>สารอโศก.


เวียนกลับมาอีกเป็นครั้งที่ ๒๓ ของตลาดอาริยะ ซึ่งเป็นตลาดการค้าขายที่ยิ่งใหญ่ ด้วยการทวนกระแส แปลกแหวกแนวไม่เหมือนตลาดใดในโลก จากชาวอโศกทุกสารทิศที่มุ่งสู่ ราชธานีอโศก

นำน้ำใจส่วนคนรากหญ้า ด้วยสินค้าราคาต่ำกว่าทุนและหลากหลายชนิด ที่มีประโยชน์สาระ เอื้อต่อปัจจัย ๔ ด้วยสำนึกถึงบุญคุณ ของชาวไร่ชาวนา คนของแผ่นดิน

คนนับแสนทะยอยหลั่งไหลเข้ามาต่อเนื่องไม่ขาดสาย รอคิวเข้าแถวท่ามกลางแสงแดดร้อน ระอุ อย่างอดทน อย่างสงบเสงี่ยมต่อการเป็นผู้รับ

เมื่อไรที่ผู้ให้หลงตนว่าเป็นผู้ให้ อากัปกิริยาหลายหลากทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น เมื่อไรที่ผู้ให้เข้าใจถึงนัยะของผู้ให้คือผู้รับ อากัปกิริยา จะยิ่งอ่อนโยน ยิ่งอ่อนน้อม เป็นทวีคูณ เมื่อนั้น ปฏิภาคของการให้ และการรับที่สมดุล จึงเกิดขึ้น

-บรรยากาศตลาดอาริยะปีใหม่ '๔๕ เป็นอย่างไรบ้างคะ?
-ปีนี้เห็นความก้าวหน้าของพวกเรา ที่เข้าใจในเรื่องการทำกิจกรรมนี้มากขึ้น มีการขานรับ กันเพื่อสร้างสรรค์ กอปร์ก่อให้เป็ฯจริงเป็นจังยิ่งขึ้น อาตมาก็กำชับกำชา งานตลาด อาริยะนี้ อาตมาให้ความสำคัญเป็นบุญญาวุธหมายเลข ๒ เพื่อจะเป็นกิจกรรมนำร่องของ สังคมนุษยชาติ เพราะอาตมามองเห็นว่า การพาณิชย์หรือธุรกิจการค้าการขาย นับวันจะ เป็นเส้นเลือดของการดำเนินชีวิตของมนุษย์แล้ว

สมัยโบราณใช้วิธีแลกข้าวแลกของกัน แจกกัน เกื้อกูลกัน แค่ประมาณ ๒๐๐ ปี ที่ผ่านมา ก็ ยังไม่จัดจ้านอะไร ยังมีประเภทแลกของ ให้คนนั้นไปใช้ ให้คนนั้นไปกินเกื้อกูลกันไปก็ยังมี อยู่ โดยเฉพาะในเรื่องเงินทองธนบัตร ยังไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญอะไร ธุรกิจก็ยังไม่มี บทบาทอะไรมากมาย เพราะอาหารและวัตถุดิบมีอยู่มาก ยังไม่กระเบียดกระเสียรนัก ทุกวันนี้คนมากขึ้น ความต้องการเพิ่มขึ้น การแย่งชิงก็มากขึ้นตาม ต้องกระเบียดกระเสียรกันมากขึ้น ต่างๆนานา การค้าขายก็เลยกลายเป็น เรื่องที่ขับเคี่ยวกันเข้มข้น ต่อไปใน อนาคต อีกกี่ร้อยพันปีก็แล้วแต่ ธุรกิจนี้จะไม่ซาลง มีแต่จะจัดจ้านขึ้น จนถึงจุดวิกฤติ อาตมาจึงเห็นว่า จำเป็นจะต้องเตรียมคน เตรียมจิตนิสัยของคน เตรียมวิธีการ ให้มีระบบ มีความรู้ ความเข้าใจ ที่จะอยู่กับธุรกิจ พวกนี้ได้ ก็ไม่ได้คิดอะไรมากหรอก มันเกิดของมันโดยธรรม เมื่อความคิดของสัจธรรม "บุญนิยม" มันถึงรอบ มันก็เกิดตามภาวะตลาดแบบนี้ เริ่มแรกจริงๆ ทำมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๓ มาถึงวันนี้ ๒๓ ปีแล้ว ก็นานไม่น้อยเลย แต่ก็ยังไม่มากอะไร เพิ่งนับว่า เริ่มก่อเริ่มเกิดรูป

