>สารอโศก

(เก็บเล็กผสมน้อย)


ผู้คนในยุคปัจจุบัน มักเป็นโรคแปลกกันมากขึ้น บ้างสามารถวินิจฉัยได้ แต่บางรายที่แย่สุดๆ ก็ไม่อาจวินิจฉัย หาสาเหตุ ของที่มาของโรคเหล่านั้น

ที่เป็นเช่นนี้ นักโภชนาการ สรุปออกมาว่า สาเหตุหนึ่ง มาจาก "การกิน" ที่ปัจจุบัน มักแฝงไว้ด้วย สารพิษหลากชนิด มากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งส่วนหนึ่ง แฝงมากับผัก ผลไม้ ด้วยเหตุนี้ จึงได้เกิดโครงการ ผักปลอดสารพิษขึ้นมา ซึ่ง "เป็นการผลิตโดยไม่ใช้สารเคมี" แต่หันมาพึ่ง สารสกัด จากชีวภาพ ซึ่งเป็นสารที่ได้ จากการหมักของเหลือทิ้ง เศษพืชผัก เศษอาหาร หรือ แม้แต่ การนำเครื่องเทศ ซึ่งหาง่าย ในบ้านเรามาหมัก เพื่อใช้กำจัดศัตรูพืช และใช้เป็นอาหาร บำรุงพืชผักในแปลง

หลายคนคงแปลกใจ และเริ่มสงสัยว่า ทำไม? "ทำได้ ไม่จน" ในสัปดาห์นี้ จึงได้นำเรื่องนี้ มาเสนอ นั่นเป็นเพราะว่า การเกษตร เมื่อมีการใช้ต้นทุนที่ต่ำ ก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง ที่จะทำให้ เกษตรกรไทยเรา สามารถเก็บพืชผล ขายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตามที่หวังไว้ และยังไม่ต้อง ไปเสียเงิน ซื้อสารเคมีมาใช้ ซึ่งเป็นอันตราย กับตัวเกษตรกรเอง รวมไปถึงตัวผู้บริโภค

โดยเชื่อว่า ยังมีอีกหลายคน ที่ไม่รู้ว่า พริก กระเทียม หรือ แม้แต่ขมิ้น จะสามารถนำมาเป็น ส่วนผสม เพื่อใช้ไล่แมลง ศัตรูพืชได้

โดยเกี่ยวกับ รายละเอียดเรื่องนี้ คุณวิยะดา ฐิติวัฒนาการ ชาวบ้าน อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี เล่าให้ฟังว่า เมื่อเรียนจบ สายวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้มาเริ่มต้น ชีวิตชาวไร่ ที่เมืองกาญจน์ ซึ่งตอนแรก ลงไปพูดคุย กับชาวบ้าน เพื่อเก็บเกี่ยว ประสบการณ์ และปัญหา ของแต่ละคนที่พบ เพราะหากเป็นปัญหา ของเราคนเดียว เราก็จะได้ข้อแก้ เพียงเล็กๆเท่านั้น แต่ถ้าเราได้พูดคุย หลากหลายคน งานของเรา ก็จะกว้างขึ้น

และ...ได้ข้อสรุปว่า เกษตรกรไทยเรานั้น ทุกวันนี้ ยังประสบกับปัญหา ในเรื่องของ ต้นทุนการผลิต ที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเงินลงทุน โดยส่วนใหญ่ จะหมดไปกับพวก ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย จึงคิดว่า เราเรียนมา ด้านวิทยาศาสตร์ น่าจะนำมาใช้ ให้เกิดประโยชน์ กับเกษตรกรบ้านเราได้ ดังนั้นจึงรวมกลุ่มเกษตรกรขึ้น เพื่อทำผักปลอดสาร โดยใช้จุลินทรีย์ สมุนไพร และเทคนิค ทางชีวภาพเข้าช่วย ซึ่งขณะนั้น เป็นช่วงที่เกิด วิกฤติทางเศรษฐกิจพอดี

ดังนั้น ต่อมา จึงได้ร่วมมือกับเพื่อน ซึ่งเรียนจบด้านวิศวะ จากพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ทำเครื่อง ที่สกัดน้ำชีวภาพขึ้น ชื่อว่า ไบโอเอ็กซ์แทรกเตอร์ (Bio Extractor) โดยคุณสมบัติ เครื่องดังกล่าว จะใช้เวลา ในการย่อยสลาย ตั้งแต่ ๒ ชม.ถึง ๒ วันเท่านั้น แล้วแต่ชนิดของพืช

