หน่วยตวจสอบและพัฒนาคุณภาพผลผลิตของชาวอโศก

เปิดหน้าต่างต.อ.

หนังสือพิมพ์สารอโศก
อันดับที่ 234 มีนาคม 2544

ความเคลื่อนไหว ๑
ต.อ.สัญจรชุมชนราชธานีอโศก และชุมชนศีรษะอโศก

วันที่ ๑๕-๑๗ มกราคม ๒๕๔๔ ชาว ต.อ.กลางได้สัญจรไปที่ชุมชนราชธานีอโศก และ ศีรษะอโศก โดยในช่วงเช้า ของวันที่ ๑๕ ได้แวะดูงานที่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี โรงพยาบาลนี้ กระทรวงสาธารณสุข เลือกให้เป็น โรงพยาบาลนำร่อง ในการรักษา แบบแพทย์ทางเลือก สำหรับประชาชน ซึ่งปรากฏว่า ได้รับความนิยม มากขึ้นเรื่อยๆ ได้รับคำบอกเล่า ถึงวัตถุประสงค์ และ การดำเนินงาน พร้อมทั้งเดินชมสถานที่ ซึ่งจัดได้เป็นสัดส่วน สะอาด เป็นระเบียบ เรียบร้อยดีมาก

ช่วงบ่ายชาว ต.อ.กลางมุ่งสู่บ้านราชฯ เยี่ยมฐานต่างๆ ให้คำปรึกษาแนะนำ ในส่วนที่ยังต้องแก้ไข ปรับปรุง ปัญหาใหญ่ คือ การขาดบุคลากร ทำให้ไม่สามารถ ปฏิบัติงาน ได้ครบวงจร โดยเฉพาะ ในส่วนของ อาคารสถานที่ การจัดวางวัสดุ อุปกรณ์เครื่องใช้ ตลอดจน เรื่องความสะอาด ซึ่งเป็นหัวใจหลัก ในการปฏิบัติงาน

ช่วงค่ำได้นัดพบหน่วยผลิต แนะนำ และช่วยกันเขียน ใบจดแจ้งผลผลิต ของชาวอโศก นับเป็นบรรยากาศที่ดี ได้มีการแลกเปลี่ยน ซักถามกันเป็นอย่างดี จากบ้านราชฯมา ด้วยคำมั่นสัญญาว่า จะกลับมาร่วมแรง ร่วมใจกัน ลุยงาน ๕ ส.ต่อ

เดินทางเข้าชุมชนศีรษะอโศก ในช่วงสายของวันที่ ๑๖ ม.ค. บรรยากาศทั่วไป ของชาวศีรษะฯ ตื่นตัว มีความพร้อม มีทีมมดงาน นกกระจาบ นกกระจอกเทศ เป็นแรงงานเข้มแข็ง ขมีขมัน ทุกฐานงาน มีความพร้อม รวมถึงการดูแลรักษา เครื่องมืออุปกรณ์ ในการปฏิบัติงาน อาคารสถานที่สะอาด เป็นระเบียบ แม้มีกระแสกลิ่นผักชี ลอยตามลมมาว่า ได้มีการปลูกล่วงหน้า ที่ ต.อ.กลางจะมาเยี่ยม ก็ไม่ว่ากัน ขอให้ปลูกบ่อยๆ ก็แล้วกัน ในการสัญจรครั้งนี้ ยามค่ำได้นัดพบ หน่วยผลิต เช่นเดียวกับที่บ้านราชฯ นับเป็นนิมิตหมายอันดี ที่ได้ใกล้ชิด กับหน่วยผลิต ได้ร่วมด้วยช่วยกัน ตรงเป้ามากขึ้น

ความเคลื่อนไหว ๒
การประชุม ต.อ. ครั้งที่ ๑ ณ ชุมชนศาลีอโศก

พ่อท่านมีดำริว่า ในรอบ ๑ ปี ต.อ.ควรมีการประชุมร่วมกัน อย่างน้อย ๓ ครั้ง ในช่วงงานพุทธาภิเษกฯ ปลุกเสกฯ และมหาปวารณา ซึ่งตรงกับความเห็น ของที่ประชุม ต.อ.กลาง โดยมีวัตถุประสงค์ ของการประชุมเพื่อ
๑. ทำความเข้าใจกันในระบบการทำงาน
๒. หารือและพิจารณาข้อตกลงต่างๆร่วมกัน
๓. แก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆร่วมกันอย่างเป็นระบบ
๔. แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง ต.อ.ในระดับต่างๆ

