งานปอยหลวง
ที่ภูผาฟ้าน้ำ

สารอโศก อันดับที่ ๒๓๓
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔


กลุ่มญาติธรรมที่ภูผาฟ้าน้ำ จัดงานครั้งยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรก ณ ชุมชนภูผาฟ้าน้ำ (ดอยแพงค่า) บ้านแม่เลา ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ จัดงานวันที่ ๑๙-๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ เพื่อฉลอง ๒ ทศวรรษ กลุ่มภูผาฟ้าน้ำ ในโอกาส ๓ ประการคือ
๑. กลุ่มภูผาฟ้าน้ำก่อตั้งมาถึง ๒ ทศวรรษ (๒๐ ปี)
๒. สังฆสถานภูผาฟ้าน้ำ ได้รับการยกฐานะ ขึ้นเป็นพุทธสถาน (เวลา ๐๔.๑๗ น. ตรงกับ ๔ พ.ย. ๒๕๔๓)
๓. ฉลองศาลาหลังใหม่ ในเขตชุมชนภูผาฟ้าน้ำ

งานครั้งนี้เป็นงานช้าง เพราะมีช้างมาลากซุง เพื่อเตรียมจะสร้าง พระวิหารดอยฟ้า มีญาติธรรม จากทุกภาคของประเทศไทย ไปร่วมงาน ที่ได้ลงทะเบียนไว้ มีดังนี้

ชายจำนวน ๒๓๒ คน หญิงจำนวน ๔๓๓ คน รวมฆราวาส ๖๖๕ คน พระ และ สามเณรอาคันตุกะ ๑๓ รูป สมณะชาวอโศก ๕๓ รูป สิกขมาตุ ๒ รูป รวมนักบวช ๖๘ รูป

บ้านโป่งตองมาทั้งหมู่บ้าน บ้านผาเด็ง, บ้านปางลัน, บ้านหัวเลา มา ๑๐๐ คน ชาวบ้านหัวเลา ช่วยเตรียมงาน ได้มากพอสมควร ยังมีตำรวจป่าแป๋ มานอกเครื่องแบบด้วย

เริ่มแรกมา ได้มีการประชุมเตรียมงาน ๓ ครั้ง แบ่งงานรับผิดชอบ ได้รับความร่วมมือ จากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี ในด้านกำลังปัญญา กำลังกาย กำลังทรัพย์ และ ยานพาหนะ พิมพ์ใบแจ้งข่าวงานบุญ ส่งไปทุกพุทธสถาน และนำไปแจกให้เครือข่าย ในงานปีใหม่ ได้ส่งข่าว ไปยังสมาชิกทุกคน ทางภาคเหนือ

หลังงานพุทธาฯ สมณะผืนฟ้า อนุตตโร สมณะดวงดี ฐิตปุญโญ พร้อม น.ร. สัมมาสิกขา จาก ศีรษะอโศก ซึ่งเป็นลูกหลาน ญาติธรรมชาวเหนือ ประมาณ ๒๖ คน ได้ขึ้นไป ช่วยเตรียมงาน ที่ภูผาฟ้าน้ำ ตั้งแต่วันที่ ๑๑ ก.พ.๔๔ เสร็จงานแล้ว กลับศีรษะอโศก ๒๒ ก.พ.๔๔

ใกล้วันงาน สมณะ น.ร.สัมมาสิกขา จากพุทธสถานต่างๆ คนวัด คนชุมชนอื่นๆ ต่างก็ทยอย เดินทางไปเชียงใหม่ แวะพักกินอาหารที่ ชมร.เชียงใหม่ก็มาก ก่อนเดินทาง ขึ้นสู่ภูผาฟ้าน้ำ และมี ญาติธรรม จากต่างจังหวัด โทรฯเข้า ชมร.เชียงใหม่ จำนวนมาก โดยเฉพาะ ในช่วง ๒ วันก่อนงาน

