๒
(สารอโศก อันดับที่ ๒๔๙ ต่อจากหน้า
๑)
๖.
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ จะเป็นอย่างไร?
๖ เม.ย.๔๕ ที่ศีรษะอโศก ในงานปลุกเสกฯ หลังทำวัตรเช้าแล้ว พ่อท่านพูดคุยกับญาติโยม
มีผู้บอกเล่าว่า ได้อ่านข้อเขียน ของนักเขียนท่านหนึ่ง ที่อดีตเป็นพระเปรียญธรรม
๙ ประโยค ในช่วงที่มีความขัดแย้ง เรื่องพ.ร.บ. คณะสงฆ์ ฉบับใหม่ นักเขียนท่านนั้น
ได้เขียนพาดพิงถึง สันติอโศกว่า พ.ร.บ.สงฆ์ฉบับใหม่ จะจัดสันติอโศกไว้อย่างไร
จะลอยก็ไม่ลอย จะจมก็ไม่จม ผู้บอกเล่าได้สรุป ท่าทีของผู้เขียนว่า เหมือนอยาก
ให้อยู่ เป็นคณะสงฆ์อื่นไปเลย เหมือนจีนนิกาย และอนัมนิกาย
๒๑ เม.ย.๔๕ ที่สันติอโศก
พ่อท่านได้แสดงธรรมก่อนฉัน วิเคราะห์พุทธศาสนาในไทย ให้ญาติโยม ที่มาทำบุญ
ฟังธรรมในวันอาทิตย์ ได้รู้เป็นการภายใน จากบางส่วน ที่พ่อท่านกล่าวดังนี้
"....ที่มันขัดแย้ง กับธรรมวินัยก็คือ พระพุทธเจ้าไม่แต่งตั้งบุคคลใด
บุคคลหนึ่ง เป็นหัวหน้า หรือไม่ให้ ตัวบุคคล ไม่ให้ตั้ง คณะบุคคลขึ้น เป็นทางการ
ที่เป็นการถาวร แล้วคุมอำนาจสงฆ์ทั้งหมด ไม่มีการแต่งตั้ง อย่างนั้น
การปกครองของศาสนาพุทธนั้น
ใช้การปกครองโดยคณะสงฆ์ตามธรรมชาติ จะเป็นที่ไหน ก็แล้วแต่ ถ้ามีสงฆ์ ตั้งแต่
๔ รูปขึ้นไป ก็ถือว่าเป็นสงฆ์ ที่จะทำกิจตามธรรมวินัย สงฆ์จะใช้คณะสงฆ์ อย่างน้อยที่สุด
๔ รูปขึ้นไป ในกรณีใดๆ ในเรื่องราวใดๆ บางกรณีใช้สงฆ์ ๔ รูป บางเรื่องต้องใช้สงฆ์
มากกว่า ๕ รูปขึ้นไป ถ้าต่ำกว่านั้น ไม่ได้ จะเป็น ๑๐ หรือ ๒๐ สูงที่สุด
ก็ใช้คณะสงฆ์ ๒๐ รูปขึ้นอย่างมาก ท่านมีวินัยบอกไว้เสร็จ แล้วไม่ไป กำหนดว่า
จะต้องเป็นคณะนั้นๆ ตายตัว เช่นคณะมหาเถรสมาคม เป็นคณะกรรมการตายตัว เป็นใหญ่ที่สุด
ในประเทศ ไม่ใช่ ไปกำหนดอย่างนี้ไม่ได้ เพราะว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์นั้น ผิดมาตั้งแต่ต้นแล้ว
ตั้งแต่มีร่าง เป็นพระราชบัญญัติมา ก็ผิดธรรมวินัย มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ก็ไม่แย้ง
ไม่ต้านกัน แม้แต่พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ๒๕๐๕ ที่ใช้กันทุกวันนี้ ก็ระบุว่า สังฆราชเป็นใหญ่
มีคณะกรรมการเถรสมาคม นี่เป็นประเด็นแรก ที่ตั้งบุคคล หรือคณะบุคคล มีอำนาจสิทธิขาด
ที่พระพุทธเจ้าไม่ให้ใช้ พระพุทธเจ้าให้ใช้ ธรรมวินัยเป็นใหญ่ แล้วใช้คณะสงฆ์
ตามธรรมชาติ อย่างที่กล่าวคร่าวๆ เมื่อกี้นี้แล้ว ไม่ว่าวัดไหนๆ ที่สงฆ์ตั้งแต่
๔ รูปขึ้นไป คณะกรรมการโน้น คณะกรรมการนี้ คณะมหาเถรสมาคม ไม่ใช่เลย สมัยพระพุทธเจ้าไม่มี
และไม่เคย บัญญัติไว้
เรื่องที่สองก็คือ มาตั้งมหาคณิสสร
มาตั้งคณะบุคคล ขึ้นมาบริหาร เขาก็ว่าไม่ชอบมาพากล นี่คือ ๒ ประเด็นใหญ่
นอกนั้น ก็มีประเด็นย่อยอีก ที่อาตมาไม่ได้ไปใส่ใจค้น ใส่ใจจำ
ทีนี้ความเห็นของอาตมานั้น
อาตมามีทั้งความเห็นด้วย และ ความเห็นใจ
อาตมาเห็นด้วย ที่ออกกฎหมายนี้มา
มันขัดแย้งกับธรรมวินัย แต่อาตมาก็เห็นใจคณะสงฆ์ ที่จะต้องบริหาร เพราะว่าคณะสงฆ์
มันเน่าแย่แล้ว พูดกันตรงๆ คณะสงฆ์เละเต็มทีแล้ว มันต้องมีอาญาสิทธิ มีอะไรควบคุม
ปราบปราม มีอะไรที่ต้องมีอำนาจ ถ้าจะให้อำนาจแต่เฉพาะสงฆ์ ก็ทำอะไรไม่ได้เท่าไหร่
ไม่แรงพอ เพราะคน ทุกวันนี้ มันดื้อด้าน แม้มาบวชเป็นพระแล้ว ก็ดื้อด้าน
ดื้อด้านยิ่งกว่าฆราวาส ที่ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ เพียงพอ เพราะฉะนั้น
จึงต้องมีอำนาจของฆราวาส ที่ต้องทำอะไร เขาไม่ต้องไปมีศีล มีธรรม ไม่มีวินัย
ตามที่พระพุทธเจ้า กำหนดไว้ เขาจะทำหยาบคาย ขนาดนั้นขนาดนี้ เขาก็ทำได้ จึงต้องให้อำนาจ
