รำลึกถึงคุณภูฟ้า
แพงค่าอโศก
|
ชาตะ
๑๒ ม.ค.๒๔๙๖
มรณะ ๒๑ ก.ค.๒๕๔๕
อายุ ๔๙ ปี |
ภูฟ้าจากไปไหวหวั่น
แพงค่าอนันต์พลันสลาย
อโศกอำลาอีกราย
ทิ้งรอยเท้ามากมายไว้บนภู
หัวใจหลายดวงยังห่วงหา
ภูผาเมฆน้อยยังคอยอยู่
น้ำแรงรินไหลไม่ห่างภู
รีบคืนสู่เหย้าของผองเราเทอญ
- อิสรา -
เช้าของวันที่ ๒๓ ก.ค.๒๕๔๕
รถบัสพาเรามาถึงปากทางเข้าพุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ มีรถกระบะสองคัน
รับพวกเราต่อไป จนถึงหมู่บ้านทุ่งจ๊อ เราต้องเดินเท้าข้ามสะพานแขวน และก้าวไปบนเส้นทาง
ที่เลื้อยเข้า สู่หุบเขา พอได้เหงื่อซึมนิดๆ ก็ถึงชุมชน
ญาติธรรมมาร่วมงานกันมากมายหลายร้อย
เนืองแน่นอยู่ภายในศาลาซาวปี๋ กระทั่งล้นออกมารอบนอก ช่วงก่อนฉัน สมณะทยอยกล่าวรำลึกถึงคุณความดี
และความประทับใจต่อคุณภูฟ้า
โดยส่วนตัวผม คบคุ้นกับคุณภูฟ้ามาเกือบ
๔ ปี เขามีบุคลิกของผู้นำอย่างแท้จริง เป็นผู้ใหญ่ ที่ผมให้ความเคารพเสมอมา
แม้เขาจะมิใช่นักบวชห่มผ้า เป็นเพียงฆราวาสธรรมดาคนหนึ่ง ทว่าซาบซึ้ง ในคำสอน
และบูชาพ่อท่านสุดเศียรสุดเกล้า
หลังเที่ยงเหล่าญาติๆและชาวบ้านใกล้เคียง
ซึ่งคุณภูฟ้าเคยให้การช่วยเหลือในด้านการงาน ฯลฯ กล่าวรำลึก ถึงผู้ตายด้วยความเศร้า
ผู้ใหญ่บ้านถึงกับน้ำตาไหลอาบแก้ม ขณะกล่าววาจา
บ่าย ๒ โมงเป็นรายการเทศน์หน้าศพโดยพ่อท่าน
ตอกย้ำให้หมู่เราเห็นแจ้งในสัจจะ ว่าสุดท้าย คนเรา ก็เหลือเพียงเท่านี้ ไม่สามารถเอาอะไรไปได้
มีแต่กรรมดี กรรมชั่วเท่านั้น
ญาติธรรมชายช่วยกันแบกโลงขึ้นบ่า
พ่อท่านเดินนำหน้าไปยังลานกองฟอน หลังเดินแสดงความเคารพ วนสามรอบ ญาติธรรมต่างนั่งรายรอบกองฟอนเป็นวงกลม
ท้องฟ้าอึมครึม แต่ฝนก็ไม่ตก
พ่อท่านกล่าวเตือนสติหมู่เราอีกครั้งว่า
สุดท้ายของชีวิตก็มาจบลงตรงนี้ ให้พวกเราตั้งตนอยู่กับการทำดี
อย่าประมาท
เหนือกองฟอนเป็นหลังคามุงหญ้าแห้ง
เปลวไฟแลบเลียฟืน พอถึงหลังคาก็กระพือลุกโชนขึ้นสูง เผาไหม้ร่าง ที่ไร้วิญญาณของคุณภูฟ้า
คืนสู่อ้อมกอดหุบเขาแพงค่าชั่วนิรันดร์
ตกเย็นพ่อท่านมาเอื้อไออุ่นกับญาติโยมที่ศาลาซาวปี๋
ทำให้ลูกๆต่างร่าเริงในธรรม บรรยากาศ แห่งความเศร้า ก็จางหาย
เช้าของวันที่ ๒๔ ก.ค.