และการประชุมครั้งแรกก็มีขึ้น ในงานพุทธาภิเษกฯปีนี้ (๘ ก.พ.๒๕๔๔) โดยมีพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ เป็นประธาน ในที่ประชุม

พ่อท่านเปิดประชุมโดยให้นโยบายเรื่องความสามัคคี ต.อ. ผู้ผลิต ผู้ค้าขาย เกี่ยวข้องกันหมด ต้องช่วยกัน ผู้ผลิตต้องมี สำนึกเรื่องความสะอาด ในทุกขั้นตอนการผลิต วัตถุดิบขอให้รณรงค์ ซื้อของพวกเรากันเอง และเป็นประเภท ไร้สารพิษ ถ้าไม่มีวัตถุดิบ ก็ให้หยุดผลิต เป็นพ่อค้าปลากะพงที่ซื่อสัตย์ ไม่มีปลากะพง ก็หยุดขาย ผู้จำหน่าย ผู้ผลิต ต้องส่งสินค้า ให้ ต.อ.ตรวจสอบ ต้องจดแจ้งก่อนจำหน่าย และผู้ค้าขาย ขอให้ช่วยติดตาม ดูแหล่งผลิตต้นทางด้วย จากนั้น คณะทำงาน ต.อ.กลาง ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบ การดำเนินงาน และสรุปบทเรียนที่ผ่านมา ต่อจากนั้น ให้ที่ประชุม แจ้งต.อ.ชุมชนชุดใหม่ และสรุปบทเรียน การทำงานของ ต.อ.ชุมชน แต่ละชุมชน ก็สรุปได้ว่า เป็นการเรียนรู้ งานใหม่ ซึ่งกันและกัน และก็ปรับกันไป อย่างมีพัฒนาการ ภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน “ตรวจตนเอง (ต.อ.) เพื่อมวลมนุษยชาติ “

ความเคลื่อนไหว ๓
ต.อ.สัญจรชุมชนภูผาฟ้าน้ำ ชมร.เชียงใหม่ และลานนาอโศก

ไปไกลทั้งทีต้องไปให้คุ้ม สัญจรครั้งนี้ไปตรงกับงานปอยหลวง ๒๐ ปี ภูผาฟ้าน้ำ ลงมา ชมร.เชียงใหม่ และ ไปลานนาอโศก (๑๘-๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔) ต่อจากนั้น ไปเข้าร่วมประชุมพหุภาคี โครงการเศรษฐกิจชุมชน ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (๒๒-๒๓ ก.พ.๔๔)

ชุมชนภูผาฟ้าน้ำ น่าอยู่ สุขภาพกายและจิตดีแน่ เพราะสมบูรณ์ด้วย ๕ อ. อากาศติดแอร์ตลอด (ไม่นับตอนเที่ยงวัน)

ชมร.เชียงใหม่ สถานที่กว้างขวางสะอาด โปร่ง โล่ง เป็นระเบียบ เป็นเหมือนสวนอาหารที่หรูๆ แต่ราคาอาหาร ถูกมาก (จาน ละ ๗-๘ บาท) เข้าหลักของดี ราคาถูก เมื่อเทียบกับ บุคลากรประจำร้าน นับว่าน้อยมาก เพียง ๔ คน แต่มีประสิทธิภาพ ทำอาหาร และดูแลร้าน ที่ใหญ่โตได้เยี่ยม! เหลือเพียงแต่ การเก็บรายละเอียด ในบางที่บางส่วน ซึ่งต้องเสริมกำลัง หรือมีกำลังมาเสริม อีกนิดเดียว ก็จะสมบูรณ์แบบเลยทีเดียว

ลานนาอโศก มีทั้งโรงสี ปลูกข้าว ปลูกเห็ดฟาง ซ่อมเครื่อง ฯลฯ ผู้รับผิดชอบหลักเพียง ๑ คน ก็นับเป็นภารกิจ ที่หนักทีเดียว คงต้องขอแรง มาลงแขกกัน เพื่อให้สถานที่ และสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เอ้า! ฮุยเลฮุย

