หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >สารอโศก

 
บันทึกจากปัจฉาสมณะ
ตอน..ก่อ..คนรากหญ้า
(๑)

หน้า 1/3


ท่ามกลางกระแสคลั่งไคล้..ทุนนิยม ขณะที่สังขาร..เสื่อม

สิงหาคม ยังเป็นช่วงเข้าพรรษา พ่อท่านประจำอยู่ที่ ราชธานีอโศกเป็นส่วนมาก ขณะที่งานอบรมเกษตรกร ที่พักหนี้กับ ธ.ก.ส. เริ่มขยายไปยัง เครือข่ายอโศกมากแห่งขึ้น จากเดิมที่มีเพียง ราชธานีอโศก และ ศีรษะอโศก ในเดือนก่อน มาถึงเดือนนี้ เริ่มมีที่สีมาอโศก สวนส่างฝัน (อำนาจเจริญ) และหินผาฟ้าน้ำ (ชัยภูมิ) พ่อท่านดำริ จะไปช่วยอบรมด้วย หากมีเวลาพอ ปลีกไปได้ก็จะไป

กระแสความสนใจของสังคม ยังคงมีอยู่ในทุกพุทธสถาน ที่มาถึงพ่อท่านในเดือนนี้ มีทั้งองค์กรเอกชนทั้งไทย และเทศ รวมไปถึงสื่อสารมวลชน นิตยสาร OPEN สำหรับคนรุ่นใหม่ ก็สนใจระบบบุญนิยม ที่ต่างไปจากทุนนิยม แม้แต่นักข่าว รอยเตอร์ ก็สนใจประเด็นการโคลนนิ่ง ในทัศนะของนักการศาสนา ของศาสนาพุทธ มองเรื่องนี้อย่างไร

ด้านการศึกษา ก็ได้รับความสนใจเชิญเข้าร่วมแสดงนิทรรศการ และผลงานของนักเรียน ร่วมกับกลุ่ม การศึกษาทางเลือก ซึ่งเป็นงานระดับประเทศ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือน สุขภาพของพ่อท่านทรุดเสื่อม มีอาการเบื่ออาหารครั้งแรกในชีวิต ท้องอืด ท้องเสีย ที่เสื่อมมาก ถึงขั้นต้องพักรักษาตัว อยู่ที่โรงพยาบาล เพื่อทำการผ่าตัด ก็คือ"ตา" เนื่องจากเส้นเลือดฝอยปริแตก ทำให้มีเลือดคั่งค้างที่ "จอภาพ" ของตาขวา นับเป็นครั้งแรก ในชีวิตของพ่อท่าน ในวัย ๖๗ ปี ที่ต้องพักรักษาตัว อยู่ที่โรงพยาบาล

๑.อบรมคนรากหญ้ามีความสำคัญอย่างไร แก้ปัญหาประเทศได้หรือ ?
การอบรมเกษตรกร ที่พักหนี้กับ ธกส. เพื่อให้มีหลักใจในการดำเนินชีวิต ตามวิถีแห่งธรรม และเพื่อการพึ่งตนเองได้ ในงานอาชีพเกษตรกร ทำให้พ่อท่าน ได้ทบทวนการใช้ภาษาอีสาน แสดงธรรมเป็นภาษาอีสาน ซึ่งเรื้อมานาน เนื่องจากห่างหาย จากถิ่นอีสาน ไปทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่รุ่นหนุ่ม จนบวชเป็นพระแล้ว ก็ยังอยู่ทำงานที่กรุงเทพฯ การพูดภาษาอีสาน ยังไม่คล่องของพ่อท่าน ทำให้ข้าพเจ้า ได้ฝึกฟังฝึกเรียนรู้ ภาษาอีสาน จากพ่อท่านไปในตัว ซึ่งฟังง่ายกว่าคนอีสาน ที่พูดคล่องๆ ผลดีอีกอย่าง ของงานอบรมเกษตรกร ทำให้พ่อท่าน แบ่งเวลา ไปเยือนพุทธสถานอื่นๆ เช่นศีรษะอโศก (๘ ส.ค.๔๔) สีมาอโศก (๑๐-๑๑ ส.ค.๔๔) เพื่อช่วยอบรมแสดงธรรม และ ยังมีดำริ ที่จะไปช่วยบรรยาย ที่สวนส่างฝัน (อำนาจเจริญ) หินผาฟ้าน้ำ (ชัยภูมิ) และศาลีอโศก แต่ ๓ แห่งหลังนี้ ยังไม่ทันได้ไป ต้องเข้าผ่าตัดรักษาตาเสียก่อน

