กรรมตามสนอง ตอน
เป็ดตัวเมียหมด


สารอโศก
อันดับ 241
ตุลาคม 2544


เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของวิบากกรรม ของพ่อใหญ่ทัน น้อยผาง ขณะนี้ท่านอายุได้ ๗๘ ปีแล้ว อยู่บ้านเลขที่ ๗๒ บ้านโคกพันโปง หมู่ที่ ๔ ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น

พ่อใหญ่ทันได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ผมเกิดในตระกูล ชาวไร่ ชาวนา มีอาชีพ ทำไร่ ทำนา เจริญรอยตามที่พ่อแม่ เคยทำมา แต่พอหลังจาก ฤดูทำนาเสร็จแล้ว ก็จะไปรับจ้าง ทำโน่นนี่อยู่เสมอมา

มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลังจากที่ผมแต่งงานมีเมียมีลูกแล้ว อายุตอนนั้นประมาณ ๓๐ กว่าปี พอฤดูทำนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในปีนั้นผมได้ไปรับซื้อเป็ดน้อย จากพ่อค้าคนจีน ในเมืองขอนแก่น ไปเดินหาบเร่ขายตามหมู่บ้านต่างๆ

การไปขายเป็ดน้อยใน ครั้งนั้น ก็โดยการชักชวนจากลุงจาน ไชยสอน ซึ่งเป็นพี่ชาย ของผู้เป็นภรรยาของผม ก็ได้ลุงจานคนนี้ละเป็นหัวหน้ากลุ่ม คือเราจะไปขายกันเป็นกลุ่ม ครั้งละ ๔ หรือ ๕ คน

สมัยนั้น ราวปี พ.ศ. ๒๕๐๔ หรือ ๒๕๐๕ รถราไม่ค่อยมีมากมายเหมือนสมัยนี้ ผู้คนส่วนมาก ไปไหนมาไหน หากไปใกล้ๆ นิยมพากันเดินแทบทั้งนั้น

หลังจากที่พวกผมพากันซื้อเอาเป็ดน้อยจากพ่อค้าคนจีนได้หมดทุกคนแล้ว พวกผมจะพา กันหาบไปเป็นกลุ่ม พอถึงที่วางขาย ก็จะวางขายกันเป็นกลุ่ม จากนั้นผู้เป็นลุงของผมก็จะพูดเชิญชวน ให้ผู้คนมาซื้อมาหา เอาเป็ดน้อย ไปเลี้ยง เพื่อกินไข่ ในยามเมื่อเป็ดมันโต ทั้งๆที่เป็ดที่พวกผมซื้อไปขาย ล้วนแต่เป็นเป็ดตัวผู้ทั้งนั้นเลย เพราะเป็ดตัวเมีย ต้นทุนมันสูง พวกผมจึงไม่นิยมซื้อไปขายกัน

พอพวกชาวบ้าน เขามามุงดูแล้ว ลุงจานก็จะพูดว่าอยากได้เป็ดตัวผู้หรือเป็ดตัวเมียล่ะก็ ให้ถามน้าคนนี้นะ พลางชี้มือ มาทางผม เพราะน้าคนนี้เขาเคยไปอยู่ร้านขายเป็ดกับคนจีนมาก่อน สมัยเขาเป็นเด็กนะ เขารู้ดีกว่าใครๆ ในเรื่องนี้

วิธีดูเป็ดน้อยที่เป็นเป็ดตัวผู้หรือเป็นเป็ดตัวเมีย ที่ลุงจานสอนให้ผมโกหก จับเอาเป็ดน้อยขึ้น แล้วก็ใช้มือบีบ ไปที่ก้นเป็ดน้อยนั้น มันก็จะร้องขึ้นมาด้วยความเจ็บปวดว่า จิ๊บ จิ๊บ จิ๊บ บางตัวก็จะร้องว่า แจ๊บ แจ๊บ แจ๊บ ก็จะหมายเอาเสียงร้องของเป็ดเหล่านั้นว่า นี่คือเป็ดตัวเมีย และนี่คือเป็ดตัวผู้

พอเป็ดร้องขึ้นมา ผมผู้ถูกวางตัว ไว้เป็นผู้ชำนาญ ในด้านการฟังเสียง เป็ดน้อยร้อง ก็จะบอกว่า นี่คือเป็ดตัวผู้ นี่คือเป็ดตัวเมีย แล้วผมก็จะวางเป็ดตัวผู้ หรือว่าเป็ดตัวเมีย เอาไว้คนละกล่องกระดาษกัน

สรุปแล้วผมก็จะโกหกเขาไปว่า มีแต่เป็ดตัวเมียเสียเป็นส่วนมาก ส่วนเป็ดตัวผู้นั้น น้อยมาก แล้วผู้คนที่พากันมาซื้อเป็ดน้อย เขาก็อยากจะได้เป็ดตัวเมียเอาไว้หลายๆ ตัว เป็ดตัวผู้เขาก็จะซื้อเอาไปเป็นพ่อพันธุ์เป็นส่วนน้อยตัว

