บันทึกจากปัจฉาสมณะ ม ก ร า ค ม ๒ ๕ ๔ ๔
คนจริง ทำจริง
เป็นแล้วจริง ๑

หนังสือพิมพ์สารอโศก
อันดับที่ 234 มีนาคม 2544
หน้า 1/2

พิสูจน์... สัจจะ ของอกาลิโก
“...ชาวอโศกเป็นกลุ่มบุคคลที่มีรูปแบบ วัฒนธรรม การดำเนินชีวิต มีสาธารณโภคี ในระดับฆราวาสอย่างนี้ ในหมื่นปีที่แล้ว ก็ยังไม่มีอย่างนี้ แม้ในยุคพระพุทธเจ้าเอง ก็มีสาธารณโภคีได้ ในหมู่สงฆ์เท่านั้น...
ความจริงนั้นมีน้ำหนักเปรียบได้กับปรอท ส่วนความไม่จริงนั้น มีน้ำหนัก เปรียบได้ กับโฟม แม้ก้อนใหญ่ ปริมาณจำนวน มากกว่า ความจริงก็ไร้น้ำหนัก ความจริงแม้น้อย จึงมีฤทธิ์มีแรง แบกหามคานสู้ กับโลกีย์ได้...”
จากบางส่วน ที่พ่อท่านแสดงธรรม ทำวัตรเช้า ๑ ม.ค.๒๕๔๔ ที่ราชธานีอโศก

งานปีใหม่ชาวอโศกนับพัน ร่วมกันเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ขายสินค้าแบบขาดทุน (กำไรอาริยะ) ให้กับชาวบ้าน หลายหมื่น ทั้งๆที่ ชาวอโศกส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนร่ำรวย

“ ...งานปีใหม่เป็นงานสอบไล่ของชาวอโศกว่า เราเสียสละจริงหรือไม่ ผู้ที่สอบได้ คือผู้ที่มาเสียสละ ไม่ว่าจะเป็นแรงกาย -แรง ใจ -แรงเงิน เป็นงานที่พิสูจน์น้ำมือ น้ำใจของทุกๆคน ส่วนผู้ที่สอบตก คือผู้ที่มาเห็นแก่ตัว มาเสพย์...” พ่อท่านกล่าว ในช่วงทำวัตร เช้า ๓๐ ธ.ค. ๒๕๔๓ ที่ราชธานีอโศก

“...หลายคนที่มา เพียงแค่เสียค่ารถมา แต่ไม่ได้เกิดการประสาน เกิดการรู้ร่วม เกิดความเกื้อกูล สร้างสรร แบ่งปัน เสียสละ...” พ่อท่านกล่าวในช่วงทำวัตรเช้า ๒ ม.ค. ๒๕๔๔ ที่ราชธานีอโศก

มักจะมีคำถามอยู่บ่อยๆว่า แต่ละปี ชาวอโศกใช้จ่ายเงิน กับการจัดงานปีใหม่ ตลาดอาริยะ เป็นจำนวนเท่าใด

“งานปีใหม่นี้ ถ้าจะคิดเป็นตัวเงินจริงๆ เฉพาะแค่ค่าน้ำมันรถขนสินค้า รถยกปรับพื้นที่ต่างๆ คงหลายแสน...” พ่อท่าน กล่าวช่วงทำวัตรเช้า ๒ ม.ค. ๒๕๔๔

“ยอดเงินลงทุนซื้อสินค้าในงานตลาดอาริยะทั้งหมด ๑๒ ล้านบาท กำไรอาริยะ หรือขาดทุนทั้งหมด ๔ ล้านบาทเศษ...” เป็นข้อมูล จากการประชุม ชุมชนสันตินาคร ๒๗ ม.ค. ๒๕๔๔ ที่สันติอโศก

๓ ม.ค. ๒๕๔๔ ที่ราชธานีอโศก ทำวัตรเช้า มีการประชุม สรุปงานปีใหม่ พ่อท่านไปร่วมเสริมในช่วงท้าย โดยที่ได้ฟังการบอก เล่าสรุปมาตั้งแต่ต้น เช่นกัน

