หน้าแรก >สารอโศก


เป็นภิกษุ ทรงศีล ที่ยังเด็ก
แม้ตัวเล็ก เจ็ดขวบ จวบเท่านั้น
อย่ามองหมิ่น หลงพลาด ปรามาสกัน
เพราะเด็กนั่น อรหันต์ เชียวนะคุณ

พระภัททเถระ ในอดีตชาติของพระภัททเถระ ได้สั่งสมบุญบารมีเอาไว้มากมาย มีผลบุญผลประโยชน์ติดตาม มาพร้อมพรั่ง ในชาตินี้จึงเกิดอยู่ในตระกูลเศรษฐีแห่งกรุงสาวัตถี นครหลวงของแคว้นโกศล ได้ชื่อว่า ภัททะ (ผู้มีดีเจริญ) ภัททกุมารเป็นบุตรชายเพียงคนเดียว จึงเป็นที่รักของบิดามารดา เพราะแต่เดิมนั้นเศรษฐี อยู่ครองเรือน มาช้านาน ก็ยังไม่ได้บุตรแม้สักคนเดียว ทั้งสองสามีภรรยาจึงตั้งจิตประพฤติ ข้อปฏิบัติอันดีงาม และเซ่นสรวงบูชา แด่เทวดา (สภาวะจิตใจสูง) เป็นอันมาก จนได้กำเนิด บุตรสุดประเสริฐคนนี้มา

ครั้นพอภัททกุมารอายุได้ ๗ ขวบ บิดามารดามุ่งหวังความเจริญดีแก่บุตรชาย จึงตัดสินใจ พากันช่วยเหลือบุตร โดยแสวงหา ประโยชน์มหาศาลให้ ด้วยการนำภัททกุมาร ไปถวายแด่พระพุทธเจ้า องค์สมณโคดม กราบทูลอ้อนวอน กับพระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุตรของข้าพระองค์นี้ เป็นสุขุมาลชาติ (ชาติผู้ดีมีสกุลสูง) เติบโตมา ด้วยความสุข เป็นบุตรที่ข้าพระองค์ทั้งสอง ได้มาโดยยาก ต้องประพฤติดีมากมาย แล้วก็เพื่อ ประโยชน์สุข อันยิ่งของลูกน้อย ข้าพระองค์ทั้งสองตัดใจ ขอถวายลูกสุดที่รักคนนี้ ให้เป็นผู้คอยรับใช้ ของพระองค์ ผู้ทรงชนะ กิเลสมารได้แล้ว ทรงพระกรุณาช่วยรับไว้ด้วยเถิด"

พระศาสดาทรงพิจารณาแล้ว ด้วยญาณหยั่งรู้ยิ่ง จึงทรงรับภัททกุมารไว้ แล้วหันไปรับสั่งกับ พระอานนท์ว่า "จงรีบให้เด็กน้อยคนนี้ บรรพชา (บวชเณร) เถิด เพราะเด็กคนนี้ จะเป็นผู้รอบรู้ ได้รวดเร็วยิ่งนัก" ตรัสแล้ว พระศาสดาก็ทรงลุกขึ้น จากที่ประทับ เสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี (ที่พัก)

ส่วนพระอานนท์ ก็นำภัททกุมารไปบวชเณร ในวันนั้นทันที แล้วสั่งสอนบอกกล่าววิปัสสนา (การพิจารณษให้รู้แจ้ง ตามจริง) ให้โดยย่อ ด้วยผลบุญ ของสามเณรภัททะ ที่สะสมไว้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัยที่จะนิพพาน (ดับกิเลสได้สิ้นเกลี้ยง) ได้บำเพ็ญวิปัสสนา เพียงชั่วครู่เดียว ยังไม่ทันที่ดวงอาทิตย์ จะตกดินในวันนั้น จิตของสามเณรภัททะ ก็หลุดพ้นจากอาสวะกิเลส (กิเลสที่หมักหมมในสันดาน) ทั้งปวง โดยสภาวะ ได้เป็นพระอรหันต์ องค์หนึ่งในโลกแล้ว

ครั้นพระศาสดาทรงออกจากสมาบัติ (สภาวะจิตสงบอันประณีตยิ่ง) เสด็จออกจากที่เร้น สามเณรภัททะ อยู่ที่หน้ากุฎีนั้นเอง พระศาสดาจึงรับสั่งขึ้นทันทีว่า "ภัททะ เธอจงเป็นภิกษุเถิด" คำตรัสของพระศาสดา เช่นนี้แหละ ได้ถือเป็นการอุปสมบท (บวชพระ) แก่สามเณรภัททะแล้ว เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง โดยการอุปสมบทด้วยพระวาจา เพียงคำว่า จงเป็นภิกษุเถิด) พระภัททะเถระ จึงได้ประกาศอรหัตผลบ้างว่า "เราเกิดมาได้ เพียงแค่ ๗ ปีเท่านั้น ก็ได้อุปสมบทแล้ว สามารถทำจิตของเรา ให้หลุดพ้น จากกิเลสทั้งปวง ได้บรรลุวิชชา ๓ (คือ ๑.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ=รู้ระลึกชาติได้ ๒.จุตูปปาตญาณ=รู้การเกิดและดับกิเลสของสัตวโลกได้ ๓.อาสวักขยญาณ=รู้ความหมดสิ้นไป ของกิเลสได้) น่าอัศจรรย์จริง ความที่ธรรมะเป็นธรรมดียิ่ง"

อยู่มาวันหนึ่ง พระภัททเถระกับพระอานนท์เถระ พักอยู่ที่กุกกุฏาราม ใกล้นครปาฏลิบุตร คราวนั้นพระภัททเถระ ออกจากที่เร้น ในเวลาเย็น เข้าไปหา พระอานนท์เถระ แล้วได้ถามปัญหา กับพระอานนท์เถระว่า

"ท่านอานนท์ ที่เรียกว่า อพรหมจรรย์นั้น เป็นไฉนหนอ?"