๑๘ ก.พ.๔๔ เมื่อพ่อท่าน ถึงสนามบินเชียงใหม่ เวลา ๐๗.๔๕ น. ไม่ได้แวะที่ ชมร. แต่กว่าจะออก จากสนามบินได้ก็ ๘ โมงกว่า มีผู้เดินทางร่วมมาด้วยคือ สมณะเดินดิน ติกขวีโร น้องสาวของพ่อท่าน ชื่อ คุณนิตยา ศิรินาวิน และคุณกิ่งรัก ต้นตระกูล คุณขวัญบุญ และญาติธรรมอีก ๒ ท่าน โดยมีคุณผกายขวัญ เจ้าของ ร.ร. อนุบาลโพธิรักษ์ ได้บริการรถตู้ รับ-ส่งพ่อท่าน และคณะในงานนี้ โชเฟอร์มือดี คือคุณเมืองหิน เป็นผู้ขับ พาไปถึงบ้านทุ่งจ้อ ปากทางเข้าสู่พุทธสถาน ภูผาฟ้าน้ำ มีอาจารย์ ๑ และอาจารย์ ๒ สมณะและญาติธรรม มารอรับ เป็นจำนวนมาก พอเดินข้ามสะพานแขวน พ่อท่านหยุด ให้พวกญาติธรรมกราบ และทักทายสนทนา สักครู่ ก็เดินต่อไปอีก ประมาณ ๑.๕ กม. ก็ถึงศาลาหลังใหม่ เป็นสถานที่จัดงาน ในเขตชุมชน มีรถอีแต๋น ขับโดย คุณงานธรรม ชาวหินฟ้า บรรทุกกระเป๋าใบใหญ่ และขนสัมภาระ ไปส่งให้ถึงที่

พ่อท่านเทศน์ก่อนฉัน อาหารในเช้านี้ จากฝีมือแม่ครัว ที่เป็น ผรช.ชมร. เชียงใหม่ คือ คุณรัตนาภรณ์ บุญยัง และ คุณต้นฝัน แสงอาทิตย์ ร่วมด้วยญาติธรรม อีกหลายท่าน และ น.ร.สัมมาสิกขา จากศีรษะอโศก ในงานนี้ แม่ครูหนู ได้กรุณาขนสัมภาระ อุปกรณ์ล้างจาน ชุดเล็ก-ชุดใหญ่ ไปช่วยในงานด้วย

เมื่อถึงเวลาช้าง ๒ เชือก ลากซุงจากบ้านทุ่งจ้อ ไปตามถนน ขึ้นไปยังสถานที่ ที่จะสร้างวิหารดอยฟ้า พ่อท่านได้กรุณาประกาศ ให้พวกเราซับทราบ รักษาความปลอดภัย ในขณะช้างกำลังทำงาน ห้ามให้อาหารช้าง และถ้าไม่มีควาญช้างอยู่ ห้ามเข้าใกล้ตัว

ที่บ้าน คุณภูฟ้า มีโรงบุญแจก กระเพาะเจหม้อใหญ่ ในวันนี้ ให้พวกเราได้อิ่มอร่อย จากผู้มีน้ำใจ เป็นเจ้าภาพเสียสละ จากปฐมอโศก

ตอนเย็นมีการแสดงเล็กๆน้อยๆ ร้องรำทำเพลงของญาติธรรม จากที่ต่างๆ ท่ามกลาง อากาศ ค่อนข้างจะเย็น ผู้เป็นพิธีกร ก็ไม่มีใครอื่นใด นอกจากสามีภรรยา ที่เข้มแข็ง คุณฝ่าฝัน กับ คุณต้นฝัน นั่นเอง

๑๙ ก.พ. ๔๔ ทำวัตรเช้าท่ามกลางอุณหภูมิ ๔ องศาเซลเซียส สมณะเดินดิน ติกขวีโร ดำเนินรายการ ในหัวข้อ กว่าจะถึงวันนี้ (ของภูผาฟ้าน้ำ) โดยอาจารย์รุ่นแรก ถึงอาจารย์ปัจจุบัน เริ่มจากอาจารย์เจ้าถิ่น คือ สมณะดวงดี ฐิตปุญโญ และ อาจารย์พิเศษ สมณะผืนฟ้า อนุตตโร หลังจากทำวัตร มีการร่วมแรง ขุดร่องน้ำตามถนน ทางเดิน เตรียมไว้สำหรับหน้าฝน ที่จะมาถึง (ที่ภูผาฟ้า น้ำมี ๒ ฤดูคือ ฤดูหนาว กับฤดูฝน เท่านั้น)