“สินค้าที่เรานำมาขายเป็นสินค้าที่มีสาระ หม้อ กะละมัง กระติบ น้ำตาล เกลือ ฯลฯ เป็นสินค้าจำเป็นกับชีวิตเขา เขาซื้อไป แล้ว เขาใช้ได้ทั้งปี ซึ่งแน่นอน พวกไฮโซ ไม่มาทนเข้าคิว ตากแดด ทนร้อน เพื่อซื้อสินค้าอย่างนี้แน่ๆ เวทีชาวบ้าน ที่เริ่มมีปีนี้ก็ดูดี เป็นอะไรเล็กๆน้อยๆ เพื่อคนยากคนจน มีคำพูดจากชาวบ้าน ที่พูดกับพวกเรา อย่างศรัทธา ชมชื่นว่า ที่พวกเราทำอย่างนี้ เขาพอใจ เขาศรัทธา ถึงขั้น ถ้าพวกเราจะให้เขาทำอะไร ก็ขอให้บอก การเลือกตั้ง ส.ส. เราจะเลือกใคร เขาก็จะเลือกตามด้วย อันนี้เป็น จิตวิทยาสังคมที่ดี งานนี้แม้เรา จะต้องขาดทุน ลงทุนไป ๒ ล้าน ก็ยังคุ้มเลย ผลทางจิตวิญญาณ ที่มันเกิดขึ้นแล้ว คนมีปัญญาสัมผัส แล้วจะเห็นได้ว่า พวกเราไม่ได้จัดงาน เพื่อกอบโกย เอาเปรียบ ประชาชน เราเหน็ดเหนื่อย เราเสียสละ ชาวบ้านที่ได้มาพบเห็น เขาจะรู้เอง ตามสัจจะ... “

ปราชญ์ของเมืองอุบลฯ
๔ ม.ค. ๒๕๔๔ ที่ราชธานีอโศก ในเวลาเย็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนายรุ่งฤทธิ์ มกรพงศ์ และคณะข้าราชการ นักเรียน ชมรม จักรยาน ขี่จักรยานจากบริเวณหาดสวนยา เลียบแม่น้ำมูลมาบ้านราชฯ ชาวบ้านราชฯ ขี่จักรยานไปรอรับอยู่ที่โรงสี แล้วขี่ตามมา ด้วยกันที่เฮือนศูนย์สูญ

ฝ่ายต้อนรับจัดเก้าอี้ แยกเป็น ๒ ฝั่ง ด้านหนึ่งพ่อท่านและสมณะ อีกด้านหนึ่งเป็นของผู้ว่าฯ และคณะจักรยาน พ่อท่านและ ท่านผู้ว่าฯ นั่งเป็นหัวขบวน ของแต่ละฝ่าย สมณะนั่งอยู่แถวหลังพ่อท่าน เป็นแถวตอน อย่างมีระเบียบ ส่วนคณะจักรยาน ซึ่งเป็นข้าราชการ นั่งอยู่แถวหลังท่านผู้ว่าฯ เป็นแถวตอนเช่นกัน ข้าพเจ้ารู้สึกว่า การจัดที่นั่งอย่างนี้ ดูมันแข็งๆ ไม่ใช่ลักษณะกันเอง ทำให้เกิด บรรยากาศเกร็งๆต่อกัน ภาพดูคล้ายๆ การเจรจายุติศึก สงครามมากกว่า ถ้าจะให้ดูดี การจัดวางเก้าอี้ ระหว่างพ่อท่าน และท่านผู้ว่าฯ ไม่น่าจะห่างขนาดนั้น (ประมาณ ๕ เมตร) แล้วเก้าอี้ของสมณะ และคณะติดตามท่านผู้ว่าฯ ก็ไม่น่าจะจัดเป็นแถวตอนอย่างนั้น น่าจะจัดวาง กระจายล้อม คละๆ กันสูงๆ ต่ำๆ จะทำให้บรรยากาศ ดูกันเองมากกว่า

หลังจากที่พ่อท่านกล่าวคำยินดีต้อนรับ และเชิญตามสบาย ก็ดูจะผ่อนคลายขึ้น ดูพ่อท่านก็พยายาม ให้เป็นกันเอง มากขึ้น ด้วยการเชื้อเชิญ ให้เดินไปคุยกันไป แต่จะด้วยเหตุผลใด ก็เหลือที่จะเดาได้ถูก ท่านผู้ว่าฯและคณะ จึงยังคงนั่งอยู่ ในที่จัดเตรียมไว้ให้ อาจจะเป็นเพราะเมื่อย ยังอยากจะนั่งพัก หรือเกรงใจพ่อท่าน ไม่อยากรบกวน ให้พ่อท่าน ต้องเดินพาชม หรืออาจจะตั้งใจ มานั่งคุย ไม่ทันคิดถึงคำเชื้อเชิญ เดินคุยกันไป หรือ อาจจะมีเหตุผลอื่นๆ ก็ยากที่จะเดา

“ตอนที่ผมมางานปีใหม่นี่นะครับ ก็เห็นว่าเป็นบรรยากาศ ที่น่าสนใจมากครับ ถ้าหากว่า บรรดาผู้คนต่างๆ ในบ้านเมืองนี้ ได้มาเห็น ผมว่าคนจะเปลี่ยนนิสัย จากความฟุ้งเฟ้อ มาอยู่ง่ายๆอย่างนี้ เพิ่มมากขึ้น ผมว่าแนวทางอย่างนี้ น่าจะเป็นแนวทาง สร้างสรรค์ ให้กับบ้านเมือง ในภาวะวิกฤต อย่างนี้นะครับ ตอนนี้ทุกจังหวัด พยายามทำนะครับ เอาแนวความคิด ของพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ โครงการนี้ ค่อยๆไป อย่างช้าๆ วันหลัง จะต้องให้บรรดาพี่น้อง ที่เราไปส่งเสริมอาชีพ ได้มาเห็น ที่ราชธานีอโศก ว่าแบบอย่าง ที่ทำแล้ว ประสบความสำเร็จ มีอย่างไรบ้าง...” ท่านผู้ว่าฯรุ่งฤทธิ์กล่าว

ดูเหมือนพ่อท่านจะช่วงชิงเวลา พูดอธิบายยาวในลักษณะสอน มากกว่าสนทนาแลกเปลี่ยน กับท่านผู้ว่าฯ เริ่มตั้งแต่เรื่อง การส่งเสริมอาชีพ ก็ควรจะให้ความรู้ ชาวไร่ชาวนา ไม่ให้เป็นทาส อบายมุข การพนัน กีฬา ระวัง การเป็นทาสนายทุน แล้วก็โยงมาถึง สิ่งที่พ่อท่าน พาทำชุมชน อยู่กันอย่างพี่อย่างน้อง ช่วยกันทำงาน มีรายได้รวมส่วนกลาง พึ่งเกิด แก่ เจ็บ ตาย กันได้ น้ำท่วมก็เอื้อเฟื้อ แบ่งปันกันในหมู่ได้ น้ำลดก็ปลูกพืชปลูกผัก เขาเข้าใจชัดเจนแล้ว ว่าไปเอาเปรียบ ไม่ใช่ความดี เสียสละต่างหาก เป็นกุศล เขาจึงกล้าที่จะเลิก ไม่ล่าลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข มาสร้างสรร เสียสละ จึงกล้าทำงานฟรีกัน...

