สิบห้านาทีกับพ่อท่าน โดย ทีม สมอ. ตอน...
สูตร ๔ ๕ ๗ ๘
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 161 เดือนเมษายน 2536
ฉบับ "พุทธาภิเษกฯ 2536"

ในงานพุทธาภิเษกสุดยอดปาฏิหาริย์ ครั้งที่ ๑๗ ระหว่างวันที่ ๓-๙ เมษายน ๒๕๓๖ พ่อท่านแสดงธรรมเรื่อง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ซึ่งมีองค์ประกอบของธรรมะหมวด ๔-๕-๗-๘ และพ่อท่านได้กล่าวถึงสังคมประชานิยม (populism) ซึ่งเป็นสังคมที่มีคุณภาพที่เป็นประชาธิปไตยเหนือชั้นกว่าประชาธิปไตย (democracy) เพราะประชาชนทุกคนจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคม ด้วยจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ประชาชนที่มีคุณภาพสูงก็จะเกื้อกูลช่วยเหลือผู้มีคุณภาพด้อยอย่างบริสุทธิ์ใจกว่าประชาธิปไตยที่เน้นวัตถุธรรมอย่างทุกวันนี้

เมื่อประชาชนเน้นพัฒนาตนเองด้วยสูตร ๔-๕-๗-๘ แล้ว ประชาชนก็จะเป็นผู้สร้างรูปแบบสังคมที่ประชาชนเป็นผู้กำหนดขึ้นเอง (popular-rule model)

สังคมจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับประชาชนที่เป็นสมาชิกของสังคมนั้นนั่นเอง เราลองมาดูกันซิว่า คนที่ประกอบขึ้นมาจาก ๔-๕-๗-๘ จะสร้างสังคมที่มีลักษณะอย่างไร

: ทำไมในงานพุทธาภิเษก พ่อท่านจึงมาเน้น populism

: :ก็เพื่อที่จะให้เห็นระบบระบอบของสังคม ที่เขาวาดหวังกันไว้ คุณลักษณะที่เขาฝันว่า ความเป็นอยู่ของสังคมมนุษย์ควรจะเป็นอย่างไร เป็นรูปแบบของสังคมที่ประชาชนมีความเท่าเทียมกัน ประชาชนมีความสนิทสนมสามัคคีรวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แล้วก็มีการเคารพนับถือกัน มีผู้ที่เป็นปราชญ์ เป็นผู้รู้ เป็นผู้ใหญ่ มีวุฒิภาวะ ได้รับความยอมรับมีสัมมาคารวะกัน ในด้านความเป็นอยู่ ก็มีชีวิตที่ไม่ลำบากลำบนยุ่งยาก เป็นชีวิตที่ง่ายๆ มีปัจจัย ๔ มีเครื่องอุปโภค บริโภค เครื่องอาศัยต่างๆนานาที่อุดมสมบูรณ์แต่ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่สุรุ่ยสุร่าย รู้จักความพอเหมาะพอดี และความเฟ้อความเกินที่จะพาทุกข์พาเสื่อม มีความเสมอภาคกันทั้งทางเศรษฐกิจและความยุติธรรม มีสิทธิที่จะรับรู้อะไรต่ออะไรในสังคมร่วมกัน ไม่ปกปิด ไม่ซ่อนเร้น ไม่อำพรางกัน ไม่มีศักดินา ข่มเบ่งกัน ไม่ต้องแย่งชิง เข่นฆ่ากัน ไม่มีอะไรโหดร้ายรุนแรง ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ประนีประนอมกันได้

: คนที่มีฐานะต่างกันจะประนีประนอมกันได้อย่างไรบ้างคะ

: ก็ต่างคนต่างก็สนิทสนมกลมกลืนกัน ไม่แบ่งชั้นวรรณะอะไร ผู้มีฐานะมั่งมีสูงส่งกว่า ก็ไม่มีศักดินาอะไร เข้าไปประสานสัมพันธ์ได้ ผู้มีอำนาจมีหน้าที่เป็นใหญ่เป็นโต เป็นผู้ปกครอง ก็สามารถเข้าไปสู่สภาพที่กลมกลืนกันได้ แม้ในที่สุด จะถึงสภาพที่คนมีคุณภาพถึงขั้นสามารถที่จะเป็นผู้นำได้ แต่เขาจะไม่ติดตำแหน่งฐานะ จะเข้าไปมีอำนาจก็ได้ แต่ก็ไม่เอาเอง ไม่ถืออำนาจ จะเป็นคนร่ำรวยมั่งคั่งก็ได้ แต่เขาก็สละออก ไม่สะสม แต่ว่าสร้างสรรไม่ย่อหย่อน ทุกคนมีสำนึกที่ดี มีความสามารถ ไม่มีความสามารถก็ประสานกันได้ ช่วยกันตัดสินใจ ช่วยกันพิพากษา ช่วยกันวิจัยวิจารณ์ แก้ไขปรับปรุงกัน พยายามช่วยกันยกฐานะกันและกัน เผื่อแผ่ความรู้ ไม่มีการขายความรู้ ไม่อำพรางความรู้ ไม่ข่มเบ่งกัน ไม่มีการสกัดกั้นแบ่งชั้น คนอย่างนี้ไม่ต้องให้ความรู้ คนอย่างนี้ต้องให้ความรู้ ไม่มี เผื่อแผ่กระจายความรอบรู้ ความสามารถ ใครสามารถใครพากเพียร ก็ได้ ฝึกฝนเอาได้

: ในเมื่อสังคมให้โอกาสคนทุกคนเท่าเทียมกัน แต่คนเรามีภูมิหลังต่างกัน แล้วไม่รู้ตัวเอง อยากจะเท่าเทียมคนอื่น ตะเกียกตะกายในทางที่ไม่ถูกไม่ควรหรือไม่เหมาะกับตนเอง จะไม่เป็นผลเสียหรือคะ อย่างเช่นให้โอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกันหมด แล้วทุกคนก็จะต้องเรียนตามค่านิยมที่สังคมยกย่อง ทีนี้คนที่ไม่ถนัดในการศึกษาวิชาการ การเรียนตัวหนังสือ ก็พยายามจะไปเรียนให้เหมือนคนอื่นเขา

: นั่นแหละ เป็นการแข่งขันกัน เพราะถูกครอบงำทางความคิด เกิดอุปาทานติดยึดอย่างนั้น ปัญหามันมีอยู่ว่ากิเลสที่ไปหลงโลกธรรมทำให้แก่งแย่งชิงดี ถ้าเผื่อว่าไม่หลงโลกธรรม ทุกคนก็จะสำนึกตัวเองว่าถนัดอะไร ตัวเองทำอะไรได้ดี คนนั้นก็จะทำอย่างนั้นให้ดี แล้วก็ไม่ดูถูกกัน ไม่สร้างความรู้สึกเหลื่อมล้ำต่ำสูง คนใช้สมองก็ไม่ดูถูกคนใช้แรงงาน คนใช้แรงงานก็ไม่ดูถูกคนใช้สมอง ต่างคนต่างเอื้อเฟื้อกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่ด้วยความเข้าใจกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ก็อยู่รวมกันอย่างสามัคคีดี คนมีปัญญามีความรู้ความฉลาดไม่ควรเอาเปรียบ แต่ทุกวันนี้มันดูถูกกัน เอาเปรียบกัน คนที่ฉลาดเฉลียวใช้สมองได้ดี ก็เอาความฉลาดเฉลียวไปเอาเปรียบเอารัด แล้วก็ไปยกตัวยกตนเบ่งข่ม สร้างวิธีการอะไรต่างๆนานาที่จะเอาเปรียบ กอบโกยสะสมให้แก่ตน

จริงๆแล้วการใช้แรงงานสร้างสรรค์ที่เหน็ดเหนื่อยนี่หนักนะ หนักกว่าการใช้ความคิด แต่คนทุกวันนี้ตีราคาความคิดไว้แพงๆ ความจริงมันไม่จำเป็นจะต้องแพงก็ได้ ถึงคุณคิดได้แต่คุณทำไม่เป็นก็สูญเปล่า คนทำได้นี่สิ ถึงเขาไม่ใช่นักรู้อะไร ก็ต้องมีความรู้ในสิ่งที่เขาทำนั่นแหละ เขารู้เขาถึงทำได้ เขาเรียนรู้มาตามธรรมชาติหรือตามที่ได้ฝึกได้ทำจริง ถ่ายทอดกันมาจากบรรพบุรุษ หรือทำเอง หรือจากผู้รู้คิดได้แต่ทำไม่เป็น เขาก็นำมาทำจนเป็นจนได้ เรื่องนี้ถ้าจะพูดไปก็ยาว

