เดินตามรอยพ่อ :
หักใจสู่ธรรม

หนังสือพิมพ์สารอโศก
อันดับที่ 234 มีนาคม 2544

หลังสิ้นสุดการศึกษาระดับมัธยมต้น พ่อบอกให้ไปเรียนต่อมัธยมปลาย ที่ศีรษะอโศก ข้าพเจ้าบอกพ่อว่า "เรียนต่อ ที่บ้านได้ไหม" พร้อมกับส่งจดหมาย ให้พ่ออ่าน “ทางโรงเรียนรับรองความประพฤติ และการเรียนของผม ว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ให้เรียนต่อ ม.ปลายได้ โดยไม่ต้องเสียค่าสอบ”

พ่อวางจดหมายฉบับนั้นลงอย่างไม่ไยดี แล้วพูดขึ้นว่า “มีปัญหามั้ย ถ้าจะไม่เรียนต่อที่นี่”

“ไม่มีครับ”

“ถ้างั้นก็ไม่ต้องเรียน ไปเรียนที่ศีรษะอโศก”

น้ำเสียงของพ่อแน่นหนัก ระคนบีบบังคับเบ็ดเสร็จ ประตูแห่งความหวังของข้าพเจ้า ถูกปิดลงอย่างสนิท

ข้าพเจ้ายืดเวลาที่จะเดินทางไปศีรษะอโศก จึงออกเที่ยวราตรีกับเพื่อนๆ แทบทุกคืน ทำตัวเสเพล ดื่มสุราเมรัย กลับบ้าน ดึกๆดื่นๆ แม่เริ่มไม่สบายใจ กับพฤติกรรมของข้าพเจ้า แม่บ่นอุบอิบ และถามข้าพเจ้าว่า เมื่อไหร่จะไปวัดซะที ข้าพเจ้า ก็ผัดวันประกันพรุ่ง ไปเรื่อยๆ แล้วก็ออกเที่ยวกับเพื่อน เหมือนเช่นเคย

ความอดทนอดกลั้นของแม่ถึงขีดสุด “มื่อไหร่ลูกจะไปวัดซะที เที่ยวเสเพลทุกคืน มันไม่ดีรู้มั้ย “

“ แม่เลิกยุ่งกับชีวิตผมได้มั้ย ผมตัดสินใจเองได้ ว่าผมจะไปวัดเมื่อไหร่ “

“ทุกวันนี้แกไม่ยอมฟังแม่แล้วใช่ไหม แม่ตะคอกเสียงออกมา พร้อมน้ำตา ไหลพรากอาบแก้ม

แว่วเสียงแม่ตัดพ้อต่อว่าข้าพเจ้าให้พ่อฟัง เวลาต่อมา พ่อก้าวเข้ามา ยืนจ้องหน้าข้าพเจ้า “ถ้าแกไม่ไปเรียนที่วัด ก็ไสหัวแก ไปหาเงินเรียนเอง “

ข้าพเจ้าซบกายลงกับที่นอน หยาดน้ำใสไหลเปียกหมอน สะอึกสะอื้นเพียงลำพัง คำถามมากมาย ผุดในความคิดข้าพเจ้า ทำไมพ่อต้องบีบ บังคับกันด้วย? ทำไมล่ะ? ชีวิตเราเลือกทางเดินเอง ไม่ได้หรือ? ความคิด ระคนกับอารมณ์โกรธ เกลียดพ่อเป็นที่สุด

รุ่งเช้า ข้าพเจ้าสะพายกระเป๋า ก้าวออกจากบ้าน โดยไม่บอกลาใคร “ไม่อยู่มันแล้วบ้านหลังนี้ มีแต่คนบีบบังคับ ไปอยู่วัด กับพี่ชายดีกว่า” ข้าพเจ้าออกเดินทาง มุ่งหน้าสู่สถานศึกษา และบ้านหลังใหม่ “ศีรษะอโศก “

มาเรียนที่ศีรษะฯปีแรก ข้าพเจ้าเลือกลงทะเบียนสายวิทย์ ด้วยวาดหวังเป็นหนุ่มวิศวกรในอนาคต แต่แล้ว ศีรษะอโศก ได้กล่อมเกลา ความคิดข้าพเจ้าเสียใหม่ ให้มองเห็นอาชีพกสิกรรม ยิ่งใหญ่กว่าวิศวกร

เข้าปีที่ ๒ ความฝันก็เปลี่ยน ข้าพเจ้าลดความสนใจ ในตำราวิชาการ หันมาศึกษาด้านการเกษตร อย่างจริงจัง เพราะวาดอนาคต ตนเองไว้ว่า จะร่วมแรงทำสวนผลไม้ ไร้สารพิษกับพี่ชาย แรกเริ่มเพียง ๑๐ ไร่ แล้วขยายกิจการเป็น ๑๐๐ ไร่ ๑, ๐๐๐ ไร่ และจะส่งออกขาย ไปยังต่างประเทศ ในที่สุด

พอขึ้นปีที่ ๓ ความคิดความฝัน ก็ถูกขัดเกลาใหม่ ให้เห็นอาชีพนักบวช ยิ่งใหญ่กว่า อาชีพทำสวนทำไร่