ต่อจากนี้คณะทำงาน ต.อ. กลาง ๖ ชีวิต ก็ได้รับเชิญ ให้ไปร่วมประชุมพหุภาคี (ภาคเหนือตอนบน) ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจัดขึ้น โดยความร่วมมือ ของหลายหน่วยงาน เช่น อย. สกว. สวทช. SIF พอช. ฯลฯ เพื่อสนับสนุน การพัฒนา ความสามารถ ของชุมชน ท้องถิ่น ด้านผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน งานนี้ได้มีการสำรวจ ความต้องการของชุมชน ว่าต้องการ อะไรมากที่สุด หรืออะไรสำคัญที่สุด ในการทำโครงการดังกล่าว ให้ประสบผลสำเร็จ ผลสรุป ความต้องการ อันดับ ๑ และ ๒ (จาก ๙ อันดับ) คือ คนมีคุณธรรม ขยัน ซื่อ สัตย์ เสียสละ และผู้นำดี เก่งและกว้าง และ เมื่อถึงตอน จัดกลุ่มอภิปราย เพื่อทำความต้องการดังกล่าว ให้ประสบผลสำเร็จทำอย่าง ไร ปรากฏว่า ๒ หัวข้อนี้ ไม่มีใครเลือก จึงจำเป็นที่ทางทีม ต.อ.ต้องรับอาสา ขึ้นอภิปราย ถึงว่าจะสร้างคน จะมีคุณธรรมได้อย่างไร และผู้นำที่ดี เริ่มจากใคร ได้รับการตอบรับ เป็นอย่างดี จึงเห็นได้ว่า คนมีคุณธรรม และผู้นำที่ดี เป็นสิ่งที่สังคม ต้องการมาก แต่เขาทำไม่ได้ เขาสร้างไม่เป็น จึงจำเป็นเหลือเกิน ที่ชาวอโศก จะต้องแบกรับ ภาระหนักนี้ต่อไป จึงขอให้ชาวเรา ตระหนักว่า ผลผลิต (สิ่งผลิต คน จิตวิญญาณ) ที่ออกไปจากพวกเรา มิใช่เป็นเพียงรูปธรรมเท่านั้น แต่มีความหมายลึกซึ้ง ของนามธรรม ที่แฝงอยู่ จึงจำเป็นอีก นั่นแหละ ที่ต้องมี ความประณีต ในการกระทำทั้งปวง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี เอื้อประโยชน์ ให้แก่สังคมต่อไป อย่าให้ประชาชีผิดหวัง ดังโศลกของพ่อท่าน “รวมน้ำใจให้เป็นหนึ่ง ทำที่พึ่งให้สังคม สร้างนาวาบุญนิยม เพื่อกอบกู้มนุษยชน “

ความเคลื่อนไหว ๔
๕ ส.ทีม ต.อ.น้อมรับใช้ชาวบ้านราชฯ

สัญญาต้องเป็นสัญญา....คำมั่นสัญญาที่ทีมงาน ต.อ.(๕ ส.) ให้ไว้กับชาวบ้านราชฯ คราวสัญจร เมื่อเดือนมกราคม ๔๔ ว่า หมู่เฮาจะกลับมาเยือน ร่วมช่วยกันทำงาน ๕ ส. ดังนั้นในวันที่ ๑๔-๑๖ มี.ค.๒๕๔๔ ทีม ต.อ.ระดมพลรวม ๗ ชีวิต ได้แก่ คุณ อาภรณ์ (หัวหน้าทีม ๕ ส.) คุณวรรณรีย์ (อาสาสมัคร ๕ ส.) คุณน้อมนบ (ด้านร้านค้า) คุณน้อมขวัญ (ด้านอาหารแปรรูป, เครื่องสำอาง และเลขานุการ) คุณจรัสเรือง (ด้านธัญพืช) คุณปัทมาวดี (ที่ปรึกษา) และคุณเกร็ดขวัญ (อาสาบันทึกรายงาน) เดินทางมุ่งสู่ บ้านราชฯบ้านเฮา.....

ออกเดินทางโดยรถด่วน กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี จากหัวลำโพงเวลา ๒๑.๐๐ น. ถึงอุบลฯ เวลา ๐๗.๓๐ น. อากาศเช้า สดชื่น ลมพัดกำลังเย็นสบาย รถไฟจอดสงบนิ่ง เทียบชานชาลา คุณจรัสเรือง ยื่นศีรษะออกนอกหน้าต่าง ก็พบกับชายหนุ่ม แต่งกาย ด้วยเสื้อเชิร์ต และ กางเกงสีน้ำเงิน ใบหน้ายิ้มแย้ม จัดแจงรับสัมภาระ ที่พวกเรา หอบหิ้วกัน ลงทางหน้าต่าง และกำลังจะยกของ เคลื่อนย้ายไปที่รถ สมาชิกในกลุ่มถามว่า เป็นญาติธรรมมาจากราชธานีฯ หรือคะ หนุ่มผู้นั้นส่ายศีรษะ บ่ช่าย อ้าว!!!! แล้วกัน ทักทายเจริญธรรมกันเสียดิบดี ไม่ใช่ญาติธรรมบ้านราชฯเสียนี่ จึงขอโทษขอโพยไป

