สิบห้านาที กับพ่อท่าน โดย ทีม สมอ. ตอน...
อลัน คลิมา สัมภาษณ์พ่อท่าน
หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 163 เดือนกรกฎาคม 2536
ฉบับ ".."

นานมาแล้ว โลกเคยมีธรรมชาติที่สมดุล มีลำธารน้ำใสสะอาด มีภูเขานับไม่ถ้วน ป่าไม้เขียวชอุ่ม และ สัตว์นานาชนิด แผ่ความร่มเย็นให้คุณอเนกอนันต์แก่ทุกชีวิตได้อาศัย จวบจนบัดนี้พุทธศักราช ๒๕๓๖ สิ่งแวดล้อมที่ดี ความอุดมสมบูรณ์ที่เคยมีได้ถูกทำลายลง จนกระทั่งธรรมชาติเสียความสมดุล ถ้าถามว่า ทำไมคน จึงทำลายสิ่งแวดล้อม คำตอบก็คือ เพราะคนมีกิเลสมากขึ้น กินเปลือง ใช้เปลือง ผลาญพร่าทรัพยากรอย่างเมามัน ไม่ประหยัด เพราะความไม่รู้คุณค่า และ ความมักง่ายเห็นแก่ตัว ที่รู้จักแต่ใช้ แต่ไม่มีความคิดที่จะช่วยสร้างขึ้นมาเสริม จนในที่สุดธรรมชาติก็สังเคราะห์ตัวมันไม่ทัน ดังนิทานเรื่องนายพราน กับกวาง กวางตัวหนึ่งวิ่งหนีการตามล่า ของนายพราน เข้าไปหลบภัยในพุ่มไม้หนาทึบ รอดพ้นจากความตาย แต่อมามันอาศัยแทะเล็มใบไม้เป็นอาหารเลี้ยงชีวิตวันแล้ววันเล่า จนพุ่มไม้นั้นบางลง ไม่หนาทึบพอที่จะพรางตัวมันได้อีกต่อไป เมื่อนายพรานหวนกลับมาอีกครั้ง ก็ได้เห็นตัวมัน และ ทำร้ายมันถึงแก่ชีวิต

ในภาวการณ์ ของโลกเช่นว่านี้ มีผู้สงสัยว่า ศาสนาจะเข้ามามีบทบาท เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือ สังคมได้อย่างไร ก็ขอนำท่านพบ กับบทสัมภาษณ์ เพื่อทำวิจัย เกี่ยว กับเรื่อง ของ ศาสนาและสังคม ของนายอลัน คลิมา (ALAN KLIMA) นักศึกษาปริญญาเอก ด้านมนุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยพลินตัน มลรัฐนิวเจอซี ประเทศสหรัฐอเมริกา กับสมณะโพธิรักษ์ แห่งสันติอโศก นายอลัน คลิมา ได้อ่านพบเรื่องราว ของสมณะโพธิรักษ์ จากหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ และ หนังสือพิมพ์อื่นๆอีก ในประเทศสหรัฐอเมริกา และ คิดว่าท่านจะสามารถไขให้ความกระจ่างในปัญหาต่อไปนี้ได้...

(อลัน พูดภาษาไทยได้ดีทีเดียว เขา จึงถามด้วยตัว ของเขาเอง ไม่ต้องผ่านล่ามแต่อย่างใด)

: ผมได้ยินพ่อท่านวิจารณ์พระที่อยู่ในป่าหลายครั้ง และ ผมก็เคยอ่านในพระไตรปิฎกเห็นว่า พระพุทธเจ้าก็อยู่ป่า ตรัสรู้ในป่า สอนในป่า และ แนะนำให้ลูกศิษย์เป็นผู้อยู่ในป่า จะอยู่เป็นคณะ ๑ องค์ หรือ ๒-๓ องค์ก็ได้ และ แนะนำให้นั่งสมาธิด้วย

ยิ่งกว่านั้นในพระไตรปิฎก เท่าที่ผมรู้ไม่มีคำสอนให้สาวกไปเก็บขยะ ไปช่วยเหลือสังคม อะไรพวกนี้ ตามที่พ่อท่านสั่งสอนอยู่บ่อยๆ ขอให้ช่วยอธิบายด้วยครับ