ช่วงของการแสดงธรรมและตอบคำถาม ดูพ่อท่านจะประกาศตัว เปิดเผยตัวมากขึ้น

"...มาบวชนี่ เพื่อมาสืบทอดศาสนาแล้ว บ่แม่นว่ามาบวชเพื่อปฏิบัติธรรม อาตมาปฏิบัติธรรม ตั้งแต่ยังไม่ได้บวช และก็ได้คุณธรรม มาตั้งแต่เป็นฆราวาสแล้ว" (๖ ส.ค.๔๔ ที่ราชธานี)

เช่นเดียวกับที่สีมาอโศก ๑๑ ส.ค.๔๔ นอกเหนือไปจากที่อธิบายความผิดเพี้ยน ของพุทธศาสนิกชน ตั้งแต่ การอธิษฐาน ... การตรวจน้ำอุทิศส่วนบุญกุศล... หลักกรรมนิยม และแนวคิดบุญนิยม พ่อท่านก็ยังเปิดเผยตัว

"...อาตมาปฏิบัติมาหลายชาติแล้ว ชาตินี้ไม่มีครูบาอาจารย์ในทางศาสนา อาตมามีของเก่ามา อาตมาเป็นโพธิสัตว์ ที่จะมาถ่ายทอด บอกสอนธรรมะ ของพระพุทธเจ้า"

จากการประชุมชุมชนราชธานีอโศก ๑๓ ส.ค.๔๔ พ่อท่านได้กล่าวถึงผลดี ของการอบรมว่า "...เป็นเรื่องดี ที่จะเร่งรัดตัวเรา ทำให้เกิดความชำนาญ อย่างน้อยๆ ผู้ที่มาเข้าอบรม เขาจะได้รับรู้ หลายสิ่งอย่างหลายอย่าง ที่ต่างไปจากสังคมทั่วไป เหมือนบุญหล่นทับ ปีหน้าต้องอบรม ๓๐๐ กว่ารุ่นนั้น เหนื่อยแน่ๆ คิดดูสิ ประเทศไทยจะเกิดอะไรขึ้น แต่ก่อนเรายก กองทัพธรรม ต้องขนหม้อ ขนข้าวของกันออกไป เผยแพร่ตามที่ต่างๆ เหน็ดเหนื่อยแค่ไหน มาถึงยุคนี้ เขามาหาเราเอง แล้วมีทุนให้ทำด้วย อีกทั้งมีความยอมรับ ของฝ่ายบ้านเมืองด้วย ดีกว่ายุคโน้นๆตั้งเยอะ

อีกหน่อยกลุ่มอื่นๆจะรู้แนว และเขาจะทำตามอย่าง ก็ดีจะได้พิสูจน์กันว่า วิธีการและองค์ประกอบ ของการอบรมของเขา เป็นอย่างไร ของเราเป็นอย่างไร ยิ่งแนวลึกๆด้วย ก็จะไม่เหมือนเลย อันนี้จะเป็นสิ่งที่จะยืนยัน ลงไปในโลก มิใช่เฉพาะ ในไทยเท่านั้น"

มีคำถามที่น่าสนใจจากเกษตรกรที่มาอบรม ๑๙ ส.ค.๔๔ ที่ราชธานีอโศก

ถามเป้าหมายสูงสุดของชุมชนอโศกคืออะไร

พ่อท่าน: เป็นมนุษย์ที่มีโขลงหรือสังคม ที่ครบพร้อมด้วยอิสรเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ สมรรถภาพ บูรณภาพ

