หน้าแรก>สารอโศก

สานฝันกู้ดินฟ้า


แม้ว่าอาหารจะเป็นหนึ่งในโลก แต่ถ้าหากสภาพผืนดินเป็นดินที่ขาดการบำรุง ให้เกิดความสมดุล ทางระบบนิเวศน์ ทั้งคนและสัตว์ ก็ไม่อาจมีอาหารไว้ บริโภคกันต่อไป เพราะฉะนั้น ดินมีชีวิต -ทุกอย่างมีชีวิต ดินตาย-ทุกอย่างก็ตาย

ฉบับนี้มะเหมี่ยวจะพาท่าน ผู้อ่านไปสัมผัสกับกลิ่นไอ ของธรรมชาติ กับครอบครัว ชาวสวนชาวไร่ ที่ดำรงไว้ ซึ่งผืนดิน อันอุดมสมบูรณ์ จากรุ่นปู่ย่า จวบจนปัจจุบัน และจะยังดำรงคงไว้ ซึ่งการสืบทอดแผ่นดิน ที่ไม่ใช้
สารพิษ สารเคมีเลย นั่นคือครอบครัว คุณป้ากฤษติยา หรือที่ชาวอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท รู้จักกันในนาม 'ไร่ป้ากฤษ '


ถาม - เคล็ดลับในการปลูกมะปราง ไม่เปรี้ยวทำอย่างไรคะ ?
ตอบ - ไม่ได้มีเคล็ดลับอะไรหรอก เพียงแต่ให้ความสำคัญเรื่องดิน เพราะทั้งพืชผักและ ผลไม้ที่นี่ จะไม่ทิ้ง ไปไหน นำเศษพืช เศษผลไม้เหล่านั้น กลับคืนไปให้แผ่นดิน ซึ่งสวนป้านี้ สืบทอดกัน มานาน เป็น ๑๐ ปีแล้ว ที่ไม่ใช้สารเคมี จึงทำให้มะปราง ที่นี่หวาน

ถาม - จัดสรรระบบน้ำอย่างไรคะ สำหรับพื้นที่เกือบ ๑,๐๐๐ ไร่ ?
ตอบ - สวนป้าจะมีร่องน้ำที่เชื่อมกันนะคะ และต่อท่อเพื่อฉีดเวลามะปรางออกดอก ในร่องน้ำ ก็ตัดต้นกล้วย ทิ้งลงไป ทั้งใบไผ่ ขุยไผ่ สังเกตดูนะคะ บริเวณสวนเราจะปลูกต้นไผ่ไว้เป็นระยะ และข้อสังเกต อีกอย่างคือ ตามร่องน้ำ ซึ่งเรานำทั้งต้นกล้วย ใบไผ่หรือพืชต่างๆทิ้งลงไป มันก็จะทำปฏิกิริยากัน เหมือนกับทำปุ๋ยหมัก แต่เราใช้กลไก ทางธรรมชาติ จัดสรรเอง และปรับสภาพเอาเอง

ถาม - มีสูตรเฉพาะที่ทำให้มะปรางหวานไหมคะ ?
ตอบ - คนสวนสมัยโบราณเท่านั้นที่จะรู้สูตรนี้ เพราะใช้ปุ๋ยคอก ขี้ค้างคาว แกลบดำ ก็จะทำให้หวาน และเป็นหวาน แบบธรรมชาติ อย่างเช่น มะปรางมะยงชิด จริงๆเป็นมะปรางเปรี้ยว แต่ดินที่สวนเรา และสูตรปุ๋ยของเรา ทำให้เปลี่ยนจากรสเปรี้ยว มาเป็นรสหวาน และผิวมะปราง ของสวนเรา ผิวก็จะเกลี้ยงสวย สวนที่ฉีดสารเคมี ผิวมะปรางจะไม่เกลี้ยง ไม่สวย

ถาม - เพราะอะไรคะถึงได้ซื้อที่ดินไว้มากๆ ?
ตอบ - เป็นคนที่มองการณ์ไกลค่ะ เพราะแผ่นดินมีจำกัด แต่ประชากรเพิ่มมากขึ้น สมัยก่อน ทำโครงการ
หมู่บ้าน ได้กำไรก็จะมาซื้อสวนไว้ คนอื่นเขาไปซื้อหุ้น แต่พวกเราไม่ชอบ มาซื้อสวนทิ้งไว้ดีกว่า

ถาม - นอกจากมะปรางที่มีชื่อแล้ว ในสวนปลูกอะไรอีกคะ ?
ตอบ - หลายอย่างค่ะ อย่างมะม่วงที่สวนเรานะคะ บางต้นมีอายุเป็นร้อยปีแล้ว ลำใย ลิ้นจี่ น้อยหน่า ขนุน ผลไม้แทบทุกชนิด เราปลูกผสมกันไป เพราะว่าต้นไม้เขาจะอยู่กัน พึ่งพาอาศัยกัน ตามธรรมชาติ และสวนเรา ปลูกไม้ป่า แซมลงไปด้วยค่ะ

