|
||||
สิบห้านาที
กับพ่อท่าน โดย ทีม สมอ. ตอน... เจาะลึกอริยสัจ |
หนังสือพิมพ์สารอโศก
อันดับที่ 165 เดือนกันยายน 2536 ฉบับ ".." |
|||
|
||||
บทนำ มีใครบ้างที่ไม่รู้จักคำว่าทุกข์ และ มีใครบ้างที่ไม่เคยทุกข์ ความทุกข์ ดูจะเกาะกุม ทุกชีวิต ไว้อย่างเหนียวแน่น และ เสมอหน้า ทุกชีวิตพยายามดิ้นรน กระเสือกกระสน อยากให้พ้นทุกข์ แต่จะพ้นทุกข์ได้จริง หรือ ถ้ายังไม่รู้กันจริง ๆ ว่า ทุกข์ที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร บทสัมภาษณ์วันนี้ พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ จะชี้บอกให้เข้าใจถึงความทุกข์ที่แท้จริง คือทุกขอริยสัจ ซึ่งเป็นอริยสัจตัวแรกในหมวดธรรม "อริยสัจ ๔" อันประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ไว้เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว และ ตลอดพระชนม์ชีพหลังจากตรัสรู้ ๔๕ ปี พระองค์ก็ทรงสอนเรื่อง ของ อริยสัจ ๔ เพื่อช่วยให้มวลมนุษย์ได้พ้นทุกข์อย่างแท้จริง : สารอโศกฉบับนี้ชื่อ "เจาะลึกอริยสัจ" ขอกราบเรียนถามความหมาย และ การปฏิบัติเพื่อการเข้าถึงด้วยค่ะ : เรื่องอริยสัจนี่เป็นเรื่องหลัก ตั้งแต่เบื้องต้น เราเรียนรู้ธรรมะ ของพระพุทธเจ้า ก็เรียนรู้เรื่องอริยสัจทั้งนั้น นอกจากคนไม่รู้จักพุทธศาสนาดีพอ หรือ เป็นพุทธศาสนิกชนด้วยซ้ำ แต่ไม่ประสีประสาในเนื้อแท้ ของศาสนาพุทธ ก็เรียนรู้เลอะ ๆ เทอะ ๆ ไป ต่าง ๆ สารพัดมากมาย ตอนต้น ๆ แม้อาตมาจะไม่ได้พูดเรื่องอริยสัจโดยตรง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้สอนเรื่องอริยสัจ แม้ไม่ได้พูดเจาะลึกเรื่องอริยสัจ ผลกระทบมันก็ถึงอริยสัจอยู่แล้ว ตั้งแต่อบายมุข มันก็ต้องเรียนรู้ความจริง จึงจะเลิกละได้จริง ซึ่งก็คือสัจจะนั่นแหละ สัจจะ ของผู้ประเสริญ ของผู้ฉลาดที่ต้องรู้เป็นลำดับ ๆ ตั้งแต่เบื้องต้นที่เราเรียกว่าอบายมุข อันคือสิ่งที่เป็นไปเพื่อความเสื่อม ความไม่เจริญ ซึ่งเกิดด้วยอำนาจ ของความโลภจัด ๆ ความโกรธจัด ๆ หรือ สภาพ ของลักษณะที่มันสังขาร ปรุงแต่งอย่างจัดจ้าน เพื่อให้เกิดการรัก การติด การยึด หรือ ให้เกิดการทำลายที่รุนแรง เหล่านี้เรียกว่าอบายมุข เพราะเป็นความไม่เจริญที่หยาบที่จัดจ้าน ซึ่งมนุษย์ควรเลิกละเป็นเบื้องต้น เพื่อจะได้มีจิตวิญญาณที่สูงกว่าสัตว์เดรัจฉาน จะได้ไม่ต้องฆ่าแกงแย่งชิงกัน ทำร้ายทำลายกันอย่างรุนแรง หรือ ว่ามีความอำมหิตเลือดเย็น แม้ไม่ทำลายโดยรูปนอก แต่มีมายา หรือ มีมารยาทพรางซ่อน ความโหดเหี้ยมอำมหิต และ ความพยาบาทที่รุนแรงไว้ภายใน จนคนอื่นจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ซึ่งอันนี้เลวร้ายกว่าสัตว์เดรัจฉานหลายเท่าหลายต่อ เพราะมีความพยาบาทอาฆาตที่แก้แค้นชนิดซับซ้อน ซ่อนพราง หลอกให้หลงสนิทว่าเป็นความปรารถนาดีเสียด้วย ซึ่งรุนแรงเลือดเย็นกว่า โดยแฝงอยู่ในสังคม เพราะข้างนอกดูมารยาทดี แต่ใช้กลเล่ห์วิธีอำพรางไม่ให้ใครรู้ทัน เพื่อตัวเองจะได้ชนะทุกอย่างตัวเองจะได้ยิ่งใหญ่ ได้ทำร้าย หรือ ได้เปรียบสมใจตนทุกอย่าง ด้วยวิธีให้ติด รัดรึง