หน้าแรก>สารอโศก

กสิกรรมไร้สารพิษ เพื่อฟ้าดิน ครั้งที่ ๙

นานนับครึ่งทศวรรษที่ปุ๋ยเคมีเข้ามาระบาดในหมู่เกษตรกรชาวไทย เริ่มแรกจากการให้ทดลองใช้ฟรี และขาย ในราคาถูก เป็นผลให้แม่ธรณีที่เคยอุดมสมบูรณ์เริ่มเจ็บป่วย และร่ำไห้กับความโลภของเกษตรกร ควบคู่ไป กับหนี้สิน ของเกษตรกร ที่เพิ่มขึ้น เคียงคู่ไปกับการใช้สารพัดสารเคมี ปุ๋ยเคมี จนกระทั่ง อาหารที่เคยเป็นยา กลับกลายเป็น ยาพิษ ป่วยทั้งผู้ผลิต และ ผู้บริโภค สุดท้ายทั้งแม่ธรณีและเกษตรกรไทย ต่างตกอยู่ใน ภาวะอันตราย รอดูอาการ อยู่ที่ห้อง ไอ.ซี.ยู.

๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา ชาวอโศกหันกลับสู่ทางเกวียนสายเก่า ร่วมกันซับน้ำตาแม่ธรณี เยียวยาด้วยการปลูกถั่ว เป็นอาหาร บำรุงดิน เลิกการใช้ปุ๋ยเคมี ทำกสิกรรมธรรมชาติ จนวันนี้ชุมชนชาวอโศก ทั่วทุกภาค ของ ประเทศไทย ปลูกผักกินเอง พร้อมกับเผยแพร่และส่งเสริม ไปยังสมาชิกเครือข่าย กสิกรรมไร้สารพิษ (คกร.) ที่มีอยู่ทั่วประเทศ

"......ทำไมถึงยกกสิกรรมไร้สารพิษ เป็นบุญญาวุธหมายเลข ๓ เพราะชีวิตคนตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องกิน ต้องใช้ แต่คนหลง เพราะถูกมอมเมาให้มีความรู้ใหม่ๆที่ไม่จำเป็นมากมาย อาตมาจึงพยายามดึงคนมาทำ มาให้ตีนติดดิน... ชาวอโศกจะต้องเป็นกสิกร เป็นผู้ที่ปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร จะต้องปลูกให้เป็น และรักดิน รักน้ำ รักพืชพันธุ์ ธัญญาหาร... เราจะต้องเชิดชูบูชากสิกรรมไร้สารพิษ แต่คนถูกมอมเมา ให้ไปหาอสาระ ทำอยู่ทำกินไม่เป็น.... ผู้ใดรังเกียจกสิกรรมว่า เป็นงานชั้นต่ำ เรียกว่าโง่ว่าเลวก็ได้ เพราะกสิกรรม เลี้ยงคน ทั้งโลก คนทำกสิกรรม ได้บุญ ยิ่งกว่าบ่อเพชร บ่อพลอย เหมืองแร่ทองคำ เป็นชีวิตให้เราเจริญรุ่งเรือง เพราะทำสิ่งที่เป็นสาระ อันดับหนึ่ง...."

นี่เป็นบางส่วนของการปฐมนิเทศวันแรกของงานสัมมนา "กสิกรรมไร้สารพิษ เพื่อฟ้าดิน ครั้งที่ ๙" ณ ชุมชน ราชธานีอโศก จ.อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ ๔-๖ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ในงานนี้ได้นำความรู้มาเผยแพร่ และนำผลผลิต ของญาติธรรมและสมาชิก คกร. มาจำหน่ายให้พี่น้องประชาชน ได้บริโภค ในราคาบุญนิยม ถึง ๔ ระดับ คือ ขายต่ำกว่า ท้องตลาด ขายเท่าทุน ขายต่ำกว่าทุน และแจกฟรี นอกจากนี้ มีการจัดตลาด สินค้าเพิ่มขึ้น โดยแบ่งออกเป็น ตลาด สินค้า ตลาดอาหาร ตลาดความรู้ และเวทีชาวบ้าน มีการ ประชาสัมพันธ์ ทางวิทยุจังหวัดอุบลฯ แจกแผ่นพับ และ สูจิบัตร แก่ผู้สนใจ นับเป็นความก้าวหน้า ของการจัดงานขึ้น อีกระดับหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์ ของการจัดงาน ดังนี้

๑. เพื่อส่งเสริมสนับสนุน ให้เกษตรกรที่ทำกสิกรรมไร้สารพิษ สามารถผลิตเอามาขายได้เอง มีตลาด ของตัวเอง จนพึ่งตัวเองได้