พ่อท่านเทศน์ก่อนฉัน บอกเล่าถึงงานชุมนุมปราชญ์ชาวบ้านที่ศีรษะฯ ให้ชาวเหนือฟัง
แล้วเดินทาง ลงจากหุบเขา แพงค่าในยามบ่าย
เช้าวันถัดมา ผมก้าวขึ้นเรือนของพี่งานธรรม
ตัวเรือนสร้างจากปีกไม้ เรียบง่ายสมถะเหลือเกิน พี่งานธรรม เล่าเรื่องราว
ในอดีตให้ผมฟัง ย้อนหลังไปสิบกว่าปี บนเส้นทางที่ร่วมบุกเบิกมากับคุณภูฟ้า
"ประมาณปี ๒๕๓๐ พี่ภูฟ้าเดินทางมาที่นี่เพียงลำพัง
เขาหักร้างถางพง ติดต่อประสานงานกับชาวบ้าน ให้ขึ้นมาช่วยสร้างศาลาบรรพชน
บุกลุยคนเดียวมาก่อนใคร
ผมและน้องๆคนอื่นตามมาภายหลัง
เราช่วยกันถางป่า ปลูกผลไม้ ต้นองุ่นลงไปมากมาย แต่ก็ตายเรียบ พวกที่เหลือก็โตมาจนได้กินผลทุกวันนี้
ช่วงแรกเราขาดแคลนเรื่องอาหาร
กินแต่ของแห้งกันประจำ โปรตีนเกษตรแช่น้ำ กับซอสหนึ่งขวด เป็นอาหารหลัก
มีอยู่วันหนึ่ง หลังทำงานเหนื่อยล้ากลับมาที่พัก
เห็นผัดเห็ดป่าใบกระเพราวางรออยู่ มันอร่อยมาก เพียงเคี้ยว กลืนเท่านั้น
เหมือนเดินทางไปสู่สวรรค์ เรากินเข้าไปเต็มที่
แต่พอตกค่ำ เห็ดเจ้ากรรมก็ทำพิษ
ผมกับพี่ภูฟ้าต้องรีบเผ่นเข้าห้องน้ำ ไม่ต้องนอนกันเลย ขี้ไหล ตลอดคืน จนสว่าง
พี่น้ำแรง และเพื่อนหญิงอีก
๖ คน ตามมาสมทบ พวกเธอสวมชุดดำ มีสัญลักษณ์คำว่า "อภัย" ติดที่เสื้อ
ก้าวเข้าสู่เขตคามภูผาฟ้าน้ำ
พี่ภูฟ้าบ่นว่า มีผู้หญิงมาช่วย
๗ คน ถือว่าเป็นภาระที่หนักมาก กระนั้นพวกเธอก็ช่วยงานได้มากทีเดียว
พี่ภูฟ้าไม่เคยบังคับใคร
พี่ให้อิสระในการทำงาน และไม่เคยเรียกร้องให้ใครช่วย พี่จะตื่นมาเตรียมขี้เลื่อย
ทำเห็ดตี ๒ โดยไม่ยอมปลุกใคร พวกเราจะทยอยลุกมาช่วยภายหลัง พอฟ้าสาง ก็ลงแปลงขุดดินปลูกผัก
หากน้องเกิดปัญหาทะเลาะ
หรือมีเรื่องไม่เข้าใจกัน พี่ภูฟ้าจะคอยเป็นคนกลาง
รับฟังเหตุผลของทุกฝ่าย แล้วตัดสินด้วย ความเป็นธรรม ไม่เข้าข้างใคร
และเป็นที่ปรึกษาให้เราได้เสมอ
พี่ภูฟ้าเป็นคนมีน้ำใจมาก
เขาจะให้น้องๆกินข้าวไปก่อน แล้วตัวเองค่อยทานทีหลัง พี่น้ำแรง
จะช่วยแบ่ง อาหารไว้ให้ คอยซักผ้า และพับเสื้อผ้าจัดเก็บให้กับพวกเราทุกคน
เงินส่วนกลางพี่ภูฟ้าไม่เคยเอาไปใช้เป็นส่วนตัวเลย
น้องบางคนมาขอไปซื้อกินเล็กน้อยเท่านั้น
