วันนี้พิธีพุทธภิเษก
ปลุกเสกอิฐหินดิน ปูน พระเครื่องต่างๆ ยังคงเป็นหนึ่งในพิธีกรรมของ ชาวพุทธ
ซึ่งนำพาผู้คน หลงงมงาย พึ่งพาวัตถุ ศักดิ์สิทธิ์นอกตัว ยิ่งกว่าการพึ่งพา
กรรมดีในตน
วันนั้นเมื่อ
๒๖ ปีที่แล้ว ณ ทุ่งศาลี พิธีพุทธาภิเษกสุดยอดปาฏิหารย์ ปลุกเสกคน จากปุถุชน
ผู้หนาไปด้วยกิเลสตัณหา เลื่อนขึ้นสู่อาริยชน ผู้พากเพียร ลดละกิเลส จนเบาบาง
นำพาชาวพุทธบางส่วน สามารถพึ่งพา กรรมดีในตน จนเป็นที่พึ่ง แก่สังคมได้
สัมมาทิฐิ
ความเห็นที่ถูกตรง จึงเป็นองค์แรกที่สำคัญ ของมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
จะบรรยายถึง ความเป็นมา ของยัญพิธี "พุทธาภิเษกสุดยอดปาฏิหารย์" และความหมายของ
"เคี่ยวเราเพื่อเอามิตร" อย่างไร ในบทสัมภาษณ์ ต่อไปนี้
ถาม -
งานพุทธาฯ เกิดขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายอย่างไร และที่จัดผ่านมาถึง ๒๖ ครั้ง ได้ผลตาม
เจตนารมณ์หรือไม่ อย่างไรคะ
ตอบ
- เกิดขึ้นเนื่องจาก เมื่ออาตมาบวชใหม่ๆ ก็อยู่คลุกคลีกับพระทั่วๆไป
ซึ่งเขามีการปฏิบัติ ที่ เรียกว่า ปริวาสกรรม โดยจัดงาน "อยู่กรรม" อยู่ปริวาสกัน
เอาพระมารวมกัน และเอาคนมาอบรม แต่ก็ไม่ได้มีการอบรมอะไรมากมาย เมื่อมีพระมา
รวมกันมากๆ คนจะได้มาทำบุญ มาถวายอาหาร มาถวายเงิน มาถวายทอง มาถวายข้าวของอะไรอยู่นั่นแหละ
๗ วันบ้าง ๑๐ วันบ้าง
อาตมาเห็นว่า
บวชกันแล้วมาทำพิธี ปริวาสกรรมอย่างนี้ มันไม่ใช่เรื่องของฆาราวาส ต้องมาวุ่นวาย
แม้แต่พระต่างที่ต่างถิ่น ก็ไม่ต้องมาวุ่นวาย จะอยู่กรรมก็อยู่กันไป เรื่องปริวาสกรรม
เป็นเรื่องของพระวินัย การอยู่กรรม ต้องมาสอบมาทานกัน ว่าทำผิดพระวินัยเรื่องอะไร
อยู่กี่วันกี่เดือน ปกปิดมานานเท่าไร อะไรต่างๆเหล่านี้ ก็ทำกันไม่ค่อยถูก
วินัยอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ เรื่องพุทธาภิเษกฯ ปลุกเสกพระอะไรนี่ ก็ทำกันจัง
หาเงินหาทอง กันจังเลย จากที่เห็นการกระทำออกนอกทาง ไม่ถูกวินัย อย่างนั้น
อาตมาก็คิดจะทำให้ดีขึ้น อาตมาเห็นว่า ถ้าจะให้ญาติโยม เขามาอบรมธรรม โดยมีพระ
มารวมกันบ้าง และญาติโยม ได้มารวมกัน ปฏิบัติธรรม มาบำเพ็ญ มาประพฤติ ก็ท่าจะดี
โดยปฏิบัติ ให้มันถูกเรื่องถูกราวซะ และอาตมา ก็อยากจะแก้เคล็ด ตรงที่ว่า
พุทธาภิเษก หรือการปลุกเสกอิฐ หินดิน ปูน พระเครื่อง พระอะไรต่างๆ นานา มันไม่ได้เรื่อง
จึงเอาคำนี้แหละ มาให้ความหมาย ที่ถูกต้องใหม่ว่า ไม่ใช่ปลุกเสก หรือ พุทธาภิเษกแบบนั้น
แต่มาขยายความเพิ่มว่า เป็นการพุทธาภิเษก สุดยอดปาฏิหารย์ และปลุกเสกพระแท้ๆ
