-
ไผ่ร่วมกอ
โรคเลปโตสไปโรซีส
(โรคฉี่หนู)
โรคนี้พบได้ทั้งในคนและสัตว์ โดยในสัตว์ที่เป็นพาหะนั้นอยู่รอบตัวเราเอง
มักพบในหนู วัว ควาย สุกร หมา แมว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวสำคัญที่พบบ่อยที่สุดคือ
หนูนั่นเอง ซึ่งเป็นที่มาของ โรคฉี่หนู เชื้อโรคนี้ เป็นเชื้อแบคทีเรีย ชื่อว่า
"เลปโตสไปร่า" แรกเริ่มนั้น หนูเป็นตัวแพร่โรคที่สำคัญ เพราะเชื้อจะอยู่ในไต
ของหนู เมื่อหนูฉี่ออกมา เชื้อก็จะออกมาด้วย และปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ดินโคลนที่ชื้นแฉะ
หนองบึง หรือในนาข้าว เมื่อเราไปย่ำน้ำ โดยไม่ใส่อะไรป้องกัน
การติดต่อ
โอกาสติดต่อจากคนสู่คนมีน้อยมาก ไม่ต้องรังเกียจ แต่เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์
สู่คนง่ายมาก เพียงจากฉี่หนู ที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ในน้ำ และที่แย่ก็คือ
เชื้อนี้สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำ ได้หลายเดือน และ สำหรับสัตว์นั้น ที่น่ากลัวก็คือ
เมื่อสัตว์เช่น วัว ควาย หมู ไปกินน้ำหรืออาหาร ที่มีเชื้อนี้เข้าไปในร่างกาย
เชื้อก็จะเข้าสู่กระแสเลือด และเข้าไปที่ไต ทุกครั้งที่สัตว์พวกนี้ฉี่ออกมา
ก็จะปล่อยเชื้อโรคออกมาด้วย
การเข้าสู่ร่างกาย
เชื้อแบคทีเรียเลปโตสไปร่า สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง โดยเฉพาะทางผิวหนังที่มีบาดแผล
หรือ รอยถลอก รวมทั้ง เยื่อบุตา เยื่อบุจมูก และเยื่อบุภายในปาก หรือติดต่อโดยการกินอาหารดิบ
โดยเฉพาะ เครื่องในสัตว์ และพืชผัก ที่ปนเปื้อนฉี่หนู เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
จะกระจายไป เจริญเติบโต ในกระแสเลือด และอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะ
อวัยวะสำคัญ เช่น หลอดเลือด ตับ ไต ปอด และกล้ามเนื้อ
อาการของผู้ป่วย
อาการป่วยด้วยโรคเลปโตสไปโรซีสที่ไม่รุนแรง จะเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
เฉลี่ยประมาณ ๑-๒ สัปดาห์ บางคนจะไม่มีอาการใดๆเลย หรือ มีอาการไม่รุนแรง
และจนถึงมีอาการรุนแรง
อาการที่ไม่รุนแรง
คล้ายคนเป็นไข้หวัดใหญ่คือจะเริ่มจากการมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะคลื่นไส้
อาเจียนหรือท้องเสีย ตาแดง และมีอาการ ปวดกล้ามเนื้อน่อง หลัง หรือหน้าท้อง
บางคนอาจจะมีอาการเจ็บคอ เป็น ผื่น หรือไอร่วมด้วย อาการ ต่างๆ จะหายใน ๑
สัปดาห์ หลังจากนั้นบางราย จะมีอาการไข้ขึ้นมาใหม่อีก ๒-๓ วัน เนื่องจาก
ปฏิกิริยา ของภูมิคุ้มกัน ของร่างกาย
อาการที่รุนแรง
กลุ่มนี้เป็นอาการที่ทำให้โรคฉี่หนู เป็นโรคที่น่ากลัวโรคหนึ่ง ทำให้เสียชีวิตได้โดยง่าย
หากไม่ได้รับการดูแล ที่เพียงพอ อาการสำคัญคือ ตัวเหลือง ตาเหลือง ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้คือ
ไตวาย มีเลือดออกตามร่างกาย เช่น เลือดกำเดา ไอเป็นเลือดหรือจ้ำเลือดตามตัว
เมื่อเป็นมากขึ้น จะมีอาการของ หัวใจล้มเหลว
หากไม่ได้รับ การรักษาทันท่วงที ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตในที่สุด
การตรวจวินิจฉัย
แพทย์จะใช้วิธีการเจาะเลือด และเก็บปัสสาวะไปตรวจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักจะนิ่งนอนใจ
