สิ บ ห้า น า ที กั บ พ่อ ท่า น ...ทีมสมอ.
ปลุกเสกฯ
บุญญาวุธ หมายเลข ๓
หนังสือพิมพ์สารอโศก
อันดับที่ 234 มีนาคม 2544

ตราบใดที่มนุษย์หลงลืมว่า ตนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
ตราบนั้นมนุษย์ก็หลงระเริง ก่อกรรมทำเข็ญทำลายธรรมชาติต่อไปไม่สิ้นสุด
ความล่มสลายของธรรมชาติ คือความล่มสลายของมนุษยชาติเฉกเดียวกัน
เมื่อจะกู้ดินน้ำลมไฟให้คืนกลับสู่สมดุล มีทางเดียว ต้องกอบกู้มนุษยชาติ ให้ตื่นขึ้นมา รับรู้ความจริง (สัจจะ)
ความจริง (สัจจะ) ที่แม้จะรู้ได้ยาก ทำได้ยาก แต่ก็ต้องทำ เพราะมนุษยชาติได้เดินมาถึงทางตันแล้วจริงๆ
บทสัมภาษณ์สมณะโพธิรักษ์ มีคำตอบสำหรับการเดินทางสู่เส้นทางสายนั้น

โครงการกู้ดินฟ้า ชื่อนี้มีความหมายอย่างไร?

คำว่า “กู้ดินฟ้า” ก็บอกตรงๆอยู่แล้วว่า กู้ฟ้า คือทำฟ้าให้สะอาด ทำฟ้าให้บริสุทธิ์ กู้ดินเพื่อให้ดินดีมีคุณภาพ เขียวชะอุ่ม มี ธาตุดีๆ เป็นทรัพยากรต่อมนุษยชาติ ถ้าจะหมายโดยรวมก็คือ กู้ธรรมชาติทั้งหมดนั่นแหละ เพราะดินฟ้าหมายถึง โลกทั้งหมด ทั้งเบื้องต่ำเบื้องสูง ทั้งในระดับหยาบ และละเอียด หรือว่าในระดับของความต่ำ ความสูงทุกฐานะ ของบุคคลก็ได้ จะว่าไปแล้ว เราทำงานเพื่อมุ่งพัฒนามนุษย์ ส่วนวัตถุอันคือ ส่วนของดินน้ำลมไฟ ต่างๆนั้น เป็นเพียงองค์ประกอบ เพราะฉะนั้น ความหมายอย่าง กว้างขวางของกู้ดินฟ้า ก็คืออะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นพัฒนาการของทุกอย่าง ตั้งแต่ดินน้ำลมไฟ ทรัพยากรในโลก และที่สำคัญที่สุดก็ คือ พัฒนาการของจิตวิญญาณมนุษย์ โดยถ้าจะหมายถึงความสูง ความต่ำของมนุษย์ก็มีด้วย คือ พัฒนาให้มีความไม่เหลื่อมล้ำ พัฒนาให้มีความอุดมสมบูรณ์ เสมอสมานกันเป็นพี่เป็นน้อง เป็นมิตรสหาย เป็นผู้ที่เห็นอกเห็นใจกัน ผู้ใดที่มีอะไรเหนือกว่า เก่ง กว่า สามารถกว่า ฉลาดกว่า ก็ควรเอื้อควรเกื้อกูล ผู้ที่มีน้อยกว่า ด้อยกว่า ต่ำกว่า พัฒนาทั้งจิตวิญญาณ ของมนุษยชาติ ให้มีความ เห็นจริง และมีใจที่จะทำจริงๆ เป็นความเห็นดี และทำดี ตามความรู้ที่เรามี

เราต้องกู้ดินฟ้า เพราะมันล่มสลายแล้วใช่ไหมคะ ?

