เศรษฐกิจชุมชน (ตอนจบ) |
หนังสือพิมพ์สารอโศก
อันดับที่ 235 เดือน เมษายน 2544 หน้า 1/1 |
|
|
รายงานพิเศษชิ้นนี้ เรียบเรียงจากเนื้อหาบางส่วนของการเสวนา ว่าด้วยเรื่อง เศรษฐกิจชุมชน : ทางเลือกเพื่อทางรอดสังคมไทย ในหัวข้อ ชุมชนศีรษะอโศกบนวิถีบุญนิยม ฝ่าวิกฤตทุนนิยมมาได้อย่างไร? จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นำเสนอเป็นสองตอน โดยตอนแรก เริ่มในสารอโศกฉบับที่แล้ว เศรษฐกิจชุมชน
: ทางเลือกเพื่อทางรอดสังคมไทย หัวใจสำคัญของระบบบุญนิยม คุณแก่นฟ้า: ระบบบุญนิยมจะอยู่รอดหรือไม่ มีคำตอบที่เรียกว่า ต้องมีสาธารณโภคี อันเป็น หัวใจสำคัญของระบบบุญนิยม สาธารณโภคี คือการร่วมกันกิน ร่วมกันใช้ อย่างเป็นสาธารณะ เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าถึงจุดนี้แล้ว ในเครือข่าย ชาวอโศกทุกแห่ง ทุกอย่างจะเหมือน ครอบครัวเดียวกัน มีการเกื้อกูลกัน เพราะสาธารณโภคีในระบบบุญนิยม มีหลักการแห่ง สาราณียธรรม ๖ ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ได้แก่ ๑. เมตตากายกรรม ๒. เมตตาวจีกรรม ๓. เมตตามโนกรรม ๔. ศีลสามัญญตา ๕. ทิฏฐิสามัญญตา ๖. สาธารณโภคี เมื่อมีสาราณียธรรม ๖ ประการแล้ว จะเกิดอานิสงส์ คือ พระพุทธพจน์ ๗ ได้แก่ ๑. มีความระลึกถึงกัน ๒. มีความรักกัน ๓. มีความเคารพกัน ๔. มีความสงเคราะห์กัน ๕. มีความไม่วิวาทกัน ๖. มีความสมานสามัคคีกัน ๗. มีความเป็นเอกีภาวะ คือ มีความเป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกัน และยังประกอบด้วย ๕ ภาพ ได้แก่ อิสรเสรีภาพ (independence) ภราดรภาพ (fraternity) สันติภาพ (peace) สมรรถภาพ (efficiency) และบูรณภาพ (integrity) คำว่า อิสรเสรีภาพ หมายถึง ความไม่ติดยึด ความเป็นอิสระเหนือวัตถุ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวของเงินทอง บ้านช่องเรือนชาน ทรัพย์ศฤงคาร เราต้องเป็นอิสระ เหนือมันให้ได้ ไม่หอบไม่หวง แบ่งปันกันได้ เพราะที่ชุมชนศีรษะอโศก รถยนต์ก็ใช้ด้วยกัน บ้านเรือน ก็แบ่งปันกันอยู่ แบ่งปันอาศัย เงินทองก็เจือจานกัน ลักษณะเป็นอิสระ พอมีการให้กัน ผู้ให้ก็ย่อมเป็นที่รัก เกิดความเป็นพี่ เป็นน้อง เกิดเป็น ภราดรภาพ ขึ้นมา ไม่มีการรบรา ฆ่าฟัน เพื่อแย่งชิง ทรัพยากร สันติภาพก็เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้คนเรา มีเวลา มากเพียงพอ ที่จะมาสร้าง สมรรถภาพในตัวเอง สังคมของบุญนิยม จะสอนให้คน ขยันขันแข็ง ให้กินน้อยใช้น้อย แต่ทำงานให้มาก ที่เหลือจุนเจือสังคม เป็นสมรรถภาพ ที่สูงขึ้น ผมเป็นวิศวกร ไม่เคยทำนา ก็ต้องมาดำนา เกี่ยวข้าว อาจารย์ขวัญดิน ไม่เคยทำปลาร้า ทำกะปิ ก็ต้องลงมือ ทำปลาร้า ทำกะปิ ทำกล้วยอบ รีดประสิทธิภาพ ของตัวเองออกมา สมรรถภาพก็สูงขึ้น สมรรถภาพ ที่สูงขึ้นมานี้ ไม่ได้นำไปเข้าพก เข้าห่อของใคร หากแต่นำไป บูรณะสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือ บูรณภาพ สร้างสรร สิ่งที่เป็นประโยชน์ ต่อสังคม ประเทศชาติ และมวลมนุษยชาติ นั่นคือเส้นทาง ของระบบบุญนิยม จะก้าวสู่ ๕ ภาพในลักษณะนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างชาวอโศก คุณแก่นฟ้า : ชุมชนชาวอโศก มีธุรกิจบุญนิยมของตัวเอง ถ้าหากร้านพลังบุญ ต้องการสินค้า มาขาย ในราคาถูก ให้กับผู้บริโภค ในกรุงเทพฯ ผมก็ขนข้าว จากศีรษะอโศก ลงมาที่สันติอโศก ทางสันติอโศก ก็ให้คนไปยกข้าว ลงจากรถ พอรถว่าง หากทางสันติอโศก มีอะไรจะฝากไป ราชธานีอโศก หรือฝากไปที่ สีมาอโศก ก็ฝากรถคันนี้ไปได้ รถ ๖ ล้อ ที่ใช้ขนของมาส่ง ในเส้นทางเครือข่ายชาวอโศก จะมีการฝาก เอาของล่องไป บางครั้ง เราต้องการรถ ๑๐ ล้อ จากปฐมอโศก ขนของ เช่น ไม้ ปูน กระเบื้อง และสิ่งของอื่นๆ ไปส่งที่ราชธานีอโศก ขากลับ ก็ขนข้าวจาก ศีรษะอโศก มาส่งที่ บริษัทพลังบุญ ที่กรุงเทพฯ อันนี้คือ การเกื้อกูลกัน ในหมู่กลุ่ม ชาวอโศก ผลิตภัณฑ์รับประกันคุณภาพโดย
ต.อ. คุณแก่นฟ้า : เรามีผลิตภัณฑ์ประมาณ ๖๐-๗๐ ชนิดในปัจจุบัน เราคำนึงถึง ผู้บริโภคอย่างมาก เพราะเราบริโภคเองด้วย จึงต้องคำนึง ถึงคุณภาพ เพราะฉะนั้น ในชาวอโศกเอง เราจะมีฝ่าย ต.อ. ซึ่งย่อมาจาก หน่วยตรวจสอบ และพัฒนาคุณภาพ ผลผลิตชาวอโศก ทำงานประสานกับ อ.ย. (สำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยา) หาข้อมูลมา เพื่อพัฒนาสินค้า สินค้าของชาวอโศก จะต้องมี ต.อ. ตรวจสอบ ทั้งราคา และคุณภาพสินค้า เรามีต.อ.กลาง ซึ่งอยู่ที่ สันติอโศก กรุงเทพฯ และที่ปฐมอโศก จังหวัดนครปฐม กับต.อ.ชุมชน อยู่ที่แต่ละชุมชน ในต่างจังหวัด ต.อ.ชุมชน จะต้องมี ต.อ.กลาง มาตรวจ ถ้าตรวจพบว่า สินค้าไม่ได้มาตรฐาน ที่ตั้งไว้ ก็ให้หยุดการผลิต สินค้าชนิดนั้น จนกว่า จะได้รับการพัฒนา ต.อ.กลาง จะต้องหาข้อมูล ในการที่จะพัฒนา แนวทางการผลิต ขายสินค้าราคาต่ำกว่าทุน ผู้ใหญ่บ้านขวัญดิน : เนื่องจากชาวอโศก ผลิตสินค้า มากมายก่ายกอง อาจารย์ถามว่า เอาสินค้าที่โละ ไปขายที่ราชธานีอโศก ไม่ใช่นะคะ สินค้าเราไม่มีสินค้าโละ เป็นสินค้า ที่ผลิตอย่างดี เพื่อนำไปขาย ตรงนั้น ชาวอโศกจะดูความต้องการ ของตลาด เราจะผลิต ให้พอดี ไม่ให้ล้น และ มีการตรวจสอบอย่างดี จากหน่วยงาน ต.อ. ก่อนนำไปขายที่อื่น คุณแก่นฟ้า : งานตลาดอาริยะ ไม่ได้มีเฉพาะ สินค้าชาวอโศก แต่จะมีสินค้า ทั่วๆ ไปด้วย เช่น ญาติธรรมชาวอโศก อาจเป็นเจ้าของ โรงงานทอผ้า เจ้าของโรงงาน จักรยาน ก็นำเสื้อผ้า ตัวละ ๒๐๐ บาท มาขายตัวละ ๕๐ บาท หรือ นำจักรยาน คันละ ๒,๐๐๐ บาท มาขาย ในราคา ๑,๐๐๐ บาท แล้วแต่ว่า เขาจะเอากำไรอาริยะเท่าไร หรือญาติธรรม ซึ่งไม่มีแรงงาน ที่จะนำของไปขาย ก็สามารถ นำเงินมาให้ชุมชน เพื่อนำไปจัดหาสินค้า มาจำหน่าย ในราคาต่ำกว่าทุน เพราะฉะนั้น งานตลาดอาริยะ แต่ละปี จะมีคนไปเยอะมาก ร่วมๆแสนคน การศึกษาเรียนรู้ของชาวอโศก ผู้ใหญ่บ้านขวัญดิน : การจัดการศึกษา และกระบวนการเรียนรู้ ของชาวอโศก เป็นกระบวน การเรียนรู้ ทั้งกระบวนการ หมายความว่า นักเรียนก็จะมี โรงเรียน ให้เรียน อย่างที่กล่าวข้างต้น ส่วนผู้ใหญ่ จะมีการเรียนรู้ อย่างผู้ใหญ่ จะมีทำวัตรเช้า เวลา ๐๓.