จากโลกีย์ ถึงโลกุตระ

หนังสือพิมพ์สารอโศก อันดับที่ 235
เดือน เมษายน 2544
หน้า 1/1

 

จากโลกีย์ ถึงโลกุตระ

ชื่อเดิม น.ส.วงศ์ศิลป์ คำชาลี
ชื่อใหม่ น.ส.วงศ์ศีล นาวาบุญนิยม
เกิด ๗ ตุลาคม ๒๕๐๓
ภูมิลำเนา จ.อุดรธานี
พี่น้อง ๑๒ คน เป็นคนที่ ๑๑
การศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) สาขาบัญชี จ.ขอนแก่น
อาชีพเดิม พนักงานบัญชีบริษัทแบร์นซีวู๊ด อินดัสตรี จำกัด

ปกติสนใจธรรมะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เคยไปศึกษาดูจากที่ต่างๆหลายแห่ง แต่ไม่ประทับใจอะไร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ ยืนรอรถเมล์อยู่หน้าร้านขายของชำ ของคุณกานดา (ไฟเย็น) ซึ่งเปิดเท็ปธรรมะ เสียงดังมาก เกิดความสนใจจึงถามดูว่า ธรรมะของวัดไหน เมื่อทราบจึงไปศึกษาดู (ที่สันติอโศก) ได้ฟังธรรมจาก ท่านสมชาติโก ประทับใจมาก เพราะเทศน์ได้ตรงกับ กิเลสของตนพอดี ตั้งแต่นั้นมา จึงไปวัด ทุกวันอาทิตย์ เป็นคนชอบแต่งตัว เคยผมยาว ใส่กระโปรงสั้นแหวกหน้า แหวกหลัง แหวกข้าง ใส่รองเท้าส้นสูง ใส่ต่างหู ก็ตัดทอนลดไปทีละอย่าง และสุดท้ายคือ ลิปสติก ซึ่งตัดยากที่สุด แต่สุดท้าย ก็เลิกได้หมด

ปี ๒๕๓๔ ลาออกจากงาน แจกชุดทำงานให้เพื่อนๆ และเข้าวัดเลย เลือกที่พุทธสถาน ปฐมอโศก เพราะประทับใจ ได้เคยมา ร่วมกินข้าวหาด ที่นี่เป็นประจำ

มาอยู่วัด ครั้งแรก ทำอาหารที่ ชมร.นฐ. (ชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย สาขานครปฐม) ได้ ๖ เดือน ชวนพ่อแม่ มาอยู่ด้วย หลังจากนั้น ได้เป็น ผรช. (ผู้รับใช้กลุ่ม) ต่อมาพ่อแม่ไม่สบาย จึงเปลี่ยนไป ช่วยงาน ที่ศาลาสุขภาพ และหน่วยงานปุ๋ยสะอาด ต่อมามีคนมาช่วย จึงเปลี่ยนมาทำงานที่ บ้านอารมณ์ดี ทำอาหาร กับช่วยดูแล ฟื้นฟูผู้ป่วย และรณรงค์ชาวชุมชน ให้สนใจการออกกำลังกาย จนถึงปัจจุบัน ขณะนี้ชาวชุมชน ออกกำลังกาย ด้วยตนเองได้มากขึ้น จึงแบ่งเวลา ไปช่วยงานด้าน กสิกรรมไร้สารพิษ ซึ่งกำลังรณรงค์กันมากในปีนี้ (ปี ๒๕๔๔)

อุปสรรคและปัญหาเมื่อมาอยู่วัด ปัญหามีมากเลย การทำงานกับคน ถ้าเรายอมไม่เป็น อยู่ยาก และในที่สุด อยู่ไม่ได้เลย ต้องยอม จึงจะอยู่ได้และ แข็งแรงได้ เพราะครูของเรา คือคนที่เราร่วม ทำงานด้วย ส่วนอุปสรรค คือกิเลสของเรา เช่น พอเรามีพลัง เราก็รับงานหลายหน้าที่ รับหลายหน้าที่ ทำงานไม่ทัน หรือไม่ครบ ตามที่รับงานนั้น เกิดความไม่ลงตัว จิตไม่สงบ ทำให้เหนื่อยใจมาก เกิดอาการ อยากจะไปอยู่ที่อื่น ให้ไกลให้มากที่สุด ไม่อยากอยู่วัด อยากไปให้ไกลจากวัด จิตมันดิ้นมาก อยากออกไป

วิธีแก้ปัญหา คุยกับสิกขมาตุ ได้รับการชี้แนะว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรเป็นเส้นทาง แห่งพุทธ อะไรไม่ใช่เส้นทาง แห่งพุทธ คุยกับสิกขมาตุแล้ว ก็ทำให้กลับตัว กลับใจได้ แต่ก็ใช้เวลา ประมาณ ๑ อาทิตย์ ก็ได้สติ กลายเป็นคนเก่า แต่จิตใหม่ คราวนี้รับงาน ได้มากกว่าเดิม ไม่มีปัญหา ทุกอย่าง มันขึ้นอยู่ที่ใจ และต้องหมั่น ทบทวนตัวเอง (เตวิชโช) ทุกวันทุกคืน ในสิ่งที่เรา กระทำลงไป ไม่ว่าจะเป็นงาน บุคคล หรือแม้แต่ สิ่งของ ที่เป็นองค์ประกอบ ในการทำงานของเรา ก็จะทำให้เรา จิตสงบขึ้น เห็นว่า เราบกพร่องตรงไหน จุดใด เราก็พยายาม ปรับปรุงแก้ไข

ความแตกต่าง โลกีย์-โลกุตระ แตกต่างมากเลย สมัยอยู่ทาง โลก เพื่อนๆจะชวน ไปในทิศทาง ของโลกีย์ พาไปเที่ยวดูหนัง ดูละคร ฟังเพลง เที่ยวกลางคืน ก็ไปตามเขา

พอมาสู่เส้นทางโลกตุระ ก็ได้ลดละในสิ่งที่เราติดเราอยาก ก็จะมาค่อยๆลดลงๆ มันก็จะไม่ทุกข์ การมาลดละ ในสิ่งที่เราติด เราอยาก เพราะเราอยากมีความสุข ถึงแม้เรายังอยาก ในเรื่องกิน แต่เราก็อดกลั้น อดฝืนได้ จิตมันก็ ไม่ทุกข์เท่าไหร่ ไม่เหมือนสมัย อยู่กับสังคมโลกโลกีย์

อะไรที่ยากที่สุดในการปฏิบัติ ตอนนี้ที่ยากที่สุดสำหรับตัวเองก็คือ เรื่องของการกิน รสเค็ม เพราะ อาหารรสกลมกล่อม ทุกคนก็อยากจะกินแบบนั้น แต่อาหารรสจืด คนก็กินได้ยาก ถ้ากินเค็มมาก ฝ้ามันก็ขึ้น และกินอาหารที่มันมาก ก็จะทำให้ถ่าย ไม่ค่อยออก คือเกี่ยวกับสุขภาพ ต้องเพิ่มการกินผัก ให้มากกว่า กินอาหารไม่เค็ม และลดการกิน อาหารปรุงแต่ง ก็จะทำให้สุขภาพดีขึ้น

ปัจจุบันประทับใจอะไรมากที่สุด ประทับใจเพื่อน ประทับใจคนที่อยู่ใกล้ชิดกันมากที่สุด เพราะ เขาทำให้เราแข็งแรงขึ้น ทั้งทางด้านจิต พอจิตใจ แข็งแรง ร่างกายก็จะ แข็งแรงด้วย มิตรดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เป็นทั้งสิ้นของพรหมจรรย์จริงๆ

คติประจำใจ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด

เป้าหมายในชีวิต ต้องการเป็นนักบวช และก็ตัดกิเลสให้มากที่สุด

ข้อฝาก คนที่เริ่มปฏิบัติ ก็ให้ประมาณตนเอง อย่าให้เกินกำลัง

 

จากโลกีย์ถึงโลกุตระ (สารอโศก อันดับ ๒๓๕ หน้า ๗๖ - ๗๗ เดือน เมษายน ๒๕๔๔)