ธารน้ำใจ

กระแสธารน้ำใจ ที่ไหลบ่าสู่ วัชราภรณ์ สุขสวัสดิ์ บ่งบอกถึงสิ่งหนึ่งที่ยังไม่ขาดหายไปจากสังคมไทย และโลกนี้ ยังมีมุมที่สวยสด งดงาม ตราบที่ยังมีคนดี

จากบทสัมภาษณ์พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ถึงเหตุผลในการจัดคอนเสิร์ตธารน้ำใจ และ หลากหลายคำถาม ที่สงสัย ไม่ชัดเจน ทำไมจัดคอนเสิร์ตในวัด

การร้องรำทำเพลงเป็นบาป พาตกนรกใช่หรือไม่

งานธารน้ำใจสู่วัชราภรณ์ที่จัดผ่านไป
พ่อท่านคิดว่ามีผลอย่างไรต่อสังคม และชาวอโศกคะ?

การจัดคอนเสิร์ตธารน้ำใจสู่วัชราภรณ์ สุขสวัสดิ์ เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างมาร่วมมือกันเสียสละ คนละเล็ก ละน้อย ใครมีมากก็สละมาก ใครมีน้อยก็สละน้อย เพื่อรวบรวมเงิน ไปช่วยรักษาไต ของวัชราภรณ์ ผลที่เกิดขึ้น กับสังคม เป็นเรื่องของการแสดงออก ถึงความมีน้ำใจ เกื้อกูล เอื้อเฟื้อเจือจาน สำหรับ ความเป็นมนุษย์ในสังคม ถ้าผู้ใดมีคุณค่า เหมาะสมกับที่จะได้รับการอุดหนุนจุนเจือ เราก็ช่วยกันอุปถัมภ์ ค้ำชู เป็นลักษณะของสังคมศาสตร์ ที่แท้จริง เพราะฉะนั้น ใครมีคุณค่าพอที่จะได้รับ การอุดหนุนจุนเจือ สังคมก็ควรจะได้แสดงน้ำใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน กระทำให้เป็นบทบาทหนึ่ง ของสังคม เรียกว่าเป็นพิธีการ หรือเป็นกิจกรรม อะไรอันหนึ่ง ที่สอดแทรกอยู่ ในสังคมโลก เพียงแต่พิธีกรรมนี้ เกี่ยวข้องกับ เรื่องทางจิต วิญญาณ ทางน้ำใจ ซึ่งเราทำขึ้นเพื่อประสานกับสังคม แสดงให้เห็นว่าเราก็อยู่ในโลก อยู่ในสังคม และ มีส่วนร่วม มีส่วนเกื้อกูลในสังคมนี้ คนละไม้คนละมือ ร่วมกันแสดงออกถึงอะไรต่างๆนานา ที่สังคม ควรจะได้ร่วมไม้ร่วมมือกัน เป็นการกระทำงานอันหนึ่งที่เป็นหน้าที่ของมนุษย์ในสังคม ที่พึงจะทำ เมื่อ ๓-๔ ปีก่อน เราก็ทำมาแล้วครั้งหนึ่ง สำหรับวัชราภรณ์ คราวนี้ก็ทำอีก เมื่อถึงวาระที่เราเห็นว่า มันมีความจำเป็น ต้องเปลี่ยนไต ต้องมีค่าใช้จ่ายเหยียบล้านบาท เราก็ทำขึ้นมา

ในกิจกรรมนี้ มีการร้องเพลงเป็นการกุศล
แต่....พระพุทธเจ้าตรัสถึงเรื่องการร้องรำทำเพลงว่าเป็นนรก ตรงนี้ขัดแย้งไหมคะ ?