อิสระเสรีภาพ คือเลิกทำอะไรตามใจตัวเอง ถ้ายังทำอะไรตามใจอยู่ยังเป็นทาส คนที่มีอิสระเสรีภาพ จะเป็นคนที่ พึ่งตนเองได้ เป็นไทยแก่ตัว ไม่บำเรอตนเอง ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข หรือเป็นความสุข ที่สงบจากกิเลส วูปสโมสุข

ภราดรภาพ คือมีความเป็นญาติพี่น้องกันหมด กินใช้กระเป๋าเดียวกัน พึ่งเกิด พึ่งแก่ พึ่งเจ็บ พึ่งตายกันได้

สันติภาพ คือสงบสันติไม่มีอาชญากรรม

สมรรถภาพ คือ มีความขยันขันแข็ง มีความสามารถในการทำงาน มีความรอบรู้ ความเข้าใจ และสร้างสรร ช่วยโลก ช่วยสังคมได้จริง

บูรณภาพ คือ มีเต็มไม่ขาดแคลน แล้วไม่เดือดร้อน ที่บกพร่องก็รีบบูรณะ ทำให้เต็ม ให้ได้เสมอ

คุณลักษณะอย่างนี้อโศกกำลังทำ และพวกเราก็สอนให้มาจน โดยจนอย่างอุดมสมบูรณ์ เพราะเราทำทุกวัน เรากินใช้แค่ ๒๐-๓๐ แต่เราทำได้ ๑๐๐๐ ที่เหลือให้เขาไปหมด อย่างนี้เราก็จน แต่ก็อุดมสมบูรณ์ อีก ๓๐-๔๐ ปี ทฤษฎีบุญนิยม ที่มีระบบสาธารณโภคี นี้จะเป็นที่นิยม

ถาม: ที่อบรมอย่างนี้จะแก้ปัญหาประเทศได้อย่างไร

พ่อท่าน: พวกเราแก้ปัญหาได้แล้วท่ามกลางวิกฤติของสังคม และพวกเราก็อยู่ได้ แล้วก็ลด กิเลสได้จริง นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลเอง ก็แสวงหาหมู่บ้าน หรือชุมชนที่เข้มแข็ง พึ่งตนเอง เพื่อจะได้เป็นตัวอย่าง เป็นที่อบรม ของชุมชนอื่นๆ หากหมู่บ้าน หรือชุมชนอื่น ทั่วทั้งประเทศ เป็นได้อย่างที่นี่ ประเทศชาติก็จะไม่เกิดวิกฤติ อย่างที่กำลังเป็นอยู่ ทุกวันนี้

ถาม: การอบรมเกษตรกรมีความสำคัญอย่างไร ทำไมท่านจึงต้องเทียวไปหลายที่

พ่อท่าน : สำคัญอย่างยิ่ง เพราะประชากรไทย กว่า ๘๐% เป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นเหมือน กระดูกสันหลังของประเทศ เป็นดุจรากหญ้า เป็นเศรษฐกิจ ที่แท้จริงของประเทศ

อาตมาพูดไว้กว่า ๒๐ หรือ ๑๕ ปีแล้ว ถึง"สามอาชีพกู้ชาติ" คือ
(๑) กสิกรรมธรรมชาติ ไร้สารเคมีใดๆ
(๒) ขยะเอ๋ย หรือมีการกำจัดขยะที่ดี แยกขยะที่จะต้องทำลาย ขยะที่นำมาใช้ใหม่ได้ และขยะที่จะนำเอาไปทำปุ๋ย
(๓)ปุ๋ยสะอาด มีการจัดทำปุ๋ยที่ดี ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยชีวภาพ หรือปุ๋ยอินทรีย์ ที่ปราศจากสารเคมี