ของพุทธ โดยเน้นที่ เราปลุกเสกคนให้เป็นพระ หรือ พุทธาภิเษก ให้มีปาฏิหารย์วิเศษ
ที่ทำให้คนนี่แหละ เปลี่ยนแปลง และมีพลัง ในการพัฒนาขึ้นมาจริงๆ
อาตมาเห็นว่า
อย่างนี้เข้าท่ากว่า เลยเอามาตั้งชื่อ เป็นงาน "พุทธาภิเษกสุดยอดปาฏิหารย์"
และ "ปลุกเสกพระแท้ๆของพุทธ" เมื่อดำริและตั้งขึ้น เรียบร้อยเสร็จ
ก็คุยกันและจัด ขึ้นครั้งแรก ที่ศรีษะอโศกก่อน ตอนนั้นเรามีป่าช้า ที่ศรีสะเกษ
และที่ไพศาลี ๒ แห่ง แต่ก่อนที่จะเกิด ก็นัดแนะบอกกัน ให้มาอบรมสติปัฏฐาน
๔ ตอนแรก ก็ตั้งชื่อว่า การอบรมฝึกบำเพ็ญธรรมสติปัฏฐาน
๔ ทำกันที่ "ศรีษะอโศก" จัดครั้งแรก เมื่อพ.ศ.๒๕๑๙ มีคนมาร่วมงาน
๒๕ คน ครั้งที่ ๒ มา ๕๐ คน พอปีที่ ๓ ก็ให้มีพิธีกรรม มากขึ้นหน่อย มีเรื่องมีราวมากขึ้น
และ ตั้งชื่อใหม่ว่า ปลุกเสกพระแท้ๆของพุทธ
และมา เริ่มที่ไพศาลี ชื่องาน พุทธาภิเษก สุดยอดปาฏิหารย์
ปี ๒๕๑๙ เช่นกัน เป็นครั้งที่ ๑ ต่อเนื่อง ตามมา รูปแบบตอนแรก ยังไม่เข้าร่องเข้ารอยอะไร
อาตมาก็ลุย ไปเรื่อยๆ ส่วนมากจะเทศน์ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น มีภาคเช้า ภาคบ่าย
คนมาที่นี่
แต่ก่อนมีการสังวร สำรวมกันมากกว่านี้ เช่น ถอดรองเท้าเดิน เก็บไม้ เก็บมือ
เดินไม่วุ่นวาย มีสมถะมาก มีการอบรมกัน เป็นกิจลักษณะ ถือศีล ๘ กันจริงๆ
กินข้าวมื้อเดียว และก็มีรูปแบบ เสนอบนเวที บนธรรมมาสน์ ซึ่งหลักเกณฑ์ ต่างๆ
ก็ยังอยู่อย่างเดิม เพียงแต่ความเคร่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ ก็หย่อนยานอะไรไป หลายๆอย่างบ้างเท่านั้น
ที่จะเดินสังวร กุมมือ เดินสำรวม ก็หายไปหมดแล้ว ไม่เหมือนเมื่อก่อน
นี่คือเป้าหมายแรกๆ
ที่ทำ จนพัฒนามาเดี๋ยวนี้ ๒๐ กว่าปีแล้ว ก็จัดกัน
จนลงตัว คนมาอบรม ๒ พันกว่าคน นับว่าได้ผล ตามเจตนารมณ์ ทีเดียว โดยพวกเราได้มานั่งเรียนรู้ปริยัติ
ปฏิบัติ ได้เข้าใจอะไรๆ กันดีขึ้น ตอนแรกๆ มีหลายๆ คน ชักรู้สึก ซ้ำซาก ไม่ค่อยเห็น
ความสำคัญ คนก็เริ่มมาน้อยลง พอถึงครั้งที่ ๑๑ ก็ต้องบอกกันว่า นี่เป็นเรื่องสำคัญ
ไม่ใช่ว่าใครมา ครั้งนี้แล้ว ครั้งต่อไปจะไม่มา ก็ไม่ใช่นะ มันต้องเหมือนกับว่า
มาชาร์ตแบตเตอรี่ ต้องมารวมกัน มาพิสูจน์ความจริงกัน โดยให้เข้าใจว่า ต้องมาทุกปี
อาตมาเอง ก็ต้องมาทุกปี สมณะก็ต้องมา ซึ่งระยะหลังๆ สมณะมีมากขึ้น
เราก็ต้องจัดสรรบ้าง ไม่เอามาหมด ให้เฝ้าวัดกันบ้าง เพราะเรามี พระอาคันตุกะ
มารวมกันเยอะแยะ ขึ้นมาเรื่อยๆ ก็ต้องคอยบอกกัน ให้เข้าใจ เดี๋ยวนี้เลยกลายเป็นว่า
ถ้าไม่มีความจำเป็น ทุกคนก็จะไม่ขาดกัน จะกี่ครั้ง ซ้ำซากอย่างไร ก็เข้าใจแล้ว