การร้องรำทำเพลงก็ดี เป็นนัจจะ คีตะ วาทิตะ เรื่องพวกนี้ เราต้องเข้าใจ เหมือนกับหลายคำสอน ของพระพุทธเจ้า ท่านปราม ท่านห้ามไม่ให้กระทำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้อแม้ ถ้าเป็นการ ร้องรำทำเพลง หรือ เป็นลีลานัจจะ ท่าทาง ส่วนคีตะก็คือ เรื่องของสุ้มเสียง สำเนียงต่างๆ วาทิตะ คือคำพูดคำจา คำกล่าวต่างๆนานา หมายถึงอย่างนั้น

ทีนี้ลักษณะท่าทีลีลา หรือคำพูดสุ้มเสียงที่ร้องออกมา ถ้าเป็นไปเพื่อศิลปะ มีลักษณะเป็น "มงคลอันอุดม" หมายความว่า เป็นสิ่งที่นำไปสู่ความประเสริฐ เป็นสิ่งที่นำพา ให้คนเจริญขึ้น อย่างจริงจัง ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ใช่ เป็นการมอมเมา อันเป็น "ข้าศึกแก่กุศล" ถ้ามีลักษณะเป็น "ข้าศึกแก่กุศล" ก็ไม่ใช่ "ศิลปะ" แต่อนาจาร ซึ่งไม่ควรประพฤติ นี่เป็นเงื่อนไขสำคัญ ท่านจึงตรัสไว้ชัดๆว่า สิ่งที่เป็นข้าศึกแก่กุศล ไม่ใช่ศิลปะ มันเป็นภัย แต่ถ้าเป็นศิลปะ ก็ควรกระทำ

ในความลึกซึ้ง หรือนัยะละเอียดพวกนี้ คนที่พาซื่อ ก็จะเข้าใจแต่หยาบๆ จริงอยู่ สำหรับคนที่อ่อนแอ จะใช้หลักเกณฑ์นี้ตีทิ้งไปก่อน ละเว้นไปก่อน เพราะว่าคุณเอง คุณก็ไม่มีอินทรีย์พละ ไม่รู้จักว่า อะไรควรจะรับมันเข้ามาแล้ว คุณก็แพ้ท่าเดียวอย่างนี้ ก็ควรละเว้นไปก่อน ก็ถูก แต่ถ้าเราเองมีอินทรีย์พละ มีปัญญา มีเจโตแข็งแรงพอสมควร และจริงๆเราก็สามารถที่จะปรุงให้เป็นศิลปะ ที่เป็นประโยชน์ เป็นมงคล อันอุดม มันก็ไม่ใช่อนาจาร ไม่ใช่สิ่งที่ท่านห้าม ไม่ใช่ข้าศึกแก่กุศล

อันนี้เป็นนัยะละเอียดที่จะต้องเข้าใจ และทำให้ถูกจริงๆ ถูกสัดส่วน ว่ามันชื่อว่า "ศิลป" หรือชื่อว่า "อนาจาร" ชื่อว่า "มอมเมา" หรือชื่อว่า "พาให้คนเสื่อม" หรือชื่อว่า "พาให้คนเจริญ" ซึ่งต้องมีภูมิปัญญาจริงๆ จึงจะแยก แบ่งได้ว่า อันไหนคือ"ศิลป" อันไหนคือ"อนาจาร" เดี๋ยวนี้มันเละเทะหมดแล้ว เพราะเอาค่านิยม ของสังคม กิเลส สังคมทุนนิยม บริโภคนิยม มาใช้ตัดสิน ซึ่งผิดเพี้ยนไปหมด

การร้องรำทำเพลงในการจัดคอนเสิร์ตของเรา ใครมาดูก็จะเห็นได้ว่า เราไม่ได้มีเจตนามอมเมา คนรับไม่ได้ถูกมอมเมา คนรับเบิกบานร่าเริง และก็มีสารัตถะ ในเพลงกาลต่างๆนานา แม้บางเพลง ที่เกี่ยวข้องกับความรักบ้าง ก็ไม่ได้ดูหยาบคาย ส่วนมากก็เป็นเพลง ที่มีเนื้อหาสาระที่ดีๆ แม้แต่เด็กแกรมมี่ ที่มาร้องเพลง ที่เขาจัดมา ก็เป็นเพลงที่ดี สังเกตซิ เพลงที่เขาร้อง ๓ เพลง ๖ เพลง เขาก็คัดเลือก เนื้อเพลงมา แม้ทำนองก็ตาม ก็นำมาจากเพลงไทยเดิม มาทำด้วยซ้ำ เนื้อหาสาระ ก็พอเป็นไปได้ ดูดี ไม่ได้ดู น่าเกลียดน่าชังอะไร