แก่ฆราวาส พวกนั้นบ้าง ถ้าไม่ให้อำนาจเหล่านั้น เขาก็บริหารกันไม่ไหว กำราบกันไม่อยู่
ศาสนาก็จะเละเทะ จะมีคนทำอะไร หยาบคาย รุนแรง เสียหายมากขึ้น เพราะมันผิด
มาตั้งแต่ต้นแล้ว คือ การบวช คัดเลือก ผู้มาบวช ไม่ได้เข้มงวด กวดขัน ไม่ได้เอาจริงเอาจัง
ไอ้โจรก็มาบวชได้ คนเลวก็มาทำได้ ปลอมแปลง อะไรต่ออะไร เข้ามา อะไรก็เละเทะไปหมด
นั่นเป็นความผิดพลาด ของคณะสงฆ์ใหญ่เขาเอง เขาน่า จะปรับตัว ตรงนี้ เหมือนอย่างอโศกเรา
ปรับตัวมาคัดเลือก คนที่จะมาบวช ไม่เอาหรอก บวชเล่นบวชหัว บวชแก้บนอะไร บวชเฉพาะคาบ
เฉพาะคราว บวช ๓ เดือนอะไร ไม่เอา บวชอย่างนี้ ไม่เคยมี ในศาสนา พุทธเดิม
มาบวชเล่นบวชลองไม่มี ผู้เข้ามาบวชนี้หมายนิพพาน คำขอบวช สมัยโบราณ ขอบวชเพื่อ
ไปนิพพาน ทั้งนั้น สมัยนี้มาตัดคำขอบวช เพื่อไปนิพพานออก แล้วก็มาบวชเล่น
มาบวชหากิน บวชเลี้ยงชีพ อายุแก่แล้ว ก็มาบวช เพราะไม่มีใครเลี้ยง แล้วก็มาบิณฑบาตกิน
มาเที่ยวยืนบิณฑบาต เหมือนไปขอ อยากจะใช้ คำเต็มๆว่า เหมือนขอทาน น่าละอายมาก
เสื่อมเสียศาสนาหมด
สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
ก็มีการปราบปราม พระที่ประพฤติผิดเพี้ยน ออกนอกรีต ธรรมวินัย สมัยนั้นทำได้
เพราะเป็น สมบูรณาญาสิทธิราช แต่สมัยนี้ ทำอย่างนั้นไม่ได้ จึงต้องมี การออกกฎหมายมา
เพื่อที่จะกำราบ อาตมาถึงได้บอกว่า เห็นด้วย และ เห็นใจ
อาตมาเห็นด้วยกับคณะที่ต้านว่า
มันผิดธรรมวินัย และเห็นใจกับคณะที่จะต้อง มีกฎหมายออกมา ถ้ากฎหมาย ไม่แรงพอ
ไม่มีอำนาจพอ มันก็ทำงานไม่ได้ กฎหมายจึงออกมาแรงหน่อย ต้องให้ฆราวาส มาจัดดำเนินการ
ความผิดพลาด จึงไม่ได้อยู่ที่กฎหมายทีเดียว มันอยู่ตั้งแต่เริ่มแรก คณะสงฆ์
ผู้ดำเนินงาน ของรัฐ จริงๆเตรียมตัวได้ตั้งแต่บัดนี้ ถ้าจะออกกฎหมาย ก็ออกกฎหมายมาเสริมเลยว่า
การบวชจะต้อง เป็นอย่างนี้ๆ ผู้มาบวช จะต้องมาอบรม
มาบวชเพื่อนิพพานอย่างเดียว ที่บวชแล้ว กฎหมายย้อนหลังไม่ได้ ก็แล้วไป
เดี๋ยวก็แก่ตายหมด กฎหมายใหม่มา ก็ดำเนินอย่างนี้ไปซิ พวกที่บวชแล้วก็แล้วไป
แต่พวกที่ จะบวชใหม่ ต้องมาเป็นอย่างนี้ อย่างที่พวกเราทำ ก็น่าจะออกกฎหมายอย่างนั้น
แต่เขาไม่กล้า ก็เลย คาราคาซัง
มีคนถามอาตมาว่า เห็นด้วยข้างไหน
อาตมาบอกเห็นทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งเห็นด้วย อีกข้างหนึ่งก็ เห็นใจ จริงๆ
โอ้ ไม่รู้จะทำยังไง ถ้าไม่ทำอย่างนั้น เขาก็แย่เหมือนกัน ถ้าเขาไม่มีอำนาจ
ตกลงแล้วเราจะทำยังไง
เมื่อเหตุการณ์เกิดเป็นอย่างนี้ เราจะอยู่คณะไหนกันแน่ อาตมาก็บอกว่า แน่ๆก็คือ
เราอยู่คณะ ของเราเอง แล้วเห็นเป็นอย่างไรล่ะ ก็เห็นด้วยกับเห็นใจ ก็ตอบได้อย่างนี้
แล้วจะออกอย่างไร ไม่รู้
อาตมาก็ไม่รู้ โดยเฉพาะ เราก็ไม่ได้เกี่ยวข้อง กับคณะการบริหาร ในกลุ่มนั้น
กลุ่มที่ร่างกฎหมาย ออกมานี่ ถือเป็นกลุ่มเถรสมาคม ส่วนคณะของมหาบัวนั้น
ไม่รู้มีร่างกฎหมาย ของเขา หรือเปล่า ก็คงจะเป็นร่างที่แปลก เพราะยังไม่เคยมี
ซึ่งอาตมาก็ยังไม่รู้ จะออกมายังไง พระพุทธเจ้า ท่านก็ร่าง เอาไว้ดีแล้ว
ถ้าจะร่างใหม่ขึ้นมา ก็คงต้องไปลอกเอา ของพระพุทธเจ้า ขึ้นมา ก็คงจะได้ ถ้าจะทำ
มีนัยอะไร ที่ปลีกย่อยมา แต่ไม่ขัดแย้งกับธรรมวินัย เขาก็คงจะเตรียมๆเอาไว้
ถ้าร่างนี้ไม่ออกมา มันก็คง เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องนี้มันจะออกหัว ออกก้อยอย่างไร
เราก็ไม่รู้ ก็ติดตามดู กันต่อไป........"
๒๕ เม.ย.๔๕ ที่สันติอโศก
มีนักข่าวโทรศัพท์ มาหาเรื่องไปเขียนข่าวว่า เมื่อวาน พระราชกวี พูดว่า พ.ร.บ.
