กว่าจะถึงอรหันต์ ... ณวมพุทธ
พระยโสธราเถรี

ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ทุกชาติ
ลำบาก ยากเข็ญ เต็มใจ
ทั้งชีพ จิตกาย ถวายให้
ชิดใกล้ ใฝ่ถึง นิพพาน

อดีตกาลอันแสนยาวนาน ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ทีปังกร สด็จอุบัติขึ้นแล้ว ทรงเป็นผู้นำของโลก ประชาชนทั้งหลาย ในปัจจันตประเทศ (ถิ่นที่ยังไม่เจริญ) ต่างพากันยินดี ที่จะนิมนต์พระพุทธเจ้า ให้มาโปรด แล้วช่วยกันจัดการ แผ้วถางหนทาง ถมดินโรยทราย ปรับพื้นดิน ให้ราบเสมอกัน เพื่อเป็นที่เสด็จพุทธดำเนิน

ณ กาลครั้งนั้น มีพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งนามว่า สุเมธ (อดีตชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า องค์สมณโคดม) ซึ่งเป็นดาบส (ผู้บำเพ็ญตบะ เผากิเลส) ได้ร่วมช่วยตกแต่ง หนทางนั้นด้วย

ในวันที่พระทีปังกรพุทธเจ้าเสด็จมานั้นเอง มีหญิงสาวคนหนึ่งในสกุลพราหมณ์ นามว่า สุมิตตา (อดีตชาติหนึ่ง ของพระยโสธราเถรี) ได้ถือดอกบัวมา ๘ กำ เพื่อหมายบูชา แด่พระพุทธเจ้า

ขณะที่พระพุทธเจ้าองค์ทีปังกรกำลังเสด็จพุทธดำเนินมา พร้อมด้วยพระสาวก เบื้องหน้ามีหนทาง ที่ยังทำไม่เสร็จ เป็นแอ่งเปือกตม มีน้ำขังอยู่ สุเมธดาบส เห็นแล้วคิดว่า

"พระพุทธองค์อย่าได้ทรงเหยียบเปือกตม ให้พระบาทสกปรกเปรอะเปื้อนเลย"

จึงนอนคว่ำลงที่เปือกตมนั้น ให้พระพุทธองค์และสาวกเหยียบหลัง ข้ามเปือกตมนั้นไป ด้วยประโยชน์แห่งบุญ ปรารถนา เผาผลาญ กิเลสของตนได้

นางสุมิตตาได้เห็นสุเมธดาบสกระทำกุศลกรรมปานนั้น ก็เกิดนิยมศรัทธายิ่งนัก   จึงบูชาด้วยดอกบัวทั้ง ๘ กำ แก่สุเมธดาบส พร้อมกับกล่าวว่า

"ข้าแต่ท่านดาบสผู้เจริญ ดอกบัว ๕ กำจงมีผลแก่ท่าน ดอกบัวอีก ๓ กำจงมีผลแก่ดิฉัน ดอกบัวทั้งหมดนี้ จงมีผล ทัดเทียมกัน เพื่อประโยชน์แก่โพธิญาณ ของท่านเถิด"

สุเมธดาบสรับดอกบัวทั้งหมดนั้นมา แล้วถวายบูชา แด่พระทีปังกรพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ (ทำนาย) ให้ว่า

"ดูก่อนดาบส อุบาสิกาผู้นี้จะเป็นผู้มีจิตทัดเทียมกันกับท่าน ใฝ่กุศลกรรมทัดเทียมกัน ทำกุศลร่วมกัน กระทำบุญ เพื่อประโยชน์แก่ท่าน มากมาย ในกาลข้างหน้า นางจะเป็นหญิงงดงาม น่ารักยิ่ง น่าดูน่าชม น่าชอบใจ จะเป็นผู้มี วาจาอ่อนหวาน จะเป็นธรรมทายาท ผู้มีฤทธิ์ของท่าน

อุบาสิกานี้จะรักษากุศลธรรมทั้งหลาย เหมือนรักษาทรัพย์ที่เก็บไว้เองในคลัง ฉะนั้น มหาชนจะช่วยเหลือ เป็นจำนวนมาก นางจะมีบารมีเต็ม จะละกิเลสได้ ดุจราชสีห์ ละทิ้งกรงขัง แล้วบรรลุ โพธิญาณ"