สำคัญอยู่ที่แกนนำ หรือองค์ประกอบของการจัดการ งานที่เราจัดขึ้นมา ผู้นั้นผู้นี้มาร่วมมือ เนื้อหาสาระ ที่แสดง ไม่ว่าจะเป็นนัจจะ คีตะใดๆก็ตาม ดูแล้วไม่ใช่เรื่องมอมเมา ไม่ใช่เรื่องพาเสีย ไม่ใช่เรื่องอนาจาร ไม่ใช่เรื่องที่ไม่น่าประพฤติ ในสังคมคนที่มีระดับ ที่จะต้องใช้ศิลปะเหล่านี้ เป็นกระสาย หรือเป็นสิ่งที่ เชื่อมโยงกับมนุษยชาติอยู่ เราต้องรู้จักใช้ให้เป็น เพราะมีคนที่เขายังจะต้องใช้อันนี้ เป็นสิ่งประกอบ ในชีวิตบ้าง เพื่อทำให้เกิดกำลังวังชา ความสดชื่น หรือมีประโยชน์ ในการกระตุ้น ให้เกิดเจริญ ทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เป็นเรื่องสมเหมาะสมควร ไม่ใช่พาซื่อดื้อๆ จนไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีรายละเอียด อะไรๆก็ตัดทิ้งหมด ในเมื่อพวกนี้ เราห้ามไม่ได้ เราก็ต้องจัดสรรปรุงแต่ง เรียกว่า รู้จักสังขาร ปรุงให้เป็นปุญญาภิสังขาร ให้เป็นสังขารที่มีปัญญา ปรุงให้เป็นบุญ หรือเป็นกุศล หรือ เป็นคุณค่า ที่ใช้เป็นประโยชน์ก็ได้ จึงเรียกว่า นอกจากเราทำอย่างมีเป้าหมายแล้ว เรายังมีความเข้าใจ และ มีปัญญารู้ว่า เราประมาณแล้ว อะไรมากไปน้อยไป เราก็ดูรู้ อะไรที่ไม่ดีไม่งาม เราก็ปรามก็ตัด เราก็เซ็นเซอร์ สิ่งใดที่ดูดี ดูพอเป็นพอไป เราก็ส่งเสริมให้ใช้ ไม่ใช่ทำโดยผลีผลาม ทำโดยไม่มีปัญญา

จริงๆ เราก็มีจุดประสงค์ ในการจัดงาน ส่วนอื่นก็เป็นองค์ประกอบ แน่นอนมันก็ต้องมีสุนทรียะ หรือ มีโลกียะผสมผสานบ้าง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ย่อมมีเป็นสามัญ แต่เราต้องรู้จักใช้มันเท่าที่ควร เพราะพวกเรา ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ ไปทั้งหมด เรามีคนทุกระดับ แม้แต่ปุถุชน

ฉะนั้น ต้องประมาณใช้สัปปุริสธรรม ๗ ประการให้เหมาะ ควรจะขนาดไหน อันนี้ต้องมีความรู้ มีความเข้าใจ ที่แท้จริง ที่จะจัดสรรให้ได้สัดส่วนที่ดีที่สุด ไม่มากไม่น้อยไป ด้านไหนหรือลักษณะไหน ควรจะมากหน่อย กาละอย่างนี้ บริษัทชุมชนกลุ่มคนอย่างนี้ มีเนื้อหาอย่างนี้ ควรจะทำแค่ไหน

คำกล่าวที่ว่า "สูงสุดคืนสู่สามัญ" มีความหมายใช้กับกรณีนี้อย่างไรคะ?