คณะสงฆ์ ที่ยังไม่ผ่านสภา ก็เพราะ พล.ต.จำลอง และสันติอโศก ดึงเรื่องเอาไว้
เพื่อที่จะให้กฎหมาย รับรองเป็นสงฆ์ คณะใหม่ เรื่องนี้พ่อท่านเห็นอย่างไร
อยากจะขอสัมภาษณ์พ่อท่าน พอดีพ่อท่าน กำลังทำอุลตร้าซาวน์ จึงให้ข้าพเจ้าตอบนักข่าวไปว่า
เราลาออก จากการปกครอง ของคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคมแล้ว จึงไม่ขอออกความเห็นใดๆ
ในเรื่องนี้ อีกทั้งเราเอง ก็เป็นเพียง ผู้เล็กผู้น้อย ส่วนใคร จะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร
เราก็รับฟัง
๒๖ เม.ย.๔๕ ที่สันติอโศก
หลังจากหมู่สมณะได้ลงอุโบสถทบทวนพระปาติโมกข์ พ่อท่านบอกเล่าข่าวต่างๆ ตั้งแต่เรื่องที่
ธ.ก.ส.นิมนต์ให้ไปเทศน์ที่ จปร. และข่าวเกี่ยวกับพ.ร.บ. คณะสงฆ์ ที่กำลังเป็นข่าว
แล้วแสดง ความเห็น พร้อมกับบอกสอนหมู่สมณะว่า
"....ตอนนี้ศาสนาพุทธกำลังแสดงผล
ในกลุ่มคนที่ไม่มีผล ก็แสดงความไม่มีผล
พุทธเราไม่เคยเหมือนศาสนิกอื่น
ที่ถึงขั้นตีกัน อย่างมากก็แค่ ไม่ลงโบสถ์ร่วมกัน
เราต้องเร่งตัวเอง หนึ่งอย่าทำเสีย
สองเราต้องทำดีให้เข้มๆขึ้น เราอยู่ได้ทุกวันนี้ ก็ด้วยมีเนื้อธรรม
ไม่ใช่เพราะ อำนาจลาภ อำนาจยศใดๆเลย ท่ามกลางสังคมส่วนใหญ่ ที่แตกต่างจากเรามาก
แต่เราก็อยู่กับเขาได้
เมื่อวานหนังสือพิมพ์
จะมาขอสัมภาษณ์ ผมก็ปฏิเสธ ที่จะแสดงความเห็นไป จำไว้เลยนะ มีสองเรื่อง
ที่ชาวอโศก ไม่ขอออกความเห็นใดๆ ก็คือเรื่องพ.ร.บ.คณะสงฆ์ และเรื่องภิกษุณีสงฆ์ในไทย
ถ้านักข่าว จะมาถามความเห็น หนึ่งอย่าแสดงความเห็น สองต้องรู้ว่า เราคือผู้น้อย"
๗. วิทยุชุมชน ภาคประชาชน
๒๑ เม.ย.๔๕ ที่สันติอโศก มีการประชุมวิทยุชุมชนของสถานีวิทยุฝนปรอยร้อยแปด
เป็นครั้งที่ ๒
เรื่องการขออนุญาตติดตั้งสถานีวิทยุชุมชน
ทดลองส่งกระจายเสียง ๔๐ วัตต์ กำลังดำเนินการ ขออนุญาต จากกรมประชาสัมพันธ์
ขณะนี้มีการปรับเสาอากาศ
และปรับปรุงอุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งกระจายเสียง ให้ได้มาตรฐาน ไม่ไปทับคลื่น
ของสถานี วิทยุใกล้เคียง จึงของดส่งกระจายเสียง ระยะหนึ่ง (๑๙ เม.ย. - ๓๐
เม.ย.)
เริ่มแรกมีเงินบริจาคเพื่อจัดทำสถานีวิทยุเป็นเงิน
๓๐๐,๐๐๐ บาท ได้นำมาใช้ ในการซื้อเสาอากาศ จัดทำห้อง ออกอากาศ และอื่นๆ ไปแล้วประมาณ
๒๐๐,๐๐๐ บาท เงินที่เหลือเป็น "กองบุญ วิทยุชุมชน" และเปิด รับบริจาค
จากผู้มีจิตศรัทธา และเข้าใจในกิจกรรมนี้
พ่อท่านให้โอวาท ก่อนปิดประชุมว่า....
"สื่อวิทยุมีความสำคัญในสังคม เป็นการสื่อสารข้อมูล ให้ถึงผู้ฟัง ได้อย่างรวดเร็ว
ตรงประเด็น
ไม่ใช้สื่อในการหาเงิน
แต่ใช้สื่อเพื่อธรรมะ เรามีบุคลากรที่เป็นไปได้ มีความหลากหลาย มีศิลปะร่วมกัน
นำเสนอสิ่งดีๆให้แก่สังคม ต้องให้เป็นวิทยุของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชนจริงๆ
มาร่วมกันทำงาน เพื่อเสียสละ
มาทำงานฟรี ไม่มีเงินตอบแทนคนที่มา นับได้ว่า มีความเสียสละ และชัดเจน ในชีวิต
ระดับหนึ่งว่า ชีวิตเกิดมาเพื่ออะไร
ขอให้ "ทำกันให้จริง"
และจะเกิดผลดี ทั้งตนเอง และสังคม"
๒๓ เม.ย. ๔๕ ที่ปฐมอโศก
ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ กรรมการบริหาร
สถาบันการเรียนรู้ และ พัฒนา ประชาสัมพันธ์ อีกทั้งยังเป็นคณะกรรมการรณรงค์
เพื่อการปฏิรูปสื่อ และนายอนุ สง่าเรืองฤทธิ์ เจ้าหน้าที่
กองทุนชุมชน (SIF) ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ได้มาสนทนากับพ่อท่าน
เรื่องวิทยุชุมชน โดย ดร.เอื้อจิต ได้บอกเล่าปัญหา ที่วิทยุชุมชน ทั้งที่กาญจนบุรี
และที่อินทร์บุรี ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐ สั่งห้าม ออกอากาศ โดยเขาอ้างกฎหมายเก่าปี
๒๔๙๘ ดร.เอื้อจิตก็ได้ พยายามไปให้ข้อมูล ทั้งกรรมาธิการสภา และ กรรมาธิการวุฒิสภา
ว่ามันเป็นขบวนการ ที่ประชาชน จะเรียนรู้กัน หน่วยงานภาครัฐ ทำไมไม่ลงไปดูว่า
เขาทำอะไร ล่าสุด ดร.เอื้อจิต ก็ได้เอาประเด็นนี้ เข้าไปในคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชน
ที่ดร.เอื้อจิต ทำงานอยู่ด้วย
พ่อท่าน : เมื่อกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ออกแล้ว
มีเจตนารมณ์จะให้วิทยุเป็นของประชาชน อย่างแท้จริง เขาก็น่าจะรู้ว่า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากเก่าแน่
เขาเป็นเจ้าหน้าที่ เขามาสังเกตการณ์ เขามาดูแล มันจะเป็น การปฏิบัติผิดหน้าที่ตรงไหน
เพื่อที่จะให้เกิด การปฏิบัติ ตามกฎหมายใหม่ ไม่ใช่ว่า จะรอแต่จะจับ ในเมื่อเขาก็รู้
ความยังไม่พร้อม ของรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูกยังไม่ออก ผิดหรือถูก ยังไม่ชัด
ถ้าเขาจะยึด กฎหมายเก่า อย่างนั้นก็เป็นการยึด พาซื่อเกินไป จะเป็นการจับผิดเท่านั้น
ไม่ใช่แบบสร้างสรร
ดร.เอื้อจิต :
ได้เชิญข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ดูแล มาพูดคุยให้ข้อมูลกับกรรมการสื่อ เราก็บอกท่านไปว่า
ชุมชนกำลัง ถูกละเมิดสิทธิ์ ตามรัฐธรรมนูญ ท่านก็บอกว่า ท่านไม่มีปัญหา ถ้าข้างบน
สั่งการมา ทางเรา ก็ทำหนังสือ ไปถึงนักการเมือง ที่เป็นประธาน กองงานวิทยุโทรทัศน์
ท่านก็เฉยไม่ตอบ แถมไม่ส่งเรื่อง ไปกองงาน กสช. คณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง
และ กิจการโทรทัศน์แห่งชาติ ณ บัดนี้ รัฐบาลชุดนี้ ยังไม่มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการกิจการวิทยุ
และโทรทัศน์เลย แต่เราก็เห็นใจ เจ้าหน้าที่ นะคะว่า วิทยุมันทำได้ หลากหลาย
คือ กลุ่มประชาชน ปรารถนาดี ใช้ชื่อประชาชนก็ได้ เลยบอกท่านไป อย่างสถานี
ที่อินทร์บุรี ท่านไปตรวจดูเลยว่า กลุ่มผู้กระทำคือใคร เขาใช้หัวใจวิทยุชุมชนใหม่
ในการทำให้ เป็นสมบัติ ของชุมชน ชุมชนมีส่วนร่วม ท่านก็ว่า อาจารย์จะรับประกัน
ทุกแห่งหรือเปล่า ดิฉันบอก ไม่รับประกันทุกแห่ง รับประกันเฉพาะสถานี ที่มีคุณสมบัติอย่างนี้
ที่ได้รับเงินสนับสนุน พอช. สถาบัน พัฒนาองค์กรชุมชน และ SIF
หน่วยงาน ๒ แห่งนี้ เป็นหน่วยงานของรัฐบาล ที่มีคณะกรรมการ ภาคประชาชน ตรวจพิจารณา
โครงการมาแล้ว ถ้ารัฐบาลเชื่อการมีส่วนร่วม ของภาคเอกชน เชื่อถึงความเข้มแข็ง
ของชุมชน นี่แหละ เขากำลังทำอยู่ ตอนหลังท่านก็อ่อนลง บอกว่าขออย่างเดียว
ขอให้กองงาน มีการประชุม วินิจฉัยออกมา ก็ยินดีที่จะเข้าไป ร่วมสร้างกติกา
เป็นสถานีวิทยุ ในระหว่าง ที่ทดลอง ออกอากาศนี่ ทั้งผู้ส่งและผู้รับ ก็ได้เรียนรู้
ผู้รับเขาจะต้องปรับ ทัศนคติใหม่ การมีประชาชน มาส่งสารทางวิทยุ เป็นของใหม่ทางสังคม
แล้วก็มีคำถาม อาจารย์ ถ้ามีอิทธิพล การเมืองท้องถิ่น จะทำยังไง ดิฉันเชื่อว่า
การเรียนรู้ ในท้องถิ่น เขาจะกลั่นกรองกันเอง มนุษย์มันเรียนรู้ได้ เขาจะต้องมีการ
ตั้งคำถาม กันเอง จะต้องมีคนไปเรียน ท่านพระอาจารย์ว่า เอ! คนนี้ ดูว่าวันข้างหน้า
จะไปสมัคร ส.ก. ส.จ.นะ จะให้เขาออกอากาศ มันจะเหมาะไหม ทางสถานี ก็จะต้องไปดู
ธรรมนูญ ที่ช่วยกันร่างเอาไว้ ดิฉันเชื่อ ในระบบการเรียนรู้ ของชาวบ้าน ถ้าสถานีใด
ไม่ได้ตั้ง ด้วยจิตสะอาด เขาก็จะห้ำหั่นกันเอง จนที่สุด สถานีก็เปิดไม่ได้
ถ้าท่าน ผู้มีอำนาจ ยังคิดจะปิดกั้น ขบวนการเรียนรู้ ภาคประชาชนนี้ ทั้งๆที่ไม่มี
งบประมาณรัฐ แม้แต่สลึงเดียว นอกจากรัฐ ไม่สนับสนุน งบประมาณแล้ว ยังใช้เงินของประชาชน
จับประชาชนอีก อย่างนี้ มันน่าเศร้านะ
พ่อท่าน :
ก็เป็นเรื่องของคนที่กลัวประชาชน จะมีสิทธิมีเสียง ถ้าเผื่อว่าวิทยุ เป็นของประชาชน
เสียงของ ประชาชน ก็จะมากขึ้น คนไม่มีเลือดประชาธิปไตยจริง ก็ต้องกลัวแน่นอน
คนที่ได้อำนาจแล้วนี่ ก็ต้องป้องกัน อย่างสุดวิสัย สุดความสามารถเลยทีเดียว
ถ้าผู้บริหาร ไม่ใช่เลือดประชาธิปไตยจริง เขาจะกลัวอำนาจ ประชาชน ถ้าประชาชนเข้มแข็ง
และมีพลัง ยิ่งมีสื่อ เป็นอุปกรณ์อย่างนี้ คนที่มีอำนาจ เขาจะกลัว การสูญเสีย
อำนาจ
อนุ : พ่อท่านคิดว่า
กรณีมาตรา ๔๐ เรื่องวิทยุและโทรทัศน์ ที่ให้ชุมชนดำเนินการเอง พ่อท่านว่า
ในเมืองไทย ความเป็นไปได้ มีอุปสรรคหรืออย่างไร