เราเริ่มจากการทำตลาดอาริยะ แบบก๊อกๆแก๊กๆที่สันติอโศก แต่ไปไม่รอด เพราะสถานที่แคบ จึงย้ายไปที่ปฐมอโศก ซึ่งต่อมาก็ขยายใหญ่ขึ้นๆ จนกระทั่ง มีคนนั่ง ๑๐ ล้อมาซื้อ แล้วก็ขนใส่รถ ๑๐ ล้อกลับไป พ่อค้าหัวใส เมื่อเห็นคนเยอะ ก็มารวมสมทบ ขายของในเขต ข้างที่ของเรา นำเขียงหมูมาตั้งขายบ้าง นำสินค้าราคาแพงมาจำหน่ายบ้าง ซึ่งเราไม่สามารถ ควบคุมพวกเขาได้ สุดท้าย ก็เลยตัดสินใจ ย้ายมาจัดงาน ตลาดอาริยะปีใหม่ ที่ราชธานีอโศก ซึ่งมีสถานที่กว้างขวาง และเราก็ทำให้เป็นกิจจลักษณะขึ้น เชิญผู้ว่าฯ มาเปิดงาน จนถึงทุกวันนี้ ผู้คนก็เข้าใจมากขึ้น

พวกเราเองก็มีความเข้าใจ มีความศรัทธา มีความเชื่อมั่นเห็นดี ร่วมมือกันเสียสละมากขึ้น ก็ได้ทดสอบตัวเราไปด้วย และได้สร้างตัวอย่าง ของกิจกรรม อะไรอันหนึ่ง ซึ่งพวกเรา ได้ทำกันอย่างต่อเนื่อง เข้มแข็ง เป็นการขายต่ำกว่าทุน ก็ขาดทุนนั่นเอง เราเรียกว่า "กำไร อาริยะ" ในตอนแรก ก็เสียสละ ขาดทุนกันคนละปีละหมื่น ปีละสองหมื่น หลายคนช่วยกันคนละ ร้านๆ คนละมากบ้างน้อยบ้าง คนละ ๒ พัน ๕ พันก็มี ต่อมาก็เป็น ๔ หมื่น เดี๋ยวนี้เป็นปีละ แสนสองแสน กล้าขึ้นมาเรื่อยๆ สักวันหนึ่งคงเสียสละกันเจ้าละเป็นล้านก็ได้ ซึ่งอาตมาว่า เงินทองที่จ่ายไปในเรื่องเหล่านี้ มันเป็นการพัฒนาจิตวิญญาณ เป็นการสร้างจิตวิญญาณมนุษย์ สร้างสังคมที่หาค่าไม่ได้

บางคนที่ไม่เข้าใจ ก็คิดว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ อาตมาว่ามันเป็นความคิดลึกซึ้ง ทางจิตวิทยาหลายชั้น เป็นบททดสอบพวกเรา และทดสอบคนข้างนอกด้วย ซึ่งมันมีอำนาจ ต่อรองที่ดีอยู่นะ เพราะเราขายสินค้าถูกให้เขา เพื่อเกื้อกูลเขา ซึ่งเราก็สามารถบอก และกำหนดให้เขาประพฤติตนรู้จักเสียสละ รู้จักมีมารยาท รู้จักเข้าคิว รู้จักจัดอันดับ รู้จัก ไม่ขี้โลภ หรือทำอะไรผิดๆ และเขาก็ยอมประพฤติตาม ซึ่งในด้านการค้าระบบทุนนิยม พ่อ ค้าแม่ค้าต้องง้อลูกค้า ต้องเอาใจลูกค้า ต้องยอมลูกค้า แต่ของเราเองไม่ต้องง้อ ไม่ต้องเอาใจ แต่เราก็สุภาพกับผู้ซื้อ แม้มีผู้ขายบางเจ้าไม่สุภาพ เราก็ยังว่ากล่าวตักเตือนกันเลย ไม่ได้ไปกดขี่ดูถูกดูแคลน ไปเบ่งไปกดอะไรเขา เหมือนไปแจกโรงบุญ เราไปให้เขา และ ก็ไหว้เขา มันเป็นอะไรที่เขารับได้ นี่เป็นการสร้างจิตวิญญาณ และสร้างวัฒนธรรมที่ดี

นอกนั้นที่มีองค์ประกอบต่างๆ ทั้งส่วนของงานที่พวกเราได้มาฟังธรรม ได้มาช่วยเหลือ เฟือฟายกัน ได้มาออกกำลัง และทำกิจกรรมต่างๆนานา ที่ผสมผสานอย่างมีสัมพันธภาพ แม้เป็นเด็กนักเรียน นักศึกษานิสิตต่างๆ ก็มาร่วมมือกันเป็นกอบเป็นกำ ตั้งแต่ก่อนจะถึง วันงาน ทำกันเป็นระบบเลย เริ่มจากหมู่กลุ่มของชุมชนเอง หรือผู้ที่อยู่ในชุมชนอื่นของพวก เรา ก็มาช่วยงานเป็นตัวหลัก ตามด้วยนิสิตอุดรศึกษา และนักเรียนสัมมาสิกขา ซึ่งเรียก ว่าค่าย ยอส. ก็มาสมทบ ช่วยกันเป็นขั้นตอน มารวมกันเป็นพลังมด เป็นพลังสร้างสรร ที่ทำให้ทุกอย่างสำเร็จได้ รวมทั้งมีผลข้างเคียงเป็นผลพลอยได้ที่ตามมาอีกเยอะ

แต่ละปีมีคนเพิ่มขึ้นเรื่อย เดี๋ยวนี้เราไม่ต้องมีใบโฆษณางาน ซึ่งในปีแรกๆ เราจะมีรถไป ป่าวประกาศ ว่ามีงานวันนั้นวันนี้ มีกิจกรรมอะไรบ้าง เพราะคนยังไม่รู้ ปีนี้ไม่ต้องเลย เราไม่ต้องเสียเงินทำใบโฆษณา เวลาไปบิณฑบาตชาวบ้านจะถามเอง เมื่อไรวันงาน

-เรามีการเตรียมพร้อมอย่างไร เพื่อรองรับจำนวนชาวบ้านที่เพิ่มมากขึ้น
-เราก็พยายามที่จะเตรียมให้พร้อม ให้มันรวดเร็ว ให้มันทั่วถึง อะไรก็แล้วแต่ ที่มันจะต้องเพิ่มขึ้น ที่เราคิดออกว่าอันนี้บกพร่อง อันนี้น่าจะดีกว่านี้ เราก็ค่อยปรับปรุงไป ในแง่ของสินค้า ที่จะมาจำหน่าย เราก็ต้องมีมากขึ้นเพื่อรองรับด้วย พวกเราจึงต้องฝึกการเสียสละ ทุนรอนให้มากขึ้น สินค้าของเราจะได้มีมากขึ้น ตรงนี้ถ้าถามว่าจะทันกันไหม ก็คงทำ เท่าที่เราจะทำได้ ถ้าสินค้าเรามีเท่านี้ แต่ความต้องการของคนมีมากกว่าสินค้า มันก็ถือ เป็นความสำเร็จของธุรกิจแล้วนี่ ตรงข้ามถ้ามีสินค้าแล้วขายไม่ออก นั่นคือความล้มเหลว ต่างหาก ปีกลายเรากะแบ่งขายสินค้าตามวันที่เรากำหนด ขนาดนั้นมันก็ยังไม่ถึงวันสุด ท้าย บางเจ้ายังพอมีเงินเหลือ ก็วิ่งไปซื้อสินค้ามาเพิ่มอีก ก็มีหลายร้าน วิ่งรถไปถึง กรุงเทพฯ และวิ่งกลับขึ้นมาอีก ปีนี้เขาก็ขอเอาสินค้ามาเพิ่ม ขนกันมาเลย เป็นรถ ๑๐ ล้อ รถคอนเทนเนอร์ เราก็ช่วยกันขนลง เพราะพวกเรามีความเข้าใจ และกล้าที่จะเสีย สละกันจริงๆจังๆขึ้นมา นี่คือเหตุผลที่เราจะเอาคนอื่นมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าในตลาดอารยะของ เราไม่ได้ มันต้องเป็นคนของพวกเรา ที่ได้ฝึกปรือมาแล้ว และเป็นคนจริง ที่จะเสียสละจริง จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่สปิริตของแต่ละคน ดังนั้นคนข้างนอกปิดฉากไปเลย จะมาแฝงไม่ได้เด็ดขาด ยิ่งคนมากๆอย่างนี้ ถ้ามาตีกิน มาฉวยโอกาส ยิ่งง่ายใหญ่เลย ซึ่งจะทำ ให้เสียเครดิตตลาดอาริยะเราได้

-ตลาดอาริยะแบบนี้ จะมีผลต่อสังคมอย่างไรคะ
-มันจะเกิดความสนิท จะเกิดความเชื่อถือ เกิดความเข้าใจรู้จักพวกเราว่าเป็นพวกเสีย สละ และจะเกิดผลทางสังคมศาสตร์ตามมาอีกเยอะ เช่น พวก ธกส. ที่เขานำคนมาให้ เราอบรม ก็คือชาวไร่ชาวนาพวกนี้แหละ จากหมู่บ้านอำเภอต่างๆ ข้างเคียง ตอนนี้ก็ทำ ให้ทุกอย่างสอดประสานเข้าไปแล้ว พวกเขาได้รู้ลึก ได้เข้าใจอะไรเพิ่มเข้าไปอีก เขา ก็ได้มีการพัฒนาตัวเอง เขาดีใจนะ หลายหมู่บ้านแถบนี้ เช่น หมู่บ้านหินแห่ หินเจริญ เขา ก็ได้อาชีพต่างๆไปทำขาย และเขาได้ไปลดไปละ ทำให้ฐานะของครอบครัวดีขึ้น ค่อยยัง ชั่วขึ้น เขาได้เห็นทางออกในการปลดหนี้ ปลดสิน

อย่างหมู่บ้านหินแห่ พอเสื่อร้อยผืนมา ให้เราเพื่อตอบแทนบุญคุณ โอ้โฮ! เป็นอย่างนั้นได้ และเขาก็ไปๆมาๆ ขาดเหลืออะไร เขาก็มาหา มาบอก มาฝากซื้อ คิดว่านี่เป็นสังคมที่มีความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งนักบริหารก็สามารถ ทำได้ ถ้ามีนโยบายอย่างนี้ ประเทศไทยจะไปได้ดีมาก

-วิกฤติใหญ่ที่รอจะทำลายโลก พ่อท่านคิดว่าเรื่องใดรุนแรงที่สุด
-ก็คือเรื่องของคุณธรรมนี่แหละ เรื่องของมนุษย์ที่ไม่มีคุณธรรมในหัวใจ มีกิเลสมากขึ้นๆ เป็นอันดับแรกเลย นอกนั้นเป็นอันดับรอง ซึ่งก็แยกย่อยลงไปเป็นเรื่องอบายมุข ซึ่งเป็น เรื่องสามัญ ลำดับต่อมาก็เป็นเรื่องของโลกธรรมที่จัดจ้าน ขี้โลภ ซึ่งมาจากจิตของคนที่ไม่มี คุณธรรม กิเลสมันใหญ่มันโต เพราะฉะนั้นพอมันมีความโลภในลาภ ยศ สรรเสริญ มันก็มี กรรมวิธีซับซ้อนตีรันฟันแทง ฆ่ากันอะไรกันเข้าไป เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มาศึกษา ไม่พัฒนา คน ให้คนได้รู้จักสิ่งเหล่านี้ และลดละกิเลสจัดจ้านอะไรพวกนี้ให้ได้จริงๆ มันไม่มีทางแก้ ปัญหาหรอก รอแต่วันจะบรรลัยจริงๆ