ใช่ทีเดียว ใช่จริงๆ สังคมมันจะล่มสลายแล้ว แม้แต่สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ มันกำลังจะสูญเสียหมดสิ้น มนุษย์ได้ ร่วมกันทำลายมากมายจริงๆ โดยเขาไม่ได้คิดคำนึง ที่จะสงวนหรือรักษา หรือว่าพยายาม ที่จะเสริมสร้าง ให้มันดีงามขึ้นมา มีแต่ ผลาญมากกว่าเสริมสร้าง มันก็เลยไปไม่รอด เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ดิน น้ำ ลม ไฟ มันหมดค่า มันสูญเสียหมดแล้ว และยังเป็นพิษ ด้วยซ้ำ ล่มสลายทั้งดินน้ำลมไฟ น้ำก็เน่าดินก็เสีย อากาศก็เป็นพิษ มันแย่ไปหมด

แต่ทั้งหมดนี้ ก็มาจากความล่มสลายของมนุษย์ ซึ่งมีจิตผิดเพี้ยน ถ้าจะให้พูดแรงๆ ก็คือ เพราะมนุษย์มีจิตใจตกต่ำ มีจิตใจ เสื่อมทราม โดยเฉพาะมนุษย์ที่มีความสามารถ ความฉลาดเหนือคนอื่น ก็จะเอาเปรียบเขา มาบำเรอกิเลสตน ทำให้สร้างนิสัยเสีย เป็นรูปแบบตัวอย่างที่เลวทราม ดังนั้น ถ้าไม่มีปัญญาเข้าใจจริงๆว่า มนุษย์ไม่ควรเป็นอย่างนั้น แล้วก็ลดละกิเลสออก ลดความเห็น แก่ตัว ก็จะเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นรูปแบบตัวอย่างที่ดีได้ ถ้าจะว่าไปแล้ว คนพวกนี้ ถ้าถามกันจริงๆ ก็เข้าใจ และมีความฉลาด ที่พอรู้ได้ แต่เขาไม่ทำ เพราะกิเลสตัวอุปาทาน ยึดติด ในอัตตามานะ ถือดีถือตัว ติดความสบายที่เป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทำให้เขา เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถึงแม้เขาอยากทำก็ตาม บางคนก็มีสำนึก พยายามจะแก้ไข แต่ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ ศึกษาจนเกิดญาณปัญญา จนสามารถล้าง กิเลสออกไปได้จริง ก็จะไม่สามารถเป็นผู้ที่กระทำการเกื้อกูล และกระทำการสร้างสรร สิ่งที่สูญเสีย สิ่งที่ขาดแคลน สิ่งที่เสื่อมโทรม สิ่งที่หายไปหมดแล้ว ให้กอบกู้คืนมา คำว่ากู้ จึงต้องอาศัยมนุษย์ เป็นตัวหลัก กอบกู้ มนุษย์ที่ตกต่ำ ทั้งๆที่เขาหลงตัวว่าสูง เขานึกว่าเขาเป็นพวกไฮโซ ที่จริงเขาต่ำดิ่งมากๆเลย เราต้องกอบกู้คนพวกนี้ กอบกู้คนที่ต่ำให้ ฟื้นขึ้นมา กอบกู้ช่วยทั้งคนที่เขานึกว่าตนสูง แต่ที่จริงเขาต่ำ กอบกู้ความต่ำ ที่เขาไม่รู้ตัวว่าเขาต่ำ และกู้ทั้งคนที่ถึงเขาจะสูงหรือต่ำ เรายังไม่รู้ แต่ในฐานะวัตถุธรรมที่เป็นส่วนหนึ่ง ของสังคมโลก เขาอยู่เหมือนคนชั้นต่ำ เป็นคนระนาบต่ำ ซึ่งเราต้องช่วยกอบกู้เขาขึ้น มาด้วย เพื่อให้เขาได้รับปัญญา ที่รู้ชัดเจนถึงความจริง โดยไม่ต้องกลายเป็นคนหลงผิดอย่างนั้น เพราะฉะนั้น คำตอบที่ตรงที่สุดใน การกอบกู้จึงอยู่ที่คน ต้องสร้างคน ต้องกอบกู้คนให้ได้ คนจึงจะสามารถช่วยสร้างดินน้ำลมไฟ วัตถุโลก ตลอดจนทรัพยากรต่างๆ นานา ให้ฟื้นคืนกลับมา

กสิกรรมไร้สารพิษ จะกู้ดินฟ้าได้อย่างไรคะ ?

