เดินตามรอยพ่อ
เพียรมุ่งหวัง...พลังใจ

หนังสือ สารอโศก
อันดับที่ 240
กันยายน 2544


 

"ในชีวิตมีอะไรที่ดีใจที่สุด"
"การมีโอกาสได้มาพบและปฏิบัติธรรมตามแนวทางอโศก"
นี่คือคำตอบสุดท้ายที่ชัดเจนที่สุด สำหรับดิฉันในปัจจุบันนี้

ในสมัยเด็ก ดิฉันได้ยินได้ฟังผู้ใหญ่พูด ถึงความจริงประการหนึ่งของชีวิตว่า "ทุกคนเกิดมาต้องตาย!!" ไม่น่าเชื่อ และไม่อยากเชื่อ แต่ดิฉันก็คิดๆๆ คิดเพื่อให้เป็นผลสำเร็จ ออกมาว่า "ตัวเราและทุกคนที่เรารัก น่าจะได้รับการยกเว้น จากยมบาลได้!" ยิ่งคิดก็ยิ่งมีคนยืนยันว่า "ไม่มีใครหนีพ้น ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากัน ในเรื่องการตาย! เมื่อการตายพรากจากกัน เป็นเรื่องธรรมดา ดิฉันจะตั้งรับ กับเรื่องธรรมดานี้ได้อย่างไร? เพราะแค่คิด ก็เศร้าอาดูร เหลือคณาแล้ว

สมัยเรียนชั้นประถม โรงเรียนเป็นโรงเรียนวัด (วัดปุรณาวาส ธนบุรี) เวลาพักเที่ยง เพื่อนชวนไปไหว้นักบวช ดิฉันก็ไปกับเพื่อน อยากรู้ว่า นักบวชจะช่วยดิฉัน พ้นทุกข์ทางใจ ในเรื่องความตายได้หรือไม่? สิ่งที่ได้ฟัง ก็เพียงเสียงสวดมนต์ ไม่มีคำตอบที่โดนใจ ให้กลายกังวลได้เลย มองดูพระท่าน ก็เหมือนผู้ชายธรรมดาๆ ที่มีผ้าเหลืองห่มกาย ใช้ลูกศิษย์ไปซื้อบุหรี่ กาแฟโอเลี้ยงบ่อยๆ พฤติกรรมไม่ต่างจากชาวบ้านเท่าใดเลย (ขนาดเตี่ยดิฉัน ก็ยังไม่สูบบุหรี่)

พออายุ ๑๗ ปี หมดหวังจากพุทธศาสนา ที่พบแต่เปลือก ดิฉันจึงไปลองศึกษา พระคริสต์ธรรม ทางไปรษณีย์ดู เพราะเห็นหนุ่มๆสาวๆ กล้าเสียสละ ออกมาเผยแพร่ ศาสนาคริสต์ ด้วยความสุภาพ อ่อนโยน มองดูแล้วชุ่มชื่นใจ น่าเลื่อมใส และอยากช่วยเขาทำงาน เคยนั่งรถไป เมียงๆมองๆ ที่ประตูโบสถ์ ของคริสต์จักรถึงสองครั้ง แต่ไม่เคยเข้าไปช่วยสักครั้ง เพราะใจไม่ถึง แต่ยังคงความเลื่อมใส ศรัทธา ในความดีงาม และเนื้อหาแก่นธรรม ที่ได้รับรู้ และเล่าเรียนมา

พออายุ ๒๑ มีความคิดว่า "ถ้าเราเป็นผู้ชาย เราจะบวชให้แม่ชื่นใจ" แต่ดิฉันเป็นผู้หญิง จึงได้แค่บริจาคเลือด ด้วยคิดว่า "วันเกิดเรา แม่เราเสียเลือดมากมาย ถ้าเราบริจาคเลือดไว้ ถ้าแม่เจ็บป่วยต้องใช้เลือด แม่คงได้รับผลบุญที่เราทำไว้บ้าง" (ทำบุญหวังผลอยู่) บริจาคเลือดเสร็จ ดิฉันเป็นลม บนรถเมล์ คนบนรถ รีบช่วยดิฉันโดยอัตโนมัติ "โลกนี้ยังมีคนดีอีกมาก"

