หน้าแรก>สารอโศก

กว่าจะถึงอรหันต์
พระเขมาเถรี



สาวงาม แปรเปลี่ยน เป็นเฒ่า
เข้าเฝ้า ศาสดา ได้ผล
เบื่อหน่าย คลายกาม กายตน
หลุดพ้น พานพบ นิพพาน

ในอดีตชาติ แต่โบราณกาลนานมา แล้ว พระเขมาเถรี เคยเกิดอยู่ใน ตระกูลเศรษฐี รุ่งเรืองด้วยทรัพย์สมบัติ และแก้วมณี มีค่ามากมาย อาศัยอยู่ในกรุงหังสวดี เพียบพร้อมไปด้วยความสุข

มีอยู่คราวหนึ่ง ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ฟังธรรมเทศนาแล้ว เกิดความเลื่อมใส อย่างยิ่ง จึงขอยึดเป็นที่พึ่ง ในพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น แล้วนิมนต์พระพุทธเจ้า กับพระสาวกทั้งหลาย เพื่อทำบุญ ถวายทาน และอาหาร อันประณีต ตลอด ๗ วัน เลยทีเดียว

วันหนึ่งนางได้พบเห็น พระปทุมุตตรพุทธเจ้า ทรงตั้งภิกษุณีองค์หนึ่ง ให้เป็นผู้เลิศ ทางปัญญา ยิ่งกว่าภิกษุณีทั้งปวง จึงบังเกิดจิตยินดี ปรารถนาได้เป็นเช่นนั้นบ้าง ได้ตั้งจิตอธิษฐาน ไว้ในใจ แล้วหมอบลง กราบพระพุทธเจ้า

ทันใดนั้นพระพุทธเจ้าตรัสขึ้นว่า "ความปรารถนาเธอจะสำเร็จ สักการะบูชา ที่เธอทำแล้วแก่เรา พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์ จะมีผลมาก เธอจะได้เป็นผู้เลิศยอดด้วยปัญญา เป็นภิกษุณีชื่อ เขมา ในสมัยของพระพุทธเจ้า
พระนามว่า สมณโคดม"

นับจากชาตินั้นมา เพราะอำนาจผลบุญต่างๆ ที่ได้กระทำไว้ ทำให้นางไปเกิด ในชาติใดๆ ก็ได้เป็น พระอัครมเหสี ของพระราชา มีทรัพย์มาก มีความสุขสบายมาก

กระทั่งได้เกิดในสมัยของพระพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี มีโอกาสบวชอยู่ ในพระพุทธศาสนา ประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยความเพียร เป็นพหูสูต (มีความรู้มาก) ฉลาดในปัจจยาการ (อาการที่เป็นเหตุ เป็นผลแก่กัน) คล่องแคล่วในอริยสัจ ๔ มีปัญญาละเอียดถี่ถ้วน แสดงธรรมไพเราะ ปฏิบัติตามสัตถุศาสน์ (พระพุทธพจน์)

ด้วยผลแห่งพรหมจรรย์ (ประพฤติ อริยมรรคองค์ ๘) นั้นนางได้ไปเกิดในชาติใด ก็เป็นผู้มีสมบัติมาก มีปัญญา รูปงาม มีบริวารเชื่อฟัง ไม่ว่าจะไปในที่ใด ก็ไม่มีใครๆดูหมิ่นเลย

ครั้นมาเกิดในสมัยของพระพุทธเจ้า พระนามว่า โกนาคมนะ นางได้ทำบุญมหาศาล ในกรุงพาราณสี ด้วยการถวายสังฆาราม แก่พระมุนี (นักบวชที่เข้าถึงธรรม) หลายพันรูป สร้างพระวิหาร ถวายแก่ พระพุทธเจ้า และหมู่สงฆ์

ต่อมา เมื่อได้มาเกิดในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ นางได้เป็น พระธิดาคนโตสุด ของพระเจ้ากาสี พระนามว่า กิกี ในกรุงพาราณสี ที่อุดมสมบูรณ์ ชาตินี้นางได้นามว่า สมณ

