อริยสัจสี่ พิสดาร
(ตอน๒๒: ภาค๓)

สารอโศก อันดับที่ ๒๓๓
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔


 

"อริยสัจ ๔ พิสดาร" นี้ บรรยายแจกแจงโดย สมณะโพธิรักษ์ ที่ แดนอโศก เมื่อวันที่ ๒-๕ สิงหาคม ๒๕๑๕ ได้อธิบาย ความจริงแท้อันประเสริฐ ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อย่างละเอียด ลึกซึ้ง ซึ่งพิสดารแตกต่าง จากเหล่า อาจารย์และนักปราชญ์ทั้งหลายเคยบรรยายไว้

(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

ผมเข้าใจอย่างนี้ ผมเห็นอย่างนี้อยู่แล้ว ผมถึงกระทำอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ใครเห็น อย่างผม ก็ช่วยกัน ช่วยกันจริงๆ กระทำงานนี้เท่าที่เราจะทำได้ ผมก็ไม่ได้ ไปเร่งรัด จนเกินควร ไปบีบให้คุณทำ เสียจนบังคับขู่เข็ญกันทีเดียว ลงแส้ลงไม้ก็เปล่านะ

คุณจะพยายามรู้ให้ถึงสันตะ ให้ถึงความสงบนั้น ให้จริงเท่าใดก็เอา จะเสพสันตะ ความสงบ นั้นให้แน่แท้ ต้องทำให้แนบเนียน มีสันตะนั้นอยู่ที่จิต แม้จะมาทำการงาน มีกายกรรมทำวจีกรรม คุณก็ยังวางปล่อยได้ สบายได้อยู่ ทำอีกอยู่ คุณก็จะเวียนมา เหมือนอย่างผม และก็กระทำงานขยัน ขันแข็งกันอยู่ มีอิทธิบาทอยู่ เพราะว่า รูปสังขารเรา ก็ยังไม่ได้แก่เฒ่าอะไร รูปสังขารเราก็ยังเป็น ประโยชน์ต่อโลกได้ ยังกระทำการ ปั้นกายกรรม ที่เป็นกายสุจริต วจีสุจริต ออกมาจาก มโนสุจริตของ เรา ที่จะสืบสาน ให้กับคนอื่นได้ โดยเจตนาอันดี

เราไม่มีความลำบากลำบนใจอะไร รูปอะไรก็เข้าใจ เราทำไมต้อง บวชเป็นพระ เราทำไม มาทำรูปแบบอย่างนี้ เพื่อประโยชน์สูงอย่างไร เราเข้าใจ ไม่ใช่ว่า เราจะมาเป็น ฆราวาสไปเลย ทำอะไร ต่ออะไร เมื่อประโยชน์ไม่สูง เราก็เข้าใจ เหตุผลนั้น ซึ่งมีคนมาย้อนแย้งว่า บรรลุธรรมแล้ว บรรลุเป็น พระอรหันต์แล้ว ไม่ต้องบวชก็ได้นี่ อยู่เป็นฆราวาสก็ได้ ผมก็เข้าใจ เขาอยู่เป็นฆราวาส เป็นประโยชน์สูงกว่า เป็นพระอย่างนี้ไม่ได้