นางสุมิตตายินดีปลาบปลื้มนัก ได้ยังจิตให้เลื่อมใสในกุศลกรรม ที่ได้ทำไว้ ครั้นตาย จากชาตินั้นแล้ว ได้รับผลบุญ ไปกำเนิดในหมู่เทวดา และมนุษย์ ชาติแล้วชาติเล่า

จนกระทั่งถึงชาติสุดท้าย นางได้เกิดอยู่ในตระกูลกษัตริย์วงศ์โกลิยะ นามว่า ยโสธรา หรือ พิมพา เป็นเจ้าหญิง แห่งเทวทหนคร ราชบุตรีของ พระเจ้าสุปปพุทธะ มีเจ้าชายเทวทัต เป็นเชฏฐภาดา (พี่ชาย) ซึ่งเจ้าหญิง ประสูติเป็น สหชาติ (เกิดในวันเดียว ปีเดียวกัน) กับเจ้าชายสิทธัตถะ วงศ์ศากยะ แห่งกบิลพัสดุ์นคร ราชบุตรของ พระเจ้าสุทโธทนะ และ พระนางสิริมหามายา

เจ้าหญิงยโสธรามีรูปร่างหน้าตางดงามยิ่งนัก ทั้งยังสมบูรณ์ด้วยสมบัติทั้งปวง มีศีล มีลาภ มียศ ได้รับสรรเสริญ และสักการะ อย่างยิ่งในสกุลทั้งหลาย พรั่งพร้อมไปด้วยโลกธรรม (สิ่งที่มีประจำโลก) มีจิตใจเป็นสุข ไร้ภัยจากที่ไหนๆ มากล้ำกราย

เมื่อเจ้าหญิงพระชนมายุ ๑๖ ชันษา ได้อภิเษกสมรส เป็นพระอัครมเหสี ของเจ้าชายสิทธัตถะ จวบกระทั่งถึง ๒๙ ชันษา จึงทรงประสูติ พระราชโอรส ทรงพระนามตามคำอุทาน ของเจ้าชายสิทธัตถะว่า ราหุล อันหมายถึง เครื่องผูกมัดเกิดแล้ว

พระนางยโสธรานั้นเป็นผู้ที่มีความเพียรมั่น ช่วยเหลือเกื้อกูลทั้งภายในพระราชฐาน และแก่พวกเจ้าทั้งหลาย ในพระนคร แม้ในยามสุข และยามทุกข์ ก็เป็นผู้แนะนำประโยชน์ให้ นิยมทำมหาทาน แก่บุคคลทั้งหลาย โดยเฉพาะ พระอริยสงฆ์ ผู้ประพฤติในสัทธรรม (ธรรมที่ดีแท้ของผู้มีสัมมาทิฏฐิ) ทรงได้สั่งสม บุญบารมีไว้มากมาย

หลังจากราหุลกุมารประสูติได้ ๗ วัน เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดเครื่องผูกมัดทั้งปวง เสด็จออกบรรพชา จนได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ ๓๕ ชันษา

มีคราวหนึ่ง พระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จมาถึงกบิลพัสดุ์นคร ตอนเช้าทรงออกบิณฑบาต พอดีกับ พระนางยโสธรา ทรงทราบข่าว จึงทรงเปิดสีหบัญชร (หน้าต่าง) ทอดพระเนตรดู ได้เห็นพระศาสดา ทรงบิณฑบาต ไปตามถนน ในพระนคร จึงรีบไปกราบทูล แด่พระเจ้าสุทโธทนะว่า

"เสด็จพ่อ พระโอรสของพระองค์กำลังเสด็จบิณฑบาต ทรงเที่ยวขอก้อนข้าว จากชาวนครทั้งหลาย อยู่ในบัดนี้"

Šพระราชาทรงสดับแล้วก็สลดพระทัย ด้วยรู้สึกอายที่พระโอรส เที่ยวขอก้อนข้าว จากชาวบ้าน จึงรีบเสด็จไป ด้วยพระองค์เอง นิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยหมู่สงฆ์ ให้ไปฉันภัตตาหาร อันประณีต ที่มหาปราสาท แล้วทรงรับบาตร ของพระศาสดา นำทางไป

วันนั้นเมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว นางสนมทั้งหลายต่างพากันมาถวายบังคมพระศาสดา ยกเว้นเพียง พระนางยโสธรา ผู้เดียว มิได้เสด็จมา ด้วยคิดมีมานะ (ถือตัว) ขึ้นว่า