: ที่จริงก็ใช่ ที่กล่าวว่าพระพุทธเจ้าประสูติในป่า ตรัสรู้ในป่า แม้แต่นิพพานก็ไปนิพพานอยู่ในป่า และ ท่านเองก็ไปประทับในป่า เป็นส่วนมาก จะเรียกว่าเป็นอารามก็เป็นป่า อยู่ในสวนป่า แล้วเราก็พาทำจริงๆ

พุทธสถาน ของชาวอโศก ที่จะให้สมณะอยู่นั้นต้องทำเป็นสวน หรือ เป็นป่า แม้ว่าที่นี่เริ่มจากไม่มีต้นไม้ เป็นท้องนา เราก็ปลูกต้นไม้ขึ้นมา จนเป็นสวนเป็นป่าได้ เรามีพื้นที่เท่านี้ เราก็ปลูกให้เต็ม

๒,๕๐๐ กว่าปีมานี้ป่าเกือบหมดแล้ว ซึ่งเราเข้าใจซาบซึ้งดีว่า เราจะต้องมีสวน มีป่า มากกว่าที่จะให้เป็นสังคมเมืองคอนกรีต พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้มี อนาคตังสญาณ หมายความว่ามีความรู้ที่กว้างไกล มองถึงอนาคตได้ไกล เพราะฉะนั้นท่านทราบดีว่า อะไรจะลดลง อะไรจะเกิดขึ้น ท่านถึงได้ตรัสยืนยันเอาไว้ว่า คนเราจะขาดสิ่งแวดล้อมที่เป็นต้นไม้ พืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆนานาเหล่านี้ไม่ได้ โดยเฉพาะต้นไม้ จะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เราไม่มีมลพิษมากมาย ท่านก็ตรัสอย่างนี้เอาไว้ก่อนทีเดียว ย้ำยืนยันเอาไว้เลย โดยเฉพาะภิกษุจะต้องเป็นผู้นำพาให้มีอย่างนี้ ซึ่งท่านไม่ไปละลาบละล้วงฆราวาส เขาจะทำที่อยู่ ของเขาอย่างไร เราไม่มีสิทธิ์ แต่สำหรับสมณะท่านเน้นไว้ว่า บ้านเรือนต้องเล็ก อย่างกุฏิที่อยู่ ของพระจะต้องให้เล็ก พยายามกำหนดเอาไว้ให้เล็ก เพื่อไม่ไปทำลายต้นไม้ หรือ สิ่งแวดล้อม แต่อมาคำสอน ของท่านก็ถูกบิดเบือนไป หรือ อนุโลมหย่อนยานไป จนกลายเป็นอนุญาตให้ญาติโยมสร้างตามใจชอบ จะสร้างก็อย่าไปต้านทานเขามากเกินไป ซึ่งตามคำสอน ของพระพุทธเจ้าที่จริงแล้ว ไม่ได้หมายความว่า พระจะไม่ต่อรองให้เล็กลง น้อยลง เพราะมีหลักการให้มักน้อยสันโดษอยู่แล้ว ให้นอนโคนไม้ด้วยซ้ำ ให้เป็นนิสัยอะไรอย่างนี้เป็นต้น แนวโน้มทิศทาง ของพระจะต้องมักน้อย จะต้องไม่ติดยึด แม้แต่ในที่อยู่

ทุกวันนี้ กุฏิพระนั้นใหญ่โตเกินควรจริงๆ พระเป็นเจ้า ของเลย จนกระทั่งตาย เป็นเหมือนบ้าน ของตนเองจนตาย ซึ่งผิดวินัย ผิดหลักเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนหมด พระไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้า ของกุฏิ เพราะทิ้งบ้านช่องเรืองชานมาแล้ว พระไม่มีสมบัติมาก ไม่สะสม มีแต่สละออกเรื่อยๆ เมื่อเข้าใจคำสอนไม่สมบูรณ์ ก็เลยผิดทั้ง ๒ ด้าน