วันหนึ่ง มีโอกาสฟังธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วบังเกิดความยินดีพอใจนัก จึงขอบวช แต่พระราชบิดา ไม่ทรงอนุญาต นางจึงประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งแต่เป็นกุมารี (เด็กหญิงวัยรุ่น) ดำรงชีวิตอยู่ อย่างเป็นสุข คอยบำรุงดูแล แก่พระพุทธเจ้า และภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย

พอมาถึงยุคสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า สมณโคดม นางได้ชื่อว่า เขมา เพราะพอเกิดมาแล้ว ในราชสกุล แห่งกรุงสากละ แคว้นมัททะ ทำให้พระเจ้ามัททราช และชาวพระนคร มีแต่ความเกษม สำราญ ถ้วนหน้ากัน

เมื่อเติบโตเจริญวัยเป็นสาว ก็มีรูปสะสวยและผิวพรรณงดงาม ได้ไปเป็นพระเทวีของ พระเจ้าพิมพิสาร แห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ผู้ซึ่งถวายพระราชอุทยานเวฬุวัน เป็นสังฆาราม แก่พระศาสดา

ด้วยเหตุที่ พระนางเขมา มีรูปร่างงาม เป็นที่โปรดปราน ของพระราชสวามี พระนางจึงยินดีพอใจ ในการบำรุง รูปโฉมให้งาม และไม่พอใจ ที่จะฟังคนกล่าวถึง รูปที่น่ารังเกียจ หรือโทษภัยต่างๆ ของรูป พระนางจึงไม่เสด็จไปเฝ้า พระศาสดาเลย เพราะเกรงว่าพระศาสดา จะแสดงโทษ ของรูปให้ฟัง

พระเจ้าพิมพิสารทรงเล็งเห็นเช่นนั้น จึงมีพระประสงค์ จะช่วยเหลือพระนางเขมา รับสั่งให้ เหล่านักร้อง แต่งเพลงขึ้น พรรณาถึงความงดงาม ของพระเวฬุวันมหาวิหาร แล้วขับกล่อม ให้พระนางฟัง กระทั่ง พระนางเขมา เคลิบเคลิ้มว่า "พระมหาวิหารนี้ เป็นที่ประทับของพระศาสดา ช่างน่ารื่นรมย์ งดงามยิ่งนัก เป็นดุจดั่ง นันทวันอันเป็นสวนสวรรค์ ของพระอินทร์ ที่น่าเพลินชมมิรู้เบื่อ ผู้ใดหากได้เห็น พระมหาวิหาร ก็เสมือนได้เห็น นันทวัน เฉกเช่นเดียวกัน"

พระนางจึงทูลขอเสด็จไปชมพระมหาวิหารนั้น พระเจ้าพิมพิสาร ทรงดีพระทัยนัก รีบตรัสว่า
"เชิญชม พระมหาวิหารเวฬุวันเถิด เป็นที่สวยงาม สงบเย็นตาเย็นใจยิ่ง เปล่งปลั่งด้วยรัศมี ของพระผู้มี พระภาคเจ้า อันงามด้วยคุณ-ความดีทุกสมัย"

แต่พระนางรีบทูลทันทีว่า
"ในเวลาที่พระศาสดาเสด็จบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ เมื่อนั้นหม่อมฉันจะเข้าไปชม พระมหาวิหาร เพคะ"

แล้วเช้าวันหนึ่ง...เมื่อเหล่าภิกษุบิณฑบาต อยู่ในพระนคร พระนางเขมาจึงเสด็จชม พระมหาวิหาร มวลดอกไม้ กำลังแย้มบาน หมู่แมลงผึ้งบินว่อน ตอมดอกไม้ เสียงนกดุเหว่าร่ำร้อง ดังเสียงเพลง ประสานกับ นกยูงรำแพนหาง ราวกับฟ้อนรำ สงบสงัดจากความพลุกพล่านอื่น พบเห็นแล้ว รื่นรมย์ เย็นใจด้วยกุฎี (ที่อยู่ของพระ) และ มณฑปต่างๆ

