หน้าแรก>สารอโศก

กว่าจะถึงอรหันต โดย...ณวมพุทธ

เป็นพระพุทธมารดา
เป็นมหากุศลใหญ่
เป็นรัตตัญญูกว่าใคร
ผ่องใสอรหัตตคุณ

พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี

ในอดีตกาลเนิ่นนานไกลโพ้น ยุคสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ชาตินั้น พระมหาปชาบดี โคตมีเถรี ได้เกิดในตระกูลอำมาตย์ สมบูรณ์ด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกทุกสิ่ง ร่ำรวยมีทรัพย์มาก เจริญรุ่งเรือง อยู่ในกรุงหังสวดี

วันหนึ่ง นางพร้อมกับบิดาซึ่งห้อมล้อมด้วยบริวาร พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ขณะได้ฟังธรรม พระพุทธองค์ ทรงแต่งตั้ง ภิกษุณีผู้เป็นพระมาตุจฉา (น้าสาว) ไว้ในตำแหน่งที่เลิศ

นางเกิดจิตศรัทธายิ่งนัก ปรารถนาตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง จึงถวายมหาทาน และปัจจัย (ของจำเป็น ในการ ดำรงชีวิต) จำนวนมาก แด่พระพุทธเจ้าพร้อมหมู่สงฆ์ตลอด ๗ วัน แล้วอธิษฐาน (ตั้งจิต) มุ่งหมาย ตำแหน่งนั้น

พระปทุมุตตระพุทธเจ้าทรงได้พยากรณ์ท่ามกลางพุทธบริษัทว่า
"ในอนาคตกาล ยุคของพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม สตรีนางนี้จะได้เป็นสาวิกา (สาวกหญิง) ของ พระศาสดา พระองค์นั้น มีนามว่า โคตมี นางจะได้เป็นพระมาตุจฉา บำรุงเลี้ยงชีวิต ของพระพุทธเจ้า พระองค์นั้น แล้วจะได้ความเป็นเลิศกว่า ภิกษุณีทั้งหลาย ในด้านรัตตัญญู ผู้รู้ราตรีนาน (บวชนาน รู้เหตุการณ์ ต่างๆมาก)"

นางได้ฟังพระพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ปลาบปลื้มบันเทิงใจมาก ได้บำเพ็ญบุญ บำรุงพระพุทธเจ้า และ หมู่สงฆ์ จนตลอดชีวิต

ครั้นตายแล้วก็ไปสุคติ(ทางดำเนินที่ดี) โลกสวรรค์(สภาวะสุขของผู้มีจิตใจสูง) เสพสุขอยู่นาน ตราบกระทั่ง พายุแห่งกรรม พัดพาให้ไปเกิดเป็นลูกทาส อยู่ในอาณาเขตของพระเจ้ากาสี แล้วได้เป็น ภรรยา ของหัวหน้าทาส ซึ่งบ้านหลังนั้น มีทาสทั้งสิ้น ๕๐๐ คนอาศัยอยู่

วันหนึ่ง มีพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ พระองค์ บิณฑบาตเข้าไปสู่บ้านหลังนั้น พบเห็นแล้ว น่าเคารพ สักการะยิ่ง นางกับสามีและญาติทุกคนมีจิตยินดีเลื่อมใส จึงร่วมกันสร้างกุฎี ๕๐๐ หลังถวาย และ อุปัฏฐาก (รับใช้ดูแล) พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ตลอด ๔ เดือน

จากผลบุญเหล่านั้น เมื่อตายแล้วก็ได้ไปสู่สวรรค์ ตราบกระทั่งถึงภพสุดท้าย ได้เกิดอยู่ในกรุงเทวทหะ เมืองหลวง ของแคว้นโกลิยะ มีพระชนก (บิดา) ทรงพระนามว่า อัญชนศากยะ พระชนนี (มารดา) ทรงพระนามว่า สุลักขณา และเป็นพระภคินี(น้องสาว)ของพระนางสิริมหามายา โดยชื่อว่า พระนางปชาบดี