ในที่สุดญาติธรรมของแท้และดั้งเดิม คุณใบลาน ก็มารับ โดยมีคุณรอบคอบ ช่วยเป็นสารถีให้ พาทีมงาน ไปรับประทาน อาหารเช้า ที่อุทยานบุญนิยม คุณใบลานได้คุยให้ฟัง ถึงความไว้วางใจ ที่สังคมมอบให้ กับชาวบ้านราชฯ มีการอบรม โครงการชุมชน กู้วิกฤตชาติ อย่างต่อเนื่อง ภาครัฐให้ความสนใจมาดูงาน ขณะนี้เจ้าหน้าที่ จากสำนักงาน สาธารณสุขจังหวัด ซึ่งรับผิดชอบดูแลงาน เรื่องคุ้มครองผู้บริโภค ได้มาให้ความรู้ คำแนะนำ ที่เป็นประโยชน์ ต่อบ้านราชฯ และให้งบประมาณ ในการทำโครงการ ปลูกพืช สมุนไพร ตลอดจนให้ข้อคิดเห็น ด้านงาน ต.อ.ว่า เห็นดีด้วย ที่เรามีการตรวจสอบ สินค้าของเราเอง ในระดับหนึ่ง เป็นการคุ้มครอง ผู้บริโภคโดยตรง และอยากให้ผลผลิต ของชาวอโศก ได้ขยายก้าวไป จนถึงระดับ ทำการค้า กับต่างประเทศเลยทีเดียว และกำลังขอทุน จากส่วนกลาง มาทำการวิจัย ระบบตรวจสอบของ ต.อ.ด้วย

ถึงบ้านราชฯเวลา ๑๓.๐๐ น. หลังจากเข้าที่พักเรียบร้อยแล้ว ๑๓.๕๐ น. มากราบสมณะ และสิกขมาตุ พบญาติธรรม ชาวบ้านราชฯ ที่ตึกศูนย์สูญ ปรึกษาแผนงาน ที่จะกระทำร่วมกัน ในช่วงเวลา ๓ วัน โดยจะเริ่มบรรยายเรื่อง โครงการ ๕ ส.ให้ผู้เข้าอบรม ชาวบ้านราชฯ เข้าใจความหมาย วัตถุประสงค์ และประโยชน์ของ ๕ ส. ในเวลา ๑๘.๐๐-๒๑.๐๐ น. วันรุ่งขึ้น (๑๕ มี.ค.) จะเป็นวัน ทำความสะอาดครั้งใหญ่ (big cleaning day) ตามฐานต่างๆ ที่กำหนดไว้ โดยจะช่วยกัน ในรูปของการทำงานเป็นกลุ่ม หรือการลงแขก และวันสุดท้าย (๑๖ มี.ค.) จะเป็นการประเมินผลงาน ที่ได้ลงแรงร่วมกัน มีการถ่ายภาพ และบันทึกวิดีโอไว้ ทั้งก่อน และ หลังการลงมือปฏิบัติงาน กิจกรรมครั้งนี้ จัดอยู่ในการอบรม โครงการชุมชนกู้วิกฤตชาติ รุ่นที่ ๓๒ พัฒนาคุณภาพ ด้วยกิจกรรม ๕ ส. โดยชุมชนราชธานีอโศก ร่วมกับ กองทุนเพื่อสังคม (SIF) ถือเป็นกิจกรรมหนึ่ง ของนิสิตทั้ง ๒๕ ท่าน ของบ้านราชฯ ให้คุรุประเมินคะแนนนิสิต ในการปฏิบัติงาน ในส่วนของญาติธรรม จะมีสิกขมาตุ พร้อมทีมงาน ๕ ส. ต.อ.กลางเป็นผู้ประเมิน

หลังจากกำหนดกิจกรรม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิกขมาตุกล้าข้ามฝัน ได้พาทีมงาน ไปสำรวจฐานงานต่างๆ เพื่อพร้อมลงมือ ปฏิบัติงาน ในวันรุ่งขึ้น ฐานงานที่กำหนดไว้ คือ ร้านปันบุญ, โรงสี, โรงแชมพู และ หม่องค้าผง