เสียเลือดเพียงเล็กน้อยเป็นลม ดิฉันจึงบำรุงตัวเอง ด้วยเนื้อสัตว์ ช่างเป็นบาปที่ใหญ่ และไม่คุ้มกับบุญเล็กๆที่ทำเลย จึงครุ่นคิดว่า เราจะแก้ไขกรรมที่ ไม่สมดุลได้อย่างไร? ใช่ หยุดรับประทานเนื้อสัตว์ ตัดบาปเพิ่มบุญ จึงต้องหาความรู้ มาประกอบการปฏิบัติตน เพื่อบุญ และ สุขภาพที่แข็งแรง

ปีพ.ศ.๒๕๒๓ ดิฉันได้รับน้ำใจจากสิกขมาตุมาลินี (สมัยนั้นเป็นฆราวาส) ซึ่งบ้านอยู่ใกล้กัน ท่านได้ให้คำตอบ และทางสว่างแก่ดิฉัน ด้วยการนำหนังสือ แสงสูญ สารอโศก มาให้ดิฉัน ได้ศึกษาค้นคว้า ดิฉันเกิดปีติ อย่างอัศจรรย์ยิ่งนัก เพราะยิ่งได้ศึกษา ยิ่งมั่นใจว่า สามารถแก้ไขตนเองได้ ช่วยครอบครัวและสังคมได้ ดิฉันประทับใจ โศลกธรรมมากมาย เช่น "การแก้ไขตนเอง คือการแก้ไขสังคม การศึกษาของชาวอโศก เป็นไปเพื่อรับใช้มวลมนุษยชาติ, ดอกไม้ล่อแมลง ด้วยการเปล่งสี ผู้ชายหลงสตรี ที่ชอบแต่งตัว, ตาคมที่ว่าสวย คารมที่ว่าเก่ง ก็ไม่เท่าใจคม คือใจที่ตัดได้เก่ง, ศีลนำสุขมาให้ ตราบเท่าเราชรา ยิ่งกว่าเอกราชทั้งแผ่นดิน คือพระโสดาบัน, ยิ่งให้ไปยิ่งได้มา, ไม่มีสัตว์ใดในโลก ที่ไม่เคยเป็นพี่น้องเรา..." ยิ่งอ่านยิ่งศึกษา ดิฉันยิ่งอยากเป็น ญาติธรรมชาวอโศก รู้สึกเป็นบุญจริงๆ ที่ได้พบ "ญาติธรรม" อบอุ่นเกินญาติ ซาบซึ้ง เกินบรรยาย และมีความคิด อยากพลิกโลกทั้งโลก ให้คนมีเมตตาธรรมถ้วนทุกคน

แต่เมื่อเริ่มปฏิบัติ ตามแนวทาง ของชาวอโศก เริ่มขัดเกลา ขัดใจตนเอง จึงได้คำตอบว่า "ไม่ง่าย" แค่ปฏิบัติที่โลกกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก พร้อมสัญญา และใจ ของตนเอง ก็เหน็ดเหนื่อยพอแล้ว แต่ก็ต้องพยายามเพิ่มพลังกายใจให้เข้มแข็งขึ้น เริ่มเป็นนักมังสวิรัติเต็มตัว ปีพ.ศ. ๒๕๒๔ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยล้ม และได้ชวนน้องๆ และแม่ที่เรารักยิ่ง มาร่วมกัน รับประทาน อาหารมังสวิรัติ

ดิฉันภูมิใจปีติใจ เพราะแม่พูดเสมอว่า "ถ้าแม่ไม่มาปฏิบัติธรรมกับชาวอโศก แม่คงหมดลมหายใจ ไปนานแล้ว" อุปสรรค์ไม่มี บารมีไม่เกิด เมื่อเตี่ยสั่งย้ายทั้งครอบครัว ให้ไปอยู่ชายแดน ติดกับมาเลเซีย เหตุผลที่ท่านบอกกับแม่ว่า "ไอ้พวกนี้มันกำลังจะบ้า" ดิฉันก็ได้แต่รำพึงรำพัน กับตัวเองว่า "ธรรมะต้องชนะสักวัน" พวกเราก็ปฏิบัติ อดทนรอคอย ทำงานช่วยเหลือ เจือจุนครอบครัวไปพลาง น้องบางคน ปฏิบัติธรรมไปด้วย อุดหนุนอบายมุขไปด้วย ทำความหนักใจ จนเตี่ยดิฉัน เอ่ยปากว่า "เอาน้องลื่อไปบวชที่อโศกได้มั้ย" ดิฉันทั้งขำ และก็สงสารเตี่ย "อั๊วรู้ว่าธรรมะที่นี่ดี แต่กลัวว่าจะอยู่กันไม่ตลอด" ความหมายของเตี่ย ต้องการให้ลูกสาว แต่งงานพึ่งสามี แต่ดิฉันเรียนยืนยันว่า "ดิฉันอยากพึ่งความดี ของตนเองมากกว่า" เพราะเห็นมากี่คู่ ก็ไม่เห็นมีคู่สามีภรรยาคู่ไหนมีความสุข