ข้าพเจ้าฟังไปก็คิดไป ถามตนเองว่า เอ! ถ้าเป็นเรา จะกล้าพูดเช่นนี้ กับท่านผู้ว่าฯ ไหมเนี่ย ได้คำตอบว่า ไม่กล้าหรอก เกรงท่านผู้ว่า จะขัดเคืองใจ ด้วยพ่อท่าน พูดเสียงดัง เหมือนดุ เหมือนว่า ท่านผู้ว่าฯ และคณะ ข้าพเจ้าเหลือบดู ข้าราชการหลายคน นั่งก้มหน้าลง ขณะที่ท่านผู้ว่าฯ ดูปกติ ยังนั่งฟังอย่างตั้งใจ

สุดท้ายก่อนจบการสนทนาที่เป็นกิจจะลักษณะ ท่านผู้ว่าฯ กล่าวกับพ่อท่าน “...สิ่งที่พ่อท่านพูดถึงเรื่องของปัญญานี่แหละ ครับ ตอนนี้ที่อุบลฯ เราก็คิดกันอยู่ว่า อุบลฯเป็นเมืองนักปราชญ์ มาตั้งแต่โบราณ จริงๆมีแต่ชื่อ แล้วมาคิดกันว่า จะทำอย่างไร ให้เมืองนี้ เป็นเมืองนักปราชญ์ อีกรอบหนึ่ง ได้มีสัมมนา ที่ราชภัฏฯ ก็วางแผนว่า จะสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น ในเด็กเยาวชน ด้วยการที่จะให้ แต่ละฝ่าย ตั้งแต่พ่อแม่ ครูในโรงเรียน อาจารย์ ในสถาบันการศึกษา รวมถึงชุมชน ต้องช่วยกันที่ จะสอนปัญญา ให้เด็กได้ สามารถเอาความรู้มาใช้ ให้เหมาะสม กับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง เพราะถือว่า ถ้ามีปัญญาแล้วนี่ คงสามารถแก้ปัญหา ได้ทุกเรื่อง
อย่างพ่อท่าน ซึ่งถือว่าเป็นปราชญ์องค์หนึ่ง ในเมืองอุบลฯนี่ ก็คงจะสามารถ ที่จะช่วยให้แนวคิด ที่จะทำให้เมืองอุบลฯ ได้กลับมาเป็นนักปราชญ์ อีกรอบหนึ่งครับ “

กระแสการยอมรับ
๗ ม.ค. ๒๕๔๔ ที่สันติอโศก ครูฟังฝน จังคศิริ ครูใหญ่ ร.ร.สัมมาสิกขาสันติอโศก บอกเล่าว่า ทางกระทรวง ศึกษาธิการ มีหนังสือแจ้งมาว่า ปลายภาคเรียนนี้ ให้ทางโรงเรียน ทำแบบรายงาน คุณลักษณะพิเศษ เพิ่มเติม จากแบบรายงาน ผลการเรียน กับนักเรียนที่ จะจบม.ปลาย โดยอธิบายคุณลักษณะพิเศษ แยกเป็นหน้าที่พิเศษ ความสามารถพิเศษ และ พฤติกรรมดีเด่น ซึ่ง ร.ร.สัมมาสิกขาของเรา ทำมาก่อนแล้ว คือให้คะแนนศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา โดยครอบคลุม เนื้อหา คำอธิบายความหมาย ของคุณลักษณะ พิเศษ ที่กระทรวงศึกษาฯ อธิบายไว้ทั้งหมด ยิ่งเรื่อง ความสามารถ พิเศษนั้น ฐานงานต่างๆของเรา มีหลากหลาย มากกว่าที่กระทรวง ศึกษาฯ อธิบายไว้

๘ ม.ค. ๒๕๔๔ ที่ปฐมอโศก การประชุม ชุมชนปฐมอโศก พ่อท่านได้รับรายงานว่า กองทุน SIF ขอให้ทางปฐมอโศก เป็น สถานที่อบรม หน่วยงาน และชุมชนต่างๆ เกี่ยวกับเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง

ข่าวอธิบดีกรมสุขภาพจิต ติดต่อขอพบพ่อท่าน หลังจากได้อ่านหนังสือ EQ โลกุตระ

ในที่ประชุมเตรียมงาน โครงการวิถีไท ซึ่งจะจัดที่สวนลุมพินี ต้นเดือนมีนาคม ได้มีผู้เสนอ ให้ติดต่อสันติอโศก มาจัดร้าน ขายอาหาร ๔ ภาค ไม่มีเสียงใดคัดค้าน

