เพื่อฟ้าดิน
ครั้งที่ ๘ |
หนังสือพิมพ์สารอโศก
อันดับที่ 235 เดือน เมษายน 2544 หน้า 1/1 |
|
|
บุญญาวุธหมายเลข ๓ กสิกรรมไร้สารพิษ งานเพื่อฟ้าดิน ครั้งที่ ๘ ได้จัดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ณ บ้านราชฯ เมืองเรือ จ.อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ ๕-๗ พ.ค.๒๕๔๔ นับเป็นครั้งที่ ๒ ที่ย้ายสถานที่จากปฐมอโศก มาจัดที่บ้านราชฯ เมืองเรือ ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวแต่บรรยากาศอบอุ่น เพราะมีพ่อท่าน-สมณะ-สิกขมาตุ-ญาติธรรม และสมาชิกจากกลุ่มเครือข่ายฯ จังหวัดต่างๆ ทยอยเข้าพื้นที่ พร้อมกับผลผลิต จากกสิกรรมไร้สารพิษ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์พืช ต้นกล้า ผัก-ผลไม้มาร่วมงาน แม้บางคน ไม่ได้นำอะไรมาร่วม แต่ก็นำตัวมา ก็ประทับใจแล้ว เพราะแล้งขนาดนี้ ร้อนขนาดนี้ ก็ยังมีน้ำใจเสียสละ มาร่วมสร้างหมู่มวลให้กับงาน มีคนมาลงทะเบียนถึง ๗๒๕ คน งานนี้ถือเป็นงานเกษตรแฟร์ของชาวอโศกก็ว่าได้ และเป็นเกษตรแฟร์ ที่ไร้สารพิษอีกด้วย คือไม่มีการฉีดปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีใดๆ ในผลิตผลที่แต่ละกลุ่ม นำมาร่วมงาน นอกจากนี้ ยังเน้นวัฒนธรรมเก่าแก่ คือ การแจก-แลก-ขาย (กำไรอาริยะ) คือแจกกันฟรี ใครต้องการ ก็หยิบไปได้เลย หรือแลกเปลี่ยนสินค้ากัน กลุ่มไหนต้องการอะไร ก็เอาผลผลิตที่ตนมี ไปแลกเปลี่ยนกัน ดูแล้วอบอุ่นยิ่งนัก จะขาดจะเกิน ทุกคนก็มีแต่รอยยิ้ม และสุดท้าย ขายในราคาบุญนิยม คือต่ำกว่าทุน โดยไม่รวมค่าโสหุ้ยใดๆ มีเมล็ดพันธุ์ กล้าไม้ ผลไม้ในฤดู เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด ส้มโอ มะพร้าวอ่อน มะละกอ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพรปราบศัตรูพืช และยาสมุนไพร จากภาคต่างๆ นำมาออกร้าน อีกมากมาย บริเวณงานจัดที่ใต้เฮือนใหญ่ (เฮือนศูนย์สูญ) และบริเวณข้างเฮือนใหญ่ รวมทั้งฝั่งตรงข้าม โดยกางเต็นท์ไว้ สำหรับกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ที่จะมาออกร้าน เริ่มจากทางซ้ายมือ เต็นท์แรกเป็นของ เพื่อนช่วยเพื่อน อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี มีสมุนไพรปราบศัตรูพืช และน้ำหมักชีวภาพ มาจำหน่าย ถัดมาเป็นร้านขายผลไม้ อาทิ เงาะ ลองกอง มะละกอ ส้มโอ มะพร้าวอ่อน ฯลฯ ฝั่งตรงข้าม ป็นของกลุ่มทักษิณอโศก จาก จ.ตรัง ซึ่งเดินทางมาไกล นอกจากนี้ ยังนำกล้าไม้ มาฝากเต็มรถสิบล้อ และยังมีการสาธิต การทำอาหารจากสมุนไพร คือ ข้าวยำปักษ์ใต้ (หร๊อยจั่งหู๊=อร่อยมาก) แจกให้ชิมจนอิ่มอีกด้วย ภายในบริเวณดังกล่าว มีกล้าไม้ต่างๆ ยาสมุนไพร โดยเฉพาะ การเพาะถั่วงอก จากระถางดิน กลายเป็นพระเอกไปเลย มีการโชว์ถั่วงอก จากถั่วต่างๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว ดูแล้วสวยงามแปลกตา และน่ากิน หลายคนเกิดความคิดว่า จะเพาะถั่วงอก