หน้าแรก>สารอโศก


เข้าพรรษา'๔๕
หลายศพบนเชิงตะกอน
เตือนเราว่า เวลาชีวิตหมดลงแล้ว
หลายคนในโรงพยาบาลเจ็บป่วย และพิการ
เตือนเราว่า โอกาสทองของชีวิตผ่านไปแล้ว
อย่าประมาท ปล่อยให้โอกาสดีๆในชีวิตหลุดลอยไป
โดยไม่จับคว้าเอาไว้ เพราะเมื่อมันผ่านไป
เราได้แต่เสียดาย เสียใจ กับความรู้สึกที่สายเกินไป
กาลสมัยแห่งการเข้าพรรษาเวียนมาถึง
เปิดโอกาสดีๆผ่านเข้ามาในชีวิต....อีกครั้ง
ให้เราฉกฉวย ด้วยตบะธรรม หรรษาพาสนุก
ฝึกหัดละลดความติดยึดในความไม่ดีต่างๆ
ฝืนกระทำความดี ให้ติดเป็นนิสัย
สร้างความอดทน เสริมศักยภาพชีวิตให้แข็งแกร่ง
ทนทานต่อทุกกระแสที่ผันผวนได้
อย่างหนักแน่น อย่างมีความสุข

 

 

 


ปัจจุบันจารีตประเพณีในการเข้าพรรษา ยังมีผลต่อชาวพุทธอยู่หรือไม่อย่างไรคะ?
มีผล เพราะยังมีคนตั้งใจอยู่เหมือนกัน เท่าที่เห็นๆ คนเขาก็ยังรู้สึกว่า เป็นระยะเวลาที่เขาควรสังวร โดยตั้งตบะหรือตั้งศีลให้แก่ตน ว่าฉันจะเลิกอบายมุขอย่างนี้ ฉันจะประพฤติดี ฉันจะไม่ประพฤติสิ่งที่ไม่ดี หรือฉันจะปฏิบัติตนให้เจริญขึ้น ในทางศีลธรรมต่างๆนานา ชาวพุทธที่ทำอย่างนี้ยังมีอยู่ เพียงแต่จะมีมาก หรือมีน้อย ไม่ได้ตรวจสถิติกันเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นเข้าพรรษาจึงยังมีผลต่อมนุษยชาติ ต่อสังคม อย่างน้อย ก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แม้จะยังไม่เป็นผล ในทางปรมัตถ์ จนพ้นสีลัพพตุปาทาน พ้นสีลัพพต ปรามาส โดยปฏิบัติไปตามศีล ตามพรตอย่างโลกีย์ หรืออย่างไม่เป็น สัมมาทิฐิ ทีเดียวก็ตาม แต่ก็มีผลแน่

ส่วนพวกเรานั้นแน่นอน เมื่อถึงเวลาเข้าพรรษา สมณะก็อยู่ประจำพุทธสถาน ตามแหล่งชุมชนต่างๆ เป็นกอบเป็นกำ เป็นกฎ เป็นหมู่ และก็อยู่กันอย่างเป็นหลักเป็นฐาน ทุกครั้งที่เข้าพรรษา เรามักจะมี การเคี่ยวกรำกัน มีการเอาใจใส่ ปฏิบัติประพฤติอะไรกันมากขึ้น อย่างที่เราเคยทำกัน มาตลอด ซึ่งมันก็ทำให้ ดีขึ้นแน่นอน ยิ่งเรามีสัมมาทิฐิในการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุติญาณทัสนะ มันจะเกิด วิมุติหรือไม่ ปัญญา จะเป็นปัญญาญาณหรือไม่ ถ้ามันเป็นก็เป็นวิมุติ เป็นวิมุติญาณทัสนะ ขึ้นมาอย่างแท้จริงแน่ ยิ่งมีสัมมาทิฐิ ก็แน่นอน อย่างที่กล่าวแล้วว่า ย่อมมีผลสูงขึ้นกว่าเดิมทุกครั้งๆไป

ถ้าเราปฏิบัติธรรมช่วงเข้าพรรษา จะมีแรงพิเศษอะไรมาเสริมมาหนุนหรือไม่คะ?