เขายัง บอกไม่ได้ แถมไล่ให้กลับไป ทำเอาน้องต้องร้องไห้ บอกพี่ใจร้าย และขี้เหนียว
กาลเวลาพาให้พวกเราบางส่วน
ค่อยๆทยอยลงดอยกันไป แต่พี่ภูฟ้าและพี่น้ำแรง ยังคงปักหลัก อยู่ภูผาฯ เรื่อยมา
กระทั่งพ่อท่านประกาศให้ดอยแพงค่าแห่งนี้ เป็นเสมือน โรงเรียนสมณะนวกะ ก่อเกิดเป็น
สังฆสถาน และเป็นพุทธสถาน ต่อมาในภายหลัง
พี่น้ำแรงจะหุงข้าวใส่บาตร
พี่ภูฟ้าจะคอยเอาใจใส่ที่พักสมณะ ช่วยถางป่าตัดหญ้า และคอยรับใช้ ตามแต่ท่านจะบอก
เป็นครอบครัว ที่มีศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม ในช่วงเวลานี้เอง ที่พี่น้ำแรง
ให้กำเนิด หนูน้อยแห้งแก๋ง
ช่วงต้นฤดูการทำนาปีนี้
ชาวชุมชนช่วยกันปักดำเช่นเคย ไม่มีใครส่ออาการเจ็บไข้ แต่หลังพี่ภูฟ้า กลับจาก
ไปพัก ที่บ้านพี่วิเชียรมา เขาเริ่มมีอาการท้องร่วง และมีไข้
ย่างเข้าวันที่สี่ อาการไม่ดีขึ้น
เราจึงพาพี่ไปหาหมอที่คลินิกแม่แตง หมอบอกพี่ภูฟ้าลำไส้ใหญ่อักเสบ
แล้วให้ยา กลับมาทาน
กระท่อมซึ่งตั้งอยู่บริเวณทุ่งนาริมทางเข้าภูผาฯ
พี่ภูฟ้าขอพักอยู่ที่นั่น นอนขดตัวไปมา ทานยาแล้ว อาการก็ไม่ดีขึ้น ผมบอกจะพาไปหาหมออีก
แต่พี่เขาปฏิเสธ ผมต้มข้าวตักใส่ชามส่งให้ "พี่ต้องกินนะ จะได้มีแรง
สู้กับโรค" พี่เขารับคำ แต่ก็ไม่กิน นับวันผ่านอาการยิ่งทรุดหนัก
คุณต้นกล้าผ่านมาเห็นพี่ภูฟ้าอาการร่อแร่
จึงบอกให้รีบนำส่งโรงพยาบาลด่วน ผมแบกร่างพี่เขาขึ้นหลัง ก้าวเดินไป ได้สักพัก
พี่ภูฟ้าก็บอกให้ปล่อยลง ขอให้ผมพยุงเดินไปจะเบากว่า
"ชีวิตคนเราช่างลำบากจริง
แค่จะเดินเองก็ยังทำไม่ได้"
พี่ภูฟ้าพูด กอดคอผมลากเท้าเดินไปช้าๆ เราคงใช้เวลา นานมาก กว่าจะไปถึงรถ
โชคดีระหว่างทางเจอ คุณภูหิน เขาตัวใหญ่ แรงเยอะ
จึงรับแบก ไปส่งต่อ เราพาพี่ภูฟ้า ส่งเข้าโรงพยาบาล นครพิงค์ทันที
"มีใบส่งมอบตัวมั้ย
ถ้าอาการดีขึ้น ก็ให้ย้ายกลับไปรักษาที่เดิม"
หมอหญิงพูดจา เสียงกระด้างกับผม เหมือนไม่เต็มใจ รับรักษา ผมรู้สึกอารมณ์ขึ้น
ขืนย้ายไปย้ายมา พี่ภูฟ้าตายกันพอดี
"ผมขอให้รักษา จนหายก่อนได้มั้ย
คนไข้อาการหนักมาก ไม่อยากย้ายไปไหน"
หมอหญิงแสดงอาการไม่พอใจ
ผมนำเรื่องนี้ไปเล่าให้พี่ภูฟ้าฟัง ร่างเขานอนแผ่อยู่บนเตียง
"บอกหมอไปว่าเราไม่ใช้บัตรทอง