ขณะเพลิดเพลินเที่ยวชมอยู่นั้น พระนางเขมาได้เห็นภิกษุหนึ่ง บำเพ็ญเพียรอยู่ ทรงดำริในใจว่า

"ภิกษุรูปนี้ อยู่ในวัยรุ่นหนุ่ม รูปงาม แต่กลับโกนศีรษะโล้น ครองสังฆาฏิ นั่งอยู่ที่โคนไม้ ละความยินดี ที่เกิดจาก อารมณ์ทั้งปวง แล้วเจริญฌาน (สภาวะสงบ อันประณีตยิ่ง) อยู่ มาปฏิบัติในป่า เช่นนี้ ช่างเหมือน กับคนอยู่ในความมืด เพราะธรรมดาแล้ว คฤหัสถ์ควรบริโภคกาม อย่างมีความสุข พอแก่แล้ว จึงค่อย
ปฏิบัติธรรม ให้เจริญงอกงาม ในภายหลัง"

คิดอย่างโลกีย์แล้ว ก็เสด็จไปชมพระคันธกุฎี อันเป็นที่ประทับของพระศาสดา ด้วยคาดว่า คงจะว่างเปล่า ไม่มีผู้ใดอยู่ ในช่วงเวลานั้น แต่กลับปรากฏว่า.... ได้พบเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับสำราญอยู่ พระศาสดา ก็ทรงเห็นพระนางเขมาเทวีเสด็จมา จึงทรงเนรมิต หญิงงามดังเทพอัปสร (นางฟ้า) ถวายงานพัด แด่พระองค์

ฝ่ายพระนาง จำต้องเข้าเฝ้า แล้วบังเกิดความคิดขึ้นว่า
"พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงองอาจกว่าใครทั้งปวง มิได้มีความเศร้าหมองใดๆเลย ก็แล้วยังมีสาวงาม ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ดังทองคำ รูปร่าง สวยงดงาม ดูแล้วเป็นที่น่ายินดีพอใจนัก ยิ่งมองยิ่งชม ยิ่งไม่เบื่อตาเลย โอ...หญิงสาวนางนี้ ช่างรูปงามเหลือเกิน เราไม่เคยเห็นใครงาม เช่นนี้มาก่อนเลย

แต่...ขณะนั้นเอง สาวงามนั้นพลันมีสภาพเปลี่ยนไป กลายเป็นหญิงชรา ผิวพรรณเหี่ยว ย่นทั้งตัว ผมก็หงอกฟันก็หัก น้ำลายไหลยืด ตาขาวฝ้าฟาง หูตึง นมหย่อนยาน หลังงอกายซูบผอม ตัวสั่นงันงก แม้มีไม้เท้า ก็พยุงไม่ไหว ล้มลงกองอยู่ที่พื้นดิน แล้วหอบหายใจถี่ ประหนึ่งจะขาดใจตาย"

ความสังเวชใจที่ไม่เคยปรากฏแก่ พระนางเลยนั้น บัดนี้บังเกิดขึ้นแล้ว ทำให้พระนาง ขนลุกชูชัน เห็นในโทษ ของรูปกาย ที่พวกคนพาล (โง่เขลา) หลงยินดีกันอยู่

พระศาสดาทรงทราบวาระจิตของพระนางแล้ว จึงได้ตรัสด้วยพระกรุณาว่า
"ดูก่อนพระนางเขมา เชิญดูร่างกายอันกระสับกระส่าย ไม่สะอาด โสโครก มีของเหลว ไหลเข้า-ถ่ายออก ที่บรรดาคนพาลยินดีนัก

จงอบรมจิตให้เป็นสมาธิ (จิตตั้งมั่น) มีอารมณ์เดียว โดยอาศัยอสุภารมณ์ (อารมณ์ที่เห็น เป็นสภาพ น่ารังเกียจ) เถิด