๒. เพื่อให้ผู้บริโภคได้ของดีราคาถูก โดยผู้ผลิตได้พบกับผู้บริโภคโดยตรง อีกทั้งจะได้เป็นการเชื่อม ความสัมพันธ์ และ ความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค

๓. เพื่อสำนึกถึงบุญคุณของฟ้าดิน ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง ถ้าฟ้าดินถูกทำลาย สรรพสิ่ง ย่อมหายนะ แต่ถ้า ฟ้าสวยดินดี ทุกชีวีย่อมสุขสบาย

ตลาดสินค้า เปิดบริการตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. ญาติธรรมให้ความร่วมมือนำสินค้ามาจำหน่าย มากมาย ประกอบด้วย ชุมชน/พุทธสถาน/สังฆสถาน ๖ แห่ง, เครือข่ายชุมชนชาวอโศก ๑๒ แห่ง และ ญาติธรรม /สมาชิก เครือข่ายกสิกรรมฯ ๒๓ แห่ง รวม ๔๑ แห่ง มากกว่า ๕๐ ร้าน จำหน่ายสินค้า ซึ่งเป็นผลผลิต จากการทำ กสิกรรม ไร้สารพิษ เช่น พืชผัก ผลไม้ กล้าไม้ และพันธุ์ไม้ ที่หายาก สมุนไพร เมล็ดพันธุ์ รวมทั้งสินค้าแปรรูป เช่น ซีอิ๊ว มีการสาธิตให้ชม ด้วยภูมิปัญญาไทย ไร้สารปรุงแต่ง และ วัตถุกันเสีย เต้าเจี้ยว ปลาร้า หัวไชโป๊ว แยมผลไม้ป่า ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ ฯลฯ สาธิตการสี ข้าวกล้องด้วยมือ การนำผาลมาดัดแปลงเป็นจอบ และ สินค้า ที่นำมา จำหน่าย ในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่จากอย. และ ต.อ. ของชาวอโศก ได้นำสินค้าไปตรวจหายา ฆ่าแมลง รวมทั้งสิ้น ๑๔๐ ตัวอย่าง ปรากฏว่า ไม่พบ สารพิษใดๆเลย สินค้าทุกชนิดในตลาดสินค้าไร้สารพิษ ๑๐๐%

ร้านค้าที่น่าสนใจ เช่น ร้านชุมชนปฐมอโศก มีการจัดนิทรรศการผักพื้นบ้าน และผักสมุนไพร อาหารสมุนไพร ให้ความรู้ แก่ผู้ที่สนใจผักพื้นบ้าน และผักสมุนไพร นิสิตพลาภิบาล จากคณะสาธารณสุขบุญนิยม สัมมาสิกขาลัยวังชีวิต สาธิตอาหารสมุนไพร เมี่ยงญวน สมุนไพร ๙ รส การอบ ประคบ และ นำพืชสมุนไพร มาจัดวางให้ได้รู้จักกัน และ ที่เป็นสีสรรของงาน มีผู้สนใจไปเลือกซื้อหากันคับคั่ง ในครั้งนี้ คือร้านผลไม้ จากกลุ่มตะวันออก จันทบุรี-ระยอง-ตราด นำเงาะ มังคุด ทุเรียน ลองกอง สละ ระกำ มาจำหน่าย ขายดิบ ขายดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความสุขทั้งผู้ขาย และผู้ซื้อ เพราะนอกจาก จะไร้สารพิษแล้ว ยังราคาบุญนิยม ต่ำกว่าท้องตลาดอีกด้วย

ตลาดอาหาร เปิดบริการตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. มีอาหารมังสวิรัติที่ปรุงจากพืชผัก ไร้สารพิษ ขายในราคา กันเอง มีการสาธิตการทำขนมจีนให้ชม พร้อมมีน้ำยาราดให้ชิมว่า ขนมจีนไร้วัตถุกันเสีย และ สารฟอกขาว แซ่บอีหลีขนาดไหน นอกจากนี้ ยังมีการสาธิต การทำขนมไทยๆ พร้อมกับจำหน่าย ให้กับผู้ที่สนใจ ในราคาบุญนิยม อีกด้วย และตามบ้านก็บริการขายขนมจีน ส้มตำ แก่ผู้ที่ต้องการ บรรยากาศ แบบส่วนตั๊วส่วนตัว กินเสร็จก็นั่งโสเหล่ หลบอากาศร้อน รับลมเย็นๆ ก็มีให้เลือกใช้บริการ และ อาหารสมุนไพร ข้าวยำปักษ์ใต้ มากด้วยสมุนไพร จากทักษิณอโศก ก็ได้รับความสนใจ เป็นอย่างดี