แต่เราต้องรู้โลกว่า โลกนี้นะโดยเฉพาะในเมืองไทย คนในเมืองไทยนี่แหละ ยังเคารพ รูปแบบนี้ ยังเคารพ ยังนับถืออยู่มาก แม้จะมีคนส่วนหนึ่ง ที่เรียกว่า ภูมิปัญญาชน ไม่ยอมรับ นับถือรูปแล้ว เอาคุณธรรม เอารายละเอียด เอานามธรรม เอาคุณธรรมนัยๆ เป็นเครื่องวัดก็ตาม เขาก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นรูปแบบที่ดีมาเก่า แม้เดี๋ยวนี้ มันจะไม่ค่อย ได้เรื่องเท่าไหร่แล้ว เขาไม่อยากจะไหว้ รูปพระแล้ว แต่เขาก็ยัง ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกนี้คนในประเทศไทย ยังเคารพรูปแบบนี้อยู่ ยังให้เกียรติ ยังจะไป ต่อต้าน ทำลายลงไม่ได้ รูปนี้ยังตั้งอยู่ ทั้งๆที่รูปแสนจะเลว ที่จริงยังมีรูปพระ รูปโกนหัว นุ่งจีวร เป็นองค์พระอยู่เท่านั้นเอง แต่ว่านามธรรม หรือคุณภาพ ไม่มีความเป็นพระ เท่ากับคนธรรมดา บางคน ด้วยซ้ำไป แต่เขาก็ยังทำลาย โค่นลงไม่ได้ ข้อสำคัญ ขณะนี้ ที่ผมพยายาม อธิบายอริยสัจ ๔ อย่างยืดยาด อย่างช้า อย่างขนาด ปะติดปะต่อ ผสมผเส ให้มันปั้นเนื้อ ปั้นลมเป็นตัว ไม่ใช่ปั้นน้ำเป็นตัว ปั้นลมเป็นตัว ให้คุณฟังอยู่นี่แหละ ก็เพื่อให้คุณเข้าใจ ให้ถึงจุดสุดยอด ของมันที่สุด ผมเอง ผมเคยพูด ผมไม่ค่อยได้อธิบาย อริยสัจ ๔ หรอก ผมไม่ค่อยได้ขยาย อริยสัจ ๔ หรอก เพราะอริยสัจ ๔ นั้น ไม่ใช่เรื่อง พูดเล่น ควรจะมีฐาน มารองรับ

พระพุทธเจ้าเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์ ก็ไม่ใช่มาถึงก็เทศน์ อริยสัจ ๔ เลยเมื่อไหร่ ท่านสอน ให้รู้ อนุปุพพิกถา สอนเรื่องสุดโต่ง ๒ ฝ่าย หรือสอนผู้อื่น ก็สอนอนุปุพพิกถา คือ สอนธรรมะ ตามลำดับขั้น ให้รู้ศีลมาขัดเกลา ให้รู้ทาน ให้รู้สวรรค์แล้ว ก็อย่าติดสวรรค์ ไล่ลงมา จนให้รู้โทษภัย ของสวรรค์ อีกทีหนึ่ง จนละหน่ายคลาย ออกจากสวรรค์ จึงจะมาสอน อริยสัจ ๔ ท่านสอนอย่างนั้น อนุปุพพิกถา มาก่อน และไม่ใช่สอนสั้นๆ ศีล ทาน สัคคะ อาทีนวะ เนกขัมมะ อะไรไปเรื่อยๆเลย หรือสั้นๆ อย่างนี้ ก็เปล่า ไม่ใช่หรอก คือให้รู้จริงๆ ให้มาปฏิบัติ ให้ปฏิบัติทาน มันจะได้ละลง ไปปฏิบัติศีล ก็ปฏิบัติศีล เมื่อปฏิบัติแล้ว คุณเห็นสวรรค์ของคุณ อย่าติดสวรรค์ของคุณ ละออกมาเป็นขั้นๆ เห็นโทษมันให้ชัด ว่าคุณแบกหามไปทำไม แล้วละหน่ายออกมาๆ จนกระทั่ง ฐานจิต ของคุณละเอียด มาฟังอริยสัจ ๔ ได้ รับอริยสัจ ๔ ได้อีก จึงจะสอนอริยสัจ ๔ ถ้าคุณมี อินทรีย์พละ ขณะนี้พวกคุณ มีอินทรีย์พละไม่ช้านัก อนุปุพพิกถา ก็ไม่ต้องพูดกันนาน

พวกคุณละหน่ายมาแล้ว เพราะคุณมีศีลมาโดยตนมามากแล้ว มีทาน โดยตน มามากแล้ว แล้วก็รู้เท่าทันสวรรค์ กันมามากแล้ว เห็นโทษภัยในสวรรค์โลกๆ ที่มันหลอกกันนี่ มามากแล้ว คุณมี จิตเนกขัมมะออกมาแล้ว คุณจึงเร็ว บางคนมาปุ๊บปั๊บ จิตของคุณก็ได้ จิตของคุณสะอาด มาจากอบายมุข จิตของคุณสะอาดมาจากโลก ที่มันหลอก ว่าเป็นสวรรค์ อบายมุขก็เป็นสวรรค์ ทั้งๆที่เป็น นรกแท้ๆ ละมาจนกระทั่งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่างๆ คุณหลงสวรรค์มา คุณก็จางคลายมาได้ จน กระทั่งปานนี้ ลาภ ยศ สรรเสริญ คุณก็จางคลายมา จนได้ปานนี้

