๑๕ นาทีกับพ่อท่าน... ทีมสมอ. มารดาของโลก

ตั้งแต่เด็กจนโต เราอยู่กับบางสิ่งยาวนาน จนกลายเป็นความเคยชิน เกิดเป็นความประมาท และไม่เห็นคุณค่า รอจนสักวันที่สูญเสีย มันก็สายเสียแล้ว

เมื่อพ่อแม่หรือบุคคลที่เราเคารพรัก เสียชีวิต ลูกหรือผู้อยู่ข้างหลัง ควรตอบแทนพระคุณท่าน ให้ถูกควร ได้อย่างไรคะ?

ดีที่สุดก็คือ เราต้องเป็นคนดี การตอบแทนคุณพ่อแม่ ก็คือการรักษาสกุล ของพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ให้เป็นสกุลที่ดี โดยเราต้องทำความดี ทำคุณค่าของตัวเองให้สูงส่ง นี่เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าทำได้ นั่นแหละ เป็นการตอบแทน บุญคุณพ่อแม่ ที่ตรงที่สุด จริงที่สุด

ส่วนการตอบแทนในการปฏิบัติพฤติกรรม เป็นประเพณีนิยม ซึ่งเป็นจิตวิทยาสังคม เช่น เราระลึกถึงบุญคุณพ่อแม่ ยกย่องเชิดชูท่านในจุดดี หรือเป็นความดีงามของคนอื่นก็ตามนำมาเผยแพร่ พยายามรังสรรค์เอาไว้ บูรณาการเอาไว้ ส่วนความเลวนั้นจะเป็นของพ่อแม่ หรือจะเป็นของใครก็แล้วแต่ เราลืมเสียได้ก็ดี ไม่ต้องเรามาพูดกัน ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะฉะนั้น คนตายแล้ว เราจึงไม่นิยมเอาความเลวร้ายมาพูด แต่ควรเอาความดีงามของผู้ตายมาพูด เพื่อเชิดชู ระลึกถึง บุพการี ทำบุญถึงบุพการี แล้วก็หาวิธีปฏิบัติให้ได้ อย่างบุพการี ได้ทำดีเอาไว้แล้ว ได้สร้างดีไว้แล้ว ทำอย่างไร จึงจะได้อย่าง ที่ท่านทำดีมาได้ก่อน และเราก็พยายาม ทำดีกันขึ้นมา แล้วก็ถ่ายทอดสืบต่อ รวมทั้งทำดีให้ได้ ยิ่งๆขึ้นไปอีก

ส่วนในเรื่องลึก ถึงขั้นที่จะไปพูดกันว่า ทำบุญกรวดน้ำ แบ่งบุญแบ่งบาปไปให้ นั่นมันขัดแย้ง กับศาสนาพุทธ มันไม่ตรง สัจจะ ถ้าจะโมเมว่า ไม่เป็นไรหรอก ถึงแบ่งบุญ แบ่งบาปไม่ได้ก็ตาม แต่ให้คนได้มาทำบุญก็แล้วกัน โดยใช้เรื่องนี้ เป็นกลวิธีหลอกล่อ ให้คนมาทำบุญ ทำทาน เอาทรัพย์ศฤงคาร เอาเงินเอาทอง มาทำทานกับเรา แล้วก็บอกว่า ได้ส่งบุญไปให้ พ่อแม่ที่ตายแล้ว ก็เป็นการหลอกซ้อน ยิ่งขึ้นไปอีก

การทำกรรมกิริยาเสียสละ จะเป็นวัตถุทรัพย์ วัตถุสมบัติอะไรก็ตาม มันก็ได้กุศลอยู่แล้ว แต่เป็นกุศลแบบโลกีย์ ส่วนจะให้ไป ถึงผู้ตายนั้น ไม่ถึงหรอก เพราะขัดแย้งกับคำสอน ของพระพุทธเจ้า ในเรื่องกรรม เป็นของๆตน ตนต้องเป็น ทายาทของกรรม ตนทำชั่ว ความชั่วก็เป็นทายาทของตน ตนทำดี ความดีก็เป็นทายาทของตน ไม่ใช่การแบ่งกรรม เป็นทายาทไปให้คนอื่น ไม่มีหรอก

พ่อแม่บางคนละทิ้งหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูก ทอดทิ้งตามยถากรรม หรือบางทีก็ถึงกับทำร้ายลูกตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ กฎเกณฑ์ หรือสัจจะข้อนี้ จะยังคงอยู่ เหมือนเดิมหรือไม่คะ?

