ท่ามกลางกระแสความรุ่มร้อนเลวร้ายจัดจ้าน
ชาวพุทธส่วนหนึ่ง ที่หันหน้าเข้าศึกษา ประพฤติปฏิบัติ พากเพียรละลดกิเลสร้าย
กระทำแต่ความดี ตามหลักธรรมคำสอน ที่ถูกตรง ของพระบรมศาสดา ผ่านวันเป็นเดือน
เป็นปี เกิดเห็นผลชัดเจน
หลายชีวิตสุขสงบ
เย็นสบาย จากกิเลสที่เบาบางจางคลาย มีวิถีมักน้อยสันโดษ และแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
เป็นก้อนน้ำแข็งกลางเตาหลอมเหล็ก ซึ่งร้อนระอุด้วยพิษภัย จากวิกฤติต่างๆ
ที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ช่างน่าอัศจรรย์!
พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์กับบทสัมภาษณ์
ว่าด้วยเรื่องตบะธรรมเข้าพรรษาและออกพรรษา เพื่อสร้างสัมมาทิฐิให้เกิดขึ้น
อันเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การทำดีให้ถูกตรงยิ่งๆขึ้น
: ระหว่างเข้าพรรษา ชาวพุทธส่วนใหญ่จะประกอบกรรมดี
ลดละสิ่งเสพย์ติด ที่ไม่ดีในช่วงหนึ่ง พอออกพรรษาแล้ว พวกเขาควรทำอย่างไรต่อไปคะ?
: ช่วงเข้าพรรษา เมื่อได้ฝึกปรือ หรือได้อบรมตนให้ตั้งใจดีขึ้นแล้ว ก็น่าจะมีคุณภาพ
ที่ดีติดตัว จนกระทั่งถึงตอนออกพรรษา
ความดีนั้น ก็ควรจะติดตัวต่อไปด้วย
ไม่ใช่ว่าทำเหมือนเปิดก๊อก เปิดแล้วก็ปิด ปิดแล้วก็เปิด พอไม่เข้าพรรษาก็ทำอย่างหนึ่ง
ช่วงเข้าพรรษาทำอีกอย่าง เสร็จแล้วก็ปิดก๊อก ออกพรรษาก็กลับไปทำอย่างเก่า
ไม่เข้าเรื่อง อย่างนี้อาตมาว่าออกพรรษาดีกว่า โดยช่วง ๙ เดือน ให้อยู่อย่าง
ระมัดระวังสำรวมสังวร ทำดี และเข้าพรรษาช่วง ๓ เดือน จึงทำเรื่องไม่ค่อยดีนัก
หรือปล่อยไปตามเรื่อง
ความจริงแล้วการพัฒนาคน ควรจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
พัฒนาจนได้คุณภาพที่ดี และดีอย่างมั่นคงถาวร เข้าพรรษาหมายความว่า
เราจะได้สังวรระวังศึกษา ฝึกฝน พากเพียรตนให้ดี เมื่อทำกุศลทำสิ่งที่ดีงามได้แล้ว
ก็ควรทำต่อเนื่อง เข้าพรรษาแต่ละครั้ง ก็เข้มงวดเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ได้ดียิ่งขึ้นๆ
พอออกพรรษามันก็ได้ดี อันนั้นเป็นฐาน สำหรับพัฒนาต่อไป ให้ดียิ่งๆขึ้น
พอเข้าพรรษาหน้าก็เข้มงวดยิ่งขึ้นอีก พอออกพรรษาแล้ว ก็ทำต่อเนื่องให้เข้มให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
ถ้าอย่างนี้เข้าพรรษา ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก
ไม่ใช่เข้าพรรษาแบบเปิดก๊อก ปิดก๊อก อย่างที่ว่าตอนแรก แต่ก็คงดีกว่า ไม่ทำอะไรเลย
อย่างน้อยก็ยังมีเวลาเว้นวรรคบ้าง แต่การที่ ๑๒ เดือน งดทำสิ่งไม่ดี ๓
เดือน อีก ๙ เดือนก็ทำไม่ดีครบบริบูรณ์ ถ้าอย่างนั้นจะไปเข้าท่าอะไร
: ชาวพุทธบางส่วนให้ความสำคัญในช่วงเข้าพรรษา
ตั้งกำหนดเวลาจะทำเรื่องใดก็ทำได้ แต่พอออกพรรษา ก็ไม่ยอมบังคับตัวเอง
เป็นเพราะอะไรคะ?