คือ ความสามารถของบุคคล เมื่อบุคคลใดมีภูมิธรรมที่แท้จริง มีภูมิฐานะ ที่มีคุณธรรม มีสมรรถนะสูงจริง ถ้าจะอนุโลม เพื่อผู้อื่น แต่ตัวท่านเองไม่ได้บกพร่อง หรือตัวท่านเอง ไม่ได้ตกเป็นทาสกิเลสอะไร ท่านอยู่เหนือ มันจริงๆ มีโลกุตระที่แท้จริง ถ้าจะอนุโลมเพื่อผู้อื่น ให้พอเหมาะพอสม เป็นประโยชน์แก่เขา หรือว่าใช้กับเขาบ้าง ให้เขาได้มีฐานที่อาศัย มีบันไดที่ไต่ขึ้นมา พัฒนาขึ้นมาสำหรับอาศัยขึ้นมาได้ สิ่งนี้เป็นศิลปะ เป็นศาสตร์ เป็นความรู้ที่สำคัญ ซึ่งท่านไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ไม่ได้เห็นแก่ตัว ท่านไม่ได้ ผลประโยชน์ ในการทำนั้น ท่านทำเพื่อผู้อื่นแท้ๆ ท่านไม่ได้อร่อย ไม่ได้มีโลกียรสนั้นแล้ว แต่ที่สำคัญ ต้องประมาณการอนุโลม ให้พอเหมาะพอสม แม้จะอนุโลมเพื่อผู้อื่น ก็ต้องมีปัญญารู้ เป็นสัตบุรุษ หรือมีสัปปุริสธรรม ๗ การที่จะประมาณอย่างที่ว่านี้ได้ ท่านต้องเป็นอาริยะ ที่มีคุณธรรม อย่างแท้จริง ท่านจะทำได้จริง โดยไม่ประมาท ท่านจะมีสติสัมปชัญญะ ที่รู้สิ่งเหล่านี้

พระอาริยะชั้นสูง ท่านจะประมาณโดยที่คนอื่นไม่มีภูมิรู้เท่าท่าน ก็อย่าไปว่ากราดอะไรท่าน ในหลักการ ของศาสนา จึงมีว่าพระอรหันต์ท่านจะทำอันโน้นอันนี้ แม้จะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ของพระวินัยด้วยซ้ำ แต่พระพุทธเจ้า ก็บอกว่า พระอรหันต์นี่ยกไว้ มีสติวินัยเป็นต้น ท่านทำอะไร แม้จะละเมิด หลักเกณฑ์ อะไรบ้าง ก็ต้องยกให้ท่าน เพราะท่านได้ประมาณแล้ว นี่เป็นข้อยกเว้น ซึ่งเป็นการตีกลับ หรือปฏินิสสัคคะ เป็นสภาพ ที่ย้อนแย้ง ที่เรียกว่า "สัจจะย้อนสภาพ หรือ สูงสุดคืนสู่สามัญ" นั่นเอง แต่สิ่งเหล่านี้ ต้องอนุโลม ปฏิโลม อย่างสมเหมาะสมควร ท่านจึงไม่ให้เอาผิด ไม่ให้ปรับอาบัติพระอรหันต์

สำหรับคนที่ภูมิต่ำกว่าอรหันต์ ก็ไม่ควรลอกเลียน เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง และชอบมาตีกิน ตัวเองไม่ใช่ แต่ตัวเอง ก็อวดดิบอวดดี เพราะคนเรามีกิเลสมักใหญ่ อยากใหญ่ อยากจะทำอย่างเขา ทั้งที่ยังไม่จริง นี่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องเสียหายได้ การทำตามอย่างผู้อื่น โดยที่ตัวเองอยู่ในฐานะ ที่ไม่สมควรจะทำ แต่ก็อวดดี ไปทำผิดฐานะ นี่แหละสำคัญ ซึ่งหมู่กลุ่ม ก็ต้องช่วยกันตรวจสอบ


การเป็นผู้ให้อย่างรู้จักประมาณ อนุโลมเพื่อผู้อื่น ก็เข้าใจแล้ว แต่......พ่อท่านคะ
มีคนอยู่ ประเภทหนึ่ง ชอบเป็นผู้ให้ แต่ตัวเองไม่ชอบเป็นผู้รับ หมายความว่าอย่างไร?