แม้ในจิตของคุณเป็นภวตัณหา เป็นตัวตน มานะทิฐิก็หลงดิบหลงดี หลงสวรรค์ หลงใหญ่ หลงโต เป็นสวรรค์ชั้นสูง เหลือเกิน แม้กระทั่งไปเป็น สัตว์นรก อยู่ในเมืองพรหม ฆ่าเขา ตีเขา แกงเขา ทำลายเขาอยู่ ในเมืองพรหม ผมก็อธิบาย แจกแจงมา จนคุณก็พยายามเข้าใจ ในสิ่งที่ไม่มีตัวตน จนกระทั่ง เข้าใจเป็นตัวตน เป็นภวตัณหา นี่แหละ มานะต่างๆนี่แหละ ก็เข้าใจ จนปานนี้ แล้วค่อยมาพูด อริยสัจ ๔ ผมอธิบายบ้าง เป็นขั้นตอน มีภาษาขั้นไว้แถมๆไว้ เป็นชั้นเชิง จนกระทั่ง มาถึงขั้นนี้ จนอธิบายให้เห็นว่า อริยสัจมันมีแต่ ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป

สมุทัยของมันก็คือสิ่งที่มันเกิดขึ้น ให้รู้เป็นริ้วเป็นรอยไปทีเดียว เป็นอุทยะ เป็นสมุทยะ ให้ เกิดขึ้น ติดต่อเนื่องเสมอๆ คือปฏิจจสมุปบาทนี่เอง ปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจะ-สมะ-อุปปาทะ ให้มัน ต่อกันไปอยู่ อุปะ ปาทะ เป็นปฏิจจสมุปบาท มันสืบเนื่อง ทวนกันไป ทวนกันมาอยู่นี่ ซึ่งเป็นสมุทัย และผมก็พยายาม คลี่ปฏิจจสมุปบาทนี้ ออกเป็นภาษา เพื่อให้คุณ เข้าใจภาษา ให้ละเอียดลออถึงจิต ให้เทียบเคียงกับจิต ของคุณ ใครมีจิต ใครมีฐานละเอียด คนนั้นก็เข้าใจละเอียด ใครมีฐานยังหยาบอยู่ ก็ยังเข้าใจ ไม่ละเอียด ก็ได้เท่านั้นแหละ ถ้ารู้สุดแล้ว วันนี้ก็สุดเป็นพระอรหันต์เดี๋ยวนี้ อธิบาย อริยสัจ ๔ แล้วนี่ ใครเข้าใจอธิบายอริยสัจ ๔ วันนี้ ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ เดี๋ยวนี้แหละ จะไปมีปัญหาอะไร เมื่อถึงขั้น อธิบายอริยสัจ ๔ กันแล้ว ก็จบกันแหละ

เข้าใจได้ถึงที่ปล่อยสว่าง โล่งแจ้ง รู้เป็นวิชชา รู้เต็มเหนี่ยว เป็นวิชชามันก็เลิกกัน แล้วมันก็อยู่เป็น อยู่สบาย จิตอย่างไร คุณกำหนดรู้จิตของคุณ อ๋อ!จิตอย่างนี้เอง เป็นอุปายาส จิตอย่างนี้เอง เป็นจิตลำบาก อ๋อ!ทนได้ ทนได้โดยไม่ถือสาอะไร ก็เป็นไป ไม่ต้องทุกข์ร้อน ไม่ต้องโทมนัส ไม่ต้องหนัก หน่วงอะไรนี่ มันไม่ทุกข์อะไรนี่