ในกระถางดิน แทนการปลูกดอกไม้ เพราะโตไว แถมกินกันได้อีกด้วย โดยมีกระถางดินเจาะรู ที่สั่งทำพิเศษมาจำหน่าย เรียกว่าถ้าสนใจ ก็นำไปเพาะได้เลย พร้อมกับมีคำแนะนำ แจกให้อีกด้วย ถัดมาเป็นกล้าหน่อไม้ไผ่ตงเขียว เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากญาติธรรม ชุมชนจนดี สีมาอโศก ที่ประสบความสำเร็จ และด้านในสุด มีมังคุด และทุเรียนจำหน่าย ผู้ไม่พรั่นพรึงต่อความร้อนของอากาศ และอาการร้อนของทุเรียน ในฤดูกาลนี้ ต่างก็เข้าคิวซื้อ แถวยาวเหยียด ผู้ที่ชื่นชอบบอกว่า พลาดได้ไง ราคาถูกอีกต่างหาก ส่วนภายใต้เฮือนศูนย์ มีการออกร้านจำหน่ายสินค้าเช่นกัน เริ่มจากปากทางเข้า ฝั่งขวามือ เป็นร้านของกลุ่มแก่นอโศก นำข้าวเปลือกพันธุ์สีทอง ข้าวมะลิแดง และถั่วเหลือง เพื่อนำไปทำพันธุ์ มาจำหน่ายและแลกเปลี่ยน มีผลิตภัณฑ์ จากถั่วเหลือง เช่น ถั่วร้า กะปิ เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว ถัดมาเป็นร้านจำหน่ายผ้าฝ้าย ย้อมสีธรรมชาติ จากอุทยานบุญนิยม และศีรษะอโศก ซึ่งได้รับการต้อนรับ จากคุณผู้หญิง ไปเลือกซื้อชมกันมากมาย เพราะผ้าฝ้าย เหมาะกับอากาศ ของเมืองไทย ที่ค่อนข้างร้อน ใส่แล้วเย็นสบาย นอกจากนี้ยังเป็น การส่งเสริมชาวบ้าน ให้มีอาชีพ หากทุกคนหันมาใส่ผ้าฝ้าย จะเป็นการเพิ่มรายได้ ให้กับเกษตรกรไทย และไม่เสียดุลย์การค้า กับต่างประเทศ และ เหมาะกับยุคกาลนี้ ที่เราตกเป็นทาส IMF ถัดไปก็เป็นร้านของเครือข่ายฯ ศีรษะฯ นำผลิตผลเช่น กระเทียม ขนุน เงาะ พริก และปุ๋ยน้ำ มาจำหน่าย ถัดไปเป็นร้านสาธิตอ้อยทราย จากน้ำอ้อย ไม่มีสารฟอกขาว และร้านสุดท้ายคือ ตัวอักษรดินเผา ส่วนฝั่งตรงข้าม ภายในเฮือนใหญ่ ก็จะเป็น ร้านน้ำหมักชีวภาพ จาก นร.สัมมาสิกขาสันติอโศก ร้านธรรมทัศน์สมาคม ซึ่งนำหนังสือ วิดีโอ และเท็ป ที่เกี่ยวกับการเกษตร มาจำหน่าย ในราคาลด ๓๐% ถัดไปก็เป็น ร้านของสีมาอโศก จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชน และกลุ่มบุญค้ำบุญคูณ แจกเมล็ดพันธุ์ ใครต้องการอะไร หยิบได้เลย และร้านสุดท้าย เครื่องสีข้าวกล้อง ขนาดเล็ก และสาธิตการทำน้ำมันพืช และน้ำมันก๊าด มาใช้แทนน้ำมันดีเซล ในเครื่องยนต์ ซึ่งประหยัดพลังงาน พลังเงิน และไม่เป็นพิษ ต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับนำรถยนต์ ที่ใช้น้ำมันดังกล่าว มาโชว์ให้ดู แต่ละกลุ่มที่มาออกร้าน ต่างก็นำเอกสารมาแจก พร้อมกับมีเจ้าของกิจการ มาอธิบายให้แก่ผู้สนใจ กิจกรรมในแต่ละวัน เริ่มตั้งแต่เย็นวันที่ ๔ พ.ค. เป็นการประชุมของ สมาชิก พรรคสหกรณ์ (เพื่อฟ้าดิน) ที่เฮือนโสเหล่ เช้าวันที่ ๕ รายการเวียนธรรม เป็นธรรมรับอรุณ โดยสมณะ-สิกขมาตุ ส่วนวันต่อไป แสดงธรรมโดยพ่อท่าน น่าสนใจและน่าติดตาม โดยเฉพาะ พลังศักดิ์สิทธิ์คืออะไร สนใจหาเท็ปฟังเอาเด้อ! พี่น้อง ทำวัตรเสร็จ ร้านค้าต่างๆ ที่มาออกร้าน ก็จัดร้าน เพื่อที่จะจำหน่ายสินค้าในเวลา ๑๑.