ตลาดความรู้ ซึ่งเป็นหัวใจของงานนี้ มีความรู้ที่จะมอบ ให้แก่ผู้ที่สนใจ เอากลับไปทำเองที่บ้านได้ทันที มีตัวอย่างให้ดู และให้ชิม พร้อมเอกสารแจกฟรี เปิดการสาธิต อยู่ใต้ถุนบ้านต่างๆ รอบๆบริเวณงาน อาทิเช่น สาธิตการทำซีอิ๊ว-เต้าเจี้ยว การทำน้ำยาอเนกประสงค์ การทำแชมพู การถนอมอาหาร ทำขิงดอง กระเทียมดอง ตังฉ่าย ฯลฯ

เวทีชาวบ้าน เป็นแหล่งอาหารสมอง จัดอยู่บริเวณใต้เฮือนศูนย์สูญ(เฮือนใหญ่) มีผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งด้าน วิชาการ และประสบการณ์ ขึ้นอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งกันและกัน มีวิดีโอที่ดีมีสาระฉายให้ดู มีวงดนตรี "ฆราวาส" มาขับกล่อม ในช่วงรับประทานอาหารตอนเย็น

สำหรับรายละเอียดของงานมีดังต่อไปนี้
๐๗.๐๐ น. พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ นำหมู่สมณะ-สิกขมาตุ บิณฑบาตในตลาด

๐๙.๐๐-๑๐.๓๐ น. ปฐมนิเทศ โดยพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ หลังจากนั้น นายอดุลย์ พลบุตร นายอำเภอ วารินชำราบ จ.อุบลฯ ได้เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ชื่นชมการจัดงานของชาวอโศก ที่เป็นประโยชน์ ต่อประชาชน รู้สึกเป็นสุขทุกครั้ง ที่ได้เข้ามาในบ้านราชฯ เพราะหมู่บ้านนี้ ไม่มีคนทุกข์คนโกรธให้เห็น ที่นี่อยู่กันอย่างสงบสุข ไม่มีอันตรายใดๆ ให้หวาดกลัว หลังจากนั้น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้กล่าวถึง สวนไผ่สุขภาพ อยู่ในทำเลทอง บนถนนพหลโยธิน ใกล้อนุสาวรีย์ ชัยสมรภูมิ เป็นตลาดจำหน่าย สินค้า ไร้สารพิษ จากเกษตรกรทั่วประเทศ และกล่าวว่า ๒๐ กว่าปี ที่ผ่านมา ชาวอโศก เผยแพร่อาหาร มังสวิรัติ จนทุกวันนี้ อาหารมังสวิรัติ เป็นที่รู้จักและยอมรับ และขณะนี้ เรากำลัง เผยแพร่ พืชผัก ผลไม้ ไร้สารพิษ ก็คงจะได้รับการสนับสนุน จากประชาชนเช่นกัน เพราะขณะนี้ ผู้ที่หวาดกลัว พิษภัยจากสารเคมี กำลัง แสวงหาตลาด พืชผักผลไม้ ที่ไร้สารพิษ และเขาก็เชื่อมั่น ในชาวอโศก มากที่สุดว่า ไร้สารพิษจริงๆ ไม่ปลอมปน เพราะชาวอโศกถือศีล

๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น. "ท่องโลกจุลินทรีย์ ตอบข้อสงสัยในเรื่องจุลินทรีย์" โดย คุณบุญรุ้ง สีดำ ดำเนินรายการ โดย คุณแก่นฟ้า แสนเมือง บอกถึงพิษภัยของปุ๋ยเคมี ทำให้ดินเสีย โครงสร้างของดินเล็กลง การถ่ายเทน้ำ อากาศไม่ดี แม้จะใส่ปุ๋ย รากพืชก็ไม่สามารถ ดูดเอาแร่ธาตุไปใช้ได้ แต่จุลินทรีย์ ทำหน้าที่ย่อยสลาย ทำให้ดินมีชีวิต ปลูกอะไร ก็เจริญเติบโต ฟังแล้วอยากกลับไปทำ เพราะการบำรุงดิน ทำได้ง่ายมาก

๑๕.๐๐-๑๖.๐๐ น."การดูแลสุขภาพองค์รวม" โดยคุณขวัญดิน สิงห์คำ เล่าถึงสุขภาพของตนเอง ๙ ปี ที่ไม่ได้ไปหาหมอ ไม่ต้องกินยาแผนปัจจุบัน เพราะเรานี่แหละ รู้จักตัวเองดีกว่าหมอ บอกเคล็ดลับ ของการมี สุขภาพดีว่า ๑. ทานอาหาร ที่มีสารพิษน้อยที่สุด ๒. ทานอาหารมังสวิรัติ เพราะเราไม่ทำชีวิต ของผู้อื่น ตกร่วง ย่อมไม่มีวิบาก ๓. ต้องขยัน และ มีจิตใจ เสียสละ ช่วยผู้อื่น