ถ้าพูดให้ละเอียดๆแล้วละก็ ในกาละเข้าพรรษา ที่เรากำหนดจนเป็นที่รู้เรื่องกันทั่วๆไป มันจะเป็นพลังหมู่ เป็นพลังมวล อย่างน้อยหลายคนร่วมกันกระทำ มันจะชักจูงให้เกิดพลังรวม ที่สามารถจะมีผล ในเชิง สร้างสรรก็ตาม ในการละหน่าย คลายก็ตาม เป็นผลที่จะช่วยได้จริงๆ เพราะฉะนั้น แม้แต่ในรูปธรรมก็ช่วย ยิ่งในมวล ในหมู่นั้น เอาจริง เอาจัง ก็ยิ่งเสริม ยิ่งมีผู้นำดี มีสิ่งแวดล้อมดี มีอะไรต่างๆนานา ก็ย่อมมีผลดี ยิ่งๆขึ้นอีก อย่าว่าแต่วันเข้าพรรษา แม้ในวันนักขัตฤกษ์ หรือในโอกาสต่างๆนานา ที่เป็นจุดจูงใจ ไม่เอาอะไรมาก เช่น วันนี้เป็นวันเกิดของเรา เราก็ตั้งใจทำดี หรือตั้งใจจะทำอะไรใหม่ๆ เป็นต้น

คนที่ฉลาดจะใช้กาละเวลา หรือใช้โอกาสที่เป็นจุดเล็กๆน้อยๆให้เป็นจุดสำคัญ เพื่อทำให้เรา มีความตั้งใจ หรืออธิษฐาน ที่จะทำให้อะไรมันดียิ่งขึ้น ให้เจริญยิ่งขึ้น จนเป็นผลจริงๆ

สีลัพพตุปาทาน กับ สีลัพพตปรามาส มีความหมายต่างกันอย่างไร?
ทุกวันนี้แยกไม่ออกระหว่าง สีลัพพตุปาทาน กับ สีลัพพตปรามาส สีลัพพตุปาทาน คือการยึดในศีล หรือ อุปาทานในศีล ยึดได้แค่ศีล หรือแค่ภาคปฏิบัติ ที่ครูบาอาจารย์ ทำตามจารีตประเพณี สืบต่อกันมา ตามที่รู้ๆกัน ทั้งที่มันผิดเพี้ยนแล้ว ไม่เป็นสัมมาแล้ว อาจจะเคร่งครัดก็ได้ แต่ไม่เป็นสัมมาทิฐิ สรุปแล้วก็คือ ปฏิบัติตามๆกัน อย่างผิดๆ อย่างไม่เป็นสัมมาทิฐิ เพราะฉะนั้น มันก็ได้ผลเฉพาะแต่กดข่ม ไปชั่วคราว ซึ่งก็อาจมีผลบ้าง ทางสมถะ ทำให้เราได้อดทน อดกลั้นบ้างพอสมควร ตามช่วงระยะเวลา ที่กำหนด แต่พอพ้นจาก เวลาที่กำหนด ก็กลับมาบำเรอกิเลสอีก ยิ่งทำหนักกว่าเก่า จนต้องเรียกว่า ขอตกเบิก อะไรอย่างนี้ มันกลับกลายเป็นว่า ยิ่งทำให้จิตอดอยาก เหมือนคนที่ตายอด ตายอยาก แล้วมาเจอใหม่ ก็ขอตกเบิก มากกว่าเก่าก็ได้ เพราะไม่ได้ปฏิบัติ อย่างเป็นปรมัตถธรรม อย่างเป็นสัมมาทิฐิที่แท้จริง