ข่าวแจ้งอีกข่าวหนึ่ง สมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ จะได้ไปออกอากาศ จัดงานที่กรมประชาสัมพันธ์

จากบางส่วนที่พ่อท่านให้โอวาทปิดประชุมชุมชนปฐมอโศก
“...สังคมยอมรับเรามากขึ้น นี่เป็นตัวบอกสัญญาณว่า เราจะต้องรับงานหนัก เราต้องเตรียมตัว ต้องแข็งแรง และก็เป็น โอกาสดีที่เราจะไม่เฉื่อยและเผิน ไม่อยู่แต่ในภพ ยุคนี้บทบาทของกิจกรรม ๒ อย่าง คือ การเมือง และเศรษฐกิจ มีผลแรงมากต่อสังคม ทางด้านเศรษฐกิจ ถือว่าชาวอโศก เราประสบผลสำเร็จ เดี๋ยวนี้ สังคมก็ต้องหันมา ทำเศรษฐกิจพอเพียง ต่อไป ถ้าพลังทางการเมืองของเรา เป็นที่ยอมรับ เหมือนด้านเศรษฐกิจ อย่างที่เราเป็น ก็จะเกิดผลที่ดี ต่อสังคม จนเห็นผลได้ ถ้าเรามีเนื้อหา ทางเศรษฐกิจได้ดี ทางการเมือง ก็จะดีขึ้นตามมา เศรษฐกิจ คือ การควบคุม ดูแล จัดการ ในเรื่องความเป็นอยู่ของคน ให้ได้สัดส่วนที่ดี เศรษฐกิจเรา ไม่ทำอย่างที่เขาทำกัน แต่ก็ได้รับ การยอมรับ การเมืองก็เช่นกัน เราไม่ทำอย่างที่เขาทำกัน อาตมาว่า ทางด้านเศรษฐกิจ พวกเราประสบ ผลความสำเร็จ พอสมควร เหลืออยู่แต่ เราจะพัฒนาให้มีบูรณาการ ที่ดีขึ้น ส่วนการเมืองนั้น เราเพิ่งเริ่มต้น ตอนนี้อาตมาก็ค่อยๆ บอกเรื่อง การเมืองอาริยะไปเรื่อยๆ งานปีใหม่ตลาดอาริยะ เราได้ช่วยคนจนจริงๆ หลายคนที่มา เขาเชื่อเรา ว่าเรานำดี ทำดี เราซื่อสัตย์ เราจริงใจกับเขา เราช่วยเขา ความจริงอันนี้ จะชนะทุกอย่าง... “

๑๒ ม.ค. ๒๕๔๔ ที่สันติอโศก คณะผู้สื่อข่าว น.ส.พ.อาทิตย์รายวัน, รายสัปดาห์ และนิตยสารร่วมด้วยช่วยกัน ๓ คน ได้มาสนทนา กับพ่อท่าน บอกเล่าเจตนารมณ์การทำสื่อ เพื่อให้ประชาชน ได้ศึกษาเรียนรู้ เรื่องศาสนา ในหลากหลายกลุ่ม การปฏิบัติด้วย นอกไปจาก เรื่องการเมือง รวมทั้งได้ปวารณา กับพ่อท่านว่า หากพ่อท่าน มีบทความ หรือผลงานใด ที่ต้องการเผยแพร่ ทางอินเตอร์เน็ต ในเว็บไซด์ ก็ยินดี เพราะได้ทำกับทุกกลุ่ม การปฏิบัติอยู่แล้ว

พ่อท่านไม่ได้ตอบรับ หรือปฏิเสธทันที มุ่งอธิบายธรรมะ เรื่องกรรม สมาธิ ฌาน

“...แนวทางของชุมชนอโศกนี้นะครับ ไปตรงกับของเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระเจ้าอยู่หัวตรัสไว้ จริงๆชุมชนอโศก น่าจะเป็น ชุมชนตัวอย่าง ซึ่งเผยแพร่ออกไป ว่านี่คือรูปธรรม ที่ทำได้จริงนะครับ...” ผู้สื่อข่าวกล่าวด้วยความชื่นชม