๓๐ น. แล้วก็มี เรียนธรรมะ ตอนเย็น ทำวัตรเย็น แล้วยังมีการเรียนรู้ จากสื่อต่างๆ เช่น ที่ศีรษะอโศก มีการรับสื่อ จากจานดาวเทียม รับรู้เรื่องราวต่างๆ โดยสรุป คือ การเรียนแบ่งเป็น ๓ อย่าง คือ ๑. โลกุตระ ( ถึงความเป็นไปได้จริง ) ๒. โลกวิทู ( รู้เท่าทันโลก ) และ ๓. โลกานุกัมปายะ ( ถึงความช่วยเหลือ เกื้อกูล มนุษยชาติอื่นๆ ) นอกจากเรียนในวัด ในชุมชนแล้ว ยังมีการจัดงาน ที่เข้มข้นอีก ๒ งาน คือ งานปลุกเสก พระแท้ๆ ของพุทธ จัดที่ศีรษะอโศก จ.ศรีสะเกษ และงานพุทธาภิเษกฯ ที่ศาลีอโศก จ.นครสวรรค์ งานนี้คือ การฝึกจริงๆ ใครจะมาจากไหน ก็ตามแต่ ต้องฝึกนอน ตามโคนไม้ มีตารางงาน ให้ผู้เข้าอบรม ได้ฟังธรรม ตลอดจน แลกเปลี่ยน ประสบการณ์ จากการปฏิบัติธรรม นำมาเล่าสู่กันฟัง ส่วนงานอื่นๆ เช่น งานอโศกรำลึก งานมหาปวารณา และงานปีใหม่ ทำให้ทุกคน ได้พบปะและ ไม่ตกข่าว ในแวดวง ชาวอโศก ดร.เสรี : กรุณาอธิบายแนวคิดของคุณแก่นฟ้าที่ว่า ถ้าชุมชนจัดการศึกษาได้ ชุมชนจะเข้มแข็ง ? คุณแก่นฟ้า : ประเด็นแรกก็คือ ระบบการศึกษาในปัจจุบัน โดยกระทรวงศึกษาธิการ ไม่สามารถ ตอบสนอง ความต้องการ ของชุมชนได้ อีกประเด็นก็คือ โลกการศึกษา ทุกวันนี้คือ เครื่องมือขโมยลูกหลาน ที่มีสติปัญญาดี ของชุมชน ออกไปจากชุมชน เหลือเฉพาะ คนที่มีสติปัญญาต่ำๆ ทิ้งไว้ให้กับชุมชน แล้วอย่างนี้ ชุมชนจะพัฒนา ได้อย่างไร ระบบการศึกษา ในปัจจุบัน นอกจาก จะไม่ได้เพิ่ม เรื่องคุณธรรม และจริยธรรม ให้กับเด็กนักเรียนแล้ว ยังลดทอนคุณธรรม และ จริยธรรมเดิม ที่มีอยู่ นั่นคือ ลดทอนประสิทธิภาพ ความสามารถ แห่งความเป็นมนุษย์ของเขา ที่มีอยู่ ให้ลดต่ำลงไป เพราะฉะนั้น ชุมชนชาวอโศก จึงมีแนวคิดว่า ถ้าชุมชน สามารถ จัดการศึกษา ขึ้นมาได้เอง ก็คงจะตอบสนอง ความต้องการ ของชุมชนได้ดี เรามั่นใจว่า เมื่อชุมชนเข้มแข็ง ประเทศชาติ ก็จะมั่นคง เพราะประเทศชาติ จะอยู่ได้ ก็ต่อเมื่อ มีชุมชนที่เป็นรากหญ้า ยึดไว้ให้เข้มแข็ง ด้วยเหตุนี้ เราจึงจัดระบบการศึกษา ของชุมชนขึ้นมา โดยมีปรัชญา การศึกษาว่า ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา ส่วนหลักสูตร การเรียนการสอน ชุมชนจัดเอง โดยมุ่งที่คุณธรรม จริยธรรมเป็นหลัก เพราะฉะนั้น เด็กนักเรียนที่นี่ ต้องมาฝึกตน ให้รอดพ้น จากอบายมุข ฝึกให้เรียนรู้ เล่ห์เหลี่ยม แง่มุม ของอบายมุขทุกอย่าง ที่มีในสังคม นี่คือ เรื่องของคุณธรรม จริยธรรม อย่างน้อยเด็กๆ ที่จบไปแล้ว ต้องมีคุณภาพ พึ่งตนเองได้ จนเป็นที่พึ่ง ของสังคม ประเทศชาติ ดร. เสรี :ขอถามคุณอุ่นเอื้อ ซึ่งเป็นนักเรียนศิษย์เก่าที่นี่ว่า เริ่มต้นเรียนอะไร แล้วเรียนอย่างไรบ้าง ? คุณอุ่นเอื้อ : ดิฉันต้องออกตัวก่อนว่า ในสังคมประเทศไทย