และไปพบแพทย์ เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้นแล้ว เพราะไม่รู้ว่า ป่วยด้วยโรคนี้
มักคิดว่าเป็นไข้ธรรมดา อาการสำคัญ คือปวดกล้ามเนื้อมาก มีไข้ ให้สงสัยไว้ก่อน
ให้พบแพทย์ เพื่อวินิจฉัย หากมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
เนื่องจากโรคฉี่หนู ชนิดรุนแรงนี้ อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น และทำให้ถึงตายได้
สาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคเลปโตสไปโรซีส
ส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากที่เชื้อลุกลามไปที่ไต ทำให้เกิด อาการช็อก ไตวาย
และเสียชีวิต ภายใน๑-๒ วัน หลังจากมีอาการ
การรักษา
แพทย์จะให้ยาไปรับประทาน ในรายที่เป็นมากก็จะฉีดยาให้ และให้นอนพักในร.พ.ประมาณ
๒-๗ วัน อาการจะทุเลาลงจนสามารถกลับบ้านได้
ชีวิตประจำวันต่อไปนี้
มีโอกาสติดโรคได้ง่าย
-ไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว หว่านแห โดยไม่สวมรองเท้าบู๊ต ทำให้เกิดบาดแผล รอยขีดข่วน
จึงติดโรคได้ง่าย
-เดินเท้าเปล่าในคอกสัตว์ โดยพื้นคอกสัตว์เปื้อนเยี่ยวสัตว์
-ชำแหละสัตว์โดยไม่สวมถุงมือ โดยเฉพาะทำอาหารจากหนู
-กินเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ที่ยังไม่ได้ปรุงให้สุก
-เดินย่ำน้ำ ลุยโคลน ที่น้ำขัง หรือชื้นแฉะ
-อาบน้ำ กลืนน้ำ และลืมตาในน้ำ ที่มีเชื้อโรคอาศัยอยู่
-กินผักสด ผลไม้ที่ปนเปื้อนเยี่ยวหนู และล้างไม่สะอาด
-ดื่มน้ำ กินอาหาร ที่ปนเปื้อนเยี่ยวหนู ที่ไม่ทำให้ร้อนก่อนกิน
การป้องกัน
เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคฉี่หนู ควรหลีกเลี่ยงจากแหล่งสกปรก บริเวณที่เป็นแหล่งสะสม
ของเชื้อโรค และควรปฏิบัติตัวให้ถูกสุขลักษะดังนี้
๑. หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ
ลุยน้ำหรือว่ายน้ำในขณะที่มีน้ำท่วมขัง ถ้าหากจำเป็น ต้องพยายามไม่ให้น้ำเข้าตา
จมูก หรือปาก
๒. หลีกเลี่ยงการเดินย่ำโคลน
ดินชื้นแฉะ ด้วยเท้าเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีบาดแผล รอยขีดข่วน ที่ขา
และเท้า ควรสวม รองเท้ายางหุ้มข้อ เพื่อการป้องกันเชื้อโรค
๓. ดูแลบ้านเรือนให้สะอาด
ไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งหากินของหนู ซึ่งเป็นพาหะนำโรค
๔. กำจัดขยะ ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และที่อาศัยของหนู
๕. ควรเก็บอาหารไว้ในที่มิดชิด
เพื่อป้องกันไม่ให้หนูถ่ายปัสสาวะรดอาหาร
๖. อาหารที่ค้างมื้อ เมื่อจะนำมากินในมื้อต่อไป
จะต้องนำมาอุ่นให้เดือดเสียก่อน เพื่อให้เชื้อโรค ที่อาจปะปน อยู่ในอาหาร
ถูกทำลายโดยความร้อน
๗. ถ้ามีบาดแผลหรือรอยถลอก
ควรปิดปลาสเตอร์ก่อนลงน้ำ
๘. นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคทุกปี
๙. ควรปิดฝาโอ่งน้ำหรือภาชนะบรรจุน้ำ
เพื่อป้องกันหนูมาถ่ายปัสสาวะลงไปในน้ำ
๑๐. ภาชนะที่ใช้ใส่อาหาร
ควรล้างทำความสะอาดก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อโรค
๑๑. ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหาร
(ข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน ฉบับที่ ๒๗๒ และ น.ส.พ.ไทยรัฐ)
(สารอโศก
อันดับที่ ๒๕๐ กรกฎาคม ๒๕๔๕)
|