ส่วนสีลัพพตปรามาส หมายความว่า ปฏิบัติศีลปฏิบัติพรตอย่างปรามาส ปรามาสแปลว่าลูบๆคลำๆ จับๆจดๆ ทำอย่างไม่จริงไม่จัง เหลาะๆแหละๆ ทำอย่างหลวมๆ ยังไม่ถึงมรรคถึงผล เพราะฉะนั้น สีลัพพตปรามาสนั้น ผู้ปฏิบัติอาจจะสัมมาทิฐิได้แล้ว สำหรับคนๆนี้ แต่ตัวเองปฏิบัติไม่จริงจัง ลูบๆคลำๆ เหยาะๆแหยะๆ จับๆจดๆ เล่นๆหัวๆ ดังนั้น แม้จะสัมมาทิฐิ แต่ปฏิบัติไม่เข้าถึงขั้นมรรค ขั้นผลจริงๆ

ผู้ที่จะพ้นสีลัพพตปรามาส จึงได้แก่ผู้ที่ทำจริงจัง และผ่านสีลัพพตุปาทานมาก่อนแล้ว คือ พ้นมิจฉาทิฐิมาแล้ว เมื่อมาปฏิบัติจึงทำให้สักกายทิฐิลดได้ เมื่อเรารู้สักกายะ รู้จักตัวตนของกิเลส และ ลงมือปฏิบัติ จนพ้นวิจิกิจฉา เพราะฉะนั้นสังโยชน์ ๓ จึงคือการพ้นสักกายทิฐิ พ้นวิจิกิจฉา
พ้นสีลัพพตปรามาส ผู้ใดรู้จักสักกายทิฐิอย่างไม่สงสัยลังเล ชัดเจนในปรมัตถ์ ในจิตเจตสิกต่างๆ ชัดเจน ในภาคปฏิบัติ โพธิปักขิยธรรม แล้วก็ปฏิบัติ อย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่อย่างลูบๆคลำๆ จับๆจดๆ อย่างปรามาส

เมื่อสามารถปฏิบัติศีลพรต อย่างพ้นสภาพปรามาส จึงจะมีมรรคมีผลได้ เมื่อละได้จริง ก็จะเป็น ผู้พ้นสังโยชน์ ๓ เป็นพระอาริยบุคคล ตั้งแต่โสดาปัตติมรรค ขึ้นไป

บางทีการปฏิบัติธรรมมักจะมีคำพูดกันว่า 'ช่องว่างระหว่างวัย' ?
ช่องว่างระหว่างวัยที่พูดกัน ใครก็ตามที่เข้าใจสัจธรรม มันมีอะไรที่แตกต่าง มีอะไรที่ห่างกัน ในช่วงนั้น ช่วงนี้ อะไรก็แล้วแต่ จะห่างมากห่างน้อย หรือแตกต่างกันมาก แตกต่างกันน้อย มันมีช่วงที่ไม่เสมอสมานกัน หรือ ไม่เท่ากันอยู่แล้ว อันนี้เป็นธรรมชาติ เพราะฉะนั้น เราอย่าตราลงไป โดยเอาคำว่า "ช่องว่าง" เข้าไปคั่น ให้แยกกัน อย่าไปตอกย้ำ ให้คำว่า "ช่องว่าง" มันเลวร้ายขึ้น การไปจำนนต่อคำว่า 'ช่องว่าง' นี่ไม่ถูกต้อง เพราะทำให้เกิด การแตกร้าว หรือความระแวงขึ้นไปเรื่อยๆ สภาพของคนจนกับคนรวย มันมีความจริง ที่ต่างกันอยู่แล้ว แต่ทำอย่างไร แม้คนรวยคนจน เราก็สมานกันได้ ด้วยอะไรก็แล้วแต่ อาจจะด้วยน้ำใจ หรือ ด้วยกรรมกิริยา ยิ่งมีการเกื้อกูล ด้วยเงินทอง หรือด้วยอะไรอีกก็ตาม ก็จะช่วยลดช่องว่าง ได้ดีขึ้น หรือคำว่า 'ช่องว่างระหว่างวัย' แน่นอน ต้องมีคนต่างวัย ทั้งวัยเด็ก วัยโต วัยแก่ สัจจะความจริงอันนี้ เป็นธรรมชาติ อยู่แล้ว เด็กก็เป็นอย่างเด็ก แต่ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจเด็กให้ได้ แล้วก็ประสานกันให้ได้ สัมพันธ์กันให้ได้ สัมมาคารวะกันให้ได้ ไม่ใช่จำนนเลยว่า ตกลงปล่อยไป ใครจะบ้าก็ช่าง เรื่องคนละกลุ่ม คนละพวก ไม่ดูดำดูดีอะไรกัน แบบนี้ยิ่งแตกร้าว มันยิ่งขยายช่องว่างให้ยิ่งร้าวฉาน สร้างผลเสียหาย เข้าไปทุกที