มีคนอย่างดิฉัน ที่ถูกสบประมาทว่า เป็นคนที่ ไม่น่าจะเอาตัวรอด น่าจะเป็นภาระ ของสังคม เพราะเป็นคน ที่อ่อนแอ ในสมัยก่อน ไม่ค่อยกล้า คล้ายๆกับ พึ่งตัวเอง ไม่ค่อยได้ แต่พอมาเรียนที่นี่ กลับรู้สึกว่า ที่นี่สอนสิ่งที่ สมัยก่อนไม่เคยมี เมื่อดิฉัน เป็นคนที่มีศีล ๕ จึงมีการพัฒนาตนเองมา จนทุกวันนี้ นี่คือคำขวัญ "ศีลเด่น" และ เมื่อพัฒนา ตัวเองได้แล้ว เรื่องของการงาน เรื่องของวิชาการ หรือเรื่องอะไรก็ตาม จะพัฒนา ขึ้นมาเรื่อยๆ อันที่ ๒ คือ "เป็นงาน" ฝึกเรื่องการทำงานให้เป็น ในช่วงแรก ดิฉันทำงานไม่เป็น ถึงแม้ที่บ้าน ฝึกมาขนาดหนึ่งก็ตาม แต่ที่วัด ที่โรงเรียน จะสอนให้ทำงาน ตื่นขึ้นมา ก็ทำงาน คือทำกิน เราต้องพึ่งตัวเอง เราเรียนหนังสือ แบบเรียนฟรี ไม่มีค่าเทอม แต่ต้องปลูกข้าวกินเอง ปลูกเห็ดกินเอง ทุกอย่างต้องพึ่ง ตัวเองหมด ทำงานแล้ว ต้องเรียนหนังสืออีก วิชาที่เรียน สอดคล้องกับ สิ่งที่เรา จะต้องทำ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ ก็เรียนที่เกี่ยวกับ เรื่องของการทำงาน วิชาวิทยาศาสตร ์ก็เกี่ยวกับฐานงาน ทุกอย่างสอดคล้องกัน ไม่มีอะไรที่ต้องเรียน ออกนอกประเด็น สมณะท่าน สอนธรรมะทุกวัน ในสมองนักเรียน ก็มีแต่ธรรมะ เรียนจบแล้ว เหมือนอยู่ในโลก อีกโลกหนึ่ง คือโลกของธรรมะ เรียนจบ ม.๖ เหมือนอยู่ในโลก ของธรรมะเลย ดร.เสรี : เกี่ยวกับการศึกษาแบบบูรณาการ เท่าที่ศีรษะอโศกปฏิบัติมา เป็นบูรณาการแบบไหน กรุณายกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมสักเรื่อง ? คุณแก่นฟ้า : ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ก็คือว่า ชุมชนของเรา เสียค่าเชื้อเพลิง ค่อนข้างมาก เราเคยซื้อแก๊ส เคยหาฟืนมา เพื่อจะใช้ในการหุงต้ม แต่ต่อมา เราคิดจะใช้เตาแกลบ จึงให้นักเรียน ลงมือทำเตาแกลบ อย่างน้อย เราได้ขี้เถ้า และเด็กก็ได้เรียนรู้ เขาได้ขี้เถ้าจากแกลบ ที่อยู่ในโรงสี พอเริ่มทำเสร็จแล้ว เป็นการฝึกฝีมือเขา ในการทำเตาแกลบ ต้องมีการวัดระดับน้ำ ในเชิงช่าง เราก็สอน วิชานี้ลงไป ในขณะที่มือเขาทำงาน เราก็สอนวิชานี้ลงไป ผมจบด้านวิศวะมา ผมก็สอนในเรื่อง ตรีโกณมิติ เสริมเข้าไป ซึ่งในเวลา แค่ชั่วโมงเดียวที่สอน ปรากฏว่า เด็กๆเขาจำได้ เขาใช้งานได้เลย พอเขาจับฉาก ก็ใช้ตรีโกณมิติได้เลย พอทำเสร็จแล้ว การเผาไหม้ มีสูตรเคมี เพื่อให้คำตอบว่า การเผาไหม้แกลบ มีอะไรบ้าง เอาแค่ ๓ ภาค ยกตัวอย่าง แค่ในกระบวนการ ที่เราใช้งานตอนนี้ มีธาตุอยู่แค่ ๓ ตัว คือ ๑. คาร์บอน ๒.ออกซิเจน ๓.