เหมือนเดิม เพราะมันเป็นสัจจะของโลก เป็นสัจจะของสัตว์โลก ถ้าคนไม่เลี้ยงดูลูก ก็เลวกว่าสัตว์เดรัจฉาน เพราะแม้แต่ สัตว์เดรัจฉานทุกตัว ก็ยังเลี้ยงดูลูกของมันทั้งนั้น ตามสัญชาตญาณของสัตว์โลก นับล้านๆชนิด มันก็ยังเอาใจใส่ เลี้ยงดูลูก รับผิดชอบ หวงแหนขนาดเสียชีวิตตายแทนลูก ก็มีเยอะแยะ เพราะฉะนั้น คนที่ไม่เอาภาระ ไม่เลี้ยงดูลูกนั้น เลวกว่าสัตว์เดรัจฉานอีกเป็นล้านๆชนิด ฟังแล้วจะสะดุ้งสะเทือนกันบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ก็ขอพูดให้ฟัง เพราะเป็นเรื่อง ของสัจจะ เราเป็นมนุษย์จึงต้องรับผิดชอบต่อลูก ที่เราก่อเกิดเขาขึ้นมา ต้องถือว่าเป็นหน้าที่เต็มที่ ที่เราจะต้องเลี้ยงดูลูก สร้างสรรค์เขาให้เป็นคนที่ดี เป็นสมบัติที่ดีของโลก หรือเป็นสัตว์โลกที่ดี เป็นสัตว์ประเสริฐให้ได้ นี่เป็นความรับผิดชอบ ที่ต้องทำจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ถ้าตายจากกันไปแล้ว ก็หมดพันธะต่อกัน เป็นไปตามวิบากกรรม ส่วนใครจะไปเกิดเป็นแม่เป็นลูกกันอีกหรือไม่ ก็ว่ากันไป แต่ในชาติหนึ่งๆที่มีพันธะต่อกัน ก็ต้องรับผิดชอบกันไปเป็นสำคัญ นี่เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องทำให้สมบูรณ์

สำหรับหน้าที่ของลูกก็แน่นอนซิว่า ต้องกตัญญู บางคนบอกว่าพ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงดูเรา แค่ทำให้เราเกิดมาเท่านั้น โดยไม่เลี้ยงดูเราเลย เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ต้องกตัญญูกตเวทีก็ได้ ความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ชั่ว เป็นความคิดที่เลว อีกเหมือนกัน ถ้าไม่มีพ่อแม่ สองคนนี้แล้ว เราจะเกิดมาเป็นคน ได้อย่างไร การได้เกิดมาเป็นคน เป็นสมบัติวิเศษอันหนึ่ง เพราะจะได้มีโอกาสทำความดีได้อย่างเยี่ยมยอด หรือถ้าทำเลว ก็เลวได้อย่างยอดเยี่ยมเหมือนกัน เพราะฉะนั้น คนจึงต้องมุ่ง สู่ทิศทางที่ดี ทำดีได้ดียิ่งกว่าสัตว์อื่น ดีกว่าต้นหมากรากไม้ ทำอะไรได้มากมาย ซึ่งก็สอนกันมาตลอด พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเกิดมาเป็นคนนั้นเป็นบุญประการที่ ๑ เกิดมาเป็นคนแล้ว อาการครบ สามสิบสอง ก็เป็นบุญ ประการที่ ๒ ยิ่งได้เกิดมาพบ พระพุทธศาสนา ก็เป็นบุญประการที่ ๓ เพราะจะได้รับคำสอน ให้รู้จักคุณค่า ของสิ่งที่ดีงาม อย่างแท้จริง แม้ในเรื่องลึกถึงจิตวิญญาณ ที่เป็นโลกุตรธรรม ก็เป็นบุญประการที่ ๔ ซึ่งถ้าใครปฏิบัติได้ จนบรรลุธรรม ของพระพุทธศาสนา ก็ยิ่งเป็นบุญสูงสุด ของมนุษยชาติเลย