เราต้องแก้ความเข้าใจผิดเสียใหม่ ให้เป็นการตั้งใจให้ถูก เข้าใจให้ถูก อย่าให้เกิดปัญหา'ช่องว่าง' ปัญหาที่ความแตกต่าง เราสามารถจะสร้างสรรพฤติกรรม และ จิตวิญญาณ ของมนุษย์ ให้มันเกิด ความไม่เสียหาย ในสิ่งที่ต่างกัน หรือไม่เท่ากันได้ อยู่ด้วยกัน ทำบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน หรือ อนุโลมลงไป ผสมผสานกัน ในบางครั้ง บางคราว อย่างเข้าใจ สุขใจได้

ตัวประสานเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างคืออะไรคะ?
ต้องพยายามทำความเข้าใจให้ดี ว่ามีอะไรที่ไม่เข้ากัน ที่ไม่เหมือนกันหรือไม่เท่ากัน เราก็ว่าไป เช่น คนอายุน้อย กับคนอายุมาก ไม่เท่ากันแน่นอน และโลกของเด็กกับโลกของผู้ใหญ่ ก็แน่นอน มันต้องมีอะไร ที่ต่างกัน แต่ถ้ามีอะไรที่ไม่ต่าง ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ ให้ประสานกันได้อย่างมีคุณค่า มีประโยชน์ มีความเจริญงอกงาม เราก็ต้องมองในจุดนั้น อย่าไปจำนนต่อสิ่งที่มันต่างกัน มันเป็นธรรมชาติ ที่ต้องเป็นเช่นนั้น

ถ้าเด็กเข้าใจว่า ผู้ใหญ่พยายามจะประสานกับเขา เด็กคงไม่ตัดรอน ไม่ตีทิ้งหรือถอยหนีแน่ สังคมมนุษย์ ต้องมีความสมัครสมานกัน ประสานสามัคคี อยู่กันอย่างดี เช่น พ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายาย กับลูกหลาน เหลน มันก็ต้องต่างกัน โดยวัย แน่นอนอยู่แล้ว แต่ทำไมเขาไม่มีความคิดล้มเหลว อย่างเดี๋ยวนี้ เขาก็สมาน สามัคคีกันได้ ขณะที่เด็ก เล่นหม้อข้าวหม้อแกง แต่ผู้ใหญ่ไม่ได้เล่น ถ้าผู้ใหญ่อยากจะประสานกับเด็ก จะเอื้ออวยเขาอย่างไร เสริมเขาอย่างไร ขนาดไหน มากไปน้อยไป เราก็สอนกันได้ สัมพันธ์กันได้ อะไรเด็กทำไม่ดี ก็ค่อยๆศึกษาเขา และใช้ศิลป์และศาสตร์ลดให้เขา จนเขาเลิกให้ได้

ผู้ใหญ่จึงควรเป็นคนที่รู้จักความเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้ที่มีคุณวุฒิ มีภูมิปัญญา ก็ควรจะเป็น ผู้ที่ประพฤติ ให้เกิดแบบอย่างที่ดีงาม ไม่ไปตอกย้ำ หรือทำให้เข้าใจผิดกันยิ่งขึ้น ให้เกิดแตกแยกออกไปอีก ทุกวันนี้ มันกลายเป็นว่า ผู้ใหญ่ไปตอกย้ำ ทำให้แยกหนักขึ้นอีก มันก็เลยยิ่งระแหงกันใหญ่ ในสังคม