ไฮโดรเจน มี ๓ ตัวเท่านั้น ภายในกระบวนการทำงาน เด็กนักเรียน จะได้เรียนรู้ สมการเคมี ของธาตุทั้งสามนี้ไปด้วย โดยปริยาย และ สามารถ นำความรู้นั้น มาใช้งานได้ทันที กระบวนการ เรียนรู้ของนักเรียน ก้าวถึงขั้นที่ เด็กมัธยม ๓ ได้เรียนรู้ เกี่ยวกับ ระบบเทอร์โมไดนามิก ไม่ต้องรอไปเรียน ถึงขั้นปริญญา เด็กๆสามารถเชื่อมโยง การเรียนรู้ ระบบเทอร์โมไดนามิค สู่เรื่อง เครื่องปรับอากาศได้ ในอนาคต การเรียนการสอน ภายในชุมชน ไม่ใช่การสอนทฤษฎี เฉพาะในห้อง แต่มีการเรียน การสอน หน้างาน ครูอาจนำเด็ก ทำโครงสร้าง ราคา ๔ ล้านกว่าบาท มีแบบทางด้าน สถาปัตย์ แบบทางด้าน วิศวกรรมศาสตร์ ผมนำแบบ มากางให้เด็กดู แล้วสอนเด็กอ่านแบบ เด็กก็จะอ่านแบบได้ บอกว่านี่คือ แบบฐานราก แบบระยะนั้น ระยะนี้ แล้วสอนให้จัดระดับ ใช้กล้อง เซอร์เวย์จับ เด็กชั้นมัธยมปลาย สามารถทำได้แล้ว ไม่ว่างานเชื่อม งานอ๊อกซ์ ทั้งที่แต่เดิม เด็กจะทำอะไรไม่เป็น ผมสอนการเชื่อม การอ๊อกซ์ การคำนวณ ทุกอย่าง เขาก็ได้ระดับหนึ่ง ถึงแม้ไม่เก่งมาก แต่เขาสามารถ ผมทำเป็นแบบให้แล้ว เขาสามารถ ทำตามแบบได้ สามารถคำนวณ ง่ายๆได้ ผู้ใหญ่บ้านขวัญดิน : จริงๆแล้ว โดยหลักสูตร ของกระทรวงศึกษาฯ ในชั้นมัธยม ศึกษาตอนต้น จะไม่สอนวิชาเคมี ฟิสิกส์ จะแบ่งตัดตอน ไปสอนในชั้นม.ปลาย แต่ในกระบวนการเรียนรู้ของ ชุมชนชาวอโศก เราจะเอาอะไร จะเหมาะกับเด็ก ในชั้นไหน เราไม่ได้แบ่งอย่างนั้น แต่งานนั้น จะเกี่ยวข้องกับอะไร เราจะเอามา สอนหมดเลย เช่น ในวิชาทำเตาแกลบ อย่างเดียวนั้น เด็กจะได้เรียนรู้ ตั้งแต่ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม ฯลฯ นี่คือ บูรณาการ ทั้งหมด ต่างกับ หลักสูตรการศึกษา ของประเทศเรา ในขณะนี้ ที่แบ่งเป็นชั่วโมงๆ มีชั่วโมง ภาษาอังกฤษ ชั่วโมงคณิตศาสตร์ ชั่วโมงภาษาไทย สังคม เด็กเรียนไป ก็ลืมหมด แต่กระบวนการเรียน ของชาวอโศก เด็กเรียนจาก การทำงาน เด็กจะไม่ลืม และจะสามารถ จดจำได้อย่างดี แม้แต่เด็ก ที่เรียนอ่อนที่สุด เมื่อสร้างงานชิ้นนี้ ขึ้นมาแล้ว เด็กๆภาคภูมิใจมาก เตาแกลบของเขา มีประสิทธิภาพสูง ต้มให้น้ำเดือด ภายใน ๑๐ นาที เวลาคนมาเยี่ยมชม เขาสามารถอธิบายได้ เขารู้กระบวนการจัดการ การหาปริมาตร และทุกๆอย่างทั้งหมดนี้ คือ การบูรณาการหลักสูตร ดิฉันคิดว่า หลักสูตรการศึกษาแนวหลัก ในประเทศไทย ยังไม่ลงลึกขนาดนี้ นักเรียนหลายคน จบการศึกษาแล้ว ยังคงทำงาน ในชุมชน เช่น มีการจัดตั้ง คณะวิศวกรรมชุมชน ซึ่งสอดคล้อง และสนองตอบ ความจำเป็น ภายในชุมชน ระยะเวลาเรียน ตามหลักสูตร คือ ๖ ปี แต่ใครที่เรียนแล้ว มาตรฐานไม่ถึง อาจเรียนถึง ๑๐ ปีก็ได้ หากจบ จะได้ปัญญาบัตร และสืบทอดความรู้ ให้รุ่นน้องได้ต่อไป ดร.เสรี : ท่านช่วยอธิบายคำว่า ปัญญาบัตร จะใช้วิธีการวัด หรือ ประเมินผลอย่างไร ในการให้นักศึกษา เรียนจบ ตามหลักสูตร ที่กำหนด ? คุณแก่นฟ้า : ในฐานะชาวพุทธ ปัญญาบัตร วัดตามที่ สมณะโพธิรักษ์ตั้งไว้ ผู้ได้ปัญญาบัตร คือ พระโสดาบันครับ ดร.เสรี : ชุมชนโรงเรียนมีการให้ความรู้ ความเข้าใจ เรื่องสังคมภายนอก แก่เด็กๆ อย่างไร ? คุณแก่นฟ้า : ความจริงคนในชุมชนและเด็กๆ เขารู้ดีอยู่แล้วว่า สังคมข้างนอก เป็นอย่างไร อันที่จริง ปัญหาหนักของเรา คือ เราต้องการให้เด็กรู้ว่า ความเข้าใจต่อ สังคมบุญนิยม เป็นอย่างไร มากกว่า ดร.เสรี : ท่านคิดว่าหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ควรปรับเปลี่ยนอย่างไร จึงจะสนอง ความต้องการ ของชุมชนได้ ? คุณแก่นฟ้า : ทำอย่างสัมมาสิกขาลัยวังชีวิตครับ ดร.เสรี : อยากทราบว่าวิถีชีวิต ของชาวชุมชนศีรษะอโศก ดำเนินไปอย่างไรนะครับ ? คุณแก่นฟ้า