๑๖.๐๐-๑๗.๐๐ น. "ขบวนแห่กลองยาวเพื่อฟ้าดิน" ขบวนเคลื่อนจากหมู่บ้าน ผ่านเข้ามาในตลาด และไป สิ้นสุดที่ เฮือนใหญ่ ม่วนซื่นแบบเรียบง่าย

๑๙.๐๐-๒๐.๓๐ น. "การนำเสนอผลงานจากประสบการณ์คนของแผ่นดิน" ดำเนินรายการโดย สมณะ เดินดิน ติกขวีโร ผู้ร่วมอภิปราย

อ.ข้าดิน ศรีเชียงสา ผู้เคยปลูกต้นคะน้าวัดจากโคนถึงยอดสูง ๑๘๐ ซม. สร้างดินลูกรังที่ไม่มี แร่ธาตุอาหาร จนกลาย เป็นแปลงผัก ที่อุดมสมบูรณ์ บรรยายพร้อมวิดีโอประกอบ ปัจจุบันรับผิดชอบ สวนวังไพร สามารถปรับดิน ที่ดินตาย เพราะปุ๋ยเคมี และลาดเทเป็นขั้นบันได แบบชาวเขา จนสามารถปลูกพืชผัก ได้อุดมสมบูรณ์ เผยเคล็ดลับว่า ให้ปลูกถั่ว เตรียมไว้ ๑-๒ ปี ดินก็จะอุดมสมบูรณ์ และถั่วจะให้แร่ธาตุ ไนโตรเจนสูง ปราบหญ้าได้ดีกว่าฟาง ส่วนฟางมีแร่ธาตุ NPK ปรับดินที่เป็นกรด-ด่างให้สมบูรณ์

ส่วนการทำเกษตรแบบฟูกูโอกะจะช้าหน่อย แต่โครงสร้างดินจะแน่น

เริ่มต้นการปลูกพืช ให้ขุดหลุมกว้าง x ยาว ๓๐ x ๕๐ ซม. ห่างกันระหว่างหลุม ๓๐ ซม. หน้าดินที่ขุดออก เก็บเอาไว้ ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ (ที่มีแกลบดิบ รำอ่อน พืชตระกูลถั่ว) ๓ ส่วน หน้าดินตามป่า ๑ ส่วน และ หน้าดินที่ขุด ๑ ส่วน นำมาคลุกเคล้า ให้เนียนอย่างช้าๆ แล้วนำฟางมาคลุมเอาไว้ ให้อากาศ และแสงแดด ไม่ถูกดิน ๑๐-๒๐ วัน รดด้วย น้ำจุลินทรีย์ ๒ ช้อนต่อน้ำ ๒๐-๓๐ ลิตร รดตอนเช้าหรือบ่ายๆ ห้ามรดกลางวัน หมักไว้ ๕-๑๐ วัน แล้วแหวกออก ๒๐-๒๕ วัน เอาต้นกล้ามาปลูก ๒-๓ ปี ดินจะปรับโครงสร้าง เป็นอันเดียวกัน

สรุป ถ้าดินสมบูรณ์แล้วไม่ต้องขุด แค่เอาฟางคลุม รดด้วยน้ำจุลินทรีย์ หัวใจที่คิดจะให้แก่ดิน แก่แม่พระ ธรณี เป็นใจ ที่อุดมสมบูรณ์ เราก็จะได้ความอุดมสมบูรณ์กลับมา

ฝากว่า การทำกสิกรรมให้ประสบความสำเร็จ อย่าไปคิดหวังอะไร พืชมีแต่ให้ ทำอย่างไร เราจะให้ อย่างพืชได้ เราต้องหัด ให้แก่แผ่นดิน โดยการปลูกถั่ว ได้ผลผลิตแล้ว เก็บไว้กิน แล้วคืนให้แก่ แผ่นดินด้วย พอถั่วออกดอก เอาฟางคลุม ๒ ปีต่อมา แผ่นดินก็จะคืนกลับมาให้แก่เรา และ หากใส่ปุ๋ยมาก ใบพืช จะเหลือง

เจ้าของสวนลูกนายพล เล่าประสบการณ์ที่ใช้สารเคมี ๑๐ ปี แล้วเปลี่ยนมาทำกสิกรรม แบบไร่นาสวนผสม แบบ ฟูกูโอกะ ๒-๓ ปีแรกลำบาก แต่ ๕-๖ ปีต่อมาก็ประสบความสำเร็จ จากเคยเป็นหนี้ก็ปลดหนี้ได้