การอบรมให้ความรู้กับเกษตรกร เพื่อให้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น พึ่งตัวเองได้ มีศาสนาเป็นหลักใจ และมีเศรษฐกิจ แบบพอเพียง มีชีวิตอย่างขัดเกลา มักน้อยสันโดษ เหล่านี้ มันสอดคล้องกับสิ่งที่อาตมาทำอยู่แล้ว เมื่อทางรัฐ ทางธ.ก.ส. เห็นดีด้วย ช่วยส่งเสริม ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีแล้ว หากพอมีเวลา ปลีกไปหลายๆที่ได้ อาตมาก็จะไป


๒.ต่างชาติก็สนใจ สื่อมวลชนก็ติดตาม
๒.๑ "บุญนิยม" นวัตกรรมที่เสรี ไร้อวิชชากว่าประชาธิปไตย และเสียสละ ยิ่งกว่า คอมมิวนิสต์
๒.ส.ค.๔๔ ที่ราชธานีอโศก พ่อท่านพูดคุยตอบข้อซักถามชาวต่างประเทศ จากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่นและอเมริกา ซึ่งเป็นนักวิชาการ และนักพัฒนา ได้มาค้างคืน เพื่อศึกษาดูงาน ที่บ้านราชฯ นำโดยมูลนิธิอาสาสมัคร เพื่อสังคม (มอส.) ร่วมกับสถาบัน ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

การพบชาวต่างประเทศครั้งนี้ ต้องใช้ล่าม ๒ คน เพื่อแปลความไทย เป็นภาษา อังกฤษ และจากภาษาอังกฤษเป็น ภาษา จีนกลาง หลายคนศึกษาคำสอนแนว "เซ็น" มาก่อน

"...ชุมชนที่นี่เป็นชุมชนนวัตกรรม lnnovation เป็นสังคมแปลกใหม่ของมนุษยชาติ ยังไม่มีในโลก เป็นสังคมที่มีลักษณะ ทั้งประชาธิปไตย เป็นอิสรเสรีภาพ มีทั้งความเด่นของความเป็น ส่วนกลางอย่างคอมมิวนิสต์ และมีความเด่น ในคุณธรรม ทางศาสนา โดยมีศาสนา เป็นแกนหลักของชีวิต เป็น mainline เป็น core เป็น essance ก็ได้

คนที่นี่จึงเป็นคนที่มีศีล ทุกคนปฏิบัติศีลของศาสนาพุทธ มีทั้ง basic มีทั้งสูงเป็นระดับๆ ตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งถึงผู้ใหญ่ ต้องมีศีลอย่างน้อยศีล ๕ บ้านทุกบ้านไม่มีโทรทัศน์ส่วนตัว แต่มีที่ส่วนกลาง ถ้าจะดูก็มาดูร่วมกัน

ชุมชนที่นี่เรามีวัฒนธรรมที่แปลกจากข้างนอกมากก็คือ ทุกคนที่นี่ทำงาน ไม่มีใครมีรายได้ ส่วนตัวเลย

ระบบประชาธิปไตย เงินส่วนกลางของสังคม ได้จากการเก็บภาษี แบ่งเอาจากประชาชน เพื่อจะเฉลี่ย กลับคืน ไปสู่ประชาชน

ส่วนคอมมิวนิสต์นั่นเอาจากประชาชน โดยกำหนดบังคับเป็นกฎหมาย ที่หนักกว่าประชาธิปไตย รัฐเอาจากประชาชน มากกว่าแบบประชาธิปไตย เพื่อที่จะสะพัดคืน ไปสู่ประชาชนได้มาก ก็จริง แต่ถูกกดดันบังคับ จนกระทั่ง มีภาวะต่อต้าน ยังไงรัฐก็เลี้ยง ไม่ต้องทำมาก เลยขี้เกียจ ภาวะสังคม ก็เลยตกต่ำลงเรื่อยๆ