: ผมจะเล่าตั้งแต่
๐๓.๓๐ น. ตื่นนอน ทำวัตรเช้า ดร.เสรี : มีขบวนการจัดการหรือแบ่งปันผลประโยชน์ในชุมชนอย่างไร ? คุณแก่นฟ้า : คนในชุมชนนี้ ทุกๆคนทำงานฟรี ไม่มีเงินเดือน คนในชุมชน ตั้งใจจะมาอาสาสมัคร หรือตั้งใจ จะมาเป็นคนจนให้ได้ เพราะฉะนั้น ในเรื่อง การให้ผลตอบแทน จึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ปัญหาที่เราเจอ ไม่ใช่เรื่องที่ว่า เราจะจัดสรร ผลประโยชน์อย่างไร ปัญหาอยู่ที่ว่า เราจะเอาเงิน ออกจากกระเป๋า ชาวชุมชนได้อย่างไร อย่างแม่ผม มีเงินเข้าไปเกือบล้าน ไม่นับที่บ้านอีกนะครับ อย่างพ่ออาจารย์ขวัญดิน ก็มีหลายล้านนะครับ ทำอย่างไรจะเอาเงิน จากพ่ออาจารย์ ขวัญดิน เอาเงินจาก คุณแม่ผม เข้าไปให้ชุมชนได้มาก เพราะคนในชุมชน ที่เข้าไปส่วนใหญ่ เขาจะมีเงิน ติดตัวเข้าไป อยู่จำนวนหนึ่ง ทำอย่างไร เราจะพูด ให้เขาเกิดจาคะ เกิดการเสียสละ เอาเงินนั้น เข้าไปในชุมชน มาใช้ประโยชน์ ให้กับชุมชน และมนุษย์ นี่คือสิ่งที่ เราพยายามทำ ดร.เสรี : บทเรียนการเมือง ที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง ดำเนินการอยู่นั้น แตกต่าง หรือเหมือนกัน กับชุมชนศีรษะอโศก ? คุณแก่นฟ้า : แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะเราต้องการ จะทำการเมือง ในระดับ อาริยชน เราแบ่งการเมือง ออกเป็น ๓ ระดับ คือ ๑. การเมืองแบบปุถุชน มีการแย่งลาภ ยศ สรรเสริญ กอบโกยโกงกิน การเมืองแบบนี้ มีอยู่ทั่วโลก ๒. การเมืองแบบ กัลยาณชน คือ ตั้งใจทำงาน ให้กับประชาชน ตั้งใจดี ยังมีผล ตอบแทนอยู่บ้าง แต่ไม่น่าเกลียด และไม่ประเจิดประเจ้อ เท่ากับการเมือง แบบปุถุชน และ ๓. การเมืองอาริยชน คือผู้ที่มา ทำงานการเมือง ต้องมาเสียสละ ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีทรัพย์สิน บ้านช่องเรือนชาน ทรัพย์ศฤงคาร ลาภ ยศ นี่คือการเมือง ของระดับ อาริยชน ซึ่งเราต้องการ ให้เป็นอย่างนั้นนะครับ เราต้องฝึกคน ให้มีจิตสาธารณะ มีจิตอาสา คืออาสาที่ไป รับใช้ประชาชน รับใช้ชาติ แล้วจะเกิด จิตอาริยะ คือจิต ที่หลุดพ้นนะครับ จิตหลุดพ้น จากความเป็นทาส ของพวกทรัพย์สินต่างๆ หลุดพ้นจากลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ดร.