สรุปแล้วคนเราก็ควรจะเกื้อกูลกัน แบ่งแจกกัน เป็นคุณงามความดีของบุคคล เป็นประโยชน์คุณค่าของบุคคลที่เผื่อแผ่แจกจ่ายกันได้ ใครสามารถมาก ใครมีสมรรถนะสูง มีความรู้มาก ก็อุ้มชูช่วยเหลือผู้ที่เขามีกำลังวังชาน้อย มีความสามารถน้อย ช่วยสอนช่วยฝึกผู้มีความรู้น้อยขึ้นไปเสมอด้วยความเข้าใจดีและปรารถนาดีอย่างจริงใจ มันก็เป็นสังคมที่ดี

: แล้วในสังคมที่คนมีความคิดเห็นแตกต่างกัน มันจะเป็นอย่างไร

: มันก็เป็นธรรมดา ห้ามไม่ได้ ชุมชน หมู่กลุ่ม หรือสังคมใดๆมันก็จะต้องมีความหลากหลาย มีความแตกต่างกัน แต่ถ้าคนในสังคมรู้สึกเป็นพี่เป็นน้องกันจริง ความมีคุณธรรมแห่งความเป็นพี่เป็นน้องที่แท้จริงนั้นสำคัญมาก คุณธรรมชนิดนี้ในสังคมทุกวันนี้แม้แต่พี่น้องในสายเลือดกันแท้ๆยังไม่มีคุณธรรมแห่งความเป็นพี่เป็นน้องที่พอจะชื่นชมกันได้เลย ต้องมีคุณธรรมแห่งภราดรภาพมากพอ มีความเชื่อ ความเข้าใจ ปณิธานในทิศทางเดียวกัน ยอมรับนับถือบุคคลที่เขาสามารถกันจริงๆ ยกย่องเชิดชูกันจริงๆ แม้จะมีสภาพที่เป็นนานาสังวาส แต่ก็มีเอกภาพ อาตมาเห็นว่าใช้ศัพท์ unity of diversity นี่เข้าท่าทีเดียว เอกภาพที่มีสภาพแตกต่าง

ศาสนาพุทธเราสอนเรื่องวิบาก คุณสั่งสมวิบากอย่างใดๆ มันก็ได้อย่างนั้น คนที่สั่งสมการฝึกฝนอบรมตน ก็จะมีสมรรถนะตามที่ตัวฝึกฝนอบรม จะฝึกอย่างโลกียะก็ได้ จะฝึกอย่างโลกุตระก็ได้ ฝึกไม่เท่าเทียมกัน ก็ได้ผลไม่เท่าเทียมกัน เป็นธรรมดา

แต่ถึงแม้ว่าไม่เท่าเทียมกัน ถ้าผู้คนมีภูมิปัญญา มีวุฒิภาวะ มีความสำนึกสูง สำนึกในศีลธรรม มีคุณธรรมสูง ก็ไม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไชกันมาก ไม่ต้องชี้นำบังคับกันมาก ทุกคนจะเข้าใจสภาพขององค์ประกอบ สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ ไม่ผลาญธรรมชาติ ไม่ทำลาย รู้ว่าธรรมชาติเป็นสิ่งที่คนจะต้องอาศัย เป็นพลังงานฟรี เป็นพลังงานแห่งบุญคุณที่ช่วยมนุษยชาติแท้ๆ ควรจะรักษาดูแล อาศัยธรรมชาติโดยไม่ฟุ่มเฟือย

เราก็ศึกษากัน ฝึกฝนอบรมพัฒนากันไป ความสูงส่งของสังคมมนุษย์จะมีรูปร่างลักษณะไหน เราพยายามพัฒนาไปให้ถึงสภาพอย่างนั้น มีความเสมอภาค มีจิตสำนึกที่สูง มีการเสียสละที่จริง มักน้อย สันโดษ รักธรรมชาติ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เป็นทาสของโลกียะ หรือโลกธรรม แล้วก็ขยันหมั่นเพียร สร้างสรร แล้วก็สะพัดกระจายเผื่อแผ่กันไปจริงๆ