เวลาประมาณ ๑๘.๓๐ น. เริ่มการอบรม มีญาติธรรมมาร่วมการอบรม ประมาณ ๑๐๐ ท่าน สมณะติกขวีโร เป็นประธาน กล่าวเปิดการอบรม ใจความสำคัญ พอสรุปได้คือ พ่อท่านได้ให้ความสำคัญบ้านราชฯ ว่าเป็นศูนย์อบรม ดังนั้นเรื่อง ๕ ส.จึงเป็น เรื่องสำคัญ จะมองสะท้อน ถึงวิถีชีวิตของพวกเรา ว่าเป็นอย่างไร เราทำอย่างไร เราจะจัดชุมชนของเรา ให้มีระบบระเบียบได้ คิดว่า เป็นโอกาสอันดี นับเป็นโชคดีของเรา ที่มีชาวคณะ ๕ ส. ที่มาจาก กทม. ซึ่งเป็นชาวอโศกเอง ไม่ได้มาติมาชมอย่างเดียว แต่จะมา ช่วยทำด้วย บางคนต้องลางานมา ต้องขอแรงมาช่วย เรามีการอบรม ครั้งนี้แค่ ๒ วันเท่านั้น เสียดาย ที่มีเวลาน้อย

จากนั้นคุณอาภรณ์ได้บรรยายความรู้ในเรื่อง ๕ ส. โดยฉายแผ่นใสประกอบ ได้รับความสนใจ จากชาวชุมชน บ้านราชฯ เป็นอย่างดี จนถึงเวลาประมาณ ๒๐.๕๐ น. จึงจบการบรรยาย แยกย้ายกันไปพักผ่อน

รุ่งอรุณวันที่ ๑๕ มี.ค.๔๔ ๐๕.๐๐ น. ได้เวลานัดหมายทุกคนมาพร้อมกัน ที่ตึกศูนย์สูญ กำหนดสถานที่ปฏิบัติงาน และ ผู้อาสาปฏิบัติงาน ภาคเช้าทำที่โรงสี และฐานแชมพู โดยมีผู้กล้าอาสาสมัคร ประมาณ ๔๓ คน (ผู้แข็งแรง ใจสู้ รู้งาน) และ อาสาสมัคร ต่างประเทศอีก ๙ คน รวมทั้งหมดประมาณ ๕๐ กว่าคนแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มที่โรงสีมากหน่อย เพราะพื้นที่กว้าง อีกกลุ่มทำที่ฐาน แชมพู ในภาคบ่าย เก็บรายละเอียด ของสถานที่ในภาคเช้า และ แบ่งกำลังส่วนใหญ่ ไปช่วยกัน ที่ร้านปันบุญ หม่องค้าผง และฐาน ขยะ กิจกรรมที่ร่วมทำกันวันนี้ ยึดหลัก ๓ ตัวแรก ของ ๕ ส.คือ สะสาง สะดวก และ สะอาด

ชาวบ้านราชฯมีเสน่ห์ที่อ่อนน้อม ถ่อมตน เปิดใจรับสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ เพื่อนำมาพัฒนา ปรับปรุงตนเอง และสิ่งแวดล้อม ให้ดียิ่งๆขึ้น จากการพูดคุยกัน ส่วนใหญ่ขานรับที่จะนำ ๕ ส.มาใช้ ในชีวิตประจำวัน สร้างนิสัยตนเองใหม่ ที่ยังไม่ได้ทำ ก็เพราะไม่มีผู้ชี้นำ ว่าควรจะเริ่มต้น ในรูปแบบใด แต่จากการที่ได้ฟัง การบรรยายเรื่อง ๕ ส. และได้ลงมือปฏิบัติ ด้วยตนเองแล้ว เกิดความตื่นตัวที่ จะนำ ๕ ส.มาปรับใช้ ในชีวิตประจำวัน

สรุปงานวันนี้ ทุกฐานที่ทำ ๕ ส.แล้ว เรียบร้อยสวยงามตาขึ้น อย่างเห็นได้ชัด (แต่ยังต้อง เก็บรายละเอียดอีก ซึ่งต้องอาศัย การร่วมแรง ร่วมใจ ทำงานเป็นทีมกันอีก เป็นระยะๆ) ได้ฟืนกองโต ขยะกองใหญ่ และ ของที่ต้องคัดแยก อีกกองมหึมา หลังจากเสร็จงาน แยกย้ายกันกลับเข้าที่พัก หลับไปด้วยความอ่อนเพลีย แต่สุขใจ เตรียมตัวสู้กับงานอีก ในวันต่อไป