จงมีกายคตาสติ (สติในการพิจารณากาย เพื่อลดละกิเลส)

รูปกายหญิงนี้ เป็นฉันใด รูปกายของเธอ ก็เป็นฉันนั้น

รูปกายของเธอเป็นฉันใด รูปกายของหญิงนี้ก็เป็นฉันนั้น

จงคลายความพอใจกายนี้ ทั้งภายในและภายนอกเสียเถิด

จงอบรมอนิมิตตวิโมกข์ (ความหลุดพ้นที่เกิดจากปัญญา พิจารณาเห็นนามรูป โดยความ เป็นอนิจจัง)

จงละมานานุสัย (ความถือตัว ที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน)เสีย แล้วเธอจะเป็นผู้สงบได้

เพราะคนใด ถูกความกำหนัดด้วยราคะ เกาะติดอยู่ ย่อมเป็นเสมือนแมงมุม เกาะติดใยที่ทำไว้เอง แต่ถ้า หากคนใด ตัดราคะให้ขาดเสีย ไม่มีความอาลัย ละกามสุขไป ย่อมหลุดพ้นได้"

พระศาสดาตรัสจบตรงนี้แล้ว ทรงรู้ว่า พระนางเขมาเทวี มีจิตควรแล้ว จึงทรงแสดง มหานิทานสูตร ว่าด้วยเรื่องของ ความเวียนตายวนเกิด เพราะวิญญาณและนามรูป เป็นปัจจัย ของกันและกัน กระทั่งตรัสถึง ความหลุดพ้น ด้วยสมาธิ และปัญญา

พระนางเขมาได้ฟังสูตรอันประเสริฐนี้แล้ว ระลึกถึงสัญญา (ความทรงจำ) แต่เก่าก่อน ได้บังเกิด ดวงตาเห็นธรรม ทันที ดังนั้น จึงหมอบลงที่แทบพระบาท ของพระศาสดา แสดงโทษของตนว่า

"ข้าแต่พระองค์ ผู้ทรงเห็นแจ้งในธรรมทั้งปวง ผู้มีพระมหากรุณาเป็นที่ตั้ง ผู้เสด็จข้ามสงสารแล้ว ผู้ประทานอมตธรรม หม่อมฉันขอถวาย นมัสการแด่พระองค์

หม่อมฉันเกิดจิตแล่นไป สู่ทิฐิอันรกชัฏ หลงใหลไป เพราะกามราคะ แต่พระองค์ทรงช่วยแนะนำ ด้วยอุบาย อันประเสริฐ หม่อมฉันขอ แสดงโทษ ที่มัวเมายินดี อยู่ในรูปกาย แล้วระแวงว่า พระองค์ไม่ทรงเกื้อกูล คนทั้งหลาย ที่ติดอยู่ในรูป จึงมิได้มาเข้าเฝ้าพระองค์ ผู้ทรงเกื้อกูลมาก ผู้ทรงประทานธรรม อันประเสริฐ หม่อมฉัน ขอแสดงโทษนั้น"

"สาธุ! พระนางเขมา จงลุกขึ้นมาเถิด"

พระนางก็กระทำตามนั้น แล้วประณมมือนมัสการด้วยเศียรเกล้า กระทำประทักษิณ (แสดงความเคารพ ด้วยการเดินเวียนขวา ตามเข็มนาฬิกา) พระองค์แล้ว ก็เสด็จกลับไปเฝ้า พระเจ้าพิมพิสาร กราบทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ ผู้ทรงชนะข้าศึก น่าชมอุบาย อันเป็นกุศลยอดเยี่ยมนั้น ที่พระองค์ทรงดำริแล้ว ให้หม่อมฉัน ปรารถนาไปชม พระมหาวิหารเวฬุวัน ได้เข้าเฝ้าพระศาสดา บัดนี้ถ้าพระองค์ จะทรงพระกรุณา โปรดให้หม่อมฉัน ผู้เบื่อหน่ายในรูป ตามที่พระพุทธองค์ ตรัสสอนแล้ว ขอบวชอยู่ในพุทธศาสนานี้ เพคะ"