: ลักษณะสังคมแบบนี้ จะไปใช้ในสังคมวงกว้างได้ไหมคะ

: มันได้ตลอดเวลานั่นแหละ คนที่เป็นอย่างนี้ก็จะเกื้อกูลคนที่เขายังมีกิเลส มีแต่จะช่วยเหลือแบ่งเบากัน ทุกคนก็จะเรียนรู้สืบทอดกัน เมื่อเรียนรู้แล้วก็เป็นตัวอย่างเป็นตัวจริง แล้วมันก็จะเผยแพร่ออกไปเอง แล้วเราก็มีเจตนารมณ์ที่จะเผยแพร่อวด โชว์ ยืนยันได้ เราอวดโชว์เพื่อให้เขาเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อตัวเราจะไปได้ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข เพื่อเราจะอวดใหญ่อวดโต อวดเบ่ง อวดข่ม เราไม่ได้มีกิเลสเหล่านั้นจริงๆ หรือแม้มีกิเลส เราก็ต้องเรียนรู้ อบรม ฝึกฝนตนเองว่า อย่าให้มีกิเลสเหล่านี้ อย่าให้มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่เป็นไปเพื่อแย่งลาภ แย่งยศ ซึ่งมันซ้อนอยู่ในนี้ได้

คนที่ได้จริง เป็นจริง ถึงจริงแล้ว ก็ควรจะแสดงให้รู้กัน ให้คนอื่นได้เรียนรู้ตาม กระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจจริง ไม่ได้ปรารถนาลาภ ยศ สรรเสริญ ไม่ได้ปรารถนาให้คนเคารพนับถือ

แม้คนอื่นที่เข้าใจยังไม่ได้ จะประชดประชันโต้ต้านตู่ว่า อยากเด่น อยากดัง อยากใหญ่ ถ้าผู้ที่เขาไม่ได้ทำเพื่อโลกียะอย่างนั้นจริงๆ เขาก็ไม่กังวลหรอก เมื่อเขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรจะประกาศ เผยแพร่ ยืนยัน บอกวิธีการให้คนได้รับรู้ ได้ศึกษา คนใฝ่ดี คนแสวงความเจริญให้แก่ตนเองก็มีอยู่ เขาจะได้พากเพียรพัฒนาตนเองขึ้นมาบ้าง ใครเห็นด้วยใครศรัทธา ก็ฝึกฝนตาม แล้วก็ได้ดียิ่งๆขึ้นไป มันก็จะกลายเป็นมวลของสังคมเอง

จากกลุ่มน้อย ก็กลายเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้นไป แล้วก็กลายเป็นหลายกลุ่มไปเองโดยธรรมชาติ แต่จริงๆแล้วสังคมจะดีขึ้นบ้างได้ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง สังคมทุกวันนี้นี่มันหนัก มันเลวร้ายลงมามากแล้ว มันกำลังจะเข้าไปสู่กลียุค จะต้องไปถึงกลียุคก่อน ถึงจะมีพระพุทธเจ้าองค์ใหม่มาเกิดอีก...อีกนาน ยุคนี้พระพุทธเจ้าถึงจะเกิดมา ก็ช่วย สังคมไม่ได้มากนัก เรียกว่าไม่คุ้มค่าความเป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นยุคนี้ไปจนถึงกลียุค ไฟประลัยกัลป์ จะไม่มีพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งองค์ใดเกิด จะมีผู้มาช่วยให้เกิดความดีงามในสังคมขึ้นบ้างเท่านั้นเอง