วันที่ ๑๖ มี.ค.๒๕๔๔ เสียง(เท็ป)พ่อท่านมาปลุกข้างหู ต้องรีบตื่นไปรวมพล กันที่ตึกศูนย์สูญ เวลา ๐๕.๐๐ น. เช้านี้เป็น การสรุปบทเรียน ที่ได้ลงมือปฏิบัติ และประเมินผลการปฏิบัติงาน มีของแถมพิเศษ คือ มอบแบบฝึกหัด ให้นักรบบ้านราชฯ ทำกิจกรรม ๕ ส.แสดงฝีมือ ในการจัดการ อาคารศูนย์สูญชั้น ๑ ให้ดูดี ฝึกมองปัญหา ว่าตรงไหนรก ตรงไหนไม่มีระเบียบ จะจัดการอย่างไร ทำเสร็จให้ ต.อ.ชุมชนประเมินเอง ในส่วนของการสรุปบทเรียน ที่ตัวแทนทีมงาน และ ตัวแทนชาวบ้านราชฯ ได้เปิดใจ พูดคุยกัน พอสรุปรายละเอียดได้ ดังนี้

เก็บเล็กผสมน้อยจากทีมงานฝากบ้านราชฯ
-อุปสรรคของ ๕ ส.คือ เสียดาย เก็บไว้ก่อน เลยออกมาเป็นสมบัติมหึมา ในแต่ละฐาน (บ้าน) ควรถามตัวเองตลอด ใช่ไหม ไม่ใช่ทิ้งไป ให้คนอื่นไป ขายไป แล้วแต่เหมาะสม

-สัญลักษณ์อันหนึ่งของชาวอโศก คือ ชอบมีไม้กวาดหน้าบ้าน แอบหน่อยได้ไหม? และชอบห้อย โยง แปะ พิง หน้าบ้าน ควรโล่ง สะอาด จัดวางสิ่งใด ให้นึกถึงความสวยงาม ความมีระเบียบ ความสะดวกปลอดภัย

-สินค้าในร้านปันบุญ ขอให้สนับสนุน และจำหน่ายสินค้า ที่ผลิตได้ในชุมชน สินค้าบางชนิดในร้าน เช่น ผงซักฟอก จากข้างนอก ไม่ควรจำหน่าย ส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในชุมชน เพื่อเป็นการช่วยลดมลพิษ และสารเคมี ที่เป็นอันตราย ต่อสภาพแวดล้อม รวมถึง การรณรงค์ชาวบ้านราชฯ ให้หลีกเลี่ยง การใช้สารเคมี เพื่อให้สอดคล้อง กับชีวิตที่ดำเนินอยู่ ของพวกเรา และขอฝาก เรื่องการพัฒนา น้ำหมักชีวภาพ ให้มาทดแทนสารเคมี โดยเฉพาะ ในส่วนของแชมพูไว้ด้วย

-จากการไปปฏิบัติงานที่ฐานแชมพู พบสารเคมี ที่ซื้อเกินปริมาณมาก ดังนั้น ในการจัดซื้อวัตถุดิบ สารเคมีคราวต่อไป ควรมีการประสานงาน กับฝ่ายจัดซื้อ เพื่อป้องกัน การสูญเสีย สิ้นเปลือง

-สถานที่ต่างๆที่ไปปฏิบัติงาน ยังมีงานที่จะต้องช่วยกันเอาภาระต่อ ขอให้ชาวบ้านราชฯ ร่วมแรงร่วมใจกัน ดูแลต่อ ช่วยกัน ทำงานเป็นทีม (ลงแขก) อย่างสม่ำเสมอ ช่วยพัฒนารูปแบบ ให้ดียิ่งๆขึ้น

-ตามอาคารสถานที่ต่างๆ ขอให้ติดป้าย ประชาสัมพันธ์ต่อเติมให้เรียบร้อย เพื่อความชัดเจน กระจ่าง ของผู้ปฏิบัติงาน และ ผู้มาดูงาน

-ขอฝากให้มีการจัดการทำสมุดทะเบียน ในแต่ละฐานงาน ในส่วนของอุปกรณ์เครื่องใช้ ทรัพย์สินในฐานต่างๆ เพื่อ ประโยชน์ และความสะดวก ในการปฏิบัติงาน สืบต่อกัน จัดทำบัญชี รายการสิ่งของต่างๆ หากมีข้อสงสัย ประการใด ขอให้สอบถาม มาได้ที่ ต.อ.กลาง

