สานฝันกู้ดินฟ้า
บุญญาวุธ ๓
อาหารที่ดีจะเป็นยารักษาและป้องกันโรค
รวมทั้งส่งเสริมสุขภาพ เคล็ดลับที่จะนำไปสู่สุขภาพที่ดี นอกจาก ร่างกายที่สมบูรณ์
จิตใจแจ่มใสเบิกบาน และการมองโลกในแง่ดีแล้ว เคล็ดลับนี้ก็คือ
การกลับคืน สู่วิถีธรรมชาติ
ธรรมชาติเป็นผู้สร้าง ธรรมชาติเป็นผู้ให้
หากมนุษย์ทำลายธรรมชาติ ธรรมชาติก็ย่อมทำลายมนุษย์ เช่นเดียวกัน ฉบับนี้มะเหมียวจะพาท่านผู้อ่านไปพบกับ....
อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร
๒ สมัย ผู้มีธรรมชาติในหัวใจ ผู้มีอุดมการณ์ เพื่อฟื้นวิธีธรรมชาติ
ย้อนกลับสู่ เส้นทาง สายเก่า ที่ปู่-ย่า-ตา-ยาย ได้กระทำมา
ท่านผู้นั้นคือ
"พลตรี จำลอง ศรีเมือง" แห่งสวนกสิกรรมไร้สารพิษ
กาญจนบุรี ทำไมท่านจึงต้องเน้น กสิกรรมไร้สารพิษ เรามาติดตามกันค่ะ
ว่าท่านมีวิธีการทำงานอย่างไร เพื่อให้เกษตรกร หันมาทำกสิกรรม ไร้สารพิษ
เพื่อสุขภาพที่ดี และ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ถาม : จุดเริ่มต้นกสิกรรมไร้สารพิษ?
ตอบ : เรามีโครงการที่จะสนับสนุนชาวไร่ชาวนากลุ่มหนึ่ง
ให้ยืนหยัดยืนยันพิสูจน์ได้ว่า สามารถเอา ตัวรอดได้ โดยการทำกสิกรรมไร้สารพิษเพียงอย่างเดียว
หมายถึงว่า ไม่ต้องทำอย่างอื่น ทำกสิกรรมเท่านั้น และต้องไม่ใช้
สารเคมีใดๆเลย ไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า
ถาม : โครงการณ์เริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่คะ?
ตอบ : เริ่มมาตั้งแต่ปี
๒๕๓๖ เป็นต้นมา จนปัจจุบันครบ ๙ ปีแล้ว เราทำเพื่อให้เกิดตัวอย่างยืนหยัดยืนยันได้
เพราะเคยมีคนถามว่า จะช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาจ จะช่วยอย่างไร ผมก็บอกว่า
ต้องช่วยในนามชาวบ้าน แต่มัวแต่รอ ให้รัฐบาลช่วย ก็ลำบาก เพราะรัฐบาลต้องดูแล
กิจการอีกเยอะแยะมาก ต้องใช้จ่ายเงินทอง ที่ต้องใช้ เจ้าหน้าที่
ถาม : ในฐานะที่ลุงเคยเป็นรัฐบาล
ทำไมถึงไม่ช่วยประชาชนในจุดนี้?
ตอบ : ประชาชนมีมาก ประชาชนมีกว่า
๖๓ ล้านคน เป็นชาวไร่ชาวนาเกินร้อยละ ๖๐ เกิน ๓๕ ล้านคน ซึ่งเป็น จำนวนไม่น้อย
การที่จะมาช่วยชาวบ้านนั้น มันเป็นภาระใหญ่มาก แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธ การช่วยเหลือ
ของรัฐบาล ถ้าเราตั้งหน้าตั้งตาช่วยตัวเอง หรือช่วยชาวไร่ชาวนาแล้ว รัฐเข้ามาช่วยนั้น
ก็เป็นผลพลอยได้ น่ายินดี
ถาม : ลุงประสานกับชาวบ้านในโครงการอย่างไร?
ตอบ : กำหนดวิธีปฏิบัติว่า
ทำอย่างไรจึงจะทำสำเร็จ ศึกษาค้นคว้า ปรึกษาหารือคนโน้นคนนี้บ้าง ก็กำหนด
ขึ้นมา จนทุกวันนี้ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติ ใช้กันมาร่วม ๙
ปี และการช่วย ต้องมุ่งไปสู่ การช่วย ในลักษณะที่ว่า เขาจะต้อง ช่วยตัวเองได้
เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนช่วยตัวเองได้ จึงกำหนด ๔ เดือนแรก ช่วยด้านอะไร ๔
เดือนหลัง ช่วยด้านอะไร พอครบ ๙ เดือนเขาก็ช่วยตัวเขาเอง
ถาม : ลุงสอดแทรกการกสิกรรมในการอบรมในโรงเรียนผู้นำบ้างไหมคะ?