เป็นราคะ เป็นโลภะที่จัดจ้าน สิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นกิเลสหยาบ ๆ ในเบื้องต้น ที่เป็นสัจจะ หรือ อริยสัจที่ต้องเรียนรู้ และ เลิกละก่อน เพราะฉะนั้นสิ่งเบื้องต้นที่เป็นอริยสัจที่บอกว่า ไอ้นี้ดี ไอ้นี้ไม่ดี ไอ้นี้ผิด ไอ้นี้ถูก มันก็ไม่ต้องใช้ภาษา คำว่าอริยสัจในการวิเคราะห์เจาะลึกอะไรมาก ทีนี้ เมื่อสอนให้ละอบายมุขมาแล้ว เป็นอริยสัจในเบื้องต้น เบื้องกลางก็ได้สอนต่อ ๆ มา ให้ละลดความโลภ ความโกรธ ที่หลงผิดเป็นกิเลสในระดับกลาง ที่ยังเข้าใจไม่ได้ ก็ไล่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามลำดับ พวกเราก็พอจะสามารถลดละได้ขึ้นมาเรื่อย ๆ และ สามารถสอนอริยสัจลึกซึ้งขึ้นมาเป็นลำดับ จนมาถึงเวลานี้ ก็ชักติดแป้นกันแล้ว ชักจะติดสบาย เมื่อพ้นอบายขึ้นมาแล้ว ก็จะเฉยเฉื่อย เพราะฉะนั้นต้องใช้ภาษาวิเคราะห์ เน้น เจาะ อริยสัจให้ลึกขึ้น ๆ ตามที่อาตมาเห็นควร ตอนนี้จึงใช้คำว่า "เจาะลึกอริยสัจ" ซึ่งที่จริงก็สอนอริยสัจมาตลอด ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เป็นแต่เพียงว่า มีลำดับความละเอียดลออในการศึกษา ในการเน้น และ การหาวิธี ที่จะให้ตัวเราได้พากเพียร ได้ขมีขมันมากขึ้น ไม่เฉื่อยไม่แฉะ เพราะคนเราพอสบายแล้ว ถ้ามันไม่ลำบากยากเย็นอะไรแล้ว ความขวนขวาย ความกระตือรือร้น ความอดทน ความที่จะพยายามทำตัวให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นก็อ่อนแรงลง ยิ่งทางพุทธศาสนา สอนไม่ให้ทำอะไรด้วยสิ่งที่ล่อ สิ่งที่หลอกเป็นอามิส อย่าง กับทางโลกีย์ พวกเราก็ยิ่งเจริญในทางที่ไม่ติดอามิส ติดเครื่องล่อ มันก็เลยยิ่งพาลจะเฉื่อย ก็ในเมื่อสบายพอสมควรแล้ว จะไปทำอะไรมาก มันจึงย้อนแย้งในตัว คำสอน ของพระพุทธเจ้านี่ มันมีสภาพหมุนรอบเชิงซ้อน มันเป็น Dialectic มันตีซ้อน และ มีความเป็น "สัจจะย้อนสภาพ" อยู่ด้วย เมื่อไม่อยากได้ เมื่อไม่จำเป็นต้องได้อะไร ก็ดีแล้วนี่ แล้วมันจะไปเอาอะไรอีกล่ะ มันก็เลยไม่ขยันเพิ่ม และ ไม่เสียสละ จึงต้องมาเน้นเจาะลึกเรื่องเสียสละ เป็นเรื่อง ของคุณค่า ของประโยชน์แท้ ของสังคม เน้นให้เห็นแจ้งความจริงเรื่องไม่เห็นแก่ตัวว่าเป็น "ความเจริญแท้ ๆ " ของคนแต่ละคน เน้นเรื่องพิสูจน์ความจริงให้ปรากฏเป็นจริงเกิดจริงจะได้เกื้อกูลผู้อื่นต่อไปอีก ผู้ที่จะรับความเสียสละจากเรายังมีอีกมาก คนที่มีความขาดแคลน ที่ยังต้องรับการช่วยเหลือเกื้อกูลจากเรายังมีอีกเยอะ เพราะคนโง่ หรือ คนทำลาย หรือ คนเอาเปรียบมันเยอะ เราจึงต้องเผื่อแผ่เขาจริง ๆ ขณะที่คนประชาชนส่วนมากเขาเร่งเรียน เร่งรัดให้มีการเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น และ ต่างก็เป็นตัวอย่างแสดงบทบาท "เป็นผู้ได้เปรียบ" ที่น่าเอาอย่างอยู่เกลื่อนกลาดสังคม คนที่โง่ คนที่ไม่เก่ง ไม่สามารถ สู้เขาไม่ได้ ยังมีอยู่อีกมาก เราต้องช่วยเกื้อกูลคนพวกนี้ ซึ่งก็ไม่ใช่ความเสียหายอะไร ที่เราจะเจริญ ที่เราจะมีบุญ มีคุณค่าประโยชน์ต่อสังคมเพิ่มขึ้น เช่นนี้ : พ่อท่านคะ ทุกขอริยสัจ แตกต่างจากทุกข์ธรรมดาอย่างไรคะ : ทุกขอริยสัจ แตกต่างจากทุกข์ธรรมดา ก็คือ ทุกข์ธรรมดาเป็นทุกข์ที่ คนไม่รู้ตัว หรือ แม้รู้ก็ไม่เหมือน"อาริยบุคคล"ท่านรู้ เช่น ทุกข์เพราะโลภ จะเอามาให้แก่ตัว ทุกข์เพราะจะมาบำเรอตน แล้วก็ไม่รู้ความจริง ที่ประเสริฐนี้ ความจริงที่ยิ่งใหญ่นี้ แล้วแทนที่จะแก้ทุกข์ด้วยการเรียนรู้ ฝึกฝนละล้าง"เหตุ"แห่งทุกข์ แต่กลับแก้ทุกข์ด้วยการดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่ ต้องการมาให้เสพสมใจ มันก็เลยเป็นได้แค่บำเรอตนเป็นสวรรค์โลกีย์ ไม่ใช่เป็นสุขที่เป็นคุณค่าอะไร เป็นความสุขที่เกิดจากความหลงใน"รส"ที่ได้เสพสมใจอยาก ทีนี้ เมื่ออยากมาให้บำเรอตน แล้วไม่ได้สมใจในอะไรก็ทุกข์ มันก็เลยเป็นทุกข์ที่เป็นความเห็นแก่ตัว แต่คนไม่รู้ตัว ไม่คิดจะกำจัดความเห็นแก่ตัว หรือ กำจัด"เหตุ"ตัวร้ายที่ทำให้เห็นแก่ตัว จึงยังเป็นคนมีทุกข์ธรรมดาตลอดไป ดังนั้น จะต้องเรียนรู้ความเห็นแก่ตัว และ ล้าง"เหตุ"ที่ทำให้เราเห็นแก่ตัวนั้น ๆ จึงจะรู้จัก "ทุกขอริยสัจ" ทุกขอริยสัจนั้น เช่น ถ้าเราเองทุกข์เพราะเราพากเพียรเพื่อช่วยผู้อื่น มันก็เป็นคุณค่าเป็นประโยชน์ เป็นคุณความดี ของผู้ประเสริฐที่แท้ ทุกข์อย่างนี้ เรียกว่าทุกขอริยสัจแท้ และ เป็นอาหารปริเยฏฐิตทุกข์ คือ ทุกข์ที่ต้องแสวงหากุศลกรรม อาศัยใส่ชีวิต เป็นการเสียสละด้วยการทำงาน ซึ่งเป็นเนกขัมมสิต โทมนัสด้วย คือ เป็นการสร้างสรร เสียสละ เป็นการล้างความเห็นแก่ตัว แต่มันก็ยังต้องต่อสู้ กับกิเลส เมื่อยังต้องต่อสู้อยู่ มันก็ทุกข์อยู่ เมื่อฆ่ากิเลสได้ไปเรื่อย ๆ ทุกข์ก็น้อยลง ๆ จนถึงขั้นทุกข์น้อยที่สุดที่เรียกว่า "ทนได้ไม่ลำบากเลย หรือ ทนได้โดยไม่ต้องทนเพราะยินดีพอใจ" เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์ พระอรหันต์ พระอาริยะที่รู้แล้วว่า นี่เราทุกข์ เราทำอะไรมันก็ทุกข์ ช่วยเหลือเขาก็ทุกข์ สร้างสรร เสียสละเพื่อเขา ก็ทุกข์ แต่มันเป็นสิ่งดี เราก็หัดวางใจ พระอาริยเจ้าที่รู้ว่าทุกอย่างเป็นอย่างนี้ แล้วก็จะวางใจ แล้วอาการที่เราจะเป็นทุกข์ทางใจก็จะน้อยลง ๆ จนไม่มี หรือ ทนได้โดยไม่ต้องทนเพราะยินดีพอใจ พระอรหันต์จึงบอกว่า "ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป" เพราะฉะนั้น ในขณะที่ทำโพธิกิจ หรือ ทำงานรื้อขนสัตว์ ช่วยเหลือมนุษยชาติอยู่ อันเป็นหน้าที่ ของพระอาริยะที่หมดสงสัยแล้ว ท่านก็ยังจะต้องทุกข์ในส่วนนี้ มีทุกขอริยสัจในส่วนนี้ แม้แต่การแสวงหาอาหารให้แก่ตนก็ทุกข์ ขวนขวายในการงานเพื่อคุณค่าประโยชน์ และ เพื่อยังกุศลให้ถึงพร้อม ตราบเท่าที่มีเวลามีโอกาส มีชีวิตยังไม่ตาย มันก็เป็นทุกข์เช่นนี้ธรรมดา : ที่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า การเห็นทุกข์นั้น ยากยิ่งกว่าจักเส้นผมให้เป็นร้อยแฉก และ ให้แต่ละแฉกเท่า ๆ กัน หรือ ยิงลูกศรเสียบรูกุญแจรูเดียวในระยะไกลให้ได้ ๑๐๐ ดอก อยากกราบเรียนถามพ่อท่านว่า ทำไมการเห็นทุกข์ถึงเห็นได้ยากจังคะ : ก็อย่างที่บอกไปแล้ว ทุกข์ที่เป็นอริยสัจ กับทุกข์อย่างคนโลกย์ ๆ ที่ไม่ได้สมใจ เป็นทุกข์ที่ก่อกิเลสให้แก่ตัวเองนั้น