วันหนึ่งของเทอมสุดท้าย ข้าพเจ้าตั้งใจจะลุกไปทำวัตรกับเพื่อน พอเวลาตีสามครึ่ง ไปปลุกเพื่อน แต่เพื่อนไม่ยอมลุก จากที่นอน ข้าพเจ้าจึงต้องไปคนเดียว ในขณะนั่งฟังธรรม ข้าพเจ้ารู้สึก จิตใจสงบเย็น เบาสบาย... ข้าพเจ้าคิด ใคร่ครวญ ถึงชีวิต เส้นทางที่จะก้าวย่าง และทิศทาง ในอนาคตของตนเอง ข้าพเจ้าตรึกตรอง และกลั่นกรอง

ในที่สุดข้าพเจ้าก็ตัดสินใจ เลือกทางเดินชีวิตในเช้าวันนั้น ข้าพเจ้าเข้าไปก้มกราบ สมณะอนุตตโร ขอสมัครเป็นคนวัด ท่านให้กำลังใจ และบอกว่า ข้าพเจ้าเข้าใจ สัจจะแห่งกรรมแล้ว เมื่อเป็นคนวัดถือศีล ๘ ข้าพเจ้าเลิกใส่ใจตำราเรียน แล้วหันมาอ่าน ตำราธรรมะ อย่างจริงจัง จัดสรรชีวิตตนเอง เข้าสู่เส้นทางพรหมจรรย์... เดินทางเข้า สันติอโศก เพื่อสมัครบวช

ณ สันติอโศก วิถีชีวิตของคนกรุง เป็นอะไรที่แตกต่าง จากศีรษะอโศกมากพอสมควร แรกมาอยู่ ข้าพเจ้ารู้สึกอึดอัด และเป็นทุกข์ สับสน สิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ มลพิษที่ย่ำยี ความสัมพันธ์ที่ไม่อบอุ่น ทำให้ข้าพเจ้า คิดถึงพี่ป้าน้าอา และเพื่อนๆ เป็นที่สุด คิดถึงศีรษะอโศกเหลือเกิน ข้าพเจ้าบอกกับใจตัวเองว่า “ขอให้ทนต่อไปอีก ๓ เดือน หากจิตใจ ไม่เข้มแข็งขึ้น ก็กลับศีรษะฯไป ไม่ต้องบวชแล้ว”

บนเส้นทางชีวิต ย่อมมีขวากหนามเป็นธรรมดา แม้เส้นทางธรรม ก็เช่นเดียวกัน ข้าพเจ้านั่งอยู่ บนแท่นฐานโดม พระวิหารพันปี เอนกายพิงระเบียง สายตาทอดไปข้างหน้า อย่างไร้จุดหมาย ข้าพเจ้าจมลึก อยู่กับอารมณ์เศร้า เหงา อ้างว้าง ข้างกายข้าพเจ้า มีสมณะรูปหนึ่ง นั่งอยู่เป็นเพื่อน ไม่มีคำปลอบประโลมใดๆ และไม่มีเสียงโอดครวญใดๆ ออกจากปากข้าพเจ้า เช่นกัน

ค่ำคืนที่เนิ่นนานในความรู้สึก ข้าพเจ้ากำลังเจ็บปวด สมณะที่นั่งกับข้าพเจ้า ได้ทำลายความเงียบ เอ่ยขึ้นว่า

“ที่คุณโหวตไม่ผ่าน คงเพราะเลือกอาตมาเป็นสมณะพี่เลี้ยง”

“ไม่หรอกครับ ผมไม่ดีเอง”

สำหรับข้าพเจ้าในขณะนี้ คำสอนดีเลิศปานใดก็ไร้ความหมาย ข้าพเจ้าไม่ต้องการ และเบื่อที่จะฟัง ทุกครั้งที่หัวใจ ข้าพเจ้าบาดเจ็บ ความเงียบเป็นคำสอนที่ดีเลิศ ในความรู้สึก ความเงียบสงบ ช่วยปลอบประโลมใจ ให้กับข้าพเจ้า ได้ดีที่สุด และกาลเวลา ช่วยเยียวยาบาดแผล แห่งชีวิตได้ดีเช่นกัน

ในค่ำคืนที่แสนเศร้าที่ยาวนาน ขอแค่ใครสักคน นั่งอยู่เคียงข้าง เป็นเพื่อนในยามที่ ห้วงอารมณ์สับสน มืดมน บนเส้นทางชีวิต ใครคนนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นปราชญ์ หรือดีเลิศประเสริฐศรี ในหัวใจของข้าพเจ้า มีกระแสแห่งความคิด สองสาย ไหลเชี่ยวกราก เป็นสายธารแห่งสำนึกดี และคิดชั่ว คอยผสมกลมเกลียว และหักล้างกันตลอดเวลา จิตหนึ่ง คิดเพ่งโทษ ผู้คนรอบข้าง (กิเลส) ตำหนิอย่างชิงชัง จิตอีกดวงบอกกับตัวเอง ให้มองโลกในแง่ดี เขามิได้เลวร้าย อย่างที่เราคิดหรอก อย่าพยายามให้ร้ายคนอื่น เพื่อปกป้อง ความไม่ดีของตนเลย