ตอบ : เรามีแปลงกสิกรรมเพื่อให้คนเขารับรู้
เรื่องระบบนิเวศน์วิทยา ให้เขารู้ปัญหา ของการกสิกรรมว่า เป็นอย่างไร ทำอย่างไร
จึงจะแก้ไขได้ การเป็นกสิกรนั้น มันยากลำบากแค่ไหน? เขาต้องจับจอบเสียม
ไปลุย ในเวลา ๓-๔ ชั่วโมงต่อรุ่น ต่อหลักสูตร
ถาม : ในภาวะวิกฤตของบ้านเมืองในขณะนี้
ภาคกสิกรรมสามารถกู้ได้ไหมคะ?
ตอบ : หากจะกู้วิกฤตได้
เราต้องกู้คนส่วนใหญ่ให้ได้ คนส่วนใหญ่ คือ ชาวไร่ชาวนา ผมยืนยัน ตั้งแต่แรก
คือ กสิกรรม จะเอาตัวรอดได้ ต้องทำสองอย่างคือ
๑.ต้องลดต้นทุนในการผลิต
หมายถึง ใช้สารเคมีให้น้อยลง จนกระทั่งไม่ใช้เลย
๒.ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเอง
คนที่มีวิถีชีวิตผิดพลาด คือ ใช้จ่ายเงินทองเกินตัว ทั้งกิน ทั้งใช้สารพัด
สารพัน ต้องหันมาปรับใหม่ ถ้าไม่ปรับ ต่อให้ข้าวเปลือก เกวียนละ ๕๐,๐๐๐
บาทก็ไปไม่รอด ซึ่งสองอย่างนี้ ต้องทำเอา จริงเอาจัง
ถาม : ผลในการอบรมเกษตรกรพักชำระหนี้
ประเมินได้ไหมคะ?
ตอบ : ที่ไหนๆ ก็บอกว่าดีๆ
แต่การที่ว่าดี มันไม่มีเครื่องชั่งตวงวัดว่า มันดีกี่กิโล ดีกี่ร้อยเมตร
มันเป็นการ ประเมินคร่าวๆ แต่เราก็ดูว่า เขามีความสนใจแค่ไหน ในการฝึกอบรมรึปล่าว
อยู่ครบทุกชั่วโมงรึปล่าว ร่วมกิจกรรม หมดทุกกิจรรมรึปล่าว อีกประการ เมื่อเขารู้แล้ว
เขาเอาไปทำรึปล่าว ทางเราอบรมไปแล้ว ก็ตามไปดู บ้านช่อง ของเขาว่า ที่เขาจบไปแล้ว
มีใครปฏิบัติ แล้วเกิดผลบ้าง ปรากฏว่ามีหลายคน เราก็ชวน ให้เขามาร่วม กับรุ่นใหม่ๆ
ที่เขามาฝึกอบรม ให้เขาได้พูดได้คุยว่า มาอบรม ๔ วัน ๕ วัน ไม่ได้เสียเปล่า
เพราะฝึกแล้วได้ผล ไปทำแล้ว สามารถเป็นแนวทาง ในการลดหนี้สิน ของเกษตรกรได้
ถาม : เมื่อเขาเข้าใจ
แต่ทุนรอนไม่มี จะมีแนวทางอย่างไรคะ?
ตอบ : แนวทางก็คือ อย่างมูลนิธิจำลอง
ก็หาน้ำให้ หาเมล็ดพันธุ์ผักให้ ปุ๋ยคอก ฟาง น้ำ นี่คือ ๔ เดือนแรก พอ
๔ เดือนหลัง ลดการช่วยเหลือ โดยอาหารการกินลอจาก ๔ อย่างคือ คือ ข้าวกล้อง
โปรตีนเกษตร (๔ เดือนแรก ข้าวกล้อง ซีอิ้ว โปรตีนเกษตร น้ำมันพืช) พอครบ
๘ เดือน เขาก็ช่วยตัวเอง ด้วยการช่วยกันออก ค่าน้ำ ค่าไฟ กสิกรรายใหญ่ไม่ต้องห่วงเขา
แต่ที่กำลังเสียหายอยู่ขณะนี้ก็คือ กสิกรรายย่อย คือ สองคน ผัวเมีย ที่เรามุ่งช่วย
คือรายย่อย คำว่ากสิกร คือกสิกรที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ เพื่อการพาณิชย์ ถ้ามีเลี้ยงก็ด้วย
ความเมตตา ให้มันตายเอง โดยไม่ถูกขาย ไปฆ่าเท่านั้นเอง
ที่ผมเน้นคือ เน้นกสิกรรายย่อย
เน้นเรื่องปลูกพืชผัก ผลไม้ และห้ามจ้างคนอื่นเข้ามา ถ้าจ้างแสดงว่า ไม่ใช่กสิกร
รายย่อย ในขณะที่อยู่ในโครงการ เราต้องเคร่งครัด แม้การจ้าง จะไม่ผิดศีล
ผิดกฎหมาย ไม่ผิดกฎเกณฑ์อื่นๆ ใดๆ ก็ตาม แต่ไม่ใช่ตัวอย่าง ของกสิกรรายย่อย
ถาม : สำหรับการตลาดรองรับค่ะ?