: จริงๆ แล้วก็คงไม่ใช่อย่างนั้นทีเดียว เพราะเข้าใจยังไม่เป็นสัมมาทิฐิ
หมายความว่า การเข้าพรรษาที่จริงมันเป็นจารีตประเพณีที่เกิดขึ้นเพราะมีคนไปฟ้องร้องต่อพระพุทธเจ้า
ว่าให้เก็บภิกษุในช่วงหน้าฝนที่ไปเหยียบย่ำข้าวชาวนาปลูกไว้ ท่านก็เห็นว่าดี
อนุเคราะห์คนข้างนอกเขาด้วย และภิกษุก็ควรอยู่เข้าที่เข้าทางบ้าง ไม่เตร็ดเตร่ไปไหน
ระยะหนึ่ง และหรือเข้าพรรษาภิกษุจึงได้มาอยู่รวมกันที่วัด และเห็นอานิสงส์
ของการมาอยู่รวมกัน มาศึกษา ฝึกฝน โดยความเข้าใจก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี
เมื่อสมณะภิกษุ มาอยู่ร่วมกัน ประชาชนพุทธบริษัท ฆราวาสก็จะเข้ามาวัด เพื่อศึกษาธรรมะ
พร้อมเพรียงกัน หลายหน้าหลายตาหลายจริต มีอะไรไม่สอดคล้องกัน ก็ปรับเปลี่ยน
ให้เป็นประโยชน์
นอกจากจะเป็นแค่ไม่ไปเหยียบย่ำข้าวน้ำอะไรของชาวบ้าน
ซึ่งนั่นเป็นเพียงส่วนย่อย แต่ประโยชน์ส่วนใหญ่
อยู่ที่การได้มาศึกษาปฏิบัติธรรมกัน
ก็เลยกลายเป็นกฎเป็นหลัก เป็นวินัยหรือเป็นวัฒนธรรมของศาสนา คนทั่วไปหรือพุทธศาสนิกชนก็รับซับซาบว่า
เข้าพรรษามีผลดี มีสิ่งที่ดี สิ่งที่เจริญ อย่างที่ว่า จนเกิดประโยชน์คุณค่าทางธรรมเยอะแยะ
ก็เลยเกิดความเข้าใจกันว่า เข้าพรรษาเป็นช่วงเวลาที่จะสร้างกุศล ทั้งทางอ้อมทางตรง
เกิดกุศลทั้งทางฆราวาส และทางภิกษุสมณะ นานมาเป็นเวลานับพันปี สองพันปี
เข้าพรรษาจึงเป็นเวลาที่ดีทางธรรมะ ก็รู้โดยปริยายอย่างนี้ ก็ทำกันอย่างตั้งใจ
ช่วยกันสร้าง ความดี เข้าใจกันอย่างนั้น จนกลายเป็นสีลัพพตปรามาส คือทำดีกันแค่ช่วงเข้าพรรษา
๓ เดือน ไม่เกิดมรรคเกิดผลแต่อย่างใด แค่ลูบๆคลๆจับๆจดๆ แล้วก็ออกไปทำมั่วอย่างเก่า
ก็เลยไม่เข้าใจกันเป็นสัมมาทิฐิ
ความเข้าใจแต่เดิมนั้นดี
แต่ต่อมาฟั่นเฝือ จนมิจฉาทิฐิ ทำเป็นแค่จารีตประเพณีเท่านั้นเอง จึงเป็นสีลัพพตุปาทานไป
ถ้าเป็นตรงตามสัมมาทิฐิของศาสนาพุทธแล้ว มันจะได้ทั้งน้ำหนัก และความแข็งแรง
เรียกว่าตั้งมั่นเป็นสมาธิ จะได้เป็นทุนต่อไปเรื่อยๆ เป็นฐานเพิ่มขึ้นต่อไป
ในแต่ละปีๆ ต่อเนื่องไป ไม่ใช่ทำกลับไปกลับมา
ถ้าตั้งใจศึกษาจริงๆ อย่างถูกต้อง ก็จะมีผลได้จริงอย่างนี้
: แต่ถ้าทำด้วยการกดข่มแค่ในช่วงเวลาเข้าพรรษา
จะมีอานิสงส์ไหมคะ?
