ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยหลัก ๑๔ ประการ |
|
|
|
สมณะโพธิรักษ์ แสดงธรรม เมื่อวันที่ ๓๑ ก.ค. ๒๕๔๔ ณ พุทธสถานปฐมอโศก *คุณลักษณะของชุมชนเข้มแข็ง เพื่อการพัฒนาตนเอง เพื่อตรวจสอบตนเองว่า เป็นสมาชิกชุมชน ที่เข้มแข็งจริงหรือไม่ และชุมชนใดบ้าง ที่เข้าข่ายลักษณะเช่นนี้ ๑.เป็นสังคมที่เห็นได้ชัด ในลักษณะของคนมีศีล มีคุณธรรม มีอาริยธรรม มีศีลหมายความว่า มีคุณธรรม มีครู-บาอาจารย์ มีศาสนา มีคุณธรรมที่เกิดจริงอย่างชัดเจน จนถึงระดับอาริยะ คือปฏิบัติจนกระทั่ง มีญาณปัญญา มองเห็นกิเลสในตนเอง ๒.เป็นสังคมที่สามารถพึ่งตนเองได้ ไม่เป็นภาระผู้อื่น เพราะว่าเราเป็นคนมีสัมมาอาชีพ สัมมากัมมันตะ เราทำแล้ว เกิดประโยชน์ ต่อสังคม จนส่งผลถึงข้อ ๓ ๓.มีงาน มีกิจการที่มั่นคง ๔.ขยัน สร้างสรร ขวนขวาย กระตือรือร้น กิเลสลึกๆของความขี้เกียจมันมี ทำตัวหลบๆเลี่ยงๆ ทำตัวแบบ ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน ก็อยู่ได้กับหมู่กลุ่ม แต่สูงกว่านี้ ดีกว่านี้ยังมีอีก เรียนใหม่ หัดใหม่ ฝึกใหม่ขึ้นเรื่อยๆ อย่าหยุดนิ่ง "ผู้ใดหยุดอยู่ นั่นเสื่อมแล้ว พระพุทธเจ้าสรรเสริญ คนที่วุฒิๆ" ธรรมะของพระพุทธเจ้า คือ คนขยัน กระตือรือร้น Active ยิ่งเข้าถึงธรรม ยิ่งร่าเริงเบิกบาน ๕.อยู่กันอย่างผาสุก สุขภาพแข็งแรง จิตใจเบิกบานร่าเริง จิตใจร่าเริงก็คือ ความหม่นหมอง ความเครียดน้อยลง แจ่มใส ไม่เศร้า ไม่หดหู่ ไม่เครียด ไม่เซ็ง ถ้าใครยังเครียด เซ็ง มืดๆมัวๆ หม่นๆ หมองๆ นั่นผิดทางแล้ว ๖.ไม่ฟุ้งเฟ้อ แต่รุ่งเรืองฟุ้งเฟื่อง ไม่ผลาญพล่าสุรุ่ยสุร่าย โลกทุกวันนี้มันเฟ้อ อยากได้มา แสวงหาเกินความจำเป็น มาบำเรอตน มาสะสม เช่น แสวงหาเมียมาเยอะๆ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผัวเดียว เมียเดียว ก็แสนทุกข์แล้ว ไม่ต้องฟุ้งเฟ้อ เห่อไปตามสังคม ที่เขาหลอกมอมเมา แต่สังคมเข้มแข็ง คือ รุ่งเรืองฟุ้งเฟื่อง คือชื่อเสียงขจรกระจาย ไม่อับเฉาเสียหาย แต่เป็นในทางที่ดีงาม ไม่ทำลาย (ฟุ้งเฟ้อคือการทำลาย) ๗.มีความประณีต ประหยัด แต่เอื้อเฟื้อสะพัดแจกจ่าย ละเอียดละออ ประหยัด สิ่งไหนนำมาซ่อมแซมใช้ใหม่ได้ ก็ Reuse หรือ Recycle ดูแลข้าวของ รู้จักรักษา แต่ไม่ใช่ขี้เหนียว ไม่ได้ตระหนี่ แต่เอื้อเฟื้อ แจกจ่าย เจือจาน ให้มีคุณค่าประโยชน์ ๘.ไม่มีอาชญากรรม ไม่มีอบายมุข ไม่มีทุจริตกรรม บาปแม้นิดแม้น้อยไม่ควรทำ ไม่ทำทุจริตกรรม ไม่ควรไปสั่งสม หรือหัดทำ นานเข้าจะติด มีวิบากติดตัวไป จึงอย่าไปทำชั่ว การทำชั่วเลวร้าย ผิดกฎหมายอาญา ด้วย การเตะฟุตบอลนั้น คนที่เก่งๆเอามาทำแกง เรามานุ่งห่มได้ไหม? มันไม่ใกล้ปัจจัย ๔ เลย การละเล่นนั้น เป็นอบายมุข ถ้าเก่งแบกเก่งหาม เก่งทำขยะ เก่งทำปุ๋ย แบบนี้สิ เป็นสาระประโยชน์ ๙.