>สารอโศก.


พ่อท่านกำหนดให้ตลาดอาริยะเป็นบุญญาวุธหมายเลข ๒ ของชาวอโศก ซึ่งนับวันๆชาวบ้านก็ เข้าใจกันได้ชัดขึ้นว่าการ "ซื้อ-ขาย" ในตลาดอาริยะ เป็นเรื่องของบุญนิยม หรือนิยมเอา บุญกันจริงๆ

"จะเอาบุญกันเมื่อไหร่ค่ะท่าน?" คือคำถามชาวบ้านที่รอคอยซื้อสินค้า ถามสมณะ ขณะออกบิณฑบาต ก่อนวันงานปีใหม่

"ขอให้ได้บุญกันหลายๆเด้อ" คือคำอวยพรที่ชาวบ้านมาซื้อข้าวของ อวยพรให้กับพ่อค้า แม่ค้าในตลาดอาริยะ

แม้จะยังไม่มีใครอธิบายให้รู้ว่า วิถีชีวิตของพวกเราชาวบุญนิยมเป็นอย่างไร แต่ลึกๆชาว บ้านก็พอจะเข้าใจได้ว่า คนกลุ่มนี้ที่ยอมทุ่มเทแรงกาย แรงใจทั้งทรัพย์ เงินทองของตัวเอง ออกไป ก็เพื่อเอา "บุญ"

ทั้งต้องยอมเหน็ดเหนื่อย ทั้งต้องยอมขาดทุน ก็เพราะต่างก็ชัดเจน ในสัจจะที่เห็นว่า "บุญ" นี่แหละคือทรัพย์แท้ ที่จะติดตัวเราไป อีกยาวนาน ชั่วกัปชั่วกัลป์

ซึ่งพ่อท่านมองในระยะยาวของการสร้างวัฒนธรรมที่ตลาดอาริยะนี้ว่า ถ้าพวกเรา ยิ่งได้ฝึกฝน ความอ่อนน้อมถ่อมตน ให้มากขึ้น จนผู้ให้ ไหว้ผู้รับได้ เหมือนโรงบุญมังสวิรัติ ก็ยิ่งจะเป็น การให้ที่สูงสุด คือให้แม้แต่อัตตาตัวตน โดยไม่ยึดมั่น สำคัญหมาย ให้เป็นตัวกูของกู (ความดีของกู)

การจัดงานปีใหม่ ตลาดอาริยะที่บ้านราชฯ เสมือนเป็นการสอบไล่ใหญ่ ประจำปีของชาว อโศก ซึ่งแต่ละคน คงจะได้กลับไปทบทวน "กรรม ๓" ของตนว่า เราได้ลงทุนเสียสละ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม เพื่อความเป็น "เจ้าภาพ" ของงานมากน้อยแค่ไหน?

ถ้าปีใหม่พลาดไปแล้ว หรือได้คะแนนยังไม่ดีเท่าไหร่ ก็น่าจะไปสอบซ่อม เก็บคะแนนสะสม เพิ่มเติมกันได้ ตามเครือข่าย ชุมชนต่างๆ ของชาวอโศก ซึ่งมีมหกรรม อบรมชาวบ้าน ที่เป็น ลูกค้า ธ.ก.ส. กำลังรอปฏิบัติกร ที่เป็นนักปฏิบัติธรรม ไปเผยแพร่วิถีชีวิต ชาวบุญนิยม เพื่อกอบกู้มนุษยชาติ ให้พ้นจากความเป็น "ทาส" สู่ความเป็น "ไท" ทั้งกายและใจ

"คนผู้มีความสุขที่สุด คือ ผู้ที่รู้ว่าตัวเองเป็นผู้ "ให้" อย่างจริงที่สุด" น่าจะเป็นพรปีใหม่ ที่ชาวเรา ควรได้รับความสุขที่สุด จากโศลกธรรม ของพ่อท่าน กันทั่วหน้าไปจนกว่า... จะทั่วโลก

เพราะชาวอโศก เพื่อมวลมนุษยชาติ

คณะผู้จัดทำ

(สารอโศก อันดับ่ ๒๔๓ ธันวาคม ๒๕๔๔)