: ก็ได้บ้าง ได้ความชำนาญในการกดข่ม หรือการฝึกปรือซ้ำๆซากๆ ก็เป็นความชำนาญเพิ่มขึ้น
ถ้าปฏิบัติถูกทางของพระพุทธเจ้าเป็นสัมมาทิฐิแล้ว มันก็จะได้ฝึกปรือ ทั้งกายกรรม
วจีกรรม มโนกรรม โดยเฉพาะมโนกรรม เมื่อได้ละลดกิเลส ตัณหา อุปาทานไปเรื่อยๆ
จิตใจจะพัฒนาเจริญเป็นโลกุตรจิตเพิ่มขึ้น พัฒนาเป็นอาริยชนสมบูรณ์ยิ่งๆขึ้น
เพราะฉะนั้น มันก็ไม่ใช่แค่กดข่มเฉยๆ โดยได้แค่ความชำนาญหรือแค่สมถะ แต่มันต้องมีปัญญาร่วมด้วย
และมีผลได้ปรับปรุง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่เป็นอกุศลทุจริต ให้สู่กุศลสุจริตขึ้นไปเรื่อยๆ
มโนกรรมจะเป็นตัวรากฐาน ที่มีผลถึงขั้นจิต โดยเมื่อจิตใจได้พัฒนาถึงขั้นจริง
ก็จะตั้งมั่น อย่างถาวร ซึ่งไม่ใช่แค่กดข่มเฉยๆ แต่ต้องรู้ได้ด้วยปัญหา
ว่าไม่ดีเพราะอะไร อะไรที่เป็นเหตุใหญ่ของความไม่ดีก็ลดละ แก้ไขปรับปรุงขึ้นมาได้
และเห็นอานิสงส์ ของการลดละ เห็นผลของการลดละสิ่งนั้นๆ จนปัญญาเข้าใจ ทำได้ดี
ทำได้ชำนาญ แคล่วคล่อง ไม่ใช่แค่ชำนาญเพราะกดข่มไว้เท่านั้น แต่ชำนาญด้วย
และปัญญาเห็นแจ้ง อาริยสัจด้วย จนทำได้ง่ายดาย ทำได้เป็นอัตโนมัติ ไม่เปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมา
ศาสนาพุทธจึงจะมีลักษณะ ไม่เวียนกลับ ไม่กลับกำเริบ(อกุปปัง) มั่นคง(ธุวัง)
เที่ยงแท้(สัสสตัง) ไม่แปรเปลี่ยนเป็นอื่น(อวิปริณามธัมมัง) ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
: วันนี้ชาวอโศกมีการพึ่งตนเองค่อนข้างครบวงจร
พึ่งพาภายนอกน้อยลง และคนภายนอกก็กำลังเข้ามาพึ่งพาเรา ถ้าอีก ๑๐ ปีข้างหน้าวิกฤติต่างๆในบ้านเมืองหนักหนาขึ้น
เราอาจจะเป็นที่พึ่ง ของสังคมภายนอกมากขึ้น และเมื่อเขา เข้ามาหาเรามากขึ้น
เราได้เตรียมพร้อมอะไรรองรับหรือยังคะ?
: อาตมาได้เตรียมแล้ว จึงได้เร่งรัดพัฒนาให้พวกเราขมีขมันสร้างฐาน สร้างอะไร
ให้มันแข็งแรงมากขึ้น คนผู้มีดวงตา คนผู้แสวงหามีอยู่ ผู้เข้าใจเห็นดีเห็นได้
เขาก็จะเข้ามา หากเราพึ่งตนเองได้ดีได้จริง คนก็ต้องเข้ามาหาเรามากขึ้นจริงๆ
เพราะมันห้ามยาก ถ้าเราดี
เขาก็ต้องมาเอาดี เขาทุกข์ก็ต้องมาหาที่สุข เขาต้องหลบมาหา ที่พอเป็นไปได้
ที่จะช่วยเขาได้ มันต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ
แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ก็มีทั้งวิธีเตรียมรับ ที่จะช่วยเหลือเขามากขึ้น
ซึ่งมันเป็นคุณค่าที่ดีอยู่แล้ว และอีกข้อก็คือมีวิธีป้องกัน ไม่ให้เขาเข้ามามากนัก
เรื่องนี้ไม่ใช่ความใจดำ แต่เป็นวิธีที่จะต้องพยายามป้องกัน ซึ่งเราก็มีอยู่หลายๆวิธี
พวกเราเองก็จะต้องเรียนรู้วิธีเหล่านี้ เราช่วยเขาด้วยเมตตานั้นใช่ และเป็นสารสัจจะของเราแน่ๆ
แต่ก็อย่าไปเที่ยวเมตตาไม่มีประมาณ
หรือทำอะไรทุกอย่าง แบบไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีหลักการอะไร ที่สำคัญก็คือ
ในกลุ่มหมู่ของเรา เราได้ประพฤตตน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างเข้มข้น จนกระทั่ง
คนที่จะเข้ามาข้างใน เขาจะได้รับการเมตตาช่วยเหลือให้เขาเจริญขึ้น เพราะสนามแม่เหล็กของเรา