พวกชาวบ้านจะพากันซื้อเอาไปเลี้ยงคนละ ๕ ตัวบ้าง ๑๐ ตัวบ้าง ๒๐ ตัวบ้าง หรือบางคนก็จะซื้อเอาไปเลี้ยงเป็นร้อยๆตัวก็มี ไม่นานเป็ดน้อยที่พวกผมพากันหาบไปขายนั้น ก็ทยอยขายไปจนหมดจนเกลี้ยงกันทุกคน ภายในเวลา ๓ หรือ ๔ วันเท่านั้น แล้วจะมาพักกันอยู่ที่บ้านวันหรือสองวัน ก็จะพากันไปซื้อเป็ดน้อย เอาไปตระเวนขาย ตามหมู่บ้านอื่นๆอีกต่อไป

พวกผมไปซื้อเป็ดน้อยตัวละบาทเดียว ขายตัวละบาทห้าสิบสตางค์ ขายคนละ ๑๐๐ ตัว ต่อเที่ยว พวกผมจึงมีกำไรเที่ยวละ ๕๐ บาท เงิน ๕๐ บาทในสมัยนั้นก็มากโข อยู่เหมือนกัน

พวกผมไปซึ้อเป็ดน้อยตัวผู้ หลอกขายว่าเป็นเป็ดตัวเมียตามหมู่บ้านต่างๆ เป็นเวลาเกือบปี หมู่บ้านใดที่พวกผมเข้าไปขายครั้งหนึ่งแล้ว จะไม่เข้าไปขายอีกเลย เพราะกลัวเขาจะจับได้ อีกอย่างผมก็กลัวบาปกรรมจะตามสนอง ผมจึงเลิกลาอาชีพนี้ แล้วหันไปประกอบอาชีพอย่างอื่นแทน

ตอนนั้นอายุผมคงจะ ๓๐ กว่าปีเท่านั้น จนมาถึงปีนี้ ผมก็อายุ ๗๓ ปีแล้ว รวมเวลาก็คง ๔๐ กว่าปี กงกรรมกงเกวียน หมุนวนหมุนเวียน เหมือนกงเกวียนกงกรรม บ้านนี้มันได้ย้อนกลับคืนมาสนองให้กับชีวิตของผม และครอบครัวของผมเสียแล้ว

คือเมื่อปลายปีที่แล้ว (ปี ๔๓) หลังจากที่ผมและลูกเมียได้พากันเก็บเกี่ยวข้าวจากท้องนาเสร็จ ก็ได้นำมากองรวมกันเอาไว้ยังลานนวดข้าว คืนวันเพ็ญเดือน ๑๒ พวกชาวบ้านเขาพากันจัดงานบุญลอยกระทง แล้วพากันปล่อยโคลมไฟลอยฟ้าขึ้นไปยังท้องฟ้า แต่มีอยู่อันหนึ่งได้ตกลงมายังกองข้าวของผมไฟได้ไหม้กองข้าวของผมจนเสียหายหมด ผมก็ได้ไปร้องเรียนให้ทางราชการช่วยเหลือ ทางราชการก็ได้ช่วยเหลือทางครอบครัวผมมา เป็นจำนวนเงิน ๓,๐๐๐ บาทถ้วน

หลังจากนั้นมา ผมก็คิดว่าอายุเราก็มากแล้ว สังขารร่างกายก็เหี่ยวแห้งไปมาก เราควรหลีกหนีออก จากความวุ่นวาย ของสังคมคนในหมู่บ้าน แล้วมาอยู่กับไร่กับนา อยู่กับความสงบ ของธรรมชาติ มาศึกษาธรรมจากหนังสือ จากเท็ปธรรมะของชาวอโศก เมื่อชาวอโศกจัดงานบุญขึ้นมา หากว่าผมพอมีเวลาก็จะได้ไปร่วมงานบุญนั้นด้วย

แต่แล้วเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๔ ปีนี้เอง ในวันนั้น ยายเตือนผู้เป็นภรรยา คู่ทุกข์คู่ยาก และลูกชายคนโตของผม ได้พากันซื้อเป็ดน้อย จากพ่อค้าที่เขาเอาใส่รถยนต์ มาเร่ขายตามหมู่บ้าน แล้วนำเป็ดน้อยที่ซื้อไว้นั้น เอามาให้คนเลี้ยงดูอยู่ที่นา แห่งนี้