-สำหรับสิ่งของที่ได้จัดการนำออกจากฐานต่างๆนั้น ควรมีผู้คัดกรองสิ่งของ เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ ให้มากที่สุด ก่อนที่จะนำไป สู่การจำหน่าย ในรูปของขยะต่อไป

-๕ ส.ไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือเรื่องใหม่ เพราะเป็นสิ่งที่อยู่กับตัวเรามาตลอด ตั้งแต่บรรพบุรุษของเรา ได้อบรม สั่งสอนมาแล้ว หากเราสร้างนิสัย "ทำทุกวัน-เก็บทุกวัน" จะช่วยลดแรงงาน และความเหน็ดเหนื่อย ในการที่จะต้อง ทำความสะอาด คราวละมากๆได้ ทำให้เป็นธรรมชาตินิสัย จะช่วยให้ทำงานสบาย และมีความสุข

-ขอให้ชาวบ้านราชฯจัดตั้ง “คณะกรรมการดำเนินงาน ๕ ส.” ขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานด้าน ๕ ส. เป็นไป อย่างต่อเนื่อง และ ชาวบ้านราชฯ ได้มีส่วนร่วม ในการดำเนินงานร่วมกัน โดยมีสมณะ และสิกขมาตุ เป็นที่ปรึกษาชี้แนะ

-ก่อนการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะในส่วนที่ต้องอาศัยแรงงานชาวบ้านราชฯ ขอให้มีการวางแผนงาน ให้ชัดเจน เพื่อให้การ ทำงานรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ทุกคนเป็นบุคลากร ที่มีคุณค่า ป้องกันการใช้ แรงงานซ้ำซ้อน ช่วยกันถนอมสุขภาพ และแรงงาน ของแต่ละบุคคลไว้ อย่าให้สูญเปล่า และเสียเวลา

ต.อ.กลางได้สุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร จากอุทยานบุญนิยม ได้แก่ เมี่ยงญวน แตงกวา ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว คึ่นช่าย มะพร้าวขูดใส่ขนม เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำว่านหางจระเข้ ภาชนะใส่อาหาร ได้แก่ ช้อน จานและมีด ตลอดจน สิ่งที่อาจปนเปื้อน ตามนิ้วมือ ของผู้ประกอบอาหาร ผลปรากฏว่า ควรเพิ่มความระมัดระวัง ในการล้างผักสด ชนิดต่างๆ ให้มากขึ้น เนื่องจาก ปุ๋ยที่ใช้รดผัก อาจเป็นปุ๋ยหมัก หากเราไม่พิถีพิถัน ในการล้างผัก ให้สะอาด เมื่อรับประทานผักนั้น อาจจะได้รับเชื้อต่างๆ เข้าสู่ร่างกายได้ ในโอกาสนี้ทีมงาน ต.อ.กลาง ได้มอบเครื่องมือ ชุดทดสอบ ความสะอาดของอาหาร และภาชนะอุปกรณ์ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ จากกองสุขาภิบาลอาหาร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จำนวน ๑ ชุด ไว้ให้บ้านราชฯ เพื่อใช้ประโยชน์ ในโอกาสต่อไป

ตัวแทนบ้านราชฯเปิดใจต่อทีมงาน
-จะขจัดสิ่งที่เกินความจำเป็นในชีวิต โดยเฉพาะสารเคมี และสิ่งมีพิษต่างๆ จะให้ความสำคัญ ต่อน้ำหมักชีวภาพ เพิ่มมากขึ้น

-ได้เห็นแบบอย่างการทำงาน ความเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจมากขึ้น

-ลดอัตตามานะตนเอง มีความคุ้นเคยเป็นกันเองกับบุคคล และสถานที่มากขึ้น (บางท่าน อยู่บ้านราชฯ มานาน ไม่เคยไปช่วย ดูแลฐานอื่นเลย) ละลายความรู้สึก ที่ไม่ใช่บ้านเรา ต่อไปนี้ ทุกแห่งในบ้านราชฯ คือ บ้านของเรา ต้องช่วยกันเก็บรักษา ให้มีระเบียบ สะอาด ขอให้มาบ่อยๆ ได้ฝึกฝืนทำงาน ขัดใจตนเอง ต่อไปจะขยันขึ้น