เหนี่ยวนำเขาได้ แต่ถ้าเขาทนไม่ได้ต่ออำนาจของสนามแม่เหล็กอันนี้ เป็นสนามแม่เหล็ก
ที่มีลักษณะเข้มข้น ที่จะเหนี่ยวนำให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามเรา ได้เนื้อหาสารสัจจะ
ไปอย่างดี แต่ผู้ที่มีเนื้อหา หรือความต้องการ คนละเรื่อง คนละขั้ว ก็ย่อมถูกแรงผลัก
ผลักออกไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่เข้ามาแล้ว
อะไรที่เข้ากันไม่ได้ มันจะกระเด็นออกไปเอง เพราะพลังทางนามธรรมที่ไม่มีตัวตน
ไม่มีสภาพ แต่เป็นพลังงานที่แท้จริง ฉะนั้น ถ้าเราทำตัว
ให้เข้มข้น แข็งแรงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็จะมีสนามแม่เหล็กที่แข็งแรง
จนสิ่งภายนอก ที่ไม่ใช่เนื้อหาสารสัจจะแท้ จะเข้ามาอย่างไร ก็เข้ามาได้ยาก
อันนี้ ไม่ใช่ว่าเรารังเกียจเขา
แต่เราต้องเข้มเข็งเพิ่มขึ้น เพราะถ้าเราทำอย่างนั้น เราก็สบายของเราด้วย
เนื่องจากพวกเราประพฤติตรงศีล ตรงธรรม แข็งแรง เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งจะดีทั้งในและนอก
นี่จะเป็นวิธีป้องกันตัวเราโดนสัจจะด้วย และเป็นวิธี ที่จะช่วยเขาได้ด้วย
เพราะวิธีการช่วยคนอื่น
ก็เป็นวิธีเดียวกัน กับที่เราช่วยตัวเอง นั่นแหละ การช่วยเขาก็คือ ให้เขาได้ช่วยตัวเอง
ด้วยการให้เขา เข้ามาฝึกฝน อบรมตนเอง โดยเราก็ต้องพร้อมที่จะสอนเขาได้
อบรมเขาได้ พัฒนาเขาได้ เพื่อให้เขามาเอาวิถีชีวิตของเราไปใช้ ซึ่งเป็นวิธีที่ยั่งยืน(ธุวัง)
ให้เขาได้ช่วยตัวเขาเองได้ เมื่อมาฝึกฝนศึกษาอบรมให้ได้แล้ว คุณก็ไปพึ่งตนเอง
ทำตัวเองให้แข็งแรง แล้วฝึกฝน ให้คนอื่นต่อๆไปได้ นี่คือ วิธีพัฒนาให้เจริญยั่งยืนที่แท้จริง
: ตอนนี้มีงานอะไรที่พ่อท่านกำลังเร่งอยู่คะ?
: ตอนนี้ก็ต้องเร่งที่มันค้างคามานั่นแหละ หนังสือเรื่องอีคิวโลกุตระที่ทำให้อาตมาหมดแรงล้มไปนั้น
ก็ยังเขียนไม่เสร็จ ตอนนี้ กำลังเร่งๆจะให้เสร็จเรื่องอีคิวโลกุตระนี่
ยิ่งเขียนไป ก็ยิ่งรู้สึกว่าทำได้ดี คิดว่าควรจะได้อ่านกันทุกคน อีคิว
คื่อ เรื่องของอารมณ์ หรือ เรื่องของจิตวิญญาณ
ศาสนาพุทธของเรา เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ
พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งจบจริงๆ ในเรื่องจิตวิญญาณนี้ เพราะฉะนั้นอาตมาจึงเห็นว่า
เมื่อเราเป็นคนไทย และประเทศไทย เป็นเมืองพุทธ ที่มีพุทธศาสนิกชนตั้งกว่า
๙๐% จึงไม่น่าจะพลาดเลยในเรื่องนี้ เมื่อเห็นว่า คนข้างนอก กำลังสนใจ เขาฮือฮากันในเรื่องของอีคิว
อาตมาก็เขียน "อีคิวโลกุตระ"
เล่มนี้ ขึ้นมาบ้าง ใครไม่ได้อ่านถือว่า
พลาดสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตจริงๆ
หนังสือเล่มนี้ราคาถูก เล่มละ ๗๐ บาท หนาเกือบ ๓๐๐ หน้า ใช้กระดาษปอนด์ชนิดที่ถนอมสายตาด้วย
แพงกว่ากระดาษปอนด์สีขาวธรรมดา กำหนดจะออกปลายเดือนตุลาคมนี้แน่
|
พลังอำนาจแห่งความดีงาม
เกิดจากการทำดี ต่อเนื่อง ยาวนาน เป็นตัวดีที่ได้จริง ไม่แปรเป็นอื่น
เพิ่มพูน สะสม จากคนหนึ่ง สู่อีกคนหนึ่ง สู่อีกหลายคน กลายเป็นสนามแม่เหล็กที่ทรงพลัง
พร้อมดูดดึงสิ่งดีงาม ขับไสสิ่งชั่วร้าย วันนี้ หน้าที่ของเราจึงมีเพียง"ทำดี"เท่านั้น
แต่ "ต้องทำดีอย่างยิ่ง" ต่างหาก
|
|
|