ยายเตือนบอกกับผมว่า นาของเราปีนี้ข้าวก็โดนไฟไหม้จนหมดแล้ว เราได้เงินจาก ทางการมา ก็ควรเอามาซื้อเป็ดน้อยเลี้ยงไว้ พอเป็ดมันโตจะได้ออกไข่ เอาไข่เป็ดนั้นไปขาย หรือว่าหากเป็ดนี้ มันตัวโตขึ้นมา เราจะขายก็จะได้เงินเป็นก้อน เป็นกอบเป็นกำดีอีกด้วย

พ่อใหญ่ทัน จึงถามยายเตือนว่า ยายซื้อเป็ดน้อยเหล่านี้มา มันเป็นเป็ดตัวผู้หรือว่าเป็นตัวเมียล่ะ พ่อใหญ่ทันถามเพื่อความแน่ใจ เพราะเคยไปโกหก ขายเป็ดน้อยมาแล้วในอดีต

ยายเตือนตอบว่า ผู้ที่เขาเอาเป็ดน้อยมาขาย เขาบอกว่าเป็ดน้อยที่อยู่บนรถยนต์ ผมนี่ "เป็ดตัวเมียหมด" พอพ่อค้าเป็ดน้อยพูดแค่นั้น ยายเตือนก็คิดว่าเป็ดน้อยที่อยู่บน รถยนต์นั้น มันเป็นเป็ดตัวเมียหมด

ยายเตือนก็เลยตกลงซื้อเป็ดน้อยเหล่านั้นเอาไว้ พ่อค้าเขาบอกว่า หากจะซื้อเพียง ๑๐ ตัว หรือ ๒๐ ตัวล่ะก็ เขาจะขายตัวละ ๑๕ บาท แต่ทว่าหากซื้อเป็นร้อยๆตัวขึ้นไป เขาจะขายให้ราคาตัวละ ๑๐ บาทเท่านั้น

ยายเตือนเลยบอกเขาว่า ขอซื้อสัก ๒๐๐ ตัว คิดเป็นเงินก็ ๒,๐๐๐ บาทถ้วน เขายัง แถมเป็ดน้อยอีกตั้ง ๑๐ ตัวนะ

ตั้งแต่ยายเตือนซื้อเป็ดน้อยมาให้ผมเลี้ยง จนมาถึงวันที่ ๑๔ ก.ค.๔๔ นี้ รวมเวลาก็ ๒ เดือนกว่าแล้ว ผมชักสงสัยเสียแล้วซิ เพราะเป็ดยิ่งโตขึ้นมา ผมก็เห็นแต่เป็ดตัวผู้ทั้งนั้น เสียงที่มันร้องก็เสียงแหบๆ ดูที่หัวของมันก็มีแต่หัวเขียวๆ เอ! ผมว่ายายเตือน โดนพ่อค้าหลอกขายเป็ดตัวผู้ให้แล้วซินี่

คำพูดที่ว่า "เป็ดตัวเมียหมด" จริงๆแล้วก็คือ เป็ดตัวเมียมันหมดแล้ว เขาพูดให้เราคิด แต่ยายเตือนพาซื่อ คิดไม่ทันเกมโกงของพ่อค้า อยากจะกินไข่เป็ด อยากจะเลี้ยงเป็ดเพื่อขายไข่ ก็คงจะชาติหน้าตอนบ่ายๆนั้นล่ะ เพราะเป็ดตัวเมียมันไม่มี แล้วจะมีไข่เป็ดมาจากไหนล่ะ

พ่อใหญ่ทันพูดต่อไปว่า ผมมานึกดูอีกที ผมก็เคยไปโกหกหลอกขายเป็ดตัวผู้ ว่าเป็นเป็ดตัวเมียมาก่อน แต่มาคราวนี้พ่อค้าเป็ดน้อย ก็ได้มาหลอกขายเป็ดตัวผู้ ว่าเป็นเป็ดตัวเมีย ให้กับเมียและลูกชายของผมเอง

แล้วอย่างนี้ ถ้าไม่พูดว่า มันเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม หรือกรรมตามมาสนองให้กับตัวของผม และครอบครัวของผมแล้ว ท่านล่ะคิดว่า มันเป็นอะไรเล่าครับ

พ่อใหญ่ทันและยายเตือนน้อยผาง ได้ช่วยกันเล่าเรื่อง "เป็ดแม่เมิ๊ด" ให้กับผู้เขียนฟังจนจบ

ก่อนจากขอคัดเอาบทกวีธรรมบทหนึ่ง ไว้เป็นคติเตือนใจว่า
อย่าดูถูก บาปกรรมจำนวนน้อย จะไม่ต้อยตามต้องสนองผล ดูโอ่งน้ำเปิดหงายรับสายชล ยังเปี่ยมล้น ด้วยอุทกที่ตกมา

ก่อแก่น

     

กรรมตามสนอง หนังสือสารอโศก อันดับที่ ๒๔๑ เดือนตุลาคม ๒๕๔๔ หน้า ๑๓๐