สิบห้านาทีกับพ่อท่าน ทีมสมอ.
โรงบุญ ๔๔

หนังสือพิมพ์สารอโศก
หน้า 1/1

"ผัสสาหาร"

ก่อน"การทำ"(กรรม) คือ"การรู้" รู้ถูกทำถูก รู้ผิดทำผิด รู้ดีทำดี รู้ชั่วทำชั่ว ความรู้จึงเป็นตัวกำหนดการกระทำ ความรู้จึงเป็นตัวกำหนดบทบาทชีวิต

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นครูของโลก และ ๔๕ ปี จากนั้นเป็นเวลา แห่งการพร่ำสอน แก่เหล่าเวไนยสัตว์ ให้ละชั่ว ประพฤติดี ทำจิตให้ผ่องใส ด้วยนัยที่ลึกซึ้ง งดงามด้วยการ มีลำดับ เบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย

เมื่อปราศจากการศึกษาเรียนรู้สัจธรรม ที่ถูกต้อง(สัมมา แต่ละชีวิตจึงดำเนินไปอย่างไร้ทิศทาง เห็นถูกเป็นผิด เห็นผิดเป็นถูก เห็นกงจักรเป็นดอกบัว(อวิชชา) สร้างทุกข์ทับถมตน อยู่แล้วๆเล่าๆ สร้างบาปใส่ตน หนาขึ้น อยู่แล้วๆเล่าๆ เมื่อไรจะรู้สักทีนะ

บทสัมภาษณ์วันนี้ เป็นอีกองค์ความรู้ ที่พยายาม จะถ่ายถอด โดยพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ พุทธบุตรผู้ทำหน้าที่ สืบทอดพระธรรม คำสอน ของสมเด็จพ่อ เพื่อมุ่งหมาย นำพามนุษยชาติ ข้ามพ้นภัย ในวัฏฏสงสาร ให้จงได้

-การประชุมมีความสำคัญต่อการทำงานศาสนาอย่างไร?
-การทำงานของพวกเรา มันไม่แล้วหรอก เพราะว่าคนก็ไม่เที่ยง มันวูบๆวาบๆ โสดาบันก็ยังมียึกยักๆยังไม่นิยตะ ยิ่งไม่ใช่โสดา ก็ไม่ต้องห่วงเลย มันเป็นอย่างนี้แหละ มีอะไรบกพร่องก็ต้องแก้ไข ต้องปรับปรุง ต้องมีการประชุม มีการอภิปราย วิเคราะห์วิจารณ์กันอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอย่าไปเบื่อ อย่าไปเหนื่อยในเรื่องของการประชุม ยกเลิกการประชุมไม่ได้หรอก ต่อให้เป็นอรหันต์กันหมด ก็ยังต้องประชุม เพราะแม้แต่เป็นอรหันต์ ก็ยังมีความคิด ไม่ตรงกันได้ เพียงแต่ท่าน วางได้เท่านั้นเอง ท่านไม่ได้ติดยึด ท่านไม่ทุกข์ ส่วนความเห็นนั้น พระอรหันต์แต่ละองค์ ความคิดเห็น ต่างกันได้ เมื่ออภิปรายแล้ว วิเคราะห์วิจารณ์แล้ว สุดท้าย ก็ต้องเยภุยสิกา ถือคะแนนเสียงส่วนมาก เป็นเกณฑ์ตัดสิน เมื่อคะแนนเสียง ส่วนมาก ชี้ขาดอย่างไรแล้ว ท่านก็วาง ท่านก็จบ

ขนาดอรหันต์ยังเป็นอย่างนั้น พวกเราไม่ใช่อรหันต์ ก็ต้องหัดต้องฝึก ต้องมีการประชุม เบื่อการประชุมไม่ได้ ต้องถือว่า การประชุม เป็นเรื่องที่ควรจะดีใจด้วยซ้ำ เพราะว่า จะได้มาสะสาง หรือปรับปรุง เรื่องที่ยังไม่สมบูรณ์ มันเป็นการก้าวหน้า เป็นวิธีการ ที่จะพัฒนาอะไรๆขึ้นมา จากการประชุม ไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่อหน่าย หรือไม่ใช่ การมาทะเลาะกัน พวกเรา ไม่ได้แย่งลาภยศ สรรเสริญ โลกียสุข อะไรกันแล้ว มีแต่ความเห็นที่ต่างกัน ก็มาปรับว่า จะทำให้ลงตัว ได้อย่างไร จะเอาอย่างไร ก็เท่านั้นเอง ทางโลกเขา จะดึงดันกัน แย่งกัน เพราะมีการได้เปรียบ เสียเปรียบกัน แต่ของเรา เป็นเพียงการ ถกเถียงว่า อะไรจะดีกว่า เท่านั้น แล้วเราก็ตัดสิน เลือกแง่ที่มันดีกว่า ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ต้องแย่งชิงกัน เพื่อเรา จะได้เปรียบ ได้อำนาจ มันต่างกันกับทางโลก