๗-๘ ปีต่อมาเริ่มมีอุปสรรค ต้นไม้โตขึ้นขาดน้ำในหน้าแล้ง พืชผักตาย ทุเรียนกำลังมีลูกก็ตาย ได้ข้าวลดลง เพราะ ต้นไม้ใหญ่บนคันนาคลุมต้นข้าว ผลผลิตลดลง การเข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิตก็ไม่สะดวก จึงได้บทเรียน รื้อต้นไม้ใหญ่ บนคันนา ออกเกือบหมด

สรุปการทำไร่นาสวนผสม จะมีปัญหาเมื่อทำได้ ๑๐ ปี เพราะการปลูกพืชหลายอย่าง จะทำให้แสงแดด ส่องไม่ถึง เกิดปัญหาเพลี้ย

การทำเกษตรอันดับแรกคือ ขยัน เลิกสารเคมี เลิกอบายมุข จะทำกสิกรรมไร้สารพิษ ต้องลดสารพิษ ในตัวเองด้วย

ดร.อรรถ บุญนิธิ พูดถึงเมล็ดพันธุ์ตัดต่อยีนส์ เปลี่ยนแปลงพันธุกรรม GMO ทนต่อโรคพืชสูง แต่ต้องเสีย ค่าลิขสิทธิ์

ไทยเสียเงินปีละ ๓ แสนล้านบาท ในการสั่งน้ำมันเข้าประเทศ ขณะที่น้ำมัน กำลังจะหมดไปจากโลก เชิญชวน ให้มาใช้ ไบโอดีเซล เอาน้ำมันพืชมาใช้

พืช-สัตว์-จุลินทรีย์ เป็นองค์ประกอบของโลก พืชทำหน้าที่ผลิต สัตว์(คน)เป็นผู้บริโภค จุลินทรีย์ ทำหน้าที่ ย่อยสลาย ไปเป็นอาหาร ให้แก่พืช จุลินทรีย์ต้องการอากาศ ในการย่อยสลาย ซึ่งมีอยู่ ๒ แบบ คือ ย่อยตาม ธรรมชาติ ด้วยการบูด เน่าปกติ และย่อยแบบไม่ธรรมดาด้วยการหมัก-ดอง คือการเอาอินทรียวัตถุ ๓ กก. ผสม กับน้ำตาล ๑ กก. หมักแล้วเกิด น้ำสกัดชีวภาพ

คุณสมบัติของน้ำสกัดชีวภาพ ๑.กำจัดกลิ่นเหม็น ๒.ทำให้น้ำสะอาดขึ้น และ ทำให้ยุงป่าหายไป

อ.นักบุญ จากสวนส่างฝัน นำเสนอน้ำแช่ข้าวเหนียวแทนน้ำตาล ซึ่งทดลองทำ และใช้ได้ผลดี

จุลินทรีย์ปรับปรุงดินให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของต้นไม้ดีกว่าปุ๋ยเคมี
หัวใจดินดี ดินมีชีวิต ทุกอย่างจะดี ดินดี น้ำดี สิ่งแวดล้อมดี

๕ พ.ค.
ทำวัตรเช้า โดยพ่อท่าน
"....เราจะทำเครือข่ายกสิกรรมนี่แหละให้แข็งแรงจริงๆ เพราะเป็นหลักอาชีพ และกสิกรรมเราจะมีการแปรรูป จะมีการถนอมอาหาร ถนอมคุณภาพ ทำอะไรเพิ่มเติมขึ้นมา ก็ค่อยๆทำ มันจะต่อเนื่อง มาจากผลิตกสิกรรม แล้วมาแปรรูป เอาวัตถุดิบ จากกสิกรรม มาแปรรูป มาถนอมอาหาร มาถนอมคุณภาพ มาถนอมเวลา เราก็จะใช้ สภาพพวกนี้ไป ยังไม่ถึงขั้นตกแต่ง ได้แค่ขั้นแปรรูปและถนอม ขนาดนี้ผลิตให้เป็นแกนเป็นหลัก จนมากพอ จนแน่ใจ ว่ามั่นคงในฐานผลิตให้ดีๆ แปรรูปและถนอมก็ทำต่อบ้าง เพราะมันจะมาก และ ทำต่อไป จนกว่า เราผลิตจนเฟ้อ เมื่อนั้น อาตมา จะพาให้ตกแต่งได้ ตอนนี้แค่ถนอม และ แปรรูปก่อน เป็นลำดับๆไป

สำหรับเรื่องการตลาดนั้น ก็ขอให้พวกเราช่วยกันระดม ปีนี้เป็นปีแรกที่เราทำตลาด เพื่อฟ้าดินแบบนี้ ที่เปิดตลาด แบบนี้ ก็รู้สึกว่า คนยังไม่ค่อยรู้ ปีหน้าพอปีใหม่ ก็จะโฆษณางาน เพื่อฟ้าดินต่อเลย และ ออกแผ่นพับ สูจิบัตร โฆษณา ตั้งแต่ งานปีใหม่ไปเลย..."