-วิกฤติโลกขนาดนี้แล้ว ทำไมพวกเขาจึงยังไม่เห็นความทุกข์ง่าย
-ถ้ามันไม่ยาก พระพุทธเจ้าก็คงไม่ได้เป็นยอดคน การที่จะเห็นทุกข์ได้ละเอียดนั้น มันยาก เหมือนยิงลูกศรในระยะไกล ๑๐๐ ดอก เข้าไปเสียบรูกุญแจ โดยเสียบในรูนั้นรูเดียว หรือจักเส้นผมร้อยแฉก โดยให้แต่ละแฉกเท่ากัน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสอุปมาไว้ ซึ่งไม่ใช่ เรื่องง่าย ทั้งที่มันเป็นเรื่องจริง แต่คนที่จะรู้จะเห็นได้ และสามารถแก้ไขปัญหาทะลุ ทะลวงให้เข้าถึงอริยะสัจ ๔ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มันเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง และยิ่งใหญ่มาก

-บางคนพอรู้บ้างแล้ว ก็เกิดความห่วงกังวลถึงคนที่ไม่รู้ จะวางใจอย่างไรคะ
-เขาเห็นทุกข์แล้ว เขามีปลิโพธ มีอัตตาที่เป็นโอฬาริกอัตตา ยึดว่าสมบัติทรัพย์สินของเรา ลูกของเรา หลานของเรา มันก็เป็นธรรมชาติของกิเลส ซึ่งเราก็สงสารเห็นใจ ก็ต้อง เรียนรู้เพิ่มเติม ว่าจะทำอย่างไร ใช้ความสามารถ ใช้ศาสตร์ และศิลป์ของเราที่จะ ช่วยเหลือเขาให้ได้ ช่วยได้แค่ไหน ก็เท่านั้นแหละ คุณจะทำเกินความเก่งของคุณได้ อย่างไร ตัวเองเก่งได้เท่าไรก็เท่านั้น อยากช่วยเขาได้มากกว่านั้น ก็ต้องพัฒนาตัว เองให้เก่งกว่านั้น จนช่วยเขาได้เพิ่มขึ้นอีก ก็เท่านั้นเอง

-ปีใหม่ผู้คนจะส่งความสุขให้แก่กัน ความสุขที่แท้จริงคืออย่างไรคะ
-ความสุขมี ๓ ลักษณะ
๑.ความสุขอย่างโลกๆ ธรรมดา ของปุถุชน
๒.ความสุขของกัลยาณชน ที่เป็นโลกียะ
๓.ความสุขที่เป็นโลกุตตระ ของอาริยะชน

ความสุขของโลกๆ ก็เป็นแบบหนึ่ง ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็เสพกามไป แล้วก็สุขๆเป็น ธรรมดา ธรรมชาติทั่วไปของทุกคน ซึ่งมันก็ไม่เที่ยง เดี่ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ แล้วก็บำเรอ สุขใหม่

ส่วนสุขของกัลยาณชนที่เป็นโลกียสุข มันสุขแบบที่รู้ว่า ถ้ามีกิเลส เราก็ยิ่งต้องทุกข์ หากไม่มีกิเลส เราก็สุขจากความสงบระงับกิเลสนั้นๆ แต่ก็ทำได้แค่ชั่วคราว เช่น ใช้วิธี สะกดจิต นั่งสมาธิ หรือหาวิธีกดข่มอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งไม่ถึงระดับอภิธรรม ที่รู้จิต เจตสิก รูป นิพพานของตนเอง ฤาษีชีไพรหรือศาสดาหลายศาสนา จะทำได้แค่นี้ แม้แต่ในเมืองไทย สายพระป่าหลายองค์ก็สะกดจิตเก่ง เป็นประเภทโลกียฌาน ลาภ ยศ สรรเสริญก็ไม่ไป แย่งหรอก เพราะเข้าใจด้วยเหตุผล และก็ใช้วิธีกดข่มจิตลืมทิ้ง แต่ไม่ได้ล้างกิเลสออก จริง ถึงจิตในจิต เป็นประเภททำให้กิเลสตกตะกอนเท่านั้น ในช่วงชีวิตคนเรา ๘๐-๑๐๐ ปี ไม่นานหรอก ยังพอกดข่มได้อยู่ แต่เขาก็ยังต้องนั่งสมาธิกดข่มอยู่ตลอดเวลา จนถึง ตาย ซึ่งเรียกว่าเป็นวูปสโมสุข หรือสุขระงับเหมือนกัน แต่เป็นการสงบระงับแบบโลกีย ฌาน ไม่ใช่โลกุตรฌาน