ต่อมาเมื่อพระนางสิริมหามายาสิ้นพระชนม์แล้ว หลังจากที่ประสูติเจ้าชายสิทธัตถะได้ ๗ วัน พระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นศากยะ ทรงสู่ขอพระนางปชาบดี เป็นพระมเหสี ให้เลี้ยงดู เจ้าชายสิทธัตถะ จนเติบโต โดยมีเจ้าชายนันทะ เป็นโอรสของพระนางเองด้วย

ครั้นเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงออกบวช บำเพ็ญเพียรกระทั่งบรรลุธรรม ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วได้เสด็จ ไปแสดงธรรม โปรดพระเจ้าสุทโธทนะ จนบรรลุอรหัตตผล หลังจากนั้น ๗ วัน พระพุทธบิดา ก็เสด็จปรินิพพาน พระนางมหาปชาบดีโคตมี จึงมีพระประสงค์จะผนวช

พระนางจึงเข้าเฝ้ากราบทูลอ้อนวอนกับพระพุทธองค์ว่า
"ขอประทานวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอสตรีพึงได้ออกบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัย ที่พระตถาคต ประกาศแล้ว ด้วยเถิด"

แต่พระศาสดาตรัสห้ามไว้
"อย่าเลย โคตมี เธออย่าชอบใจการที่สตรีออกบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศ แล้วเลย"

แม้พระนางจะพร่ำทูลขออีกเป็นครั้งที่ ๒.......ครั้งที่ ๓ แต่พระศาสดา ก็ไม่ทรงอนุญาต สร้างความ น้อยพระทัย เสียพระทัย เป็นทุกข์ มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ทรงกันแสง พลางถวายบังคม แล้วเสด็จกลับไป

ต่อมา....พระนางทรงปลงพระเกสา ทรงนุ่งห่มผ้าย้อมฝาด พร้อมด้วยหญิงสาว ในศากยวงศ์ จำนวนมาก ที่ประสงค์ จะบวชด้วย พากันเดินทางไปกรุงเวสาลี มุ่งหมายเข้าเฝ้าพระศาสดา ที่เสด็จไป ยังที่นั้น แต่พอดี ได้พบกับ พระอานนท์ก่อน พระอานนท์สงสารเห็นใจ เพราะเห็นพระนาง มีพระบาททั้งสองพอง พระวรกาย เต็มไปด้วยฝุ่น เศร้าโศก เสียพระทัย กันแสงอยู่

พระอานนท์จึงเข้าเฝ้าพระศาสดา แล้วทูลขอร้องให้สตรีได้บวช แต่พระพุทธองค์ตรัสว่า
"อย่าเลย อานนท์ เธออย่าชอบใจการที่สตรีออกบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย"

แม้พระศาสดาจะตรัสห้าม แต่พระอานนท์ก็ทูลขออีกเป็นครั้งที่ ๒.....ครั้งที่ ๓ พระศาสดาก็ไม่ทรงอนุญาต

แต่พระอานนท์ยังขวนขวายจะให้สตรีได้บวช จึงทูลถามว่า
"พระพุทธเจ้าข้า สตรีออกจากเรือนแล้วได้บวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยของพระองค์แล้ว ควรหรือไม่ เพื่อทำให้บรรลุแจ้ง ในโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล หรือแม้อรหัตตผล"

"ดูก่อนอานนท์ ย่อมควรเพื่อทำให้บรรลุแจ้ง"

"ถ้าสตรีสามารถบรรลุแจ้งในโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล แม้อรหัตตผลได้ ก็พระนาง มหาปชาบดีโคตมี เป็นพระมาตุจฉาของพระองค์ มีอุปการะมาก เมื่อพระชนนีสวรรคตแล้ว ได้ประคับ ประคองเลี้ยงดู ได้ถวายขีรธารา (น้ำนม) ให้พระองค์เสวย จึงขอประทานวโรกาส ขอให้สตรี พึงได้บวช เป็นบรรพชิตเถิด พระพุทธเจ้าข้า"