เวลาประมาณ ๐๗.๓๐-๐๘.๔๕ น. พ่อท่านและสมณะบิณฑบาต โปรดสัตว์ในชุมชน ก่อนฉัน พ่อท่านแสดงธรรม ขอสรุปเป็นประโยคสั้นๆว่า "คนที่จะมาอยู่ที่นี่จะต้องมีภูมิถึงจริงๆ "

วันนี้เป็นวันจันทร์ และทุกวันจันทร์ที่ภูผาฟ้าน้ำ ยังคงรักษาประเพณี อาหารเอกภัต ถวายสมณะ ดังนั้นสมณะทุกรูป ในเช้าวันนี้ ก็ได้ฉันอาหารเอกภัต ซึ่งมีข้าวเป็นหลัก ปรุงผสมด้วยพืชผัก ผลไม้นานาชนิด ๑.กระเทียม ๒.รากผักชี ๓.หัวหอม ๔.เกลือ ๕.น้ำมันพืช ๖.ฟักทอง ๗.แครอท ๘.เผือก+มัน ๙.ข้าวโพด ๑๐.เต้าหู้ ๑๑.ผักหวานป่า ๑๒.คะน้า ๑๓.สับปะรด ๑๔.มะปราง ๑๕.กล้วย ๑๖.ขึ้นฉ่าย ๑๗.เมล็ดฟักทอง ๑๘.เมล็ดทานตะวัน ๑๙.งา ๒๐.มะเขือเทศ ๒๑.ถั่วแปบ ๒๒.ถั่วลิสง

สำหรับรายการอาหารเช้าวันนี้ ที่จัดไว้เลี้ยงญาติธรรมมี ๑.แกงหยวกกล้วย ๒.แกงขนุน ๓.จอผักกาด ๔.น้ำพริกข่า+ผักชะอม ๕.ขนมจีนน้ำเงี้ยว ๖.ข้าวเอกภัต(แถมเล็กน้อย)

ผู้อายุยาวจากลานนาอโศก ได้ทำโรงบุญ ขนมจีนน้ำเงี้ยว ๑๐๐ กก.หน้าโรงครัวกลาง

บ่ายโมงครึ่งเป็นรายการ "แข่งขันกีฬาอาริยะ" ประเภทเดี่ยวและกลุ่ม มี ๓ รายการ คือ

๑. การผ่าฟืน แบ่งเป็นชายและหญิง ผู้ชนะตั้งแต่รางวัลที่ ๑-๓ ส่วนมากเป็นชาว ปกากะญอ
ชาย
รางวัลที่ ๑ ชื่อ นายจันทร์ (ชาวบ้านหัวเลา) รางวัลที่ ๒ ชื่อ นายอาทิตย์ (ชาวบ้านหัวเลา) รางวัลที่ ๓ ชื่อ นายสะอาด (ญาติธรรม)
หญิง รางวัลที่ ๑ ชื่อ นางจันทร์แก้ว (ชาวบ้านหัวเลา) รางวัลที่ ๒ ชื่อ นางแดง (ญาติธรรม กลุ่มภูผาฟ้าน้ำ) รางวัลที่ ๓ ชื่อ นางวันเพ็ญ (ชาวบ้านหัวเลา)

๒. การแข่งขันเก็บผักป่า กลุ่มละ ๓ คน ชนะเลิศ รางวัลที่ ๑ กลุ่มบ้านหัวเลา ๓ รางวัลที่ ๒ กลุ่มพลังบุญ รางวัลที่ ๓ กลุ่มบ้านหัวเลา ๒ รางวัลชมเชย ได้แก่ ชุมชนสีมาอโศก และ บ้านหัวเลา

๓. การแข่งขันการสีข้าวด้วยมือ ประเภทกลุ่มๆละไม่เกิน ๕ คน ชนะเลิศ รางวัลที่ ๑ กลุ่มภูผาฟ้าน้ำ-ปฐมอโศก รางวัลที่ ๒ กลุ่มขอนแก่น-ลำพูน รางวัลที่ ๓ กลุ่มศีรษะฯ-พิจิตร-ศาลีฯ