พ่อท่าน : หนังสือพิมพ์เป็นสื่อของเอกชน
ไม่ใช่ของประชาชน เป็นกลุ่มของทุนนิยม เป็นส่วนมาก แต่ก็ยัง ดีกว่าวิทยุ
และโทรทัศน์ นั่นอำนาจรัฐเลย ประชาชนยังไม่ได้สิทธิเท่าไหร่ ก็ต่อสู้กันไป
อาตมา ก็เห็นเป็น ก้าวหนึ่ง วิทยุชุมชนนี่
ดร.เอื้อจิต :
วิทยุชุมชน รอบๆมาร่วมมากน้อยแค่ไหน
พ่อท่าน :
มีทั้งนักกฎหมาย พ่อค้า แม่ค้า พยาบาล มีทั้ง อบต. แม้แต่เด็ก อยากมาเล่านิทาน
ก็มีให้ ก็คัดให้มาเล่า
ดร.เอื้อจิต :
จริงแล้ว วิทยุชุมชนนี่มันเป็นการนำเอาสิ่งที่ดีของชุมชน เอาคนที่เข้มแข็งกว่า
ไปแบ่งปัน กับคนอ่อนแอ คนที่รู้มากไปแบ่งปัน กับคนที่รู้น้อย อย่างที่ปฐมอโศก
มาเป็นแกนให้กับประชาชนนี่ ดิฉันรู้สึกชื่นใจ ดีใจ ทางสาย ม.จร. (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)
ก็รู้สึกว่าอยากจะตั้ง สถานีโดดๆ เราก็บอกว่า เอ๊ะ! ทำไมไม่เอาวัดกับบ้าน
มารวมกัน แล้วใช้วัดเป็นศูนย์กลาง แทนที่จะมี สถานีวิทยุ เป็นสถาบัน ของวัดอีก
ไม่เกี่ยวกับชุมชน อย่างปฐมอโศก เป็นศูนย์กลาง และให้ประชาชน คนเล็กคนน้อย
เดินเข้ามาขอใช้ เพราะว่าทรัพย์สินอย่างนี้ ถ้าชุมชนจะทำกันเอง มันต้องเก็บเล็กเก็บน้อย
อย่างว่าปฐมอโศก ก็ยังพอมีที่จะช่วยเขา ทำให้เป็นสมบัติ ของสาธารณะ
พ่อท่าน : เราพอมีทุนมีสถานที่
คนอื่นเขาจะเข้าใจว่า เนี่ยเราทำเพื่อประโยชน์ตนเอง หรือว่าเป็น อำนาจ ส่วนตัว
เขาจะเข้าใจผิดเราไม่ว่า แต่ตอนนี้เราทำ เพื่อที่จะทำให้เห็นจริงเลยว่า เราไม่ได้มา
สร้างอำนาจ เราจะทำให้เป็น จุดศูนย์กลางของสื่อ ที่เป็นประโยชน์ ต่อมวลมนุษย์
เราไม่มีเจตนา ที่จะสร้าง ผลประโยชน์ สร้างอำนาจ เพื่อตัวเอง แล้วจะไปเล่นการเมือง
สร้างอำนาจอะไร รับรองเรื่องเหล่านี้ ไม่ต้องห่วงเลย
ดร.เอื้อจิต : จริงๆ
ตรงนี้เป็นแดนบริสุทธิ์เป็นดินแดนที่ปลอดอำนาจ ที่อำนาจมันไม่ใช่ ทำร้ายนะคะ
ถ้าเป็นอำนาจ ที่เป็นธรรม เพราะแท้ที่จริง วิถีของปฐมอโศกนี่ เป็นวิถีเดียวกับ
วิทยุชุมชนค่ะ นั่นคือวิถีชีวิต มันต้องมีทางเลือก ที่หลากหลาย ไม่ใช่ว่า
ต้องฟังสถานีใหญ่ๆเสมอไป ดิฉันยังพูดกับ วิทยุชุมชนเสมอว่า วิทยุชุมชน เปรียบเสมือน
ทางลัดในหมู่บ้าน มันเป็นทางเลือกเพื่อชีวิต กรมประชาสัมพันธ์ มองเห็น ทางที่ไหน
ก็จะเอารถบรรทุก ลงวิ่งหมดเลย คือ จะทำเองหมดเลย เอ๊ะ คุณจะไม่ให้มี ทางเล็ก
ทางน้อย เลยเหรอ
พ่อท่าน : ให้คนอื่นเขาได้ทำอะไรขึ้นมาบ้าง
มันดี มันแบ่งแจกกันไป เรามารับผิดชอบอยู่คนเดียว มันได้ที่ไหน มันก็เป็น
การหวงอำนาจ มานั่งฮุบอำนาจกันอยู่อย่างนี้ อย่างนี้ไปไม่รอด
ดร.เอื้อจิต :
วิทยุชุมชนหัวใจของมัน คนทำวิทยุชุมชน จะไม่ทำตัวเป็นนักข่าว คนทำวิทยุชุมชน
จะไม่ทำตัว เป็นสายสืบ เช่น แหล่งข่าวกล่าวว่า จะไม่มี เอาประเด็นที่เป็นสาธารณะมาวางไว้
แล้วให้คน มาแสดง ความคิดเห็น แล้วก็ไม่ต้องบอกว่า ใครผิดใครถูก เพราะฉะนั้น
วิทยุชุมชนไปชี้ว่า ใครถูกใครผิด สถานี มันจะร้อน เพราะถ้ามีผู้ถูก ข้างหนึ่ง
มันต้องมีอีกข้างหนึ่ง เพราะว่าทุกอย่าง มีไว้สาธารณะ และ ก็ให้คน เห็นของงามๆ
ของชีวิต เสียงแห่งความสุขอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าทำอย่างนี้นะคะ นครปฐมก็ดี
อินทร์บุรีก็ดี เป็นที่ๆทำได้ง่ายนะคะ วันนี้ดีใจ ได้มากราบพ่อท่าน ก็ดีใจวิทยุชุมชน
มาเกิดที่นี่
๘. กายขันธ์เดือนเมษา
ต้นเดือนช่วงงานปลุกเสกฯ พ่อท่านมีอาการท้องอืด แล้วตามมาด้วยท้องเสีย อาการท้องอืด
สันนิษฐานว่า การอยู่ในอิริยาบถนั่งทำงานมาเป็นเวลานาน อีกทั้งผลข้างเคียงจากการฉันสมุนไพร'แฮ้ม'
ต้มดื่มแทนน้ำ ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือน ส่วนอาการท้องเสียนั้นคุณเพ็ญเพียรธรรม
พยาบาลที่ดูแล ตั้งข้อสังเกตว่า มาจากการฉัน มาซาร่า จำได้ว่า เมื่อครั้งที่อยู่บ้านราชฯ
และที่สันติอโศก พ่อท่านก็มีอาการท้องเสีย หลังจากฉัน มาซาร่า ครั้งอยู่บ้านราชฯ
มาซาร่ามีมาเป็นขวด แล้วพ่อท่านควักตักฉัน ครั้งนั้น นอกจาก ท้องเสียแล้ว