จึงมากันมากมาย อย่างที่เห็น
ถาม -
จุดที่หย่อนยานควรแก้ไขให้เคร่งครัดเหมือนเดิมหรือปล่อยไว้
ตอบ -
มันเคร่งได้ก็ดี แต่อาตมาไม่ได้คิดว่า จะต้องให้กลับเคร่งขึ้นมา ขณะนี้งานก็มาก
อะไรก็เร็วขึ้น เราจะมาทำอย่าง แต่ก่อนไม่ไหว แต่ก่อนเรายังไม่มี งานอะไรมาก
เราจะช้าๆ เชื่องๆอะไรอยู่ก็ทำได้ แต่เดี๋ยวนี้ คงไม่ได้แล้วมัง คนเป็นจำนวนพัน
สองพันขึ้นมา มันจะมัว ช้าๆเชื่องๆ ไม่ไหวแล้ว ขนาดนั้น ยังต้องอาศัยแรงงานนักเรียน
เด็กๆมาช่วยกันตั้งมาก ตั้งมาย แต่ก่อนเราต้องช่วยกัน ขนน้ำกันเอง สถานที่
ก็ยังไม่พร้อม เครื่องทุ่นแรงอะไร ก็ยังไม่มาก แต่เดี๋ยวนี้ มีมากขึ้น คนก็เพิ่มขึ้น
กิจกรรมมากขึ้น เป็นระบบขึ้นมา จะกลับไปทำอย่างเก่า คงไม่ได้แล้ว แต่เราก็คงต้องไปฝึก
ความเคร่งแบบนั้น กันเป็นบางครั้ง บางคราวบ้าง จะให้ขึ้นไปฝึกที่ ภูผาฟ้าน้ำ
ฝึกการสังวรสำรวม ทำอะไร ให้มีสติช้าๆ
ถาม -
ประโยคหนึ่งของโศลกธรรมที่ว่า "เคี่ยวเราเพื่อเอามิตร" ทำอย่างไรคะ
ตอบ
- เคี่ยว คือ เร่งรัดการฝึกฝนตนเอง
โดยไม่ใช่ฝึกฝนตนเองไปวันๆ อย่างเช้าชามเย็นชาม หรือฝึกฝนตนเอง อย่างเฉื่อยๆ
เรื่อยๆ เรียงๆ อะไร การเคี่ยว ความหมายว่า ต้องทำให้มันเข้มข้นขึ้น
ทำให้มันจัดขึ้นแรงขึ้น ใส่ใจที่จะจัดแจง ทำอะไรต่ออะไร ให้มันจริงจัง ให้มันได้เรื่องได้ราว
ให้มันเข้มงวด ให้มันกวดขันขึ้นมา จึงเรียกว่า เคี่ยว โดยทำให้ตนเองนี่แหละ
ฝึกฝนหนักขึ้น มากขึ้น ใส่ใจพากเพียร ให้มันยิ่งๆ ขึ้น ตรวจตราทุกมุม ตรวจตราทุกลักษณะ
ตรวจตราทุกรูปแบบ ที่มันจะเป็นภาวะ ของการฝึกฝนตน หรือ พัฒนาตน ให้ได้ดียิ่งๆขึ้น
แต่การเคี่ยวเรา
เพื่อเอามิตรนั้น หมายถึง ตนก่อน คือ ตัวเองนั่นแหละก่อน
แต่ละคน ต้องเคี่ยวตนเอง และ "เรา" ก็ไม่ใช่
แค่ตนเอง คำว่า "เรา" เป็นพหูพจน์ การเคี่ยวเราและ ช่วยกันเคี่ยวพวกเรา
เคี่ยวตัวเอง เพื่อให้พวกเรามาเป็นมิตร ให้เกิด การประสาน ให้เกิดหมู่มิตร
เคี่ยวตัวเรา ด้วยอุบายวิธี ด้วยกรรมวิธีอย่างไร ที่จะกระทำแล้ว เกิดผลที่เราดีขึ้น
และมิตรก็มี มากขึ้น ประสานสัมพันธ์กันเพิ่ม มากขึ้นด้วย จนมีหมู่มวล ที่เป็นเรา
และมีการขยาย เพิ่มมิตรกว้างขึ้นๆ จากมิตรในหมู่เรา ก็ขยายผลเพิ่มเติม ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ
อย่างนี้ คือ ความหมาย เคี่ยวเรา เพื่อเอามิตร ตั้งแต่ ระดับใกล้ตัว จนกระทั่งถึงระดับ
ที่ขยับกว้างขึ้น ไกลยิ่งๆขึ้นต่อไป "จากหนึ่งจึงเป็นเรา
รวมเราเขาเข้าเป็นหนึ่ง" ไงล่ะ
ถาม
- บางคนเคี่ยวเราแต่ไม่ได้มิตร เพราะตอนเคี่ยวตัวเอง ต้องเครียดต้องกดข่ม