"ถ้าพระมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการได้ นั่นแหละจะเป็นการบวช ของพระนาง"

พระอานนท์จึงนำความนั้นไปแจ้งแก่พระนางให้ทรงทราบ พระนางก็ยอมรับครุธรรม ๘ ประการ สตรี ศากยวงศ์เหล่านั้น จึงพลอยได้รับ อุปสมบทด้วย

ครั้นการอุปสมบทเรียบร้อยแล้ว พระอานนท์จึงเข้าเฝ้าพระศาสดา พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสแก่ พระอานนท์ว่า
"ดูก่อนอานนท์ ก็ถ้าสตรีไม่ได้บวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว พรหมจรรย์ จะตั้งอยู่ ได้นาน สัทธรรม (ธรรมะแท้ของคนดี) จะตั้งอยู่ได้ตลอดพันปี แต่เพราะสตรีบวช ในธรรมวินัยนี้ บัดนี้พรหมจรรย์ จะตั้งอยู่ไม่ได้นาน สัทธรรมจะตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปีเท่านั้น เปรียบเหมือน ตระกูลใด มีหญิงมาก มีชายน้อย ตระกูลนั้น ย่อมถูกโจรกำจัดได้ง่าย แม้ฉันใด เราบัญญัติครุธรรม ๘ ประการ แก่ภิกษุณี เพื่อไม่ให้ภิกษุณี ละเมิดตลอดชีวิต ฉันนั้นเหมือนกัน"

ฝ่ายพระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้บวชเป็นภิกษุณีแล้ว ก็พากเพียรบำเพ็ญธรรมทั้งปวง ไม่นานนัก ก็ได้บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์ องค์หนึ่งในโลก แม้ภิกษุณีเหล่าศากยวงศ์ ก็บรรลุธรรมเช่นกัน

ตราบจนกระทั่งเวลาอันควรปรินิพพานมาถึง ทั้งพระมหาปชาบดีโคตมีเถรีกับเหล่าภิกษุณี ๕๐๐ องค์ ได้ไปเข้าเฝ้า พระศาสดา กราบทูลว่า
"ข้าแต่พระสุคตเจ้า หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์ แต่พระองค์เป็นพระบิดา ของหม่อมฉัน รูปกาย ของพระองค์นี้ หม่อมฉันให้พระองค์ ดูดดื่มน้ำนม ทำให้เจริญเติบโตแล้ว แต่พระองค์เป็น ผู้ประทาน ความสุข อันเกิดจากพระสัทธรรม ให้หม่อมฉัน ได้ดูดดื่มแล้ว

หม่อมฉันได้เป็นพระพุทธมารดาแล้ว ความปรารถนาน้อยใหญ่ทั้งปวง ได้บำเพ็ญแล้ว กับพระองค์ บัดนี้หม่อมฉัน ปรารถนาเพื่อจะทิ้งร่างนี้ ปรินิพพาน ขอพระองค์ทรงอนุญาตด้วยเถิด

ข้าแต่พระองค์ผู้เลิศโลก ธรรมดาสตรีทั้งหลายรู้กันว่ามีแต่จะก่อโทษ ถ้าโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง ของหม่อมฉันมีอยู่ ขอพระองค์ได้โปรด กรุณาอดโทษแก่หม่อมฉัน แม้หม่อมฉัน ได้ทูลขอบ่อยๆ ให้สตรี ทั้งหลาย ได้บวช ถ้าโทษในข้อนั้น มีแก่หม่อมฉัน ขอได้ทรงโปรดอดโทษนั้นเถิด"