พระหมู่หนึ่ง ก็อยู่ในเมืองเลย อย่างที่เห็นเป็นวัดอยู่ในเมือง ไม่มีป่า ไม่มีต้นไม้ ตัดเกือบเตียน ปลูกแต่กุฏิ ปลูกแต่อาคารเหมือนบ้านเรือน ของชาวเมือง เหมือนชาวบ้าน

ส่วนพระอีกหมู่หนึ่งก็สุดโต่งไปอีกด้านหนึ่ง เข้าป่าลึกไปเลย ซึ่งพระพุทธเจ้า ท่านตรัสในคำสอน ในพระไตรปิฎกยืนยันไว้ว่า ถ้าป่าลึกเป็นป่าที่ไม่ควรจะไป ห้ามไม่ให้พระไป ถ้าจะไปป่าที่เปลี่ยวๆ เพื่อจะไปศึกษา มีบทฝึกหัดที่จะดูว่ากลัวไหม ก็ไปศึกษาได้ แต่ต้องมีครู อาจารย์ไปด้วย เพราะฉะนั้นความเข้าใจที่ยังไม่สมบูรณ์ก็ทำให้ไปสู่ป่าที่เป็นป่าทึบป่ารก เป็นป่าที่น่ากลัว อย่างที่หลงเข้าใจผิดๆ กันอยู่ทุกวันนี้ ว่าพระธุดงค์ต้องอยู่ป่า แล้วก็ต้องไปพบ กับ เสือ สิงห์ ช้าง กระทิง อะไรต่ออะไร ไปอยู่อย่างนั้นน่ะผิด ในพระไตรปิฎกไม่มี พระต้องออกป่าผจญภัยเหมือนนักล่องไพร อย่างที่หลงเข้าใจผิดกันทุกวันนี้

ธรรมะ ของพระพุทธเจ้า สอนคนให้เป็น คน ของสังคม ไม่ใช่สอนคนให้ไปเป็นอย่างฤาษี ลัทธิต่างๆ ในสมัยพระพุทธเจ้ามีมาก ซึ่งล้วนเป็นพวกฤาษีอินเดียที่ไปนั่งหลับตาอยู่ในป่าก็มากมาย แม้พระพุทธเจ้าเองตอนแรกก็เข้าใจผิด ท่านก็ออกป่าอย่างฤาษีเหมือนกัน ไปหลงนั่งเรียนหลับตาสมาธิจนจบสมาบัติ ๘ กับอุทกดาบสและอาฬารดาบส แล้วพระองค์ก็ทรงเห็นว่า นั่งสมาธิหลับตาอย่างนั้น "ไม่ใช่ทางถูก" แต่สุดท้ายก็มาตรัสรู้อริยสัจ ๔ มีมรรคองค์ ๘ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุด เป็น "ทางเอกทางเดียวไม่มีทางอื่น" ที่เป็นหลักบฏิบัติสุดยอดภาษาบาลีว่า "เอเสว มัคโค นัตถัญโญ" ในมรรคองค์ ๘ นั้น มีอาชีพ มีการงาน มีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ นี้เป็นตัวปฏิบัติ ปฏิบัติในชีวิตประจำวันนี่แหละทั้งเวลาคิด เวลาพูด เวลาทำงาน ประกอบอาชีพอยู่ โดยการปฏิบัติจะต้องมีวิปัสสนา กับการพูด กับการคิด กับการทำอะไรต่างๆ มีวิปัสสนา กับการทำงานอาชีพ กับกรรมทั้งหมด กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ต้องมีวิปัสสนาควบคู่ไปด้วย นี่เป็นภาคปฏิบัติ