-พ่อท่านมองว่างานของพวกเราทุกวันนี้เป็นอย่างไรคะ?
-งานทุกวันนี้ มีรายละเอียดหลายอย่างที่เราเห็น มันมีอะไรซับซ้อนขึ้น ก็ต้องค่อยๆฝึกไป เพราะมีรายละเอียด ซับซ้อนหลายอย่าง ที่เรายังไม่รู้ เนื่องจาก ไม่มีประสบการณ์ เป็นตัวอย่างมาก่อน เราก็ยังตอบไม่ได้ บางทีตัดสินอะไร ยังไม่ได้ บางอย่าง มันยังไม่สุกงอม ที่จะตัดสินใจ เพื่อจัดการ ให้เด็ดขาดลงไป ก็ยังเห็นอยู่ อย่างนี้เป็นต้น แต่ถึงวันนี้ ได้ขนาดนี้ ก็ดีแล้ว

โดยเฉพาะธุรกิจหรือการพาณิชย์ การค้าขายสมัยโบราณ มันไม่จัดจ้านเหมือนเดี๋ยวนี้หรอก ทุกวันนี้ ธุรกิจ การค้าต่างๆ จัดจ้าน และก็มีเล่ห์เหลี่ยมเยอะมาก ผสมผเสลงไป ในเรื่องธุรกิจ ในเรื่องการค้าขาย เพราะฉะนั้น สังคมถึงได้ เป็นอย่างนี้ ซึ่งเราก็เลี่ยงไม่ออก เราจึงต้องฉลาด ต้องรู้เท่าทัน เขาเหมือนกัน ว่าอะไรที่เราไม่ร่วมมือ อะไรที่เราไม่เอาด้วย เราจะเอาเฉพาะ ในส่วนที่เรา พอเป็นไป แต่ถึงขนาดนั้น เราก็ยังจำต้องอนุโลม เข้าไปหลายจุด ไม่อนุโลมก็ไม่ได้ เพราะว่า เราเป็นคนส่วนน้อย ของสังคม เมื่อเรามีกำลังมาก จะเป็นกำลังมาก ด้วยมวลก็ตาม หรือมีกำลังมาก ด้วยคุณภาพก็ตาม เราจะกำหนดได้ว่า อย่างนี้เอา อย่างนี้ไม่เอา ทุกวันนี้ มวลก็ยังมีอำนาจ เป็นพลังต่อรองอะไร กันอยู่เหมือนกัน แต่เราก็ค่อยๆทำไป เราไม่ใช่พวกที่จะไป ตีรันฟันแทงกับใคร หรือ เอาชนะคะคานกัน อย่างรุนแรง ก้าวร้าว บางเรื่อง เราก็อนุโลม ยอมเขาไปบ้าง ทั้งๆที่ใจเราไม่ยอม