ตอบ
- ที่เป็นเช่นนี้
เพราะตัวเองปฏิบัติไม่เป็น ปฏิบัติผิดทาง เคี่ยวเราคือต้องศึกษาให้ดี ทำตัวเราให้ดียิ่งๆขึ้น
แทนที่จะ ปล่อยปละ ละเลย เฉื่อยๆแฉะๆ ไม่เอาถ่าน ก็ต้องรู้ว่า เราต้องปฏิบัติอย่างไร
เราควรจะเร่งตรงนั้น ตรงนี้อย่างไร การปฏิบัติธรรม ของพระพุทธเจ้าต้อง เป็นสัมมาทิฐิ
ไม่ได้หมายความว่า ปฏิบัติแล้วตัวเองต้องเครียด ต้องเคร่ง แม้จะมี ตบะธรรมต่างๆ
ก็ทำอย่างรู้ มีหลักการ มีมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้หมดแล้ว
เมื่อปฏิบัติแล้ว จะยิ่งรู้ชัด รู้เพิ่ม และก็มีบทปฏิบัติ แบบฝึกหัดมากขึ้นๆ
ถ้าปฏิบัติถูกทาง มันจะไม่เครียด ศาสนาพุทธ ไม่ใช่ศาสนากดข่ม
ถาม
- เคยศรัทธาเข้าถามปัญหากับสมณะรูปหนึ่งเสมอ
ต่อมาห่างเหินเพราะปัญหาน้อยลง มีงานต้องทำมากขึ้น ไม่มั่นใจว่า ทำถูกหรือไม่คะ
ตอบ
- จริงๆแล้ว พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้เราไปยึดติดตัวบุคคล เพราะฉะนั้น
ถ้าเราเอง ไม่ไปติดยึดบุคคล ก็เป็นการพิสูจน์ ตัวเองอย่างหนึ่ง แต่ก่อนเราได้ศึกษา
กับพระองค์นี้ สมณะรูปนี้ เราเข้าใจเกิดศรัทธาเลื่อมใสดี มีโอกาส ได้ใกล้ชิด
มีความ สนิทสนม ได้ปรึกษา ได้ไต่ถาม อะไรต่างๆนานา จนได้รับประโยชน์จากท่าน
แต่พอเหตุการณ์ ทำให้ต้อง พรากห่างกัน ไปตามวิถีชีวิต แต่ละบุคคล โดยไม่ได้ทำให้เรา
โหยหาอาวรณ์ หรือว่าเหมือนขาดอะไร เรายังมีสิ่งอื่น โดยเฉพาะ ในเรื่องของ
การประพฤติ ปฏิบัติธรรมะ ที่เราก็มีทางที่จะได้รับ ประโยชน์ จากสมณะ ท่านอื่นๆอยู่
แม้ท่านองค์นี้ เคยให้อะไร เรามากๆ เราก็ระลึกถึงบุญคุณอยู่ แต่เดี๋ยวนี้
เราไม่ได้รบกวนท่าน มันก็ไม่ได้เสียหาย อะไรนี่ ไม่ได้ผิดอะไร ถ้าเราไม่ได้
เป็นคนติดยึด มันก็ดีแล้ว แต่ก็ต้องตรวจสอบตัวเอง เหมือนกันว่า เราไปรู้สึกไม่ศรัทธา
ไม่เคารพ นับถือหรือเปล่า และในภาวะ ที่เราห่างเหิน ไม่ค่อยได้เกี่ยวข้อง
ไม่ได้มีอะไรเป็นประโยชน์ แก่กันและกันนั้น เราก็ยังเป็นนักศึกษา ที่ได้รับความรู้
ได้รับประโยชน์ ในทางธรรม อยู่อย่างเดิมหรือไม่ ถ้ายังได้รับประโยชน์ มันก็ถูกต้องด้วยซ้ำ
เพราะแสดงว่า เราไม่ได้ติด ยึดตัวบุคคล
ถาม -
ทำไมใจเราจึงรู้สึกเช่นนี้
ตอบ
- เพราะความไม่เข้าใจนั่นเอง!
บทสรุป
นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส ปญฺญา
นตฺถิ อฌายโต
ฌานไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา
ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน
(สารอโศก
อันดับที่ ๒๔๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕)
|