ปี ๒๕๓๓ ดิฉันตัดสินใจจากอ้อมอกครอบครัว มาอยู่วัดด้วยความยินดี หลังจากได้ปลดเปลื้อง ภาระหนี้สินทางบ้าน มาเปลาะหนึ่ง มาอยู่วัดด้วยมุ่งมั่น อยากเป็นน๊อตตัวเล็กๆตัวหนึ่ง ที่มีคุณภาพ ในการเข็นกงล้อธรรมจักร แห่งพุทธะแท้ๆ แม้จะไม่ได้บวช ในรูปแบบ ไม่ต้องโดดเด่น ดัง ขอเพียงมีความสุขกาย สบายใจ ตามฐานะ และเพิ่มมรรควิธี พาตนพ้นภัย ในสังสารวัฏให้ได้

ดิฉันได้ทดลองทำงาน ที่ตนเองไม่ถนัด และไม่ชอบ คือไปขายหนังสือ "เราคิดอะไร" มีผู้หวังดี เตือนว่า "เป็นผู้หญิงไปทำ มันหนักเกิน" แม่ก็เตือนน้องก็ติง ประทับใจทุกคำเตือน แต่อยากลองทำงานยากดูบ้าง อยากฮึดสักครั้ง เพราะเห็นหนังสือ ถูกตีกลับมาเป็นกองพะเนิน พ่อท่านและชาวอโศก มีเมตตาช่วยมนุษย์ แต่ทำไม เราต้องมายอมจำนน กับระบบทุนนิยม อย่างสิ้นท่าด้วยหรือ..? ร่างกายก็ยังไม่พิการ ปากก็ยังพูดได้ ลองสู้ก่อน ที่จะยอมแพ้ดีกว่ามั้ย... "ขายได้กี่เล่ม ก็คือความสำเร็จ" ประโยคสั้นๆจากพ่อท่าน จุดประกายให้ดิฉัน มีพลังใจกล้าขึ้น

ดิฉันไปนั่งขายข้างถนน ร่วมกับแม่ค้า ที่สวนลุมพินี นั่งๆยืนๆ หันไปหันมา เป็นชั่วโมง ไม่มีใครซื้อสักเล่ม เหลือบมองแม่ค้าขายขนม เขาเรียกลูกค้าเสียงแจ้วๆ เราขายหนังสือมีสาระ เพื่อให้คนพ้นทุกข์ ทำไมทั้งอาย ทั้งเหนื่อย ที่จะทำอย่างเขา เลยลองฝืนๆ หัดเรียกร้อง เอาบุญมาล่อบ้าง ขายได้ตั้ง ๒ เล่ม ใช้เวลาเกือบครึ่งวัน กลับวัดด้วยหัวใจพองโต

วันต่อมาก็ขายได้มากขึ้น บางวันขายได้ ๕๐ กว่าเล่ม บางวันขายไม่ได้เลย น้องสาวเคยทักว่า "เจ้ทำได้ยังไง เคยเป็นเจ้าของ ร้านตัดเสื้อ ทำงานแต่งตัว สวยๆ งามๆอยู่ในร่ม กลับมาเดินแบกหนังสือ (เราคิดอะไร) ท่อมๆกลางแดด ควันรถ" ความสบายใครๆก็ชอบ ยิ่งพ้นทุกข์ ก็ยิ่งสบาย ยิ่งผาสุก ก็ยิ่งสงสาร คนที่มีธุลีในดวงตาน้อย เราลำบากอีกนิดเดียว โลกอาจจะมีพลเมืองดี เพิ่มขึ้นมาบ้าง จึงน่าทำน่าลุ้นกว่า น่าจะหยุด คนทำงานส่งหนังสือพิมพ์ จนตายก็มี เรายังไม่ควรแพ้ ตราบที่ยังมีคนอ่าน อดีตผู้ยิ่งใหญ่ อย่างพ่อท่าน ก็เคยทำงาน ส่งหนังสือพิมพ์มาก่อน แล้วคนเล็กคนน้อย ด้อยคุณธรรมอย่างดิฉัน ก็จะฝึก "เดินตามรอย พ่อ"ไปห่างๆเรื่อยๆไม่ได้เล่า...!