ถ้ามีความเข้าใจในมรรคองค์ ๘ ถูกต้อง จะเห็นได้ว่า การปฏิบัติธรรม ของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ให้ไปปฏิบัตินั่งสมาธิหลับตาเป็นหลัก แต่บทฝึกหัดที่ให้นั่งสมาธินั้นก็มีได้ ศึกษาได้ ถ้าใช้เป็นก็มีอุปการะมาก เป็นปฏิบัติอานาปาณสติ เป็นต้น มีสูตรบางสูตรที่บอกว่าให้นั่งกายตรง ดำรงสติคงมั่น เพื่อฝึกทำสมาธิเหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่คำสอนส่วนใหญ่ ไปตรวจพระไตรปิฎกดูดีๆ ส่วนที่บอกว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้สงเคราะห์ช่วยเหลือสังคมนั้นไม่จริง ในคำสอนมีมากมายเลย แต่เขาไม่ทำกัน เพราะความเข้าใจผิดว่าพระต้องปฏิบัติโดยไปเข้าป่า นั่นผิดไปทางหนึ่งแล้ว พอเข้าป่าก็ไม่ได้ช่วยสังคมแน่นอน ส่วนพระที่เข้ามาในเมือง (คามวาสี) ช่วยสังคมก็มีอยู่ ตามหลักฐานนวโกวาท ตามหมวดธรรมต่างๆ ที่ให้ช่วยเหลือสังคมก็มีอยู่มาก เพียงแต่เขาขยายความคำว่าสังคมไม่ออก และ ไม่เข้าใจเนื้อหาสาระที่สูงส่ง (GREAT ESSENCE) ของศาสนาพุทธ คือ ช่วยมนุษยชาติ ช่วยสังคมให้รู้จักทิศทาง ของการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ทำให้ช่วยสังคมไม่ได้เต็มที่เท่านั้น

ยิ่งในสังคมทุกวันนี้มันมีสภาพซับซ้อน มากกว่าสังคมสมัยพระพุทธเจ้าเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีก่อน เพราะฉะนั้น เรื่องราว จึงมีเยอะกว่ากันมาก

นอกจากเรื่องราวเยอะแล้ว ขยะก็เยอะกว่ากันมากด้วย สมัยพระพุทธเจ้าไม่ต้องสอนเรื่องทำลายขยะ เพราะสิ่งแวดล้อมยังไม่เป็นพิษ เมื่อ ๒๐๐-๓๐๐ กว่าปี ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีมลพิษมากเท่านี้ ไม่ต้องถึง ๒,๐๐๐ กว่าปีก่อน เรื่องขยะ เรื่องมลพิษ เป็นเรื่องที่เกิดถึงรอบมีปริมาณมากชัดเจนในยุคนี้ เกิดในยุคกึ่งพุทธกาลนี้ อาตมามีโลกวิทู คือมีความรู้ในโลกพอสมควร รู้ว่าในสังคมทุกวันนี้ มีองค์ประกอบอะไร มีปัญหาอะไร เมื่อสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาหลัก อาตมาก็ต้องช่วยสิ่งแวดล้อมให้มันพัฒนาขึ้น

อาตมาเพิ่งทำงานศาสนาวางรากฐานตามสิ่งแวดล้อมตามที่เป็นจริง ของคนที่เข้าใจโลกุตระนี้ได้เพียง ๑๐ กว่าปีเท่านั้นเอง ยังไม่ถึง ๒๐ ปี อาตมา จึงมีคนที่ไปทำไม่มากนัก ทำให้ยังเห็นผลไม่ชัด แต่ในความรู้ อาตมารู้อยู่แล้ว ก็ค่อยๆ ทำขึ้นมาเรื่อย ที่เรียกว่าขยะก็คือ มลพิษทั้งหมด (pollution) เราต้องทำลาย มลพิษเหล่านี้ ตั้งแต่ขยะจริงๆ ที่เรียกว่า gabage ไปเรื่อยๆ จนถึงขยะที่มีลักษณะเป็นนามธรรมซึ่งร้ายกาจยิ่งกว่า ต้องหาวิธีทำลายขยะให้มันสมบูรณ์ ครบวงจรจริงๆ เป็นต้น สมัยพระพุทธเจ้าขยะพวกนี้ยังไม่เกิด ยังไม่เป็นภัย แต่เดี๋ยวนี้ ต้องเรียนรู้ต้องกำจัด เพื่อทำให้สังคมนี้อยู่เป็นสุข ไม่มีพิษ ไม่มีภัย