ในระบบบุญนิยมของเรา ไม่ได้ร่ำรวย ไม่ได้กอบโกยด้วยความโลภโมโทสัน เราจึงต้องทำอย่างประหยัด อย่างถูกต้อง และ โดยที่เราไม่ต้องไปทำอย่างเขา ใช้สารเคมี หรือยาที่นำเข้ามาจากนอกราคาแพง ซึ่งเป็นพิษและทำให้เราขาดดุลการค้าด้วย เราจึง ต้องหันมาค้นคว้าว่าทำอย่างไร จึงจะทำกสิกรรมแบบธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้สารเคมี ไม่ต้องมีพิษมีภัยในผักต่างๆ เราพยายาม ค้นคว้าและทำกันมาจนถึงวันนี้ ก็พอมีทางออก คิดว่าทำได้พอสมควร โดยสร้างสมดุลในธรรมชาติของมัน จนกระทั่งเราสามารถ ทำปุ๋ยหมักและทำน้ำหมัก น้ำจุลินทรีย์ต่างๆ ซึ่งมาจากธรรมชาติ เพื่อหมุนเวียนใช้กันเอง เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นว่า กสิกรรมธรรม ชาตินี้ เป็นเรื่องหนึ่งที่จะสามารถกอบกู้มนุษยชาติขึ้นมาได้ เพราะไม่เป็นพิษเป็นภัย ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนั้น มันยังช่วยปรับสร้างสิ่งแวดล้อมทุกอย่าง ให้เป็นไปตามวงจรที่ดีขึ้นด้วย

เราเคยคิดเรื่อง ๓ อาชีพกู้ชาติ ซึ่งหมายถึง การทำกสิกรรม และการทำปุ๋ยจุลินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ซึ่งหมุนเวียนมาจากอาหารที่ เป็นขยะ ๓ อาชีพกู้ชาติ ที่อาตมาตั้งไว้แต่แรก จึงได้แก่ กสิกรรมธรรมชาติ ปุ๋ยสะอาด และขยะต่างๆ ซึ่งจะต้องศึกษาขยะวิทยาเพื่อ นำมาปรับปรุง แปรขยะให้หมุนเวียน กลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ จนกระทั่งมาถึงวันนี้ เราเห็นทางออกชัดขึ้นว่า จะเชื่อมโยง ๓ อาชีพนี้ ให้เป็นวงจรที่สมบูรณ์ได้อย่างไร โดยเอาขยะมาปรับเป็นปุ๋ย ได้ปุ๋ยก็มาช่วยกสิกรรม เมื่อเพาะปลูกได้พืชพันธ์ธัญญาหาร เป็นของกินของใช้ เป็นเครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ เหลือเศษออกมากลับเป็นขยะ แล้วก็เอาขยะ มาทำเป็นปุ๋ยใหม่

โดยเทคนิคก็ทำได้แล้ว แต่ทำไมพวกเรายังทำกันน้อย ?