ผู้ชนะการแข่งขันแต่ละประเภทในวันนี้ จะได้รับมอบรางวัล จากมือพ่อท่าน บนเวทีแสดงในคืนนี้ โดยได้รับโล่ ซึ่งทำจากลูกสะบ้า เขียนสลักตัวอักษรไว้ พร้อมเงินรางวัล และของชำร่วย
รางวัล รางวัลที่ ๑. ยี่สิบบาท พร้อมของชำร่วย รางวัลที่ ๒. สิบบาท พร้อมของชำร่วย รางวัลที่ ๓. ห้าบาท พร้อมของชำร่วย รางวัลชมเชย. หนึ่งบาท พร้อมของชำร่วย

เงินรางวัลพร้อมของชำร่วย ได้รับอภินันทนาการจาก คุณใบหญ้า ตันวิระ และ คุณแม่อิ่มใจ รายการแสดงภาคค่ำ จากกลุ่มต่างๆ เริ่ม ๑๗.๓๐ น.

และก่อนรายการสุดท้ายคืนนี้ เป็นการฟ้อนเล็บ ของชาวล้านนา โดยกลุ่ม ภูผาฟ้าน้ำ โดยมีพิธีกร คนแรกคือ คุณฝ่าฝัน แสงอาทิตย์ แล้วต่อมาอีก ๒ คนคือ คุณคงเด่น และ คุณน้อมตะวัน ค่ำคืนนี้ จึงเป็นค่ำคืนที่มีความสุข ทั้งผู้แสดงบนเวที และ ผู้ชม ท่ามกลางอากาศ ชุ่มชื่นหนาวเย็น จนถึงเวลา ๔ ทุ่ม

๒๐ ก.พ.๔๔ เช้านี้ไม่มีการทำวัตรเช้า ๖ โมงเช้า ร่วมแรงทำแนวกันไฟป่า ในเขตสมณะ มีญาติธรรม ไปช่วย ๔๓ คน พอถึง ๗ โมงเช้า ก็ประกวด น้ำพริกถั่ว ซีอิ๊ว และการนึ่งข้าวเหนียวกล้อง ประเภทเดียว

ประกวดน้ำพริกถั่ว ใช้วัตถุดิบภายในชุมชน ห้ามใช้ผงชูรสและน้ำตาล ชนะเลิศรางวัลที่ ๑ คือ คุณอรุณเพ็ญ แก้วมณี อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ภูผาฯ รางวัลที่ ๒ คือ คุณวงศ์ศีล นาวาบุญนิยม ปฐมอโศก รางวัลที่ ๓ คือ คุณไปล่ บุตรพริ้ง ศาลีอโศก

การนึ่งข้าวเหนียวกล้อง ต้องให้ปั้นได้ไม่ติดมือ ชนะเลิศรางวัลที่ ๑ คุณจารุณี จากมูลนิธิ เพื่อนช่วยเพื่อน รางวัลที่ ๒ คุณบัวงาน ชุมชนศีรษะอโศก รางวัลที่ ๓ คุณใจเกื้อ ศรีโพธิ์ ชุมชนศีรษะอโศก

การประกวดซีอิ๊ว ต้องไร้สารพิษ ไม่มีผงชูรสและสารกันบูด ชนะเลิศรางวัลที่ ๑ จากชุมชน ปฐมอโศก รางวัลที่ ๒ กลุ่มขอนแก่นอโศก รางวัลที่ ๓ ชุมชนภูผาฟ้าน้ำ

ก่อนฉันวันนี้ พ่อท่านเทศน์โปรดพวกเรา ดีมาก (โปรดหาติดตามฟังเท็ป)

รายการอาหารวันนี้มี ๑.ลาบเมืองเหนือ ๒.น้ำพริกตะไคร้+ธิดาดอย (หน่อไม้) ๓.คั่วแคถั่ว ๔.แกงสะแล (ออกปีละครั้ง) ๕.ยำใหญ่ ๖.ขนมจีนน้ำเงี้ยว

หลังอาหาร พ่อท่านเมตตาพูดคุยกับคณะทำงาน โครงการกู้ดินฟ้า จนถึงเวลาบ่าย ๓ โมงจึง ได้ร่วมประชุมสรุปงาน เพื่อหาข้อบกพร่อง ที่พวกเราจะต้องแก้ไข และปรับปรุง ในโอกาสต่อไป