พ่อท่านยังมีอาการไอน้อยๆด้วย ครั้งอยู่ที่สันติอโศก คุณไม้ร่ม ปั้นมาซาร่า
เป็นลูกกลอน มาให้พ่อท่านฉัน ผลก็คือ พ่อท่านท้องเสีย จึงขอนิมนต์พ่อท่านงดฉัน
ก่อนหน้านี้ ผู้ที่เชื่อถือ การรักษา 'ปัญจศาสตร์' มาบอกพ่อท่านว่า เห็นพ่อท่านมีอาการท้องไม่ดี
และฉันอาหารได้น้อย จึงติดต่อ คุณสายัณห์ ให้มาดู พ่อท่านขึ้นเสียง ' อย่าเพิ่งเลย
อาตมายังงดอยู่ ' ข้าพเจ้าเข้าใจว่า การแสดงออกเช่นนี้ เพื่อสอนให้รู้ว่า
ความปรารถนาดี ที่แสดงออกอย่างไม่รู้ ความเหมาะควร อย่างนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอีก
เพราะอาการผิดปกติของท้อง เป็นเรื่องไม่ร้ายแรง ไม่ใช่เรื่องตื่นเต้นตกใจ
ที่ต้องติดต่อ คุณสายัณห์ ให้เดินทาง จากกรุงเทพฯ ไปรักษาพ่อท่าน ที่ศรีสะเกษ
เป็นการทำเรื่องเล็ก ให้เป็นเรื่องใหญ่ อีกส่วนหนึ่ง เข้าใจว่า พ่อท่านอาศัยจังหวะ
เหตุปัจจัยนี้พูด เพื่อให้รู้ชัดๆว่า ไม่ต้องขวนขวายแล้ว
๑๒ เม.ย.๔๕ ที่สันติอโศก
ช่วงบ่ายคุณเหมือนพรโทร.มา นิมนต์พ่อท่านให้ไปที่ สถานบำบัด หมอไทยไท เนื่องจาก
มีอาจารย์หมอ จากกระทรวงสาธารณสุขมา ข้าพเจ้าไม่ทราบ จึงไม่ได้ไปด้วย สมณะชัดแจ้ง
วิจักขโณ เล่าให้ฟังว่า อาจารย์หมอได้บิดดัด จัดกระดูกให้พ่อท่าน คล้ายๆ
หมอจีนไต้หวัน ที่มาทำให้ เมื่อเดือนที่แล้ว นอกจากนี้ ยังได้แนะนำ ท่าที่ถูกต้อง
ในการลุกตื่น และการล้มตัวลงนอน เพื่อหลีกเลี่ยง ท่าที่จะทำให้ กระดูกบิดดัด
ไม่สมดุล ซึ่งพ่อท่านได้กรุณาแสดงให้ดู ในท่าล้มตัวลงนอน โดยเอามือ สอดประสาน
เข้าไปที่ใต้ข้อพับเข่า ในท่านั่งคล้ายๆกอดเข่า เพียงแต่ไม่รวบ หน้าแข้งเข้ามาด้วย
ให้มือทั้งสอง อยู่ระหว่างน่องกับโคนขา เหนือข้อพับเข่า แล้วค่อยๆเอนตัวมา
ให้หลังแตะพื้น แล้วจึงค่อยๆ ผ่อนมือ ที่สอดประสานกันออก แล้วเหยียดขาไปกับพื้น
ส่วนท่าลุกตื่น เริ่มจากท่า นอนหงาย แล้วให้พลิกตัว ไปทางซ้าย หรือขวาก็ได้
ให้อยู่ในท่า นอนคว่ำหน้า แล้วค่อยๆยันตัว ด้วยมือและเข่า ยกตัวขึ้น อยู่ในท่า
คลานสี่ขา ก่อนขยับตัวเคลื่อนไป คำแนะนำ ที่ให้ตะแคงข้าง แล้วยันตัว ลุกขึ้นมานั้น
เป็นคำแนะนำที่ผิด ซึ่งจะทำให้กระดูกบิดดัด เสียสมดุล
๑๘ เม.ย.๔๕ ที่คณะกายภาพบำบัด
ศิริราชพยาบาล ที่อาคารบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เชิงสะพาน พระปิ่นเกล้า
พบอาจารย์ น.พ.สิทธิ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางกระดูก
น.พ.สิทธิ ซักประวัติ เพื่อประกอบ การตรวจร่างกาย และฟิมล์เอกซเรย์กับ MRI
ที่พ่อท่านเคยทำไว้ เมื่อครั้งอายุ ๔๘, ๔๙, ๕๑ และ ๖๐ ปี ขณะดูฟิมล์เอกซเรย์
ส่วนเท้า ส่วนขา และ MRI กระดูกสันหลัง น.พ.สิทธิ ได้อธิบาย พร้อมกับชี้ให้ดู
บริเวณต่างๆ เชื่อมโยงกับประวัติ ที่พ่อท่านเล่าให้ฟัง เช่นว่า เมื่อครั้งยังเด็ก
อายุประมาณ ๑๐ ขวบขึ้น ตกต้นมะค่าแต้ ในฟิมล์มีร่องรอย ของการยุบตัว ของหมอนรองกระดูก
ระดับ L ๑-๒ และ L ๔-๕ ซึ่งอาจเป็นตั้งแต่ เมื่อครั้งตกต้นไม้นั้นก็ได้ เมื่อสมัยรุ่นหนุ่ม
พ่อท่านประสบอุบัติเหตุ รถยนต์เก๋ง คันใหญ่ชน อัดต้นขาขวา ถูกกระแทกอย่างแรง
เข้ากับหม้อน้ำมัน รถมอเตอร์ไซค์ ที่ท่านขี่ ไม่พบกระดูกหัก แต่บวมมาก จนต้องตัดขากางเกง
ต้องรักษาเป็นเวลานาน เมื่อหายแล้วเดินได้ แต่กล้ามเนื้อ บริเวณ ต้นขาขวา
บุ๋มจนถึงทุกวันนี้ น.พ.สิทธิ บอกว่า อาจเป็นไปได้ว่า กล้ามเนื้อถูกอัดอย่างแรง
กับกระดูก ทำให้ฉีกขาด เปลือกกระดูกต้นขาขวา มีร่องรอยว่า เคยได้รับบาดเจ็บ
บริเวณนั้น สำหรับตัวกระดูกเอง ดูจากฟิมล์ ที่ทำเมื่อครั้งอายุ ๖๐ ปี มีกระดูกโปร่งพรุนนิดหน่อย
หากเป็นคนรุ่นหนุ่ม กระดูกจะแน่น ซึ่งก็เป็นปกติ ของอาการเสื่อมตามวัย ส่วนอื่นๆ
ก็เรียบร้อยดี สำหรับอาการร้อน ที่แข้งใต้เข่าซ้ายนั้น น่าจะมาจาก อิริยาบถในแต่ละวัน
ของพ่อท่าน ที่นั่งนาน ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี ทำให้เกิดอาการ ดังกล่าวได้
น.พ.สิทธิแนะนำ ให้พ่อท่าน เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เพื่อคลี่คลายอาการร้อน