เพราะฉะนั้น เมื่อการได้เกิดมาเป็นคน นั้นเป็นบุญ คนที่ทำให้เราเกิดมาเป็นคนได้ จึงเป็นบุญคุณ ที่เราจะเอาอะไร มาลบล้างไม่ได้ จริงอยู่ เขาอาจบกพร่อง ที่ไม่เลี้ยงดูเรา ซึ่งถ้าจะทำทารุณโหดร้าย จะฆ่าจะแกงอะไรเรา ก็อีกเรื่องหนึ่ง หากเป็นถึงขั้นนั้น ก็เลี่ยงเอา หนีเอาก็แล้วกัน แต่ไม่ว่าจะพูด ในประเด็นใดก็ตาม เราไม่มีสิทธิ ทำร้ายตอบแทน พ่อแม่ทุกกรณี

พระพุทธเจ้า ไม่เคยสอน ให้ไปทำร้าย ทำเลวตอบแทนพ่อแม่ แม้แต่คนอื่นๆ ก็ไม่เคยสอน ให้ไปทำร้ายตอบ กระทั่งศัตร ูพระพุทธเจ้าก็สอนให้ อย่าไปทำร้ายกันเลย เพราะฉะนั้น กล่าวไปใย ถึงพ่อแม่ เราจะไม่กตัญญู กตเวทีได้อย่างไร ยิ่งพ่อแม่คนไหน ทั้งเลี้ยงดูประคบประหงม ให้เราเจริญงอกงาม ก็ยิ่งไม่ต้องพูดเลยว่า ถ้าลูกคนไหน ยังอกตัญญู ก็น่าจะไป ชิงหมาเกิด

สรุปแล้ว ถึงพ่อแม่จะทำหน้าที่ ได้ไม่สมบูรณ์ ก็เป็นเรื่องของพ่อแม่ แต่ในฐานะลูก ต้องทำหน้าที่ของตน ให้สมบูรณ์ จริงๆแล้ว ถ้าจะพูดให้ลึกละเอียด พ่อแม่เขาก็ทุกข์นะ เพียงแต่สัตว์โลก เขาไม่รู้จักทุกข์อริยะสัจ การสมสู่ก็เป็นทุกข์ กว่าจะคลอดก็เป็นทุกข์อีก ไม่ว่าสัตว์ประเภทไหน ก็ทุกข์ทั้งนั้นแหละ ยิ่งต้องมา เลี้ยงดูลูกอีก ก็ยิ่งมีภาระ ทำให้ทุกข์ มากขึ้น เพราะฉะนั้น การมีลูกเป็นทุกข์ พระพุทธเจ้า จึงสอนว่า ใครแต่งงานแล้ว ไม่มีลูก ถือเป็นบุญ ประเภทหนึ่งแล้ว ยิ่งเป็นคนโสด ท่านเรียกว่า เป็นบัณฑิต ที่ย่อมไม่เศร้าหมอง เพราะเหตุดังนี้เลย

ลูกบางคนอาจเถียงว่า เขาไม่เห็นอยากเกิดเลย พ่อแม่ทำให้เขาเกิดเอง?

ไม่ว่าพ่อแม่จะเจตนาให้เกิดหรือไม่ก็ตาม การที่เราได้เกิดมาก็เป็นบุญแล้ว เพราะได้ร่างนี้มาเป็นตัวประโยชน์ เป็นตัวคุณค่า ใช้สุรภาโว สติมันโต อิทธพรหมจริยวาโส คือใช้ร่างกายที่เกิดมาครบครัน มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ มีปัญญาใช้ได้ อยู่ในโลกนี้แล้วก็แสวงหาซิว่า กลุ่มหมู่ใดมีเสนาสนะสัปปายะ มีบุคคลสัปปายะ มีอาหารสัปปายะ มีธรรมะสัปปายะ นั่นเป็นกลุ่มหมู่หรือสถานที่เจริญ ที่เราควรอยู่ เราจะได้มีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี และได้พัฒนาตัวเอง อยู่กับหมู่กลุ่มนั้น

สร้างกุศลกรรมอย่างไร จึงจะได้พ่อแม่ที่ดี?

ทำสิ่งที่เป็นกุศล ซึ่งมีทั้งกุศลที่เป็นโลกียะ และกุศลที่เป็นโลกุตระ ซึ่งถ้าทำกุศลโลกุตระด้วยแล้ว จะได้ประโยชน์ทั้ง ๒ ด้าน เพราะจะเป็นประโยชน์โลกีย์และประโยนชน์โลกุตระด้วย หรือเป็นทั้งประโยชน์ตนเอง และประโยชน์ต่อผู้อื่น เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไร ก็ต้องสร้างกุศล ทำกุศล มาเรียนรู้กุศล เรียนรู้อย่างไร...

เรียนรู้กุศลโลกียะ คือการเป็นคนดี เป็นคนขยัน เป็นคนกตัญญู เป็นคนที่ไม่โลภโมโทสัน ส่วนโลกุตระนั้น ต้องเรียนไปถึง รากเหง้าของจิต ปรับเปลี่ยนจิตได้ ให้จิตเกิดใหม่ได้ ล้างกิเลส ออกจากจิตได้จริง นั่นคือโลกุตระ เพราะฉะนั้น การล้างกิเลส ออกจากจิต ก็คือลดละ สิ่งไปติดไปยึด ในโลกีย์ เมื่อล้างออกได้ มันก็ปลดปล่อย หลุดพ้น หลุดมาได้ จากอบายมุข หลุดมาจากโลกกามคุณ หลุดมาจากโลกอัตตา หลุดออกมาได้ จากโลกธรรม ๘ พอหลุดมาได้แล้ว แน่นอน คุณต้องไม่ไปเกิดเป็นสัตว์ ที่อยู่ในโลกอบายนั้นๆ คุณก็จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ที่จะได้พ่อแม่ที่คัดสรรมา ตามวิบากกรรม ที่เป็นกุศลสูงขึ้นมาเรื่อยๆ โสดาก็สูงขึ้นมา สกิทาก็สูงขึ้นอีก อนาคาก็ยิ่งสูงขึ้น ตัวอย่าง อาตมาชาตินี้ พ่อแม่ไม่เคย เถียงกันให้เห็น พ่อแม่อาตมา เป็นคนดี แม้แต่พี่น้องของอาตมา ก็ไม่มีใครเป็นคนเลว พระพุทธเจ้าเอง ก็มีพ่อแม่ที่ดี หรือบางคน ก็มีพ่อแม่ที่ดี มีครอบครัวที่ดี

ขอยืนยันว่า ต้องทำกุศลโลกุตระ ถ้าคุณไปมีกุศลโลกียะ คุณอาจได้เกิดมาสวย ได้รวย แต่เหี้ยมนะ ฆ่าแกง ทะเลาะวิวาทกัน ระเนระนาด อาจจะมีพ่อแม่พี่น้อง ที่ห้ำหันกัน ต่อให้เป็นฮ่องเต้ ได้กุศลวิบากเป็นถึง ลูกฮ่องเต้ แต่ก็ฆ่าฟันกัน ลูกฮ่องเต้ก็ยังฆ่า พ่อแม่ได้เลย

ศาสนาพุทธจึงไม่ใช่ว่า หลุดออกมาแล้ว ก็อยู่เฉยๆงอมืองอเท้า อยู่ในป่าในถ้ำเป็นฤาษี แล้วก็รอวันตาย พระพุทธเจ้านั้น เมื่อหลุดออก มาจากโลกีย์ จะอยู่เหนือโลกีย์ หลุดออกมาจากอบายมุข ก็อยู่เหนืออบายมุข แล้วก็มาสอนคน ที่ติดอบายมุขต่อ มาเกื้อกูลเขาต่อ มาช่วยเหลือเฟือฟายเขา มาทำงาน ตอบแทนบุญคุณ แก่โลก

"วันแม่" เป็นวันที่เราเชิดชูพระคุณแม่ แต่เด็กส่วนหนึ่งที่ขาดแม่ เกิดเป็นปมด้อย ควรทำอย่างไรคะ?