หรือ ที่คุณเรียกว่า"ทุกข์ธรรมดา"ในตอนต้นนั้น มีนัยะที่แตกต่างกัน ผู้ที่ไม่ยอมศึกษาให้ลึกซึ้ง ก็จะแก้ทุกข์ด้วยความเคยตัว ด้วยความเคยชิน ตามธรรมดามนุษย์ หรือ แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน ก็จะแก้ทุกข์อย่างเดียวกัน ตามความเคยชินนั้น คน และ สัตว์เดรัจฉานจึงไม่เก่งกว่ากันในแง่นี้ อยากอะไร เมื่อเห็นทุกข์ขึ้นมา ก็จะใช้วิธีแก้ทุกข์โดยการดิ้นรนแสวงหามาให้ตนได้สมใจตัวเอง อยากได้ อยากมี อยากเป็น หรือ อยากฆ่าแกงใคร ก็ทำให้สมใจอยาก นี่คือ ทุกข์ธรรมดาในสัตวโลก และ แก้ไขทุกข์ด้วยวิธีอย่างนี้กันอยู่ทั้งคน และ สัตว์เหมือนกัน แต่มนุษย์ คือ ผู้มีจิตใจสูง คือผู้ฉลาด ถ้ามนุษย์ยังทำการแก้ทุกข์ให้ตนเอง ด้วยวิธีแบบเดียว กับสัตว์ มนุษย์ก็จะไม่เจริญกว่าสัตว์อะไร แต่ถ้าเข้าใจทุกขอริยสัจ จะเห็นกลับกันแล้ว จะไม่ไปแก้แค้นอย่างนั้น จะลดพวกกิเลสที่เป็นตัวโกรธตัวโลภ ที่นำไปสู่การแก้แค้น หรือ ความพยาบาท จะลดกิเลสที่เป็นตัวโลภ อยากเอามาให้สมใจ และ รู้ชัดอย่างนี้ขึ้นมาเรื่อย ๆ จนลดกิเลสที่เป็นตัวความหลงให้น้อยลง ๆ (หลงผิด หรือ หลงใหล-หลงติด เป็นต้น) แม้มันจะต้องเป็นทุกข์ จากการต่อสู้ กับตัวเอง ในการลดโลภก็ตาม(เนกขัมมสิต โทมนัส) หรือ ต้องลำบากเพราะต้องต่อสู้ กับการลดความโกรธให้จางคลายลงก็ตาม(เนกขัมมสิต โทมนัส) ทุกข์อย่างนี้เรียกว่าทุกขอริยสัจ ขนาดเรียนอย่างดี พยายามปฏิบัติเห็น ของจริง ก็ยังจับมั่นคั้นตายยาก เรียนให้ถึง"ความจริงอันประเสริญ"(อริยสัจ)ที่ว่านี้กันให้จริงเถอะ แล้วจะรู้เองว่ามันยาก คนไม่รู้ทุกขอริยสัจกันได้ง่าย ๆ ยิ่งละเอียด ยิ่งลึกซึ้งซับซ้อน ยิ่งรู้ยาก เพราะฉะนั้น จึงยากที่จะรู้ทุกขอริยสัจ ให้ละเอียดลออ ซึ่งถ้าไม่มาศึกษาธรรมจริง ๆ จะไม่รู้ แค่จะให้รู้ว่า ทุกข์ธรรมดาแบบปุถุชนคนโลก ๆ (เคหสิต โทมนัส)นั้นอย่างไร ? ต่าง กับทุกข์แบบสัมมาอริยมรรค หรือ แบบผู้ปฏิบัติที่กำลัง"ต่อสู้เพื่อลดละฆ่ากิเลสอยู่"(เนกขัมมสิต โทมนัส)อย่างไร ? ก็ยังไม่ง่ายเลย ถ้าเรียนไม่ถูกทาง : ที่ว่าพระอรหัหนต์ตัดวัฒสงสารนั้น หมายความว่าอย่างไร พระอรหันต์ หมายถึงอย่างไร ? ก็ยังไม่ง่ายเลย ถ้าเรียนไม่ถูกทาง : ศาสนาพุทธรู้จักวัฏสงสาร รู้จักการเวียนว่ายตายเกิดจริง และ ให้ตายเกิดอย่างดี ขณะที่คนไม่รู้(อวิชชา)ก็จะเวียนตายเกิด และ มีการสั่งสมกรรมวิบาก มีผล ของวิบากที่พาเกิด เป็นเชื้อ เป็นพันธุ์ เป็นกรรมพันธุ และ มีกรรมเป็นเครื่องอาศัย เป็น ของ ของตน เป็นมรดก ของตน ตนจะต้องรับเป็นทายาท กรรม ของตัวเองที่ทำ ส่วนมากก็จะสะสมเชื้อ สะสมลงเป็นพันธุ์ที่ไม่ดี เป็นพันธุ์ที่ตกต่ำ พระพุทธเจ้ารู้สิ่งละเอียดเหล่านี้ว่า เป็นสิ่งที่จะทำให้เราเป็น หรือ เป็นทุกข์ ทำให้เราเจริญสูงขึ้นแท้จริง เป็นมนุษย์ประเสริฐจริง ๆ หรือ เป็นมนุษย์ที่ตกต่ำ แล้วแก้ไขอย่าให้เป็นเหมือนสัตวโลกอื่น ๆ แต่ให้เวียนตาย เวียนเกิด โดยมีวิบากที่เจริญเป็นคุณค่า เป็นวิบากที่ดี จนกระทั่งดีเป็นอาริยะสูงสุด เป็นพระอรหันต์ ตัดเกรดได้ว่า อย่างนี้แหละถือว่าอรหันต์ กล่าวคือ คนที่รู้กิเลส ของตัวเองทั้งหมด และ ก็ล้างกิเลส ของตนเองดับสนิททั้งหมดได้ นี่แหละเงื่อนไข ของพระอรหันต์ หรือ นิพพาน เพราะฉะนั้น นิพพานก็คือ การล้างกิเลสได้หมด และ สำหรับคนที่ล้างกิเลสได้หมดแล้วโดยยังมีชีวิตอยู่ คือ ยังไม่ตาย หรือ แม้ยังจะต่อภพ ต่อชาติอยู่ ผู้นี้ก็จะซื่อสัตย์ สุจริตจริง ๆ แล้วก็เกื้อกูลผู้อื่นอย่างเต็มใจที่จะรับทุกข์ โดยจัดการ กับจิตตัวเองได้แล้วจริง ไม่ว่าจะเป็น"เนกขัมมสิต อุเบกขา" หรือ จะสลัดคืน(ปฏินิสสัคคะ) เป็น"เนกขัมมสิต โสมนัส" ที่ไม่ติดเป็นอุปกิเลสอีกแล้ว เป็นต้น และ รู้ทุกขอริยสัจจริง ๆ โดยที่ตัวเองมีอิสระเสรีภาพ ของตนเอง ทำด้วยความเต็มใจ จะทุกข์มากทุกข์น้อย ก็เป็นอิสระ ของท่าน ที่จะรับ หรือ ไม่รับก็ได้ โดยท่านมีสิทธิ์ที่จะจบ ไม่ต้องมาเกิด ไม่ต้องมารับวิบากอะไรอีกก็ได้ เรื่องวิบากนี้ มีความซับซ้อนอีกเยอะ เป็นอจินไตย ซึ่งมันต้องเป็นไปตามสัจจะ ถ้ายังมีวิบากชั่วที่ตัวเองเคยก่อเคยสร้างก็จะต้องตามมาให้เราได้ทุกข์ ตามสมเหมาะสมควร ถึงเป็นอาริยะสูงขนาดพระพุทธเจ้า ก็ยังมีอกุศลวิบาก เข้ามาตามทันได้อยู่ เข้ามาให้ได้รับความเจ็บป่วย ความไม่สบาย ความไม่ปลอดโปร่ง อาทิ ถูกหินกลิ้งทับพระบาทห้อเลือด ถูกคนด่า คนว่า ถูกคนไล่ทำร้าย ให้ช้างนาฬาคีรีมาไล่ฆ่าอย่างนี้เป็นต้น ก็เป็นวิบากอกุศล ที่ท่านเคยทำไว้ตั้งแต่ปางบรรพ์ ซึ่งตามทันได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น วิบากนี้ไม่หมดไปได้ง่าย ๆ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังสามารถ ผ่อนทุกข์ที่จะได้รับ หรือ จะต้องเกิด กับตนลงได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าวิบากหมดเกลี้ยง เพียงแต่ฤทธิ์ ของวิบากอ่อนลง หรือ ไม่ตามมาทัน มันไม่ได้หายไปเลยเหมือนอย่างศาสนาอื่น ๆ ที่สอนว่าสามารถล้างบาป แล้วสูญหายไปได้เลย ศาสนาพุทธไม่สูญหายไปอย่างนั้น แต่ว่าจะมีฤทธิ์เดช มีอินทรีย์ มีพละ มีกำลังที่ฆ่าฤทธิ์กันลงไปบ้างเท่านั้น มันจะไม่หมดสูญไป วิบากนั้นยังมีอยู่ แต่ถ้ามีฤทธิ์อย่างอื่นมากกว่า มันก็จะออกฤทธิ์กลบวิบากนั้นให้จางลงได้ ไม่ได้หมายความว่าล้างอันนั้นไป อันนั้นก็สูญไปได้เลย วิบากจะเลิกล้มกันไป ก็ต่อเมื่อผู้นั้น"ปรินิพพาน" หมายความว่า ดับภพจบชาติจริง ๆ สำหรับผู้เป็นพระอรหันต์แล้วจริงเท่านั้นที่ทำได้ เมื่อจะตายลงก็ไม่ตั้งจิตต่อภพภูมิเกิดอีก หรือ ไม่ขอวนมาหยั่งลงสู่ครรภ์อีกแล้ว ทุกอย่างก็แยกสลาย สูญไปสิ้น เพราะหมดการเกาะกุมเป็นตัวตนเด็ดขาด หมดสิ้นความยึดเป็นตัวตนไว้อีก "พระอรหันต์"ขึ้นไปถึงสุดยอด ขั้น"อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า"จริงเท่านั้นที่ทำได้ เมื่อผู้นี้ไม่มีภพเกิดอีกเลย "วิบาก"ใด ๆ ก็ยกเลิก ไม่เป็น ของใครไปด้วย โดยสรุปแล้ว เงื่อนไข ของพระอรหันต์ คือล้างกิเลสให้เกลี้ยง แต่ไม่ได้หมายความว่า เป็นพระอรหันต์แล้วจะเก่งกาจหมดทุกอย่างทุกคน ทำผิดไม่ได้ ทำดีได้สุดยอดทุกอย่าง เพียงแต่ท่านจะไม่ผิดพลาดในเรื่องกิเลส ของท่าน เรื่องบกพร่องผิดพลาดในกิเลสไม่มี