เปิดหน้าต่างต.อ.
เสียงสะท้อนจากผู้บริโภค
นับว่าเป็นนิมิตรหมายดียิ่งที่มีญาติธรรมที่รู้เห็นปัญหา
และเอาภาระกับงานของหมู่กลุ่มชาวอโศก คณะทำงาน ต.อ.กลาง ต้องขอขอบพระคุณ
ต่อท่านเจ้าของจดหมาย ที่ช่วยเป็นหูเป็นตา และกระตุกให้ ต.อ.กลาง ต้องหาทางออก
ในการแก้ปัญหา อย่างเป็นระบบมากขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้บริโภค จะช่วยกัน
เป็นต.อ.กันทุกๆคน นั่นคือเป้าหมายสูงสุด
ท่านถาม
เจริญธรรม สำนึกดี คณะกรรมการต.อ.กลาง ของชาวอโศก
ผมได้รับแจ้งข่าวการจัดงาน พ.ฟ.ด. ที่บ้านราชฯ
ในวันที่ ๔-๖ พ.ค.๔๕ และพ่อท่านประกาศว่า จะให้มี การขายยา สมุนไพรในงานด้วย
ผมคิดว่า ต.อ.คงจะต้องทำงานหนักอีกแล้ว เพราะว่าเรื่องของยาสมุนไพร ในรูปแบบของ
ยาสำเร็จรูป ลูกกลอน แคปซูล ผง หรือน้ำ คงจะมีมาก ซึ่งอาจมีการกระทำ เพื่อหวังแก่เงิน
โดยไม่รู้ถึงพิษภัยของยา ในรูปของการผสม ที่ปนเปื้อนเชื้อราในขณะทำการผสม
หรือในหีบห่อบรรจุ หรือ ระยะเวลารอการขาย ซึ่งพบได้มาก และพิษภัย ของส่วนผสม
ที่หวังผลออกฤทธิ์ทางอาการ เช่น แก้ปวดได้ดี กดอาการปวดได้ดี เจริญอาหาร
นอนหลับ ได้ดี เช่น ยาจำพวกสเตียรอยด์ กล่อมประสาท(DZP, Valium) หรืออื่นๆอีกมาก
ซึ่งพวกขายยาสมุนไพร เขาทำประจำ จนเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เพราะต้องการขายได้ดี
และมีชื่อเสียง
ในฐานะที่ท่านเป็นคณะกรรมการต.อ.กลางของชาวอโศก
ท่านจะรับมือกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร หรือ
ทำเป็นไม่รู้-ไม่ชี้ เพราะเป็นงานนโยบาย ของพ่อท่าน ซึ่งตัวพ่อท่านเองมีใจที่บริสุทธิ์
และกว้าง เอื้อมาก แต่ท่านอาจ จะไม่ทราบ ปัญหาเหล่านี้ เพราะนี้เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์การแพทย์
และยังมีอีกมากมาย เช่น ฉลากยาซึ่งมักจะเขียน, พิมพ์, ประกาศเกินความจริง
เช่น รักษาโรคตับ โรคมะเร็ง ฯลฯ แม้กระทั่ง โรคเอดส์ ก็มีให้พบเห็นอยู่ ในงานปีใหม่อโศก
แต่พวกเรา ก็ตรวจสอบไม่หมด เพราะแฝงมาในรูปรอย ของญาติธรรม
กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ โดยที่กลุ่มเอง ก็ไม่สามารถ ตรวจสอบได้เลย เพราะเป็นผู้รู้จักกัน
เป็นญาติธรรมเอง ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือรู้แต่ก็อนุโลม
เอาใจกัน เพื่อจะทำให้งาน ผ่านไปพอเป็นงานเท่านั้น
จึงขอกราบเรียนมายังท่านคณะกรรมการ ต.อ.กลาง
ขอได้โปรดนำเรื่องนี้ขึ้นพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ และ นำเรียน พ่อท่านด้วย