"ดูก่อนพระน้องนาง พี่อนุญาต บรรพชาจงสำเร็จแก่เธอเถิด"

เมื่อภิกษุณีเขมาบวชแล้ว ๗ เดือน ขณะบำเพ็ญเพียรอยู่นั้น วันหนึ่งเพ่งมองดูโคมไฟ ที่เดี๋ยวก็จุดสว่างไสว เดี๋ยวก็ดับวูบไป จึงบังเกิดจิตสังเวช พิจารณาเบื่อหน่าย ในสังขารทั้งปวง เข้าใจในปัจจยาการนั้น ข้ามพ้นโอฆะ ๔ (กิเลสที่ท่วมทับใจ หมู่สัตว์โลก คือ ๑. กาม ๒. ภพ ๓. ทิฎฐิ ๔. อวิชชา) ได้แล้ว บรรลุธรรม
เข้าสู่สภาพ อรหัตตผล ในทันทีนั้น

พระเขมาเถรีเป็นผู้มีความชำนาญในอภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทา ๔ ฉลาดในวิสุทธิทั้งหลาย (ความบริสุทธิ์ หมดจด ในศีล - ในจิต - ในทิฏฐิ) คล่องแคล่วในกถาวัตถุ (ถ้อยคำที่ควรพูด) รู้จักนัย (ข้อสำคัญ) แห่งอภิธรรม (ธรรมที่ก่อประโยชน์สูงสุด ที่ว่าด้วยจิต - เจตสิก - รูป - นิพพาน)

แล้ววันหนึ่ง...ขณะที่พระเขมาเถรีนั่งพักอยู่ บริเวณโคนไม้แห่งหนึ่ง มารผู้มีบาป (กามสัญญา) เข้ามา ดลจิตว่า

"แม่นางเขมาเอย เจ้าก็ยังเป็นสาวสะคราญ มีรูปโฉมงดงาม แม้หนุ่มๆวัยรุ่นทั้งหลาย ก็หมายร่วมอภิรมย์ด้วย จงไปเถิด ไปร่วมรื่นรมย์ เคล้าเสียงดนตรี ทั้งหลายกันเถิด"

พระเขมาเถรีมิได้หวั่นไหวแต่อย่างใดเลย ตอบโต้ด้วยอาการสงบเย็นว่า
"มาร...เราอึดอัดระอาในกายอันเปื่อยเน่า กระสับกระส่าย มีความแตกดับไป เป็นธรรมดานี้ เราถอน กามตัณหา ได้หมดแล้ว กามทั้งหลาย อุปมาดั่งหอก และหลาว ทิ่มแทงขันธ์ทั้งหลาย เอาไว้นั้น บัดนี้ ความยินดี ในกามทั้งสิ้น ไม่มีแก่เราแล้ว เรากำจัด ความเพลิดเพลิน ในสิ่งทั้งปวงแล้ว ทำลายกอง แห่งความมืดแล้ว

ดูก่อนมารใจบาป เจ้าจงรู้ไว้อย่างนี้ เรากำจัดเจ้าแล้ว เรามิใช่พวกคนพาล ที่ไม่รู้ความเป็นจริง พากัน กราบไหว้ ดวงดาว บูชาไฟอยู่ แล้วสำคัญว่า เป็นความบริสุทธิ์ แต่เรากราบไหว้บูชา ทำตามคำสั่งสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจึงพ้น จากทุกข์ทั้งปวง เผากิเลสทั้งหลายสิ้น กิจในพระพุทธศาสนา เราได้กระทำเสร็จแล้ว"

มารมิอาจทำได้ดังปรารถนา จึงหายวับไปในทันใด

ต่อมา...พระเขมาเถรีเที่ยวจาริกไปในแคว้นโกศล แวะพักอยู่ที่โตรนวัตถุ(ค่าย) แห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่าง กรุงสาวัตถี กับเมืองสาเกต

ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปหาพระเขมาเถรีถึงที่พัก เพราะได้ยินชื่อเสียง อันฟุ้งขจรไป ของพระเถรีรูปนี้ว่า
"พระเขมาเถรีเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญามาก เป็นพหูสูต มีถ้อยคำไพเราะ มีปฏิภาณดี"

พระองค์ได้ตรัสถามปัญหาว่า
"ข้าแต่แม่เจ้า เมื่อสัตวโลกตายแล้ว เบื้องหน้าย่อมเกิดอีก หรือไม่เกิดอีก หรือเกิดอีกก็มี และไม่เกิดอีกก็มี หรือ เกิดอีกก็มิใช่ และ ไม่เกิดอีกก็มิใช่"

"ขอถวายพระพร ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์"

"ข้าแต่แม่เจ้า ก็แล้วอะไรเล่า เป็นเหตุสำคัญให้พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้"

"ขอถวายพระพร อาตมภาพขอถาม มหาบพิตรบ้าง มหาบพิตร มีนักคำนวณ นักประเมิน หรือ นักประมาณ ก็ตาม จะสามารถ คำนวณทราย ในแม่น้ำคงคาไหมว่า ทรายมีประมาณเท่านี้ ร้อยเม็ด...พันเม็ด... หมื่นเม็ด... แสนเม็ด.."

"ไม่มีนักคำนวณเช่นนั้นได้เลย แม่เจ้า"

"แล้วมหาบพิตร จะมีนักคำนวณ ซึ่งสามารถคำนวณน้ำในมหาสมุทรว่า น้ำมีอยู่เท่านี้ อาฬหกะ (มาตราตวง ชนิดหนึ่ง) ร้อย... พัน... หมื่น... แสนอาฬหกะ....."

"ไม่มีเลย แม่เจ้า"

"นั่นเพราะเหตุไรเล่า มหาบพิตร"

"เพราะมหาสมุทรเป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้ยาก"

"ฉันนั้นแล มหาบพิตร การกำหนด ความเกิดของสัตว์โลกนั้น เป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้ยาก ดุจมหาสมุทรฉันนั้น"

"พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพอพระทัย ในคำตอบยิ่งนัก อนุโมทนาภาษิตนั้น แล้วเสด็จลุกจากอาสนะ ไหว้พระเถรี ทรงกระทำประทักษิณ แล้วเสด็จจากไป

ต่อมา...พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วตรัสถามปัญหาเหล่านั้นอีก พระศาสดา ก็ทรงตอบ เช่นเดียวกับ พระเขมาเถรี ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศล ถึงกับทรงอุทานว่า

"อัศจรรย์จริง ไม่เคยมี พระเจ้าข้า ที่เนื้อความกับเนื้อความ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของพระศาสดา กับพระเขมาเถรี ในการตอบปัญหานี้ เทียบเคียงกันได้ สมกันได้ ไม่ผิดเพี้ยนกัน ในบทที่สำคัญเลย น่าอัศจรรย์นัก"

พระศาสดาก็ทรงพอพระทัยในปัญญาของพระเถรีนี้ จึงทรงแต่งตั้ง พระเขมาเถรี ไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมพิเศษ ในทางใดทางหนึ่ง)

"พระเขมาเถรี เป็นผู้เลิศด้วยปัญญามาก เหนือกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาของเราทั้งปวง เป็นดังตราชู มาตรฐาน ของภิกษุณีสาวิกา ของเราทีเดียว"

- ณวมพุทธ -
อาทิตย์ ๒ มิ.ย.๒๕๔๕

(พระไตรปิฎกเล่ม ๑๘ ข้อ ๗๕๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๑๕๐,๓๗๖ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๔๕๓ พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๑๕๘ อรรถกถาแปล เล่ม ๕๔ หน้า ๒๑๔)

(สารอโศก อันดับที่ ๒๔๘ พฤษภาคม ๒๕๔๕)