เรามีเงิน และต้องการจ่ายเต็มที่"
ผมลงไปแจ้งที่เคาน์เตอร์ในโรงพยาบาล
บอกต้องการรักษาพี่ภูฟ้าด้วยเงิน ไม่ใช้บัตรทอง ย้ายเตียง เข้าห้องพิเศษไปเลย
หมอหญิงกลับมาอีกครั้ง คราวนี้พูดจากับผมเสียดิบดี ยังกับเป็นคนละคน ไม่เหลือ
คราบหยาบคาย อย่างที่ผ่านมาเลย
ผมนอนเฝ้าไข้อยู่หน้าห้อง
ตกดึกประมาณสี่ทุ่ม ผมก้าวเข้าไปดู ภาพตรงหน้าทำเอาผมใจหาย ที่อกเสื้อ พี่ภูฟ้าเลอะไปด้วยเลือดแดงสด
มันคงพุ่งออกมาทางจมูก ผมช่วยเอากระดาษชำระ เช็ดออกจนหมด
ตอนเช้า ผมเข้าไปเยี่ยมอีกครั้ง
พี่ภูฟ้าบอกขอดื่มน้ำ ป้ายแขวนไว้ที่เตียงบอกว่า งดน้ำและอาหาร
"หมอเขาบอกห้ามดื่มน้ำนะพี่"
"แอบดื่มไปแล้วสามครั้ง"
พี่ภูฟ้าตอบมาแผ่วเบา
ช่วงเวลา ๘-๙ โมงเช้า
พี่ภูฟ้ามีอาการชัก (ไตวาย) ผมตกใจมาก รีบบอกพยาบาลให้เข้ามาดู อีกห้านาที
หมอก็ตามเข้ามา พวกเขารุมช่วยกันใหญ่ หมอฉีดยานอนหลับให้ แล้วหันมาบอกว่า
พี่ภูฟ้าเป็นโรคฉี่หนู อาการ ๕๐-๕๐ เตรียมบอกญาติให้มาดูใจด้วย
ผมฟังแล้วเข่าอ่อน รีบโทรศัพท์บอกญาติธรรม
บอกพี่น้ำแรง และแจ้งให้พ่อท่านทราบ
ญาติธรรม ต่างรีบพากันมา
ที่โรงพยาบาล ปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า ควรย้ายไปรักษาที่ โรงพยาบาล เชียงใหม่ราม
๑
ที่เชียงใหม่ราม ๑ ร่างพี่ภูฟ้าถูกเข็นเข้าห้อง
ซีไอยู เครื่องมือช่วยชีวิตไฮเท็คมากมาย ถูกขนมา เพื่อช่วยชีวิต ผู้ชายคนหนึ่ง
เครื่องช่วยหายใจ และสายระโยงระยางไปทั่วร่าง ผมยืนมอง ด้วยความรู้สึก ที่บอกไม่ถูก
ผมนอนเฝ้าไข้ อยู่หน้าห้อง
หมอบอกปอดพี่ภูฟ้า มีของเสียตกค้างมากเกินไป ต้องรักษาด้วยการฟอกเลือด ฟอกครั้งแรก
ดูเหมือนอาการจะดีขึ้น เนื้อตัวกลับมีสีเลือดฝาด ราวกับเขาตายแล้วฟื้นคืนมาใหม่
พวกเรา รู้สึกสบายใจ คิดว่าคงหายแน่แล้ว
แต่หมอบอก ของเสียในปอด
ยังตกค้างในปริมาณที่มากเกินไป ต้องฟอกเลือดครั้งที่สอง คราวนี้ดวงตา พี่ภูฟ้าใสแจ๋วเลย
เหมือนคนหายป่วยแล้วจริงๆ แต่ตัวเลขของเสียในปอดก็ยังมากอยู่ การฟอกเลือด
ครั้งที่สามจึงตามมา ปรากฏว่าค่าของเสียลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ดี และไม่เพิ่มอีก
แต่ภาพพี่ภูฟ้าทำเอาผมใจหาย
ตัวเขาเหลืองซีด เชื้อโรคร้ายมันย้ายไปลงตับ !
