หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >สารอโศก

๑๕ นาทีกับพ่อท่าน ทีม สมอ.

ผ่านงานปลุกเสกฯพระแท้ๆของพุทธ มาถึงปีที่ ๒๖ พิสูจน์ธรรมะอันเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ จนสามารถ เปลี่ยนแปลง จิตวิญญาณของคน จากภูมิอบายสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เข้าสู่ภูมิอาริยบุคคล เริ่มจาก โสดาบันขึ้นไป ตามแนวปฏิบัติ สัมมาอริยมรรค มีองค์ ๘ ก่อเกิดทั้งประโยชน์ตน และ ท่านที่สมบูรณ์ ยืนยันถึงการเกิดมา อย่างมี ศักยภาพ และศักดิ์ศรี ของมนุสโส ที่พัฒนาตัวเอง สู่สูงได้ อย่างสมคุณค่า

มิใช่เพียงแค่ปุถุชน ที่เกิดมาเพื่อกิน สูบ ดื่ม เสพย์ อย่างเมามัน และตายไป พร้อมกับกิเลส ที่สะสม หนาแน่นยิ่งขึ้น ในแต่ละชาติ ตราบที่ชาวพุทธ ยังถูกสอน ให้เชื่องมงาย อยู่กับพิธีกรรม ปลุกเสกพระเครื่อง อิฐ หิน ดิน ทราย เพื่อจำหน่าย จ่ายแจก เป็นของขลังไว้บูชา

บทสัมภาษณ์พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ อธิบายสรุปการลดละกิเลส จากหยาบจนละเอียด ถึงฌาน ๔ และเข้าถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ อันเป็นตัวจบ จากที่ได้สอน อย่างละเอียดลออ ทั้งในงานพุทธาฯ และ ปลุกเสกฯ ที่ผ่านมา รวมทั้ง อีกหลายคำถาม ที่น่ารู้


*ขบวนการฌาน ๔ จนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ เริ่มต้นอย่างไรคะ จากโจทย์... "พอได้เห็นหน้าใครคนหนึ่ง เรารู้สึก ไม่ชอบ และ มีความอึดอัดขัดเคือง"