เมื่อมีท่าทีศึกษาสนใจที่ดีอย่างนี้ พ่อท่านก็พร้อมที่จะให้ความรู้ ให้แนวคิดให้มากที่สุด จึงได้อธิบาย คุณค่าประโยชน์จาก การได้เสียสละ ทั้งแรงงาน ความรู้ ความสามารถ และเสียสละวัตถุ และที่ไม่เคยพลาดก็คือ ทฤษฎี กำไรขาดทุน ของอาริยะ

“ ...ผมจะชื่นชมความเป็นกบฏ สิ่งที่หลวงพ่อได้ทำ กบฏในความหมายผมก็คือว่า ใครก็ตามแต่ ที่ค้นพบความจริง ที่แตกต่าง กับสิ่งที่เล่าว่ากันมา ความเชื่อแต่ดั้งเดิม...” ผอ. สนธิญาณ หนูแก้ว กล่าว

“อาตมาไม่ได้ตั้งใจ จะเป็นกบฏเลยนะ ไม่ได้คิดจะเป็น แต่มันเข้าใจอย่างนี้จริงๆ มันเห็นความจริง อย่างนี้ ซึ่งมันไปแตกต่าง ไปขัดแย้งกับ กระแสหลักเขาเอง จะบอกว่า เราไปต่อต้านกระแสหลัก ไปล้มล้างกระแสหลัก ก็ไม่ใช่ ก็เราเห็นอย่างนี้จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจ กบฏ อาตมาก็ได้แต่ทำงานไป เพื่อที่ให้เกิดผล พิสูจน์ทฤษฎีนี้ ทำมา ๓๐ ปี ก็เกิดกลุ่ม เกิดเป็นชุมชน เป็นสังคมกลุ่มอย่างนี้ ที่มี เศรษฐกิจ รัฐกิจ สังคมกิจ การศึกษา และวัฒนธรรม ที่ทวนกระแส ทุนนิยม เสรีด้วย เป็นเหมือนน้ำหยดหนึ่ง ในมหาสมุทร อยู่ท่ามกลางแรงเหนี่ยวนำ ซึ่งมีอำนาจ ที่จะสลายเรา ได้ตลอดเวลา...” พ่อท่านกล่าว

ตลอดเวลาของการสนทนาเกือบ ๓ ชม. ดูผู้สื่อข่าว มีพื้นฐาน และศึกษาธรรมะมาไม่น้อย พ่อท่านก็มีฉันทะ ที่จะอธิบาย บอก สอน ตอบข้อซักถามตลอด แม้จะเป็นเรื่องซ้ำๆ ที่พ่อท่านพูดอธิบาย มามากแล้ว วิสัยครูพ่อท่าน มีให้เห็นตลอด ไม่ว่าจะกับผู้ใด

๑๓ ม.ค. ๒๕๔๔ ที่สันติอโศก คณะทำงานบริหารองค์กรธุรกิจ ชุมชนแห่งหนึ่ง เข้าพบพ่อท่าน บอกเล่าระบายว่า งานขององค์กร กำลังไปได้ดี กำลังสร้างงาน ให้ชาวบ้าน ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สถานที่ทำการ จะหมดสัญญาปี ๒๕๔๕ แต่ถูกเบื้องบน มาบอกให้ออก ในปลายเดือนนี้ โดยมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เข้ามายึดครอง ดำเนินกิจการแทน ขณะที่ทุกอย่าง กำลังไปได้ดี กำลังสร้างงาน ให้ชาวบ้าน เช่น ผ้าทอ ชาวอาข่ามาขายเองเลย หรืออย่าง น้ำตาลอ้อย ก็ติดต่อทางเลย สกลนคร ศรีสงคราม ขณะที่ชาวบ้านกำลังตกงาน ก็จ้างชาวบ้าน บรรจุห่อน้ำตาลอ้อย เมื่อเร็วๆนี้ ก็เพิ่งติดต่อ ทางวังน้ำเขียว เรื่องผักไร้สารพิษ เมื่อมาเจอเหตุการณ์อย่างนี้ ทำให้หลายคน เครียดและทุกข์ ท้อว่า เมื่อทำดีแล้วทำไม จึงเกิดเรื่องเช่นนี้ได้ แต่ทั้งหมด เมื่อนึกถึงพ่อท่านแล้ว ก็มีกำลังใจ เพราะอุปสรรค ที่เจอนี้ เมื่อเทียบกับ ที่พ่อท่านเจอนั้น ของเรายังเล็กนิดเดียว