หลังทำวัตร ร่วม work shop ปฏิบัติการบนแปลงกสิกรรม ใครสนใจเดินป่าศึกษาพืช สมุนไพร ชมสวนผัก เชิญที่ สวนวังไพร เจาะลึกการปรับพื้นที่ลาดเทเป็นขั้นบันไดเพื่อการเกษตร หรือ ๒. ร่วมกันเก็บถั่วลิสง จากแปลง พร้อมชม ตะวันขึ้นที่ริมมูล ด้วยอากาศเย็นสบายและสดชื่นจากแม่น้ำมูล และ ๓. ชมสมุนไพร ที่สวนไวพลัง

๐๙.๐๐-๑๐.๓๐ น. ฟังเสวนาเรื่อง "การพัฒนาเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษให้ยั่งยืน" ดำเนินรายการโดย คุณขวัญดิน สิงห์คำ

คุณอุ่นเอื้อ สิงห์คำ บอกเล่าถึงการเข้าไปทำงานกับชาวบ้านว่า ให้ความรู้ด้านธรรมะก่อน จนเลิกละ อบายมุขได้ ก็รวมตัวกัน มารับความรู้ จากศีรษะอโศก เมื่อเกษตรกรนำไปทำ ก็ประสบความสำเร็จ พืชอุดม สมบูรณ์ สามารถ ปลดหนี้สิน มีคนมาสนใจเรื่อยๆ จึงรวมกลุ่ม จนสามารถเกิดเครือข่าย กสิกรรม ไร้สารพิษ โดยสมาชิก จะต้องเลิก สารพิษในตัวเองก่อน

คุณประสิทธิ์ นิตะอินท์ เจ็บป่วยเพราะสารเคมีที่ใช้มานาน เมื่อหันมาทำกสิกรรมไร้สารพิษ ก็ประสบ ความสำเร็จ จนเป็นประธาน เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ มีชาวบ้านสนใจรวมกลุ่ม แม้จะไม่มาก แต่เน้น คุณภาพ มากกว่าปริมาณ นำพืชผักผลไม้ มาร่วมออกร้านด้วย ได้ฝากข้อคิดแก่เกษตรกรว่า อย่าให้น้ำ อบายมุข (เหล้า) ท่วมปาก อย่าให้ ลมปากพัด จนเกิดปัญหา อย่าให้ไฟไหม้ที่ปาก (บุหรี่) และอย่าให้โจร (หุ้น,หวย) มาปล้น

ดร.สมคิด ดิสถาพร ผู้อำนวยการสถาบันพืชอินทรีย์ กรมวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคพืช สำนักผู้ เชี่ยวชาญ กรมวิชาการเกษตร บอกเล่าเรื่องเกษตรอินทรีย์ ครอบคลุมไปถึงสิ่งแวดล้อม ไม่เบียดเบียน สิ่งมีชีวิต ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งใกล้เคียงกับ เกษตรไร้สารพิษ และกลุ่มชาวอโศก ก้าวสู่เป้าหมาย ของเกษตร อินทรีย์ ได้เร็วที่สุด โดยจะมี โครงการนำร่อง ที่ศีรษะอโศก

๑๓.๐๐-๑๔.๐๐ น. "บัญญัติ ๕ ประการ หัวใจสำคัญของกสิกรรม" โดย คุณสมพงษ์ คงจันทร์ ที่มีลีลา การบรรยาย ตื่นตา ตื่นใจ จนยากที่หลับตาลงได้ การสร้างคนต้องมีศีล การสร้างดินต้องมีบัญญัติ ๕ ประการ เพื่อซับน้ำตาแม่ธรณี คือ

๑. งดการเผาเศษพืชทุกชนิดโดยเด็ดขาด เพราะเผาเท่ากับ เป็นการเผาปุ๋ยในดินของเราทิ้งไป เผาฟาง ๑ ไร่ = เผาเงิน ๑ พันบาท เผาฟางเหมือนเผาปุ๋ยในดิน โอชะจะหมดสิ้นทำให้ดินหมดพลัง เพราะทำให้ ธาตุอาหารของพืช ที่มีอยู่ หมดสิ้นไป จุลินทรีย์จะตายไป และดินอุ้มน้ำได้น้อยลง ทำให้เก็บกักน้ำไม่อยู่

๒. ใช้ปุ๋ยพืชสด คือ นำเมล็ดถั่ว ๓ กก. หว่านไปในนา ๑ ไร่ แล้วไถกลบพร้อมกับหว่านข้าว ถั่วจะคลุมหญ้า และ ป้องกันดิน ไม่ให้แห้ง ดินจะชุ่มฉ่ำ (หากฝนไม่ทิ้งช่วง) ประมาณ ๒๕-๓๐ วัน ต้นถั่วจะย่อยสลาย กลายเป็นปุ๋ย ให้กับนาข้าว "ไม่ถูกหวยก็รวยได้ ถ้าปลูกข้าวแล้วใช้ปุ๋ยพืชสด"