จงจำไว้ว่า"ช่องว่าง"มันมีจริง แต่ต้องมีความฉลาดพอที่จะไม่ให้เกิดความร้าวฉาน และเลวร้าย จากความจริง ที่มันเป็น "ช่องว่าง" ให้ได้ อย่าไปจำนน และตอกย้ำให้คำว่า 'ช่องว่าง' กลายเป็นความเลวร้าย ของมนุษยสัมพันธ์ อันอบอุ่นดีงามกันเลย

ระหว่างความดีกับความชั่วมีช่องว่างหรือไม่คะ?
ความดีกับความชั่วต่างก็เป็นความจริงอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น พระโพธิสัตว์ ท่านทำความดี ในเรื่องนั้น เรื่องนี้ ได้สมบูรณ์แล้ว บรรลุธรรมในสิ่งนั้นแล้ว เมื่อท่านรู้แล้ว ท่านจึงเข้าใจผู้ที่ยังไม่รู้ และพยายามจะสอน ทำอย่างไร จะช่วยคนชั่วขึ้นมา ท่านเป็นผู้รื้อขนสัตว์

พระโพธิสัตว์ จึงเป็นผู้ที่รู้ดีรู้ชั่ว และเลิกชั่วทำดีได้แล้ว จนกระทั่งไม่ติดดี ทำดีด้วยใจที่สะอาด ปล่อยวาง ไม่ติดยึดดี ว่าเป็นของเรา เพราะถ้าพระโพธิสัตว์ไม่ช่วยคนชั่ว ไม่เห็นใจคนชั่ว ไม่ช่วยแก้ไขคนชั่ว มันก็ไม่ประสาน ไม่สมาน เอ็งชั่ว ข้าดี แยกอยู่อย่างนี้ก็บรรลัยกันหมด จะไม่มีการเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือ เกื้อกูลกันนั้น ไม่ได้ ชั่วกับดีจะไม่แยกจากกัน เพียงแต่ว่าต้องประมาณ และต้องรู้จักโอกาส ขณะเวลาว่า เราจะช่วยเหลือใคร เมื่อไร อย่างไร แค่ไหน จึงจะพอเหมาะพอดี และต้องแยกกันอยู่ก่อนก็ต้องทำ แต่ไม่ใช่ชังกัน หรือ ทำลายกัน จะช่วยอีกทีเมื่อถึงโอกาส

จริงๆแล้วก็คือ อะไรก็แล้วแต่ มันไม่ได้ขาดจากกันในโลกนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ไม่ขาดจากกัน เราจะต้อง ทำให้เกิด ความสัมพันธ์ที่ดี ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เท่าที่เราสามารถทำได้ สัมพันธ์ได้มากเท่าไหร่ ก็คือ ผู้ประสบ ความสำเร็จได้มากเท่านั้น

ในระบบการทำงานตามโลกย์ จะมีผู้นำหรือผู้จัดการ เป็นบุคคลที่มีอำนาจสูงสุด เก่งที่สุด ในทางธรรม มีความเห็น เรื่องผู้นำ หรือผู้จัดการต่างกันอย่างไรหรือไม่คะ?