มีคนเคยถามว่า "ทำอย่างไรจึงจะอยู่วัดได้นาน?" ในความรู้สึกของดิฉัน ดิฉันยังอยู่ไม่นาน ยังไม่ได้ทำอะไร ที่ควรทำอีกตั้งเยอะ ยังไม่รู้อะไร ที่ควรรู้อีกมากมาย และที่รู้แล้ว ยังปฏิบัติตามไม่ทัน จะคิดให้เศร้า ก็หมดแรงเปล่า สิ่งที่ฉันต้องเพียรปฏิบัติ เป็นคำตอบคือ "อยู่วัดอย่างไรไม่อกหัก" แม่เคยสอนดิฉันว่า "ถ้ารู้จักหักอกหักใจ จะไม่อกหัก"

"จะหวังอะไร ก็หัดตักน้ำใส่กระโหลก ชะโงกดูเงาตัวเราซะก่อน" คำสอนนี้ ใช้ได้ตลอดกาล ทุกสังคม อย่าคาดหวังว่า เราต้อง "ได้" ต้องฝึกคิดมุมกลับ เท่ๆบ้างว่า จะ "ให้" อะไรบ้าง หรือเติมสิ่งใดให้ผู้อื่นบ้าง รีบฉวยบุญ ก่อนคนอื่น ก่อนหมดแรง หมดลม เท่าที่เรามีกำลังพอเหมาะ ซึ่งจะได้ทั้งประโยชน์ตน และประโยชน์ท่านด้วย

และอีกคำถาม "จะผ่านโจทย์ยากง่ายใหญ่ เล็กในวัดด้วยวิธีไหน?" ...พระพุทธองค์ทรงเมตตา ส่งโจทย์มาให้เราได้ฝึก เพื่อให้เข้มแข็ง แยบคายขึ้นในการดำรงอยู่ และดำเนินต่อไป ในเส้นทางสายธรรมะอย่างฉลาด สุขุม รอบคอบ เป็นอยู่อย่างผาสุก ทุกครั้งที่เราไม่พอใจ อะไร ใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ พยายามคิดว่า "เรามีส่วนผิด" แล้ว ทุกกรณี ทุกโจทย์ จะง่ายขึ้น ในการแก้ไข ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง

ปัจจุบันดิฉันพยายามฝึกตนเอง ไม่ให้เป็นภาระกับผู้หวังดี ฝึกฟังเสียงสะท้อน จากสังคม ให้แววไวมากขึ้น เก็บกำไร จากขุมทรัพย์ ให้ได้ดีกว่าเดิม รักหมู่กลุ่มให้มากขึ้น ชื่นชมมุมดีๆ งามๆของคนอื่นๆ ลดอคติในสมมุติชาย-หญิง ลดความยึด คำว่า "ถูก-ผิด" คำนึงถึงความควร ไม่ควร จำเป็นมาก จำเป็นน้อย มีประโยชน์มาก ประโยชน์น้อย ทั้งหมดนี้ก็คือ พยายามฝึก เพื่อให้มีใจพอ และไม่ท้อแท้ แม้ไม่ใช่ผู้หญิงเก่ง หากวันใด บุญน้อย บุญหมด ล้มลงวันใด ดิฉันก็จะขอคลาน ตามรอยพ่อไป อย่างไม่ท้อ อย่างเจียมเนื้อ เจียมตัว เจียมใจ...

ถึงม้วยดิน สิ้นฟ้ามหาสมุทร ไม่สิ้นสุดพุทธรักษ์สมัครสมาน
แม้เกิดในใต้หล้าสุธาธาร ขอพบพาน "ชาวอโศก" ทุกชาติไป...

น้อมกราบแทบเท้า นมัสการพ่อท่านผู้สูงส่ง
ปะพัดชา ชาวหินฟ้า

 

เดินตามรอยพ่อ หนังสือสารอโศก อันดับที่ ๒๔๐ เดือนกันยายน ๒๕๔๔ หน้า ๘๐-๘๔