ส่วนที่นี้นี่หนักกว่าคอมมิวนิสต์อีก เอามาไว้กองกลางหมดเลย แต่ว่าต่างกันตรงที่ ทุกคนเต็มใจเอามาให้ ไม่ได้ถูกบังคับ เอามาให้อย่างรู้ดี มีปัญญา อาตมาเรียกระบบที่ชาวอโศกทำอยู่นี่ว่า ระบบบุญนิยม แนวคิดของบุญนิยมนี่ เป็นแนวคิด ที่เรียนรู้กิเลส และก็ต้องลด กิเลสจริงๆ แล้วก็เกิดปัญญาเห็นว่า กิเลสลดไม่เห็นแก่ตัว เป็นความดีจริงๆ คนเรามีค่า เพราะเราได้ให้แก่ผู้อื่น คนเรามีเกียรติ เพราะเราได้ให้แก่ผู้อื่น ถ้าเราเอามาให้แก่ตัวเราเองนี่เป็นความโง่ ถ้าเราได้ให้แก่คนอื่นนี่ เป็นความฉลาด เป็นความดี เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ ปรัชญา หรือว่าความจริง ที่ชาวบุญนิยมเห็นคือ เราเป็นคนจน ประเสริฐเลิศกว่า เราเป็นคนรวย เราเป็นคนสร้างสรรให้ได้มากๆ แล้วก็ให้ แก่คนอื่นได้มากๆ นี่เป็นคนประเสริฐ..."

นี่เป็นเพียงบางส่วนที่พ่อท่านบอกเล่า ตอบข้อซักถาม และกับคำถามยอดฮิต ที่ชาวต่างชาติหลายกลุ่ม มักข้องใจซักถาม ก็คือ สิทธิสตรีในสังคม ท่านมองความเสมอภาค ของผู้หญิง และผู้ชายอย่างไร

"...ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าผู้ชาย เราเข้าใจความจริงว่า โดยสรีระร่างกาย ไม่เท่ากันแน่ แต่ผู้หญิงกับผู้ชาย มีสิทธิ์ที่จะมีความสุข เท่าเทียมกัน สามารถมีสิทธิ์ ที่จะทำคุณงามความดี ได้เท่าเทียมกัน มีสิทธิ์ที่จะออกความคิดเห็น ทั้งผู้หญิงผู้ชาย

ผู้หญิงก็มีความเหมาะสมในความเป็นผู้หญิง ผู้ชายก็มีความเหมาะสมในความเป็นผู้ชาย ซึ่งไม่เท่าเทียมกัน ผู้หญิงมีส่วนที่ดี ผู้หญิงคิดอะไร ละเอียดลออจุกจิก ส่วนสิ่งที่ใหญ่ๆหนักๆ เป็นลักษณะผู้ชาย เราแบ่งหน้าที่กัน เราเข้าใจว่า ความเป็นจริง ความเหมาะสม ของแต่ละเพศ มันต่างกันแน่ ผู้หญิงจะต้องตั้งท้อง ผู้หญิงจะต้องเลี้ยงลูก ให้นม ผู้หญิงต้องทำงานบ้าน ซึ่งเป็นข้อจำกัด ของผู้หญิงตามธรรมชาติ ผู้ชายก็ต้องทำงานกว้าง อยู่ส่วนนอกบ้าน แม้แต่สัตว์เอง จะเห็นว่า สัตว์ตัวผู้แข็ง แรงกว่าสัตว์ตัวเมีย อะไรอย่างนี้เป็นต้น

ในศาสนาคริสต์ก็ยังบอกว่า อีฟนี่เอาจากกระดูกซี่โครง ของอดัมมาสร้างนะ เพราะฉะนั้น อีฟย่อมไม่มีศักดิ์เท่าอดัมแน่ แต่ผู้หญิงกับผู้ชาย ต้องเกื้อกูลกัน เพียงแต่มีหน้าที่ มีความชำนาญกันคนละอย่าง จึงควรอยู่ด้วยกันได้ หากยอมรับ ความจริงกัน อย่างนี้ก็จบ.

สำคัญที่ไม่ว่าชายหรือหญิงมีสิทธิ์ทำคุณงามความดีไม่จำกัด ใครจะทำให้มากกว่ากัน ได้เท่าไหร่ ก็มีสิทธิ์ ไม่มีข้อจำกัด ไม่เหลื่อมล้ำ แม้ที่สุด สามารถบรรลุธรรม เท่าเทียมกัน จนถึง อรหันต์ได้เหมือน"

๒.๒ มุมลึกๆในการต่อสู้กับทุนนิยม
๑๑ ส.ค.๔๔ ที่สีมาอโศก คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา จากนิตยสาร OPEN ได้ขอสนทนา สัมภาษณ์พ่อท่าน โดยคุณภิญโญ บอกเล่าว่า OPEN เป็นนิตยสาร ที่พยายามนำเสนอ แนวทางเลือกหลายๆแนวทาง เพื่อให้คนรุ่นใหม่ ได้เห็นว่าชีวิตมีทางเลือก หลังจากที่เกิดวิกฤติแล้ว คิดว่าแนวทางบุญนิยมนี้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่น่าสนใจมาก เป็นการต่อสู้ ทางด้านโครงสร้าง และทฤษฎี ทางเศรษฐกิจระหว่างทุนนิยม ซึ่งกำลังจะไม่มีทางออก ให้กับมนุษยชาติ

คำถามแรกที่คุณภิญโญสนใจ เกี่ยวกับความคิดริเริ่มการตั้งชุมชนอโศก ประเด็นต่อมา ทำไมมหาเถรสมาคม และภาครัฐ ในอดีต จึงต่อต้าน

"...ทุกวันนี้ เวลาและผลงานที่เกิดมานี่ จึงช่วยอาตมาได้บ้าง ทางด้านโน้น ก็เลยค่อนข้างจะรามือหน่อย
ศาสนาพุทธมี ๒๕๐๐ กว่าปี จนทุกวันนี้ มันเพี้ยนไป เหมือนกลองอานกะ พระพุทธเจ้าพยากรณ์ เปรียบเทียบไว้ กลองอานกะ มันแตกก็เอาไม้ใหม่มาเสริม เอาอะไรมาเปลี่ยนใหม่ แต่ยังชื่อว่า อานกะอยู่อย่างเก่า เหมือนพุทธศาสนา เรียกพุทธอยู่อย่างเก่า แต่ว่ากลายเป็นศาสนา ที่มีอะไรแทรกแทน เป็นศาสนาที่ถูกปฏิรูปไป จนผิดไปจากศาสนาพุทธแล้ว ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าสอน ให้เลิกรดน้ำมนต์ เลิกจุดรูป จุดเทียน จุดไฟ จุดกำยาน ให้ควัน จุดน้ำมันเปรียง น้ำมันเนย ท่านออกเป็นศีลห้ามไว้ ศาสนาพุทธ ต้องไม่ทำสิ่งเหล่านี้ เพราะไม่ใช่เทวนิยม เป็นอเทวนิยม ศาสนาพุทธ เป็นกรรมนิยม คือปฏิบัติกรรมเป็นหลัก ทุกคนมีกรรม เป็นของของตน (กัมมัสสโกมหิ) มีกรรมเป็นทายาท (กัมมทายาโท) มีกรรมเป็น กำเนิด (กัมมโยนิ) มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ (กัมมพันธุ) มีกรรมเป็นที่พึ่ง (กัมมปฏิสรโน) แต่เดี๋ยวนี้เพี้ยนหมดเลย ต้องรดน้ำมนต์ ต้องมีธูปมีเทียน อาตมาไม่จุดธูปเทียน ไม่รดน้ำมนต์ เขาก็หาว่า นี่นอกศาสนาพุทธ มาถึงวันนี้ พิสูจน์ไปซิ ย้อนไปดู ที่พระไตรปิฎกก็ได้..." พ่อท่านกล่าว