การจัดวันแม่ ถือเป็นพิธีกรรมเชิงจิตวิทยาสังคมชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดปมด้อย สำหรับเด็กที่ขาดแม่ แต่ถ้ามี สังคมที่ดี อย่างที่เรากำลังสร้าง สังคมบุญนิยม พ่อแม่พี่น้องของเรา ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของ สายเลือดเท่านั้น ทุกวันนี้ ก็มีพ่อแม่บุญธรรม ในทางวัฒนธรรมจีน หรือทางตะวันตกก็มี สิ่งเหล่านี้ใช้ได้ ขอให้มีพฤติกรรม ที่เป็นความรัก เอ็นดู มีความปรารถนาดี เลี้ยงดูช่วยเหลือ เกื้อกูลกันขึ้นมา ถ้าเรามีวัฒนธรรมอย่างนี้ มันก็ไม่ว้าเหว่ ไม่เวิ้งว้าง

ส่วนวิบากกรรม ของคนที่เกิดมาแล้วกำพร้า ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีอะไรต่างๆนานา นั่นก็เป็นวิบากกรรม ของคนนั้น ก็สอนให้เขารู้ตัวว่า นี่แหละคือบทเรียน เราอย่าไปทำวิบากกรรม ให้ไม่มีพ่อไม่มีแม่อีก โดยเราต้องพยายาม ปฏิบัติธรรม อย่าพรากลูก พรากแม่อะไรต่างๆ จนกระทั่ง เราไม่ไปสร้าง อกุศลวิบากทั้งปวง

แต่ถึงกระนั้น ถ้าเรารู้จักคำว่า "พ่อแม่" มีความหมายลึกซึ้ง ตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ในเรื่องมิจฉาทิฐิ ๑๐ คือเรื่อง มาตาปิตา เรื่องแม่มีพ่อมี ซึ่งเป็นเรื่องลึกซึ้ง ถึงด้านนามธรรม พระพุทธเจ้าก็คือพ่อ ขณะที่พระสารีบุตร และ พระโมคลานะ เป็นแม่นม เป็นต้น อย่างนี้จะเป็นพ่อแม่ ที่วิเศษที่สุดเลย เป็นแม่พ่อที่ลึกซึ้งมาก หรือแม้แต่ การมีศีล เป็นแม่ การมีปัญญา เป็นพ่อ เราก็ต้องรู้ เป็นต้น หรือแม้แต่ในสังคมทั่วไป คนนี้เป็น พี่ ป้า น้า อา ที่ทำหน้าที่ เหมือนพ่อ เหมือนแม่ เลี้ยงดูเรา ทั้งชีวิตร่างกาย ทั้งความเป็นอยู่ ตลอดจน การอบรม สั่งสอนความรู้ ความสามารถต่างๆ เพื่อให้เรา มีคุณค่าความดี นั้นก็เป็นเสมือนพ่อแม่ ที่สอนเราจริงๆ เป็นแต่เพียงว่า ไม่ได้คลอดมา ทางสายเลือดเท่านั้น ซึ่งก็ไม่เห็นว่า จะน่าน้อยใจอะไร ถ้าเรามีความอบอุ่น ในสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ในสังคม ที่ดีอย่างนี้

ฉะนั้น จึงต้องสอนกันให้รู้ว่า เราไม่ขาดแคลนหรอก ในเรื่องคุณค่า ของความเป็นพ่อ เป็นแม่ ขอให้เข้าใจ ความหมาย ให้ถูก ก็แล้วกัน

ความพยายามเป็นหน้าที่ของมนุษย์ ความสำเร็จเป็นของพระเจ้า คือ ความหมาย แห่งการยอมรับ และวางใจ ต่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อมั่นใจว่า เราได้สร้างกรรม ที่ดี ที่สุดแล้ว


สิบห้านาทีกับพ่อท่านฯ หนังสือสารอโศก อันดับที่ ๒๓๙ เดือนสิงหาคม ๒๕๔๔ หน้า๒๒ - ๒๘