แต่ในความรู้ สร้างสรรในการทำกายกรรม วจีกรรม อะไรอื่น มีผิดพลาดได้ ตามบารมีแต่ละท่าน และ เมื่อพระอรหัตน์ทำผิดก็มีวิบากได้ มีคนถือสาได้เหมือนกัน แม้แต่ถึงขั้นมีคนฆ่าก็ยังได้ : พ่อท่านคะ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่เห็นทุกข์จึงจะเห็นธรรมได้ หมายความว่าอย่างไรคะ : การเห็นทุกข์ทำให้เห็นธรรมได้นั้น หมายความว่า การศึกษาธรรมะ ของพระพุทธเจ้า ก็คือมาเห็นทุกข์ มารู้ทุกข์ ถ้ายังไม่เริ่มต้นรู้จักคำว่าทุกข์ คำแรกเลย ก็เรียกว่า ไม่ได้เห็นธรรมอะไร ธรรมะคือสภาพที่ทรงอยู่ ทรงสภาพ คำว่า"ทรง"หมายถึงว่าเป็นอย่างนั้น มีอย่างนั้นอยู่ ซึ่งเราต้องเห็นด้วยญาณ ของเรา รู้ภาษา และ ความหมาย ของคำว่า"ทุกข์" แล้วก็ต้องมาเรียนรู้ให้ญาณให้ปัญญา ของเราอ่าน"สภาวะ" หรือ อ่านอาการ ของทุกข์ในจิตใจ ของเราให้ออก ทุกข์ไม่ใช่อาการ ของท่อนไม้ ไม่ใช่อาการ ของก้อนหิน ไม่ใช่อาการ ของสิ่ง ของแท่งก้อนอะไร หรือ อาการนอกตัว แต่เป็นอาการทางนามธรรมในตัวเอง เพราะฉะนั้น เราต้องเห็นอาการนามธรรมอันนั้นด้วยญาณ ของเรา พอเห็นอาการนั้น ก็รู้ว่านี่เองคือทุกข์ โดยเฉพาะต้องวิจัยจิตในจิต ของเราเข้าไปรู้เห็นถึงตัวทุกขสมุทัย ซึ่งได้แก่ กิเลส ตัณหา อุปาทาน เมื่อมีกิเลสอยากได้อะไรมาเสพสมใจแล้วไม่ได้ อาการที่ไม่ได้สมใจ มันจะดิ้นรน เราก็อ่านจิตอ่านใจให้รู้อาการดิ้นรน แสวงหา ที่มันทุกข์นั้น ๆ ตั้งแต่เรื่องหยาบ ๆ ที่เกิดจากการดิ้นรนแสวงหาเกินพอดี เป็นไปในทาง"ทุจริต" ในการเห็นแก่ตัว จัดจ้าน เอาเปรียบเอารัดเกินควร เพื่อมาบำเรอตน จนกระทั่งเป็นการทำลายตัวเอง โดยไม่ถูกต้อง เช่น คนที่ประเทืองผิวตัวเอง จนเกินการ จนเสียสุขภาพ ของหน้าตา แต่ตัวเองก็ไม่รู้ เป็นต้น นึกว่ามันอร่อย(เป็นสุข) มันประเสริฐ มันสวยงาม น่าชื่นอกชื่นใจ ทั้ง ๆ ที่เป็นการทำลายตนเอง หรือ เป็นเพียงให้คนอื่นเขาเห็นว่าเราสวย เราสูงส่ง เพื่อบำเรอกิเลสตน หรือ คนที่ชอบกิน กินจนกระทั่งสุขภาพเราเองเสีย ธาตุหลาย ๆ อย่าง เกินพอดี อาทิ กินหวานมาก ๆ กินมันมาก ๆ กินบางสิ่งบางอย่าง มากไป จนสุขภาพร่างกายเสีย แต่หลงว่ามันสุขมันอร่อย โดยไม่รู้ว่าก่อทุกข์ใส่ตน อย่างนี้ เป็นต้น เพราะฉะนั้นต้องมาเรียนให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการทรมานตน ที่หลงว่าเป็นความสุข แท้จริงแล้ว เป็นตัวอุปาทาน เป็น"ความสุขที่เป็นความหลอก"(สุขขัลลิกะ) มันไม่ใช่"ความจริง" พิสูจน์ละล้างออกให้หมดจากใจได้ แล้วจะเห็น"ความจริงอันประเสริฐ"(อริยสัจ)นี้ ซึ่งต้องทำความเข้าใจให้ได้ จนกระทั่งไม่เหลืออาการ ของความเข้าใจผิดนั้น ๆ รสอร่อย หรือ อัสสาทะ ของน้ำตาล-น้ำมัน เป็นต้น(ซึ่งไม่ใช่"ตัวรสแท้ ๆ ของมัน") ก็คือ สิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมานั่นเอง ความจริงน้ำตาลก็เป็นรสหวานอย่างนั้น ลิ้น ของพระอรหันต์ กับลิ้น ของปุถุชน มันก็รับรสอย่างเดียวกันนั้น แต่ความชื่นใจ ความชอบใจ หรือ ความสมใจ ในรสจนเรียกมันว่า"สุข" ที่มันเป็นอัสสาทะ ของรสหวานนั้น ๆ พระอรหันต์ท่านไม่มี ขณะที่ปุถุชนยังมีอยู่ ยังรู้สึกเป็นรสอร่อยที่อยากเสพอยู่ เพราะยังเป็นทั้งตัณหา เป็นทั้งอุปาทาน ซึ่งเป็นรส ของโลกียะที่จะต้องค่อย ๆ เรียนรู้ และ ลดละ จึงจะเห็นความจริงว่า การติดในโลกียรสเหล่านี้เป็นความหนักที่ต้องขวนขวายหามาเสพ ซึ่งมันเป็นทุกข์ที่รู้ได้ยาก : อย่างกรณีคนที่เขาไม่รู้ เช่นไปติดรสหวาน ไปแต่งงาน แต่เมื่อเขาได้ประสบ กับความทุกข์ และ ได้ฝึกความอดทน เขาก็ได้ประโยชน์ใช่ไหมคะ : เมื่อเขาพบความทุกข์ เขารู้มั้ยล่ะ ? ถ้าเขารู้สึกตัวแล้วได้อดทน ได้กลับตัว ได้เข็ดหลาบ และ จะต้องหาทางออกเพื่อจะไม่ไปมีทุกข์นั้นอย่าง"อริยสัจ" ก็เป็นสิ่งดี และ จะได้ประโยชน์จากความทุกข์นั้น แต่ถ้าอดทนเพื่อที่จะมีกิเลส และ เสพต่อไป หรือ ยิ่งอดทนก็ยิ่งทนได้เก่งทนได้มากไปเท่านั้น มันก็ยังโง่อยู่ ยังเป็นภาระ และ ยิ่งหนักหน้าเรื่อยไป ถ้าจะทนก็ควรมาทนเพื่อล้างกิเลสออกไป มันดีกว่ามั้ย ? หากไปทนด้านที่จะโง่ ด้านที่จะตกนรกลงไปอีก ด้านที่จะไม่มีทางดับทุกข์สนิทจริง คือมันทนด้าน มันก็ด้านยิ่งๆ ขึ้น แล้วคุณก็ยิ่งเพิ่มกิเลสอีก ฉะนั้นจะด้านไปทำไม ทนไปทำไม ให้กิเลสมัน"หนา"ขึ้น ๆ ๆ แล้วเราก็ต้องตกต่ำลงไปอีก แม้จะได้เก่งตามศัพท์สำนวนว่า คุณได้อดทน จริงอยู่คุณอดทนเก่ง คุณหน้าด้านขึ้นเก่ง ทนต่อการดิ่งลงไปสู่ความเสื่อม ความต่ำ ของชีวิต ทำไมโง่เง่าอย่างนั้น ถ้าจะอดจะทน ก็ควรมาทนเพื่อที่จะล้างกิเลสออก จะได้เจริญขึ้น ประเสริฐขึ้น ไม่ดีกว่า หรือ : อะไรคือตัวการสำคัญที่ทำให้คนเราทุกข์คะ : โง่นะซี ก็พระพุทธเจ้าตรัสไว้ อวิชชา มันโง่ มันไม่เข้าใจ ดังที่อธิบายอยู่นี้ ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพราะฉะนั้น ถ้าเริ่มต้นเข้าใจ ก็เรียกว่าดีขึ้น เห็นความจริงมาก ๆ ขึ้น คนเราต่างก็ไม่อยากโง่ ไม่อยากทุกข์ คนเราจึงควรจะเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้สัจจะที่เป็น"อาริยะ" หรือ แต่เดิมเรียกกันว่า"อริยะ"ให้จริง มิฉะนั้น ถ้าไม่มาเรียนรู้ปล่อยให้ไปตามยถากรรม มันจะช้า เพราะฉะนั้น เราต้องมาช่วยกัน ในการสำทับตัวเอง ให้รู้ว่าไอ้นี่ มันต่ำมันชั่ว มันทุกข์ มันไม่เจริญจริง มันเจริญไม่พ้นวัฏสงสาร กาลเวลาผ่านไป เราควรฝึกฝน ควรจะเรียนรู้ ควรจะอดทน เพื่อแก้กลับ เพื่อความเจริญที่จริงที่วิเศษกว่า ซึ่งยาก กว่าจะเป็นไปได้ แต่ก็ต้องพิสูจน์ดูจนมาสู่ความเป็นไปได้ ไม่สมควรไปเสียเวลา กับ"ความอดทน"ที่ยิ่งจมดิ่ง ยิ่งด้านชาต่อความทุกข์ ของโลกีย์ แต่ถ้าแค่รู้เฉย ๆ ไม่พากเพียร ไม่อบรม ไม่ได้ฝึกฝนตน ด้วย"การตั้งตนอยู่บนความลำบาก (ทุกขายะ อัตตานัง ปทหติ) ก็เพื่อ"ออกจากกิเลส-ออกจากทุกข์"(เนกขัมมสิต โทมนัส) ให้ได้ ก็ไม่สมควรจะไปหลงลำบากอยู่ทำไม เสียเวลาจม กับชีวิตอย่างนั้นนานไปเรื่อยแหละ ดังที่พระพุทธเจ้าท่านว่า"ธรรมใด วินัยใด เป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นวินัยนั้น.." พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ไม่ใช่ ของเราตถาคต" ท่านเน้นเอาไว้อย่างนี้ : คำถามสุดท้ายนะคะ มีผู้กล่าวว่า ในความรักให้ทั้งความสุข