะสัมโพชฌงค์ มีองค์ธรรมสามนี้ หรือมีโพธิปักขิยธรรม ๓ หลัก คือมีสติปัฏฐาน ๔ ความเข้าใจและปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ เป็น มีสัมมัปปธาน ๔ ประกอบร่วมด้วย แล้วก็มีอิทธิบาท ๔ มีความเพียรประกอบด้วย เป็นสมังคีอยู่ ไม่ใช่เป็นแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจะมีมรรคผล สำนึกก็คือ ได้พัฒนาตนเองอย่างแรงหรืออย่างเบาก็แล้วแต่ มันก็ยังมีการได้พัฒนาขึ้นมาบ้าง ถ้ามี "สัมมาทิฏฐิ" สำนึกมาก สังวรมาก มีวิริยะสูง มีอิทธิบาทสูง เขาก็ได้ปฏิบัติมาก ข้อสำคัญว่า สัมมาทิฏฐิของเขาถูกต้อง สติปัฏฐานเขาได้สังวร สัมมัปปธาน ของเขาได้ทำ ธัมมวิจัยของเขาได้ใช้จริงๆ มีแรงดันของวิริยะหรืออิทธิบาทนี่ การประพฤติปฏิบัติก็จะติดเครื่องเดินเครื่อง อย่างที่อาตมาได้สาธยายไปในโพธิปักขิยธรรม คราวปลุกเสกฯ คิดว่าได้เปรียบเทียบ แมัจะเป็นรถยนต์คันหนึ่ง เปรียบเทียบด้วยแรงกดที่จะเดินอย่างไร ก็ได้วิเคราะห์วิจัยออกมาที่คิดว่าเข้าใจง่ายที่สุดแล้วนะ : แล้ว "สำนึก" นี่จะเกิดได้เองหรือต้องสร้างขึ้นอย่างไร : ต้องศึกษานะ ช่วยให้ความรู้ อย่างอาตมารู้ว่าอย่างนี้ดีอย่างนี้ถูก ก็เสนอสื่อให้ฟัง ส่วนใครจะมีปัญญารับ ใครจะเชื่อหรือไม่นั้น บังคับกันไม่ได้หรอก ใครรับได้ก็ได้ รับได้แล้วจะเอาไปปฏิบัติหรือไม่ก็บังคับกันไม่ได้อีก ผู้ที่รับได้แล้วเอาไปปฏิบัติ มีการปฏิบัติโดยมีสังวรปธาน - ปหานปธาน - ภาวนาปธานและอนุรักขนาปธาน เป็นสภาวะเป็นอยู่จริง นั่นแหละเรียกว่า สำนึก ปฏิบัติถี่ ก็เป็นสำนึกที่ถี่ สำนึกที่มาก ปฏิบัติไม่ถี่ก็นานๆ สำนึกที : ความจริงนี่วันมาฆบูชา ตามจริงๆ แล้วมันเป็นเดือนมีนาคมไม่ใช่หรือคะ : ถ้ามันเป็นปีอธิกมาส มีแปด ๒ แปด เขาก็จะเอามาฆบูชาไปเป็นเดือน ๔ เพ็ญเดือน ๔ เขาก็นับกันอย่างนั้นทำกันมาแต่ไหนๆ แต่ว่าเรามีความจำเป็นที่ต้องใช้เดือน ๓ อย่างเดิม เราถือว่าจริงๆ มาฆบูชาเป็นเพ็ญเดือน ๓ แต่มันพิเศษขึ้นมาเป็นอธิกมาส เขาจะไปนับเดือน ๔ ก็แล้วแต่เถอะ เราก็ไม่มีปัญหาอะไร เราก็ไม่ขัดแย้ง เราก็ไม่ขัดข้องอะไร แต่เราจะถือเอาวาระที่เราจะไปจัดงานของเราเท่านั้น ไม่งั้นมันจะชิดกับงานพุทธาภิเษกฯ เกินไป มันจะกระชั้น เราก็เลยต้องใช้วันเพ็ญเดือนสามตามเดิม : รู้สึกมีอยุ่จุดหนึ่งที่พ่อท่านเทศน์คืนมาฆบูชานะคะ ที่ทุกคนจะติดใจ จะสะดุดใจที่พ่อท่านเทศน์ไป - เทศน์ไป แล้วก็ถึงขั้นถึงบทที่พอถามขึ้นมาว่า "พวกคุณชังกันไปทำไม ?" : แล้วมันสะดุดกันมั้ยล่ะ? : สะดุดค่ะ ดิฉันก็สะดุด : ก็ดีแล้วนี่ ? : แต่ว่าความชังมันยังมีอยู่? : ก็ต้องสังวรสิ? ก็นั่นแหละ บรรยายกันเจาะลึกกันจนเข้าใจดีแล้ว ถึงได้พูดขึ้นไป เพื่อให้พวกเราได้ติดใจ ให้สะดุดใจ ให้จำได้ ให้เตือนสำนึก ให้มันมีในสำนึก เมื่อปัญญาเข้าใจว่า ...