กว่าจะถึงอรหันต์
พระพรหมทัตตเถระ


สารอโศก
อันดับ 241
ตุลาคม 2544


โดนด่าว่ากล่าวฉาวโฉ่
ไม่โผล่โมโหโกรธเขา
อดทนอดกลั้นใจเรา
เลวเขลาหากด่ากลับไป

พระพรหมทัตตเถระนี้ อดีตชาติก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้แล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ จึงมีบุญกุศล สั่งสมมา จากชาตินั้นๆ

ครั้นถึงยุคของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม พระเถระนี้ได้กำเนิดเป็นโอรสของ พระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งนครสาวัตถี มีนามว่า พรหมทัตตะ

เมื่อพระหมทัตตกุมารเติบโตเจริญวัยแล้ว ศึกษาในศิลปะและวิชาการต่างๆ อยู่มาวันหนึ่ง... ได้มีโอกาสเห็น ถึงพุทธานุภาพ ของพระศาสดา ในคราวที่ฉลอง พระเชตวันมหาวิหาร บังเกิดจิตศรัทธา อย่างแรงกล้า ได้ขอบวช อยู่ในพระพุทธศาสนา

บวชแล้วภิกษุพรหมทัตตะมุ่งมั่นในการประพฤติธรรม เพียรบำเพ็ญในวิปัสสนากัมมัฏฐาน (พิจารณา ให้เห็นแจ้ง ตามจริง ในเหตุที่กระทำ) กระทั่งบรรลุธรรม มีอภิญญา ๖ (ความรู้ยิ่ง ๖ อย่างคือ ๑.อิทธิวิธี มีฤทธิ์ สู้กิเลสได้ ๒.ทิพพโสต หูทิพย์ แยกแยะกิเลสได้ ๓.เจโตปริยญาณ รู้วาระจิตมีกิเลสหรือไม่ ของตนและของผู้อื่น ๔.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ รู้แจ้งระลึกชาติได้ ๕.ทิพพจักขุ ตาทิพย์ มองทะลุกิเลสได้ ๖.อาสวักขยญาณ ความรู้แจ้ง ที่กิเลสหมดสิ้นแล้ว) พร้อมด้วยมีปฏิสัมภิทา ๔ (มีความรู้แตกฉาน ๔ ด้าน คือ ๑.อัตถปฏิสัมภิทา = รู้แตกฉาน ในเนื้อหาสาระ ๒.ธัมมปฏิสัมภิทา = รู้แตกฉานในธรรมะ ๓.นิรุตติปฏิสัมภิทา = รู้แตกฉานในภาษา ๔.ปฏิภาณปฏิสัมภิทา = รู้แตกฉาน ในไหวพริบ) ได้สำเร็จเป็น พระอรหันต์องค์หนึ่งแล้ว

อยู่มาวันหนึ่ง มีพราหมณ์คนหนึ่ง เคยมีความไม่พอใจในพระเถระนี้ ดังนั้นขณะที่พระเถระ กำลังเดินบิณฑบาต อยู่ในพระนครนั้นเอง พอดีพราหมณ์นั้น ได้พบเห็นพระเถระ ก็ตรงเข้าไปหาทันที พร้อมกับชี้หน้าด่า ว่าด้วยเสียงอันดัง แต่พระเถระ ก็นิ่งเฉยเสีย มิได้โต้ตอบ แต่ประการใด ยังคงเดินบิณฑบาต อยู่ด้วยอาการสงบ

แต่พรามหณ์ก็มิได้ลดละ ยังคงเดินตามด่าว่า อยู่แล้วๆเล่าๆ ไม่ยอมหยุดปาก สร้างความแตกตื่น แก่ชาวบ้านชาวเมือง เป็นอันมาก บางคนเห็นเหตุการณ์แล้ว ก็อดสงสัยไม่ได้ ต้องเอ่ยปากออกไปว่า "ทำไมพระเถระนี้จึงไม่โกรธ ไม่กล่าว โต้อะไร ออกมาบ้างเลย"