ประเด็นต่อมา ก็พูดถึงการต่อสู้กับทุนนิยม ยิ่งยากขึ้น เพราะมีอยู่ทั่วโลก แต่พ่อท่านก็มั่นใจว่า สังคมโลก ต้องมาเอา บุญนิยม เพราะทุกข์กันขนาดหนัก ไม่มีทางออก ทรัพยากรของโลกก็พร่อง และขณะนี้ มีสังคมบุญนิยม ที่เป็นตัวอย่าง เกิดมีขึ้นมาแล้ว

"...พูดตามประสาอาตมา โลกในอีก ๕๐๐ ปี คนเลวจะหักล้างกันเอง ทุนนิยมจะฆ่ากันเอง โลกจะสงบลง คนเลว จะเหลือน้อย คนดีมีคุณธรรม จะอยู่เป็นส่วนมาก คนดีก็จะสร้างวัฒนธรรม สร้างสังคมใหม่ขึ้นมา ก็จะเกิดเป็น วัฒนธรรมใหม่ เกิดเป็นยุคพระศรีอาริย์ คนดีจะมากขึ้นๆๆ คนเลวจะฝ่อลงๆ จนกระทั่งหาคนเลวไม่ได้ โลกจะรุ่งเรือง ไปสู่ยุคพระศรีอาริย์ จะรุ่งเรืองไปอีกนานเลย..." พ่อท่านกล่าว

กับอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เป็นการมองจากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจริง "หลังจากผ่านการต่อสู้ กับทางบ้านเมือง ทางมหาเถรสมาคม มายาวนานแล้ว เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ท่านนายกรัฐมนตรี เดินทางไปที่ราชธานีอโศก ขณะที่ภาครัฐ ได้ส่งเกษตรกรที่พักหนี้ ให้มาเข้าอบรม พระคุณเจ้าถือว่า เป็นชัยชนะในการทำสงครามหรือไม่" คุณภิญโญถาม

"อาตมาไม่ถือว่าอาตมาต่อสู้ ตั้งแต่คำแรก ที่คุณพูดว่าต่อสู้แล้ว อาตมาเพียงป้องกันตัว จงอย่าใช้คำว่า อาตมาต่อสู้เลย โดยสัจจะ อาตมาจะไม่สู้ ถ้าจะให้สู้ พูดกันให้ลึก ก็สู้ทางความคิด ความเห็นทางทฤษฎีเท่านั้น แต่จะสู้จะห้ำหั่น เอาชนะเอาแพ้กัน อาตมาไม่ได้ทำ
       ๑. อาตมาไม่ได้ต่อสู้ อาตมาเพียงป้องกันตัวเอง
       ๒ .อาตมาไม่ถือว่า อาตมาชนะหรือแพ้

อาตมารู้ดีว่า อาตมาต้องแพ้ อันนี้มีนิมิตหมายมา ทำไมอาตมาต้องแต่งเพลงผู้แพ้ ตั้งแต่อายุ ๒๐ ปี ตอนอายุ ๒๑ ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ มันดัง ท็อปฮิตจริงๆ อาตมายังเป็นเด็ก ส่งหนังสือพิมพ์อยู่เลย แล้วมีหลายคนมาบอก ให้อาตมา แต่งเพลงผู้ชนะ อาตมาบอก อาตมาไม่แต่งเพลงผู้ชนะ ทุกวันนี้อาตมารู้แล้วว่า ทำไมอาตมา ต้องแต่งเพลงผู้แพ้ และไม่ยอมแต่งเพลงผู้ชนะ แล้วก็เป็นผู้แพ้มาตลอด แต่แพ้ก็แพ้ชะตาทราม ดวงใจทรงความมั่นคง ตามเนื้อเพลง นี่แหละ อาตมาไม่เอาชนะ อาตมายอมแพ้ได้ ก็อย่างที่ยอมนี่ ให้เปลี่ยนเสื้อผ้า ให้แต่งชุดนุ่งห่มอย่างอื่น อาตมาก็ยอมหมด อะไรก็ยอมๆ รอลงอาญาก็ดี ขอบคุณที่รอลงอาญา ก็ยอมหมดทุกอย่าง แต่เราไม่หยุดการสร้างสรร ไม่ได้หยุดการทำงาน ตามทฤษฎีของพระพุทธเจ้า ที่เป็นแกนหลักของชีวิต ก็ทำอย่างนี้ตลอดมา เพราะฉะนั้น จะบอกว่า เราได้ต่อสู้มั้ย เราป้องกันตัว เราไม่รู้สึกว่าเราแพ้ หรือไม่รู้สึกว่าเราชนะ แม้โลกจะมองว่า เราแพ้ ก็ไม่มีปัญหา ทางโน้นถือว่า ตัวเองชนะ ก็ถือไปเถอะ เราไม่ถืออะไร..." พ่อท่านกล่าว