- ก็จับอันนั้นเป็นสักกายะของเรา แล้วก็ตั้งหลักเกณฑ์ ตั้งศีล ตั้งกรรมฐาน เพื่อที่เราจะพิชิต กิเลสตัวนี้ ตามที่เรารู้ว่า อะไรเป็นเหตุ ปัจจัยหลัก เป็นตัวร้าย ตัวไม่ดี เป็นสมุทัยสำคัญ แล้วเราต้องสังวรระวัง มีสติ เมื่อจะเกี่ยวข้อง กับอะไรก็แล้วแต่ จะโดยตรง หรือโดยอ้อมก็ตาม ถ้ามันมาเกี่ยวข้อง กับศีลที่คุณตั้งไว้ คุณก็ต้องมีสติ มีปัญญา วินิจฉัย มีการใช้ ตีรณปริญญา พยายามหยั่งดู วิจัยวิเคราะห์ ว่ามันมาเหลี่ยมไหน คุณก็ต้องพยายาม สกัดมันให้ได้ และ ก็ทำลายมันให้ได้ ใช้ทั้งวิปัสสนาภาวนา และ สมถะภาวนา จนคุณ ลดได้ละได้ ตามลำดับ ทำได้ดีขึ้น ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น นั่นก็คือ ภาวะของฌานแบบพุทธ อันเป็นภาวะของ การเพ่งรู้ และเผา หรือ ทำลายกิเลส ตัวสำคัญ ที่เป็นสมุทัยนั้นๆ จนเกิดเป็นฌาน ๑, ๒, ๓, ๔ แม้จะอธิบาย ฌาน ๑, ๒, ๓, ๔ ว่ามีสภาพอย่างนี้ๆ โดยหลักวิชา เช่นมี วิตกวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา อะไรก็ตามแต่ มันก็คือสภาพ ที่คุณได้ธรรมะ ได้คุณธรรม จนสามารถ รู้ตัวมันได้ วิตกวิจาร ก็คือตัวเครื่องกลไก ในการรู้ตัว และ เผานั่นแหละ พอคุณรู้ และสามารถทำได้ นี่ได้แล้วนะ ละสิ่งที่ คุณไม่ชอบใจ สโทสะ ทำได้แล้ว ถึงขั้นสังขิตตะ วิขิตตะ แต่มันยังยากอยู่ ยังวิตกวิจารหนักอยู่ ยังต้องเคร่ง ต้องระมัดระวังอยู่ เพราะมัน เพิ่งได้ เล็กๆน้อยๆ คุณก็ต้องทำให้มันดีขึ้นๆ เป็นมหคตะ แต่ถ้าคุณทำได้เพียงแค่นี้ แล้วหยุดอยู่ ไม่ช้าคุณก็เบื่อหน่าย จะชลอและไม่ต่อเนื่อง เพราะการไม่เร่งรัดพัฒนาขึ้น มันก็ไม่เจริญ แต่ถ้าคุณ พัฒนา ให้เจริญสูงขึ้นๆ ไปสู่จิตที่ดี เพราะสามารถละกิเลส ที่เป็นเหตุได้มากขึ้น เป็นเรื่องง่าย จนกระทั่ง มันเบา แต่ก็ยังไม่ใช่ อนุตตระ เพราะจิตที่ดีกว่านี้ ยังมีอีก คุณก็ต้องเจียน ละเอียดต่อไป จนเป็นฌาน กระทั่ง เหมือนมัน จะจบแล้ว เป็นอุเบกขา พระพุทธเจ้า ก็ยังไม่ให้ประมาท เนื่องจาก ยังมีอรูปฌาน ที่จะตรวจ ละเอียด ล้างให้เกลี้ยง ต่อไปอีก จนพ้น อรูปฌาน ๔ นี่แหละ จึงจะถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ ที่เป็นธงชัย

สรุปแล้ว ตัวหลักปฏิบัติอยู่ที่ฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ เป็นตัวเก็บละเอียด เป็นตัวความละเอียดลออ ของศาสนาพุทธ และ แม้ที่สุด รูปฌาน ๔ และ อรูปฌาน ๔ ก็ต้องก้าวพ้น จึงจะถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ ที่เป็นตัวชี้บ่ง ว่าจบกิจ


*การที่พ่อท่าน กระตุ้นพวกเรา ด้วยการทำงานมากมาย เพื่อดึงพวกเรา ให้ออกจากภพ ใช่ไหมคะ

- ใช่ เพราะจะทำให้เราติด และเราก็จม ทำให้พวกเราช้า เพราะฉะนั้น พอมีงานเข้ามากระตุ้นนี่ดี จะเห็นได้ว่า พอมีงาน เข้ามากระตุ้น พวกเราก็จะสำนึก เมื่อเกิดจิตสำนึก ถึงแม้จะขี้เกียจยังไง ก็ไม่ได้นะ เพราะมันมีตัว หิริโอตัปปะ อยู่เหมือนกัน ซึ่งก็ขึ้นมาทำงาน และงานนั้น ก็จะกระตุ้นกิเลสของเรา ออกมาอีก อย่างน้อยกิเลส ที่เกิดจาก การได้กระทบ สัมผัสใหม่ๆ เรื่องนั้น เรื่องนี้ และก็เปิดกว้าง มีคนใหม่ๆมาอีก ได้โจทย์ใหม่ๆมาอีก ทำให้เรากว้างขึ้น แต่ก่อนมีแต่พวกเรา รู้หมดแล้ว คนนี้ก็คุยแบบเก่านั่นแหละ แต่นี่มีโจทย์ใหม่มา เหมือนมี อาวุธใหม่ๆ แบบหนังกำลังภายใน มีอาวุธสารพัด ที่ทำให้เราต้องพัฒนา ให้รู้ทันว่า อาวุธแบบนี้ใช้อย่างไร มันจะเล่นงานเรา ท่าไหน และ เราจะใช้วิธีต่อสู้ เอาชนะมัน ได้อย่างไร