ตอบ : เรื่องนี้จำเป็นและสำคัญ
บังเอิญผมโชคดีที่หาตลาดในกรุงได้ และเป็นตลาดคนรวย เป้าหมาย สำคัญ ในการช่วย
กสิกรรายย่อยคือ ช่วยให้เขาพออยู่ พอกินตามแนเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว เมื่อเขาเหลือกินแล้ว ก็ลองขายในท้องถิ่น ตัวเองก็อยู่ได้
เพราะเป้าหมายหลักคือ ให้เขาพออยู่ พอกิน ในท้องถิ่น ของเขา นี่คือสิ่งที่เขาอยู่ได้
เพราะเขาลดต้นทุนการผลิต เพราะเขาเปลี่ยนวิถีชีวิต ขายถูก แล้วอยู่ได้
เพราะเกิดจาก เขาเปลี่ยนวิถีชีวิต
ถาม : สำหรับกสิกรที่เขาเห็นแนวทางแล้ว
จะเริ่มต้นจุดไหนคะ?
ตอบ : ต้องเริ่มที่ใจเขาก่อน
คือใจต้องมั่นว่า ทำอย่างนี้ไปรอด ทำอย่างนี้สำเร็จแน่ ข้อสำคัญ เขาต้องมี
ธรรมะ จะไปวัด หรือไม่ไป ก็ตามแต่ ก็คือ มีความซื่อสัตย์ว่า จะทำกสิกรรมไร้สารพิษ
ต้องแน่วแน่ มั่นคง ในเรื่องนี้ ไม่แอบไปใส่ สารเคมี แล้วออกมาตะโกนว่า
ไร้สารพิษ โกหกชาวบ้าน ทำแบบนนี้ไม่นานก็เจ๊ง ฉะนั้น เริ่มต้นที่ ตัวเองก่อน
และต้องมีธรรมะด้วย
ถาม : แสดงว่าธรรมะมีความสำคัญสำหรับทุกอาชีพ?
ตอบ : สำหรับอาชีพนี้จำเป็น
และสำคัญมาก ถ้าไม่มีธรรมะไปไม่รอด ถ้าถือเอาเงินเป็นที่ตั้ง ก็จะไปไม่รอด
ถ้ามาทำกสิกรรมไร้สารพิษ แม้ไม่หวังว่าจะมีเงิน มันก็มีมาจนได้ มีตัวอย่างให้เห็นแล้ว
ไหนๆ มีอาชีพเป็นเกษตรกร
หรือกสิกรอยู่แล้ว จะเปลี่ยนอาชีพ ก็ไม่มีทางรอด ก็ควรตั้งหน้าตั้งตา ทำอาชีพ
ของตัวเองต่อไป โดยจำไว้ว่า จะรอดได้ต้อง...
๑.ลดต้นทุนการผลิต
๒.เปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเอง
เอาจริง มั่นคงในเรื่องนี้ แล้วจะประสบผลสำเร็จ
ค่ะ ! ท่านผู้อ่าน เมื่อกสิกรเอาจริงในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต
และลดต้นทุนการผลิต ให้มีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสี่
จากจุดเล็กๆ จนกลายเป็นหน่วยใหญ่
แล้วตัวท่านผู้อ่านละคะ
จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเอง ให้หันมารับประทานพืช ผัก ผลไม้ไร้สารพิษ
(สารเคมี) เพื่อสุขภาพตัวเอง หรือเพื่อช่วยสนับสนุน กสิกรรายย่อยรึยังคะ?..!
มะเหมียว
(สารอโศก
อันดับที่ ๒๔๖ มีนาคม ๒๕๔๕) |