"ถ้าคุณของเรายังพอมีอยู่ พระลูกเจ้าจะเสด็จมายังที่พำนักของเราด้วยพระองค์เองทีเดียว เราจะถวายบังคม พระลูกเจ้า ผู้เสด็จมาเท่านั้น"

พระศาสดาทรงทราบในพระทัยเป็นอย่างดี จึงทรงให้พระราชาถือบาตรนำเสด็จไปยังห้อง ของพระนาง ยโสธรา ทั้งทรงกำชับ พระอัครสาวกทั้งสอง ไว้ก่อนล่วงหน้าว่า

"ท่านทั้งสอง จงให้พระนางยโสธรา ถวายบังคมเราตามชอบใจเถิด อย่าพึงกล่าวคำใดๆ ทั้งสิ้นเลย"

พอไปถึง ได้ประทับบนอาสนะ (ที่นั่ง) ที่เขาปูลาดไว้แล้ว พระนางยโสธรา ทรงเข้ามาโดยเร็วไว ทรงจับที่ข้อพระบาททั้งสอง ของพระศาสดา เกลือกพระเศียรลงบนหลังพระบาท ถวายบังคม ตามพระอัธยาศัย

ขณะนั้นเองพระเจ้าสุทโธทนะ จึงตรัสคุณของพระนางยโสธรา แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สะใภ้ของหม่อมฉันนี้ นับตั้งแต่ได้ฟังข่าวมาว่า พระองค์ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวะ (ผ้าย้อมฝาด) ก็นุ่งผ้ากาสาวะ แต่นั้นมา ได้ยินว่าพระองค์ทรงฉันภัตหนเดียว ยโสธราก็เสวยภัตหนเดียว แต่นั้นมา

ได้ยินว่าพระองค์ทรงละที่นั่งที่นอนใหญ่ ยโสธราก็บรรทมเฉพาะเตียงน้อย ที่ขึงด้วยแผ่นผ้า แต่นั้นมา

ได้ยินว่าพระองค์ทรงละเว้นจากของหอม มีดอกไม้เป็นต้น ยโสธราก็ได้งดเว้น จากดอกไม้ ของหอมแต่นั้นมา

ภายหลังจากที่พระองค์ทรงผนวชแล้ว ยโสธรายอมเป็นหญิงหม้าย มิได้รับบรรณาการ ที่พระราชาอื่นๆ ส่งมาให้เลย มีจิตไม่เปลี่ยนแปลง ในพระองค์ถึงเพียงนี้ ไม่เอาใจออกห่าง ยากที่หญิงใดจะกระทำได้" พระศาสดา ทรงสดับแล้ว จึงทรงบรรเทาความเศร้าโศก ของพระนางยโสธรา ด้วยการตรัสแสดงธรรมให้ฟัง จนพระนางได้บรรลุ โสดาปัตติผล ณ ที่ตรงนั้น แล้วพระศาสดา จึงลุกจากอาสนะ เสด็จกลับไป

ต่อมาพระนางยโสธรา ได้รับสั่งกับราหุลกุมาร ที่พอจะรู้ความแล้วว่า

"ลูกเอ๋ย เจ้าจงไปขอขุมทรัพย์ใหญ่ อันเป็นมรดกของพระบิดาของเจ้า โดยกล่าวว่า ข้าแต่พระบิดา ข้าพระองค์เป็นกุมาร ได้รับอภิเษกเมื่อใด ก็จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ข้าพระองค์จึงต้องการทรัพย์ ขอทรงประทานทรัพย์ แก่ข้าพระองค์เถิด เพราะบุตรย่อมเป็นเจ้าของ สิ่งของอันเป็นของบิดาตน"

พระกุมารจึงเสด็จไปยังที่พำนักของพระศาสดา แล้วเอ่ยว่า

"ข้าแต่พระบิดา ขอพระองค์ทรงประทานมรดกแก่ข้าพระองค์ ข้าแต่พระบิดา ขอพระองค์ทรงประทาน มรดก แก่ข้าพระองค์ ด้วยเถิด"