และ ความทุกข์ คนเป็นจำนวนมาก จึงไม่กลัวต่อความทุกข์ที่เกิดจากความรัก พ่อท่านมีความเห็นอย่างไรคะ : รักที่หมายนี่ คือรักอะไร รักที่จะได้เสพสมอารมณ์ตนใช่ไหม โดยเฉพาะ ยิ่งได้มาสมอารมณ์ตนหยาบ ๆ เสพสม สุขสม อะไรก็แล้วแต่ ทั้งทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราเอง เราชอบ เราก็อยากจะได้เสพอารมณ์สุขนั้น ๆ ยิ่งชอบก็ยิ่งหามาให้แก่ตน เพื่อจะได้เสพอารมณ์สุขนั้น หากได้เสพสมใจ เราก็ประทับใจด้วยอวิชชา ด้วยความโง่ การประทับให้แน่นเข้าไปในความหลง คือหลงว่าเป็นสุข สมใจเช่นนี้จะทำให้ กิเลส"หนา"ขึ้น เพราะฉะนั้น คนที่บอกว่าสุขเพราะรัก ขอบอกว่า มันเป็นความหลง มันเป็นความเข้าใจผิด เป็นอวิชชา ต้องเข้าใจอันนี้ให้ได้ เพราะว่ายิ่งเสพ ยิ่งบำเรอ มันก็ยิ่งทำให้เกิดเพิ่มน้ำหนัก ของความพอใจ ยินดี หรือ ประทับใจลงไป นั่นคือกิเลสที่ติดยึดนั้น"หนา"ยิ่งขึ้น ๆ ติดในรสอัสสาทะ รสอร่อย รสสุข หรือ รสเพลิดเพลิน สนุกสนานก็อันเดียวกัน มันเป็นรสอันนั้นที่จะหลงติด เพิ่ม"หนา"ขึ้น ๆ อาการ "หนา" ขึ้น ๆ ของผู้ไม่รู้อริยสัจนี่แหละ คือ ความเป็น "ปุถุชน" คำว่า "ปุถุ" แปลว่า "หนา" คนที่เสพสุขโลกียะอยู่ ก็คือ "คนหนา" (ปุถุชน) ไปด้วยกิเลสเพิ่มขึ้น ๆ เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อเราเองยังไปหลงใหลมันอยู่ มันก็ไม่มีทางจะหมดจะสูญ ฉะนั้นต้องแก้กลับ เห็นให้ชัดด้วยปัญญาญาณ ต้องพิจารณาจริง ๆ เห็นจริง ๆ จึงจะรู้ว่ามันไม่ใช่สิ่งจำเป็น ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ประเสริฐ จะพึงไปเสียเวลาเสพอย่างไร้ค่า ดังนั้นคำกล่าวนี้ คนพูดเข้าข้างตัวเอง เขาพูดด้วยความหลงผิด(โมหะ) เข้าใจไม่ได้ เลยหลงนึกว่ามันดี มันให้ความสุข ซึ่งความจริงมันไม่ดี มันไม่ใช่ความสุขที่แท้ มันเป็นแค่"สุขขัลลิกะ" ยิ่งเป็นความรัก แบบหลงใหลคลั่งไคล้ เช่นหลงใหลไมเคิล แจ๊คสัน เขานึกว่าเป็นรสที่มันส์ ถึงจิตถึงใจ มันดูดดื่ม คนพวกนี้จะพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง มืดมัว โมหะ จะบอกเขาว่ามันเป็นรสไม่อร่อย เขาก็ฟังไม่ขึ้นเลย ว่ามันไม่อร่อยยังไง มันสะใจจะตายไป มันมันส์จะตาย ทั้งที่ต้องกระแทกกระทั้น เสียงดังจนแก้วหูเกือบแตก แสงสี รูปวัตถุประกอบต่าง ๆ จัดจ้านสุดขีด(สิ้นดี) ต้องลงทุนผลาญก็สูง มีปฏิกิริยา เกิดบทบาทในการจ่ายพลังงานก็สูง แต่เมื่อสม กับอุปาทานที่ตัวเองสมมุติเอาไว้ ก็รู้สึกว่า นี่แหละ "ถึงใจ" : การได้รู้ทุกขอริยสัจตัวเดียวแล้วจะพาให้เกิดการรู้วงจร ของอริยสัจ ๔ ครบหมดได้ไหมคะ : ไม่พอ จะต้องเสริม ต้องพากเพียร เรียนรู้เหตุ ของทุกข์ให้แน่ชัด และ ปฏิบัติพิสูจน์ให้เห็นความดี ของการละลด จนเห็นผลเจริญ ของการละลด เห็นคุณค่า ของการละลดลงไปจริง ๆ มันจึงจะเกิดปัญญารู้ความจริงขึ้นมา และ สามารถเห็นอริยสัจ ๔ ครบวงจร บทจบ การได้เรียนรู้ตัวทุกข์ ก็จะทำให้รู้จักแยกแยะทุกข์แต่ละตัวออกได้ว่า ทุกข์นั้น ใช่ทุกขอริยสัจ หรือ ไม่ เพื่อเกิดผล เกาถูกที่คัน ซึ่งทำให้ไม่เสียเวลา ของชีวิตไปอย่างเปล่าดาย ทีมข่าว สมอ.
|