พอถึงขั้นเข้าใจว่าทุกข์แล้ว เราก็ไม่เป็นอะไร ก็เป็นอยู่กับโลกไป อย่างธรรมดา เศษเหลือ หยาบๆ คุณมีเหลือไหมเล่า ถ้าไม่เหลือเศษหยาบ ถ้าไม่มีหยาบอะไร มาก่อภพก่อชาติ ในตัวคุณ อบายไม่มี ลาภ ยศ สรรเสริญ คุณก็ไม่ติดไม่ยึดอะไรจริงๆ หรือแม้แต่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็สัก แต่ว่า เป็นอายตนะรับรู้ รับรู้แล้ว ก็กระทำกับมัน ไม่ได้มีปัญหา อะไร เมื่อคุณเข้าใจ เป็นสัมมาทิฐิ แบบนี้แล้ว ก็เป็นอันสบายได้

ต่อไปถึงอันดับที่ ๔ คือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นอริยสัจ อันที่ ๔ หรือ เราแปล เอาความง่ายๆ ว่ามรรค แปลว่าแนวทาง หรือแปลว่า ทางเดิน หรือแปลว่า วิถีก็ตาม

ผู้ใดมีฐานอันใด ก็ใช้ฐานอันนั้น ทวนไปทวนมา ถ้าใครมีฐานยอด เป็นฐานจิต ที่สูงแล้ว แกร่งแล้ว เป็นฐานขนาด สัญญาเวทยิตนิโรธ ผู้มีสัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นฐาน ก็เอาฐานนั้นแหละ มาย้อน ให้แก่คนอื่น ทวนไปทวนมา ถ้าทวนมากๆ ก็ยิ่งรู้มาก ยิ่งเข้าใจมาก ยิ่งยืนยันมาก แล้วก็มีประโยชน์ แก่โลกมากขึ้น

อริยสัจ แปลให้ถึงความดับสนิทของทุกข์ เป็นอย่างไร คือแปลเอาปลาย มาเป็นต้นเลย แปล เอาอันนี้เป็นทางต้น เป็นบทแห่งการปฏิบัติ เพื่อทางดับทุกข์ ที่จริงมันเป็นตัว ดับทุกข์แล้ว มันดับทุกข์แล้ว มาตั้งแต่ ทุกขนิโรธแล้ว ทุกขนิโรธ แปลเอาความว่า ก็ดับทุกข์ ใช่ไหม มันดับทุกข์ มาแต่โน้น แล้ว

เพราะฉะนั้น ตัวที่ ๔ นี้เป็นตัวดับทุกข์ที่แท้ ที่ทวน เพื่อให้ผู้อื่นเห็น เห็นผลเป็นตัวจิต แสดงจิตอันยอด เพราะฉะนั้น ถ้าเราแสดงจิตอันยอดออก ก็คือสมมุติสิ่งหนึ่ง บอกทางเดินให้เขา บอกตัวอย่างให้เขา แสดงรูป แม้กายกรรม ก็แสดงรูปอย่างนี้ ให้ผู้อื่นเขาเห็น แสดงทั้งรูป แสดงทั้งวจี มีมโน มีความชาญฉลาดแค่ไหน ที่จะสังขาร ที่จะวิสังขาร ที่จะอิทธาภิสังขารให้แก่เขา ได้เท่าไรก็จงแสดง เพราะฉะนั้น ผู้นี้ถือว่า เป็นผู้ที่มีความประเสริฐหมดแล้ว ถ้าอ่านพวกนี้ให้ฟังทั้งหมด ว่าอย่างนี้

ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจว่าด้วยข้อปฏิบัติ ให้ถึงความดับสนิท ของความทุกข์เป็นอย่างไร คือหนทาง ประเสริฐ อันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้เอง ได้แก่ ความเห็นถูกต้อง ความดำริ ถูกต้อง ความมีวาจา ถูกต้อง ความมีการกระทำกายถูกต้อง ความมีอาชีวะถูกต้อง ความมีความพยายามถูกต้อง ความมีการระลึก ประจำใจถูกต้อง และ ความมีการตั้งใจมั่น อันถูกต้อง

(อ่านต่อฉบับหน้า)


อริยสัจสี่พิสดาร สารอโศก อันดับ ๒๓๓ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ หน้า ๘๓ - ๘๘