๓. ใช้ปุ๋ยคอก โดยเอาไปหมักก่อนใช้ มิฉะนั้นพืชจะป่วยเป็นโรค ปุ๋ยคอกที่ดีที่สุด มีคุณภาพมากที่สุด คือมูลค้างคาว เพราะค้างคาวกินผลไม้ธรรมชาติหลากหลายชนิด แต่มูลวัว-ควาย เป็นปุ๋ยด้อยคุณภาพ เพราะกินแค่หญ้า-ฟาง

๔. ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ ๔๘ ชม. โดยนำเศษพืชสับละเอียด ๑ ส่วน + น้ำ ๒๐ ลิตร + จุลินทรีย์ ๖ ช้อนโต๊ะ คลุกเคล้า ให้เข้ากัน + รำละเอียด กองสูง ๑ ฟุต เอาผ้าคลุม กลับทุก ๑๒ ชม. ๔ ครั้ง ปุ๋ยหมักก็จะเย็น

๕. ใช้ปุ๋ยน้ำจุลินทรีย์ในพื้นที่ หลังจากนั้น เป็นการเสวนากลุ่มย่อย ตามความสนใจ ๖ กลุ่ม คือ ๑. จุลินทรีย์ ๒. ปุ๋ย ๓. ทำนา ๔. ทำสวนผลไม้ ๕. ผักและผักพื้นบ้าน ๖. สมุนไพร

๑๙.๐๐-๒๐.๓๐ น. ฟังเสวนาเรื่อง "แผนการตลาดเพื่อยึดหัวหาดกสิกรรมไร้สารพิษ" ดำเนินรายการโดย คุณแก่นฟ้า แสนเมือง เริ่มด้วยการสัมภาษณ์คุณบุญจันทร์ ต้นศีล ชาวนาไทย จากอ.เดชอุดม จ.อุบลฯ ที่เคยใช้สารเคมี แล้วเปลี่ยน มาทำแบบไร้สารพิษ จนประสบความสำเร็จ มีเป้าหมายว่า จะใช้ทุนเพียงไร่ละ ๕ บาท และกลายเป็น สถานที่ ดูงานจากทั่วสารทิศ พร้อมภาพวิดีโอ กับการทำนาไร้สารพิษให้ชม

ต่อด้วยแผนการตลาดฯ โดยคกร.-บริษัทขอบคุณ-บริษัทภูมิบุญ ทำงานร่วมกัน คกร. ทำหน้าที่อบรม ส่งเสริมกสิกรรม ไร้สารพิษให้แก่ผู้ผลิต บริษัทขอบคุณ โดยโครงการกู้ดินฟ้า ทำหน้าที่ รับสินค้า จากเกษตรกร ไปให้ อย.และ ต.อ. ตรวจสอบ ให้แน่ใจ ก่อนนำไปส่ง ให้บริษัทภูมิบุญ ซึ่งทำหน้าที่ การตลาด นำสินค้า ไปจำหน่าย ที่สวนไผ่สุขภาพ

การทำงานนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ให้ปลดหนี้สินให้ได้ ในการยึดหัวหาด กสิกรรมไร้สารพิษ ไม่ต้องกลัวว่าผลผลิตจะล้นตลาด เพราะมีการเชื่อมโยง ระหว่างผู้ผลิต กับบริษัทขอบคุณ ว่าขณะนี้ ต้องการสินค้าชนิดใด จำนวนมากน้อยแค่ไหน ไม่มีการกดราคา เพื่อหวังกำไร มีตลาดรับซื้อ และนำไป จำหน่ายให้ หมดกังวลกับเรื่องดังกล่าว


๖ พ.ค. ธรรมรับอรุณ
"สิ่งที่ควรคำนึงที่สุดคือ เวลา แรงงาน ทุนรอน เป็นความสูญเสียที่มหาศาลที่สุด สำหรับคนโง่ หรือ คนอวิชชา

ทุกคนมีเวลาเท่ากัน แต่เราใช้เวลาเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์คุณค่า หรือใช้เวลาให้สูญเสีย ทุกคนมีแรงงาน ของตัวเอง แต่เอาแรงงานไปเสียบ้าๆบอๆ เอาไปทิ้งเสีย ไม่ได้สร้างสรรอะไรเลย ดีไม่ดี เอาไปสร้างกิเลส ให้แก่ตัวเองด้วย ดีไม่ดี เอาไปทำบาปด้วย นี้คือคนไม่คำนึง ซึ่งเราต้องศึกษา และจะต้องเข้าใจจริง