โอวาทสรุปงานฉลอง ๒ ทศวรรษ กลุ่มภูผาฟ้าน้ำ จากสมณะ มีดังนี้
สมณะลานบุญ อนุโมทนากับคณะทำงานทุกคน ที่ร่วมแรงแข็งขันดี แม้จะบกพร่องบ้าง ก็เป็นประสบการณ์ ก็ให้เป็นการฝึกตนเอง ชื่นชมกับเด็กๆ ที่มาช่วยงาน ที่ค่อนข้างหนัก และมาก พวกเราดีตรงที่ มีการรวมกลุ่มกัน พ่อท่านเทศน์ว่า ถ้าอยากช่วยชาติ ต้องมารวมกัน อยู่ด้วยกัน เป็นชุมชนเร็วๆ โดยเฉพาะเจ้าถิ่น (คนเหนือเรา)

สมณะดวงดี ต้นไม้ ภูขา ลำธาร ก้อนหิน เป็นธรรมชาติที่ดีงดงาม ให้ความรู้สึกที่ดี ถ้าเรามา ช่วยกัน ร่วมกันดูแลรักษา เพื่อความสุขสบายใจ ของผู้อยู่ และผู้มาเยี่ยมเยียน ขออภัย ที่ปล่อยเด็ก ตามอัธยาศัยบ้าง เพราะเห็นว่าอากาศหนาว และขอให้ชาวชุมชน ช่วยดูแลติงเตือน ประเมินผล การทำงานของเด็กให้ด้วย การจะมาอยู่ที่นี่ ของอาตมา ก็ให้เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยากกำหนดว่า เมื่อใด

สมณะเก้าก้าว งานครั้งนี้ถือว่า ประสบความสำเร็จ จากการพูดคุยกับเด็กๆ และสมณะ ที่มาร่วมงาน รู้สึกท่านบอกว่า ได้ประโยชน์ และอยากมาอยู่ที่นี่ เห็นผู้ทำงาน ดูยังสดชื่น ยิ้มแย้ม เบิกบานอยู่ พ่อท่านสอนว่า ควรปลูกต้นไม้ใหญ่ ให้ร่มเย็นด้วย ถือเป็นการเปิดตัว ภูผาฟ้าน้ำ เป็นการเกิด บุญญาวุธ หมายเลข ๓ คือกสิกรรมไร้สารพิษ จึงต้องเอาจริง เอาจัง และเน้นในจุดนี้ ให้มากๆ

สมณะบินบน เราเริ่มจากจุดเล็กมาจุดใหญ่ ด้วยความแน่นเหนียว เป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน แม้น้อยก็สามารถช่วยกัน และมาหลอมละลายอัตตา ของแต่ละคน เป็น All for one one for all. ทำให้ทุกคน ได้ลดกิเลส ของตัวเองมาก ทั้งผู้ทำงาน ผู้มาร่วมงาน เป็นการเน้นเนื้อ ให้เหนือกว่ามาก เราได้อดทน ได้กดข่มกิเลสตัวเอง ก็ขอให้รักษาไว้ (ท่านเสนอว่า งานต่อๆไป ก็ควรจะลด ความสะดวกสบายลง ไม่ใช่ให้เพิ่มขึ้น)

สมณะเดินดิน ชื่นชมพวกเราทำงานได้ขนาดนี้ เพราะทำให้เกิดพลังรวม และประสาน สัมพันธ์กัน ทั้งทางผู้จัดงาน ชาวบ้านที่มาร่วมงาน อยากให้รักษา เอกลักษณ์ของที่นี่ไว้ รู้สึกว่า เป็นที่สำหรับ การพักผ่อนได้ดี ไม่ควรให้เหมือนที่อื่นๆ น่าให้ผู้มาร่วมงาน มาเข้าคอร์สสุขภาพ มาเพื่อฝึก ความอดทน ฝึกความลำบาก นำผักป่า มาเป็นอาหาร ที่ชวนกิน (ที่นี่น่าจะเป็นโรงพยาบาล ของชาวอโศก)

ใบจริง รายงาน ๒๔ ก.พ. ๒๕๔๔


งานปอยหลวงที่ภูผาฟ้าน้ำ สารอโศก อันดับ ๒๓๓ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ หน้า ๑๓๙ - ๑๔๔