ผู้นำหรือผู้จัดการ ก็คือ ทุกๆคนนั่นแหละ ถ้าทำได้นะทุกคนจะเป็นผู้จัดการเท่ากันหมด ต่างคนต่าง ช่วยกันจัดการ ไม่ต้องตั้งใครขึ้นมาแบบโลกย์ เพื่อให้เป็นหัวนำ โดยทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ต่างแบ่งกันทำ ตามความเหมาะสมที่จริง ผู้เก่งมากทำมากเสียสละมากเอาไว้เองน้อย ผู้ไม่เก่งก็ทำน้อย รับส่วนแบ่ง จากผู้เก่ง เกื้อกูลให้ นี่คือสุดยอดประชาธิปไตย สุดยอดของมนุษยชาติ ถ้าเป็นไปได้ ก็เยี่ยมยอดเลย ซึ่งไม่ผิดธรรมชาติหรอก สัจจะเป็นอย่างนี้ ผู้ที่เก่งที่สุด ตามสัจธรรมที่แท้จริง ต้องเป็นผู้ไม่ยึดติดตัวเอง ที่สุด ต้องเป็นผู้ที่ถอนตัว ถอนตน ไม่เห็นแก่ตัวจริง เพราะฉะนั้น ก็คือทุกๆคน ทุกๆคนก็คือ จะเป็นผู้ที่รวมกัน แล้วไปเป็นหนึ่ง ที่เก่งที่สุด ถ้าไม่รู้ความจริง อันนี้ก็ไปไม่รอด เพราะว่า ผู้ที่เก่งที่สุด เขาจะรู้สัจจะ ความจริงว่า ๑. คุณเก่งที่สุด คุณก็ต้องตาย ๒. คุณเก่งที่สุด คุณก็ทำคนเดียวไม่ได้ ๓. คุณเก่งที่สุด คุณต้องพยายาม อย่าไปเก่งที่สุดคนเดียว ต้องแบ่งให้ทุกคนเก่ง แทนไปให้ได้หมด ไม่ปิดบังอำพราง แบ่งแจก ให้อย่างเหมาะสม ทุกอย่าง จะสืบทอดไปต่อ โดยถ้าทุกคน รับนโยบายนี้ หรือสัจจะอันนี้ ทุกคนก็จะสืบทอดต่อไป และเจริญงอกงาม อุดมสมบูรณ์ ยาวนาน

สิ่งนี้ก็จะยั่งยืน นอกจากยั่งยืนแล้ว ก็เบางาน นอกจากเบางานแล้วก็ครบครัน เกิดพลังสร้างสรร เป็นมวลสามัคคี ทุกอย่างด้วย นี่คือสัจธรรมที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้น คนที่เก่งที่สุด จึงไม่ยึดว่า ข้าต้องเก่ง และข้าต้องทำคนเดียว มันโง่ เพราะฉะนั้น คนที่เก่งที่สุด จะฉลาดในการแบ่ง ให้ทุกคนทำ ใครจะทำ แม้ไม่ดีเท่าเรา ไม่เก่งเท่าเรา ก็ต้องให้เขาฝึกทำไปเถอะ ผิดบ้าง ถูกบ้าง ดีบ้าง เสียบ้าง และเขาจะเก่งขึ้น นี่คือการถ่ายทอด นี่คือการแบ่งแจก นี่คือการร่วมกันทำ อยู่ด้วยกันหมดเลย

แต่คนมีอัตตามานะ กูเก่งที่สุด กูได้หน้า กูได้เกียรติ กูได้ยศ กูมีอำนาจ และจะพยายามใช้เล่ห์เชิง หลอกผู้อื่น เพื่อตนจะได้ สิ่งที่ตนเองยึดอยู่ อยากได้อยู่ มันก็ไม่ยอมปล่อย ส่วนคนเก่งที่สุด ที่ไม่ติดยึดตัวตน หมดอัตตา ก็จะปล่อยวาง และก็จะได้เห็นความจริง อย่างที่อาตมาอธิบาย เมื่อทำจริง พระพุทธเจ้าทำจริง อาตมาทำจริง ใครทำจริง จะเป็นอย่างนี้หมด คุณไปทำจริงด้วยก็แล้วกัน


เสียงเพลงแห่งศรัทธา
พระพุทธอยู่เบื้องหน้า
ทิ้งโลกไว้เบื้องหลัง
ไม่หันกลับมา ไม่หันกลับมา
ฉันตัดสินใจแล้ว
จะร่วมองค์พุทธา
ไม่หันกลับมา ไม่หันกลับมา

(สารอโศก อันดับที่ ๒๔๙ มิถุนายน ๒๕๔๕)