หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >สารอโศก

กว่าจะถึงอรหันต์
พระเอรกเถระ


ผู้ใดใคร่กามอยู่
ผู้นั้นคือใคร่ทุกข์
เพราะกามเป็นทุกข์
หาใช่เป็นสุขไม่

ในอดีตชาติของพระเอรกเถระ ได้เคยสั่งสมบุญบารมีเอาไว้แล้ว ดังเช่นเคยเกิดอยู่ในยุคสมัย ของ พระพุทธเจ้า ผู้ทรงพระนามว่า "สิทธัตถะ"

วันหนึ่ง เขาได้พบเห็นพระสิทธัตถพุทธเจ้าแล้ว ก็บังเกิดใจศรัทธาอย่างแรงกล้า หมายหาข้าวของที่ควร ถวายแด่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น แต่ก็หาอะไรที่เหมาะใจไม่ได้เลย ในที่สุดก็ได้ความคิดว่า

"ดีล่ะ เราจะใช้ร่างกายนี้บำเพ็ญถวายแด่พระพุทธองค์"

ดังนั้นเขาจึงลงมือ นำเอาจอบและปุ้งกี๋มา แผ้วถางทางที่พระพุทธเจ้าจะต้องทรงใช้เสด็จพระดำเนิน กระทำ ทางเดินนั้น ให้เรียบเสมอกัน ไม่ขรุขระ สะดวกสบายขึ้นต่อการสัญจร

ครั้นวันต่อมา เขาได้เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จไปตามทางที่เขาทำไว้นั้น ก็ให้ปลาบปลื้มใจยิ่งนัก ก้มลงถวายบังคม แล้วประคอง อัญชลีด้วยจิตเลื่อมใสเต็มเปี่ยม จนกระทั่ง พระพุทธเจ้า เสด็จไปลับตาแล้ว เขาก็ยังยืนอยู่ ณ ที่ตรงนั้น อย่างปีติสุข โดยมีศรัทธาแห่งพระพุทธเจ้า เป็นอารมณ์นั่นเอง

ด้วยผลบุญที่ได้กระทำไว้นั้น จึงได้ไปเกิดในเทวโลก(โลกของคนจิตใจสูง) เกิดในชาติใดก็มีแต่สุคติภพ (ภาวะชีวิต ที่ดำเนินไปดี) อย่างเดียวเท่านั้น

กระทั่งถำงยุคสมัยของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม เขาได้เกิดมา เป็นบุตรของกฏุมพี (คนมั่งคั่ง ร่ำรวย) ชื่อ สัมภาวนียะ ในพระนครสาวัตถี ได้รับการตั้งชื่อให้ว่า เอรกะ เมื่อเติบโตเจริญวัยแล้ว ก็เป็นชายหนุ่มรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบกิจการงาน ก็ประสบความสำเร็จยิ่ง ในกิจการใหญ่น้อยทั้งหลาย ดำเนินชีวิต ไปด้วยความสุข ความเจริญ

ต่อมา...บิดามารดาของเขาได้นำหญิงสาวที่คู่ควรกัน ทั้งด้านตระกูล รูปร่างหน้าตา มรรยาท วัยและ ความฉลาด ให้แต่งงาน เป็นคู่ครองแก่เขา

แต่เดิมที่เคยเป็นสุข สนุกสบาย อิสระในชีวิต บัดนี้เขาจำต้องร่วมอยู่กินกับหญิงสาวนางหนึ่ง ต้องมี พฤติกรรมผูกพัน ร่วมประเวณีกับนาง เขารู้สึกสลดสังเวชใจ อารมณ์และจิตใจไม่แจ่มใสในเรื่องนี้

เขาจึงไปยังที่พำนักของพระศาสดา หมายสลัดความหมองใจออกไปด้วยรสแห่งธรรม ของพระองค์ พระศาสดา ก็ทรงอนุเคราะห์ แสดงธรรมโปรด เขาตั้งใจ รับฟังธรรมนั้น อย่างจดจ่อ จนบังเกิดศรัทธา แรงกล้า ทูลขอบวช กับพระศาสดา

เมื่อได้บวชเป็นภิกษุแล้ว พระศาสดาทรงสอนกรรมฐาน (วิธีปฏิบัติ ลดละกิเลส อย่างเหมาะสมกับฐานะ) ให้ ภิกษุเอรกะ ก็ได้นำกรรมฐานนั้นไปปฏิบัติ

บำเพ็ญเพียรต่อสู้กิเลสไปได้ไม่กี่วัน ก็ถูกอารมณ์กามความกระสันเข้าครอบงำ จิตใจฟุ้งซ่านแปรปรวน ขณะนั้นเอง.... พระศาสดา ทรงทราบสภาวะจิต ของท่านแล้ว จึงได้ตรัสสอน แก่ท่านว่า

"ดูก่อน เอรกะ กามเป็นทุกข์ กามไม่เป็นสุขเลย ผู้ใดใคร่กาม ผู้นั้นชื่อว่าใคร่ทุกข์ หากผู้ใดไม่ใคร่กาม ผู้นั้นชื่อว่า ไม่ใคร่ทุกข์"

ท่านได้ฟังคาถาธรรมบทนี้แล้ว ก็เกิดความสลดใจตนเองว่า

"เราฝึกฝนกรรมฐานอยู่ในสำนักของพระศาสดาเห็นปานนี้ ยังจะจมอยู่ในอารมณ์กามอีกหรือ ยังจะคิด สละกรรมฐานทิ้ง แล้วอยู่อย่างผู้มากไปด้วย มิจฉาวิตกอีกหรือ นั่นช่างเป็นการกระทำ ที่ไม่สมควรเลย"

คิดพิจารณาได้สติคืนมาแล้ว ภิกษุเอรกะ จึงหมั่นทำในกรรมฐานยิ่งขึ้น ศึกษาบำเพ็ญเพียร ในวิปัสสนา (ฝึกอบรม ปัญญา ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง) ในเวลาต่อมา ไม่นานนัก ก็ได้สำเร็จมรรคผล บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์ องค์หนึ่งแล้ว

ณวมพุทธ
ศุกร์ ๑๒ เม.ย.๒๕๔๕
(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๖ ข้อ ๒๓๐ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๐ หน้า ๔๓๖)

สารอโศก อันดับที่๒๔๖ มีนาคม ๒๕๔๕)