*พวกเราส่วนใหญ่เป็นฤาษี

-เป็นเรื่องธรรมดา ฤาษีนี่เป็นพื้นฐานของสัตวโลก ถ้าไม่หลงโลกียะจัดจ้านแล้ว ก็จะมาพักตรงนี้ ฤาษีทั้งนั้นแหละ ที่ไหนก็เหมือนกัน มันเป็นสัญชาติญาณจริงๆของคน พอเจอที่สบาย ก็ไม่กระเตื้องอีกแล้ว ความประมาทตรงนี้ มีมากเลย ตรงที่เราก็ไม่ชั่วแล้ว เราเลยขีดเกรดต่ำไปแล้ว อยู่กับหมู่ก็ได้ เพราะถึง อย่างไร เราก็ไม่ตกต่ำลงไปอีก ซึ่งก็เป็นความจริง ถ้าเข้ากระแสแล้ว แต่มันก็จะวน อยู่ในจักรวาล ของตัวเอง และเราก็ยังบำเรอตัวเอง อยู่นั่นแหละ ฉันไม่ไต่สูง กว่านี้อีก


*ฐานอสุรกายมีลักษณะอย่างไรคะ

-อสุรกาย แปลว่า ไม่กล้า เราต้องเข้าใจว่าความกล้าอยู่ที่จิต มันจะไม่กล้าอย่างไร ก็แล้วแต่ลักษณะ ของความไม่กล้า ในความหมายกลางๆนี้ ใช่ทั้งนั้น ยิ่งไม่กล้าทำความดี ไม่กล้าที่จะอดทน ตัดกิเลส เลิกชั่ว ทั้งๆที่ใจรู้ว่าดี ยังไม่กล้า ทำความดี ล้วนเป็น อสุรกายทั้งนั้น

สรุปแล้ว อสุรกาย คือลักษณะของสภาพ ที่มันเห็นได้ คำว่า "กาย" คือองค์ประชุม ที่โตจนเห็นได้ มีลักษณะเป็นๆ อยู่ในใจของคุณ ก็ต้องรู้ของคุณ ถ้าคุณแสดงออก ทางกายวาจา และ พฤติกรรมของคุณ เขาก็จะเห็นได้ว่า เป็น อสุรกาย ที่มาจาก จิตไม่กล้า โดยเฉพาะ ไม่กล้าในสิ่งที่ ควรเจริญ ไม่กล้าในสิ่งที่ ควรพัฒนาขึ้นไป อย่างนั้น ก็ใช้ไม่ได้


*เห็นคนทำผิด แล้วเราไม่กล้าเตือน เป็นเพราะจิตอสุรกายหรือไม่คะ

-พูดให้ลึกแล้ว ที่เราไม่กล้าจะบอกเขา ทั้งๆที่รู้ว่า เขาทำผิด ทำชั่ว จะบอกว่าเป็นจิตอสุรกายหรือไม่ มันก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น เราต้องศึกษา ฝึกให้มีทั้งศาสตร์ และศิลป์ ในการที่จะบอก จะท้วงให้เขาเลิก หรือ ลดในสิ่งที่ผิดนั้น เพื่อช่วยให้เขา พัฒนาขึ้น เราจะต้องกล้าแสดง ให้เขารู้ โดยศาสตร์และศิลป์ ที่เหมาะสม นั่นเป็น ความสามารถ ที่สูงขึ้น และ สำคัญมาก