: ผู้นำในสังคม populism มีลักษณะอย่างไรคะ

: พ่อท่าน: มันจะเป็นไปโดยธรรม จะมีการเคารพนับถือกันตามวุฒิภาวะ ในด้านของวัยวุฒิก็ต้องเข้าใจ ในด้านคุณวุฒิก็ต้องเข้าใจด้วย จะเคารพกันอย่างมีปัญญา มีสัมมาคารวะอย่างถูกสภาพที่ควรตามธานานุฐานะ มีความเข้าใจชัดแท้กันเป็นส่วนมาก คนเข้าใจจะมีมากคน คนไม่เข้าใจจะมีน้อยคน มันจะเป็นน้ำหนักของกระแสสังคม โดยไม่จำเป็นต้องไปตั้ง แม้ไม่แต่งตั้งก็เคารพกัน ไม่ใช่ว่าแต่งตั้งกันมาผิดๆ คนไม่น่าเคารพก็ไปตั้งให้เคารพ มันก็เกิดสภาพขัดแย้ง สับสน ไม่ลงร่องลงรอย แต่ในสังคมประชานิยม หรือ populism นั้นจะประกอบด้วยคนมีวุฒิภาวะเพียงพอจริง ก็จะมีผู้นำที่ประชากรเขาจะรู้ จะเข้าใจความจริงของคนจริงนั้นๆได้จริงเพียงพอ

ถ้าคนในสังคมยังใฝ่ดี ยังมีปัญญาเพียงพอที่จะรับความรู้ เข้าใจสัจธรรม เห็นประโยชน์คุณค่าจริงๆ จะเรียกว่าบุญ จะเรียกว่ากุศลก็ตาม เขาก็จะยกย่องเชิดชูคนที่มีคุณค่าประโยชน์ คนที่เป็นคนดี เป็นคนประเสริฐ

และผู้ที่สูงประเสริฐจริง ก็จะไม่ติดใจในการสรรเสริญเยินยอ ไม่หลงใหลโลกธรรม ไม่ท้อแท้เพราะคำนินทา แม้จะมีผู้ที่เข้าใจไม่ได้ ไม่เชื่อว่าจะมีคนประเสริฐแท้อย่างนี้ได้ เขาก็จะไม่ย่อยั่นอะไรหรอก เมื่อแน่ใจในความดีแล้ว เขาก็ทำของเขาอยู่อย่างนั้นแหละ มั่นคงในคุณงามความดี มีชีวิตอยู่เพื่อสร้างสรรสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมเท่านั้น เพราะโดยส่วนตัว เขาก็ดีแล้ว สบายแล้ว พ้นทุกข์แล้ว

โดยทั่วไป พวกเรามักจะให้ความสำคัญของผู้นำ ในฐานะผู้รับผิดชอบของสังคมทั้งหมด เมื่อมีปัญหาใดๆในสังคม ก็มักจะปัดความรับผิดชอบ ยกไปให้เป็นหน้าที่ของผู้นำ ที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ

แต่สังคมประชานิยม (populism) ประชาชนที่เป็นสมาชิกของสังคม จะเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการแก้ไขปัญหาของสังคม ผู้นำเป็นเพียงผู้ชี้แนะ เป็นผู้นำทางศีลธรรม อบรมพัฒนาประชาชนให้เป็นผู้มีคุณภาพและคุณธรรม เพิ่มพูนสมรรถนะโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่มีการกีดกันใดๆที่จะขัดขวางผู้หนึ่งผู้ใดไม่ให้ กระทำในสิ่งที่เป็นกุศล เป็นความเจริญก้าวหน้าแก่ตนเองและสังคม แม้กระนั้นก็ตามบุคคลก็ยังจะต้องแตกต่างกันอยู่เองโดยธรรม เพราะแต่ละคนมีความพากเพียรพยายาม มีการกระทำ (กรรม) ที่แตกต่างกัน

สภาพที่เป็นนานาสังวาส ซึ่งเป็นสภาพจริงที่ต้องมีอยู่ในสังคมประชานิยม แต่ในความแตก ต่าง ก็มีความร่วม รวมกันอยู่ด้วย สายใยสัมพันธ์ แห่งโพธิปักขิยธรรม (๔-๕-๗-๘) สังคมจึงมีเอกภาพแห่งความหลากหลาย (unity of diversity)

ทีม สมอ.

end of column
     

๑๕ นาทีกับพ่อท่าน สุตร ๔ ๕ ๗ ๘ (อันดับ ๑๖๑ สารอโศก เม.ย. – พ.ค.๒๕๓๖)