เนื่องจากชาวอโศกยังมีจำนวนไม่มาก และกสิกรรมเป็นงานหนัก ซึ่งเป็นธรรมชาติของคน ที่ไม่ชอบทำงานหนัก งานไหน เป็นงานเบาก็จะทำก่อน นี่แม้แต่งานเบากว่า เราก็ยังขาดแคลนคน เพราะฉะนั้น กสิกรรมที่เป็นงานหนัก หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ทั้งยัง สกปรก เลอะเทอะแปดเปื้อนมากกว่า ยิ่งไปทำถึงเรื่องขยะ คนก็ยังไปไม่ถึงตรงนั้น เพราะกิเลสยังรักตัวรักตน ติดตัวติดตน เหลืออยู่บ้าง ถึงแม้จะปฏิบัติธรรม ลดตัวลดตน ลงไปได้บ้างแล้วก็ตาม มันก็ยังมีภาวะซับซ้อน ไม่อยากลงไปทำแบบนั้น ยิ่งไม่อยากร่ำ อยากรวยอะไร ก็ยิ่งไม่มีความกระตือรือร้น เหมือนพวกเขา

เพราะฉะนั้น น้ำหนักที่จะเร่งรัดให้ตัวเองมีฉันทะ จึงยังไม่มากพอ ประกอบกับธรรมชาติของคน ชอบงานเบา มากกว่างานหนัก ก็เลยมีคนที่สนใจ ทำกสิกรรมธรรมชาติไม่มาก

อาตมาก็ได้แต่บอกกล่าว และเร่งรัดพัฒนากันด้วยสูตร ร.พ.ม. (เร่งรัดพัฒนามนุษยชาติ) โดยขอให้เอาจริง อาตมาพูดแล้ว ว่า เราจะระดมทำกสิกรรมไร้สารพิษ หรือกสิกรรมธรรมชาติ และเราก็พยายามเร่งกันอยู่ พยายามปลุกเร้ากันอยู่ เพียงแต่ยังไม่ได้ ดังใจ แต่ก็คิดว่าคงจะดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อจิตสำนึกของพวกเรา ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น

กสิกรรมไร้สารพิษ จะส่งเสริมการปฏิบัติธรรมได้หรือไม่คะ ?

ช่วยการปฏิบัติธรรมได้แน่นอน เพราะว่าเป็นเรื่องที่ต้องฝืนใจ เนื่องจากเป็นเรื่องยาก คนเรา ถ้าทำสิ่งที่ทำได้ยาก เสียสละ สิ่งที่สละได้ยาก แต่เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก มันก็เป็นกุศล เป็นคุณค่าที่มีราคาสูง เพียงแต่คนยังไม่เข้าใจ เพราะกิเลสต้านอยู่ มันก็ เลยยังทำไม่ได้เต็มที่ ซึ่งต้องพยายามพากเพียรอุตสาหะ ใครทำได้ก่อนก็โมทนาสาธุ คนไหนที่นำพาไปก่อน ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดี งาม คนอื่น จะได้พยายามพัฒนากันขึ้น เพื่อให้เป็นคนที่มีประโยชน์คุณค่าต่อสังคมกันจริงๆ

การพัฒนาคนมาสู่ทิศทาง ที่มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น มักมากเห็นแก่ได้มากขึ้นนั้น มันทำได้ง่าย แต่การพัฒนาคนไปสู่ ความมักน้อย สันโดษ และมีความเกื้อกูล เสียสละ สร้างสรร อุ้มชูโลกนั้น มันยากจริงๆ สรุปแล้ว กสิกรรมธรรมชาติ จะช่วยขัดเกลา แก้ปัญหากิเลส ตัวขี้เกียจ กับตัวรังเกียจได้พร้อมกันไปด้วย

การทำงานของเรา ยังขาดความสมบูรณ์หลายด้าน รวมทั้งด้านกำลังคน ทำอย่างไร ถึงจะให้พวกเราได้เข้าใจกัน และวางใจกันได้ เพื่อจะทำงานด้วยกันอย่างเป็นสุข ?