มีความพร้อมเพรียง สามัคคี อบอุ่นและเป็นเอกภาพ พร้อมเพรียงกันทำงาน งานที่เป็นกุศล เป็นภาพรวม ของความสามัคคี สามารถพึ่งตายกันได้ นี่แหละ ที่จะทำให้อบอุ่นกัน และ มีเอกภาพ ๑๐.สัมผัสได้ในความเป็นปึกแผ่นแน่นหนา ของความเป็นภราดร มีความแน่นในตัว ไม่ฟ่าม ไม่หลวม เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ มีพฤติกรรมที่สอดคล้อง มันมีฤทธิ์ในตัว คนกลัวนะ ถึงแม้แค่ ๑๐ กว่าคนก็เถอะ มันมีน้ำหนัก มีอิทธิพล มีฤทธิ์มีแรง ลักษณะไปในทางดีงาม ๑๑.เป็นชุมชนที่แข็งแรง มั่นคง ยืนหยัด ยั่งยืน หมายถึงความไม่เปลี่ยนแปลงง่าย ไม่คลอนแคลน เป็นความยั่งยืน คงทน มั่นคง แข็งแรง ๑๒.เป็นสังคมที่สร้าง"ทุนทางสังคม" มีประโยชน์คุณค่าต่อผู้อื่น และสังคมทั่วไปในรอบกว้าง "ทุนทางสังคม" คือ การเสียสละ อย่างแท้จริง เราเสียสละให้คนคนหนึ่ง คือให้โดยไม่หวังรับอะไรคืนเลย ถ้าทางธรรมก็คือบุญกุศล เพราะเราเสียสละไปจริง แต่อย่างทุนนิยม ไม่ได้เสียสละจริง มันแลกเปลี่ยนคือมันหาทางใช้จิตวิทยา เพื่อนำกลับคืนมา ให้กับตัวเอง และเขายังอยากได้อยู่ เขาไม่ได้ให้กับสังคมจริง "ทุน"คือการสั่งสม เราเสียสละ ๕ หน่วย ก็เป็นบุญของเรา ๕ หน่วย มันเป็นนามธรรม ที่ได้เสียสละให้กับสังคม คนที่มีประโยชน์ มีคุณค่าต่อผู้อื่น นั่นแหละ คือ "ทุนทางสังคม" มีคุณธรรมที่แท้จริง มีสัจธรรม ที่เป็นผู้เสียสละให้แก่สังคม วิธีคิดอย่างทุนนิยม ไม่ได้เสียสละ ไม่มีทุนทางสังคมเลย มันเอาคืนมาหมด เอาเกินด้วย ขูดรีดเอาเปรียบ การเอาเปรียบ มันเสียสละอะไร ไม่เคยมีประโยชน์อะไรเลย แนวคิดทุนนิยม เป็นแนวคิดที่ทำลายสังคม ทำลายประเทศชาติ ทำลายหมด ทำลายโลกทั้งโลกเลย ๑๓.เป็นชุมชนอุดมสมบูรณ์ แต่ไม่สะสม หรือกอบโกย แม้อุดมสมบูรณ์ แต่เราไม่สะสมกอบโกย มีพอหมุนพอเวียน สะพัดออก ยิ่งโดยส่วนตัว ยิ่งชัดเจน ทำงานอยู่กับหมู่กับกลุ่ม ทำงานให้กับส่วนกลาง เป็นสาธารณโภคี มีก็ใช้ ไม่มีก็ไม่ใช้ เมื่อเรายิ่งทำ เราก็ยิ่งจะมีพลังสร้างสรร พวกเราปฏิบัติธรรม ก็จะเป็นคนเจริญ คือ มักน้อยสันโดษ พอใจ-ใจพอ ไม่ต้องสะสมเลย ขยันเพิ่มขึ้น สมรรถภาพสูงขึ้น ยิ่งทำผลผลิต หรือกรรมกิริยาของเรา ก็ยิ่งมีค่ามากขึ้น เสียสละไป ให้แก่สังคมได้มากขึ้น เราก็ยิ่งมีบุญ มีกุศลแท้ๆ ไม่ต้องห่วงเลย บุญกุศลคือสัจจะ ไม่มีตกมีหล่น ไม่สูญเสียตกหล่น สัจจะ ก็คือสัจจะ ๑๔.เป็นชุมชนมีน้ำใจ ไม่เอาเปรียบ เสียสละอย่างสุข และเห็นเป็นคุณค่าของคน ตามสัจธรรม เสียสละอย่างเป็นสุข ไม่ใช่เสียสละอย่างจำนน จำใจ เสียสละอย่างรู้ด้วยปัญญาว่า น่าเสียสละ และควรเป็นประโยชน์คุณค่า และเห็นเป็นคุณค่าของคน ตามสัจธรรม คนเสียสละ คือคนมีคุณค่า เป็นคุณค่า เพราะเราเป็นประโยชน์ต่อเขา ไม่ต้องคิดว่า เป็นบุญเป็นคุณ เราเองอยู่ได้รอด สุขภาพก็ไม่เสีย เกิดมาเป็นคน คุณค่าของคนมีแค่นี้ . |
|
ชุมชนเข้มแข็งด้วยหลัก ๑๔ ประการ หนังสือสารอโศก อันดับที่ ๒๔๐ เดือนกันยายน ๒๕๔๔ หน้า ๑๓๐ |