ที่แข้งใต้เข่าซ้าย
ค่ำพ่อท่านเดินทางไปสถานบำบัดหมอไทยไท
เพื่ออบสมุนไพร และคุณอรุณเดช ช่วยกดนวดให้
กว่าจะกลับ เกือบห้าทุ่ม
๒๑ เม.ย.๔๕ ที่สันติอโศก
รศ.กันยา ปาละวิวัชน์ อดีตอาจารย์คณะกายภาพบำบัด ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่สม.ใจขวัญ สม.ปราณี และสม.สดใส ได้ให้ อ.กันยา รักษาแล้ว รู้สึกได้ผลดี
จึงเชิญอ.กันยา ให้ช่วยมาตรวจดูอาการ ที่ขาซ้ายของพ่อท่าน ซึ่งจะร้อน เมื่อนั่งทำงานนานๆ
อ.กันยา ได้ดูผล การตรวจกระดูกที่ น.พ.สิทธิได้ตรวจมาก่อนแล้ว พอดีอ.กันยา
เป็นเพื่อนรุ่นเดียว กับคุณพรเพ็ญ รัศมีวิเชียรทอง ซึ่งเป็นญาติธรรม ที่มาช่วยทำกายภาพบำบัด
ให้ชาวสันติอโศก เป็นสิบปีแล้ว
อ.กันยา ได้ตรวจดู ตั้งแต่นิ้วเท้าของพ่อท่าน
เรื่อยขึ้นไปที่เข่า และกระดูกบริเวณหลัง มีทั้งดึง กระตุก เคาะ แล้วใช้เครื่อง
อุลตร้าซาวน์ ที่คุณพรเพ็ญซื้อมาไว้ใช้ ตั้งแต่ลาออกจากงานที่ ร.พ.เลิดสิน
แล้วมาช่วยทำ ให้ชาวสันติอโศกฟรี จากการตรวจดู บริเวณขาซ้าย ที่พ่อท่านมีอาการเจ็บ
จากกล้ามเนื้อ ด้านนอก ของขาส่วนบน จะมีร่องลงมาถึงเข่า ที่มีกระดูกนูนๆ
แล้วทำอุลตร้าซาวน์บริเวณนั้น นอกจากนี้ อ.กันยา ได้สอนท่าบริหาร กล้ามเนื้อส่วนน่อง
และต้นขาด้านบน ด้านล่าง มีท่าหนึ่ง อ.กันยาเรียกว่า ท่าเมขลา เพราะลักษณะ
การจัดวางดึงขาตนเอง คล้ายๆนางเมขลาล่อแก้ว ตามภาพจินตนาการ ในวรรณคดี เมื่อพ่อท่าน
ได้ทำท่าโยคะ ที่ได้รับคำแนะนำมา เพื่อยืดคลายกล้ามเนื้อ บริเวณขาส่วนบน
ด้วยการนั่ง ขัดสมาธิเพชร แล้วเอนหลังลง นอนราบกับพื้น ขาที่นั่งขัดสมาธิเพชร
อยู่ก็ให้ราบไปกับพื้น อยู่อย่างนั้น หรือที่เรียก ในภาษาโยคะว่า ท่ามัตสยาสนะ
อีกท่าหนึ่ง ก็คล้ายๆกัน แทนที่นั่งขัดสมาธิเพชร ก็เป็นนั่งแบบ นั่งบนส้นเท้า
แล้วแยกขาทั้งสอง ออกด้านข้างสะโพก แล้วเอนหลังให้ราบกับพื้น ส่วนขาเข่าก็ให้กดราบ
อยู่กับพื้นอย่างนั้น หรือที่เรียกในภาษาโยคะว่า ท่าปรรยันกาสนะ หลังจากพ่อท่าน
ทำให้ดู ถึงท่าบริหาร ที่พ่อท่านทำอยู่ อ.กันยา ถึงกับเอ่ยปาก ชมพ่อท่านว่า
ดูแลตนเองได้ดีอยู่แล้ว "หนูเลยกลายเป็น มาสอน หนังสือสังฆราช เพราะสองท่านี้
หนูยังทำไม่ได้เลย" อ.กันยากล่าว และแนะนำเพิ่มเติมว่า อยากให้พ่อท่าน
มีอิริยาบถ ที่เพิ่มขึ้น ในขณะนั่งทำงาน ให้เวลากับการยืดคลายเส้นบ้าง ทำบ่อยๆ
ได้จะดี จะทำท่าไหนก็แล้ว
แต่ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นไท้เก๊ก โยคะ หรืออื่นๆ ได้ทั้งนั้น
๒๖ เม.ย.๔๕ ที่ ร.พ.ตาหูคอจมูก
พบ น.พ.ชัยรัตน์ เสาวพฤทธิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคตา
โดยคุณต้นกล้า มากสุข ได้ติดต่อประสานให้ ด้วยเคยทำงานร่วมกับ
น.พ.ชัยรัตน์ เมื่อครั้งยังเป็นพยาบาล อยู่ที่ร.พ.สวนดอก เชียงใหม่ เนื่องมาจากพ่อท่านเปรย
ให้ได้ยินหลายครั้งว่า ตาขวามีอาการมัวมากขึ้น จึงได้นิมนต์พ่อท่าน มาพบแพทย์
เพื่อตรวจดูว่า ตามัวจากเหตุผิดปกติอะไรหรือเปล่า จะได้แก้ไขป้องกันได้ทัน
หรือมัวจาก ความเสื่อม ของตาธรรมดา เป็นไปตามวัย ตอนแรก พ่อท่านมีท่าทีไม่ประสงค์
จะไปตรวจอะไร เข้าใจว่า พ่อท่านเกรงว่า จะต้องไปอยู่ในสถานการณ์ ที่จำนนต้องให้ทำเลเซอร์อีก
ด้านหมอพจน์รับว่า จะคุย ทำความเข้าใจ กับหมอก่อนว่า ขอมาตรวจสภาพตาดูก่อน
ยังไม่ได้ตัดสินใจ จะรักษาอย่างไร
พ่อท่านจึง ตกลงยอมไป
ให้หมอตรวจสภาพตา พอดีเป็นช่วงที่หมอสุขุมา ที่ดูแลรักษาตาของพ่อท่าน มาตั้งแต่ต้น
เดินทางไป ต่างประเทศ หมอพจน์ และ คุณเพ็ญเพียรธรรม ก็พยายามหาข้อมูล เกี่ยวกับหมอ
ที่เหมาะสม และคุยได้ ในเรื่องการตรวจ สภาพตาอย่างเดียว พอดีคุณต้นกล้า รู้จักกับหมอชัยรัตน์
จึงติดต่อ นัดหมาย ให้พ่อท่านมาพบหมอ ในวันนี้
หลังจากดูสภาพตาจากกล้องตรวจ
หมอชัยรัตน์บอกอาการตามัวของพ่อท่าน เป็นเรื่องของ ความเสื่อม ตามวัย ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงมาก
ไม่ต้องกังวลอะไร ส่วนสภาพจอประสาทตาเสื่อม เท่าที่ดูจากบันทึก ของหมอสุขุมา
และหมอนิมิต (ที่เชียงใหม่)แล้ว ยังเป็นอยู่ขนาดเดิม ไม่มีอะไรที่เสื่อม
มากไปกว่านี้ ตาขวา ที่จอประสาทตาเสื่อมนั้น ไม่ใช่ตาบอด เพียงแต่เป็นความเสื่อมตามวัย
แล้วมันเป็นจุดมืดตรงกลาง ตาขวานั้น ก็คงไม่เสื่อมไปกว่านี้ ปกติถ้าจอประสาทตาเสื่อม
ก็จะเสื่อมทั้งสองข้าง ตอนนี้ ก็ให้เฝ้าระวัง ข้างซ้าย เมื่อใดที่เริ่มเห็นภาพ
เป็นเส้นคดๆ ก็ให้รีบมาพบแพทย์ก็แล้วกัน
ทุกวันนี้ การรักษามีทางเลือกมากขึ้นกว่าใช้แสงเลเซอร์อย่างเดียว
มีทั้งการให้ยากิน และการผ่าตัด สรุปแล้วเป็นความเสื่อมตามวัย เป็นเรื่องปกติธรรมดา
ไม่มีอะไรที่น่ากังวล
"...ขณะนี้ตาข้างขวา
เห็นได้ประมาณรวมแล้ว ๓๐% จุดดำมันใหญ่ แล้วมันก็ดีขึ้นตรงที่จุดดำ มันเล็กลงบ้าง
แต่ความมัวมากขึ้น สรุปแล้ว มันไม่ได้ดีขึ้นหรอก ตามันเสื่อมลง ถ้าให้ดูตานี้ตาเดียว
ก็เท่ากับอาตมา มีการรับรู้ทางตา ได้ประมาณ ๒๕-๓๐ % เท่านั้นนะ
เห็นลางๆ เห็นไรๆ ไม่มีรายละเอียด
เห็นเป็นโครงสร้าง ตา หู จมูก อะไร ไม่เห็น มันก็เสื่อมลงไปเรื่อยๆ
เป็นธรรมชาติ
เขาบอกว่ามันมีเลือด แล้วเขาก็ทำเลเซอร์
ทีนี้เลือดมันคงกระจายตัว ยิ่งไปทำให้ฝ้ากระจายตัว ฝ้าในตัวพื้นในวุ้น ข้างในลูกตา
แต่ก่อนมันยังเห็นใสกว่านี้ เดี๋ยวนี้ ยิ่งมัวขึ้น มากขึ้น
สรุปแล้วก็คือ เห็นแย่ลง สุขภาพร่างกาย ก็แข็งแรงน้อยลง มันก็เป็นไปตามวัย
ทุกวันนี้ ยังทำงานได้ พอสมควร อย่างน้อย ก็พยายามทำ และก็พยายามที่จะปรับ
ไม่เป็นปฏิปักษ์ ต่อการเสื่อม ของชีวิตมากนัก...."
จากบางส่วนที่พ่อท่านบอกเล่า
ภาวะดวงตาของพ่อท่านเอง ในช่วงก่อนแสดงธรรม ทำวัตรเช้า ๔ เม.ย.๔๕ ในงานปลุกเสกฯ
ที่ศีรษะอโศก
ปิดท้ายบันทึกฉบับนี้
จากบางส่วนที่พ่อท่านได้กล่าวก่อนจบรายการตอบปัญหา สร้างพระแท้ๆ ของพุทธ
ในงานปลุกเสกฯ ๔ เม.ย.๔๕ ที่ศีรษะอโศก
"....ขณะนี้เป็นยุคของทศวรรษที่
๔ ที่จะมีตัวขยาย ชุมชนจะเพิ่มขึ้น กลุ่มหมู่ก็ควรจะต้องรวบรวม กันเข้ามา
ให้ดี
แต่ก่อนนี้บางชุมชน บางกลุ่มอยู่กันไม่ค่อยผาสุก
พอมี ธ.ก.ส.มาให้อบรม ตอนแรก ก็ทะเลาะกัน พอทะเลาะกัน ไปมาชักเมื่อย ชักจะเห็นว่ามันผลเสีย
ไม่ค่อยเข้าที ก็เลยปรับท่าที เอ๊ะ ทะเลาะน้อยลงหน่อย เรายอมบ้าง มันก็เลยดูชักดี
เหตุปัจจัยมันบังคับ ทำให้เราเกิด บางแห่งหลายปีมาแล้ว ยังไม่ค่อยเข้าท่าเลย
บางแห่งยังไม่นาน เพิ่งใหม่ๆ แต่รวมกันติด บางกลุ่มก็ยังไม่ค่อยจะดีนัก ก็พยายามทำใหม่
ทำดีดีนะ ส่วนคนที่ยัง เป็นเจ้าไม่มีศาล ล่องลอย ร่องแร่งๆๆๆ หาศาลลงเสียบ้าง
ตอนนี้ต้องการผู้ที่จะมารวมพลัง รวมแก่น รวมกลุ่มมาช่วยกัน ถ้าพวกเราไม่เข้าใจ
มันก็เท่ากับเราพาซื่อ เซ่อๆ ไม่รู้เรื่องว่าอะไรเกิดขึ้น ตอนนี้กลุ่มต่างๆ
รวมตัวกันขึ้นเป็นธรรมชาติ แต่แนวลึกๆ มันคือตัวเรา
เราเอาจริงเอาจังแค่ไหน เรามีปัญญารู้ว่า เราควรขมีขมัน ควรจะเร่งรัดอันนั้นขึ้นจริงไหม
แต่ละคน ให้ไปตรวจตัวเอง แล้วก็เร่งรัดตัวเอง เข้ามาหามวลกลาง ในๆ
เพื่อจะได้เป็นพลังที่จะโตขึ้น แล้วคุณภาพก็จะได้ดีขึ้น แม้แต่คนรอบนอก มาได้รับรู้
เดี๋ยวนี้ก็ดูง่ายขึ้น ซึ่งแต่ก่อนนี้ เราก็มีการขยายผลเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้เป็น
เหมือนตอนนี้ มันเหมือนถึงเวลา แต่ก่อนก็ไม่ค่อยเห็น แต่ตอนนี้ก็เห็น มาถึงวันนี้
มัน ๒๐-๓๐ ปี ขึ้นมาแล้ว ทุกอย่าง มันก็กระจายตัว อยู่ในสังคมมนุษย์นี่แหละ
มันจะเห็นรูปธรรม เห็นอัตรา การก้าวหน้า มากกว่าเดิม
ก็ขอเตือน เข้าไปที่แต่ละบุคคล อย่าช้า อย่าช้า เร่งขึ้น เร่งมากๆขึ้น จะเห็นได้ว่า
คนเก่าก็จะเวียนกลับมา คนใหม่ ก็จะเติมเต็มขึ้น แม้แต่เด็กๆเล็กๆ มารวมกันสร้าง
มารวมกันทำ อาตมาไม่เคยขออย่างนี้ แต่ก่อน มีแต่ต้านเอาไว้
อย่าเพิ่งๆๆ ให้มันสุกงอมเสียก่อน ตอนนี้อยากให้พวกเรา เข้ามาเป็นมวลที่แน่น
ถ้าแน่นแล้ว มีปริมาณ มากพอ อะไรก็ตีไม่แตกง่ายๆ...."
* อนุจร
๒๘ พ.ค.๔๕
(สารอโศก
อันดับที่ ๒๔๙ มิถุนายน ๒๕๔๕)
|