ผมและพี่น้ำแรงเข้าไปทักทายในยามเช้า
เขายังยิ้มแย้มแจ่มใส ผมเล่าย้อนเหตุการณ์ที่ผ่านมาให้เขาฟัง เอาจดหมายที่แห้งแก๋งเขียนมาให้อ่าน
เขาจ้องกระดาษที่มีอักษรไม่กี่คำอยู่นาน ผมรู้พี่คิดถึงลูกชายมาก แต่หมอห้ามเด็กเข้ามา
หมอก้าวเข้ามาทักทาย บอกให้พี่ภูฟ้าลองยกมือ
เขาก็ทำตาม บอกให้งอเข่า พี่เขาก็ยกขึ้นมาทั้งสองเท้าเลย ผมละนึกขำ
"ดีขึ้นมากแล้วนี่
วันนี้คงทานข้าวได้" หมอบอก
"พี่เขาจะหายมั้ยหมอ?"
พี่น้ำแรงถาม
"ดีที่เอามารักษาทัน
สบายใจได้ หายแน่" หมอก้าวออกจากห้องไปหาพยาบาลที่เคาน์เตอร์
บอกพยาบาลว่า ให้ดูอาการไปอีกวัน
อย่าเพิ่งให้ทานอาหาร
"ถ้าพี่จากไปจะอยู่ได้มั้ย?"
เขาถามพี่น้ำแรง
"จะให้ฉันอยู่กับใคร?"
"คนบนโลกนี้ยังมีอีกมากมายที่อยู่ด้วย"
"หมอบอกพี่จะหาย
เดี๋ยวฉันจะไปเอาอาหารที่ ชมร. พี่อยากทานอะไรบ้าง?"
"พี่อยากกินมะพร้าวอ่อน
เอามะพร้าวน้ำหอมนะ"
"ไม่หอมไม่ได้หรือไง?"
พี่น้ำแรงเย้าอย่างอารมณ์ดี แล้วผละจากไป
พยาบาลเข้ามาล้างหน้า
แปรงฟันให้พี่ภูฟ้า และขอเลือดไปตรวจ ผมจึงแซวว่า ผู้ชายมีสองคน ต้องการเลือดคนไหนล่ะ?
"ต้องการเลือดคุณภูฟ้าสิ
ส่วนเลือดพี่คนนี้ไม่เอาหรอก" เธอยิ้ม
เราทวงถามเรื่องอาหารมื้อเช้า
ที่หมอบอกจะให้ทาน
"หมอบอกขอดูอาการไปอีกวันก่อนนะคะ"
สีหน้าพี่ภูฟ้าสลดลงทันที
เขานิ่งอึ้งไป
มีคนโทรฯเข้ามา ผมขอตัวออกไปพูดโทรศัพท์
พอย้อนกลับเข้าห้อง ภาพตรงหน้าทำเอาผมใจหาย
พี่ภูฟ้านอนนิ่งตาเหลือกค้างอยู่กับเตียง
ผมรีบเรียกพยาบาลเข้ามาช่วย
ไม่นานหมอก็ตามเข้าไปอีก
ผมรีบโทรศัพท์บอกพี่น้ำแรงให้มาด่วน
เรารอฟังผลอยู่หน้าห้อง ด้วยความรู้สึกร้อนรน
หมอก้าวออกมาจากห้อง พร้อมกับสีหน้าเศร้าสลด
"หมอช่วยเต็มที่แล้ว"
หมอบอก
"ไม่นะหมอ ไหนหมอบอกว่าพี่เขาจะหาย"
พี่น้ำแรงพูด
"อาการเขาดีมาตลอด
แต่กลับมาทรุดลงฉับพลัน เชื้อร้ายมันเข้าสู่หัวใจ" เราก้าวเข้าไปยืนข้างร่างพี่ภูฟ้า
พยาบาลที่ดูแลต่างก็เศร้าสลด
พี่น้ำแรงเขย่าร่างพี่ภูฟ้า
"คนตั้งมากมาย พยายามช่วยพี่ พี่ยังจะจากไปอีกหรือ ฟื้นขึ้นมาซี"