ถาม - ขยายพันธ์ต้นไม้อย่างไรคะ ?
ตอบ - เมล็ดผลไม้เราจะทิ้งไว้รอบบ้าน พอมันขึ้น เราก็ใส่ถุงแล้วไปเสียบพันธุ์ต่อ โดยวิธีการใช้ ตอน้ำเลี้ยง คือวิธีการ ทาบกิ่งนั่นเอง ต้นไม้ในสวนเรา จึงต้นใหญ่ และไม่โค่นล้ม แม้พายุ จะแรงก็ตาม

ถาม - มีปัญหาเกี่ยวกับวัชพืชไหมคะ ?
ตอบ - ไม่มีค่ะ เพราะหญ้าที่ขึ้นตามสวนของเรา เราก็ใช้วิธีตัดหญ้าคลุมดินไว้ตลอด กันดินแห้ง ให้ดิน ชุ่มชื่นตลอด ถ้าถางแห้งเตียนก็จะทำให้ดินกระด้าง ชาวสวนไร่ข้างๆเขาใช้ยาฆ่าหญ้า ใช้สารเคมี แต่รสชาติ และผลผลิต ก็ได้ไม่เท่าสวนของเรา เขาก็มาถามวิธีการ เราก็บอกเขาไป เขาก็กลับไปทำ

ถาม - ผลไม้หวานย่อมมีแมลง แล้วไล่แมลงอย่างไรคะ ?
ตอบ - เราใช้วิธีการธรรมชาติทุกอย่างค่ะ เราใช้สะเดา ทั้งใบ ดอก และเมล็ด นำมาหมัก เราจะหมัก เป็นแท้งค์ใหญ่ๆ นั่นแหละค่ะ พอสัก ๑-๒ เดือน ก็นำน้ำหมักสะเดา มาฉีดพ่น เพื่อไล่แมลง

ถาม - ทราบวิธีการแบบนี้อย่างไรคะ ?
ตอบ - คนสมัยโบราณเขาก็มีการบอกการสอนสืบทอดกันมา โดยเฉพาะชาวสวนชาวไร่ เขาจะสอนกัน สืบมา เราก็นำความรู้ ที่ได้มาปรับให้เข้า กับสภาพดินฟ้าอากาศ สังเกตการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้น ธรรมชาติ มีแต่ให้ค่ะ ไม่เคยทำร้ายคน ยกเว้นว่า คนเราเอง ไปทำลายธรรมชาติ

ถาม - ทราบว่าลูกๆจบปริญญาตรี โท เอก กันเหรอคะ ?
ตอบ - ใช่ค่ะ เพราะต้องการส่งลูกให้เรียน เพื่อนำความรู้เหล่านั้น มาบริหาร สวนผลไม้ ของครอบครัว ทุกๆคนที่ไปเรียนจบแล้วก็มาทำงานเป็นชาวสวนค่ะ เพราะชาวสวนชาวไร่ จะถูกหลอกง่าย เนื่องจาก ศึกษามาน้อย และลูกๆก็ชอบ เป็นชาวสวนค่ะ อิสระไม่ต้องไปรับใช้ พวกนายทุน ลูกคนโต ตอนนี้ไปต่อ ปริญญาเอก ด้าน MBA (Management Business Administration) เพื่อจะทำผลไม้ ส่งออกนอกค่ะ และอีกคน ทำปริญญาโท ด้านคอมพิวเตอร์ ที่ต่างประเทศ

ถาม - บริหารการตลาดอย่างไรคะ ?
ตอบ - เรามีร้านค้าของเราเองที่หน้าบ้าน(กทม.) และไม่มีการส่งตลาดสี่มุมเมืองหรือ ตลาดไทย คนเขารู้ เขาก็มารับซื้อเอง ที่สวนที่ไร่เรา และหน่วยงานราชการ จะรู้จักสวนผลไม้เรา แทบทุกหน่วยงาน และ เขาก็มั่นใจ ด้วยค่ะ

ค่ะ นั่นเป็นครอบครัวสมัยใหม่ แต่อนุรักษ์ธรรมชาติให้สืบทอดต่อมาถึงรุ่นลูก นอกจากจะอนุรักษ์แล้ว ยังประยุกต์ วิชาการสมัยใหม่ ไปปรับใช้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทียบทัน ระดับประเทศ

แล้วท่านผู้อ่าน ละคะ ปรับเปลี่ยนความคิด พฤติกรรม ให้หันมาอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่นับวัน จะเหลือน้อย เต็มทีรึยังคะ อยากทันสมัย ต้องร่วมใจกัน อนุรักษ์ ขอให้สุขภาพดี ทุกท่านค่ะ

* มะเหมี่ยว *

(สารอโศก อันดับที่ ๒๔๙ มิถุนายน ๒๕๔๕)