เสรี : มีคำถามของคนจำนวนไม่น้อยที่บอกว่า ชาวอโศกหลุดโลกหรือเปล่า ตอบว่ายังไงครับ ? คุณแก่นฟ้า : ปัญหานี้ ผมว่าชาวอโศกตอบตรงๆว่า หลุดโลกจริง เราหลุดจาก โลกทุนนิยม ทีนี้ถามต่อว่า หลุดโลกทุนนิยมแล้ว เราหลุดไปไหน เราไม่ได้หลุดไปไหน เราก็อยู่กับทุนนิยมนั่นแหละ ชาวอโศกทุกวันนี้ ก็อยู่ในโลกทุนนิยมนั่นแหละ แต่เราอยู่โดย ไม่ให้ทุนนิยม มาทำร้ายเราได้ ถ้าผมจะ ขอเปลี่ยนคำพูดใหม่ จะได้ไหมครับว่า เราอยู่เหนือโลก ของทุนนิยม เราไม่ได้หลุดไปไหน บทสรุป ชุมชนอโศก ก็คงจะลักษณะคล้ายคลึงกัน ผมคิดว่าเป็นอุดมคติ ที่คนจำนวนหนึ่ง สามารถอยู่ได้ แล้วทำให้เป็นวิถีชีวิต ของตนเองได้ ผมคิดว่าตรงนี้ มีความสำคัญมาก สำหรับสังคมไทย ไม่ใช่เราจะต้องเอา แบบสันติอโศก แล้วก็ทำให้เป็นอย่างอโศก ทั้งประเทศไทย ประเทศไทย เปลี่ยนชื่อว่าประเทศอโศก ทำนองนั้น คงไม่ใช่ และคงเป็นไปได้ยาก แต่สิ่งที่เป็นไปได้ ก็คือ ชุมชนชาวอโศก ทำให้เราเชื่อว่า สิ่งที่เราคิดว่า เป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปได้ไงครับ มันไม่ใช่เพียงความฝัน แต่เป็นยูโทเปีย ... ยูโทเปียไม่ใช่หลุดโลก ยูโทเปียคือ สิ่งที่เป็นความคิด อันสูงส่ง ที่ทำให้เกิดขึ้น ในชีวิตจริงได้ ตรงนี้ผมก็เห็น ความสำคัญ ผมไม่ใช่ชาวอโศก ผมไม่ได้ปฏิบัติแบบนั้น แต่ผมเห็นว่า นี่คือความหมาย ด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากให้เรารู้ ทั้งกระบวนการว่า ถ้าจะเป็นถึงขั้นนี้ได้จริงๆ แปลว่า กระบวนการเรียนรู้ทั้งหมด มีความสำคัญอย่างยิ่ง ตรงนี้ต่างหาก ที่ทำให้เรามาคิดว่า สังคมไทย ถ้าจะปฏิรูป ถ้าจะเปลี่ยน ถ้าจะพึ่งตนเองได้นี่ จะรูปแบบไหน ก็แล้วแต่ จะต้องเรียนรู้ใหม่ครับ และการเรียนรู้ใหม่ จะต้องเรียน อย่างน้อย ๓ อย่าง ที่ผมคิดว่าเราอาจจะเป็นแบบอโศกก็ได้ ไม่เป็นแบบอโศกก็ได้ อย่างที่ ๑ เราจะต้อง เรียกความเชื่อมั่น ในตัวเองของเรา กลับคืนมาให้ได้ เราสูญเสียความเชื่อมั่นไปหมด เราดูถูกตัวเอง ดูถูกภูมิปัญญาของเรา เราไม่เคยเห็นคุณค่า ของสิ่งที่เรามี ภูมิปัญญาของเรา ของบรรพบุรุษ แล้วเราก็ล้มเหลว มาโดยตลอด รัฐส่งเสริมอะไร ชาวบ้านก็ล้มเหลว เป็นหนี้เป็นสิน ไม่มีทางแก้ได้ คนเราเมื่อผิดพลาด ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็สูญเสียความเชื่อมั่น ของตัวเอง เราดูถูก ตัวเองมากขึ้นทุกที และผมคิดว่าตรงนี้ เป็นประเด็นที่ ชาวอโศกได้ชี้ให้เห็นว่า เขาค้นพบตัวเอง เขาต้องค้นพบตัวเองให้ได้ แล้วเกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง ในอีกรูปแบบหนึ่ง อันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ อย่างที่ ๒ คือว่า ทำอย่างไร เราถึงจะเอาความสัมพันธ์ กลับคืนมา การพัฒนาสมัยใหม่ ตัดขาดผู้คน ออกจากกัน ชาวอโศก ได้สร้างความสัมพันธ์ใหม่เกิดขึ้น เป็นชุมชนใหม่ ที่มีความสัมพันธ์ มีความเป็นพี่ เป็นน้อง มีการอยู่ร่วมกัน มีการแบ่งปัน มีการช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน สิ่งที่สังคม สมัยใหม่นี้ขาด สังคมในอดีตนั้น เรามีความสัมพันธ์ แบบนี้มาโดยตลอด สัมพันธ์กับธรรมชาติ เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง สัมพันธ์กับผี สัมพันธ์กับดิน น้ำ ป่า จักรวาล ผู้คนในอดีต ไม่เคยเหงา อยู่คนเดียวในป่า ในธรรมชาติ ก็ไม่เคยเหงา