ข้อสำคัญอยู่ที่พวกเราได้รู้ สิ่งที่มันเกิดเป็นผัสสะต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ จะเป็นโจทย์ให้เราปฏิบัติ เพื่อให้เกิดปรมัตถ์ หรือ เกิดผลทางใจ ตรงที่จะไม่อึดอัด ขัดเคือง ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องวุ่นอะไรกันมากนัก โรคาพยาธิอะไรต่างๆ มันจะได้ น้อยลงบ้าง จริงๆแล้ว อาตมามั่นใจว่า พวกเราเป็นโรคทางกายไม่มาก แต่เป็นโรคทางจิตมาก ถ้าใครสามารถ ปล่อยวางได้มาก สุขภาพจะดีขึ้น ความกดดัน มันมีจริง ในชีวิตคน ที่ไม่รู้ภาวะทางจิต กดดันหนักเข้า ก็ประทุออก ทางโน้นทางนี้ แล้วทำให้ตัวเอง เจ็บป่วยไปตามเรื่องตามราว ทางวิทยาศาสตร์ เขาก็ตรวจสอบรู้ ทางนามธรรม ก็รู้แน่ๆ อาตมาบอกแล้ว แต่พวกเราไม่ค่อยเข้าใจ วางไม่เป็น อาตมาไม่รู้จะไปจี้ตรงไหน คุณไปยึดอะไรอยู่ อาตมาก็ไม่รู้ เรื่องเล็กเรื่องน้อย เรื่องนั้นเรื่องนี้ อะไรต่างๆ เมื่อคุณไปยึดกัน สะสมกันเข้าไป ก็จะกลายเป็น ความกดดัน ในจิตของเราเอง

-จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร?
-ก็ต้องหัดปฏิบัติธรรมนี่แหละ ต้องพยายามพิจารณาเวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม หาต้นเหตุ แห่งความติดยึดนั้นๆ ในจิตเรา ให้รู้แจ้งเห็นจริงให้ได้ แล้วฝึกละ ฝึกปล่อย ให้ถูกตัวถูกตนของมัน ด้วยหลัก วิปัสสนาภาวนา พิจารณาให้มาก ปฏิบัติไปมากๆ ความกดดันเหล่านั้น ก็จะลดน้อยลง สุขภาพร่างกายเรา จะเจ็บป่วยน้อยลง ทุกอย่างจะไปด้วยกันหมดเลย เมื่อจิตใจเราสบาย มีกำลังวังชา ไม่ต้องเจ็บออดๆ แอดๆ งานการก็เจริญไปได้

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้าทำได้ลงตัวจริง จะเป็นมุทุภูเต กัมมนิเย จิตใจของเรา จะหัวอ่อน รู้ก็ไว ดัดก็ง่าย ตัดง่ายขึ้น ไม่ต้องไปต่อรองต่อต้าน ไม่ต้องขัด ไม่ต้องทุกข์ หรือกดดันอะไรอยู่ ปล่อยวางได้ง่าย ด้านปัญญา ก็เป็นปัญญาที่แววไว รู้ได้เร็ว ปรับได้ง่ายขึ้น การงานก็ดีขึ้น เหมาะควรขึ้น เพราะมันเป็นปฏิภาค แก่กันและกัน มีผลต่อกันและกัน ทั้งสองด้าน ทั้งสองส่วน มันจะเอื้อกัน แต่ในทางกลับกัน ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้อง มันก็จะถ่วง ทำลายกันได้ การงานก็เสีย จิตสุขภาพกายก็แย่ หลักธรรมของพระพุทธเจ้า จึงเป็นสุดยอด ปราชญ์จริงๆ เพียงแต่เราเอง เข้าใจไม่พอ นำมาศึกษาไม่ถูก ศึกษาเพี้ยนๆ เข้าใจเพี้ยนๆ ก็เลยเป็นเรื่องเพี้ยนๆ ไปเยอะแยะ อาตมาต้องมาแก้กลับ ทำให้อาตมา ได้พิสูจน์ความจริง จากพวกเรานี่แหละ ได้เห็นความจริง จากพวกเรา ซึ่งแตกต่าง จากชาวพุทธ ที่เข้าใจธรรมะ ผิดเพี้ยนไป จึงไม่มีผล เป็นพหุชนหิตายะ ไม่เป็นโลกุตระ แต่เป็นแบบโลกย์ ต่างจากพวกเรา ที่จะมีการพัฒนาตัวเอง คำตอบอยู่ที่คน แม้คนจะไม่มีปริมาณมาก เพราะมาได้ยาก แต่คนที่มีคุณภาพ และ มีคุณธรรมเจริญขึ้น ก็เท่ากับ การได้พัฒนาขึ้นแล้ว ถึงแม้เราพัฒนา ปริมาณไม่ได้มาก แต่การได้พัฒนาคุณภาพ คุณธรรมของเรา แต่ละคน ให้เจริญยิ่งๆขึ้น ก็จะเป็นความเจริญขึ้นเช่นกัน