เธอพูดออกมา
ทั้งน้ำตา
ผมหันมองเส้นคลื่นหัวใจ
บนจอคอมฯ มันกระโดดขึ้นแล้วเป็นเส้นตรงไปยาว กระตุกอีกครั้ง...... แล้วก็
ไม่มีอีก
พี่เขาจากไปแล้ว จากไปชั่วนิรันดร์"
น้ำเสียงพี่งานธรรมยังระคนด้วยความเศร้า
เขาบอกภาพพี่ภูฟ้ายังติดตรึงอยู่ในความทรงจำ และผมเชื่อว่า เขาจะอยู่ในความทรงจำ
ของชาวภูผาฯทุกคน ชายหนุ่มผู้บุกเบิกดินแดนแห่งนี้
อุทิศตนให้กับหมู่กลุ่ม ให้กับพ่อท่าน ให้กับศาสนา กระทั่งลมหายใจขาดสิ้น
คุณภูฟ้า แพงค่าอโศก เป็นคนดีที่ลูกหลานชาวอโศกควรบูชา
และเอาแบบอย่างสืบไป ด้วยเลือดอโศก ที่เข้มข้น ทุกหยาดหยด และจิตวิญญาณ ที่แข็งแกร่งทุกกระแส
- ปีกฝัน
คนบ้าเขียน
เพลงอาลัยภูฟ้า
เนื้อร้อง / ทำนอง แมน สปริงเกอร์
คิดถึงภูฟ้าเจ้ามาอาสารับใช้ อยู่บ้านดงไพรเป็นหลักชัยเพื่อธรรมอำไพ
คิดถึงภูฟ้าชาวป่าภูผาอาลัย เจ้าลับลาไกล สุดฤทัยเศร้าตรม
คิดถึงภูฟ้าเจ้าจากภูผาฟ้าน้ำ เมื่อตอนฝนพรมพร่ำ เจ้าจากป่าดงอันแสนรื่นรมย์
คิดถึงภูฟ้าเพื่อนเคยเชื่อมใจเกลียวกลม สร้างบ้านป่าอุดมด้วยน้ำใจให้พี่น้องเรา
วิหารดอยฟ้าเจ้ามุ่ง เจ้าฝันด้วยใจหมาย ให้เป็นแดนใจบรรเจิด แสงธรรมพร่างพราว
เปล่งแสงประกายดุจแสงเดือนดาว ส่องแสงธรรมให้ชาวโลกา
คิดถึงภูฟ้าเพื่อนมาลาลับจากไป สุดแสนอาลัยจากดวงใจชาวดอยแพงค่า
ฟ้ามืดฟ้าหม่นมีผู้คนถามหา ชาติหน้าเกิดมารับใช้พ่อท่านฯอีกเพื่อนเอย
ภูผาป่าดอยเมฆลอยล่อง
ภูฟ้าป้องปกป่าด้วยหน้าที่
ก่อตั้งแคว้นแดนดินถิ่นคนดี
นามวาสีป่าร้อยดอยแพงค่า
ด้วยน้ำพักน้ำแรงแห่งขันติ
พ่อดำริแปลงเรื่องเมืองศาสนา
เป็นพุทธสถานการเพียรเรียนธรรมา
เพื่อนำพาสัตว์โลกพ้นโศกไกล
ด้วยอ้อมอกขุนเขาคือเหย้าบ้าน
ด้วยหน้าที่การงานอันยิ่งใหญ่
พี่สืบสานสร้างดอยศิวิไลซ์
ทั้งผู้อยู่ผู้ไปไม่ลืมกัน
มาวันนี้ไฟดับลับภูฟ้า
แต่ยังมีดอยแพงค่าเป็นของขวัญ
งานที่สร้างยังคงคู่อยู่นิรันดร์
แม้คืนวันไร้พี่ยังมีดอย
- กระต่าย
-
๒๕ ก.ค.๒๕๔๕
(สารอโศก
อันดับที่ ๒๕๐ กรกฎาคม ๒๕๔๕) |