พ่อท่านให้ข้อคิด “คนที่จะมาทำอย่างนี้ได้ ต้องมีจิตใจเสียสละ และมีความเชื่อ เรื่องบาปบุญ เชื่อว่าคนเรา ไม่ได้เกิดมาชาติเดียว คนเรามีวัฏฏสงสาร หากเห็นชัดเจนว่า ทางไปสู่กุศลเป็นอย่างไร แม้จะเจออุปสรรค ยากลำบาก ขนาดไหน ก็จะไม่ท้อ อย่างอาตมาเอง ก็เข้าใจ รู้อยู่ว่ามาเสียสละ อย่างนี้มันยาก รู้อยู่ว่าคนที่เขาต่อต้าน ไม่เข้าใจเรา ก็เขามีภูมิ ของเขาอย่างนั้น “

มีเสียงจากคณะที่มา สะท้อนกระแสสังคม ที่มีต่อชาวอโศก ตามที่ตนได้สัมผัสมา “ทุกวันนี้ คนชื่นชมอโศก มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ทึ่ง สิ่งที่อโศกทำมา อย่างต่อเนื่อง นับสิบๆปี “

“ต้องทึ่งพระพุทธเจ้า เพราะเราทำตาม สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน” พ่อท่านกล่าว

ก่อนที่ทั้งหมดจะลาจาก มีเสียงจากคณะดังกล่าวนั้นว่า “พวกเราจะยังสู้อยู่ค่ะ “

“สู้ซิ ยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องสู้ คนไม่สู้คือคนตาย หรือรอวันตาย” แม้จะเป็นคำตอบสั้นๆ แต่ก็บอกถึงภาวะ นักต่อสู้ ทุกซอกอณู ของจิตใจพ่อท่าน

ข้าพเจ้านั่งร่วมรับฟังมาแต่ต้น พลอยรู้สึกหดหู่ตาม เงินซื้อทุกอย่างได้จริงๆ แม้กับคนที่มีอุดมการณ์ ถ้ายังไม่ถึงขั้น “คนจริง” ก็ถูกเงินซื้อได้ อุดมการณ์ ก็แปรเปลี่ยนได้ แต่กับ “คนจริง” ที่พยายามทำ “ความจริง” ให้ปรากฏ เงินจะมากมายเท่าไหร่ ก็ซื้อ “คนจริง” ไม่ได้
คำตอบสุดท้ายสั้นๆของพ่อท่าน ช่วยกระตุ้นเร้าต่อมสำนึก ของการต่อสู้ขึ้นมา ได้อีกหลายขีด

สัมมนา คุรุสัมมาสิกขา
๑๘ ม.ค. ๒๕๔๔ พ่อท่านเดินทางไปค้างคืนที่ อ.วังน้ำเขียว ก่อนไปร่วมงาน สัมมนาคุรุสัมมาสิกขา (๒๐-๒๑ ม.ค.) โดยพักที่ ศูนย์ฝึกอบรม กสิกรรมไร้สารพิษ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เพิ่งสร้างบนยอดเนินเขาเล็กๆ

(อ่านต่อตอน ๒ หน้าถัดไป)

     

(สารอโศก อันดับ ๒๓๔ มีนาคม ๒๕๔๔ หน้า ๕๔ - ๖๑ บันทึกจากปัจฉาสมณะ )