"อพรหมจรรย์ ก็คือ มิจฉามรรค (ทางที่ผิด) อันประกอบด้วยองค์ ๘ ได้แก่ ๑.มิจฉาทิฏฐิ (มีความคิดเห็นที่ผิด) ๒.มิจฉาสังกัปปะ (มีความไตร่ตรองที่ผิด) ๓.มิจฉาวาจา (มีการเจรจาที่ผิด) ๔.มิจฉากัมมันตะ (มีการงานที่ผิด) ๕.มิจฉาอาชีวะ (มีการเลี้ยงชีพที่ผิด) ๖.มิจฉาวายามะ (มีความพยายามที่ผิด) ๗.มิจฉาสติ (มีการระลึกที่ผิด) ๘.มิจฉาสมาธิ (มีความตั้งจิตมั่นที่ผิด)"

"ก็แล้ว พรหมจรรย์เป็นไฉนหนอ?"

"พรหมจรรย์ ก็คือ อริยมรรค (ทางที่ประเสริฐ) อันประกอบด้วยองค์ ๘ ได้แก่ ๑.สัมมาทิฏฐิ (มีความคิดเห็นที่ถูกตรง) ๒.สัมมาสังกัปปะ (มีความไตร่ตรองที่ถูกตรง ๓.สัมมาวาจา (มีการเจรจาที่ถูกตรง) ๔.สัมมากัมมันตะ (มีการงานที่ถูกตรง) ๕.สัมมาอาชีวะ (มีการเลี้ยงชีพที่ถูกตรง) ๖.สัมมาวายามะ (มีความพยายามที่ถูกตรง) ๗.สัมมาสติ (มีการระลึกที่ถูกตรง) ๘.สัมมาสมาธิ (มีความตั้งจิตมั่นที่ถูกตรง)"

"ที่สุดของพรหมจรรย์เล่าเป็นไฉน?"

"ความสิ้นราคะ(ความกำหนัด) โทสะ (ความโกรธ) โมหะ (ความหลงผิด) นี้เป็นที่สุดของ พรหมจรรย์"

"บุคคลพรหมจารีเป็นไฉน?"

"พรหมจารี ก็คือบุคคลผู้ประกอบด้วยอริยมรรค มีองค์ ๘ นั่นเอง"

"แล้วศีลที่เป็นกุศล ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วนั้น มีพระประสงค์เพื่ออะไร?"

"ศีลที่เป็นกุศล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อประสงค์ให้เจริญสติปัฏฐาน ๔ คือ ๑.ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา (ความโลภ ) และโทมนัส (ความทุกข์เสียใจ) ในโลกไปเสีย ๒.ย่อมพิจารณเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มี ความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดความโลภ และความทุกข์เสียใจ ในโลกไปเสีย ๓.ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดความโลภ และความทุกข์เสียใจ ในโลกไปเสีย ๔.ย่อมพิจาณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดความโลภ และความทุกข์เสียใจ ในโลกไปเสีย"

"อะไรหนอ? เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรม (ธรรมที่ดีแท้ของคนดีที่มีสัมมาทิฏฐิ) เสื่อม"

"ก็เพราะไม่ได้กระทำให้มากในสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงเสื่อม"

"แล้วอะไร? เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมไม่เสื่อม"

"เพราะได้กระทำให้มากในสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงไม่เสื่อม"

"ถ้าพระผู้มีพระภาคเข้าเสด็จปรินิพพานแล้ว อะไรจะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่ทำให้ พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน หรือไม่ได้นานเล่า"

"ดีล่ะท่านภัททะ ท่านช่างคิด ช่างเฉียบแหลม ช่างไต่ถามได้เหมาะ เมื่อพระศาสนา เสด็จปรินิพพานแล้ว หากผู้ที่อยู่ในศาสนานี้ ได้กระทำให้มากในสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้นาน แต่ถ้าไม่กระทำให้มากในสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมก็จะตั้งอยู่ ไม่ได้นาน" พระภัททเถระ ยินดีพอใจยิ่ง ในคำเฉลย ได้แสดงความเคารพนอบน้อม แก่พระอานนท์เถระแล้ว

ณวมพุทธ
จ.๑๑ ก.พ.๒๕๔๕
(พระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ ข้อ ๕๖-๕๘,ข้อ ๗๖๗-๗๗๕ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๓๖๓ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๒ หน้า ๒๕๔)

(สารอโศก อันดับ ๒๔๔ มกราคม ๒๕๔๕)