เรามาลงทุนเพื่อบุญ เพื่อกุศล เพื่อการสร้างสรร การที่พวกเรามารวมตัวจัดงาน พ.ฟ.ด.นี้ ลงทุนมิใช่น้อย แต่คุ้ม ขอยืนยันว่าคุ้ม จะจ่ายเป็นค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง ค่าข้าวของที่สูญเสียไป ค่าแรงงาน ที่เราต้อง มาลงทุน ลงแรงอย่างนี้ๆ เอาเวลาแรงงานมาที่นี่ แต่ที่นี่ก็มีการสร้าง การช่วยเหลือ แม้ไม่ได้ทำอะไร ก็มารวม เป็นมวล ดูคับคั่ง อบอุ่น งานก็ดูครึกครื้นดี

แรง ทุนรอน เวลา ถ้าเราเข้าใจ ว่าเราจะสูญเสียอย่างนี้ไปเพื่อสร้างกุศล เพื่อกอบก่อสิ่งที่ดี ถ้าเราเอา สิ่งเหล่านี้ มาลงทุน ที่จะสร้างสังคมอย่างนี้ขึ้น มันควรแก่การลงทุน คุ้มแสนคุ้ม เป็นกุศลโลกุตระ ไปสร้าง โลกุตรธรรม ให้แก่ตนเอง ซึ่งราคาสูง จนประมาณไม่ได้ เงินทองไม่ใช่ทรัพย์แท้ แต่กรรมที่เป็นกุศล และ อกุศล ทั้งโลกียะ และโลกุตระต่างหากเป็นทรัพย์แท้ คุณขนของมาขาย ขายอย่างบุญนิยม หรือ เอามาแจก คุณได้บุญโลกียะแล้ว แม้ว่าเอามาให้แล้ว ยังมีใจเสียดาย โลกุตระก็ได้บ้าง นิดหน่อย ไม่เต็ม แต่ของที่ คุณให้ไป ในราคาพันบาท คุณก็ได้โลกียะกุศลพันบาท คุณได้แล้ว แม้คุณจะหวงแหน

เรามาเรียนรู้โลกุตระ เราได้ทั้งโลกียะและโลกุตระ คุ้มขนาดไหน คุณมาเสียนี่แหละคุณมาได้ คุณได้สิ่งที่ คุณเสียสละ โลกทุกวันนี้ ต้องการ การเสียสละมาก เพราะคนมีแต่มอมเมายั่วยุกัน ทั่วโลกขณะนี้ สั่งสอนกัน ตั้งแต่ประถม-อุดมศึกษา สอนให้คนไปเอาเปรียบ..."

หลังทำวัตร ช่วยกันเก็บเต็นท์ เก็บหางของงาน ทุกอย่างคืนสู่สภาพปกติ เหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งกลายเป็น วัฒนธรรม อันดีงาม ของชาวอโศกมาถึงทุกวันนี้

๐๙.๐๐ น. รับพรก่อนจาก จากสมณะ-สิกขมาตุ รับประทานอาหารร่วมกัน แล้วแยกย้าย กลับสู่ภูมิลำเนา พร้อมกับ บุญโลกุตระ และโลกียะที่ได้มาร่วมเสียสละ ในงานครั้งนี้

ปีนี้ดูเหมือนว่าคนมาน้อย แต่เมื่อเทียบกับการจัดงานตลาดอาริยะที่นี่ในครั้งแรก ก็ยังนับว่ามากกว่า และมากกว่า งานครั้งที่ ๘ ที่ผ่านมา

กราบขอบพระคุณพ่อท่าน ท่านสมณะ-สิกขมาตุ ที่มาเป็นมิ่งขวัญกำลังใจให้กับงานนี้ ขอขอบพระคุณ ญาติธรรม ทุกท่าน และน.ร.สัมมาสิกขาปฐมอโศก ที่มาร่วมสร้างสรรสิ่งที่ดีให้กับสังคม แรงงาน ทุนรอน เวลา ที่ทุกท่าน เอามาลงทุน เพื่อร่วมกันจัดงานกสิกรรมไร้สารพิษ เพื่อฟ้าดินในครั้งนี้ ท่านได้บุญโลกียะแล้ว ส่วนบุญโลกุตระนั้น ของใคร ก็ของคนนั้น

กราบขอบพระคุณทุกท่านที่ทำกสิกรรมไร้สารพิษ วันนี้แม่ธรณีและเกษตรกรไทย (บางส่วน) พ้นขีดอันตราย ออกจาก ห้องไอ.ซี.ยู.แล้ว...

- - - คนติดดิน - - -

(สารอโศก อันดับที่ ๒๔๗ เมษายน ๒๕๔๕)