-ได้รับความรู้เต็มที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และนำไปเข้าหลักสูตร อบรมผู้ที่มารับการอบรมที่นี่ ได้เป็นอย่างดี จะกลับไปทำ สมุดทะเบียน อุปกรณ์เครื่องใช้ เพราะเห็นเป็นความสำคัญ

-เห็นความสำคัญของการประสานงาน โดยเฉพาะในเรื่องของ การจัดซื้อวัตถุดิบ ต้องให้เกิด ความรอบคอบมากขึ้น

-จะนำความรู้กลับไปใช้ โดยเฉพาะในเรื่องของการสะสาง จะเริ่มทำให้เร็วที่สุด ทำทันที

-ได้ดูตนเอง แก้ไขปรับปรุงในจุดที่บกพร่อง

สรุปการประเมินจากคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วย สม.หยาดพลี สม.ต้นข้าว และทีม ต.อ.กลาง ได้ให้คะแนน แต่ละฐาน ใกล้เคียงกัน โดยประเมินจากการที่รู้จัก สะสางสิ่งของ เมื่อสะสางแล้ว มีการจัดเก็บ ที่สะดวกหรือไม่ มีการทำความสะอาดเกิดขึ้น หรือไม่ และเมื่อดำเนินการจัด ๓ ส. คือ สะสาง สะดวก สะอาดแล้ว เกิดสุขลักษณะ ที่ดีขึ้นหรือไม่ ตลอดจน มีการสร้างนิสัย แสดงนิสัยการทำงาน ที่ดีหรือไม่ รายละเอียดต่างๆของ ๕ ส. จะไม่ขอกล่าว ในที่นี้ เพราะได้บรรยายแล้ว หากมีผู้สนใจเพิ่มเติม สอบถาม มาได้ที่ ต.อ.กลาง หรือติดตามอ่านได้ ในหนังสือ สารอโศก ฉบับ พุทธาฯกู้ดินฟ้า

เรามีพันธะสัญญาต่อกันว่า อีก ๒ เดือน ๕ ส.ของทีม ต.อ.กลาง จะมาพบบ้านราชฯ ยุคใหม่ ในรูปแบบ ที่ได้พัฒนายิ่งขึ้น ให้สมกับ เป็นแหล่งฝึกอบรม ที่พัฒนาคน ทั้งด้านกาย และจิตวิญญาณ เป็นแบบอย่างที่ดี กับผู้ที่เข้ามาสัมผัส เป็นแม่แบบที่ดี ให้กับผู้เข้ารับ การอบรม

เราเป็นครอบครัวใหญ่ ทำสิ่งใดพลาดพลั้งไป กระทบกระเทือนกันถ้วนทั่ว ทำสิ่งใดที่เป็นมงคล ก็ได้รับเสียงสรรเสริญ เลื่องลือ ไปไกล ในการปฏิบัติงาน ๕ ส. ครั้งนี้ทีมงาน ขอน้อมกราบคารวะ สมณะและสิกขมาตุทุกรูป ที่ให้ความอบอุ่น เมตตา กับทีมงาน และ ขอขอบพระคุณ พ่อแม่พี่น้อง ชาวบ้านราชฯ ทุกท่านที่ได้ร่วมแรง ร่วมใจ สามัคคีกัน เป็นหนึ่งเดียว ทำให้งานสำเร็จลุล่วงด้วยดี ต.อ. อบอุ่นกับการต้อนรับ ของชาวบ้านราชฯ อย่างยิ่ง และถ้ามีสิ่งใดที่ทีม ต.อ. พลั้งเผลอพูด หรือกระทำการใดๆ ไม่เป็นที่ชื่นชอบบ้าง ทีมงานทุกคน ขอน้อมรับคำตำหนิ และ กราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย ดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า กระทำการใดๆ ก็ด้วยใจที่บริสุทธิ์ ปรารถนาดี ต่อพี่น้อง ร่วมพ่อเดียวกัน ทุกสิ่งที่ทำ เพื่อสนองคำ ของพ่อที่ว่า “อย่าให้รกเกรอะกรัง อย่าจมฝังอยู่ในรู แต่จงรู้กรรมและ กาละอันควร “

จริงใจ-ไมตรี
ต.อ.กลาง

 

(สารอโศก อันดับ ๒๓๔ มีนาคม ๒๕๔๔ หน้า ๔๕ - ๕๓ เปิดหน้าต่าง ต.อ. )