ที่อาตมาพูดว่า "คุณชังกันทำไม??" ถ้าคุณมีปฏิภาณเข้าใจว่า จริงด้วยนะ? แล้วเราจะไปชังกันทำไม ? ถ้ามันไปฝังจิตใจประทับใจ แล้วคุณก็เข้าใจความหมายนี้ คุณระลึกถึงคำว่า....ที่อาตมาพูดว่า "แล้วชังกันทำไม ? ขึ้นมาเมื่อไหร่ คุณจะได้สำนึก สังวร และได้พยายามปฏิบัติประพฤติสู่สภาพที่ไม่ชังกันให้ได้ : แต่การที่เราปฏิบัติธรรมแบบขัดเกลากันนี่ มันก็จะต้องเกิดการกระทบกระทั่งกัน เกิดความไม่ชอบใจกัน เกิดความชิงชังกันบ้าง รังเกียจกันบ้าง มันก็ยังเกิดอยู่ : มันเกิดนั่นแหละ เรารู้ให้ได้ว่า ก็อย่าให้มันเกิด ต้องสังวร ต้องปหานให้ได้ คุณบอกว่า "มันยังต้อง..." ก็เพราะว่าเรายังล้างไม่หมด เรายังปฏิบัติสมบูรณ์ไม่ได้ เพราะปฏิบัติสมบูรณ์ไม่ได้นั่นแหละ เราจึงต้องมาพยายามย้ำเตือนกันให้ปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อให้สมบูรณ์ให้ได้ไง ? และขอยืนยันน่ะว่า มันปฏิบัติสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่ามันปฏิบัติสมบูรณ์ไม่ได้ ก็หมายความว่าเราล้างกิเลสตัวนี้ไม่ได้ เราล้างไม่ได้ก็เป็นส่วนตัวของเรา แต่ไม่ได้หมายความว่าทฤษฎีหลักหรือความเป็นจริง ความแท้จริงนั้นล้างไม่ได้ ไม่ใช่? ความเป็นจริงต้องล้างได้ ถ้าล้างไม่ได้แล้วหรือไม่มีคนล้างได้ พระพุทธเจ้าท่านก็โกหกเรานะสิ พระพุทธเจ้าท่านยืนยันว่าท่านล้างได้ และก็มีพระสาวกที่ล้างได้ตามอย่างพระองค์มากมาย เราทำได้บ้าง เราก็จะรู้ว่ามันเป็นไปได้ ยิ่งทำได้หมดจริง ยิ่งจะบูชาพระพุทธเจ้าอย่างสุดบูชาว่านี่แหละหนอความจริง : แต่รู้สึกว่ามันต้องไปถึงที่สุดแล้วมันถึงได้ ? : จะสุดหรือไม่สุดก็ตามใจ เราก็ต้องพากเพียรไปเรื่อยๆ มันถึงจะสุด ไม่ได้เดินก้าวแรก..เมื่อไหร่จะถึงก้าวสุดท้ายเล่า มันก็ต้องเดินก้าวแรกแล้วก็พยายามเดินให้ได้ต่อและต่อๆ ไป มันจะฝืด มันจะยาก มันจะลำบากยังไง มันก็ต้องหาวิธีที่จะให้มันเดินได้...มันจึงจะถึงที่สุดได้ ค่ะ , ก็ขอจบบทสนทนากับพ่อท่านในคราวนี้ด้วยการไม่สรุป เพราะกำลังหาวิธีคลาน เอ๊ย ? เดินเพื่อให้ถึงที่สุดให้ได้ค่ะ ทีม สมอ.
| ||||
|
||||
๑๕ นาทีกับพ่อท่าน สูตร "๔ ๕ ๗ ๘" (อันดับ ๑๕๙ สารอโศก กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖) |
||||