เพราะอาจจะเกิดผลเสีย ที่อาจคาดคิดไม่ถึงก็ได้ ถึงอันตราย ต่อสุขภาพของ ประชาชน
ที่มาร่วมงาน เป็นจำนวนมาก ที่ไว้วางใจในอโศก ถ้าคิดว่าคงจะไม่มีพิษภัย
คงจะบริสุทธิ์ไป ทุกขบวนการ คงจะจริง ไปทุกอย่าง แม้กระทั่งน้ำหมักลูกยอ
ฯลฯ ที่โฆษณาเกินจริง และอาจอุดมไป ด้วยเมทิลแอลกอฮอล์
สุดท้าย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณะฯของเราคงจะไม่ปล่อยเรื่องนี้
ให้หายไปกับสายลม โดยอ้างว่า ไม่รู้จะทำ อย่างไร แล้วแต่ดวง ฯลฯ ขอได้โปรดเห็นใจ
สุขภาพของประชาชน คนไทยด้วยกัน อย่าได้ทำเมินเฉยเลย มีมากมาย หลายแบบจริง
ที่พบมาก ได้แก่
๑. ปนเปื้อนเชื้อรา สารพิษอะฟลาท๊อกซิน (ทุกขั้นตอนแปรรูป
บรรจุ รอขาย)
๒. ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ, สเตียรอยด์และอื่นๆ ที่ออกฤทธิ์ดี
๓. โฆษณาฉลากยาเกินความจริง
ด้วยจิตที่บริสุทธิ์และเป็นความจริง ที่ได้พบมาในหลายๆงานของชาวอโศก มีสิ่งเหล่านี้แฝงมาอยู่
ทั้งที่ผู้ขาย รู้หรือไม่รู้ตัวเลยก็ตาม ท่านจะปล่อยให้คนทำบาป ทั้งๆที่รู้อยู่หรือ
ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ จึงทักท้วงมาด้วยความหวังดี
- - -
ญาติธรรม - - -
๑๐ มี.ค. ๔๕
เราตอบ
ความเห็นต่อการจำหน่ายยาสมุนไพรในงานชุมนุมของชาวอโศก
๑. ไม่ควรขายยาสำเร็จรูป(สมุนไพรแปรรูป) เนื่องจากการขายยามีกฎหมายควบคุมเช่นเดียวกับ
การผลิต การผลิตยา เป็นเรื่องที่ต้องใช้ด้วยความรู้และความระมัดระวัง โอกาสการเกิดอันตราย
และการปนเปื้อนมีได้
๒. ยาสมุนไพร(วัตถุดิบที่ไม่ได้แปรรูป)
และยาสามัญประจำบ้าน(แผนปัจจุบันและแผนโบราณ) ขายได้ตาม ร้านค้าทั่วไป ยาสมุนไพร
(วัตถุดิบที่ไม่ได้แปรรูป) ต้องไม่โฆษณาสรรพคุณ ทั้งนี้บนพื้นฐานที่ว่า ผู้ใช้สมุนไพร
ย่อมต้องควรเป็นผู้รู้จัก สมุนไพรนั้นๆ และคุ้นเคยใช้อยู่แล้ว ในชีวิตประจำวัน
ถ้าต้องการ เผยแพร่ความรู้ เกี่ยวกับสรรพคุณ สมุนไพร ควรแสดงด้วยบอร์ดนิทรรศการ
แสดงสรรพคุณ ประกอบด้วย ภาพ หรือ ตัวอย่างจริง ของสมุนไพร ทั้งนี้ควรแยกห่าง
จากการขาย เพื่อมิให้เป็นการปลุกเร้าให้ผู้ใช้อยากใช้ อยากซื้อ โดยปราศจาก
ความจำเป็น
๓. ยาสมุนไพรแปรรูปหากต้องการขาย ควรแยกไปขายที่ร้านค้า
และควรขายเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนยา (จากอย.) แล้ว เพื่อเป็นการเสนอ ให้ผู้บริโภค
ทราบถึงความถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีไว้เพื่อคุ้มครอง ผู้บริโภคเอง ให้รู้จักสิทธิของตน
เลือกสินค้า(ยา) ซึ่งกฎหมายดูแลรับรองให้แล้ว ดูฉลาก ดูส่วนประกอบ ผู้ผลิต
วันผลิต วันหมดอายุ ฯลฯ และ เลือกใช้ยา ตามความจำเป็น มิใช่เพราะกระแสโฆษณาโหมแรง
ซึ่งในงานนี้ ก็จะคัดกรอง ให้ขายยาสมุนไพร แปรรูปเฉพาะ ที่มีทะเบียนยาแล้วเท่านั้น
๔. หากต้องการรณรงค์ประโยชน์ของยาสมุนไพร
อาจเสนอโครงการผลิตยาเพื่อการพึ่งตนเอง (กฎหมาย อนุญาต สำหรับการผลิต เพื่อใช้เอง
แต่ไม่อนุญาตสำหรับการผลิตเพื่อแจกหรือจำหน่าย)
๕. ควรขายยาเฉพาะที่ผลิตจากชุมชนที่เป็นส่วนกลาง
เพื่อหลีกเลี่ยงการแอบแฝงหาประโยชน์ส่วนตัว และ ของส่วนกลางเอง สามารถยืนยันได้
ในเรื่องของความปลอดภัย จากการผสมสารอื่นๆ เช่น สเตียรอยด์, ยาแก้ปวดแรงๆ
ฯลฯ
๖. ฉลากห้ามโฆษณาเกินจริง ห้ามโฆษณาว่ารักษาโรคต่อไปนี้ได้
คือ โรคตับ ไต เบาหวาน เอดส์ ไม่โอ้อวด สรรพคุณยาว่า สามารถรักษาหรือป้องกันโรคได้อย่างศักดิ์สิทธิ์
หรือหายขาด ไม่ทำให้เข้าใจว่าเป็นยา ทำให้แท้งลูก หรือ ขับระดูอย่างแรง เป็นยาบำรุงกาม
หรือยาคุมกำเนิด
๗. ในงานพ.ฟ.ด. คณะทำงานต.อ.กลางได้ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหาร
และยา นำรถโมบาย เคลื่อนที่ ตรวจตัวอย่างอาหาร และยาทางห้องปฏิบัติการ ไปช่วยตรวจคัดกรอง
หาการปนเปื้อน ของสารพิษ จากยาฆ่าแมลง เชื้อรา เชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค และสารเคมีปรุงแต่งอาหาร
ที่เป็นอันตราย ฯลฯ รวมทั้ง การพิจารณา ฉลาก ลักษณะทางกายภาพอื่นๆ ก่อนการวางจำหน่ายด้วย
ถือเป็นการคัดกรอง ก่อนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งให้ความวางใจ ต่อสินค้า จากเครือข่ายชาวอโศกสูง
ในส่วนที่พบการปนเปื้อน คณะทำงานก็จะร่วมวิเคราะห์หาสาเหตุ แหล่งที่มา ของวัตถุดิบ
กระบวนการผลิต เพื่อหาแนวทางการแก้ไข และพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพต่อไป
๘. จดหมายของท่านฉบับนี้จะได้แจกไปยังหน่วยผลิต
ร้านค้าของเราทุกแห่ง เพื่อได้ ทราบถึงเสียงสะท้อน จากผู้บริโภค ซึ่งถือว่าเป็นกระแสการตรวจสอบ
จากสาธารณชน ที่มีคุณค่ายิ่ง
- - - เภสัชกรหญิง วัชรี
วานิชดี - - -
คณะทำงานต.อ.กลางด้านยาจากสมุนไพร
๑๑ เม.ย. ๔๕
เราทำ
คณะทำงานต.อ.กลาง ได้วางแผนร่วมกับผู้ประสานงานเครือข่ายต่างๆ ให้ช่วยสอบถามข้อมูลเบื้องต้น
เกี่ยวกับ แหล่งที่มา ของวัตถุดิบ และผลผลิต เพื่อคัดกรองสินค้า ที่จะนำมาออกร้าน
ในงานพฟด. ในชั้นหนึ่งก่อน บางชุมชน ที่ไม่แน่ใจในวัตถุดิบ ที่รับช่วงต่อมาจากเครือข่ายเกษตรกรของตน
ก็ส่งตัวอย่างมาให้ ต.อ.ตรวจก่อน เพื่อไม่ต้องแบก (ไปถึงบ้านราชฯ)เก้อ ถ้าถูกคัดออกภายหลัง
คณะทำงานฯ เดินทางไปถึงบ้านราชฯก่อนวันงานพฟด.
๑ วัน เพื่อเก็บตัวอย่างผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูป ส่งรถโมบาย ของ อย. ซึ่งเดินทางมาถึงในช่วงเย็นวันที่
๓ เรียกว่าตรวจกันจนดึก การตรวจวันแรก เราจึงเน้นเรื่อง การปนเปื้อน ยาฆ่าแมลงก่อน
ส่วนการตรวจสอบเชื้อรา จุลินทรีย์ก่อโรค และสารเคมี ปรุงแต่งอาหารต่างๆ ในผลิตภัณฑ์
แปรรูป ก็ค่อยทยอยตรวจในวันอื่น รวมถึงเปิดบริการ ให้ประชาชน ที่มาในงาน
นำผลิตภัณฑ์ที่สงสัย มาส่งตรวจได้ด้วย งานนี้นอกจากทีมงานที่แข็งขันจากอย.แล้ว
ยังได้รับ ความช่วยเหลือ จากเภสัชกรหญิง กาญจนา จากสำนักงาน สาธารณสุขจังหวัดอุบลฯ
เป็นอย่างดี (เพราะ เจ้าภาพเชื่อมสัมพันธ์ไว้อย่างดีมาตลอด)
สรุปผลการตรวจหายาฆ่าแมลงในผลผลิต
ที่นำมาจำหน่าย
ในงานเพื่อฟ้าดิน ครั้งที่ ๙
ระหว่างวันที่ ๓-๕ พฤษภาคม ๒๕๔๕ มีดังนี้
ผู้นำมาจำหน่าย
รวม ๔๑ แห่ง จำแนกเป็น
ชุมชน / พุทธสถาน / สังฆสถาน ๖ แห่ง
เครือข่ายชุมชนชาวอโศก ๑๒ แห่ง
ญาติธรรม / เครือข่ายเกษตรกร ๒๓ แห่ง
ผลผลิตที่เก็บตรวจ รวม ๑๔๐ ตัวอย่าง จำแนกเป็น
ข้าว/ธัญพืช ๖ ตัวอย่าง
ผัก ๔๓ ตัวอย่าง
ผลไม้ ๓๔ ตัวอย่าง
อาหารแปรรูป ๕๒ ตัวอย่าง
ยาจากสมุนไพร ๕ ตัวอย่าง
ผลการตรวจ
ตรวจไม่พบ ๑๓๙ ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ ๙๙.๒๙
ตรวจพบยาฆ่าแมลงแต่อยู่ในขั้นปลอดภัย* ๑
ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ ๐.๗๑
หมายเหตุ
* ๑. จากการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกับผู้ผลิต พบว่าสาเหตุอาจเนื่องจากการใช้น้ำ
ที่มีต้นทางมาจากไร่ สวน ที่ใช้ยา ฆ่าแมลง และการใช้ปุยขี้วัว ขี้ควาย
๒. ผลผลิตด้านอาหารแปรรูปบางตัวอย่าง ได้ตรวจรา ยีสต์ อี-โคไล โคลิฟอร์ม
(เพื่อดูการปนเปื้อนของเชื้อ จุลินทรีย์ และ ความสะอาดในกระบวนการผลิต ว่ามีมากน้อยเพียงใด)
ซึ่งยังไม่ทราบผล ในช่วงวันงาน
๓. การตรวจสอบใช้ชุดทดสอบยาฆ่าแมลง ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งสามารถทดสอบ
ยาฆ่าแมลง เฉพาะกลุ่ม ออการ์โนฟอสเฟต และคาร์บาเมต ซึ่งกลุ่มเกษตรกร มักใช้ยาฆ่าแมลงใน
๒ กลุ่มนี้เป็นหลัก
๔. ดำเนินการตรวจสอบโดย รถหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
หน่วยงาน
สนับสนุน
หากเครือข่าย หรือชุมชนใด ต้องการรถหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่ไปช่วยตรวจสอบด้านความปลอดภัย
และ คุณภาพมาตรฐาน ของผลิตภัณฑ์ เช่นในงานนิทรรศการ งานอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพ
และคุณภาพ ชีวิตเกษตรกร หลักสูตรสัจจธรรมชีวิต (ของ ธ.ก.ส.) เป็นต้น ก็สามารถติดต่อขอรับการสนับสนุนได้ที่
หน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
กระทรวงสาธารณสุข ถ.ติวานนท์ จ.นนทบุรี โทรศัพท์ ๐-๒๕๙๐-๗๒๕๒ แฟ็กซ์ ๐-๒๕๙๐-๗๒๕๒
นอกจากนี้หน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่ยังสามารถตรวจสอบการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ก่อโรค
ได้แก่ เชื้อรา ยีสต์ แบคทีเรีย โคลิฟอร์ม อี-โคไล เป็นต้น
จริงใจ - ไมตรี
ชาวอโศกเพื่อมวลมนุษยชาติ
ต.อ.กลาง
(สารอโศก
อันดับที่ ๒๔๗ เมษายน ๒๕๔๕)
|