-โทษภัยของการไม่เข้าหมู่เข้ากลุ่มมีอะไรบ้างคะ?
-การที่ไม่เข้าหมู่เข้ากลุ่มนั้น ถ้าเราติดงานจริงๆก็แล้วไป แต่บางคนก็เอางานนั่นแหละ เป็นข้ออ้าง เพื่อไม่อยากเข้าหมู่ เพราะการทำงานส่วนตน เป็นอัตตาได้ เป็นมานะได้ มันสบายใจของตัวเองได้ เนื่องจาก ไม่ต้องไปสัมผัส สัมพันธ์กับใคร เราทำงานก็ของเรา อยู่ในโลกของเรา ในภพของเรา ไม่ต้องไปวุ่นวายกับใคร ก็เลยเอางาน มาเป็นเครื่องแก้ตัว และ เราก็ติด อยู่กับงาน กินก็กินของฉัน อยู่ก็อยู่ของฉัน อ้างว่าไม่มีเวลา จะต้องรีบกิน มันก็กลับเป็นอัตตา เป็นภวตัณหา ที่ซ้อนอยู่ อาตมาพยายาม หยิบมาชี้ มาอธิบายเสมอๆว่า กามตัณหาของพวกเรา ลดได้พอสมควร แต่ภวตัณหา ยังตีกันไม่แตก เรายังไม่เก่ง ยังไม่เจริญ ในการละภวตัณหา ภวตัณหาที่ติดภวังค์ ก็หลับหรี่อยู่ในภวังค์ อยู่ในภพส่วนตน อยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่เป็นกาโยส่วนตน ไม่ไปสัมผัสสัมพันธ์กับใคร ที่จัดจ้านกว่านี้ สัมผัสแค่นี้ เราก็สบายๆแล้ว ก็เลยติดอยู่ ในโลกแคบๆ ของเราแค่นี้ แล้วก็อ้างการงาน เป็นประโยชน์ มันก็อยู่ได้ แต่ไม่เพิ่มฐาน อยู่ได้ก็ไม่เจริญ นี่แหละ ที่อาตมาเข็นตรงนี้

-ผัสสาหารสำคัญอย่างไร ในการปฏิบัติธรรม?
-ผัสสาหารเป็นตัวกระตุ้นให้เราเองมีโลกกว้าง ให้เราตื่นขึ้น ถ้าไม่มีผัสสาหาร ไม่มีผัสสะเป็นอาหาร เป็นเครื่องอาศัย เป็นแบบของโลกฤาษี ซึ่งไม่มีผัสสะอะไรมาก ไม่อาศัยผัสสาหาร ก็ติดอยู่กับภพของตัวเอง แล้วก็จมกับจม "สีทติ" ยิ่งกดให้จม ก็ยิ่งดิ่ง ยิ่งไม่ตื่น มีแต่ดำดิ่งๆ มืดๆ ลึกๆ ไม่ตื่น ไม่รู้ ไม่กระจ่าง ไม่สว่าง อาตมาพยายาม ใช้ภาษาสื่อให้คุณฟัง เพื่อให้เข้าใจ ถึงนามธรรม ไม่ใช่เป็นแค่ภาษาตื้นๆ มันไม่เป็นศาสนาพุทธ ที่ตื่นสว่างแจ้ง ซึ่งตรงข้ามกับฤาษี ที่มีแต่จะสีทติ คือจมลงๆ ตกภพ ตกภวังค์ มีแต่จมมืด ไม่ตื่น การที่เราเอาเรื่องการงาน มาเลี่ยง มาแก้ตัว โดยไม่อาศัยผัสสะ ก็เพราะ เราไม่อยากจะเพิ่มภูมิ และไม่เห็นอานิสงส์ของผัสสะ บอกแล้วว่า ผัสสะอะไร ก็ไม่ดีเท่า ผัสสะมนุษย์ มนุษย์นี่แหละ ให้ผัสสะกับเราดีที่สุด ซึ่งเป็นคู่แค้น คู่อาฆาต หรือศัตรู ศัตรูมี ๒ ประเภท คือ
๑.ศัตรูคู่รัก คู่รักเป็นศัตรูอย่างยิ่ง
๒.คู่แค้นซึ่งก็เป็นศัตรูอย่างยิ่ง อีกเช่นกัน
เพราะฉะนั้น เราสัมผัสกับคู่รักคนรัก ก็ต้องระวังจิตวิญญาณ ต้องระวังกิเลสตัณหา ถึงแม้มันอาจ ไม่ใช่คู่รักแบบโลกย์ ทีเดียวก็ได้ ไม่ใช่คู่รักแบบเมถุน แต่เป็นคนที่เรารัก เราลำเอียงได้ เกิดอาการดูดดึง ติดยึด เพราะเราสัมพันธ์ กับหมู่กลุ่มเยอะ ซึ่งตรงข้าม กับคนที่เรา ไม่รักไม่ชอบ ก็จะเป็นผัสสะ อีกแบบหนึ่ง และเมื่อเราก็จะเกิดบทบาท กรรมกิริยา ที่จะเกิดการตัดสิน มันก็จะเอาอำนาจ ของความชอบ หรือไม่ชอบ มาบวกลบคูณหาร ให้เป็นการลำเอียง ฉันทาคติ โทสาคติ นี่ก็คือ ความไม่สมดุล หรือความไม่สมบูรณ์ ของจิตวิญญาณ โดยกิเลสจะทำงาน เมื่อเราลำเอียง ก็เล่นไม่ซื่อแล้ว เมื่อเราลำเอียง เราไม่ซื่อแล้ว มันก็เป็นบาป เป็นภัย เราเองทำมากๆก็ยิ่งโง่ เหมือนไม่รู้ก็ยิ่งโง่ หากทำแล้ว เรารู้ตัว พยายามแก้ไข ปรับปรุงตัวไปเรื่อยๆ นั่นคือ เราได้พัฒนาตน นี่กล่าวถึงผัสสะ คนที่เป็นคู่รัก คนที่เรารัก