เมื่อหลายคนพูดขึ้นเช่นนั้น พระพรหมทัตตะเถระ จึงหยุดเดิน แล้วได้คำตอบ แก่คนทั้งหลายว่า "สำหรับผู้ที่หมด ความโกรธแล้ว ผู้ฝึกตนดีแล้ว เลี้ยงชีพโดยธรรม ผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยถูกต้อง ผู้สงบ ผู้คงที่แล้ว ความโกรธ จะมีมาแต่ที่ไหนเล่า

หากบุคคลใด โกรธตอบผู้โกรธอยู่ ถือว่าเป็นคนเลว ยิ่งกว่าผู้โกรธนั้น แต่ถ้าบุคคลใด ไม่โกรธตอบผู้โกรธอยู่ ชื่อว่าชนะสงคราม ที่ชนะได้ยาก

บุคคลใดรู้ว่า ผู้อื่นโกรธแล้ว ก็มีสติสงบใจได้ บุคคลนั้นชื่อว่า ประพฤติประโยชน์ แก่ทั้งสองฝ่าย คือแก่ตนและผู้อื่น แต่คนเหล่าใด เป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญผิดไปว่า บุคคลผู้รักษาประโยชน์ แก่ทั้งสองฝ่ายนั้น เป็นคนโง่เขลา

ฉะนั้น คราใดถ้าความโกรธเกิดขึ้น จงระลึกถึง พระโอวาทของพระศาสดา ที่อุปมาด้วยเลื่อยคือ "...แม้จะมีพวกโจร ประพฤติต่ำช้า เอาเลื่อยมีที่จับ ทั้งสองข้าง มาเลื่อย อวัยวะ ใหญ่น้อยอยู่ หากผู้นั้น มีใจคิดร้ายต่อโจร เพราะเหตุที่ อดกลั้นไม่ได้ ผู้นั้นได้ชื่อว่า ไม่ทำตาม คำสั่งสอนของเรา"

หากคราใด ถัาตัณหาในรสเกิดขึ้น จงระลึกถึงพระโอวาท ของพระศาสดา ที่อุปมาด้วยเนื้อบุตรคือ ".....สามีภรรยา จำต้องเคี้ยวกิน เนื้อบุตรน้อยผู้น่ารัก มิใช่เพื่อความอยากในรส เพราะความคะนอง เพื่อความมัวเมา หรือเพื่อตกแต่ง ประดับประดาร่างกาย แต่กินเพื่อมีชีวิต เดินข้ามทางกันดารไปได้ ไม่พินาศด้วยกันทั้งหมด"

หากคราใดถ้าจิตแล่นไปในกามและภพทั้งหลาย จงรีบข่มไว้ด้วยสติ ระลึกถึงพระโอวาท ของพระศาสดา ที่อุปมาด้วย การห้ามโคดื้อ ที่ชอบกินข้าวกล้าคือ "...เมื่อโคลงกินข้าวกล้า เจ้าของพึงจับโคสนตะพาย แล้วตีกระหน่ำ ด้วยท่อนไม้ จากนั้นจึงปล่อยไป หากโคนั้น ลงกินข้าวกล้าอีก แม้ครั้งที่ ๒ ... ๓... เจ้าของก็จับโคมาสนตะพาย ตีกระหน่ำ ด้วยท่อนไม้อีก แล้วปล่อยไป จนกระทั่งโคไม่กล้า ลงกินข้าวกล้านั้นอีกเลย เพราะระลึกถึง การถูกตีด้วยไม้ได้ ฉันใด จิตที่ข่มไว้ดีแล้ว ในสัมผัสทางตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ ย่อมดำรงอยู่ สงบนิ่งในภายใน มีธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นได้ ฉันนั้นเหมือนกัน"

เมื่อประกาศธรรมอันประเสริฐนั้นแล้ว พระเถระก็เดินบิณฑบาตต่อไป ด้วยอาการอันสงบ

*ณวมพุทธ
พุธ ๓๑ ต.ค.๒๕๔๔

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๓๕๘ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๒ หน้า ๒๑๗)

     

กว่าจะถึงอรหันต์ หนังสือสารอโศก อันดับที่ ๒๔๑ เดือนตุลาคม ๒๕๔๔ หน้า ๘๑-๘๒