"ดูก่อน โคตมี ผู้ประดับไปด้วยคุณ โทษที่ท่านจะพึงให้อด จะพึงมีอะไร เมื่อท่านบอกว่า จะลานิพพาน ตถาคต จะกล่าวอะไร ให้มากไปเล่า จงรู้กาลอันควรเถิด แต่ยังมีคนพาลสงสัย ในการตรัสรู้ธรรม ของสตรี ทั้งหลาย ท่านจงแสดงอิทธิฤทธิ์ เพื่อละเสีย ซึ่งทิฐิของคนพาลนั้นก่อน"

พระโคตมีเถรี จึงแสดงฤทธิ์ต่างๆเป็นอันมาก ตามที่พระพุทธานุญาต เสร็จแล้วกราบทูลลา

"ข้าแต่พระมหามุนีผู้เป็นนายกของโลก หม่อมฉันมีอายุได้ ๑๒๐ ปี เพียงเท่านี้ก็พอแล้ว หม่อมฉัน ขอทูลลานิพพาน"

พระโคตมีเถรีพร้อมด้วยภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ ได้พากันหมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระศาสดา แล้วกราบทูลว่า

"หม่อมฉันจะไม่ได้เห็นพระพักตร์ของพระองค์อีกแล้ว นี้เป็นการได้เห็นครั้งสุดท้าย หม่อมฉันจะไม่ได้ ถวายบังคม พระยุคลบาทของพระองค์ ซึ่งละเอียดอ่อนดีอีกแล้ว วันนี้หม่อมฉัน จะเข้านิพพาน"

พระศาสดาจึงตรัสสอนให้เป็นครั้งสุดท้าย
"จะมีประโยชน์อะไรด้วยรูปกายนี้แก่ท่านในกาลปัจจุบัน รูปนี้ล้วนปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ไม่น่ายินดี เป็นของเลวทราม"

แล้วภิกษุณีทั้งหมดนั้น ก็กลับไปสู่สำนักนางภิกษุณีของตน แล้วเข้าสู่ปรินิพพาน

หลังจากนั้นก็นำเอาพระสรีระสุดท้ายของพระโคตมีเถรี และภิกษุณีเหล่านั้น นอนบนจิตกาธาน (เชิงตะกอน ที่เผาศพ)

เมื่อพระสรีระถูกเผาแล้ว เหลือแต่อัฐิ(กระดูก) พระศาสดาทรงประคองพระธาตุเหล่านั้น ด้วยฝ่าพระหัตถ์ ตรัสว่า
"สังขารเป็นสภาพไม่เที่ยง พระโคตมีผู้เป็นใหญ่ ในหมู่ภิกษุณี จึงต้องนิพพาน แม้แต่สรีระ ก็ยังไม่เหลือ ไม่ควรเศร้าโศก คร่ำครวญ ถึงผู้ข้ามสงสารไปแล้ว ผู้ละเว้นเหตุ ที่ทำให้เดือดร้อนได้แล้ว ผู้เยือกเย็น ดับสนิทดีแล้ว พระพุทธมารดาเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก ปัญญากว้างขวาง ทั้งเป็นผู้รู้ราตรี นานกว่า ภิกษุณีทั้งหลาย

จงรู้ไว้เถิดว่า พระโคตมีเถรีเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ทิพพโสตธาตุ เจโตปริยญาณ
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ชำระทิพยจักษุหมดจด มีญาณอันบริสุทธิ์ ในอรรถะ ธรรมะ นิรุตติ และปฏิภาณ อาสวะทั้งปวง หมดสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว

ท่านทั้งหลายจงมีตนเป็นที่พึ่ง มีสติปัฏฐานเป็นโคจรเถิด จงอบรมโพชฌงค์ ๗ ประการแล้ว จะกระทำที่สุด แห่งทุกข์ได้"

* ณวมพุทธ
พฤ.๑๑ ก.ค.๒๕๔๕ (พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๕๑๓, เล่ม ๓๓ ข้อ ๑๕๗ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๔ หน้า ๒๓๗)

(สารอโศก อันดับที่ ๒๔๙ มิถุนายน ๒๕๔๕)