“กลับไปนอนแล้วไม่ต้องคิดอะไรมาก” ข้าพเจ้ารับคำ แต่ทำไม่ได้ เรื่องราวต่างๆ ผุดขึ้นมาหลากเรื่อง หลายความคิด ทั้งเจ็บปวด และขมขื่น เศร้าและชิงชัง

ภาพของอาๆและสมณะที่เคยชุบเลี้ยง ที่เคยอบรมสั่งสอนข้าพเจ้า ดุจบุตรชาย ปรากฏ ในห้วงแห่งความคิด เหมือนท่านเหล่านั้น ได้มาอยู่ข้างกายข้าพเจ้า คอยรับฟังเรื่องราว และเสียงคร่ำครวญ จากหัวใจ ซึ่งบอกเล่า ความน้อยอกน้อยใจ และทุกข์ท้อต่างๆ นานา ของข้าพเจ้า หยาดน้ำตาใสๆ ไหลร่วง หยดลงบน พื้นไม้กระดานกุฏิ... เมื่อได้หลั่งน้ำตา ข้าพเจ้ารู้สึกสบายขึ้น และหลับไปในที่สุด

รุ่งเช้าของวันใหม่ ข้าพเจ้ายิ้มให้กับตัวเอง และบอกกับใจตัวเองว่า... “หากหมู่สมณะ ให้ข้าพเจ้า เป็นสามเณรไปอีก สัก ๑๐ ปี เราจะรับได้มั้ย? “

“ไม่มีปัญหา” ข้าพเจ้าบอกกับใจตัวเอง โหวตไม่ผ่านก็ดีเหมือนกัน จะได้ฝึกหัดทำใจ และ เป็นประสบการณ์ชีวิต ที่หาซื้อไม่ได้

ณ บัดนี้ ข้าพเจ้าก็ประจักษ์แจ้งแก่ใจแล้วว่า เหตุใดข้าพเจ้าจึงได้ชื่อ จากพ่อท่านว่า “ตะกายธรรม” บนเส้นทาง พรหมจรรย์สายนี้ ข้าพเจ้าอาจต้องล้มอีก นับครั้งไม่ถ้วน และอาจมีสักวัน ที่ข้าพเจ้าล้มแล้วลุกไม่ขึ้น แต่กระนั้น ข้าพเจ้าก็จะ ตะกายธรรมต่อไป บนเส้นทางที่พ่อสร้างไว้ ตามรอยเท้าพ่อไป จนกว่าจะถึงปลายทาง ที่พ่อพาไป

กลางเดือนมีนาคม ๒๕๔๑ หมู่สงฆ์ประชุมลงมติ ให้ข้าพเจ้าขึ้นเป็นสมณะอีกครั้ง ผลปรากฏว่า ข้าพเจ้าสอบผ่าน และกำหนดบวชเป็นพิธี เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม ๒๕๔๑ ข้าพเจ้าเข้าสู่เพศบรรพชิต ได้บวชเป็นสมณะ ของชาวอโศก พ่อท่าน ให้ฉายาว่า

“ลักขิตธัมโม” ความหมายคือ ผู้มีธรรมอันตนกำหนดแล้ว หรือผู้กำหนดธรรม (ทำ)

ข้าพเจ้าได้ดิบได้ดีจนถึงปัจจุบัน ก็เพราะพ่อท่านและหมู่กลุ่มชาวอโศก คอยให้การอบรม สั่งสอนดูแล บุญคุณนี้ฝังลึก ในจิตวิญญาณ ของข้าพเจ้า ดุจลิ่มเหล็ก ตอกตรึงชั่วนิรันดร์

ข้าพเจ้าสัญญากับใจตัวเองว่า จะขอเดินตามรอยพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ และเป็นทาส รับใช้ชาวอโศก ตราบนาน เท่าที่ยังมี ลมหายใจ

...แม้นไกลปานไปฟากฟ้า ข้ามสุริยาอีกดวง
เลยจักรวาลทั้งปวง อยู่สรวงหรือห้วงแดนใด
ยากแค้นไกลแสนกรากกรำ คร่ำทรมานปานไหน
เจอมารพาลโหดโฉดภัย ร้อนร้ายกว่าไฟก็ทน
แน่วจริงแล้วใจไม่หน่าย เกิดตายแล้วตายกี่หน
มุ่งเพียรขอเพียงให้คน เมตตาผองชนจริงใจ
นั้นคือแดนดังฝั่งฝัน ช่วยกันและกันดีไหม
หวงโลภหลงโกรธอยู่ไย บุญไซร้ใครสร้างต่างเป็นของตน...

ด้วยจิตคารวะบูชายิ่ง
ส. ตะกายธรรม ลักขิตธัมโม

     

(สารอโศก อันดับ ๒๓๔ มีนาคม ๒๕๔๔ หน้า ๗๐ - ๗๔ เดินตามรอยพ่อ )