คำว่าจะทำงานด้วยกันอย่างไร ให้เกิดความเข้าใจและวางใจนั้น มันก็ต้องพินิจพิจารณาให้เข้าใจ โดยต้องพินิจศึกษา ตรวจ สอบ ให้เข้าถึงความจริงระดับต่างๆ จนถึงจุดสุดยอดของความจริง ที่ไม่มีอะไรขัดแย้งความจริงนั้นให้ได้ เช่น เราเข้าใจคนว่า คนนี้ เขาเป็นอย่างนี้ มีนิสัย มีความติดยึดทางจิตวิญญาณ ตลอดจนมีอะไรๆ ของเขาอย่างนี้ เมื่อเขามีความติดยึด และเขาเชื่อถือ อย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ เขาก็เป็นอย่างนี้ๆ

เมื่อเราเข้าใจเขาแล้ว เขาก็ต้องเป็นเขา และเราก็อย่าไปถือสาเขา คนที่ถือสาลักษณะที่เขาเป็น คุณสามารถไหมล่ะ ที่จะทำ ให้เขาเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เขาเป็นอย่างนั้น ซึ่งคุณไม่ชอบ คุณเห็นว่าไม่ดี คุณถือสา คุณก็แสดงความสามารถซิ ทำให้เขาเปลี่ยน แปลงให้ได้ โดยที่ไม่ต้องทะเลาะกัน ทำอย่างไรให้เขาเปลี่ยนแปลงได้ก็ควรทำ แต่ถ้าคุณทำไม่ได้ คุณก็ไปหาคนอื่นมาช่วย ทำให้ เขาเปลี่ยนแปลง แต่ถ้ายังช่วยไม่ได้อีก ในเมื่อคหุณก็ช่วยเขาไม่ได้ ไปหาคนที่จะมาช่วยเขาก็ไม่ได้ แม้แต่ตัวเขาเอง คุณสามารถ บอกให้เขาช่วยตัวเขาเองได้ไหมล่ะ ก็ไม่ได้ คุณก็ต้องจำนน แล้วก็จบ เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ และคุณจะอยู่กับเขา ไหมล่ะ คุณวางใจได้แล้วหรือยังล่ะ ถ้ายังวางไม่ได้ คุณก็แบกไปต่อ สรุปแล้วก็คือ เราต้องรู้ความจริงของความจริงให้ถึงที่สุดว่า แม้ แต่คนแต่ละคนที่อยู่กับเรา หรือว่าเราต้องคบค้าสัมผัสสัมพันธ์กันอยู่ก็ตาม เขาก็คือเขา เราก็คือเรา เราจะเอาเราไปเปรียบเทียบ เป็นเขา เอาเขามาเป็นเรานั่นมันทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเรามัวแต่มาเกี่ยงงอน ถือสาอะไรกันอยู่นักหนา มันก็เกิดแต่ความวิวาท บาดหมาง ขัดแย้ง เราจะทำอย่างไร ถึงจะอนุโลมปฏิโลม ประสมประสานกันได้ ก็ต้องรู้ควรว่า เขาได้แค่นี้แหละ จำนนที่มันได้แค่นี้ คุณอาจจะถูก แต่ทำได้ดีที่สุดแค่นี้ ก็ต้องเอา ดีไม่ดี ก็ไม่แน่ว่าคุณอาจจะเป็นฝ่ายผิด โดยเขาเป็นฝ่ายถูกก็ได้ ตรงนี้แหละสำคัญ ไปถือสา นึกว่าเขาไม่ดี เขาแย่ แต่แท้จริงตัวเองเป็นฝ่ายผิด อันนี้แหละ อาตมาว่า เป็นอยู่ไม่น้อยเลย

การบริหารเวลาและการบริหารพฤติกรรมที่ดี ควรเป็นอย่างไร ?