ส่วนคนที่แค้น เมื่อสัมผัสคนที่เราไม่ชอบ หรืออาฆาตมาดร้าย แล้วเราจะทำอย่างไร จะไม่ให้เกิดโทสมูล จะไม่ให้เกิด กิเลสในจิต เป็นโทสจริต เราก็ต้องอ่านอาการหยาบ กลางของกิเลสเหล่านี้ โดยมีผัสสาหาร เป็นเครื่องอาศัย มันจะได้เกิด การประพฤติ ปฏิบัติจริงๆ ไม่เสียเวลาเปล่า บางที ถ้าไม่มีผัสสะ ก็จะไม่มีอะไรมา กระตุ้นกิเลส ไม่มีอะไรมาแหย่ ให้กิเลสเกิด มันก็ผ่านวัน ผ่านคืนไป เดินทางสู่หลุมฝังศพ โดยไม่มีการพัฒนาเกิดขึ้น

-พ้นทุกข์ด้วยผัสสาหารอย่างไร?
-พอผัสสะ จึงจะเกิดปฏิจจสมุปบาท ทำให้เกิดเวทนาเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นอุเบกขา อุเบกขาที่เป็นกิเลสก็มี อุเบกขาที่เป็นโมหะ แบบอุเบกขาเด๋อก็มี หรือไม่ก็เกิดสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา เป็นแบบโลกีย์ สุขก็สุขแบบโลกียสุข ทุกข์ก็ทุกข์แบบโลกีย์ทุกข์

เพราะฉะนั้น ถ้าเราเกิดทุกข์ และเห็นทุกข์ ด้วยอาริยสัจ ทุกข์เป็นแบบนี้ เกิดจากอำนาจกิเลส คือสมุทัยอย่างนี้ แล้วเราก็ทนมัน สู้กับมัน ตั้งตนอยู่บนความลำบาก กุศลธรรมจะเจริญ แต่ทุกข์โดยที่เรา ไม่รู้เท่าทัน แล้วก็บำเรอสมุทัย บำเรอ กิเลสตัณหา จนกลายเป็นตัวเสพสุข เป็นโลกียสุข แต่ถ้าเรารู้เท่าทันว่า โลกียสุข เราไม่เอาแล้ว

เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดผัสสะก่อให้เกิดเวทนา เวทนาก่อให้เกิดตัณหา ตัณหาก่อให้เกิดอุปาทาน มันต่อเนื่องกันไป เป็นลูกโซ่ เวทนาพอเกิดสุขเกิดทุกข์ จะก่อเป็นตัณหา อยากจะบำบัด หรืออยากบำเรอ อยากผลักไส ต้องเห็นให้ชัด แล้วปฏิบัติวิปัสสนา จนกิเลสตัณหานั้นๆ จางคลาย และดับสนิท จิตก็วางเฉย วางปล่อย ไม่ยึดสุข ยึดทุกข์ได้จริง หมดสุข หมดทุกข์ แต่ก็อยู่กับเรื่องนั้น บทบาทนั้นๆ ไม่ใช่เฉยเมยกับเรื่องนั้น บทบาทนั้น เห็นอะไร ก็เข้าใจบทบาทของมัน ว่าเป็นอย่างนั้นแหละ เข้าใจความจริง ตามความเป็นจริง แต่ส่วนจิตก็เฉยๆ ไม่เกิดอาการทุกข์ อาการสุข อทุกขมสุข ทว่า สามารถมีความเมตตา แม้คนที่เคยเป็นศัตรู หรือแม้คนที่เขายังตั้งตน เป็นศัตรูเราอยู่ ก็ตาม โดยรู้ๆ เห็นๆ บทบาทนั้น ผัสสะ อยู่โทนโท่

ผัสสาหาร จึงเป็นตัวที่สำคัญมาก ที่ช่วยให้เราจะได้ปฏิบัติธรรม เมื่อมีผัสสาหาร จึงเกิดมโนสัญเจตนาหาร จึงจะรู้ รู้แล้ว เราจึงมีเจตนารมณ์ ตามมาได้ เราจะสัญญา กำหนดได้ ถูกต้องทางใจ เมื่อเรารู้แล้ว ก็จะเกิดสังเคราะห์ เกิดสังขาร เป็นปุญญาภิสังขาร หรือ อปุญญาภิสังขาร จะปรุงเป็นบุญ หรือจะปรุงเป็นบาป ก็อยู่ที่ความรู้ และความจริง ตามที่เรา ทำได้นี่แหละ บางทีเรารู้ว่า ทำอย่างนี้ เป็นปุญญาภิสังขาร แต่มันปรุงไม่ถึง ปรุงไปกิเลสก็เข้าร่วม ปรุงแล้ว ไม่ได้บุญ เท่าที่ควร เพราะกิเลส มันยังเก่งอยู่ ก็ยังมี ก็เป็นได้ ถ้าลดตัณหาต่างๆได้ ก็จะปรุงเป็นวิสังขาร โดยที่ไม่ให้กิเลส เข้ามาร่วมปรุง แต่ปรุงด้วยวิชชา ปรุงด้วยธาตุรู้ มันก็เกิดเป็นวิญญาณ ที่ได้รับการละล้าง กิเลสตัณหา ออกไปเรื่อยๆ เป็นวิญญาณ ที่สะอาด แข็งแรงสูงขึ้นๆ ยิ่งเกิดเป็นญานปัญญา รู้โลกวิทู ยิ่งทำงาน ยิ่งมีผัสสะ ยิ่งมีกิจกรรม ก็ยิ่งเจริญ ไปเรื่อยๆ สมรรถนะก็ยิ่งดี ยิ่งเก่ง มีทักษะเชี่ยวชาญขึ้นๆ ตราบที่เรายังมีขันธ์ ๕ มีแต่เกิดไปสู่ ชีวิตที่ดี เป็นอุบัติเทพ และสูงขึ้น เป็นวิสุทธิเทพ สั่งสมเป็นโพธิกิจไปเรื่อยๆ ตามที่อายุขัยเรายังมี หรือ ตามกรรมกิริยา ที่ยังมี

บทสรุป
ถ้ากวฬิงการาหาร สำคัญต่อการมีชีวิตฉันใด
ผัสสาหารก็สำคัญต่อนักปฏิบัติธรรมฉันนั้น
เพื่อเรียนรู้กิเลสในตน เพื่อขัดเกลาจิตวิญญาณ
ให้ละเอียดขึ้น อ่อนโยนขึ้น
และมีชีวิตที่พัฒนาขึ้นอยู่ตลอดเวลา
เป็นชีวิตที่สมดุลสมบูรณ์
ด้วยประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน

สารอโศก อันดับ ๒๔๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ สิบห้านาทีกับพ่อท่าน หน้า ๒๓