คำถามที่หลายคนเคยสะดุดใจ เมื่อครั้งที่พล.ต.จำลอง ได้ไปเชิญพ.ต.ท.ทักษิณ มาเป็นหัวหน้า พรรคพลังธรรม ซึ่งเหมือนจะขัดแย้งกันในที ด้วยพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเหมือน หัวขบวนของทุนนิยม ครั้งนั้น พ่อท่านตอบในเชิงหนึ่ง (เป็นทำนองว่า เป็นการสังเคราะห์ตัว ของบุญนิยมกับทุนนิยม เพื่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม การประสานจุดร่วม สงวนจุดต่าง ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จำเป็น) มาครั้งนี้ พ่อท่านตอบในอีกเชิงหนึ่ง เป็นการมองในแบบ มองดีไว้ก่อน อย่างให้เกียรติ และให้ความหวัง

"มองดูเผินๆ ก็ดูจะขัดแย้งในที โดยเราวัดเอาความรวยเป็นหลัก เพราะฉะนั้น คนรวย จะมาจริงใจอะไร พระพุทธเจ้า ก็คนรวย แต่ท่านก็จริงใจ ท่านเองท่านมีบารมีสูง ท่านทิ้งโครมเลยก็ได้ แต่คุณทักษิณทิ้งโครมไม่ได้ ก็ค่อยๆทิ้งไป ถ้าคุณทักษิณ มาเรียนรู้ธรรมะ สุดท้ายจริง ก็เหมือนอนาถบิณฑิกะเศรษฐี ก็ทิ้งวัตถุไปได้หมด นั่นแหละ แล้วก็เอามาช่วย สังคมโลก และมนุษยชาติ ให้เขาทั้งหมดเถอะ เมื่อจิตถึงจะเป็นเอง เพราะฉะนั้น คุณทักษิณ อาตมาก็ ยังหวังว่า จะเป็นอนาถบิณฑิกเศรษฐี คนหนึ่งของประเทศ อาตมาก็หวังเช่นนั้น สาธุหนอ ขอให้เป็นจริง"


๓.วิพากษ์วิภาษณ์ การศึกษาและสังคม
๓.๑ คนศิวิไลซ์ ย่อมรู้ความสำคัญในความสำคัญ
๙ ส.ค.๔๔ ที่ราชธานีอโศก วันนี้เป็นวันไหว้ครูของนิสิต ม.วช.และนักเรียน สส.ธ. ช่วงทำวัตรเช้า สมณะ สิกขมาตุ และคุรุ ให้โอวาทกับนิสิต และนักเรียน โดยกำหนดช่วงเวลา ๘.๐๐-๙.๓๐ น. เป็นพิธีกรรมวันไหว้ครู หลังจากนั้น ให้พ่อท่านแสดงธรรม ขณะเดินทางจากห้องทำงาน มาที่เฮือนศูนย์สูญ พบเด็กนักเรียนคนหนึ่ง ขี่จักรยาน เมื่อได้เวลา แสดงธรรม พ่อท่านจึงหยิบยกเอาเหตุนี้ เป็นส่วนประกอบการสอน พูดเสียงดุๆ

อ่านต่อหน้า ๒

  อ่าน บันทึกปัจฉาฯ หน้าถัดไป

บันทึกจากปัจฉาสมณะ หนังสือสารอโศก อันดับที่ ๒๔๑ ตุลาคม