ในเรื่องของ เจ้าเครื่องไบโอฯ ดังกล่าว จะขอหยุดเท่านี้ ทีนี้มาถึงเรื่องของสูตรที่ทุกคน สามารถทำได้

-สูตรควบคุมหนอนแมลงวัน
ขี้เถ้าไม้ และ ปูนขาว อย่างละครึ่งถ้วย ผสมน้ำ ๔ ถ้วย คนให้เข้ากัน ตั้งทิ้งไว้ให้ตกตะกอน นำน้ำใสไปฉีดพ่น สามารถควบคุม ศัตรูพืช ตระกูลแตง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

- ใบมะรุม ๑๐ กก.สับละเอียด เติมน้ำ ๑๕ ลิตร หมักทิ้งไว้ ๒ วัน นำน้ำที่ได้ มาฉีดพ่น เพื่อกำจัดรา และแบคทีเรีย

- ใบต้นมะเขือเทศ ๑๒ กก. สับละเอียด เติมน้ำ ๑๔ ลิตร หมักทิ้งไว้ข้ามคืน ใช้น้ำฉีดไล่แมลง หนอนกะหล่ำ หนอนใยผัก ไม่ให้มาวางไข่

- มันแกว ใช้เมล็ดบด ๕ กก. น้ำ ๑๘ ลิตร หมักทิ้งไว้ข้ามคืน ใช้น้ำฉีดพ่นกำจัดเพลี้ยอ่อน หนอนกระทู้ หนอนกระหล่ำ ด้วงหมัดกระโดด มวนเขียว

- ต้นและใบสาบเสือ ตากแดดให้แห้ง แล้วบดให้ละเอียดเป็นผง อัตรา ๑.๕ กก. แช่น้ำใน อัตราส่วน ๒๐ ลิตร หมักทิ้ง ๒ วัน ใช้น้ำฉีดพ่น กำจัดหนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก ในแปลง ผักกาดขาว ผักคะน้า

- ขมิ้นชัน เหง้าที่แก่จัด ทั้งสดและแห้ง นำมาหั่น บดให้ละเอียด ใช้สำหรับ คลุกเมล็ดถั่วเขียว อัตรา ๑๐ กรัม ต่อถั่วเขียว ๑๐๐ กรัม เพื่อขับไล่ และกำจัดแมลง เช่น ด้วงงวง ด้วงถั่วเขียว มอดข้าวเปลือก มอดแป้ง

- หรือจะใช้ ผงขมิ้นชัน ๕ ขีด หมักกับน้ำ ๒ ลิตร ทิ้งไว้ ๑๒ ชม. คั้นเอาแต่น้ำ อัตรา ๔๐๐ ซีซี ผสมน้ำ ๒ ลิตร ฉีดพ่นในแปลงผัก เพื่อขับไล่หนอนใยผัก หนอนหลอดหอม ไล่แมลงวัน และหนอนกระทู้ผัก

-ใช้เมล็ดน้อยหน่า น้อยโหน่ง อัตรา ๕ ขีด บดให้ละอียด พริกป่น ๑๐ ช้อนชา กระเทียม บดละเอียด ๑๐ หัว เติมน้ำ ๒๐ ลิตร หมักทิ้งไว้ ๑ คืน ใช้กำจัดเพลี้ยอ่อน เพลี้ยกระโดด น้ำตาล หนอนใยผัก ตั๊กแตน ด้วงเต่า หนอนผีเสื้อกระหล่ำ

-มาถึงการทำน้ำหมักชีวภาพ
ใช้เศษผัก เศษอาหารที่เหลือในครัว อัตราส่วน ๓ กก. ใส่ถัง ใส่กากน้ำตาล หรือสารให้ความหวาน ๑ กก. หมักทิ้งไว้ ๗ วัน เมื่อได้น้ำที่หมักแล้ว จำนวนเท่าใด ให้ใส่เหล้าขาว น้ำส้มสายชู ในอัตราส่วนที่เท่ากัน ปิดฝาทิ้งไว้อีก ๑๕ วัน โดยในระหว่างที่ทิ้งไว้ ให้คนทุกวัน เช้า-เย็น และถ้าจะให้ได้ผลดี เมื่อจะนำไปใช้ ให้นำหัวเชื้อ สูตรที่ได้จาก ใบมะรุม มะเขือเทศ มันแกว สาบเสือ ขมิ้นชัน มาผสมกันจะได้ผลดี

เพ็ญพิชญา เตียว
(ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๓๐ มิ.ย. ๒๕๔๔)
จากคอลัมน์ "ทำได้ ไม่จน"

(สารอโศก อันดับที่ ๒๔๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕)