หน้าแรก>สารอโศก

สานฝันกู้ดินฟ้า
บุญญาวุธหมายเลข ๓


พืช ผัก ผลไม้ แม้ว่าจะไม่ใช่อาหารหลัก แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพของคนและสัตว์ อีกทั้งยังเป็น แหล่ง วิตามิน แร่ธาตุต่างๆ ในการช่วยซ่อมแซม เสริมสร้างสุขภาพร่างกาย และยังเป็นแหล่ง วัตถุดิบ ในการผลิตยา รักษาโรคต่างๆอีกด้วย

มะเหมี่ยวได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมถึงถิ่นที่เกษตรกรลงมือทำกสิกรรมไร้สารพิษ เห็นวิธีการ กระบวนการ ในการทำ กสิกรรมไร้สารพิษ นอกจากกสิกรจะมีอุดมการณ์แล้ว ยังต้องมีความอดทน ทนอด ทนเหนื่อย กับการทำงาน เพื่ออุดมการณ์ ที่เน้นเรื่องของกสิกรรมไร้สารพิษ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสิ่งที่ ไร้พิษไร้ภัย

ฉบับนี้มารู้จักเจ้าของไร่ทนเหนื่อย ที่แม้เหนื่อยก็ยอมทน เพราะอยากมอบสิ่งที่ปลอดภัยให้กับผู้บริโภค คุณอุทัย และ คุณสมหมาย หนูแดง กับคุณวัชลภ หนูแดง (บุตรชาย) และครอบครัว เจ้าของพื้นที่ ไร่ทนเหนื่อย บ้านพุน้ำทิพย์ ต.หนองแขม อ.โคกสำโรง ซึ่งเป็นพื้นที่บนเนินเขาในจังหวัดลพบุรี มาติดตามกัน ดีกว่านะคะว่า ต้องทนเหนื่อย ขนาดไหน กับการทำงานกสิกรรมธรรมชาติ

ถาม : กว่าจะมาเป็นไร่ทนเหนื่อย เป็นอย่างไรบ้างคะ?
ตอบ : ชีวิตครอบครัวผูกพันกับต้นไม้ กับพืชมาตั้งแต่เด็กๆ ผูกพันกับสิ่งแวดล้อม คุณแม่สมหมาย เป็นลูกเกษตรกร สมัยก่อนมีการจราจรทางน้ำ ใช้เรือกระแชงมาจอดหน้าบ้าน แล้วเขาก็เก็บผัก ที่เราปลูกไว้ หน้าบ้าน ขอไปกิน นี่คือพื้นฐาน ในการที่มาทำกสิกรรม เพื่อผู้บริโภค

ถาม : พื้นฐานสำคัญอย่างไรคะ?
ตอบ : สำคัญมาก เพราะสภาพการดำเนินชีวิตในปัจจุบันละเลยปัจจัยพื้นฐานกันมาก สมัยก่อนคุณแม่ (คุณสมหมาย หนูแดง) เรียนจบด้านคหกรรม รู้จักเรื่องสารเคมีตกค้างในอาหาร ไม่ว่าจะเป็น สารพิษในพืช ในสัตว์ คุณพ่อคุณแม่ก็เลยปลูกพืชผักทานกันเอง ไปรับราชการที่จังหวัดไหน พวกเราก็ปลูกผัก รับประทาน และชาวบ้าน มาตัดผักไปกิน พวกเราก็รู้สึกภูมิใจ

ถาม : มีแรงผลักดันอะไร จึงมาเป็นไร่ทนเหนื่อย?
ตอบ : สมัยก่อนที่จะมาเป็นไร่ทนเหนื่อย พวกเราได้ปลูกพืชผักประมาณ ๓๐ กว่าไร่ ซึ่งชาวบ้านร่วมกัน ซื้อถวายพระ สมัยนั้น คุณพ่อคุณแม่ เป็นลูกศิษย์พระพิศาล ที่จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นที่ดิน ที่ไม่สามารถ ปลูกอะไรได้เลย จึงเริ่มคิดกันว่า น่าจะปลูกพืชผัก ถ้าปลูกได้ ชาวบ้านจะได้มาช่วยกันทำ พอดีกับเรื่องนี้ ในหลวงท่านรับสั่ง ให้ทำเป็นโครงการ ในพระราชดำริ แต่ด้วยประสบการณ์ ยังไม่มี จึงไปดูงานที่ไต้หวัน ๑๐ กว่าวัน ไปดูเขาปลูกอย่างไร กินอยู่อย่างไร ได้ไปเห็นความเข้มแข็งของชีวิต มีที่ดินนิดเดียว แต่อดทน ทำมาหากิน ซึ่งคนไทยสู้ไม่ได้จริงๆ กลับมาแล้ว ก็เริ่มงานตามพระราชดำริ นานหลายเดือน กว่าพืชผักจะโต เมื่อผักเริ่มโตขึ้น ในหลวงเสด็จเยี่ยม คุณพ่อคุณแม่ ก็เข้าเฝ้า ซึ่งท่านทรงรับสั่ง เรื่องทฤษฎีใหม่ สมัยนั้นปี ๒๕๓๗ พระองค์ทรงห่วงแผ่นดิน ห่วงประชาชน ทรงรับสั่งว่า ให้เป็นผู้นำชาวบ้าน พาปลูกพืช ผัก ให้มีน้ำ ให้มีข้าว ปลูกหลายๆอย่างร่วมกัน ท่านรับสั่งว่า ถ้าตรงนั้น (นครนายก) ปลูกพืชผักทำมาหากินได้ ที่อื่น ก็ทำได้ แล้วคำสั่งของพระองค์ท่าน ก็ก้องในหัวใจ จนทุกวันนี้คือ "อย่าทิ้งประชาชน" นี่คือแรงผลักดัน ทำให้มีกำลังใจทำมาได้ จนถึงทุกวันนี้

ถาม : อะไรที่เป็นหัวใจสำคัญในการทำกสิกรรมธรรมชาติล่ะคะ?
ตอบ : การแบ่งปัน การเสียสละ ปลูกฝังให้ลูกและคนรอบข้างอย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้มองภาพชีวิตให้ออก ให้เห็นเส้นทาง ของตัวเอง อย่าไปหักโหม ใจเร็วด่วนได้ มองทิศทางสังคม และจะช่วยสังคมอย่างไร ในการแบ่งปัน และเสียสละให้อยู่ร่วมกันได้

ถาม : เคล็ดไม่ลับในการทำกสิกรรมธรรมชาติเป็นอย่างไรคะ?
ตอบ : มีหลักการอยู่ ๔ ประการ ในการพัฒนาคน พัฒนางาน
๑.ต้องเป็นคนมีความตั้งมั่น อดทน
๒.มีคุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์ในอาชีพของตนเอง
๓.มีทักษะในการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ
๔.มีบูรณาการ นำความรู้ วิทยาการต่างๆ มาใช้ใน การทำ เกษตร ให้ได้
สี่หลักการนี้ จะนำมาซึ่งการพัฒนาบุคคลและกสิกรรม

ถาม : มีหลักการยังไงในการทำกสิกรรมธรรมชาติคะ?
ตอบ : หลักการคือการอยู่ร่วมกันของสรรพสิ่ง แต่ในระบบนิเวศน์เกษตรมี การทำลาย และสร้างใหม่ อย่างต่อเนื่อง คือบ้านเมืองเราเป็นระบบนิเวศน์เขตร้อน พวกสิ่งต่างๆขยายตัวอย่างรวดเร็วมากมาย จะเริ่มต้นใหม่ที ก็ต้องทำลาย คือกำจัดวัชพืชออกไป เพื่อเปิดทางให้พืชตัวใหม่เข้ามา การทำลาย ถากถาง วัชพืชออก ก็เป็นการทำลาย สัตว์แมลง ต่างๆ สัตว์เหล่านั้นก็ต้องอพยพหนีกันอุตลุด

ฉะนั้น เราต้องเปิดทาง ให้เขาได้หนีเข้าไปอยู่ มีที่มาที่ไปให้กับเขา ขณะเดียวกัน ระบบนิเวศน์อย่างอื่น จะถูกทำลาย อย่างต่อเนื่อง แต่กสิกรรมธรรมชาติของเราทำลายแล้วสร้าง เพราะฉะนั้น จะหลีกเลี่ยง การทำลายนั้น เป็นไปได้ยาก แต่อนาคตข้างหน้าเป็นไปได้ และบริเวณไร่ของเรา ก็จวนจะเป็นไปได้แล้ว เพราะหน้าฝน ที่ผ่านมา เห็ดโคน ขึ้นและ ได้เก็บกันบ้างแล้ว เห็ดหูหนู เห็ดกระด้าง เป็นเห็ดที่เกิดเอง ตามธรรมชาติ นี่เป็นระบบนิเวศน์ ที่แสดงให้รู้ว่า มันสามารถ ปรับตัวเองได้ ช่วงแรกๆ ที่พากันทำ กสิกรรม ธรรมชาติ ก็ได้ใช้ทฤษฎีของฟูกูโอกะ ลงมือทำตามทุกอย่าง แต่ไม่ได้ผล! เราก็มานั่ง วิเคราะห์กันว่า ทำไมเราทำ ไม่ได้ผล ฉุกคิดว่า สภาพบ้านเมืองเรา กับญี่ปุ่นไม่เหมือนกัน ก็เริ่มค้นคว้าว่า ทำไมไม่เหมือนกัน ญี่ปุ่นเขาเป็น ระบบนิเวศน์เขตอบอุ่น บ้านเมืองเราระบบนิเวศน์เขตร้อน ญี่ปุ่น พอถึงฤดูฝน ฝนตก พอฤดูหนาว น้ำเป็นน้ำแข็ง ผิวดินเป็นน้ำแข็ง พอหน้าร้อนน้ำแข็งละลาย ดินก็ร่วน ดินฟู แต่บ้านเรา ไม่ใช่อย่างนั้น บ้านเราฝนตก กระแทกหน้าดิน ดินก็แข็งหมด พอได้ข้อมูลความจริง ก็ลืมทฤษฎี ฟูกูโอกะ ให้หมด เวลาฝนตกที่บ้านเรา หน้าดินถูกทำลาย ไหลไปกองอยู่ข้างล่าง หรือพื้นที่ราบโน่น ก็เริ่มใช้ฟาง ปูพื้นดิน ฟางลดการกระแทกหน้าดิน เวลาฝนตก ฟางช่วยอุ้มน้ำได้ ช่วยหน้าดินได้ ดินยังคงร่วนฟู แรกเริ่มทำกสิกรรม ต้องไถพรวน เพราะหน้าดิน หรือดินถูกฝนอัดกระแทก มานานแล้ว

ถาม : แล้วที่นี่จัดระบบนิเวศน์อย่างไรคะ?
ตอบ : ผักแปลงไหนเสีย มีคนถามทำไมไม่ไถกลบ คุณแม่ตอบว่า เอาไว้ให้เพลี้ยมันกิน แมงเต่ามันกิน เพราะแมงเต่า กินเพลี้ย ถ้าเราไปทำลาย ก็เท่ากับตัดวงจรอาหาร วงจรชีวิตของสัตว์ จนเขากินหมดแล้ว ค่อยไถพรวนออกไป ผักกางมุ้งไร้สารพิษ ทางเราก็ลอง ผักเน่าเพราะอุณหภูมิภายในสูงมาก ไม่ได้ผล จึงเลิกทำ ฉะนั้นชีวิตของกสิกร ในการทำกสิกรรมธรรมชาติ จึงต้องเรียนรู้ศึกษา ในเรื่องระบบนิเวศวิทยา ให้มากๆ คอยสังเกต คอยเฝ้าดู จึงเป็นงานที่ยิ่งกว่าเลี้ยงเด็กอ่อน

ถาม : จูงใจชาวบ้านเข้ามาร่วมได้อย่างไรคะ?
ตอบ : ชาวบ้านที่เขามาร่วมทำกสิกรรมธรรมชาติกับเรา เขาขาดประสบการณ์ อีกทั้งการกินอยู่ เขากินจริงๆ ไม่เหมือน คนเมือง ที่กินนิดๆหน่อยๆ และเราก็ใช้หลัก ๔ ประการ ในการที่จะพยายามปรับ เพื่อเปลี่ยนเขา ให้สามารถ ยืนหยัด ด้วยตัวเองให้ได้ และที่มาร่วมทำงานด้วย ก็ใช่จะทำได้ทำเป็นอย่างพวกเรา มา ๑๐ ครอบครัว อาจจะได้เพียง ๔-๕ ครอบครัว ที่เข้าใจในแนวการดำเนินชีวิต ทั้งความวิริยะอุตสาหะ ทั้งความ ซื่อสัตย์สุจริต ส่วนครอบครัวที่เหลือ เราก็ต้องช่วยเขาต่อไป จนกว่าเขาจะเลี้ยง ครอบครัวได้

นี่เป็นครอบครัว ของไร่ทนเหนื่อย ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ เพื่อผู้บริโภค เพื่อชาวบ้านจะได้มี สุขภาพที่ดี มีชีวิตที่สดใส มีพลังในการสร้างสรร แม้เหนื่อย แม้ล้มลุกคลุกคลาน ก็ยังต้องสู้ เพื่อผู้บริโภค ได้ปลอดภัย

แล้วตัวท่านล่ะคะ เป็นผู้บริโภคที่รักความปลอดภัยหรือไม่ รักสุขภาพตัวเองหรือไม่ ทางเลือกที่ดี ของสุขภาพคือ การรับประทาน พืชผักผลไม้ไร้สารพิษ ไร้สารเคมี "สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้อง ลงมือปฏิบัติ ด้วยตัวเอง"

- มะเหมี่ยว -

(สารอโศก อันดับที่ ๒๔๗ เมษายน ๒๕๔๕)