หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >สารอโศก

แถลง: เมื่อต่างคนต่างคิด ความเป็นมิตรก็แตกกัน


ในช่วงรายการตอบปัญหาพาให้เป็น "พระ" แท้ๆของพุทธ มีคำถามถึงที่มา ของโศลก "เหตุผล คือความบ้า อัตตา คือความจริง" ออกมาเพื่ออะไร ?

พ่อท่านให้คำตอบว่า "ออกมาเพื่อให้กับคนที่ติดยึดกับตัวเอง โดยเฉพาะพวกหัวไอ้เรือง นักเหตุนักผล (นักพรต มากด้วยเหตุผล) จนลืมดูอัตตาของตัวเอง ว่าออกมามากมาย ขนาดไหนแล้ว ยึดเหตุ ยึดผล มากมาย แม้แต่ฝุ่น ก็เก็บเอามา เป็นเหตุเป็นผลได้ เพื่อเอาชนะคะคาน เพื่อสนองอัตตา นี่แหละ จะบ้ากันใหญ่..."

ความจริงคนที่ยึดติดความคิด หรือเหตุผลของตนเองนั้น น่าสงสารอย่างยิ่ง เพราะทิศทางของพุทธนั้น ยังมีเรื่อง ที่ต้องปล่อยวาง อีกมากมาย ขนาดได้ฌาน ๑ มีวิตกวิจารณ์ ก็ต้องปฏิบัติจนกระทั่ง ไม่มีวิตก วิจารณ์ จึงจะผ่าน สูงขึ้นเป็นฌาน ๒ เพราะไม่ยึดปีติในฌาน ๒ จึงจะสูงขึ้นเป็นฌาน ๓ แม้จะได้ฌาน ๓ และฌาน ๔ ก็จะต้อง ไม่ติดสุข ไม่ติดอุเบกขา หรือแม้จะได้อุเบกขา ก็จะต้องทำใจในใจ ให้ปล่อยวาง "ใจที่บริสุทธิ์" นี้แล้วลงไป อย่าทำ อาการยึดว่า "อุเบกขา" นี้เป็นเรา เป็นของเรา (จากหนังสืออีคิวโลกุตระ)

เรื่องของเหตุผลความคิด ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าจะผิดหรือถูก นับว่ายังอยู่ห่างไกล คนละฝั่งมหาสมุทร กับใจที่ บริสุทธิ์ ซึ่งแม้กระนั้น ก็ยังต้องปล่อยต้องวาง ไม่ทำอาการยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา การยึดปักมั่น ในเหตุผล ของตน จึงนับว่า ยังห่างไกล จากมรรคผลโดยแท้

ในอดีตเคยมีพระมาร่วมปฏิบัติกับชาวอโศกอยู่หลายปี จนท่านเห็นดีเห็นงามกับเรื่องมังสวิรัติ และ การไม่ใช้เงิน ใช้ทอง แต่พอท่านต้องออกไป อยู่กับวัดทั่วๆไป ท่านกลับมีเหตุผลมากมาย มาโต้แย้งว่า การไม่ใช้เงินทอง ไม่ถูกต้อง กับยุคสมัย พระทุกวันนี้ มีความจำเป็น ต้องใช้เงินทองอย่างยิ่ง

ดังนั้นเรื่องของเหตุผล ทุกคนย่อมมีเหตุผลตามอัตตาของตน หรือ ตามความจริง ของแต่ละคน เมื่อวูบหนึ่ง แห่งความคิด ผุดขึ้นมา นักปฏิบัติธรรม จึงควรพิจารณาเสมอว่า คิดแล้ว ทำให้เราสุข หรือทุกข์ คิดแล้ว ทำให้เกิดมิตร หรือแตกมิตร คิดแล้ว ทำให้เพ่งโทส หรือ สงบระงับ เป็นกุศล หรือ อกุศล

หากกุศลใดที่พิจารณาว่าดีแล้ว ก็จงคิดและทำให้สำเร็จเถิด

และถ้าพิจารณาเห็นว่าเป็นอกุศล ก็จงหยุดเถิด เพราะคนบ้าในโลกนี้ ต่างล้วนมีเหตุผลกัน มากมาย แต่ที่เขาเป็นบ้า ก็เพราะ เขาหยุดตัวเองไม่ได้ ด้วยเหตุผล อันมากมายของเขานั่นเอง

คณะผู้จัดทำ

(สารอโศก อันดับที่ ๒๔๖ มีนาคม ๒๕๔๕)