พระผู้มีพระภาคทรงดำริในพระทัยว่า

"กุมารนี้ปรารถนาทรัพย์อันเป็นของบิดา ซึ่งเป็นไปตามความเวียนว่ายตายเกิด อันมีความคับแค้นมาก เอาอย่างนี้เถอะ เราจะให้อริยทรัพย์ (ทรัพย์แท้จริง อันเป็นสิ่งประเสริฐ ของมนุษย์) 7 ประการ คือ

1.ศรัทธา (ความเชื่อมั่นอย่างสัมมาทิฏฐิ)
2.ศีล (ข้อปฏิบัติเว้นจากความชั่วทางกาย-วาจา-ใจ)
3.หิริ (ความละอายต่อการกระทำผิด)
4.โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อการกระทำผิด)
5.พาหุสัจจะ (การได้ฟังได้เรียนรู้สัจจะมาก)
6.จาคะ (การสละให้ปัน)
7.ปัญญา (ความรู้แจ้งเห็นตามเป็นจริง)

เราจะให้กุมารนี้ เป็นเจ้าของทรัพย์มรดก อันเป็นโลกุตระ"

แล้วตรัสเรียกพระสารีบุตรว่า "สารีบุตร ท่านจงให้ราหุลกุมารบวชเถิด"
เมื่อราหุลกุมารบวชแล้ว ทุกข์มิใช่น้อยบังเกิดแก่พระนางยโสธรา ทำให้พระนางเบื่อหน่ายในสงสาร (การเวียนตาย วนเกิด) ทรงดำริขึ้นมาว่า

"เราควรประพฤติธรรมให้เป็นสุจริต (ประพฤติดี) ไม่ควรประพฤติธรรม ให้เป็นทุจริต (ประพฤติชั่ว) เพราะบุคคล ผู้ประพฤติธรรมดีแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า"

จึงเสด็จออกบวช พร้อมด้วยบริวารอีก 1,000 คน ครั้นบวชแล้วก็หมดกังวลในสิ่งทั้งปวง ตั้งใจบำเพ็ญเพียร ในธรรมทั้งหลาย ยังไม่ทันถึงครึ่งเดือน ก็ได้บรรลุธรรม อริยสัจ ๔ เผากิเลสสิ้นเกลี้ยง กระทำกิจ ในพระพุทธศาสนา เสร็จแล้ว ถึงพร้อมซึ่งความเป็นผู้บริสุทธิ์ สมบูรณ์ด้วยคุณทั้งปวง ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในโลก

พระยโสธราเถรีเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์มากมาย แม้ทิพพโสต (หูทิพย์ฟังเสียงกิเลสออก) เจโตปริยญาณ (รู้จิตอันเป็นกิเลสอื่นๆได้) ย่อมรู้ปุพเพนิวาสานุสติญาณ (ระลึกชาติได้) และมีทิพจักษุ (ตาทิพย์มองทะลุกิเลสได้) อันหมดจดวิเศษ มีญาณ (ความรู้แจ้ง) ในอรรถะ (เนื้อหาสาระ) ธรรมะ นิรุตติ (ภาษา) และ ปฏิภาณ (ไหวพริบ)

ครั้นล่วงกาลผ่านวัยไปเนิ่นนาน กระทั่งถึงเวลาแห่งการปรินิพพาน ของพระยโสธราเถรี จึงได้เข้าเฝ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบทูลว่า

"หม่อมฉันมีอายุ ๗๘ ปี บัดนี้เข้าสู่วัยสุดท้ายของชีวิตแล้ว ขอกราบทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะหม่อมฉัน แก่หง่อมยิ่ง มีความตายใกล้เข้ามา จะละพระองค์ไป จะถึงความดับสนิทในคืนวันนี้ จะไปสู่นิพพาน ที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่มีความแก่ ไม่มีความตาย และไม่มีภัย ไม่มีความเกิดอีก หม่อมฉันมีที่พึ่งของตน อันได้ทำจบแล้ว

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า หม่อมฉันได้ท่องเที่ยวไปในการเวียนว่ายตายเกิด อันยาวนานนัก หากมีความพลั้งพลาดใด กระทำแก่พระองค์ ขอพระองค์ทรงโปรดประทานอภัย แก่หม่อมฉันด้วยเถิด"

พระผู้มีพระภาคทรงสดับเช่นนั้น จึงตรัสว่า "ดูก่อนท่านผู้ปฏิบัติตามคำสอนของเรา ท่านจงแสดงฤทธิ์ จงตัดความสงสัย ของพุทธบริษัททั้งปวง ในศาสนานี้เถิด"