การบริหารเวลา คือ พยายามทำอย่างพอเหมาะพอสม ตรงเวลา และประมาณเวลาให้ดี พยายามทำให้ได้ตามกำหนดเวลา นั้นๆ ก็จะเป็นการจัดสรรเวลาได้ถูกต้อง เช่น เราจะทำเรื่องนี้ ๒ ชั่วโมงเสร็จ เราก็พยายามทำไปตามเวลา ๒ ชั่วโมงนั้น ถ้าแม้ว่ามัน ไม่เสร็จ เราก็ต้องรู้ว่า หากจะยืดหยุ่น ออกไป มันจะมากไปไหม ถ้าไม่เช่นนั้น เราต้องเอาไว้ทีหลังดีกว่า อย่างนี้เป็นต้น ไม่ใช่ทำโดย ไม่รู้ แล้วแต่อารมณ์ อยากจะทำหรือไม่อยากจะทำอะไร อย่างนี้ใช้ไม่ได้ คุณต้องบริหารเวลาให้ได้สัดส่วนลงตัว ต้องประเมิน ประมาณ ต้องคำนวณว่าจะต่อดีไหม ถ้าอนุโลมไปอีกเล็กน้อย มันจะดีกว่าได้ผลมากกว่าหรือไม่

เราต้องทำความเจริญเรื่องนี้ เพราะมันเป็นพัฒนาการ เป็นบูรณาการอย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เราใช้เวลาได้สมบูรณ์ขึ้น ให้ได้ ประโยชน์มากที่สุดจากเวลาที่มี

และอีกข้อการบริหารพฤติกรรม ก็คือตัวคนนั้นเอง แต่ละคนๆต้องศึกษาพฤติกรรม ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และ การงานทุกอย่าง ตั้งแต่ลีลาการพูดการจา ตลอดจนกิริยาท่าทางอะไรต่างๆนานา หรือแม้แต่การประกอบการงานทุกอย่าง ก็ต้อง มาปรับปรุงให้ประณีตประหยัด เรียกว่าให้มีความเจริญ หรือมีบูรณาการที่ดีขึ้น

บางคนรับหลายงานหลายตำแหน่ง เหมาะสมหรือไม่คะ ?

ตัวเราเองต้องรู้ว่ารับหน้าที่อะไรบ้าง อยู่ในตำแหน่งไหน ฐานะอะไร และต้องจัดสรรเวลาของเรา ให้เหมาะสม ต้องบริหาร เวลาให้เป็น กับงานนั้นงานนี้ เขาจะให้ไปดูงาน เขาจะให้ไปเข้าประชุม เขาจะให้ลงไปช่วยทำอะไรก็แล้วแต่ เราเป็นแค่กรรมการ หรือเป็นพนักงานด้วย ก็ว่ากันไป แต่ถ้ารับงานไปแล้ว ทำไม่หวาดไม่ไหว เราก็ต้องปลดบ้าง อย่าไปรับหน้าที่กันคนละมากมาย เพราะงานของพวกเรา ไม่ได้จ้างกัน ฉะนั้น หากคนใดคนหนึ่ง เขาอยากจะทำมากๆ ก็ไปขวางเขาอยู่ ความจริงจะขวางก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ได้จ่ายเงินเดือนอะไร เพียงแต่ว่าเมื่อรับหน้าที่ไปแล้วไม่ทำ มันก็จะเสียงานเท่านั้น ถ้าเราแน่ใจแล้วว่า เราไม่มีเวลาจริงๆ ก็ อย่าไปรับงานใหม่ เพราะถ้ารับแล้ว ทำให้คนอื่นเข้าใจไขว้เขว คิดว่าหน้าที่นี้ มีคนรับผิดชอบแล้ว ทั้งที่จริงๆมีแต่ชื่อ โดยเจ้าตัวไม่ เคยเข้าไปร่วมช่วยอะไร แต่ถ้าดูแล้วเราพอมีเวลาและมีความสามารถด้วย แต่เราขี้เกียจ เราก็ต้องเข่นตัวเอง พัฒนาตัวเองขึ้นมา ไม่ใช่ไม่รับงานเพราะเราขี้เกียจ แล้วอ้างกับตัวเองว่า มีภาระมาก อย่างนี้ก็ควรพัฒนาตัวเองใหม่

 

     

(สารอโศก อันดับ ๒๓๔ มีนาคม ๒๕๔๔ หน้า ๑๖ - ๒๒ สิบห้านาทีกับพ่อท่าน)