*แต่ถ้าเราให้เกียรติเขาคิดเอง โดยไม่กล่าวตำหนิเขา

-ถึงอย่างนั้นก็ไม่ควรปล่อยปละละเลย แต่ถ้ามันสุดวิสัย และเราก็ไม่มีเวลา ก็ต้องปล่อยให้รับวิบากเองบ้าง ก็เป็นได้ แต่จริงๆแล้ว ก็ไม่ควรที่จะ ไม่ดูดำดูดี ควรเอาใจใส่ มีความเอื้ออาทรกันบ้าง


*เจอคนเกเร คนไม่ดี สร้างเมตตาได้อย่างไร

-ต้องฝึก ไม่งั้นจิตของเราจะกลายเป็นจิตใจดำ คนที่เขาไม่ดี จริงๆแล้วมันน่าชัง เพราะฉะนั้น ถ้าเราชัง คนไม่ดี เราก็ฝึกสร้าง ความเป็นคนใจดำของเรา ถึงมันเป็นธรรมชาติที่น่าชัง เราก็ต้องฝึกตัวเองว่า อย่ามีชอบ อย่ามีชัง นอกจากไม่ชัง คือเฉยๆแล้ว ยังต้องฝึกมีน้ำใจ มีเมตตา ควรช่วยอีกด้วย แต่บางที ถ้าเราไม่อยู่ในฐานะ ไม่อยู่ในวาระ ที่จะช่วยเขาได้ ก็ต้องจำนน เพราะฉะนั้น เราควรมอง เพื่อเอาประโยชน์ ว่า นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง ที่เราไม่ได้จ้างคน ให้มาทำชั่ว ให้เราดู แต่เขามาทำ เป็นตัวอย่าง ก็ให้มองไป ในแง่ดีนั้นบ้าง แต่จริงๆ เราไม่อยากให้มีหรอก ถ้าอยู่ในภาวะ วาระที่เราทำได้ เราก็ค่อยๆ ขจัดไป แต่ว่ากันจริงๆแล้ว จะให้มันสะอาด หมดจดเลย คงเป็นไปไม่ได้ ในสังคมไหนๆ จะให้สะอาด จนกระทั่ง ไม่มีด้วง ไม่มีแมลงมาเจาะ พระพุทธเจ้า อยู่ทั้งองค์ ยังทำไม่ได้เลย มันเป็นธรรมชาติ ที่ต้องมีอยู่บ้าง แต่ต้องไม่ให้ถึงขนาด เกิดความไม่สงบ มีส่วนน้อย ที่เป็นเออเร่อ(errer) ส่วนใหญ่ ยังดี ก็ใช้ได้แล้ว จะไม่ให้มีซะเลย จริงๆแล้ว ไม่ได้หรอก มันจะไม่มีตัวอย่าง

ในเรื่องของจิตวิญญาณ ถ้าไม่มีตัวอย่างเป็นตัวแสดงออกให้เห็นใกล้ชิด มีสัมผัสสัมพันธ์ มันจะเดาเอาไม่ได้ และ มันก็ไม่ได้ลอง ของจริงด้วย ฉะนั้น ถ้าอยู่ตรงนี้ เราสัมผัสสัมพันธ์จริง กวนหูกวนตากันอยู่นี้จริงๆ จะเป็นแบบฝึกหัด ในการปล่อยจิต วางจิต เอาแต่คิดคาดเดา มันไม่จริงหรอกนะ นี่ก็เป็นประโยชน์ ในด้านมุมกลับ เป็นประโยชน์ ในด้าน เปรียบเทียบ เป็นตัวอย่าง ที่จะช่วยขัดเกลาเราได้ เพราะฉะนั้น ในทางธรรมนี่ ไม่เสียหายหรอก แต่ในทางโลกย์ เขาจะไม่เข้าใจ เขาจะจัดการ สิ่งเหล่านี้ คนเหล่านี้ทิ้ง หรือ พยายามขจัด คนเหล่านี้ออกไป เพราะข้างนอก เขาไม่ได้มีจุดมุ่งหมาย ที่จะสอนให้คนเป็นคนดี