: *สันติอโศกได้ช่วยเหลือสังคมภายนอกได้อย่างไร

: อาตมากำลังเน้นให้พวกเรามาทำงานกสิกรรม เป็นหลัก เพราะกสิกรรมเป็นงานหนัก แล้วการสร้างข้าว สร้างอาหารนี่จะสำคัญในอนาคตมากขึ้น เพราะต่อไปคนจะไม่อยากทำนา ปลูกข้าว หรือ ผลิตอาหาร ถ้าข้าวอาหารราคาแพง คนจนจะตายก่อน เพราะคนจนมีมากในสังคม ถ้าอาหารในตลาดแพง สังคมก็จะเดือดร้อน เพราะฉะนั้นอาหารจะต้องราคาถูก จะเห็นว่าการทำนา นอกจากเป็นงานหนัก ไม่มีใครอยากทำ ทำแล้วไม่ได้เงินดี ยังถูกกดราคาให้ต้องขายราคาถูกด้วย แต่ถ้าสอนให้คนเต็มใจทำนา ซึ่งเป็นงานหนักและเต็มใจจะขายราคาถูก มีชีวิตอยู่อย่างพอใจ สันโดษ เบิกบาน ร่าเริง ยินดีที่จะเป็นชาวนา ที่ทำข้าวขายให้ประชาชนได้กินไปทั่วโลก แม้จะได้เงินน้อยๆ คนอย่างนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก ซึ่งถ้าไม่ใช่คน civilize ไม่ใช่คนอาริยะจริงๆ อย่างพุทธ อย่างแนวทาง ของโลกุตระจริงแล้ว จะไม่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นคนจะต้องมามีจิตถึงขั้นนี้ จึงจะทำได้

โลกทุกวันนี้ ต้นไม้พืชผักอะไรต่อมิอะไร ถูกทำลายเสียหายหมดแล้ว ไม่ทันคนเกิดคนกินคนผลาญ แล้ววิธีทำกสิกรรมอย่างสมัยใหม่ ได้ทำลายดิน ทำลายอากาศ ทำลายหมดแล้วจนไม่มีทางที่จะผลิตอาหารได้ทัน ไม่มีทางเป็นไปได้ เรา จึงต้องมาเป็นนักกสิกรรม ที่จะต้องหันมาสร้างธรรมชาติ ให้มีความสมบูรณ์อย่างแท้จริง และ ไม่สร้างมลพิษด้วย ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช้สารพิษ ไม่ใช้สารเคมี ผลไม้ที่บำรุงด้วยฮอร์โมน เป็นผลไม้ที่ไม่ได้คุณภาพ ไม่ได้ประโยชน์ต่อร่างกาย มากเท่าผลไม้ธรรมชาติ การสร้างกสิกรรมแบบสมัยใหม่ จะมีแต่มลพิษซับซ้อน ซึ่งเราต้องหาวิธีแก้ไข

ทุกวันนี้อาตมายังทำงานได้ไม่นาน ยังได้มวลไม่เท่าไร ทั้งต้องสงเคราะห์สังคม ทั้งปราบมลพิษ ทั้งจะต้องมาสร้างรากฐาน ที่ให้เป็นคนอยู่เย็นเป็นสุข เป็นสังคมคนอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งยาก ฉะนั้นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แค่นี้ จึงยังไม่สามารถเห็นผลในการช่วยเหลือสังคมชัดเจน

บทสรุปบทบาท ของศาสนาวันนี้ แม้จะผิดแผกแตกต่างไปจากเดิม แต่หลักการปฏิบัติยังคงยึดมั่นในแนวทาง ของมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกตรง อันก่อเกิดทั้งประโยชน์ตน คือ การละลดกิเลส และ ประโยชน์ท่าน คือ การได้ช่วยเหลือสังคมอย่างเหมาะสมตรง กับปัญหา ของสังคมที่กำลังเกิดจริงเป็นจริงอยู่ในปัจจุบัน ด้วยความรู้ใน โลกวิทู (รู้โลก) โลกุตระ (อยู่เหนือโลก) โลกานุกัมปายะ (อนุเคราะห์เกื้อกูลโลก) อันคือ หลักธรรมคำสอน ทันยุค ล้ำสมัย ก้าวไปข้างหน้า (advance) ของพระพุทธเจ้านั่นเอง.

-ทีมข่าว สมอ.-

end of column