ส่วนสุขประเภทที่ ๓ สุขแบบโลกุตระนั้น เกิดจากการล้างเหตุปัจจัย ที่เป็นสมุทัยให้ดับสนิท ไม่ฟื้นจริงๆ อย่างมั่นคง เพราะจับตัวตน ของกิเลสได้ ตั้งแต่เบื้องต้นคือ "สักกายะ" และ ตัวตนที่เรียกว่า "อัตตา" ทุกขนาด จนที่สุดตัวตนขั้น "อาสวะ" แล้วฆ่าถูก "ตัวตน" ของ กิเลส กระทั่งดับสนิทเกลี้ยงได้จริง อันนี้เป็นวูปสโมสุขแท้ เป็นสุขอันวิเศษจริงๆ และเป็น ความสงบสุข ที่ไม่มีกิเลส มาทำให้ทุกข์ร้อน ต่อไปอีก

ต้องศึกษาเรื่อง "ความสุข ๓ ลักษณะ"นี้ให้ดีๆ ที่จริงลักษณะที่ ๒ คือ "สุขของกัลยาณชนที่ เป็นโลกียะ" นั้น ยังมีนัยแยกไปอีกเป็น ๒ นัย แบบสายเถรวาท ก็สุขนัยหนึ่ง แบบสายมหายาน ก็จะสุขไปอีกนัยหนึ่ง

อย่างไรก็ดี "สุขของปุถุชน" นั้นเป็นสุขที่ไร้ค่าที่สุด แถมเป็นสุขสั่งสมกิเลสแท้ๆ และถึง ขั้นเป็นสุขที่ก่อบาป ก่อหนี้เวรให้ทั้งตนและคนอื่น หรือสังคม "สุขของกัลยาณชน" ก็ยังพอมีคุณค่า มีประโยชน์ต่อตน ต่อสังคม ถึงขั้นมีประโยชน์มากๆทีเดียว เพียงแต่ว่า เป็นสุขที่ไม่มี ทางไปสู่นิพพานกันเท่านั้น

ส่วน "สุขของอาริยชนที่เป็นโลกุตระ" อย่างสัมมา จึงจะมีสิทธิ์ไปถึงนิพพาน และเป็นสุข ที่มีคุณค่า ซึ่งพร้อมไปทั้งประโยชน์ตนขั้นปรมัตถ์ พร้อมทั้งมีประโยชน์ต่อผู้อื่นต่อสังคม

นี่คือ "ความสุข" ที่คนแต่ละภูมิ ถือว่าเป็นความสุขแท้ทั้งนั้น และต่างก็มุ่งมั่นแสวงหา "สุข" ของปุถุชน แม้แต่ของกัลยาณชน ล้วนยังไม่พ้นภพ-ชาติ "สุข" ของอาริยชนเท่านั้น จึงจะ สามารถหลุดพ้นภพ-ชาติ ถึงนิพพานเป็นที่สุด

ใครประสงค์สุขลักษณะใด ก็ศึกษแสวงหากันเถิด ส่วนจะส่ง "ความสุข" ให้แก่กันนั้น ถ้าเห็นว่า "สุข"คือสิ่งที่ส่งให้แก่กันได้เหมือนสิ่งของ และคนรับได้จริง ก็จงส่งแกกันให้สำราญ เทอญ.

บทสรุป
ถนนหลายสาย วกไปเวียนมา ให้เราเลือกเดิน หลายคนเลือกผิดทาง หลายคนหลงทาง หนทางย่อมยาวไกล สำหรับผู้นั้น หลายคนเลือกถูกทาง แต่หอบหวงสัมภาระหนัก ทั้งกิเลสอัตตามานะ ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง หนทางย่อมยาวไกล สำหรับผู้นั้น

(สารอโศก อันดับ ๒๔๓ ธันวาคม ๒๕๔๔)

 

. |