*นักวิชาการบางท่านมองว่า สังคมไทยคงจะล่มสลาย ภายใน ๑๐ ปีข้างหน้า ถ้าเหตุการณ์นี้ เป็นจริง พวกเราควรอยู่กันอย่างไรคะ

-สบายมากซิ ๑๐ ปี อาตมาว่าอัตราการก้าวหน้าของอโศก มีต่อไปแน่นอน เพราะอาตมามั่นใจ ในเรื่องของ สัจธรรม ซึ่งเมื่อเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติแล้ว ย่อมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรมาหักล้างได้ ไม่กลับไปกลับมา ไม่มีอะไร จะล่มจมลง หรือ ต่ำลงไปอีก มีแต่จะสูงขึ้น ขณะที่ในอีกทิศทางหนึ่ง สังคมโลกข้างนอก กำลังล่มจม

อีก ๕ ปี ๑๐ ปี ข้างหน้า ถ้าเขาล่มจม เราจะเป็นที่พึ่งของเขาด้วยซ้ำ ไม่ใช่แค่เราจะอยู่ได้หรือไม่ คำตอบ คืออย่างนั้น อาจฟังดูเขื่อง ดูอวดตัวอวดตนไปบ้าง แต่เราเแน่ใจไหมว่า พวกอโศกนี่ เป็นสัจธรรมจริง เป็นสิ่งที่จริง ถ้าเป็นจริง และ เข้าถึงความจริง จนเป็นได้จริง มีทั้งปัญญาวิมุติ และ เจโตวิมุติ ก็ต้องถาม พวกเรา แต่ละบุคคลว่า ถ้ามีวิถีการ ดำเนินชีวิต ดำเนินอย่างนี้ โดยเราไม่ได้ไปใฝ่ฝัน ไขว่คว้า เหมือนอย่าง ที่โลกข้างนอก เขามีจุดมุ่งหมายกัน

เราจนก็ไม่เป็นไร นอกจากจนไม่เป็นไรแล้ว ทุกวันนี้ เราก็พอ นอกจากพอแล้ว เรายังรู้ด้วยว่า มีส่วนเกิน ของพวกเรา เหลือ ที่จะช่วยเหลือ คนอื่นด้วย ตามระบบบุญนิยม คือ เราสามารถ ที่จะมีชีวิต สร้างสรรค์ และ ก็เสียสละ ให้สังคม ไม่ใช่เอาเกินจากสังคม อย่างที่ทุนนิยมเขาทำ โดยเราสามารถ สละส่วนเกิน ให้แก่สังคม และถ้าเราทำ ด้วยความสุข ทำด้วยปัญญา ที่เข้าใจสัจจะสมบูรณ์ อะไรจะมาแปรเปลี่ยนเราได้ ถ้าเราเข้าใจถูกแล้ว และ เราเป็นสุข เราก็จะ พยายามพัฒนา ให้มันสมบูรณ์ ยิ่งขึ้นต่อไป มีสมรรถนะสูงขึ้น สร้างสรรค์ ได้มากขึ้น กินน้อย ใช้น้อย ลดละ ปลดปล่อยลงไปอีก บำเรอน้อยลงไปอีก หากมีพวกอโศก อย่างนี้ ทวีจำนวนมากขึ้นๆ อะไรล่ะ จะมาทำ ให้เราล่มจม


จิตวิญญาณ คือ ประธานของสิ่งทั้งปวง เมื่อขัดเกลาจนเกิดปัญญาที่รู้จริง เห็นจริง ตามความเป็นจริง และได้จริง สัจจะย่อมมีหนึ่งเดียว ไม่เปลี่ยนแปรเป็นอื่น

(สารอโศก อันดับที่ ๒๔๖ มีนาคม ๒๕๔๕)