พระยโสธราเถรีได้ฟังพระดำรัสแล้ว ก้มลงกราบพระศาสดา แสดงฤทธิ์ต่างๆให้ปรากฏมากมาย แล้วกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ความดีที่บำเพ็ญไว้เป็นอันมากของหม่อมฉัน ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์ แก่พระองค์ ขอพระองค์ ทรงรำลึกถึง กุศลกรรมเก่า ของหม่อมฉันเถิดว่า หม่อมฉัน สั่งสมบุญไว้ ก็เพื่อประโยชน์ แก่พระองค์เท่านั้น

หม่อมฉันงดเว้นอนาจาร ในสถานที่อันไม่สมควร แม้ชีวิตก็ยอมสละ เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ได้ พระองค์ประทานหม่อมฉัน ให้เป็นภรรยาผู้อื่น หลายพันโกฏิกัป (หลายพันชาติ นับไม่ถ้วน) เพื่อประโยชน์ แก่พระองค์เอง หม่อมฉันก็มิได้เสียใจ ในเรื่องนั้นเลย

พระองค์ประทานหม่อมฉัน ให้ช่วยเหลือผู้อื่นหลายพันโกฏิกัป เพื่อประโยชน์แก่พระองค์เอง หม่อมฉันก็มิได้เสียใจ ในเรื่องนั้นเลย

พระองค์ประทานหม่อมฉัน ให้เป็นอาหารหลายพันโกฏิกัป เพื่อประโยชน์แก่พระองค์เอง หม่อมฉันก็มิได้เสียใจ ในเรื่องนั้นเลย

หม่อมฉันบริจาคชีวิตหลายพันโกฏิกัป ทำให้หมู่ชนพ้นจากภัย ยอมสละชีวิตของหม่อมฉันได้ ประสาอะไรกับข้าวของอื่นๆ หม่อมฉันไม่เคยหวง เครื่องประดับ ผ้านานาชนิด แม้แต่กายนี้ ของหม่อมฉัน ก็เพื่อประโยชน์ แก่พระองค์

เมื่อพระองค์ทรงบริจาคทรัพย์ ข้าวเปลือก ปัจจัย บ้าน นิคม ไร่นา ภรรยา บุตร ธิดา ทาส ช้าง ม้า โคมากมาย นับไม่ถ้วน เพื่อประโยชน์ แก่พระองค์ แล้วรับสั่งแก่หม่อมฉันว่า 'เราย่อมให้ทานแก่พวกยาจก' เมื่อพระองค์ให้ทาน อันประเสริฐสุดอยู่ หม่อมฉันก็มิได้เสียใจเลย

หม่อมฉันยอมรับทุกข์มากมายมหาศาลในสังสารวัฏ (การเวียนว่ายตายเกิดในโลก) เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ คราวที่ได้รับทุกข์ ก็ไม่เสียใจ คราวที่ได้รับสุข ย่อมอนุโมทนา เป็นผู้ยินดีแล้ว ในที่ทุกแห่ง เพื่อประโยชน์แก่พระองค์

ข้าแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงแสดงธรรมโดยมรรคาอันสมควร ได้บรรลุซึ่งพระโพธิญาณแล้ว หม่อมฉันได้ร่วมสุข และทุกข์เป็นอันมาก กับพระองค์ หม่อมฉันเมื่อแสวงหาพุทธธรรมอยู่ ก็ได้เป็นบาทบริจาริกา (ผู้รับใช้) ของพระองค์ตลอดมา เป็นผู้ถวายตนของตน แก่พระองค์ เพื่อประโยชน์แก่บุญ บรรลุถึงพระนิพพาน กรรมทั้งปวง ในอดีต - ปัจจุบัน - อนาคตของหม่อมฉัน หมดสิ้นไปแล้ว หม่อมฉันขอถวายบังคมลาพระองค์ ณ บัดนี้"

ณวมพุทธ อาทิตย์ ๒ ก.ย.๒๕๔๔
(พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๑๖๘ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๕ หน้า ๑๐๐-๑๔๙)

พระยโสธราเถรี กว่าจะถึงอรหันต์ หนังสือสารอโศก อันดับที่ ๒๓๙ สิงหาคม ๒๕๔๔