กว่าจะถึงอรหันต์
พระกัปปเถระ
กถาธรรมอสุภะ
น่าเกลียดชนะสวยงาม
เลิกเพลินเดินหลงกลกาม
สิ้นทรามนิพพานแน่แท้
ในสมัยแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์สมณโคดมนั้น
พระกัปปเถระนี้ได้กำเนิดอยู่ใน ตระกูลกษัตริย์
พรั่งพร้อม ไปด้วย บริวาร ผู้คอยรับใช้ มากมาย ได้รับลาภ-ยศ-สรรเสริญ-สุข
สนุกสบาย จนกระทั่ง เจริญวัยเติบใหญ่
ครั้นพระเจ้ามคธราช
ผู้ครองมคธรัฐ พระราชบิดาได้สวรรคตแล้ว กัปปกุมารจึงได้ทรงดำรง อยู่ในพระราชสมบัติ
สืบต่อ แต่เพราะทรง สุขสบายมาตลอด จึงมีพระทัยยินดี มักมากในกามทั้งหลาย
เพลิดเพลินสำราญอยู่ ในพระราชวังเป็นนิจ
วันหนึ่ง
พระศาสดาทรงตรวจดูด้วยพระญาณแล้ว ทรงประจักษ์แจ้งว่า "พระราชาพระองค์ใหม่นี้
หากได้ฟังอสุภกถา (คำอธิบายเรื่อง ของความน่าเกลียดของ
ร่างกายและสิ่งต่างๆ) จากเราแล้ว จะเป็นผู้มีจิตคลายความกำหนัด
ในกาม ทั้งหลายได้ จะเข้าถึงการบรรลุธรรม เลยทีเดียว"
ทรงเล็งเห็นดังนี้แล้ว
จึงเสด็จไปโปรด ตรัสแสดงอสุภกถา แก่พระราชานั้นว่า
"ร่างกายนี้ เต็มไปด้วยของโสโครก คั่งค้าง และของอันเป็น มลทิน (มัวหมอง)ต่างๆ
มีหลุมคุถ (อุจจาระ) ใหญ่เป็นที่เกิด เป็นดุจบ่อน้ำครำ
อันมีมานาน เป็นดุจฝีใหญ่ เป็นดุจแผลใหญ่ ที่เต็มไปด้วย หนองและเลือด เต็มไปด้วยหลุมคูถ
ที่มีน้ำไหลออกเป็นนิตย์ มีของเน่า ไหลออกทุกเมื่อ
กายอันเปื่อยเน่านี้
รัดรึงด้วยเส้นเอ็นใหญ่ ๖๐ เส้น ฉาบทาด้วยเครื่องฉาบทา คือเนื้อ หุ้มห่อด้วยเสื้อ
คือหนัง เป็นของหาประโยชน์มิได้ เป็นของสืบต่อกัน ด้วยร่างกระดูก เกี่ยวร้อยกันด้วยด้าย
คือเส้นเอ็น เปลี่ยนอิริยาบถได้ เพราะยังมีเครื่องประกอบ ของชีวิตอยู่พร้อม
นรชนผู้ยังคลุกคลี
อยู่ในกามคุณ เป็นผู้ต้องเตรียมตัว ไปสู่ความตายเป็นนิตย์ เป็นผู้ตั้งอยู่ในที่ใกล้มัจจุราช
จะต้อง ทิ้งร่างกาย ไว้ในโลกเป็นที่สุด
กายนี้อันอวิชชา
(ความหลงผิด ให้ไม่รู้แจ้งจริง) หุ้มห่อแล้ว ผูกรัดด้วยเครื่องผูก
๔ ประการ (๑.ความหลงผิด ไม่รู้ทุกข์จริง ๒. ความหลงผิด ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์จริง
๓. ความหลงผิด ไม่รู้ความดับทุกข์จริง ๔. ความหลงผิด ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้จริง)
จมอยู่ในห้องน้ำ คือกิเลส ปกคลุมด้วยข่าย คือกิเลสที่นอนเนื่อง อยู่ใน สันดาน
ประกอบแล้วด้วยนิวรณ์ ๕ (๑.กาม ๒. พยาบาท ๓.ความง่วงเหงาซึมเซา
๔.ความฟุ้งซ่านรำคาญ ๕. ความลังเล สงสัย) เพียบพร้อมด้วยวิตก
(ความห่วงกังวล) ถูกรากเหง้าแห่งภพ (สภาวะจิตที่เป็นอยู่)
คือตัณหา (ความทะยานอยาก) รัดรึง ถูกปิดบังไว้ด้วยเครื่องปกปิดคือ
โมหะ(ความหลง)
ร่างกายนี้
หมุนไปอยู่ด้วยเครื่องหมุนคือกรรม ย่อมมีทั้งสมบัติ (ความพรั่งพร้อม)
กับวิบัติ (ความเสียหาย) เป็นของคู่กัน มีความเป็นไปต่างๆกันเป็นธรรมดา
ปุถุชนคนอันธพาลใด ยึดถือ ร่างกายนี้ว่า เป็นของเรา ย่อมทำสังสารวัฏ (ความเวียนตายเวียนเกิด)
อันน่ากลัวนี้ให้เจริญ ปุถุชนผู้โง่เขลานั้น ย่อมถือเอาภพใหม่เกิดอีก
แต่กุลบุตร
ผู้เป็นบัณฑิต จะละเว้นการยึดถือร่างกายนี้ อันฉาบทาแล้วด้วยคูถ ดังบุรุษผู้ประสงค์ความสุข
อยากมี ชีวิตอยู่ เห็นอสรพิษแล้ว หลีกหนีไปฉะนั้น กุลบุตรนั้น ละอวิชชา อันเป็นรากเหง้า