๐๐ น. ก่อนฉันวันนี้ ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ได้มาเปิดงาน และบรรยายพิเศษ "ไทยจะเรืองอำนาจ เพราะไทยเป็นชาติกสิกรรม" หลังจากนั้น รับประทานอาหารร่วมกัน มีนักเรียน สสธ. (สัมมาสิกขาราชธานีอโศก) ร่ายรำชุดลำน้ำมูล และนักเรียนกลุ่มสมุนพระราม (ระดับประถมฯ) รำเซิ้งชุด อีสานบ้านเฮาให้ชม และมีรายการเวทีชาวบ้าน เป็นการแสดง ดนตรีพื้นบ้าน และการร้องเพลง จากเครือข่ายต่างๆ ให้ชมทุกวัน ระหว่างรับประทานอาหาร ในวันนี้บ้านราชฯ ได้จัดอาหารแบบขันโตก ต้อนรับ รมช. และคณะผู้ติดตาม บรรยากาศม่วนซื่นยิ่งนัก หลังจากรับประทานอาหารแล้ว เวลาประมาณ ๑๑.๓๐ น. รมช. และคณะผู้ติดตาม พร้อมแกนนำ ผู้ปฏิบัติธรรมรวม ๕๐ ชีวิต ล่องนาวาบุญนิยม เพื่อตรวจสภาพนิเวศน์ แม่น้ำมูล พร้อมชมบรรยากาศสองฝั่ง และพูดคุยกันถึงเรื่องการอนุรักษ์ และฟื้นฟู ลุ่มแม่น้ำมูล วิถีชีวิตชุมชนของชาวอโศก และการจัดอบรมเกษตรกร ลูกหนี้ ธกส. โดยขึ้นเรือแงกเบิงแน ที่ท่าหาดแนมตะเว็น (ชมตะวัน) แวะชมเรือยักษ์ แล้วล่องไปทางฝั่งเมือง ย้อนกลับมา ทางบ้านคำกลาง แล้วขึ้นฝั่ง ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง โดยมีน้ำผลไม้ลูกยาง ผลไม้ของภาคอีสาน ต้อนรับบนเรือ ภาคบ่ายหลบร้อนไปที่เฮือนเผิ่งกัน คุณสมหมาย หนูแดง ศึกษานิเทศก์ ผู้ผันชีวิตตนเอง มาเป็นเกษตรกรเต็มขั้น ทำกสิกรรมไร้สารพิษ เป็นมิตรกับธรรมชาติ จนประสบความสำเร็จ ได้เล่าประสบการณ์ และเคล็ดลับ การทำกสิกรรมไร้สารพิษ พร้อมสาธิตการทำฮอร์โมนพืช จากสมุนไพรไหลขาว เพื่อเร่งการเจริญเติบโต นอกฤดูกาลให้ฟัง ซึ่งผู้ทำกสิกรรม ต้องเป็นคนช่างสังเกต จะทำให้เกิดการเรียนรู้ จากการได้ทำจริง และสามารถแก้ปัญหาได้ การทำกสิกรรมฯ ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม จากสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่จากตำรา ทำให้เกิดการพัฒนา และก้าวหน้าในการทำกสิกรรม หลายคนฟังแล้ว ได้รับความรู้เพิ่มเติมมากมาย ๔ โมงเย็น มีการแห่กันฑ์หลอน เพื่อบูชาฟ้าดิน เริ่มจากหน้าฮ้านปันบุญ มายังเฮือนใหญ่ และต่อด้วยการพูดคุย ถึงนโยบายเกษตร และสหกรณ์ของรัฐบาล และการจัดอบรม เกษตรกรลูกหนี้ของ ธกส. มี รมช. กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ กับ จนท. หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เกี่ยวกับเกษตร และสหกรณ์ ของจังหวัดอุบลฯ โดยมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ร่วมพูดคุยด้วย หลังจากนั้นเป็นการนำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเกษตร จากผู้ร่วมงาน ดำเนินรายการโดย สมณะฟ้าไทย สมชาติโก และสมณะเดินดิน ติกขวีโร แล้วพักผ่อนชมจันทร์ เก็บเรี่ยวแรง ไว้ฟังธรรมรับอรุณ จากพ่อท่าน ในวันพรุ่งนี้ ๖ พ.ค. ก่อนธรรมรับอรุณจะยุติลง ฝนได้ตกลงมา ทำให้บรรยากาศสดชื่น ไม่ร้อนเกินไปนัก หลังจากออกกำลังกาย ยืดเส้นยืดสายแล้ว รวมพลังโฮมแฮง (ร่วมแรง) ปราบไมยราพยักษ์ ซึ่งเป็นงานที่ยากและหนัก เพราะต้องขุด และมีหนามด้วย จึงมีผู้ไปโฮมแฮงไม่มากนัก และขุดถั่วลิสง-มันเทศที่ริมมูล ปลูกถั่วลิสงที่สวนไร้สาร งานนี้ได้ไม่มีเสีย เพราะได้เสียสละทั้งแรงกาย แรงเงิน และได้รับความรู้ รายการก่อนฉัน "ไผรวยกันแน่" เริ่มจากนักธุรกิจหลายร้อยล้าน ที่หาเวลาให้กับครอบครัว ได้ยากเย็น และหาความสุขไม่พบ พร้อมกับจุดจบทางธุรกิจ หมดเนื้อหมดตัวในยุค IMF แล้วหักมุมมายัง เกษตกรชาวบ้านธรรมดาๆ ผู้มีเศรษฐกิจพอเพียง มักน้อย สันโดษ ซื่อสัตย์ ไม่เป็นหนี้ใคร เก็บหอมรอมริบ มีเงินไม่มากนัก แต่มีเงินเหลือ สามารถให้ผู้อื่น มากู้ยืมได้ ชี้ให้เห็นว่า รวยนั้นคืออะไร? มีความสุขจริงหรือ ดำเนินรายการโดย อ.รัศมี กฤษณมิษ และ อ.ขวัญดิน สิงห์คำ รายการนี้ห้าดาว ใครอยากรวย ต้องหาเท็ปฟังให้ได้ ขอบอกว่าไม่ควรพลาด ภาคบ่าย อ.อุดม ศรีเชียงสา บรรยายเรื่อง กสิกรรมธรรมชาติ ประกอบการฉายสไลด์ ที่เฮือนใหญ่ และตอบปัญหาเรื่องดิน โดยหมอดิน ที่เฮือนเผิ่งกัน ภาคค่ำ เป็นการนำเสนอการเตรียมความพร้อม จัดอบรมให้แก่ เกษตรกรลูกหนี้ ธกส. โดยมีญาติธรรม และกลุ่มเครือข่าย ร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะเริ่มอบรมรุ่นแรก ในวันที่ ๒๒-๒๖ พ.ค.๒๕๔๔ ที่บ้านราชฯ ๗ พ.ค. วันสุดท้ายของงาน หลังจากฟังธรรมเสร็จ ก็ช่วยกันเก็บเต็นท์และข้าวของ เพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับ และฟังสรุปงาน ดำเนินรายการโดย สมณะเดินดิน ติกขวีโร มี สม.กล้าข้ามฝัน อโศกตระกูล และคุณแก่นฟ้า แสนเมือง ร่วมสรุป ได้ความว่า ชาวอโศก ยังขาดความกระตือรือร้น ต้องขวนขวายให้มากกว่านี้ ซึ่งชาวอโศกทุกคน ควรหาเท็ปมาฟัง เพราะเป็นประโยชน์มาก งานนี้ถือว่าเป็นการเผยแพร่ความรู้ สู่คนภายนอก และปลุกไฟให้คนภายใน ให้มาช่วยงานภายในเพิ่มขึ้น จากการประชุมภายใน งานที่จะอบรมเกษตรกรลูกหนี้ ธกส.ทั่วประเทศ ชาวอโศกน่าจะมีไฟ มาช่วยกันเข้าสู่ส่วนกลาง เพราะต่อไปแต่ละแห่ง ก็จะมีงานอบรมมากขึ้น คิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่พวกเราควรจะมา รวมกันได้แล้ว เพราะการอบรม เกษตรกรทั่วประเทศ ถือว่าเป็นงานใหญ่ เป็นการช่วยชาติอย่างหนึ่ง งาน พฟด.เสร็จสิ้นลงแล้ว พร้อมกับคำเชิญชวนให้พวกเรา มาร่วมรวมกัน เป็นพลังอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อช่วยมวลมนุษยชาติ หากไม่ติดขัดอะไรเกินไปนัก ผู้ที่ไม่ได้มาร่วมงาน ก็ขอบอกว่า พ่อท่านเรียกตัว มาช่วยงานแล้ว ได้ฟังธรรม เอาไปปฏิบัติ จนได้ดิบได้ดี มีความสุข ก็อย่าติดแป้น ถึงเวลากตัญญูกตเวที ด้วยการเสียสละความสุข (ติดแป้น) มารวมกลุ่มกัน ช่วยพ่อท่านทำงาน ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น อย่าลืมคำว่า ชาวอโศกเพื่อมวลมนุษยชาติ คนติดดิน |
|
(สารอโศก อันดับ ๒๓๕ หน้า ๔ - ๙ เดือน เมษายน ๒๕๔๔) |