แต่คนทุกวันนี้ อยู่ในกรุงเทพฯแท้ๆ ยังเหงาเลยครับ ทั้งๆที่มีทุกอย่าง มีทั้งคน ทั้งทีวี มีเพลง อะไรทุกอย่าง ก็ยังเหงา ยังฆ่าตัวตาย มากมายเหลือเกิน ผมว่าความสัมพันธ์ มันหมดไปกับการพัฒนา ทำยังไงจะเอาความสัมพันธ์ กลับคืนมา อาจจะเป็น แบบอโศกก็ได้ จัดความสัมพันธ์ใหม่ จัดองค์กร จัดชุมชน จัดเครือข่ายใหม่ และ ต้องพึ่งพา อาศัยกัน ในลักษณะนั้น อย่างที่ ๓ ก็คือว่า จะต้องมีการจัดการใหม่ทั้งหมด อยู่อย่างเก่า เป็นไปไม่ได้ เพราะดิน ก็น้อยลง น้ำก็น้อยลง ป่าและทรัพยากรน้อยลง ทำอย่างไร ถึงจะจัดการ ในความจำกัด ของทรัพยากร ที่เหลืออยู่ จะเป็นสาธารณโภคี หรือจะเป็นอะไร ก็แล้วแต่ ผมคิดว่าอโศก ได้มีวิธีการจัดการ ทุกอย่าง เหล่านี้ใหม่แล้วทุกอย่าง ทั้งหมดนี้ จะต้องมีการเรียนรู้ใหม่ ขบวนการเรียนรู้ ที่ชาวอโศกได้ให้ ก็คือ สิ่งที่พระราชบัญญัติ การศึกษา ฉบับใหม่ ได้พูดถึงทั้งหมด ผมมีความชื่นชม ที่เห็นว่า สิ่งที่ พ.ร.บ.การศึกษา พุทธศักราช ๒๕๔๒ พูดถึง คือ สิ่งที่ชาวอโศก ได้กระทำมานาน และกำลังกระทำต่อไป นับเป็นต้นแบบ ที่น่าชื่นชม และน่าไปเรียนรู้ว่า เขาทำแบบนั้น ได้อย่างไร ? คุณปรีชา: สิ่งที่พูดกันมาเมื่อฟังแล้ว ทำให้เกิดพลัง เกิดไฟ แต่เมื่อมองโลกกว้าง เราย่อมโชคดีกว่า หลายคน ที่ไม่มีโอกาสเหมือนเรา ในสังคมในชุมชนเรา ก็โชคดี อีกหลายคน กำลังรอผู้นำ ขอให้ท่านคิด และเริ่มต้นที่จะทำ บางครั้ง แม้จะเหน็ดเหนื่อย ต้องทุ่มเทก็ตาม แต่นั่นคือ ความภาคภูมิใจ ผู้ใหญ่บ้านขวัญดิน
: ตอนนี้บ้านเมืองเราลำบาก ตึกรามหรูหรา
แต่ลึกๆ เราเป็นหนี้ ทำอย่างไร จะให้เราพ้น ความเป็นทาส การเป็นทาสครั้งนี้
น้อยคน ที่จะรู้ว่า ตัวเองเป็นทาส ไม่เหมือนการเสียกรุง ครั้งที่ ๑ ครั้งที่
๒ เพราะอันนั้น เป็นการเสียกรุงที่ชัดเจน แต่ครั้งนี้นี่ ไม่ชัดเจนเลย
ทำให้คนยังหลงระเริงอยู่ ดิฉันประทับใจ บทกลอนหนึ่ง ซึ่งน่าคิด และสอดคล้องกับ
เศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงที่ว่า คุณอุ่นเอื้อ : จากที่ไม่รู้ ได้รู้ ได้ทำ ได้เป็นตัวจริง จากที่เคยคิดแต่ จะทำอะไร เพื่อตัวเอง แต่มาใน วันนี้ ในฐานะที่ประเทศชาติเรา กำลังอยู่ในยุคปัจจุบัน ก็คือ ยุคของความเป็นหนี้ คิดว่าความสุข ความสบาย หรืออะไรก็ตาม ที่ได้มาเพื่อตัวเราเอง มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าหากคนไทย ยังไม่ร่วมมือกัน ยังไม่เสียสละความเป็นตัว ของตัวเองมา ไม่ช่วยกัน ประเทศชาติ ก็ไปไม่รอด ร้อยรู้ไม่สู้หนึ่งทำ ทุกคน ต้องมาช่วยกัน คุณแก่นฟ้า
: ในภาวะบ้านเมืองเป็นอย่างนี้
ผมขอฝากกลอนให้ทุกท่าน ดังนี้ครับ * ผู้สนใจเท็ปงานเสวนา เศรษฐกิจชุมชน : ทางเลือกเพื่อทางรอดสังคมไทยฯ แบบเต็มๆ ติดต่อธรรมทัศน์สมาคม โทร.๐-๒๓๗๕-๔๕๐๖ ส่วนผู้สนใจชุมชนศีรษะอโศก ติดต่อ ๐-๔๕๖๓-๕๖๙๑ , ๐-๔๕๖๓-๕๗๖๗ หรือที่ E-mail : [email protected] |
|
สารอโศก อันดับ ๒๓๕ หน้า ๑๑๘ - ๑๒๙ เมษายน ๒๕๔๔) |