ในโลกต้องมีทั้งปฏิคาหก ต้องมีทั้งทายก มีทั้งผู้ให้และผู้รับ เพราะฉะนั้น ถ้าเราสมควรจะเป็นผู้รับ ให้เขาได้ให้เราบ้าง แม้เราจะยิ่งใหญ่แล้ว หรือเราจะมีมากแล้ว เราก็ควรอนุโลม ต้องเป็นปฏิคาหก เป็นผู้ที่รับทานของผู้อื่น ให้ผู้อื่นได้ช่วยเหลือ เราเป็นผู้สนอง ต้องมีผู้สนองตอบ ถึงจะสมดุล

จริงอยู่แม้ผู้รับไม่ต้องการจะรับ ไม่ต้องการเอามาเป็นของตัวเอง แต่เราต้องมีปัญญา ที่จะรับไป เพื่ออนุโมทนาทาน เพื่อยินดีในสิ่งที่เขาได้ปฏิบัติเป็นตัวทายก เป็นผู้ให้ เป็นผู้เสียสละ เราก็ต้องทำตน เป็นผู้รับ ถ้าไม่มีผู้รับ คนนี้ก็ไม่รับ คนโน้นก็ไม่รับ และก็บอกพระพุทธเจ้าสอนให้ทำทานกับคนที่มีภูมิธรรมสูง จะยิ่งมีคุณค่า เป็นนาบุญ เป็นทักขิเณยยะ ผู้ควรได้รับของทาน มันก็จริง เมื่อเราเป็นผู้รับ แม้ใจเรา ไม่ได้ต้องการจะรับ บางครั้งเราก็ไม่รับให้เป็นรูปธรรมให้เห็นว่า เราปฏิเสธสิ่งนี้ ไม่ควรรับ แต่บางครั้ง เราก็รับ เพื่อที่จะนำสิ่งเหล่านั้น ให้เกิดการสงเคราะห์ทานเขา เราเป็นปฏิคาหกให้เขา เป็นทักขิเณยยะให้เขา เราเป็นผู้รับ แล้วเราก็นำสิ่งเหล่านี้ไปทำประโยชน์อื่นต่อ ก็เป็นสิทธิของเราแล้ว เราจะนำไปสร้างประโยชน์ อันควรยิ่งๆ อื่นๆได้ต่อไป เรียกว่าเนื้อนาบุญงอกต่อๆไปไง

พวกนี้เป็นความหมาย ของธรรมะ เป็นสิ่งจริง เป็นสัจธรรม ที่เราจะต้องรู้กาละเทศะ รู้จักโอกาส ที่ควรทำ อย่างเหมาะสม ไม่ใช่พาซื่อ เป็นคนที่ไม่มีปัญญา ไม่รู้จักความเหมาะความควร ยืดหยุ่นไม่เป็น เล่นบทเดียว เล่นประตูเดียว มันก็ไม่เจริญ แต่บางครั้งบางที บางกาละ ที่เราต้องเคร่งครัด เราจะไม่รับเลย ก็ต้องมีโอกาส ที่เราจะฝึกฝน ซึ่งถ้าเราสะอาดแล้ว เราก็ต้องเข้าใจตัวเอง ต้องรู้ความจริง ต้องมีญาณปัญญา อ่านจิต อ่านใจ อ่านกิเลสที่แท้จริง นี่คือสังคมศาสตร์ ที่เราจะต้องปฏิบัติให้ได้สัดส่วนที่ดี

บนเส้นทางสายบรรลุธรรม
มากด้วยพญามารที่พาเราหลงวกวน
เพื่อดึงเราให้เนิ่นช้า ให้ตกร่วง
ฤาษีผู้โดดเดี่ยว
ผู้ยึดมั่น ถือมั่น ไม่แปรเปลี่ยน
จึงคือเหยื่ออันโอชะของมัน
มีแต่พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ผู้อ่อนโยนด้วยสายใยแห่งพี่น้อง
ผู้พร้อมรับต่อคำติงเตือน
และผู้ยึดมั่นต่อพุทธวจนะ
"มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี
เป็นทั้งหมดทั้งสิ้นของพรหมจรรย์"เท่านั้น !
จึงมีสิทธิรอดพ้นจากความเป็นเหยื่ออันโอชะนั้น

(สารอโศก อันดับที่ ๒๕๐กรกฎาคม ๒๕๔๕)