แห่งภพได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ (กิเลสที่หมักหมมในสันดาน)
จะปรินิพพาน เป็นที่สุด"
พระราชาทรงสดับอสุภกถา
จนแจ่มแจ้ง เข้าถึงสภาวะ แห่งร่างกายนี้ว่า น่ารังเกียจ เป็นสิ่งสกปรก ไม่สะอาด
มีภัยอยู่เฉพาะหน้า ทรงรู้สึก อึดอัด ละอาย รังเกียจ สังเวชต่อร่างกายนี้
บังเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ประหานความยินดีพอใจ ในกามเสีย เพ่งสลัด
ทิ้งอวิชชา และตัณหา จึงถวายบังคม แก่พระศาสดา แล้วทูลขอว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์ขอบรรพชา ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า"
พระศาสดาทรงรับคำ
รับสั่งกับภิกษุรูปหนึ่งว่า "ภิกษุ เธอจงให้พระราชานี้บรรพชา เมื่อได้อุปสมบทแล้ว
พามาหา เราเถิด"
ภิกษุรูปนั้นได้บอก
ตจปัญจกภัมมัฏฐาน (ให้พิจารณาร่างกาย ๕ อย่างคือ ผม ขน เล็บ
ฟัน หนัง โดยความเป็น ของสกปรก น่ารังเกียจ) แก่พระพระราชา แล้วให้พระราชา
ได้รับบรรพชา แต่ในขณะจรดมีดโกน พระเกศาเท่านั้น พระราชา
ก็ได้บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์แล้ว
เมื่อได้อุปสมบท
เรียบร้อย พระกัปปเถระ ไปเข้าเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมนั่งอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง
แล้วกราบทูล ความเป็นพระอรหันต์ ให้พระศาสดาทรงทราบ พระศาสดาจึงทรง แสดงธรรมอันเป็นที่พึ่ง
ให้อีกว่า
"ดูก่อนกัปปะ
เราจะบอกธรรมอันเป็นที่พึ่ง แก่สัตว์โลกทั้งหลาย ที่ยังตั้งอยู่ท่ามกลางสังสารวัฏ
เมื่อห้องกิเลสเกิดแล้ว เมื่อภัยใหญ่มีแล้ว อันชราและความตายมาถึงรอบแล้ว
เราขอบอกว่า นิพพานอันไม่มีกิเลส เครื่องกังวล ไม่มีตัณหา เครื่องถือมั่น
มิใช่ธรรมอย่างอื่น นี้แหละคือธรรมเป็นที่พึ่ง เป็นที่สิ้นไปแห่งชรา และความตาย
พระอรหันตขีณาสพเหล่าใด
รู้ทั่วถึงนิพพานนั้นแล้ว เป็นผู้มีสติ มีธรรมอันเห็นแจ้งแล้ว ดับกิเลสสนิทแล้ว
พระอรหันต์ ขีณาสพเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้ไม่ไป ตามอำนาจแห่งมาร ไม่ไปบำรุงมารอีกแล้ว
ดูก่อนกัปปะ
ไม่ว่าจะเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็น
อดีต-อนาคต-ปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต
มีอยู่ในที่ไกล หรือที่ใกล้ อริยสาวก เป็นสิ่ง ทั้งหมดนั้น
ด้วยปัญญา อันถูกตรง ตามความจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา
นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา อย่างนี้แล้ว จึงหลุดพ้น เพราะไม่ถือมั่น
เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างนี้
เห็นแจ้งอยู่อย่างนี้ ใจจึงไม่มีอหังการ (หยิ่งทะนงตัว)
ไม่มีมมังการ (ถือตัว) และไม่มี มานานุสัย
(ถือตัวขั้นละเอียด) ในกายที่มีใจครองนี้ และในสรรพนิมิต (สิ่งสร้างขึ้นทั้งปวง)
ภายนอก สามารถก้าวล่วงมานะ (ความถือตัว) ด้วยดี
สงบระงับ พ้นวิเศษได้แล้ว"
ณวมพุทธ
พฤ. ๗ มี.ค. ๒๕๔๕
(พระไตรปิฎกเล่ม ๑๗ ข้อ ๓๑๙, เล่ม ๒๖ ข้อ ๓๗๔, เล่ม ๓๐ ข้อ
๓๗๓-๓๘๓ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๒ หน้า ๓๘๓)
(สารอโศก
อันดับที่ ๒๔๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕) |